“การทำงานเป็นทีม ทำความฝันให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น” คิม นัม-จุน (RM) BTS
การได้รางวัล 3 รางวัลใหญ่ของวง BTS บอยแบนด์จากเกาหลีใต้ บนเวทีประกาศผลอเมริกันมิวสิกอวอร์ดส์ เป็นภาพที่ดูคุ้นตาเหมือนครั้งที่ภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) และ Minari (2020) ทำได้ในเวทีโลก ดูเหมือนว่าหลังจากที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จในธุรกิจหนังและซีรี่ส์ ธุรกิจเพลงก็ไม่น้อยหน้าและมาแรงเช่นเดียวกัน
อะไรทำให้ธุรกิจดนตรีของเกาหลีใต้กำลังไปได้สวย
1.
หากนับย้อนไปในแวดวงเพลงฝั่งตะวันตกเมื่อสัก 20 ปีก่อน ศิลปินเอเชียที่อยู่ในดนตรีกระแสหลักที่คนพอจะรู้จักกันถือว่าน้อยมาก และซ่อนตัวอยู่ใต้เงา เพราะเรื่องข้อจำกัดทางภาษา หรือไม่ก็ไม่ได้โดดเด่นถึงขั้นสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะเป็นคนญี่ปุ่นมากกว่าชาติเอเชียอื่นๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา
หากคุณเป็นนักฟังเพลงรุ่น Gen X ชื่อของวงเดอะสแมชชิงพัมพ์กินส์ (The Smashing Pumpkins) และเจมส์ โยชิโนบุ อีฮา (James Iha) ก็น่าจะพอผ่านหูคุณมาบ้าง เจมส์เกิดในชิคาโก เขาน่าจะเป็นยุคแรกของนักดนตรีเอเชียที่ฝ่าฟันกระแสเหยียดคนผิวเหลืองขึ้นมา จนได้รับการยอมรับในแวดวงดนตรี และเคยออกอัลบั้มเดี่ยว แต่ก็ไม่ดังเท่ากับตอนที่ทำงานกับเดอะสแมชชิงพัมพ์กินส์
เรื่องการเหยียดคนเอเชีย แม้ไม่ชัดเจน ไม่เข้มข้นเหมือนคนผิวดำ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนอเมริกันรู้กันดีว่ามีอยู่ กระแสนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1868 ช่วงที่มีการทำสนธิสัญญาเบอร์ลิงเกม (The Burlingame Act) ซึ่งอนุญาตให้คนจีนสามารถตั้งรกรากขอสัญชาติอเมริกันได้ เพราะต้องการแรงงานจีนเข้ามาทำงานที่เสี่ยงอันตราย ต่อจากนั้นก็เป็นช่วงคนญี่ปุ่นที่ทะลักเข้ามาในช่วง 1907 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นสามารถถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้ และเกือบชนะสงคราม หากว่าอเมริกาไม่ตัดสินใจถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์เสียก่อน
ความหวาดกลัวคนเอเชียยังมีมาเรื่อยๆ การแทรกซึมของคนเอเชียในอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกาจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น เพราะเมื่อเทียบสัดส่วนของประชากร คนเชื้อสายเอเชียก็ยังน้อยกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ในธุรกิจดนตรีของอเมริกัน
นอกเหนือจาก เจมส์ อีฮา ฝั่งเอเชียก็มี โคโค่ ลี (Coco Lee) หรือวงแนว EDM อย่าง ฟาร์อีสต์มูฟเมนต์ (Far East Movement) แต่ก็ไม่ได้โด่งดังขนาดเป็นปรากฏการณ์ และร้องเพลงภาษาอังกฤษ ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็น คิทาโร (Kitaro ศิลปินแนว New-Age) ที-สแควร์ (T-Square แจ๊ซแบนด์จากญี่ปุ่น) หรือ สตีฟ อาโอกิ (Steve Aoki ดีเจ) ทั้งหมดนี้ล้วนประสบความสำเร็จด้วยเพลงบรรเลงที่ไม่มีคำร้อง
ปัจจุบันการฟังเพลงเปลี่ยนไปมาก ผลงานของศิลปินเข้าถึงง่ายขึ้น พลอยทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ‘ความเป็นเอเชีย’ จึงขายได้
สหรัฐอเมริการู้ดีถึงเรื่องนี้ เพราะตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิงคือคนเอเชีย ทั้งเรื่องสัดส่วนของคนที่เข้าไปดูหนังในโรง คนเชื้อสายเอเชียคือกลุ่มหลักที่จ่ายเงินเข้าไปดูหนังมากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ทั้งเรื่องของจำนวนของคนเอเชียที่มีกำลังซื้อ การสอดแทรกความเป็นเอเชียหรือแม้แต่ ‘ทำให้เป็นเอเชีย’ เสียเลย เช่น ภาพยนตร์ Shang-Chi (2021)
แต่ในธุรกิจเพลง ดูเหมือนความเป็นเกาหลีจะชัดเจนกว่าความเป็นเอเชียหลายเท่าตัว
2.
ว่ากันตามความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเกาหลีใต้ พบว่าความสำเร็จของเกาหลีใต้วันนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ‘พี่ให้’ ก็ว่าได้
ย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นซึ่งเต็มไปด้วยการกดขี่ ญี่ปุ่นทำลายอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนเกาหลีไปหลายอย่าง ทั้งการล้มล้างระบอบกษัตริย์ การบังคับใช้แรงงาน หลังจากได้รับเอกราชและการแยกประะเทศ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่สูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง ไร้ซึ่งสถาบันใดๆ ยึดเหนี่ยว ระบบการเมืองพังทลาย ช่วงเวลาแห่งความเคว้งคว้างว่างเปล่านี้เอง ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศ ฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเกาหลีใต้จึงได้อิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกา เสมือนพี่ใหญ่ที่เข้ามาค้ำชูในจังหวะที่เหลียวไปไม่เห็นใคร ความสัมพันธ์และท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อเกาหลีใต้นั้นค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดีจนถึงปัจจุบัน
และการบูมของ K-Wave ต้องบอกว่า เบื้องหลังก็ได้อเมริกามาช่วยเช่นกัน
ช่วงวิกฤตการเงินปี 1997 และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำให้เกาหลีสามารถผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะได้อิทธิพลมาจากญี่ปุ่นที่เข้ามาปกครองช่วงปี 1940-1950 โดยเฉพาะการเล่าเรื่องและวิธีคิดแบบมังงะ ที่มีกรนำเอามาใช้ในการสร้างเส้นเรื่องที่สามารถออกนอกกรอบและการทำสตอรีบอร์ดที่กระชับในภาพยนตร์และซีรี่ส์
ช่วงแรกของการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเกาหลีเพื่อเข้าสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เกาหลีใต้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภาพลักษณ์และการตลาดเอแดลแมน (Edelman) มาช่วยเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ เรียกว่ารื้อสร้างวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้ และเชื่อมโยงจิ๊กซอว์ส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการสร้างทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมบันเทิง การผสมผสานความได้เปรียบของสองโลกเข้าด้วยกัน (เช่น เอามิวสิกวีดีโอนักร้องเกาหลีไปขายให้โทรทัศน์) เกาหลีใต้ใช้เวลา 30 ปีในการสร้างระบบนิเวศความบันเทิง จนกลายเป็นหนึ่งประเทศที่สามารถทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้น่าสนใจ
เกาหลีใต้ค่อยๆ ปั้นธุรกิจเพลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หาคนทำเพลง โปรดิวเซอร์ นักออกแบบท่าเต้นทั้งหลายที่อยู่ในธุรกิจการทำเพลงระดับสากล กลับมาพัฒนาธุรกิจเพลงของเกาหลีใต้ การเกิดขึ้นของ JYP Entertainment, YG และ SM Town เบื้องหลังล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยมีไม้เด็ดอยู่ที่ท่าเต้นที่แข็งแรง พร้อมเพรียง บทเพลงก็พยายามสอดแทรกประโยคหรือวลีที่เป็นภาษาอังกฤษในเพลง เพื่อให้ติดหูคนฟังในวงกว้าง
ทั้งเรน (Rain) บิ๊กแบง (BIGBANG) ทูเอนีวัน (2NE1) เกิร์ลเจเนอเรชัน (Girls’ Generation) โบอา (BoA) ทูพีเอ็ม (2PM) ก็อตเซเวน (GOT7) ล้วนเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมเพลงที่เริ่มก่อตัวและสั่งสมบารมีขึ้นเรื่อยๆ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่สุดของวงการเพลงเกาหลีใต้ คือความสำเร็จของ พัก แจ ซัง หรือ PSY ในเพลง Gangnam Style (2012) ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ปัจจุบันมีคนเข้าไปดูมิวสิกวีดีโอเพลงนี้กว่า 4,300 ล้านครั้งในยูทูบ ความสำเร็จของพัก แจ ซัง มาจากหลากหลายเหตุผล ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (ปีนี้เป็นปีแรกที่กูเกิลเปิดเผยว่าตัวเลขของแอ็กเคานต์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นเกิน 5,000 ล้านแอ็กเคานต์) เป็นปีที่ Big Data เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ตโฟน และสมาร์ตทีวีในเกาหลีใต้ก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีดังกล่าว ซึ่งล้วนเป็นแรงส่งให้เพลงกังนัมสไตล์ได้รับความนิยม
สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือตัวพัก แจ ซัง ก็มีความเข้าใจในวัฒนธรรมอเมริกันอย่างดี (พัก แจ ซัง จบด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยบอสตันและวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา) เครือข่ายด้านธุรกิจเพลงในสหรัฐฯ ของเขา และการสร้างบุคลิกที่แตกต่างจากไอดอลเกาหลี ทั้งหมดทำให้เพลงภาษาเกาหลีใต้ที่คนตะวันตกอาจไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้องเลย แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด โดยกินเนสส์บุ๊กบันทึกไว้ว่า เพลง Gangnam Style เป็นเพลงที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก มากกว่าเพลงจากเลดี้ กาก้าและจัสติน บีเบอร์
ผ่านมา 8 ปี เพลงจากเกาหลีใต้ก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง หลังจากที่วง BTS ทำสถิติใหม่ในการเปิดตัวมิวสิควีดีโอ Dynamite ที่มีคนดูใน 24 ชั่วโมงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (มากกว่า 100 ล้านวิว) และคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแบบไลฟ์สตรีมมิงครั้งแรกของ BTS ก็ทำสถิติผู้ชมคอนเสิร์ตออนไลน์มากที่สุดในโลกคือเกือบ 1 ล้านคนในคราวเดียว
หากเราเข้าไปดูรายงาน Global Music Report 2020 ของ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ก็จะพบว่า สถิติการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงของโลก ส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนโดยวงการ K-Pop ของเกาหลีใต้ โดย K-Pop ถือเป็นหมวดที่มีการเติบโตสูงที่สุดในปี 2020 วงการ K-Pop เติบโตขึ้นกว่า 45% เมื่อเทียบกับปี 2019 ปัจจัยหลักนั้นมาจากบริการสตรีมมิงที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และคนมีเวลาเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน
เฉพาะอุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีใต้ในปี 2019 ถือเป็นปีที่สามารถทำรายได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ คือสามารถสร้างรายได้กว่า 6.8 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท เอาแค่รายได้ที่มาจาก BTS วงเดียวก็ปาเข้าไป 23,000 ล้านบาท ที่เกาหลีใต้ทำได้จากหนุ่มๆ กลุ่มนี้
BTS เป็นตัวอย่างสูตรสำเร็จของเกาหลีใต้ ในการสร้างไอดอลและระบบการทำการตลาดที่แข็งแรง ซึ่งมาจากการผสมผสานลักษณะทางวัฒนธรรมเข้ากับความทันสมัย ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศแห่งนวัตกรรมและการเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหนัก ทุ่มเท โดยเฉพาะในตลาดกลุ่ม Boy Band หรือ Girl Group ซึ่งเรียกได้ว่าศิลปินจากเกาหลีใต้ครองส่วนแบ่งเกือบทั้งหมดของหมวดนี้ไปแล้วสำหรับนักฟังเพลงรุ่นใหม่ๆ และยังมีช่องว่างนี้อยู่ในตลาดเพลง จึงถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
3.
เมื่อดูทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เกาหลีใต้คือพันธมิตรที่ดีของสหรัฐอเมริกา การออกมาพูดเรื่องการครบรอบ 70 ปีของสงครามเกาหลีที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หรือการที่แฮชแท็ก #BTShumiliatedChina บนเว่ยป๋อ (Weibo) กลายเป็นแฮชแท็กที่ขึ้นอันดับ ยิ่งตอกย้ำจุดยืนทางการเมืองผ่านไอดอลว่าอยู่ข้างใคร
กระแสเกาหลีน่าจะยังมีอย่างต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ การเปิดตัว ‘จียัง’ หุ่นเชิดตัวใหม่เชื้อสายเกาหลีของเซซามีสตรีท (จียังอายุ 7 ขวบ เธอหลงใหลการเล่นกีตาร์และสเกตบอร์ด) ยิ่งเป็นการย้ำว่าการมีอยู่ของความเป็นเกาหลีในสังคมตะวันตกนั้นเป็นเนื้อหาในเชิงบวก การเปิดรับวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมอเมริกันน่าจะมีมากขึ้นนอกเหนือจากโทรศัพท์ โทรทัศน์ และเครื่องสำอาง
เรียกได้ว่า บอยแบนด์ แฟชั่น อาหาร รถยนต์ กำลังจ่อคิวเป็น ‘อาร์มี’ ของเกาหลีใต้
Tags: ดนตรี, BTS, Entertainment Weekly Round-Up, เพลง