“จิตใจของคุณอยู่ที่ไหน
มนุษยชาติต่างคร่ำครวญ
คุณคิดว่าตนเองคือพระเจ้า
แต่ทุกคนจากไปเสียแล้ว
อย่ากลืนกินจิตวิญญาณของฉัน และพวกเรา”
ความเศร้าสร้อย เรื่องราวอันน่าอดสู และจิตวิญญาณที่แตกสลายถูกปลุกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เมื่อ ซูซานา จามาลาดีโนวา (Susana Jamaladinova) หรือ ‘จามาลา’ (Jamala) นักร้องหญิงชาวยูเครนถ่ายทอดบทเพลง 1944 ในการประกวดร้องเพลงยูโรวิชัน (Eurovision Sing Contest) ในปี 2016
เนื้อเพลงเต็มไปด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดของชาวตาตาร์ (Tatar) บรรพบุรุษของจามาลา เมื่อย่าทวดของเธอเป็น 1 ใน 2 แสนคนที่ถูก โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียตเนรเทศให้ออกจากไครเมียในปี 1944 และต้องเดินทางระหกระเหินไปในพื้นที่ห่างไกล ด้วยรถไฟขนปศุสัตว์ที่ปราศจากน้ำและอาหารท่ามกลางอากาศหนาวเย็นเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้
ในวันนั้น จามาลาคว้าชัยชนะในการประกวดร้องเพลงด้วย 534 คะแนน และนำความภาคภูมิใจมาสู่ยูเครน ทว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถึง ‘วาระซ้อนเร้นทางการเมือง’ ในบทเพลง ซึ่งสวนทางกับกฎต้องห้ามในการประกวดยูโรวิชัน คือการร้องเพลงที่มีประเด็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย
ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ในวันวาน แต่ความเดือดดาลยังเชื่อมโยงกับความคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงเวลาดังกล่าวจาก ‘เหตุการณ์การผนวกไครเมีย’ ในปี 2014 โดยเฉพาะชาวตาตาร์ที่ไม่ยอมรับการยึดครองของรัสเซียในเวลาดังกล่าว
ขณะที่ฟากฝั่งมอสโกก็แสดงปฏิกิริยาต่อต้านผลการประกวด นักการเมืองและผู้มีอำนาจต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า บทเพลงของจามาลาเป็นผลพวงจากปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของยูเครน และชัยชนะของเธอไม่สมควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย
ว่ากันว่า บทเพลงและศิลปินไม่ควรข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่ใช่สำหรับจามาลา ในห้วงเวลานั้น เธอยังคงยืนหยัดว่า ชัยชนะจากบทเพลง 1994 ถูกต้องชอบธรรม 100% และผลคะแนนสะท้อนถึงความไม่นิ่งนอนใจของชาวยุโรปต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับไครเมีย
“ถ้าฉันชนะนั่นแปลว่า คนยุโรปรุ่นใหม่ไม่ได้เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับฟังความเจ็บปวดของผู้คนด้วยความเห็นอกเห็นใจ” จามาลาให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ในปี 2016 ก่อนการประกวด 1 วัน เธอยอมรับว่า 1944 เป็นบทเพลงที่สะท้อนเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอหลังการผนวกไครเมียในปี 2014 พร้อมทั้งเผยว่า ตนเองมีความโศกเศร้าเพราะไม่สามารถกลับบ้านไปพบคุณปู่ได้ ขณะที่การนิ่งเงียบก็ไม่ใช่ทางเลือกเช่นกัน
ความตึงเครียดทางการเมืองในวันนั้นมาถึงจุดสูงสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน หลังรัสเซียตัดสินใจเปิดศึกบุกยูเครนเต็มรูปแบบ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนทั่วโลกในฐานะประจักษ์พยานคนสำคัญในประวัติศาสตร์
แต่สำหรับผู้หญิงที่ชื่อจามาลา เธอยังคงยึดมั่นในจุดยืนของตนเองอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้วิกฤตครั้งสำคัญในชีวิตมาถึง และวันนี้ เธอตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดผ่าน Qirim อัลบั้มชุดใหม่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมของชาวตาตาร์ไครเมียนท่ามกลางสมรภูมิรบอันนองเลือดในยูเครน
‘Qirim’ อัลบั้มว่าด้วยเรื่องราวถูกลืม สูญหายของตาตาร์ไครเมียน แต่ถูกร้อยเรียงใหม่ด้วยมันสมองและความพยายาม
แม้น้อยคนในประเทศไทยจะรู้จักหรือได้ยินชื่อของจามาลาในหน้าสื่อกระแสหลัก หากแต่การทำความรู้จักกับเธอไม่ยากเย็นนัก โดยเฉพาะจุดเด่นในผลงานเพลงที่สะท้อนความตรงไปตรงมา ดังเช่น Kryla (แปลว่าปีกในภาษายูเครน) อัลบั้มในปี 2018 ที่สื่อถึงการปลดปล่อย ‘พลังแห่งความรัก’ ท่ามกลางความยากลำบาก และปลดแอกใครสักคนสู่เสรีภาพด้วยปีกที่โบยบิน
เช่นเดียวกับ Qirim อัลบั้มล่าสุดที่แปลว่า ‘ไครเมีย’ ในภาษาเตอร์กิก จามาลาบอกเล่าตัวตนและรากเหง้าของเธอแบบไม่อ้อมค้อม โดยจุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นนี้เกิดจากการรวบรวมบทเพลงในวัฒนธรรมตาตาร์ไครเมียน ที่ถูกหลงลืม สูญหาย และยังไม่ได้รับการเผยแพร่ อย่างเงียบเชียบตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของเธอ
“คุณจะไม่ได้ฟังเพลงตาตาร์ไครเมียนในโลกออนไลน์ได้แน่นอน มันเป็นเพลงที่มีเอกลักษณ์ และเป็นงานที่หนักหนาจริงๆ” นักร้องสาวเผยกับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ในปี 2023 เธอเล่าว่า ตนเองต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในทำอัลบั้มนี้ โดยเฉพาะขั้นตอนการรวบรวมเพลงเพื่อนำกลับมาประพันธ์ใหม่ เพราะทางการรัสเซียสั่งห้ามไม่ให้กลับไปที่ไครเมีย นับตั้งแต่เหตุการณ์ในยูโรวิชันปี 2016 สุดท้าย ผู้คนจากบ้านเกิดของเธอต้องแอบส่งเพลงให้ จากนั้นจึงค่อยนำไปทำงานร่วมกับนักดนตรีดั้งเดิมและนักออร์เคสตราถึง 80 คน
ทว่าจามาลาต้องเผชิญกับช่วงยากลำบากที่สุด เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นในปี 2022 เพราะผลงานเพลงของเธอที่หวงแหนทั้งหมดอยู่ในสตูดิโอกรุงคีฟ หนึ่งในพื้นที่สุดอันตรายท่ามกลางสมรภูมิรบ โดยที่ไม่มีไฟล์สำรองไว้เลย
“อัลบั้มของฉันอยู่ที่ไหน?” ความคิดแวบที่สองของเธอ นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยของลูก ท่ามกลางเสียงไซเรนและความโกลาหลภายนอกทั้งหมด แต่แล้ว โชคก็เข้าข้างจามาลา หลังสถานการณ์ผ่านไป 1 เดือน เซอร์เกย์ ครุตเซนโก (Serhiy Krutsenko) โปรดิวเซอร์ของเธอกลับไปที่สตูดิโอแห่งนั้น และพยายามอัปโหลดเพลงจนสำเร็จภายใน 2 สัปดาห์ แม้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะย่ำแย่มากก็ตาม
ท้ายที่สุด จามาลาสามารถเปิดตัวอัลบั้ม Qirim ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2023 ตรงกับวันรำลึกเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวตาตาร์ไครเมียนได้สำเร็จ พร้อมกับสัญญะที่ปรากฏในทุกรายละเอียด ทั้งการมี 14 บทเพลงที่สะท้อนแคว้น 14 แห่งในไครเมีย หรือการใส่เรื่องราวในประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าที่ถูกลืม ดังเพลง Alim ซึ่งมาจากชื่อของ อาลิม ไอดัดมักห์ (Alim Aidadmakh) ฮีโร่ในตำนานของชาวตาตาร์ไครเมียนที่เปรียบเสมือน ‘โรบินฮู้ด’ (Robinhood) วีรบุรุษของคนยากจน แต่เป็นโจรของผู้ร่ำรวย
นอกจากนี้ จุดเด่นสำคัญในอัลบั้ม Qirim คือการประพันธ์ผลงานเพลงเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นเมืองหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน ทรัมเป็ต และขลุ่ยคาวาล (Kaval) เครื่องดนตรีที่แพร่หลายในแถบคาบสมุทรบอลข่าน
ด้วยความลงตัวของส่วนผสมทั้งหมดจึงอาจกล่าวได้ว่า การเสพเนื้อหาอัลบั้ม Qirim คลับคล้ายคลับคลากับทริปเดินทางท่องไปในไครเมียมากกว่าการนั่งฟังเพลงทั่วไป โดยเฉพาะท่วงทำนองและเรื่องราวในบทเพลง ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตอันหลากหลายของชาวตาตาร์ไครเมียนถึง 40 ชาติพันธุ์
‘Qirim’ มากกว่าอัลบั้ม แต่คือแคปซูลแห่งกาลเวลาในอนาคต: ร่องรอยของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในบทเพลงและจามาลา
“ฉันพยายามส่งเสียงต่อไครเมีย บ้านเกิดของฉัน ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดิรัสเซีย สหภาพโซเวียต หรือประเทศรัสเซียในวันนี้ พวกเขาสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปิดปากเรา พวกเขาบอกโลกว่า เราไม่มีตัวตนอยู่จริง
“แต่ชาวตาตาร์ไครเมียนรู้ความจริง ฉันก็ด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการเปิดเผยความจริงจากอัลบั้มในแต่ละบทเพลงถึงสำคัญ”
จามาลาเผยความในใจในการสรรสร้างผลงานชิ้นนี้ พร้อมอธิบายว่า บทเพลงดังกล่าวไม่ใช่แค่การบอกเล่าเรื่องในอดีต แต่ยังเป็น ‘ไทม์แคปซูล’ ในอนาคตเพื่อสะท้อนเรื่องราวในปัจจุบัน เมื่อเธอตัดสินใจใส่เสียง ‘ไซเรน’ และ ‘จรวดมิสไซล์’ ใน OUTRO แทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม Qirim เพื่อย้ำเตือนโลกว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดกำลังเกิดขึ้นกับยูเครนระหว่างที่เธอผลิตผลงานชิ้นนี้
นั่นรวมถึงช่วงเวลาที่จามาลาทำการแสดงสดกับวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งชาติของยูเครน (Ukraine’s National Symphony Orchestra) กลับกลายเป็นว่า ทุกอย่างไม่เป็นไปตามกำหนดการณ์ เธอและทีมงานทั้งหมดต้องหาวิ่งที่หลบภัย ท่ามกลางเสียงไซเรนเตือนภัยที่ดังก้องกระหึ่มในสมรภูมิรบ
แต่สิ่งที่เป็นมากกว่าไทม์แคปซูล ซึ่งตอกย้ำถึงความเลวร้ายของสงครามและความขัดแย้งในภายภาคหน้า คือการที่นักร้องสาวอยู่ในลิสต์รายชื่อที่ทางการมอสโกต้องการตัว หลังถูกตั้งข้อหาทางอาญาในฐาน ‘เผยแพร่ข้อมูลปลอม’ ของกองทัพรัสเซีย แม้ว่าในความเป็นจริง เธอและครอบครัวต้องลี้ภัยไปยังอิสตันบูล (Istanbul) และออสเตรเลีย ทันทีที่สงครามเกิดขึ้นก็ตาม
การโต้ตอบของเธอด้วยรูปถ่ายพร้อมด้วยอิโมจิรูปกุมขมับ ที่แนบด้วยเนื้อข่าวดังกล่าวราวกับขำขันในเรื่อง ‘ไร้สาระ’ อาจนับได้ว่า นี่คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่อีกหนึ่งอย่าง หากเทียบกับรางวัลและความสำเร็จในอดีต เพราะลำพังการมี ‘ไมค์’ และ ‘มันสมอง’ ไม่อาจเป็นภัยคุกคามของใครสักคนได้ นอกจากผู้มีอำนาจที่กลัวการพูดความจริงมากที่สุด
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-36295168
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-65542799
https://www.ukrainianworldcongress.org/jamala-presents-an-album-of-crimean-tatar-songs/
https://www.bbc.com/news/world-europe-67478220
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-36295551
https://esctoday.com/161887/ukraine-listen-to-kryla-by-jamala/
https://www.ukrainianworldcongress.org/jamala-presents-an-album-of-crimean-tatar-songs/