สำหรับคนไทยแทบทุกคน อ่าวมาหยาคือเพชรเม็ดงามแห่งทะเลใต้ ทรายขาว อ่าวแสนสวยงาม และปะการังหลากสีสันอยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แต่อ่าวแสนสงบได้ถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของไทย และนำเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ประเทศ หลังจากที่เดอะบีช (The Beach) ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษนำแสดงโดยนักแสดงหนุ่ม ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ได้ถ่ายทอดความงามของอ่าวดังกล่าวไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2000 

ประเทศไทยที่เจ็บหนักหลังจากวิกฤติค่าเงินบาทและภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยิ่งต้องพึ่งพิงเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างการท่องเที่ยว ในแต่ละวัน เรือหางยาวและเรือเร็วพานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมายังอ่าวเล็กๆ แห่งนี้ จากหลักร้อยเพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน (หรือกระทั่งหลักหมื่นในบางวัน) โดยมีกำแพงเดียวที่จะกีดกันนักท่องเที่ยวเหล่านั้นคือค่าเข้าชมอุทยานฯ หลักร้อยบาท

ปะการังอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ป่าชายเลนถูกทำลาย เช่นเดียวกับระบบนิเวศใต้น้ำที่อ่าวมาหยาและบริเวณโดยรอบซึ่งเสื่อมลงถนัดตา แม้ว่าความสวยงามอาจไม่เป็นเช่นดังในอดีต แต่ความโด่งดังก็ยังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไหลมาเทมา พร้อมกับเม็ดเงินมหาศาลที่หนุนธุรกิจในท้องถิ่น กระทั่งกลางปี พ.ศ. 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัดสินใจ ‘หักดิบ’ ปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูและขยายระยะเวลาการปิดอ่าวต่อไปแบบไม่มีกำหนด

นี่คือเรื่องเล่าคลาสสิกของโศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม (Tragedy of the Commons) คำซึ่งถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยการ์เรตต์ ฮาร์ดิน (Garrett Hardin) นักชีววิทยาที่กังวลต่อภาวะประชากรล้นโลกในปี 1968 ก่อนที่คำดังกล่าวจะเป็นประเด็นฮอตฮิตที่ถกเถียงในแวดวงเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรส่วนรวมที่หากเป็นไปตามที่ฮาร์ดินทำนาย ทุกกรณีจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

ทำไมของส่วนรวมจึงจบลงที่โศกนาฏกรรม?

นิทานที่ฮาร์ดินหยิบยกมาอธิบายแนวคิดของเขาในบทความวิชาการว่าด้วยที่ดินส่วนรวมสำหรับเลี้ยงสัตว์ในอังกฤษซึ่งเกษตรกรโดยรอบสามารถปล่อยสัตว์มากินหญ้าได้แบบฟรีๆ และไม่มีข้อจำกัด หากเกษตรกรและเหล่าสัตว์ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวมีปริมาณที่เหมาะสม หญ้าและที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนกลางก็จะเสมือนหนึ่งว่าไม่มีวันหมดเพราะสามารถงอกขึ้นมาได้ตามธรรมชาติ

แต่ความเป็นจริงก็อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่ฝัน เมื่อครอบครัวของเกษตรกรใหญ่ขึ้นและร่ำรวยขึ้นก็ย่อมนำมาซึ่งปริมาณปศุสัตว์ที่มากขึ้น พร้อมกับความต้องการใช้ที่ดินและปริมาณหญ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว หากเราตั้งข้อสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เรื่องราวคงจบไม่สวยนักเพราะทุกครอบครัวเกษตรกรก็จะปล่อยให้ปศุสัตว์มาแก่งแย่งทรัพยากรในที่ดินส่วนรวม จนกระทั่งวันที่หญ้าไม่เพียงพอซึ่งจะนำมาซึ่งความซวยแก่เกษตรกรทั้งหมดที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ลองนึกถึงเวลาที่ไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วสั่ง ‘จานกลางหารเท่า’ มาให้ลองชิมกัน หากเราต่างไม่มีมารยาททางสังคมและเป็นกลุ่มเพื่อนที่ต่างก็ค่อนข้างเห็นแก่ตัว ก็จะมีแรงจูงใจอย่างยิ่งที่จะตักอาหารจานกลางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะนั่นคือของส่วนรวมที่ไม่ว่าจะใช้มากหรือใช้น้อยก็ต้องจ่ายเท่ากันอยู่ดี 

โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวมอาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรจำเพาะบางประเภทเท่านั้นโดยมีลักษณะสำคัญคือ (1) ไม่สามารถกีดกันคนอื่นที่จะมาบริโภคได้ (non-excludable) และ (2) ต้องแก่งแย่งกันบริโภค (rivalrous in consumption) กล่าวคือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและใช้แล้วหมดไปนั่นเอง

นอกจากกรณีของอ่าวมาหยาข้างต้น โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวมยังสามารถพบได้ในอีกหลากหลายของกรณี ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างจากการจับปลาโดยไร้การควบคุมจนทำให้ประชากรปลาลดลงเกินกว่าระดับที่จะสามารถฟื้นตัวได้ตามธรรมชาติ เช่น ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) ซึ่งมีจำนวนประชากรในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือลดลงถึง 96 เปอร์เซ็นต์ หรือแพขยะพลาสติกขนาดยักษ์ในมหาสมุทรซึ่งอาจมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับประเทศไทย แพขยะดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของการใช้ทรัพยากรส่วนกลางนั่นคือมหาสมุทรอย่างมักง่าย ด้วยธรรมชาติของมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่โตและมีการใช้ร่วมกันของหลายประเทศจนทำให้พื้นที่ส่วนกลางซึ่งไม่มีใครดูแลกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะโดยปริยาย

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวกว่านั้นก็เช่น ถนนสาธารณะซึ่งทุกคนต่างต้องการแย่งกันใช้ แต่ถ้ามีปริมาณรถบนท้องถนนมากเกินไปก็จะเกิดโศกนาฏกรรมนั่นคือการจราจรที่ติดขัด หรือการใช้แหล่งน้ำในช่วงภาวะขาดแคลนที่ภาครัฐอาจเรียกร้องให้คนเมืองหรือเกษตรกรประหยัดน้ำซึ่งเป็นการ ‘เสียสละเพื่อส่วนรวม’

ส่วนกรณีสุดท้ายคงหนีไม่พ้นสภาวะโลกร้อนจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเราสามารถมองว่าชั้นบรรยากาศของโลกคือทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันของทุกประเทศ และการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คือการ ‘บริโภค’ ขีดจำกัดในการแบกรับมลภาวะดังกล่าว เมื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ว่าหากยังปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปจะทำให้ทั้งโลกเผชิญกับวิกฤติ แต่ละประเทศจึงเผชิญกับสองทางเลือกคือเร่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุดเพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง หรือเร่งลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด (แม้ว่าจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง) เพื่อรักษาชั้นบรรยากาศไว้ให้สำหรับคนรุ่นต่อไป

คงไม่ต้องบอกนะครับว่าทางเลือกไหนที่ดูน่าจูงใจมากกว่ากัน?

ทำอย่างไรถึงจะไม่จบที่โศกนาฏกรรม?

คำตอบของคำถามนี้อยู่ในลักษณะประการหนึ่งของทรัพยากรที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม นั่นคือการเปลี่ยนจากทรัพยากรที่ไม่สามารถกีดกันคนอื่นมาบริโภคได้ให้เป็นทรัพยากรที่สามารถกีดกันได้ โดยอาจสร้างชุดกฎเกณฑ์ในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น อาทิ การจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่อ่าวมาหยา การจำกัดปริมาณการจับปลาทูน่าของเรือแต่ละลำ การกำหนดให้รถยนต์แต่ละคันวิ่งได้เฉพาะในวันคี่หรือวันคู่ หรือการใช้กลไกเพื่อจำกัดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ ฯลฯ

การสร้างเงื่อนไขเพื่อกีดกันไม่ให้เกิดการบริโภคที่เกินพอดีก็มีหลายวิธี ตั้งแต่การกำหนดโดยรัฐบาลที่อาจมีสารพัดมาตรการเพื่อกีดกันคนบางกลุ่มให้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ หรือมีนโยบายลงทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรเหล่านั้น แต่ปัญหาหลักของแนวคิดแบบบนลงล่างและการอิงกับภาครัฐคือการแสวงหาค่าเช่า (rent-seeking) กล่าวคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในมือในการกีดกันคนบางกลุ่มอาจนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองได้ผ่านการรับสินบน

อีกวิธีหนึ่งคือการแปลงทรัพยากรเหล่านั้นให้กลายเป็นของภาคเอกชน (privatization) โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอแนวคิดนี้เชื่อว่าเอกชนจะสามารถ ‘บริหารจัดการ’ ทรัพยากรเหล่านั้นได้ดีกว่าการทิ้งไว้ให้เป็นของส่วนรวม แต่กว่าที่ทรัพยากรส่วนรวมจะหลุดจากมือภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนได้ก็ย่อมเผชิญปัญหาคล้ายกับแนวคิดในย่อหน้าข้างต้น เพราะทรัพยากรส่วนรวมซึ่งมักมีมูลค่ามหาศาลอาจตกไปอยู่ในมือของภาคเอกชนที่ ‘สมประโยชน์’ กับเจ้าหน้าที่รัฐ

วิธีสุดท้ายเสนอโดยเอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรส่วนรวม เธอเสนอวิธีความร่วมมือเพื่อการจัดการทรัพยากรร่วมกันในหนังสือที่โด่งดังอย่างมากชื่อว่า การปกครองทรัพยากรร่วม (Governing the Commons) ที่เผยแพร่เมื่อราว 30 ปีก่อน โดยแทนที่ภาครัฐและภาคเอกชนด้วยการร่วมมือของภาคประชาชน ออสตรอมมองว่าการจัดการทรัพยากรส่วนรวมไม่ควรออกแบบโดยใครก็ไม่รู้ที่อยู่ห่างไกลจากทรัพยากรนั้นๆ แต่ควรกระทำโดยการร่วมมือกันของคนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากทรัพยากรดังกล่าว เธอได้ข้อสรุปนี้จากงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายต่อหลายชิ้นในอินโดนีเซีย เนปาล และเคนยา 

ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นตัวอย่างอันดีของจุดอ่อนในทฤษฎีโศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวมซึ่งมาจากสมมติฐานล้วนๆ โดยไม่มีหลักฐานรองรับในเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะสมมติฐานที่ว่ามนุษย์มีความเห็นแก่ตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่าเป็นสมมติฐานที่ผิด เนื่องจากมนุษย์โดยปกตินั้นจะเห็นแก่ตัวก็จริงแต่ก็เป็นความเห็นแก่ตัวที่มีขอบเขต

ดังนั้น การจัดการทรัพยากรส่วนรวมอาจไม่ได้จบลงที่โศกนาฏกรรมเสมอไปโดยภาพดังกล่าวอาจมองโลกในแง่ร้ายเกินไปสักหน่อย แต่ในทางกลับกัน ความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไร โดยอาจต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าเหล่าผู้นำจะตกลงกันได้ก่อนที่โลกจะไปถึงระดับที่เรียกได้ว่าโศกนาฏกรรม เช่นเดียวกับกรณีอ่าวมาหยาที่รัฐบาล ‘กล้า’ พอที่จะยอมสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นและสงวนรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานในระยะยาว

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Tragedy of the Commons

Ten Real-Life Examples of the Tragedy of the Commons

Climate Change Is Victim Of ‘Tragedy Of The Commons’

COPING WITH TRAGEDIES OF THE COMMONS

The Tragedy of the Commons: How Elinor Ostrom Solved One of Life’s Greatest Dilemmas

 

Tags: , ,