5 วันหลังปิดหีบเลือกตั้ง คำถามต่างๆ ยังรอให้ กกต.ตอบทั้งเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา มาตรฐานการนับคะแนนที่ไม่คงที่ ตลอดจนผลคะแนนและตัวเลขผู้มาใช้สิทธิที่น่าสงสัย เมื่อช่วงสายวันนี้ องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามออกแถลงการณ์ถึง กกต. ให้ชี้แจงในประเด็นการทำงานที่ผิดพลาด และอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เรียกร้องให้ กกต. ชี้แจงความไม่ปกติของการเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นถึงผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า การที่ผู้บริหาร มช. ใช้อำนาจด้วยวาจาสั่งห้ามนักศึกษาจัดลงชื่อถอดถอน กกต. คือ ความอัปยศที่สุดของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนการเติบโตทางความคิด สปิริตการวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกทางความคิดของนักศึกษา ถ้าอยากปรามการกระทำของนักศึกษาจริงๆ ควรออกมาเป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยในขณะนี้มีผู้แชร์สเตตัสนี้กว่า 200 แชร์

ส่วนการตั้งโต๊ะร่วมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ถูกรองอธิการบดีกิจการนักศึกษา นายณัฐปคับภ์ ญาณมโนวศิษฏ์ ประกาศสั่งห้าม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีการขออนุญาตและมหาวิทยาลัยมีความเป็นกลางทางการเมือง

วานนี้ องค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่างก็ออกแถลงการณ์ถึง กกต. เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน และทำงานด้วยความเป็นกลาง

นอกจากนี้ ที่สถาบันการศึกษา 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยเกษตรบางเขน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีการตั้งโต๊ะล่าชื่อ ภายใต้แคมเปญ ‘1 ล้านชื่อยื่นถอดถอน #กกตโป๊ะแตก’ เพื่อนำไปรวมกับรายชื่อใน change.org ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 8 แสนชื่อแล้ว

ด้านนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ภายในมหาวิทยาลัย ก่อนถูกทางมหาวิทยาลัยไล่ที่ถึงสองครั้ง เนื่องจากนักศึกษาไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ สุดท้ายนักศึกษาตัดสินใจออกไปตั้งโต๊ะบริเวณทางเท้าของประตูถนนพหลโยธิน โดย ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า เหตุผลที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่อนุญาตให้นักศึกษาร่วมล่ารายชื่อมี 2 ข้อ ข้อแรก ไม่มีการขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยก่อน ข้อสอง มหาวิทยาลัยเกษตรมีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างทั้งสองประเด็น เนื่องจากเหตุผลข้อแรกมหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน และข้อสองมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมืองที่แท้จริง

ส่วนพรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ออกแถลงการณ์ถึงต่อ กกต. เรียกร้องให้ออกมาแถลงการณ์ไขข้อสงสัยของสังคม โดยกล่าวว่า ความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. กำลังสร้างความเคลือบแคลงให้แก่สังคม ซึ่งอาจจะเป็นชนวนที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง

ทั้งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การล่ารายชื่อดังกล่าวไม่ว่าจะได้จำนวนเท่าใดก็ไม่มีผลทางกฎหมาย โดยระบุว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 234, 235 และ 236 ของรัฐธรรมนูญ 2560

“ไม่ต้องล่ารายชื่อก็สามารถยื่นฟ้อง กกต.ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนก่อน ถ้า ป.ป.ช.รับฟ้อง กกต.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องมีหลักฐานว่า กกต.ทำผิดอะไร ทุจริตต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด” นพ.เจตน์ ระบุ

 

อ้างอิง:

https://www.facebook.com/jetn.sirathranont/posts/2348022388564605

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=800226047011125&id=100010712112787

https://www.facebook.com/cmudyp/photos/a.189787761107270/2120535511365809

https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/955930

https://www.one31.net/news/detail/9458

https://www.matichon.co.th/politics/news_1428181

 

Tags: , ,