ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2565 รัฐบาล 3 ป. นำโดยน้องเล็ก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งทิ้งทวนก่อนยุบสภาฯ โดยได้ลงนามอนุมัติโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินจำนวน 4 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ ให้แก่บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอพีพีซี (APPC) ซึ่งกลุ่มทุนอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยประทานบัตรมีอายุยาวนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590
แร่โพแทช (Potash) หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) จัดในกลุ่มเกลืออนินทรีย์ (inorganic salt) ประกอบด้วยสารเคมี 2 ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ในปริมาณร้อยละ 95 และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ในปริมาณร้อยละ 5 กระบวนขุดเจาะและสกัดแร่ดังกล่าวจะได้แร่โพแทชเซียม 3 ส่วน โซเดียมคลอไรด์หรือเกลือในดิน 7 ส่วน ซึ่งโพแทชเซียมเป็นสารที่ไม่มีพิษกับมนุษย์และสัตว์ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือความเค็มจากเกลือและหางแร่ซึ่งความจำเพาะของแร่ธาตุสูง
ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้มีผลกระทบมากหรือน้อยคือ วิธีในการขุดเจาะ กระบวนการย่อย การทิ้งหางเกลือ ปริมาณการขุดเจาะ และระยะห่างของเหมืองจากชุมชน รวมทั้งตัวแปรที่สำคัญรองลงมา คือ ลักษณะของหินแร่ ชนิดของผิวดินที่ปกคลุมแร่อยู่ ภูมิอากาศ ระบบนิเวศโดยรอบ เป็นต้น
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของแร่โพแทชคือ การนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทชเซียมในการผลิตปุ๋ยสำหรับการเกษตรกรรมที่ผ่านมาประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศสูงกว่า 7.2 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าราว 9,000 ล้านบาทต่อปี
การอนุมัติโครงการดังกล่าว มาจากการร้องเรียนของภาคเกษตรกรรมที่มีการร้องเรียนว่า ราคาปุ๋ยแพง และประเทศไทยขาดแคลนปุ๋ยที่มีคุณภาพ หากประเทศไทยสามารถเปิดเหมืองดังกล่าวเพิ่มขึ้นก็สามารถลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าปุ๋ยจากประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ราคาปุ๋ยใรประเทศถูกลง ส่วนการลงพื้นที่สำรวจแหล่งแร่โพแทชพบว่าอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ เช่น แหล่งแร่ในพื้นที่จังหวัด สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย นครราชสีมา ชัยภูมิ ข่อนแก่น แต่แหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุด 2 แหล่งคือ แอ่งโคราช (จังหวัดนครราชสีมา) และแอ่งสกลนคร (สกลนครและอุดรธานี) ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรการสร้างเหมืองในเวลาต่อมา
เหมืองแร่โพแทช อุดรธานี เป็นประทานบัตรเหมืองที่ 3 ของประเทศไทย มีแผนการผลิตโพแทชราว 2 ล้านตันต่อปี โดย 2 เหมืองก่อนหน้าคือเหมืองในจังหวัดชัยภูมิและเหมืองนครราชสีมา ได้รับประทานบัตรก่อนหน้าปี 2558 สามารถรวมกันได้มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และเมื่อรวมทั้ง 3 เหมืองพบว่าสามารถผลิตได้กว่า 3.2 ล้านตัน พอเพียงต่อการใช้งานในประเทศและแร่โพแทชที่เหลือจากการผลิตสามารถส่งออกเพิ่มมูลค่าให้ประเทศ ทั้งหมดล้วนเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ในอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับบทเรียนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในบริเวณรอบชุมชนเหมืองนครราชสีมาที่ชาวบ้านพบว่า หลังมีเหมืองมาดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี พื้นที่โดยรอบเริ่มมีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นมาผิดปกติ โดยเฉพาะในบ่อน้ำสาธารณะใกล้กับโรงงาน ซึ่งมีกลิ่นและฟองเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมบางจุดที่พึ่งพาน้ำจากบ่อนี้จึงถูกทิ้งร้างไม่สามารถทำกินได้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
หลังมีบทเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากเหมืองแร่โพแทชนครราชสีมา ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ‘กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี’ ซึ่งรวมตัวกันดูแลและสอดส่องเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2544 ออกมาคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีทันทีเพราะกลัวว่าการมีอยู่ของเหมืองแร่จะไม่ต่างจาก ‘จุดจบ’ ของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยการยื่นเรื่องคัดค้านไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ จนถึงร้องเรียนไปยังรัฐมนตรี แต่เรื่องก็เงียบหายไป
จึงทำให้ต้องตัดสินใจฟ้องร้องไปยังศาลปกครองอุดรธานี ซึ่งศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตร เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้หน่วยงานรัฐกลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด แต่จนถึงปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่พบว่า บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด
ทำให้ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุติ และเพิกถอนการออกประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี รวมถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้จึงขอให้สำรวจจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไป ตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่ใช่พื้นที่ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ อันได้แก่ พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคง และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่จะต้องกันพื้นที่ดังกล่าวออกเสียก่อนที่จะมีการประกาศกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่มีการดำเนินการกันเขตพื้นที่ออกจากพื้นที่คำขอประทานบัตรแต่อย่างใด
ผลปรากฏว่าศาลลงรับหนังสือเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เลขที่ 1/2566 และดำเนินตามขั้นตอนต่อไป ส่วนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรได้อ่านแถลงการณ์ ‘เราไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โปแตช’ หน้าศาลฯ เพิ่มเติมว่า ชาวบ้านคัดค้านเหมืองโดยใช้กระบวนการต่อสู้ผ่านอำนาจอธิปไตยของรัฐทั้ง 3 ฝ่าย มาโดยตลอด แต่รัฐกลับเป็นฝ่ายละเมิดอำนาจดังกล่าวเสียเอง
“รัฐบาลประยุทธ์ลุแก่อำนาจ โดยไม่ฟังอำนาจตุลาการ ใช้อำนาจบริหารอนุมัติ อนุญาตประทานบัตรให้นายทุนทำเหมืองโพแทช วันนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ จำเป็นต้องใช้การต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมของอำนาจตุลาการอีกครั้ง เพื่อฟ้องเพิกถอนประทานบัตรโครงการฯ
“อนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจึงขอประกาศว่า เราไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โพแทช ที่จะแอบอ้างอำนาจของประชาชนเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพื่อกลับมากดหัวเราอีกต่อไป”
ต่อมา เครือข่ายประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วประเทศได้มีการรวมตัวกันจัดงานบุญสืบชะตาให้กับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการรำลึกถึงสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ในยุครัฐบาลปัจจุบัน และภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตชอีสาน กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการพัฒนาอีสาน’
ในช่วงหนึ่งงานเสวนา เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เผยว่า รัฐบาลปัจจุบันประทานบัตรทำเหมืองเพิ่มถึง 3 แห่ง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไร้ซึ่งภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม จึงไม่ต่างจากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่พิกลพิการที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ มาคิดแทนประชาชน
“การผลักดันทำเหมืองแร่โพแทช ต้องยอมรับว่ามีการผลักดันมาในหลายรัฐบาล แต่มาสุกงอมเต็มที่ ในสมัย คสช. ยุคพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น มีการออกประทานบัตรให้รวม 3 แห่ง ทั้งที่ชัยภูมิ นครราชสีมา และล่าสุด อุดรธานี ขอย้ำว่า การประทานบัตรเหมืองแร่มาสุกงอมสมัยพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความจงใจ เร่งรัดขั้นตอน ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ซึ่งก็พิกลพิการ มีพ่อค้า ข้าราชการ อยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเต็มไปหมด ขณะที่ภาคประชาชนแทบจะไม่มีเข้าไปมีส่วนร่วม”
ขณะเดียวกันเพื่อตบตาว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ เป็นไปตามหลักสากล ก็มีการการแก้ไขคิดนโยบาย ‘เหมืองสีเขียว’ มีการมอบประกาศนียบัตรให้เหมืองที่ดำเนินการ รวมทั้งมั่นใจว่าเอาอยู่ กับมาตรการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มี จึงเป็นที่มาว่า ทำไมถึงมาเหมาะเจาะ มีการประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชทั้ง 3 แห่งในสมัยรัฐบาลประยุทธ์
“การอ้างเหมืองสีเขียวเพื่อทำเหมืองแร่โพแทช นอกจากจะอ้างว่า มีการจัดการเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังอ้างว่า จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออน ที่ใช้ในรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเหมืองแร่โพแทช เป็นเหมืองสกปรก ไม่ใช่เหมืองสะอาด” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าว
ไม่ว่าเหมืองจะเป็นจุดเปลี่ยน ‘อนาคต’ หรือ จุดจบ ‘สิ่งแวดล้อม’ แต่สิ่งที่สำคัญคือ รัฐบาล ควรต้องฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
และในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่ดีและรับประกันได้ว่าการมีอยู่ของเหมืองจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าใครก็ไม่ปฏิเสธ เพราะการมีอยู่ของเหมืองย่อมทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม
แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือบทเรียนที่สะท้อนแล้วว่าการทำเหมืองนั้นไม่เคยเกิดขึ้นภายใต้การรับฟังเสียงประชาชน และสะท้อนว่ารัฐบาล 3 ป. ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
คำถามคือ หากเป็นเช่นนั้น ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ จะมีความหมายว่าอย่างไร และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือยังเป็นทิศทางเดิมกันแน่
Tags: สิ่งแวดล้อม, เหมืองแร่, โพแทช