ข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากเรื่องภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนแล้ว ยังมีข่าวการเปิดเผยข้อมูลของหนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ (Sydney Morning Herald) และหนังสือพิมพ์ดิเอจ (The Age) ตีพิมพ์รายงานสืบสวนสอบสวน อ้างบันทึกคดีของตำรวจออสเตรเลียและศาลว่า ร.อ. ธรรมนัส เคยรับโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปีในเรือนจำออสเตรเลีย ก่อนถูกเนรเทศในปี พ.ศ. 2540 จากความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับแก๊งอาชญากร ลักลอบนำเข้าและค้าเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม

เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นมาแล้ว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 หลังการประกาศรายชื่อรัฐมนตรี .. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกิดข้อครหาว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยโดนจับข้อหาค้ายา และถูกจำคุกในประเทศออสเตรเลีย ว่าจะทำให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ โดย ร.. ธรรมนัส แถลงข่าวเรื่องนี้ว่า

“ผมโดนข้อหา รู้ว่ามียาเสพติด แต่ไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบ ไม่ได้โดนข้อหาผลิตยาเสพติดหรือนำเข้ายาเสพติด ผมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหามาตลอด และถูกคุมขังประมาณแปดเดือน จนถูกปล่อยออกมาใช้ชีวิตตามปกติในซิดนีย์สี่ปีเต็มๆ”

เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ (ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน Fact Box) จะเห็นว่า ประเด็นเรื่องคุณสมบัติสามารถแยกเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นทางกฎหมาย และประเด็นทางจริยธรรม

หากเป็นเรื่องกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเฉพาะในประเด็นความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น การถูกลงโทษหรือมีคำพิพากษาในต่างประเทศ ไม่มีผลให้ขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม เพราะไม่ใช่การตัดสินทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากศาลไทยหรือกฎหมายไทย เรื่องนี้จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามคุณสมบัติต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กุนซือด้านกฎหมายของรัฐบาลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ในอดีตเคยมี ส.ส. ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ ตรงนั้นไม่มีผลกระทบอะไรในส่วนของไทย แต่จะกระทบเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ และอะไรหลายอย่าง อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่จะเอาข้อหานั้นตรงๆ มาใช้ไม่ได้ แม้ข้อหาอาจจะตรงกัน แต่ศาลไทยไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน”

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันก็คือ ‘หลักจริยธรรม’ ตามมาตรา 160 (5) ที่ว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ซึ่งไม่เพียงทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมุมมองของสังคมด้วย

และหากพิจารณาในเรื่องจริยธรรมตามตัวบทกฎหมาย ก็จะพบว่า ต้องพิจารณาในสองด้าน คือ หนึ่ง เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ สอง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามแล้ว เรื่องนั้นถือว่าร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งวิษณุ เครืองามเคยให้ความเห็นไว้ว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมเหล่านี้ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีเกณฑ์ชี้วัดอย่างชัดเจน”

ความน่าสนใจก็คือ หากไม่ยึดข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ (ซึ่งทั้งหมดต้องรอการพิสูจน์–หากจะมีการพิสูจน์เกิดขึ้นจริงๆ) แต่ยึดข้อมูลจากการที่ .. ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “โดนข้อหา รู้ว่ามียาเสพติด แต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกคุมขังประมาณแปดเดือน” ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ทั้งตามตัวบทกฎหมายและในทางบรรทัดฐานจริยธรรมของสังคม ถึงแม้ .. ธรรมนัส จะเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เกิดจากความ ‘ซวย’ ที่ไปอยู่ ‘ผิดที่ผิดเวลา’ หรือการเข้าใจผิด แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เขาต้องไปพิสูจน์ในทางรูปคดีเองเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วมีการตัดสินและลงโทษไปแล้ว ความซวยหรือการเข้าใจผิดก็คงไม่สามารถนำมาอ้างเพื่อลบล้างในประเด็นว่า ผิดจริยธรรมหรือไม่ 

หากจะพยายามอธิบายเหตุแห่งการยกข้อกล่าวอ้างนี้ของ ร.. ธรรมนัส คาดว่าเขายกข้อกล่าวอ้างนี้ขึ้นมาเพื่อเทียบเคียงกับหลักเจตนาในกฎหมาย เพราะหากไม่มีเจตนา ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจึงนับได้ว่าไม่มีความหมาย เช่นเดียวกัน หากเป็นความซวยหรือการเข้าใจผิด ย่อมไม่ใช่เจตนา เมื่อไม่มีเจตนา จึงอาจถือว่าไม่ได้ตั้งใจที่จะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องเจตนาหรือไม่เจตนาก็น่าจะตกไป เพราะมีความผิดและบทลงโทษไปแล้ว ตามคำสัมภาษณ์ของ ร.. ธรรมนัส เอง

ฉะนั้นการ “โดนข้อหารู้ว่ามียาเสพติด แต่ไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกคุมขังประมาณแปดเดือน” แม้จะเกิดในออสเตรเลีย ถือว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ถ้าหากถือว่าผิด ก็คงต้องพิจารณาต่อว่า ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง เพราะถ้าไม่ร้ายแรง ก็จบลงตรงนี้ เนื่องด้วยไม่เข้าตามตามมาตรา 160 (5) 

แต่หากพิจารณาตาม มาตรา 98 ในวงเล็บอื่นๆ ก็จะพบว่า เรื่องความผิดทางยาเสพติด (ในประเทศ) ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ทำให้ขาดคุณสมบัติตามมาตรานี้ได้ ทั้ง ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า

เพราะฉะนั้น การพิสูจน์ความจริงว่า .. ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด ว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดหรือไม่ แม้เรื่องจะเกิดในออสเตรเลียก็ตาม จึงมีความสำคัญ เพราะมันจะนำไปสู่การเทียบเคียงเพื่อพิจารณาหลักการ ‘ความร้ายแรง’ ของความผิดทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น ที่อาจส่งผลให้ .. ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 

นี่เฉพาะการพิจารณาตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น เพราะการพิจารณาตามมาตรฐานสังคมนั้น ยากที่จะมีหน่วยวัดว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ว่าต้องดูจากอะไร

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ หากสังคมมองว่า ‘ผิดจริยธรรมร้ายแรง’ หรือสุดท้ายแล้วมีหลักฐานทางศาลออกมาปรากฏชัดเจนว่า ร.. ธรรมนัส เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในออสเตรเลียจริง ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ว่ามีการกระทำความผิดทางจริยธรรมที่ร้ายแรงด้วยเช่นเดียวกันตามที่กล่าวไปแล้ว ความผิดทางจริยธรรมที่ร้ายแรงนี้จะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากออสเตรเลียมาถึงเมืองไทย และใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินปัญหานี้หรือไม่

หรือว่าจะถูกสกัดกั้นด้วยพรมแดน และการยกข้อกล่าวอ้างที่ว่า เรื่องนี้เกิดในออสเตรเลีย ไม่มีผลในประเทศไทย ดังเช่นการพิจารณาความผิดทางกฎหมาย จนทำให้สิ่งที่เรียกว่า มาตรฐานจริยธรรม ซึ่งควรเป็นเรื่องที่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยเฉพาะ เมื่อมีการบัญญัติในกฎหมายไม่สามารถนำมาใช้ได้เพียงเพราะว่า ‘เกิดขึ้นคนละที่’ แม้จะเกิดจากตัวคนเดียวกันก็ตาม 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นว่า แล้วใครล่ะ จะเป็นคนตัดสินว่าเรื่องนี้ ถือเป็นการผิดจริยธรรมที่ร้ายแรงหรือไม่ และคนที่จะเป็นผู้ตัดสินนั้น มี ‘จริยธรรม’ หรือเข้าใจคำว่า ‘จริยธรรม’ จริงๆ หรือเปล่า 

 

อ้างอิง

  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
  • https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=10867&filename=index
  • https://www.khaosod.co.th/politics/news_2698333
  • https://www.bbc.com/thai/thailand-49632539
  • https://www.springnews.co.th/politics/526711

Fact Box

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย หมวด ๘ ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี มาตรา ๑๖๐ บัญญัติว่า

“รัฐมนตรีต้อง

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(๖) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘

(๗) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(๘) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามมาตรา ๑๘๖ หรือมาตรา ๑๘๗ มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

มาตรา ๙๘ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ

(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

(๔) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ (๑) (๒) หรือ (๔)

(๕) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้ง

(๖) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๗) เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิด อันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๘) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๙) เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๑๐) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(๑๑) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๒) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง
(๑๓) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(๑๔) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี

(๑๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ 

เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(๑๖) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ

(๑๗) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

(๑๘) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๒๓๕ วรรคสาม

มาตรา ๙๙ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรมิได้

มาตรา ๑๐๒ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ

การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

Tags: , , ,