“แม่งเอ๊ย ไอ้บ้านห่ารากนี่!”

เราสามารถสรุปใจความสำคัญของ F Is for Family (2015-2021) ซีรีส์แอนิเมชันสำหรับผู้ใหญ่ที่ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์มา 5 ซีซันเต็มว่า เป็นซีรีส์ของคนที่เกลียดชีวิตตัวเองแทบบ้า แต่ก็ยังดันทุรังมีชีวิตอยู่ด้วยคำว่า “แม่งเอ๊ย” เป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจ และหลังจากให้ตัวละครกระเสือกกระสนมาตั้งแต่ปี 2015 ถึงที่สุดแล้วซีรีส์ก็เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่า “โคตรเดือด!” เป็นการปิดท้าย

กล่าวอย่างย่นย่อ F Is for Family สร้างโดย บิลล์ เบอร์ร และไมเคิล ไพร์ซ จับจ้องไปยังเรื่องราวของผู้คนในเมืองสมมติ รัสต์เวล, เพนซิลเวเนียยุค 1970s ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองและสงครามที่ระอุรอบๆ สหรัฐอเมริกา แฟรงค์ เมอร์ฟี (ให้เสียงเป็น ‘คนเก็บกดและเกลียดชีวิตฉิบหายเลยเว้ย’ ได้อย่างตราตรึงและน่าประทับใจโดยเบอร์รเองจ้า) ชายอเมริกันผิวขาวผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจอมมุทะลุ เป็นลูกจ้างต๊อกต๋อยของบริษัทสายการบิน ความรุ่งเรืองเดียวที่มีในชีวิตคือการได้ไปสงครามเกาหลี แต่ไม่ได้ไปรบอะไรกับใคร เขาแต่งงานกับ ซู (ลอรา เดิร์น) แม่บ้านลูกสามที่คิดอยู่ตลอดเวลาว่าชีวิตคงไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าไม่ท้องตั้งแต่ยังสาว และวาดหวังว่าตัวเองจะเป็นอย่างอื่นที่มีความหมายมากกว่าการเป็นแม่กับเมีย, เควิน (จัสติน ลอง) ลูกชายวัยรุ่นหัวขบถ กิจวัตรประจำวันของเขาคือการปะทะคารมกับพ่อก่อนมื้อเย็น (และลงเอยด้วยการเรียกเขาลับหลังว่า “ไอ้เผด็จการหัวกล้วย”), บิลล์ (ฮาเลย์ ไรน์ฮาร์ต) ลูกคนรองของบ้านจอมตาขาว ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเป็นกระสอบทรายให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียน และมัวรีน (เดบี เดอร์รีเบอร์รี) ลูกสาวคนเล็กที่แก่นแก้ว ทำคะแนนได้ดีแต่มักถูกสังคมขัดขาให้อยู่บ่อยๆ ว่าเป็นเด็กผู้หญิงจะไปเรียนสูงอะไรมากมาย (ฮือ)

บ้านเมอร์ฟีก็เช่นเดียวกับบ้านชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างทั่วไป คือรายได้มาจากสามีและมักจะชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เนืองๆ พวกเขาใช้ชีวิตซังกะตายอยู่ในเมืองที่ซังกะตายยิ่งกว่า (ฮือ x2) รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านชวนสมองแตก วิก เพลย์บอยหนุ่มติดยาที่ลึกๆ แล้วหวังอยากสร้างครอบครัวอบอุ่นแบบแฟรงค์บ้าง (เอ่อ…), กูเมอร์ ชายเพี้ยนที่มักลอบฟังโทรศัพท์ชาวบ้านและขโมยกางเกงในคนอื่นมาสวมบ่อยๆ, อ็อตโต ชายชราชาวยิวผู้ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่สองมาได้, สโมคกี พนักงานผิวดำผู้ยากจนและกราดเกรี้ยวอยู่เสมอ งานอดิเรกของเขาคือเจาะถุงยางตามตู้บริการสาธารณะเล่นๆ, โพโก พนักงานร่างอ้วนที่วันหนึ่งขยับตัวไกลสุดแค่เดินจากเก้าอี้ทำงานไปยังประตูห้อง ฯลฯ

ไอเดียที่ว่าด้วย ชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างแสนเฮงซวยของคนขาวในอเมริกาช่วงปี 1970 มาจากเบอร์รเป็นหลัก เขามีชื่อเสียงจากการเป็นสแตนอัพคอเมดีกับมุขแสนจะล่อแหลม เขามักเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ไอ้คนชอบแหกปากเสียงดังที่คุณมักเจอในบาร์’ ขณะที่นิตยสาร Rolling Stone นิยามว่าเขาเป็น ‘แชมป์ด้านการเล่าเรื่องด้วยอารมณ์ขันแสนกราดเกรี้ยว’ ซึ่งก็เป็นธีมหลักของซีรีส์ F Is for Family นี้ด้วย

“ผมน่ะชอบเล่าเรื่องครอบครัวบนเวทีสแตนอัพคอเมดีของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และคนก็ขำอยู่ทุกทีไป ไม่มีใครตั้งคำถามกับเรื่องเล่าอะไรทั้งนั้น พวกเขารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นกับครอบครัว” เบอร์รสาธยาย “จนวันหนึ่ง ผมกลายเป็นชายวัยกลางคนกับมุขตลกเก่าๆ พบว่ามุขอะไรต่อมิอะไรกลายเป็นเรื่องล่อแหลม เป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงทางจิตใจ เป็นเรื่องการกลั่นแกล้งไปหมดแล้ว ผมไม่รู้ต้องทำยังไง ก็เลยหยุดเล่าเรื่องพวกนี้ไปเลย”

“แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ‘มันต้องมีทางเล่าเรื่องพวกนี้สิวะ’ แล้ววันหนึ่ง ตอนที่พาหมาออกไปเดินเล่น ผมก็แวบขึ้นมาในหัวว่า ‘เอาซี้ ก็น่าจะทำมันเป็นแอนิเมชันซะเลยเป็นไง’ นั่นล่ะครับ”

ไอเดียอยากระบายมุขตลกห่ามๆ ที่ถูกแปะป้ายในโลกปัจจุบันว่า ‘ไม่เหมาะสม’ นั้นติดตัวอยู่กับเบอร์รไปอีกพักใหญ่ จนกระทั่งชะตาชักพาเขาไปเจอกับ วินซ์ วอห์น นักแสดงดังที่เสนอตัวโปรดิวซ์ให้ภายใต้บริษัท Wild West Television ซึ่งโปรดิวซ์ให้หนังและซีรีส์หลายๆ เรื่อง รวมทั้งหนังคอเมดีเถิดเทิงที่วอห์นนำแสดงอย่าง The Break-Up (2006), The Dilemma (2011) ที่จับคู่ให้เบอร์รสร้างซีรีส์แอนิเมชันของครอบครัววายป่วงนี้คู่กับไพร์ซคนเขียนบทผู้อยู่เบื้องหลัง The Simpsons (2003-2021) แอนิเมชันเสียดสีอเมริกันชนความยาวกว่าสิบซีซัน และนั่นคือจุดที่ F Is for Family ถือกำเนิด

ซีรีส์เปิดเรื่องด้วยความพินาศของครอบครัวเมอร์ฟีที่พยายามกินมื้อค่ำด้วยกันอย่างสันติสุขตามประสาครอบครัวอบอุ่นอย่างที่เขารู้สึกว่าควรจะเป็น (แต่แฟรงค์ก็เลือกถากถางลูกชายคนโตที่มาร่วมโต๊ะช้าว่า “แหม ในที่สุดพระองค์ท่านก็ยอมเสด็จฯ มาร่วมโต๊ะกับเราเสียทีเนอะ”) และในชั่วขณะที่พวกเขาอยากจะใช้เวลาครอบครัวด้วยกันนั้น โทรศัพท์เจ้ากรรมก็ดังขึ้น ตามด้วยไดอะล็อกสุดเดือดดาลของแฟรงค์ที่ฉายภาพความเป็นเขาครบถ้วนตั้งแต่สองนาทีแรกของเรื่อง

“เออกูจะบอกอะไรให้นะไอ้ชาติเปรต กูไม่อยากได้ไบเบิลสำหรับครอบครัวโว้ย! กูกำลังกินมื้อค่ำกับครอบครัวอยู่นะไอ้หนุ่ม ไม่ต้องการไบเบิลราคา 25 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาสอนกูเรื่องพระเจ้าหรอก กูเกือบตายที่เกาหลีมาแล้ว กูเข้าเฝ้าพระเจ้ามาแล้ว! มึงว่าไงนะ! ได้ มึงมานี่เลย มาเจอกูอย่างลูกผู้ชายที่นี่เลยมา กูสาบานกะพระเจ้าเลยว่ากูจะกระซวกลิ้นมึงออกมาให้ดู!”

นับเป็นฉากเปิดที่วัดใจคนดูว่าจะไปต่อกับไอ้ ‘พ่อบ้านหัวร้อนด่าทอพระเจ้าแถมขี้เหวี่ยง’  หรือไม่ (เพราะจากนั้น ซูพยายามปลอบเขาว่า “แฟรงค์คะ ใจเย็นหน่อยเถอะ” แล้วโดนผัวงอแงกลับมาว่า “ใจเย็นเหรอ! ทำไมต้องเป็นผมทุกทีเลยที่ใจเย็น! ให้กำลังใจกันหน่อยแค่นี้มันจะตายรึไงฮึ!”)

เบอร์รเล่าว่าเขาเขียนบทแสนจะเวียร์ดเหล่านี้ขึ้นมาจากไอเดียที่เก็บไว้ตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพราะไม่สามารถเอาไปเล่นในสแตนอัพคอเมดีของตัวเองได้ (เพราะน่าจะโดนทัวร์ลง) “ผมรู้ดีแหละว่ามันออกจะเล่นใหญ่อยู่สักหน่อย” เขาว่า “อย่างถ้ามีเด็กบอกว่า ‘ไอ้ชาติเปรต’ พ่อแม่เด็กคงไม่ยอมปล่อยให้ลูกๆ พูดอะไรแบบนั้นหรอกใช่ไหม สมัยนี้ลองเด็กสักคนพูดแบบนั้นออกมาสิ พ่อคงง้างเข็มขัดรอแล้วมั้ง หรือไม่ก็มีบทลงโทษอย่างอื่นรออยู่แน่ๆ เพราะอย่างนั้นเราเลยเขียนให้เด็กๆ ในเรื่องพูดว่า ‘ไอ้ชาติเปรต’ แล้วไม่โดนตีกลับไม่ได้แน่ๆ เพราะอย่างนั้นเราเลยต้องเขียนมุขตลกแบบอื่นขึ้นมา หรือไม่อย่างนั้นก็เขียนให้ตัวละครเด็กๆ แอบไปด่างึมงำอยู่ที่มุมห้องแทน แบบที่เควินทำตลอดเวลาน่ะแหละ”

คนที่รับลูกจากเบอร์รเพื่อมาสร้างเรื่องราวให้แข็งแรงและดัดแปลงให้เป็นแอนิเมชันขนาดยาวได้คือพร์ซ โดยไพร์ซเล่าว่า ต้นเรื่องไอเดียมันก็มาจากประสบการณ์และมุขตลกแบบห่ามๆ ของเบอร์ร เพียงแต่เขาต้องมาหาทางเล่าให้มันเหมาะสำหรับการเป็นซีรีส์แอนิเมชันสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น “เราคุยกันเยอะมากว่าการเป็นเด็กในสมัย 1970 มันเป็นอย่างไร ไอ้แบบที่ตื่นเช้ามาแล้วพุ่งไปโรงเรียน กลับบ้านมาให้ทันมื้อเย็น เจอเรื่องพินาศต่างๆ นานา โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ หรือไม่ก็นั่งรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อะไรแบบนั้น”

อย่างไรก็ดี จุดแข็งอีกประการของ F Is for Family นอกเหนือจากอารมณ์ขันสุดดาร์กและมุขตลกแสนเสียดสีแล้ว ยังเต็มไปด้วยน้ำเสียงยั่วล้อความเป็นอเมริกันชน ที่ถูกหล่อหลอมมาว่าครอบครัวที่ดีต้องเป็นอย่างไร ความอบอุ่นมีหน้าตาแบบไหน ผู้คนในเรื่องจึงโบยตีตัวเองที่ไม่อาจเป็นอย่างภาพลักษณ์ที่สังคมขีดไว้ว่าควรจะเป็น มิหนำซ้ำ ยังหยิบเอาความผุพังของความเป็นครอบครัวมาเล่าได้อย่างแสบสันต์ ไม่ว่าจะบาดแผลทางใจที่เกิดจากคนในครอบครัว (แบบแฟรงค์ที่โทษพ่อตัวเองตลอดเวลาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขา ‘พัง’ ขนาดนี้, ซูที่ต้องสางปมกับพ่อและพี่ชายตัวเอง, เด็กบ้านข้างๆ ที่โตมากับพ่อแม่วิปริต ฯลฯ) หรือการค้นหาตัวตนของมนุษย์วัยกลางคนที่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างเลย

แฟรงค์ใช้ชีวิตแบบคนต๊อกต๋อยและสยบยอมต่อทุกสรรพสิ่งในที่ทำงาน (และทำได้มากที่สุดแค่สบถคำว่า “แม่งเอ๊ย” ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเหนื่อยเอง) เขาคืออดีตเด็กหนุ่มการบินอนาคตไกลที่เป็นวีรบุรุษสงครามเพราะไปรบถึงเกาหลี หากแต่ทุกอย่างก็อับปางลงทันทีที่เขาทำซู แฟนสาวในเวลานั้นตั้งท้อง อนาคตสดใสจึงหายวับไปกับตาเมื่อเขาต้องตะบี้ตะบันทำมาหากินเพื่อหาเงินมาสร้างครอบครัวและพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแท้ๆ (ที่ก็ไม่ได้เอ็นดูเขา) กับพ่อตา (ที่เกลียดเขาเข้ากระดูกดำ) เห็นว่าเขาก็เอาเรื่องเอาราวได้ ซีซันแรกๆ ของซีรีส์จึงอุทิศให้ความขมขื่นของแฟรงค์ที่หวนรำลึกถึงตัวเองในอดีตช่วงรุ่งโรจน์ ก่อนกลายมาเป็นชายเห่ยๆ หัวล้านเป็นไข่ดาว

ไม่ต่างจากเมียรัก ซูที่เมื่อตั้งท้องแล้วเธอก็ได้แต่เดินหน้าใช้ชีวิตแม้จะไม่รู้ว่าต้องรับมือในอนาคตอย่างไร แต่เมื่อชีวิตคัดสรรชายหนุ่มนักเรียนการบินผู้เป็นทหารผ่านศึกมาให้เธอแล้ว เธอก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้ชีวิตกับเขา กระทั่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เธอก็เริ่มควานหาสิ่งที่ตัวเองเป็นที่มากกว่าเมียและแม่ หากแต่ก็ไม่พบ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ซูหมดหวังในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

มากกว่านั้น ซีรีส์ยังจับเอาบรรยากาศของอเมริกาช่วงปั 1970 มาได้อย่างหมดจด ไม่ว่าจะการเมืองเครียดชวนบ้า, ผู้คนที่เสพติดความบันเทิงรายวันจากโทรทัศน์, ชีวิตซังกะตายของคนที่ถูกผลักเข้าระบบการทำงานเช้าเย็น, บรรยากาศความไม่ไว้วางใจคนต่างถิ่น, ดนตรีพังก์ร็อก และแน่นอนว่ายาเสพติดกับความรุนแรง ซึ่งแทบจะแนบเป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิตของตัวละครในเรื่อง 

ยังไม่รวมความเพี้ยนอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตเหมือนนักรบเดนตาย หรือเพื่อนหัวโตขี้แหยของบิลล์ซึ่งมีภาวะเก็บกดและใช้ความรุนแรงให้เห็นผ่านการทำร้ายน้องหรือสัตว์เล็กๆ (แต่แน่นอนว่าไม่มีใครผิดสังเกต เพราะทุกคนในเรื่องต่างก็ใช้ความรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้นยังไงล่ะ!) และในทางกลับกัน มันก็ไม่ได้ชวนสิ้นหวังเสียจนต้องปิดจอหนี เพราะเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงช่วงเอพิโซดท้ายๆ ของแต่ละซีซัน มันก็สำแดงให้เห็นว่าแม้ชีวิตจะเฮงซวยขนาดไหน แต่ก็ยังมีครอบครัว (ที่อาจจะเฮงซวยเหมือนกัน) ยึดโยงทุกคนไว้ตลอดเวลา เพื่อประคับประคองและผลักดันไปได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แม้จะผุพัง แต่ถึงที่สุดตัวละครก็ยังถูลู่ถูกังเดินหน้าไปหาวันใหม่ด้วยกันแบบพังยับเยิน

แน่นอนว่า F Is for Family ไม่ใช่ซีรีส์เสียดสีที่ปลอบประโลมมนุษย์ใดๆ ตรงกันข้ามคือมันเสียดสีและกราดเกรี้ยวใส่ชีวิต พร้อมมุขตลกที่เหมือนสำรอกใส่ศาสนา การเมือง และสังคมอเมริกาทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างถึงแก่น และทำให้เข้าใจได้ว่า ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะห่าเหวอะไรแค่ไหน เราก็ได้แต่ต้องใช้ชีวิตไปพร้อมถ่มถุยรายวันว่า “แม่งเอ๊ย” พร้อมหวังลึกๆ ว่าอย่างน้อยที่สุด มันก็ต้องมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นบ้างล่ะวะ!

Tags: ,