ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีภาพผืนป่าภาพหนึ่งถูกแชร์กันว่อนในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม ภาพป่าดังกล่าวดูอุดมสมบูรณ์ สดชื่น เย็นสบายตา ราวกับสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกตามแบบฉบับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ แต่นั่นคือสภาพจริงของป่า ‘คลองมะเดื่อ-เขาใหญ่’ จังหวัดนครนายก ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของระบบนิเวศ จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกกับ UNESCO เมื่อปี 2548

แต่น่าเศร้าใจเพราะรูปภาพดังกล่าวแนบมาพร้อมกับแคปชันที่ระบุว่า ป่าบริเวณนี้กำลังจะกลายเป็นจุดสร้างเขื่อน หมายความว่าบางส่วนจะต้องถูกถางออกไปเพื่อสร้างเขื่อน ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็มีแนวโน้มที่จะถูกน้ำจากเขื่อนท่วม ทั้งที่ห่างจากจุดนี้ไม่ถึง 10 กิโลเมตร ก็มีเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่รองรับน้ำมาจากด้านบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทางน้ำตกเหวนรก ก่อนเก็บกักและผันระบายลงสู่แม่น้ำนครนายกอยู่แล้ว

หากแผนการสร้างที่ว่ายังดำเนินการต่อ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสถานะป่ามรดกโลกโดยตรงแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยหนึ่งในนั้นคือชาวบ้านพื้นที่หมู่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ที่รวมตัวกันตั้งคำถามและคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อมาอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากเขื่อนคลองมะเดื่อที่วางแผนจะสร้างขึ้นในป่าบริเวณที่ปรากฏในภาพ ยังมีอ่างเก็บน้ำอีกมากถึง 6 แห่ง ที่อาจผุดขึ้นรอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีค่าไปอย่างถาวร ได้แก่

1. อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จังหวัดสระแก้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา มีพื้นที่รวม 4,753 ไร่ ความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 22.32 ล้านลูกบาตรเมตร ปัจจุบัน ทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนและอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อยู่ในขั้นตอนใกล้เคียงกัน คือมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จ และกำลังเตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

2. อ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 8,500 ไร่ มีแผนจะก่อสร้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 334.43 ล้านลูกบาตรเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ยังต้องทำการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

3. อ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร จังหวัดปราจีนบุรี มีแผนจะก่อสร้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมทำ EHIA เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่

4. อ่างเก็บน้ำคลองวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางเลือก

6. อ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีแผนการสร้างที่ชัดเจน แต่ได้รับการเสนอชื่อโดยกรมอุทยานแห่งชาติ จึงถูกระบุไว้ในรายชื่อ

7. อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา จังหวัดสระบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเคยมีการศึกษาความเหมาะสมไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำ EIA

เมื่อไรก็ตามที่เกิดคำถามถึงที่มาและความสำคัญของบรรดาโครงการอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ คำตอบที่เราได้รับมักอ้างถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก เป็นโครงการเก่าแก่ที่ถูกคิดค้นและวางแผนเอาไว้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์หลายตารางกิโลเมตร แต่เมื่อโครงการที่ล้าสมัยเช่นนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เกิดสถานการณ์กระอักกระอ่วนดังที่เห็น

ปัจจุบัน สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลกเหลือพื้นที่ป่าให้พึ่งพิงน้อยลงทุกวัน และพื้นที่ป่าทับลาน-ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในไทย ผลการศึกษาพบการกระจายตัวของเสือโคร่งอย่างน้อย 20 ตัว ที่หากินในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงสัตว์ป่าอีก 58 ชนิด

ฉะนั้น คำถามสำคัญคือ คุณประโยชน์ของการสร้างเขื่อนที่เราเห็น แท้จริงแล้วมีประโยชน์จริงแท้แค่ไหน และเรากำลังเบียดเบียดธรรมชาติรวมถึงชีวิตสัตว์ป่าอยู่หรือไม่ โปรดลองพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง

ที่มา

https://www.thaipbs.or.th/news/content/307138

https://www.thaipbs.or.th/news/content/305480

https://www.seub.or.th/bloging/news/อ่างเก็บน้ำดงพญาเย็น-เข

https://www.sarakadee.com/2023/07/10/เขื่อนคลองมะเดื่อ

Tags: , , , , ,