วันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาให้กรมป่าไม้ไปปรับปรุงแก้ไขอ่าวมาหยาให้กลับคืนสภาพ รวมถึงให้บริษัททเวนตี เซนจูรีฟอกซ์ และบริษัทซันต้า มอบเงิน 10 ล้านบาท อันเป็นผลพวงจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach ภาพยนตร์เรื่องดังเมื่อ 21 ปีก่อน

นั่นหมายความว่า กระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์มิได้เป็นไปตามตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กระบวนการทุกอย่างดูเหมือนจะผิดทิศผิดทาง และสร้างความเสียหายทั้งหมด

แล้วทำไมภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งที่ถ่ายในไทย ถึงได้สร้างความยุ่งเหยิงมากขนาดนั้น?

หลังความสำเร็จของ Titanic ไม่นาน ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo Dicaprio) อยู่ในสภาพเนื้อหอม ค่ายหนังฟอกซ์ (Fox) ต้องการอาศัยความดังของดิคาปริโอในภาพยนตร์เรื่องต่อไป และภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คือ The Beach ภาพยนตร์ว่าด้วยหนุ่มแบ็กแพ็ก และ ‘เกาะสวรรค์’ สร้างขึ้นตามนวนิยายของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) จากประสบการณ์จริงขณะการ์แลนด์มาเที่ยวที่ประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ทำเงินของปี 2541 และมีผู้กำกับชื่อดังอย่าง แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งยอมเปลี่ยนพระเอกคู่บุญจาก ยวน แม็กเกรเกอร์ (Ewan McGregor) มาใช้บริการดิคาปริโอ จนทั้งบอยล์และแม็กเกรเกอร์ไม่ยอมมองหน้ากันนานหลายปี

เกาะสวรรค์ตามเนื้อเรื่องคือเกาะที่ตัวละครเอกของเรื่องบังเอิญไปเจอแผนที่ จึงได้ว่ายน้ำข้ามจากฝั่งไปยังเกาะดังกล่าว ก่อนจะพบว่าบนเกาะหาได้เป็นเกาะสวรรค์ที่แท้จริง หากแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและครอบงำของผู้นำลัทธิบางอย่าง ทำให้ในที่สุดพวกเขาต้องกระเสือกกระสนหนีออกจากเกาะสวรรค์แห่งนั้นในที่สุด

หลังจากตระเวนหาโลเคชันเกาะสวรรค์ทั่วโลก ในที่สุดทีมผู้สร้างก็ตกลงเลือก ‘อ่าวมาหยา’ บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เป็นเกาะสวรรค์ ในเวลานั้น อ่าวมาหยายังไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก น้ำทะเลยังเป็นสีมรกต ทั้งยังมีแนวปะการังขยายปกคลุมไปทั่วอ่าวมาหยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ในฝันของนักดำน้ำ

รัฐบาล ชวน หลีกภัย รัฐบาลไทยในเวลานั้นตัดสินใจให้ทีมผู้สร้างใช้พื้นที่อ่าวมาหยาเป็นเกาะสวรรค์ได้อย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมี ปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกองถ่าย

ตามท้องเรื่องนั้น เกาะสวรรค์จะเป็นเกาะที่ล้อมรอบทะเลสาบสีมรกต หากแต่อ่าวมาหยาไม่ได้มีทะเลสาบอยู่ด้านใน เป็นเพียงชายหาดและอ่าวธรรมดา ทีมผู้สร้างต้องไปใช้วิชวลกราฟิกให้ดูเหมือนว่าทะเลสาบสีมรกตนั้นล้อมรอบเกาะ

แต่เหตุผลที่ทีมผู้สร้างเลือกเกาะนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำไม่ได้มีแค่นั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเป็นเพราะทีมผู้สร้างเล็งเห็นว่าสามารถดัดแปลงเกาะนี้ให้เป็นไปตามบทประพันธ์และบทภาพยนตร์ได้ ทันทีที่ได้รับอนุญาต ผู้สร้างได้นำรถแทรกเตอร์เกลี่ยดินปรับพื้นที่รอบเกาะพีพีเลจนเรียบให้ดูเสมือนเกาะในความฝัน รถแทรกเตอร์ดังกล่าวยังได้เปลี่ยนสภาพเนินทรายบางส่วน เคลียร์ต้นมะพร้าว ดายหญ้าขยายชายหาดให้กว้างขึ้น อ้างอิงตามบทภาพยนตร์ที่บอกว่าชายหาดต้องกว้างพอจะให้ชาวเกาะสามารถเตะฟุตบอลได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำต้นมะพร้าวนับร้อยต้น ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ไม้ในท้องที่มาปลูก เพื่อให้บรรยากาศดูสวยงาม

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้สร้าง โดยสั่งห้ามมิให้นักท่องเที่ยวและบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต ขึ้นอ่าวมาหยาอย่างเด็ดขาดในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นท่าทีแปร่งๆ อย่างหนัก

ในตอนแรก เจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มั่นใจถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ ทว่าหลังจากกองถ่ายย้ายออกจากพื้นที่และพายุซัดเข้าชายฝั่งรัวๆ ความสูญเสียก็ปรากฏเด่นชัด แนวสันทรายสีขาวทรุดตัวลงไปในทะเลทันทีที่เกิดพายุ มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ชายหาดพังทลายเพราะมีการขุดหน้าดินเพื่อใช้ในการถ่ายทำ นานวันเข้า ชายหาดก็ถูกคลื่นลมกัดทรายเข้าไปเรื่อยๆ และทำลายแนวปะการังอันเป็นหนึ่งในจุดเด่นของอ่าวมาหยาโดยสิ้นเชิง

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมโกรธเกรี้ยวกับความเสียหายดังกล่าว ทั้งยังกล่าวหาว่าผู้สร้างภาพยนตร์จ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อทำลายอ่าวมาหยา พร้อมกันนี้ยังระบุด้วยว่า ฟอกซ์ได้จ่ายเงินมากกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ​ฯ (ประมาณ 4 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้น) ซึ่งสูงกว่าค่าธรรมเนียมการถ่ายทำภาพยนตร์ตามปกติอย่างมาก เพื่อให้สามารถดัดแปลงอ่าวมาหยาด้วยวิธีใดก็ได้

ข่าวการปะทะกันระหว่างนักอนุรักษ์ เอ็นจีโอ และทีมผู้สร้างภาพยนตร์ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน กระทั่งทีมงานต้องหยุดก่อสร้างชั่วคราวเพื่อเคลียร์ปัญหา รวมถึงปรับแผนที่จะเซ็ตฉากให้ใหญ่โตอลังการกว่านี้ ให้เหลือเท่าที่เห็นในภาพยนตร์ ทั้งยังตามมาด้วยคดีความ เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนางและนักเคลื่อนไหวได้ยื่นฟ้องฟอกซ์ บริษัทประสานงานภายในพื้นที่ชื่อ ซันต้า อินเตอร์เนชันแนล (Santa International) รวมถึงกรมป่าไม้

ในที่สุด จึงเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา เป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งศาลรับคำฟ้องครั้งแรกเมื่อปี 2555

วันที่ 21 เมษายน 2561 โจทก์และจำเลยมีการไกล่เกลี่ย ตั้งนักวิชาการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศาล โจทก์ และจำเลย ลงพื้นที่อ่าวมาหยา รวบรวมรายละเอียดเพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟู โดยบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์มีความประสงค์จะตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวมาหยาตามที่โจทก์ยื่นฟ้อง

และในที่สุดก็มาถึงจุดที่ศาลพิพากษาให้กรมป่าไม้ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยา รวมถึงให้บริษัททเวนตี เซนจูรีฟอกซ์ และ บริษัทซันต้า มอบเงิน 10 ล้านบาท อันเป็นผลพวงจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach ภาพยนตร์เรื่องดังเมื่อ 21 ปีก่อน

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งให้อ่าวมาหยากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ จังหวัดกระบี่กลายเป็นจุดหมายระดับโลกเสริมจากจังหวัดภูเก็ต ทำให้เกาะเล็กๆ อย่างอ่าวมาหยาที่อยู่ห่างจากฝั่งกลายเป็นที่จอดเรือเล็กและเรือใหญ่ประชิดหาด ปี 2560-2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหาดเล็กๆ ของอ่าวมาหยาในแต่ละวันมากกว่า 4,000 คน ซึ่งแน่นอนว่ามาจากการที่ The Beach ได้กรุยทางเอาไว้

ผลกระทบที่ตามมา สภาพสุดท้ายของอ่าวมาหยาก็คือภาพของขยะเต็มเกาะ แนวปะการังพังราบ เมื่อฝูงปลาต้องเจอกับสมอเรือ และนักท่องเที่ยวมหาศาลก็เป็นอันหายหมด เกาะสวรรค์ใน The Beach กลายเป็นเกาะเสื่อมโทรม จนทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจปิดเกาะเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 และเพิ่งจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง พร้อมกับการจัดระบบเป็นอย่างดี เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

กระนั้นเอง แน่นอนว่า 10 ล้านบาทย่อมไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูอ่าวมาหยาและความเสียหายในระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอด 21 ปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่ายังเป็นไปได้ยากที่จะ ‘ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล’ ตามที่ศาลสั่ง

บทเรียนจาก The Beach จึงสร้างรอยแผลตั้งแต่เส้นทางการอนุมัติให้ใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ การควบคุม-กำกับดูแลที่ผิดพลาด ไปจนถึงเส้นทางหลังจากภาพยนตร์ออกฉาย นั่นคือควบคุมความดังของสถานที่ท่องเที่ยวไม่ได้ และไร้มาตรการกำกับดูแลจนตามมาด้วยความเสียหายทางธรรมชาติที่ยับกว่าสิ่งที่กองถ่ายภาพยนตร์ได้สร้างไว้

ส่วนจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่… คำตอบคือไม่มีใครรู้ แต่หลังจากนี้ การอนุมัติงานสร้างภาพยนตร์เรื่องใดก็แล้วแต่ อาจไม่ใช่ ‘เรื่องง่าย’ อีกต่อไปแล้ว

Tags: , , , , ,