ไม่ต่างจากหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งชีวิตซึมเซาในชนบทเข้าโตเกียวมาหาโอกาสที่ดีกว่า เอริโกะเป็นอีกคนที่กำลังไล่ตามความฝันบนสายอาชีพนักแสดงอยู่ในเมืองใหญ่ แต่ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่หมดไปกับการออดิชั่นครั้งแล้วครั้งเล่า (และถูกปฏิเสธเพราะเธอบีบน้ำตาออกมาไม่ได้) ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่พอจะมีคนจดจำเธอได้ก็ดูจะมีเพียงโฆษณาอยู่แค่ตัวเดียว

ในขณะที่พี่สาวและบรรดาญาติๆ ที่ห่างเหินต่างเข้าใจว่าเธอเป็น ‘คนในวงการ’ มีอันจะกิน แต่ในความเป็นจริงนั้น เธอกลับหาเลี้ยงตัวเอง (และแฟนหนุ่มที่ก็กำลังตามฝันเป็นคอมิเดี้ยนอยู่ด้วยเช่นกัน) ด้วยงานในร้านอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้วันหนึ่งเมื่อพี่สาวเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน เอริโกะจึงต้องกลับไปร่วมงานศพและเผชิญหน้ากับปราการคำลวงที่เธอสร้างเอาไว้ พร้อมทั้งต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรบนเส้นทางชีวิต ระหว่างกลับไปสู่ชีวิตในโตเกียวที่ดิ้นรนแทบตายก็ไม่ไปไหน หรือใช้ชีวิตเรียบง่ายในเมืองเล็กๆ ที่เธอเคยพยายามหนีไปให้พ้น

แต่ชีวิตเรียบง่ายในบ้านเกิดนั้นใช่ว่าจะง่ายเสียเมื่อไหร่ เพราะเอริโกะดันตกปากรับคำไปอย่างรวดเร็วว่าจะอยู่ดูแลบ้านพี่สาวและคาซูมะลูกชายตัวน้อยของพี่ด้วยตัวเธอเอง โชคยังดีที่เธอได้ ฮานาเอะ อดีตนายจ้างของพี่สาวยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และชักชวนให้เธอได้รู้จักงานประหลาดที่พี่สาวเธอเคยทำ นั่นคืองานรับจ้างร้องไห้หน้าศพ

เอริโกะขอทำงานรับช่วงต่อจากพี่สาวอย่างรวดเร็ว ด้วยความคิดว่างานรับจ้างร้องไห้ในงานศพคงไม่ยากนักสำหรับ ‘นักแสดง’ อย่างเธอ (แม้ในการออดิชั่นงานแสดง เธอจะไม่สามารถหลั่งน้ำตาได้ก็ตาม) แต่ไม่นานเธอจึงได้รู้ว่ามันต่างกันคนละโลกระหว่างการเสแสร้งว่ากำลังร้องไห้อยู่ กับการหลั่งน้ำตาจริงๆ ให้กับผู้ตาย…แม้คนๆ นั้นจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเธอเลยก็ตาม

อาชีพที่เกี่ยวพันกับพิธีศพของ Eriko, Pretended นั้นชวนให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอย่าง Departures (2008) ที่ว่าด้วยนักดนตรีตกงานที่หันมาทำหน้าที่เป็นคนแต่งหน้าและตระเตรียมศพ กระนั้น ผลงานกำกับ-เขียนบทครั้งแรกของ อาคิโยะ ฟูจิมูระ เรื่องนี้เน้นการละเลียดสำรวจอารมณ์อย่างแน่นิ่งเสียมากกว่า โดยไม่ได้หนักหน่วงไปด้วยอารมณ์เศร้าหมองแต่ยังแซมอารมณ์ขันและความอบอุ่นเอาไว้ประปราย สิ่งที่น่าสนใจคือหนังวางอาชีพร้องไห้หน้าศพให้เป็นทั้งผู้เชื่อมโยงระหว่างโลกคนเป็นกับโลกคนตาย และตัวเชื่อมโยงโลกภายในของตัวละครอย่างเอริโกะเข้ากับโลกภายนอก

สำหรับฮานาเอะ งานรับจ้างร้องถือเป็นงานที่ทรงเกียรติ มีปรัชญาและประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ด้วยเพราะการร่ำไห้ของผู้รับจ้างร้องนี่เอง ที่เติมบรรยากาศของงานศพให้อบอวลไปด้วยความเศร้า ช่วยนำทางให้ผู้ร่วมงานและบรรดาญาติผู้เสียชีวิตได้สามารถหลั่งน้ำตาตามไปด้วย และพาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า catharsis หรือการปลดปล่อยอารมณ์โศกเศร้าออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่พวกเขาจะได้ชำระล้างจิตใจ ก่อนก้าวไปใช้ชีวิตต่อไปในภายหลัง

การร้องไห้ของพวกเธอจึงไม่เพียงสำคัญต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หากยังสำคัญต่อผู้ตายที่นอนไร้ชีวิตอยู่ในโลง เพราะตามความเชื่อดั้งเดิม น้ำตาของผู้รับจ้างร้องนั้นช่วยนำทางดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ โดยฮานาเอะชี้ว่ามันก็คือการทำให้ผู้มาร่วมงานสัมผัสได้ถึงตัวตนของผู้ตายจนสามารถหลั่งน้ำตาให้นั่นเอง

ในแง่นี้ การร้องไห้ในหนังจึงถูกมองเป็นเสมือนเครื่องยืนยันถึงการมีตัวตน ดังเห็นได้ชัดในฉากที่คุณยายไร้ญาติมาร้องขอให้เอริโกะกับฮานาเอะไปร้องไห้ให้ในพิธีศพของตัวเธอเอง แม้จะฟังดูประหลาด แต่ความปรารถนาในวาระสุดท้ายของคุณยายก็คงไม่ต่างอะไรไปจากความปรารถนาทั่วไปที่ใครๆ ก็คงมี นั่นคือความปรารถนาที่จะเป็นที่จดจำและระลึกถึงในวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะการตายไปเพียงลำพังคงไม่น่าหวาดกลัวเท่าการตายไปอย่างเงียบงันโดยไม่ถูกร้องไห้ถึง

เอริโกะจึงค่อยๆ เรียนรู้ความละเอียดซับซ้อนในตัวงานของพี่สาว และความแตกต่างระหว่างการเสแสร้งแสดงความเศร้ากับการหลั่งน้ำตาให้ใครซักคนอย่างจริงใจเพียงเพราะเขามีคุณค่าพอที่จะถูกร้องไห้ถึง ซึ่งในระหว่างทางนั้นเองที่เธอค่อยๆ ทลายปราการปิดกั้นอารมณ์ของตัวเองไปด้วย

ตลอดทั้งเรื่อง เราแทบไม่เห็นเธอแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมามากนัก มองอย่างผาดเผินเราคงบอกว่าเธอเป็นคนเฉยชา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเสียเท่าไร หรือเราอาจวิเคราะห์ได้ว่าเธอติดอยู่กับโลกของการแสดง (ที่หมายถึงทั้งการเป็นนักแสดง และการแสดงให้คนที่บ้านเข้าใจผิดว่าตัวเธอมีอาชีพการงานที่กำลังไปได้สวย) เสียจนแปลกแยกจากความรู้สึกภายในของตัวเองไปแล้ว

ที่แน่นอนคือการเข้ามา ‘สวมบท’ พี่สาวตัวเองทำให้เธอได้สำรวจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอย่างจริงจังและเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดมันออกมามากขึ้น ราวกับการรับจ้างร้องไม่เพียงช่วยนำทางวิญญาณคนตายไปสู่สวรรค์ หรือนำทางให้คนในงานศพได้แสดงความเศร้าออกมาเท่านั้น หากยังช่วยนำทางตัวเธอให้ได้ใกล้ชิดกับโลกภายในของตัวเอง และมองโลกภายนอกด้วยสายตาที่คมชัดขึ้น ดังที่มันควรจะต้องเป็นเมื่อน้ำตาได้ถูกหลั่งออกมาชะล้างสิ่งระคายตาออกไปแล้ว

Fact Box

Eriko, Pretended ฉายเปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลหนังเอเชียเมืองโอซากะ (Osaka Asian Film Festival) ปี 2016 ซึ่งความสามารถการกำกับ-เขียนบทอันโดดเด่นของฟูจิมูระไปเข้าตาผู้กำกับชื่อดังอย่าง ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ จนเขาชวนเธอไปร่วมทำโปรเจ็กต์ Ten Years Japan (ที่มีกำหนดฉายปีนี้) โดยหนังเพิ่งได้ฉายในวงกว้างที่ญี่ปุ่นไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และกำลังลงโรงฉายในประเทศไทยอยู่ตอนนี้ สามารถตรวจสอบรอบฉายได้ที่เพจของ HAL

Tags: , , , , ,