นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย ออกแถลงการณ์ว่าตัวเองได้สั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารบุกเข้าไปยังประเทศยูเครน นับจากวันนั้น ชีวิตของชาวยูเครนทุกคนก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้ชาวยูเครนหลายคนจะไม่ได้อยู่ที่ยูเครน แต่พวกเขาคือคนยูเครน จึงพากันออกมาแสดงจุดยืนพร้อมกันทั่วโลกว่าพวกเขาไม่ต้องการสงคราม และออกมาจัดม็อบเพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกหรือคนในประเทศนั้นๆ รับฟังพวกเขา ในประเทศไทยก็เช่นกัน เราได้เห็นม็อบยูเครนหลายครั้ง พวกเขารวมกลุ่มกันที่สวนลุมพินี รวมกลุ่มกันหน้าสถานทูตยูเครน หรือแม้กระทั่งสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ท่ามกลางความตึงเครียดในบ้านเกิดที่ผู้คนล้มตายรายวัน

The Momentum ตามติดการประท้วงของชาวยูเครนในไทยมาพอสมควร ช่างภาพของเรามักแวะเวียนไปยังม็อบยูเครน ถ่ายรูปและกลับมาเล่าให้พวกเราฟังว่าเขาพบเห็นอะไรบ้าง และการไปร่วมประท้วงบ่อยครั้งเข้า ทำให้ โรแมน (Roman) และยูเรีย (Yuliia) สองแกนนำม็อบยูเครนจดจำช่างภาพของเราได้ ก่อนยอมเปิดใจให้เราได้นั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการออกมาจัดการประท้วง เพื่อหาคำตอบว่าชาวยูเครนคิดอะไรอยู่ พวกเขาต้องการอะไร และหวังให้โลกเข้าใจพวกเขาแบบไหน

 

1: เราจัดม็อบเพราะอยากให้ผู้คนได้ยินเสียง

หากใครได้แวะเวียนไปดูความเคลื่อนไหวของม็อบยูเครนในไทย เชื่อได้ว่าคงต้องเดินผ่านหรือพบเจอกับโรแมนและยูเรียแน่นอน เพราะพวกเขาจะอยู่ทุกการชุมนุม เป็นคนรวมกลุ่มชาวยูเครนในไทยออกจัดม็อบประท้วงการกระทำของรัสเซีย

“การจัดม็อบยูเครนในต่างแดนช่วยอะไรได้บ้าง” เราถามทั้งคู่ไปแบบนั้น

พวกเขาตอบกลับมาว่า ไม่ได้ต้องการอะไรจากคนไทยเลย ไม่ได้ต้องการเงินจากประชาชน ที่ตอนนี้ก็เผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่ต้องการให้คนไทยมาช่วยต่อสู้ ไม่ต้องการให้คนไทยเกลียดคนรัสเซีย การชุมนุมของพวกเขาเกิดขึ้นเพียงเพราะอยากให้ทุกคนได้ยินเสียงของพวกเขา เสียงของคนยูเครน และรับข้อมูลที่ถูกต้องแทนการรับข่าวปลอมจากรัฐบาลรัสเซีย

ข่าวปลอมที่ว่าคืออะไร ยูเรียยกตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลของสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ในบางการชุมนุมที่ชาวยูเครนไปรวมตัวกันหน้าสถานทูตรัสเซีย พวกใช้มือถือถ่ายจอโทรทัศน์ที่ติดอยู่ตรงกำแพงสถานทูต เป็นฟุตเทจกองทัพรัสเซีย เครื่องบินรบ และกองกำลังทหาร คล้ายกับว่ากำลังนำเสนอแสนยานุภาพของกองทัพรัสเซียและเหล่าทหารกล้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ

“พวกเรายืนดูสิ่งที่สถานทูตรัสเซียนำเสนอแล้วเกิดความรู้สึกว่า ‘อะไรวะ เรื่องพวกนี้แม่งไม่จริงเลย’

“ตอนนี้หลายคนพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน หลายคนได้ดูคลิปเหตุการณ์ในยูเครน คลิปคนหนีตาย คลิปผู้คนร้องไห้อย่างเจ็บปวด แต่กลายเป็นว่า มีบางคนบอกว่าคลิปเหล่านี้เป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ไม่มีความสูญเสียในยูเครน ความคิดเห็นจากการรับข่าวปลอมแบบนี้ ทำให้พวกเราที่เป็นคนยูเครนในต่างแดนต้องออกมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอความจริง พูดให้ทุกคนได้รับรู้ว่าตอนนี้มีคนนับล้านต้องพลัดถิ่น มีคนตาย แล้วการได้ยินว่าเรื่องคอขาดบาดตายพวกนี้เป็นของปลอม มันทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากๆ”

เธอถามเราด้วยว่าคนไทยชอบเล่นเทเลแกรมไหม เพราะคนยูเครนส่วนใหญ่จะใช้เทเลแกรมในการสื่อสาร และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนจะถูกส่งเข้าเทเลแกรม

“พวกเขาจะขอความช่วยเหลือผ่านทางเทเลแกรม ถ้าอยู่ในห้องแชตคนยูเครน คุณจะเห็นเลยว่าทุกคนต่างส่งภาพ คลิปวิดีโอ หรือบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเจอ แชตจะเด้งอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างได้จากเพื่อนชาวแคนาดาของฉัน เธอพูดภาษารัสเซียกับภาษายูเครนไม่ได้ แต่ยายของเธออายุ 87 ปี อาศัยอยู่ในยูเครน โดยที่ไม่สามารถออกจากบ้านเพื่อเดินทางออกนอกประเทศได้ด้วยตัวเอง ห้องแชตในเทเลแกรมก็จะช่วยกันระดมคน ระดมอาสาสมัครเข้าไปช่วยคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ สุดท้ายคุณยายคนนี้ถูกพาตัวออกมาอย่างปลอดภัยแล้ว

“ถามว่าฉันรู้เรื่องทุกอย่างได้อย่างไรเพราะในเมื่อตัวเองก็ไม่ได้อยู่ที่ยูเครน ฉันมีเพื่อน มีญาติ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ทุกๆ วัน พวกเขาจะส่งคลิปวิดีโอมาให้ดู โพสต์ภาพในอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ทำให้เราเห็นพวกเขาเดินทางไปตามจุดต่างๆ เห็นพวกเขาดิ้นรนเพื่อหนีให้ห่างจากสงคราม เห็นเรื่องราวของเพื่อนร่วมชาติที่ส่งให้กันทุกวัน แล้วแบบนี้จะให้ไม่เชื่อข้อมูลที่มีอยู่ แล้วไปเชื่อข่าวปลอมว่ายูเครนสงบสุขได้อย่างไร เพราะข้อมูลทั้งหมดที่ฉันมีมันคือเรื่องจริง”

ตอนนี้มีสำนักข่าวและผู้คนจำนวนมากแชร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน หลายคนแชร์ข่าวจากสำนักข่าวฝั่งตะวันตก บางคนแชร์ข่าวจากสำนักข่าวรัสเซีย กลายเป็นว่าข้อมูลมหาศาลที่อยู่ในโลกออนไลน์มีความขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด ตอนนี้สำนักข่าว BBC ประกาศระงับการทำงานของผู้สื่อข่าวในรัสเซียแล้ว หลังรัฐสภารัสเซียผ่านร่างกฎหมายเผยข่าวปลอมรัสเซีย-ยูเครน โทษสูงสุดจำคุก 15 ปี และระงับการรายงานข่าวของ VOA (Voice of America) หรือการบล็อกการเข้าถึงเฟซบุ๊กทั่วประเทศ เหลือเพียงสำนักข่าวท้องถิ่นเท่านั้น จนเกิดการตั้งข้อสังเกตของสื่อหลายเจ้าว่า แล้วถ้ารายงานความจริงแต่ไม่ถูกใจรัฐบาล พวกเขาก็จะมีโอกาสถูกควบคุมตัวด้วยหรือไม่

ตัวอย่างข่าวที่มีข้อมูลขัดแย้งกันมากที่สุดข่าวหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์การทิ้งระเบิดโจมตีโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลแม่และเด็กในยูเครน สถานที่ที่ไม่สมควรจะถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่ง กลายเป็นว่ากองทัพรัสเซียโจมตีโรงพยาบาลดังกล่าว ก่อนออกมาอธิบายภายหลังว่ารัสเซียไม่ได้ทำ แต่เป็นยูเครนต่างหากที่โจมตีคนของตัวเอง

“เรื่องนี้คือเรื่องหลักที่ทำให้เราออกมา เราต้องการนำเสนอความจริง บอกกับทุกประเทศ บอกกับทุกองค์กรในโลกนี้ว่าพวกเรากำลังเดือดร้อน เราพยายามที่จะส่งข้อความไปยังรัฐบาลรัสเซียให้พวกเขาหยุดทำสงคราม หยุดโจมตีประชาชนที่ไม่รู้เรื่อง ถือว่าทำเพื่อผู้คน ทำเพื่อเด็กๆ ทำเพื่อคนแก่ที่ไม่รู้เรื่องและไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งพวกนี้เลยได้ไหม แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม เขายังโจมตีเราเหมือนเดิม”

โรแมนเองก็มีความต้องการผลักดันให้โลกเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนไม่ต่างจากยูเรีย เขาอยากให้คนไทยได้เห็นเรื่องราว 2 มุม เพราะเขาเห็นว่ามีสำนักข่าวในประเทศไทยบางช่องแปลข่าวจากสื่อรัสเซียมากกว่าสื่อของยูเครน แต่ถ้าคนไทยต้องการจะรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ขอให้ฟังเรื่องราวจากฝั่งพวกเขาบ้าง

“มีหลายประเทศและหลายคนต้องการช่วยรัสเซีย ส่วนเราแค่ต้องการให้หลายพื้นที่บนโลกเข้าใจสิ่งที่เรากำลังเจออยู่เท่านั้น ทำไมเราถึงต้องถูกโจมตีจนผู้คนต้องไปหลบอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน เราเลยออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองในสวนลุมพินี ส่งเสียงออกไปว่าตอนนี้มีคนที่กำลังเดือดร้อนเพราะรัสเซียต้องการยึดยูเครน

“ถ้าต้องการข้อมูลที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมสามารถพาไปดูด้วยตาตัวเองที่ยูเครนได้เลย ถ้าคุณต้องการล่าม ต้องการคนขับรถ ผมหาให้ได้ทั้งหมด ไปเพื่อดูทุกสิ่งด้วยตาด้วยเองว่าตอนนี้รัสเซียทำอะไรกับยูเครนบ้าง”

 

2: ความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้น

การประกาศบุกยูเครนของปูตินสร้างผลกระทบตามมานานัปการ ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ทางการทูตของหลายประเทศที่ใกล้จะขาดสะบั้น การคว่ำบาตรของแบรนด์และองค์กรต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาวรัสเซียกับชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่ว่าชาวรัสเซียทุกคนจะเห็นด้วยกับการกระทำของปูติน เห็นได้จากการมีผู้คนมากมายออกมาประท้วงผู้นำของตัวเองในเมืองต่างๆ ทั้ง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมอสโก แต่ก็ยังมีชาวรัสเซียอีกมากที่ชื่นชอบปูติน มองว่าการบุกยูเครนครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะรัสเซียต้องปกป้องตัวเอง หรือด้วยเหตุผลอื่นใดๆ ก็ตามที่สนับสนุนว่าผู้นำของเขาทำถูกแล้ว

ยูเรียเล่าว่าเธอมีเพื่อนชาวรัสเซียหลายคน บางคนยังเป็นเพื่อนกันอยู่ แต่ที่ตัดสัมพันธ์ไปแล้วก็มีไม่น้อย ด้วยเหตุผลที่เป็นปัญหาสากลที่คนทุกชาติต่างต้องเคยพบเจอ เรื่องที่ว่านั้นคือความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างมีความคิดขัดแย้งกันสุดขั้ว

“เมื่อสามปีก่อนฉันเคยมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนรัสเซีย เอาจริงๆ ไม่มีใครอยากมีปัญหาขุ่นเคืองกับเพื่อนตัวเองเพราะเรื่องการเมือง แต่ความสัมพันธ์ทางการเมืองของรัสเซียกับยูเครนมีปัญหาบ่อยมาก เรื่องการแทรกแซง การประท้วง ตอนนั้นเราคุยกันเรื่องสงคราม ฉันเลยถามเพื่อนคนนั้นว่าชอบปูตินไหม เธอตอบว่า ‘แน่นอน ฉันชอบเขา เพราะเขาทำให้ทั้งโลกต้องกลัวเรา’ ตอนนี้เราก็เลยไม่ใช่เพื่อนกันอีกต่อไปแล้ว

“ฉันสาบานว่าเพื่อนเก่าพูดอย่างนี้จริงๆ ฉันไม่ได้สร้างเรื่องขึ้นมาใหม่เพื่อเล่าให้ฟัง และคุณเห็นการสัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่แล้วของปูตินไหม (เธอหมายถึงเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2022 ที่ปูตินประกาศว่าการคว่ำบาตรรัสเซียก็เหมือนกับการประกาศสงครามกับรัสเซีย) เขาขู่ประเทศอื่นๆ ว่าถ้าให้ความช่วยเหลือยูเครนเท่ากับคุณกำลังต่อสู้กับรัสเซีย เขากล้าขู่ทั้งโลกได้ ไหนจะการอ้างถึงฟาสซิสม์ตอนที่ให้ทหารของเราวางอาวุธ ทั้งหมดมันไร้สาระ และฉันคิดว่าเขาเป็นบ้า”

อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ว่าชาวรัสเซียทุกคนจะชอบปูติน แต่คนไม่ชอบปูตินอีกมากก็เลือกที่จะไม่ทำอะไร ไม่พูดอะไรเลย ยูเรียตั้งข้อสังเกตว่ามีคนรัสเซียกับคนยูเครนเป็นเพื่อนกันเยอะมาก พอเป็นเพื่อนกันก็จะติดตามโซเชียลมีเดียกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือติ๊กต็อก ตอนนี้คนยูเครนแทบทุกคนจะระบายความเจ็บปวดที่เจอลงโซเชียลมีเดีย ถ้าติดตามกันอยู่ก็จะต้องเห็นทุกอย่าง แต่ทำไมบางคนถึงเลือกไม่พูด หรือไม่ทำอะไรเลยเพื่อเพื่อนของตัวเอง

“ฉันไม่ได้ขอให้ใครไปสู้เพื่อประเทศเราเลย ฉันแค่อยากให้พวกเขาพูดออกมาว่าเห็นอะไร เห็นเพื่อนตัวเองลงรูปในอินสตาแกรมว่ากำลังหนี ลงรูปบ้านที่คุณเคยไปเที่ยว ซึ่งตอนนี้ถูกระเบิดเละไปหมดแล้ว แต่ทำไมตอนเราเจอกันถึงไม่พูดเรื่องนี้เลย พูดแค่ว่าตัวเองก็ต้องการสันติภาพเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทำอะไรสักอย่าง บางทีถึงขั้นพูดว่า ‘อ๋อ อันนั้นมันข่าวปลอม’ หรือ ‘ข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องจริง’ พูดแค่นั้นใครก็พูดได้ ทั้งที่ประเทศของคุณคือต้นเหตุของสงคราม ประเทศคุณโจมตีเรา”

ถึงเธอจะแบ่งปันประสบการณ์แย่ๆ กับคนรัสเซีย แต่ยูเรียก็อธิบายเพิ่มว่าตอนนี้ยังมีคนรอบตัวอีกมากที่เป็นคนรัสเซีย ทั้งเพื่อนของเพื่อน คนรู้จักต่างๆ ในวันแรกที่ปูตินสั่งกองทัพรัสเซียบุกยูเครน ชาวรัสเซียเหล่านี้ก็บริจาคเงินช่วยชาวยูเครน ช่วยกระจายเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะพวกเขาไม่ต้องการสงคราม และไม่ชอบผู้นำของตัวเอง

 

3: การรุกรานของเพื่อนบ้าน

“ถ้าอยู่ๆ วันนี้ เพื่อนบ้านของคุณพาทหารบุกเข้ามาในประเทศไทย แล้วบอกคุณว่า ห้ามใช้ภาษาไทย ต้องพูดแต่ภาษาของพวกเขา คุณจะยอมไหม”

โรแมนถามเราแบบนั้น

ก่อนที่ยูเครนจะได้เอกราช เดิมทีพวกเขามีภาษาเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตมาอย่างยาวนาน ชาวยูเครนแทบทุกคนจำเป็นจะต้องอ่านเขียนภาษารัสเซียได้ เพราะถ้าไม่รู้ภาษารัสเซีย ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถจัดการเรื่องทางราชการ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรืองานที่ดีได้

“พวกเขาไม่เคยแคร์เราเลย แม้เราจะหลุดออกมาจากการปกครองของคอมมิวนิสต์แล้ว แต่คนยูเครนที่อายุเพียง 16-17 ปี ยังคงมีความเป็นรัสเซียกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ แล้วตอนนี้พวกเขาก็ก่อสงคราม สร้างข่าวปลอมใส่ร้ายพวกเรา เขียนข่าวว่าคนยูเครนอยากฆ่าคนรัสเซียตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทั้งที่พวกเราต้องการแค่อิสรภาพ ต้องการแค่สันติภาพ และอยากมีชีวิตปกติแบบที่เราเลือกเอง เราแค่อยากเป็นเหมือนโปแลนด์ อยากเป็นเหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป

“แต่รัสเซียไม่ยอมปล่อยเราไป ทหารของปูตินเข้ามาเต็มยูเครน ทำตัวเหมือนทหารนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนี้รัสเซียโจมตีแค่ยูเครนก็จริง แต่ผมคิดว่าถ้าเรายอมแพ้ หรือถ้ารัสเซียยึดยูเครนได้ มันจะไม่จบแค่ยูเครนแน่นอน แต่ความขัดแย้งแบบนี้จะกระจายไปทั่วทั้งยุโรป”

ยูเรียก็รู้สึกเหมือนกับที่โรแมนเล่า เธอมองว่าหากรัสเซียได้ทุกอย่างที่ต้องการจากยูเครน การรุกรานก็จะยังไม่จบอยู่ดี

“คุณเข้าใจหลักการง่ายๆ ใช่ไหม เวลาบางคนมีเงินเยอะๆ พวกเขาก็ยิ่งอยากมีมากขึ้นไปอีก ปูตินก็เหมือนกัน ฉันคิดว่าเขาต้องการดินแดนของเรา และถ้าได้บ้านเราไปเขาก็คงไม่หยุดอยู่ดี ส่วนพวกเราก็พยายามปกป้องกันเอง เราถึงจำเป็นต้องส่งเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ขอความช่วยเหลือจากนาโต เพราะพวกเราไม่อยากพบเจอกับความเจ็บปวดอย่างที่ยูเครนเคยเจอในช่วงสงครามเย็นอีกแล้ว”

“เขาโกหก เคยสร้างผู้นำปลอมๆ ขึ้นมาในประเทศต่างๆ ชาวบ้านก็วิ่งไปหาทหารรัสเซียแล้วบอกว่า ขอบคุณนะที่เข้ามาช่วยพวกเรา แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเรื่องพวกนี้มันไม่จริง”

 

4: เอาตัวเองให้รอดก่อนไหม

“ผมคิดว่ารัสเซียมีแค่ 6 เมืองใหญ่ ที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ของรัสเซียยังเต็มไปด้วยคนยากจน พวกเขาไม่มีถนน ไม่มีสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน ไม่มีก๊าซ คุณคิดว่าไงล่ะ”

เหมือนโรแมนกำลังบอกว่า ประเทศที่ส่งออกก๊าซอันดับต้นๆ ของโลก แต่เวลาเดียวกันประชาชนในชาติยังไม่มีก๊าซใช้ แล้วสาเหตุการขาดแคลนก๊าซในหลายพื้นที่ของรัสเซียเกิดจากอะไรได้บ้าง

ความเหลื่อมล้ำ?

การห่างไกลความเจริญ?

หรือเพราะการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล?

โรแมนมองว่ามีคนรัสเซียไม่น้อยที่เกลียดชังปูติน เกลียดชังการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ย้อนกลับไปยังปี 2011 ประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวกันบริเวณจัตุรัสโบลอตนายา (Bolotnaya Sqare) เรียกปูตินว่าเป็นโจร ขับไสไล่ส่ง และกล่าวหาว่าปูตินโกงการเลือกตั้งเมื่อช่วงปลายปี 2010 หรือกรณีการจัดงานโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่บนความยากไร้ของประชาชน

“รัสเซียเคยเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2014 ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างสเตเดียม ขณะที่คนรัสเซียในเมืองต่างๆ ยังคงจนอยู่เหมือนเดิม พวกเขาแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรกับสิ่งปลูกสร้างนั้นเลยแม้แต่น้อย ขณะที่รัฐบาลได้อวดความยิ่งใหญ่ให้คนนอกได้เห็น

“รัฐบาลรัสเซียไม่เคยอยากให้คนรัสเซียดูข่าวยูเครนที่เป็นข่าวจริงๆ เช่น การเปลี่ยนรัฐบาลของยูเครนเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลรัสเซียมีส่วนแทรกแซง แต่เขาจะไม่นำเสนอแบบนี้ และเปลี่ยนเป็นการบอกแค่ว่า ชาวยูเครนออกมาประท้วงไล่รัฐบาลเพราะประธานาธิบดียักยอกเงิน แค่นั้นจบ ไม่อธิบายเพิ่มว่าสาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลรัสเซียนั่นแหละที่แทรกแซงการเมืองยูเครน

“รัฐบาลรัสเซียต้องการเบนความสนใจของคนด้วยการสร้างปัญหานอกประเทศ ทำให้บางช่วงเวลาคนเผลอลืมไปว่าพวกเขายังคงมีปัญหา เพราะปัญหาข้างนอกมันดูใหญ่โตกว่า น่ากังวลกว่า ทั้งที่รัฐบาลรัสเซียควรจะคิดหาวิธีแก้ปัญหาในบ้านตัวเอง ไม่ใช่กลบปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเองด้วยการทำแบบนี้กับพวกเรา”

โรแมนเล่าว่าเขาเห็นข่าวชาวรัสเซียจำนวนมากไปประท้วงปูติน และเดาว่าประชาชนคนกล้าที่ออกมาประท้วง น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ดูแต่ข่าวในรัสเซีย ไม่ถูกโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ถูกหลอกเพราะติดตามเหตุการณ์ของรัสเซีย-ยูเครน จากสำนักข่าวต่างประเทศควบคู่ไปด้วย

แต่กลายเป็นว่าพอมีคนประท้วง รัฐบาลรัสเซียจับเยาวชนของตัวเองไปขัง พอพูดว่าไม่ชอบปูตินในที่สาธารณะก็ถูกจับ หรือแม้กระทั่งผู้ประท้วงที่ชูกระดาษเปล่าก็ถูกจับไปเหมือนกัน โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเธอจะพูดเรื่องอะไร ประท้วงคนยูเครนหรือประท้วงรัฐบาลรัสเซียกันแน่ แต่คนเหล่านี้ล้วนจับกุมคุมขังเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เห็นว่าถ้าออกมาเคลื่อนไหวจะต้องเจอกับอะไร ถ้าออกมาเคลื่อนไหวก็จะจบลงที่คุก

“ตลอด 16 ปีในประเทศของเรา ยูเครนไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เคยโจมตีใครเลยสักครั้ง แต่ลองดูว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมารัสเซียทำร้ายใครไปแล้วบ้าง แทบจะตลอดเวลา รัสเซียไปทุกที่ ทุกสงครามก็จะมีพวกเขามาเอี่ยวด้วยเสมอ”

 

5: ยูโรไมดาน

การต่อสู้ในครั้งนี้ของชาวยูเครนไม่ใช่ครั้งแรก พวกเขาเคยต่อสู้กับรัฐบาลฉ้อฉล เคยต่อสู้กับเหตุการณ์แบ่งแยกดินแดนในไครเมีย และพื้นที่อื่นๆ ทางภูมิภาคตะวันออกที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘ดอนบาส’ แต่เหตุการณ์ที่คนยูเครนหลายคนจำได้แม่นคือเหตุการณ์ ‘ยูโรไมดาน’ การต่อสู้ของประชาชน ณ จัตุรัสกลางเมืองในช่วงปี 2013-2014 ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้น

“จำได้ว่าตอนนั้นผู้คนโกรธกันมากๆ มีแต่คนตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนี้กับประชาชน

“หลังสงครามเย็น รัสเซียมีประธานาธิบดียูเครนที่จะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของรัสเซีย คุณงงไหม เขาชื่อ วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) และตอนนี้รัสเซียก็อยากจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในยูเครนแบบนั้นอีก แต่เหตุการณ์ยูโรไมดานในช่วงปี 2013-2014 ไม่เหมือนกับตอนนี้เลย จุดเริ่มต้นของยูโรไมดานเกิดขึ้นเพราะยานูโควิชบอกกับเราว่าจะพาประเทศเข้าร่วมกับยุโรป แต่เกิดเปลี่ยนใจกลางทางเพราะได้ผลประโยชน์บางอย่างจากรัสเซีย ประชาชนจึงออกมาเคลื่อนไหวเพราะพวกเราอยากเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป”

โรแมนเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเขามาอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว จึงไม่ได้เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวที่จัดขึ้นกลางกรุงเคียฟ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถึงจะไม่ได้อยู่ในยูเครน แต่เรื่องราวของยูโรไมดานเป็นประเด็นที่คนยูเครนทุกคนจะต้องพูดถึง เพราะมีประชาชนจำนวนมากต่อสู้กันข้ามปีในช่วงที่อากาศย่ำแย่ที่สุด และถูกรัฐบาลสลายการชุมนุมด้วยวิธีที่รุนแรงที่สุด

‘กว่า 93 วัน เกิดการปะทะกันไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ เริ่มจากการสลายการชุมนุมที่ดำเนินมาอย่างสันติ ใช้อาวุธเบาอย่างกระบองหรือแขนขา ลามไปจนถึงกระสุนยาง ระเบิดแสงที่มีนอตปะปนมาด้วย แก๊สน้ำตา และการใช้ปืนกล AK-47 กับปืนไรเฟิลยิงใส่ผู้ชุมนุม ส่วนทางฝั่งประชาชน มีก้อนอิฐไว้ขว้างปา มีระเบิดขวดทำมือ ประทัด พร้อมกับถือพลั่ว คราด แท่งเหล็ก ไม้หน้าสาม วิ่งดาหน้าใส่เจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธครบมือ หากเวลาที่จะหลบหนีจากสายตาของเจ้าหน้าที่ พวกเขาจะนำยางรถยนต์มาสุมรอบจุดปักหลัก เผาให้ควันท่วมบริเวณเพื่อบดบังการมองเห็นของพลซุ่มยิง’ – ส่วนหนึ่งของบทความ Winter on Fire สารคดีที่ตอกย้ำว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวยูเครนลุกขึ้นสู้ ที่บรรยายถึงความรุนแรงในการประท้วงปี 2013-2014

เรานั่งฟังความเลวร้ายที่รัฐบาลทำกับประชาชนของตัวเอง ก่อนที่ยูเรียจะเซอร์ไพรส์ด้วยการบอกว่าเธอเป็นหนึ่งคนที่ต่อสู้อยู่ในจัตุรัสเอกราชไมดาน เนซาเลซนอสติ

“ฉันอยู่บนถนน วิ่งหลบกระสุน ช่วยสร้างควันไฟกลบความเคลื่อนไหวของคนในม็อบ วันแรกมีคนมาร่วมชุมนุมราว 500 คน วันถัดมาเราพยายามปักหลักอยู่ที่ไมดาน มีอาสาสมัครจัดการอาหาร หยูกยา และผู้ชายจะออกไปเป็นแนวหน้าเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เราสูญเสียไปเยอะมาก มีหลายคนถูกรัฐบาลสังหาร แต่เราทุกคนสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ เราภูมิใจกับการต่อสู้ครั้งนี้”

เหตุผลที่ทำไมเราถึงถามเรื่องที่เกิดขึ้นมานานหลายปี เรื่องที่ดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในตอนนี้เท่าไรนัก แต่ในมุมของเราซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์และติดตามความเคลื่อนไหวของยูเครนพอสมควร แม้เหตุการณ์ในยูโรไมดานจะเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลล้มเหลว แต่หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลล้มเหลวของยูเครน คือรัสเซียที่ให้การสนับสนุนอดีตประธานาธิบดียานูโควิช และช่วยให้ที่พักพิงเมื่อเขาลี้ภัยออกนอกประเทศ

ความขัดแย้งในยูเครนล้วนเกิดขึ้นโดยมีรัสเซียเป็นต้นเหตุ

 

6: เรายังคงต่อสู้

“ปูตินคาดหวังว่าจะจบสงครามให้ได้ภายในสามวัน แต่ตอนนี้ผ่านไปยี่สิบกว่าวันแล้ว เราไม่ยอมแพ้ เราชนะในการต่อสู้ภาคพื้นในถิ่นที่เป็นบ้านของเรา”

เมื่อไรที่คุยกันเรื่องการโจมตีของรัสเซีย น้ำเสียงของยูเรียมักสั่นเครือและดูจะเต็มไปด้วยอารมณ์เสมอ ส่วนโรแมนอธิบายให้ฟังว่า บ้านเมืองที่เขาเคยอยู่ตอนนี้เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้แล้ว

“ยูเครนเป็นประเทศที่เล็กมากถ้าเทียบกับรัสเซีย ตอนนี้เรากำลังรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เราต้องการเพียงการดูแลน่านฟ้า ต้องการความช่วยเหลือทางอากาศ เพราะนี่คือสิ่งที่เราไม่สามารถทำกันเองได้ ตอนนี้รัสเซียทิ้งระเบิดเป็นว่าเล่น เมืองที่ผมเคยเดิน ย่านที่ผมเคยผ่านประจำ ตอนนี้เละหมดแล้ว รัสเซียทำลายบ้านเรือนและความสวยงามของเราจนไม่เหลือชิ้นดี”

โรแมนกับยูเรียไม่สามารถบอกความต้องการของชาวยูเครนได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่เขาและเธอเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการสงคราม ไม่มีคนสติดีที่ไหนต้องการสงคราม พวกเขาย้ำกับเราว่าชาวยูเครนต้องการความสงบ และยูเรียทึ่งกับพลังของมวลชนมากๆ เพราะตอนนี้ทุกคนก็ยังคงสู้ต่ออย่างมุ่งมั่น

“พลังของประชาชนน่าทึ่งมาก คนของเราต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ แม้ทหารจากฝั่งตรงข้ามจะยิงมา พวกเขาก็เดินหน้ากันต่อไป ฉันคิดว่าตัวเองคงทำแบบนั้นไม่ได้เพราะฉันนั่งอยู่ตรงนี้อย่างปลอดภัย แต่คนของเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังมีอีกมากที่ทำได้ และฉันภูมิใจมากที่เป็นคนยูเครน”

 

7: โวโลดีมีร์ เซเลนสกี

เราถามโรแมนกับยูเรียว่า “คิดอย่างไรกับ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี” ยูเรียตอบกลับมาทันทีว่าเธอภูมิใจในตัวเขา แม้ตอนเลือกตั้งเธอจะไม่ได้โหวตให้เขาก็ตาม

“ตอนนั้นฉันไม่ชอบเขาเอามากๆ ไม่โหวตให้แน่นอน แต่มีคนเกินครึ่งโหวตให้เซเลนสกี และตอนนี้เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเองเป็นผู้นำที่ดีได้ คุณเคยเห็นข่าวช่วงแรกที่สหรัฐฯ เสนอให้เขาลี้ภัยออกนอกประเทศไหม แต่เขาเลือกที่จะไม่ไป เลือกอยู่ต่อเพื่อต่อสู้ร่วมกับประชาชนของเขา กลายเป็นว่านักแสดงตลกชื่อดังคนหนึ่งได้กลายเป็นผู้นำยูเครนที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีในประวัติศาสตร์”

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าสหรัฐฯ พร้อมมอบความช่วยเหลือแก่ประธานาธิบดีเซเลนสกี ด้วยการช่วยให้เขากับครอบครัวได้ลี้ภัยออกจากยูเครนเพื่อนำตัวไปยังสถานที่ปลอดภัย และยืนยันว่าสหรัฐฯ จะรับรองว่าเขายังคงเป็นผู้นำของรัฐบาลพลัดถิ่นยูเครน ทว่าเซเลนสกีกลับเลือกที่จะปักหลักอยู่ในกรุงเคียฟ เพื่อรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย

ยูเรียเล่าว่า ข่าวบางเจ้าของรัสเซียพยายามนำเสนอว่าผู้นำยูเครนหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ซึ่งเซเลนสกีแก้เกมด้วยการเซลฟีตัวเองให้โลกได้เห็นว่าเขายังอยู่ในเมือง ถ่ายคลิปเดินไปทั่วเมืองที่กลายเป็นซาก เหมือนกับไกด์ทัวร์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวว่าตึกที่พักไปแล้วข้างหลังเขาเคยเป็นสำนักงานอะไรมาก่อน เพื่อบอกกับประชาชนว่าเขายังอยู่ เขายังไม่ไปไหน

ส่วนโรแมนมองว่าคนยูเครนในตอนนี้นับถือใจของเซเลนสกี เขาทำให้คนเห็นว่าหน้าที่ของประธานาธิบดีคืออะไร ผู้นำที่ดีจะต้องทำอะไรบ้าง เขากำลังพยายามพิสูจน์ให้คนยูเครนได้เห็น และเรื่องเหล่านี้มันไม่ง่ายที่จะทำได้

 

8: วลาดีมีร์ ปูติน

“สันติภาพเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่เข้าใจเลยว่าเรื่องนี้มันยากที่จะทำความเข้าใจตรงไหน การหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุยกันควรจะเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำไมพอเป็นปูติน เรื่องง่ายๆ แบบนี้ถึงดูทำได้ยาก”

โรแมนแสดงความคิดเห็นถึงผู้นำรัสเซีย

ตอนนี้สงครามดำเนินมาเกือบยี่สิบวัน ท่ามกลางความสูญเสีย ท่ามกลางซากศพของประชาชน การเจรจาเพื่อหาทางออกของสองผู้นำยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วจบลงด้วยความขุ่นเคืองเหมือนทุกครั้ง

โรแมนเชื่อว่าปูตินจะไม่มีวันยอม จนกว่ายูเครนจะลงนามในสนธิสัญญาที่ระบุว่า จะไม่เข้าร่วมกับนาโตตลอดไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะอะไรประเทศเพื่อนบ้านถึงเข้ามามีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเมืองของประเทศยูเครน ในเมื่อยูเครนเป็นเอกราชและมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง

ส่วนยูเรีย เมื่อได้ฟังคำถาม เธอถามกลับมาว่า “Can I say bad words?” และสุดท้ายเธอเลือกที่จะเก็บผรุสวาทที่จะนิยามถึงปูตินเอาไว้ในใจ และอธิบายว่า เธอมองชายคนนี้ด้วยสายตาแบบไหน

“ฉันไม่ได้จะแสดงท่าทีก้าวร้าวหรือพูดจาก้าวร้าวใส่รัสเซียทั้งประเทศ เพราะในรัสเซียมีทั้งคนสนับสนุนรัฐบาลและคนที่ต่อต้าน แต่ฉันจะไม่เก็บความโกรธแค้นที่มีต่อปูติน เขาเป็นคนวิปริต เสียสติ เสแสร้ง และฉันจะบอกกับเขาแค่ว่า ช่วยตายๆ ไปสักทีเถอะนะ”

Tags: , , , , ,