ในวันที่ 24 มีนาคมหรืออีกเดือนนิดๆ ชาวไทยก็จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี สำหรับวัยรุ่นส่วนใหญ่แล้ว นี่นับเป็นโอกาสใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งแรกอีกด้วย

จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนชาวไทยจะดูตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพิเศษและเกาะติดเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรายวัน ตั้งแต่กระแสนารีขี่ม้าขาวที่เล่นเอาหลายคนลุ้นกันจนแทบลืมหายใจ ข่าวการฟ้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ กระแสฟ้ารักพ่อ ไปจนถึงข่าวองค์กรชาวพุทธฟ้อง กกต. ให้ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป และการปิดช่องวอยซ์ทีวี 15 วัน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูที่มาของศัพท์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อเตรียมความพร้อมใช้สิทธิเข้าคูหา ให้ถึงขนาดที่ว่ารู้จักบัตรเลือกตั้งและการนับคะแนนถึงรากศัพท์เลยทีเดียว

Candidate ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

คำนี้มีที่มาย้อนกลับไปถึงสมัยโรมัน ในยุคนั้น เวลาไปงานสังคมต่างๆ ที่เป็นทางการ ผู้คนจะต้องสวมใส่ชุดที่เรียกว่าโทก้า (toga) เป็นผ้าผืนใหญ่คลุมทับเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ด้านใน ปกติแล้วเป็นสีขาว ทำจากขนแกะ

ทั้งนี้ หากใครสมัครลงรับเลือกตั้งเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะใส่ชุดโทก้าที่ใช้ผงชอล์กทาให้ขาวสว่างกว่าปกติเวลาจะไปปรากฏตัวต่อหน้าธารกำนัล ชุดนี้เรียกว่า toga candida หรือ โทก้าสีขาว ส่วนผู้ลงรับสมัครเรียกว่า candidatus หมายถึง สวมชุดขาว ต่อมาภาษาอังกฤษยืมคำนี้มาใช้ว่า candidate และนำมาใช้เรียกผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งอย่างในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้ใส่ชุดขาวแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ คำว่า candida และ candidatus มาจากกริยา candere แปลว่า ส่องสว่าง ผุดผ่อง มีญาติอยู่ในภาษาอังกฤษอยู่หลายคำ เช่น candle (เทียน แต่ก่อนทำจากไขสัตว์ ส่วนใหญ่มีสีขาวขุ่น ไม่ได้เป็นสีเหลืองอย่างเทียนในวัดไทยหรือสีแดงอย่างเทียนในวัดจีนที่เราเห็นกันทุกวันนี้) candelabra (เชิงเทียน) chandelier (โคมระย้า แต่ก่อนใช้เทียน ตอนหลังถึงเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ) และ incandescent (สว่างจ้า)

campaign (n.) การรณรงค์หาเสียง

คำว่า campaign นี้น่าจะเป็นที่คุ้นชินของคนที่ทำงานสายพีอาร์และโฆษณาที่ต้องคิดแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ หรือ หลายคนอาจเคยได้ยินจากรายการโทรทัศน์ที่เอาผู้เข้าแข่งขันมาทำภารกิจอย่างรายการ The Face แต่นอกจากจะหมายถึงการทำประชาสัมพันธ์หรือถ่ายงานโฆษณาแล้ว ยังใช้ในแวดวงการเมือง หมายถึงการหาเสียงได้อีกด้วย

คำนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า campus ในภาษาละติน หมายถึง ทุ่ง (ปัจจุบันภาษาอังกฤษรับคำว่า campus มาใช้ในความหมาย วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ด้วย) คำว่า campus นี้ต่อมาทำให้เกิดคำว่า campania หมายถึง พื้นที่ที่เป็นทุ่งกว้าง ชนบท ซึ่งภาษาฝรั่งเศสยืมไปใช้เป็นคำว่า campagne

ต่อมา คำนี้เริ่มถูกในไปใช้ในแวดวงทหาร หมายถึง การเปิดฉากรบตามพื้นที่เปิดโล่ง และด้วยความที่การเมืองก็เป็นสนามรบดีๆ นี่เอง คำว่า campagne ซึ่งภาษาอังกฤษยืมมาสะกดใหม่ว่า campaign จึงถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเพื่อใช้เรียกการรณรงค์ต่างๆ เพื่อเรียกคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้ง ทำนองว่าออกรบสร้างความได้เปรียบตัวเองเหนือผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งที่เป็นคู่แข่งนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนอาจเคยสงสัยว่าทำไมคำว่า campaign กับ champagne (แชมเปญ) ถึงสะกดคล้ายกันจัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทั้งสองคำสืบเชื้อสายมาจากคำว่า campania ที่แปลว่า ชนบท ทุ่งกว้าง ทั้งคู่ คำว่า champagne ที่หมายถึง ไวน์แชมเปญ ย่อมาจากคำว่า vin de Champagne หรือ ไวน์จากแชมเปญ ซึ่ง Champagne เป็นชื่อภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสที่เป็นแหล่งผลิตไวน์ชนิดนี้ และแน่นอนว่า ชื่อภูมิภาคนี้ก็มาจากคำว่า campania นั่นเอง

Poll การลงคะแนนเสียง

หลังจากได้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียงแล้ว ก็ถึงเวลาลงคะแนนเสียง คำว่า poll ในภาษาอังกฤษมีหลายความหมาย นอกจากจะใช้หมายถึงการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นแล้ว ในบริบทการเมืองยังใช้หมายถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (the result of the poll) คะแนนเสียง (She won 67% of the poll.) หรือสถานที่ลงคะแนนเสียง (the polls ใช้ในความหมายนี้จะเติม -s ข้างท้ายด้วย)

คำว่า poll นี้แต่เดิมมีความหมายว่า หัว ศีรษะ แต่ก็คล้ายๆ กับที่เรานับคนเป็นหัวในภาษาไทย (เช่น หัวละ 99 บาท = คนละ 99 บาท) คำนี้จึงเริ่มนำมาใช้หมายถึง ‘จำนวนคนที่นับได้’

ด้วยความที่สมัยก่อนมีชาวบ้านที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่ค่อยรู้เรื่องการปกครองเยอะ หลายพื้นที่ในยุโรปจึงยังไม่ได้ใช้การลงคะแนนเสียงแบบลับอย่างในปัจจุบัน แต่ใช้วิธีการว่าอยากลงคะแนนเสียงให้ใครก็ยกมือแล้วนับหัวเอา ด้วยเหตุนี้ คำว่า poll จึงเริ่มมีความหมายว่า ‘การนับคะแนนเสียง’ ด้วย

ต่อมาภายหลัง ความหมายที่แปลว่า หัว หมดความนิยมไป จึงเหลือแต่ความหมายว่าการนับคะแนนเสียงในปัจจุบัน (อันที่จริงแล้ว คำว่า poll ที่แปลว่า หัว ยังหลงเหลือในคำว่า tadpole ที่หมายถึง ลูกอ๊อด มาจากคำว่า toad ที่แปลว่า คางคก รวมกับ poll ที่แปลว่า หัว เพราะลูกอ๊อดเหมือนคางคกที่มีแต่หัวนั่นเอง)

ทั้งนี้ การนับจำนวนจากการนับหัวยังเห็นได้ในคำว่า head อีกด้วย คำนี้ใช้หมายถึง จำนวน ได้เช่นกัน ปกติใช้กับปศุสัตว์ เช่น 200 head of cows (เวลาใช้ในความหมายนี้ คำว่า head เป็นพหูพจน์แต่ไม่เติม -s ข้างท้าย)

Ballot บัตรเลือกตั้ง

แม้บางที่จะใช้วิธีการนับหัวอย่างเปิดเผยแบบที่อธิบายไปในคำว่า poll แล้ว แต่บางที่ก็ใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อให้การลงคะแนนเสียงเป็นความลับ ไม่ให้รู้ว่าใครเลือกผู้สมัครคนไหน เช่น หากย้อนกลับไปในสมัยกรีกโบราณ ก็จะใช้ก้อนหินแทนคะแนน ใครประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนไหนก็เอาก้อนหินไปใส่ในโถของคนนั้น จากนั้นก็นำก้อนหินมานับคะแนน ทั้งนี้ ภาษากรีกโบราณเรียกก้อนหินแบบนี้ว่า psephos จึงทำให้เกิดคำว่า psephology หมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยการเลือกตั้งและแนวโน้มการลงคะแนน (ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า วิทยาการเลือกตั้ง)

นอกจากก้อนหินแล้ว บางแห่งก็ใช้วัตถุทรงกลม ทาด้วยสีหรือทำสัญลักษณ์ไว้ เมื่อทุกคนลงคะแนนแล้วจึงนำออกมานับว่าผู้สมัครคนไหนได้คะแนนเท่าไหร่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ชาวเวนิซในยุคเรเนสซองค์ใช้ในการลงคะแนนเสียง สมัยนั้นชาวเวนิซเรียกวัตถุทรงกลมแบบนี้ว่า ballotta หมายถึง ลูกบอลขนาดเล็ก เป็นญาติกับว่า ball ในปัจจุบัน ต่อมาภาษาอังกฤษจึงยืมคำนี้มาเป็นคำว่า ballot และใช้หมายถึง สิ่งที่ใช้ออกคะแนนเสียง หรือในปัจจุบันก็คือ บัตรเลือกตั้ง นั่นเอง

tally (n.) การนับคะแนน

ปกติเวลานับคะแนนเสียง เรามักจะขีดเส้นตรงแนวดิ่งแทนหนึ่งเสียง เมื่อถึงเสียงที่ห้า ก็จะลากเส้นทแยงคาดเส้นตรงที่เหลือสี่เส้น รวมเป็นหนึ่งก้อนก่อนที่จะเริ่มนับเสียงต่อ การนับคะแนนแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียก tally

คำว่า tally นี้มาจากคำว่า talea ในภาษาละติน หมายถึง กิ่งไม้ ท่อนไม้ (ตามรากหมายถึง ส่วนที่ตัดออกมา ซึ่งกิ่งไม้ก็คือส่วนที่ตัดออกมาจากต้นไม้นั่นเอง เป็นญาติกับคำว่า taliare ที่หมายถึง ตัด และเป็นที่มาของคำว่า tailor (ช่างตัดเสื้อ) และ retail (ตัดหรือแบ่งขาย ขายปลีก))

ส่วนที่กิ่งไม้มาเกี่ยวกับการนับได้ก็เพราะก่อนที่กระดาษจะเป็นที่แพร่หลาย คนสมัยก่อนใช้ท่อนไม้ในการบันทึกจำนวน โดยเฉพาะจำนวนเงินที่คนอื่นยืมไป วิธีการคือเอาท่อนไม้มาบากเป็นรอยแทนจำนวน เสร็จแล้วก็แบ่งครึ่งตามแนวยาว ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เก็บไว้คนละซีก ในเวลาต่อมา คำนี้เริ่มเอาไปใช้หมายถึงการนับจำนวนหรือแต้มที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนหนี้ก็ได้ จนท้ายที่สุดนำมาใช้หมายถึงการนับคะแนนอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ รอยบากบนท่อนไม้แบบนี้เรียกว่า score ตามรากแล้วหมายถึง ตัด บาก กรีดให้เป็นรอย (ความหมายนี้ยังมีใช้ในภาษาอังกฤษด้วย เช่น เวลาที่เราต้องการบั้งปลา ก็อาจใช้คำว่า score ก็ได้) เนื่องจากบ่อยครั้งสิ่งที่ต้องนับและทำรอยบากบันทึกลงบนไม้มีจำนวนเยอะมาก (เช่น แกะ 100 ตัว) ครั้นจะให้รอยบากหนึ่งรอยแทนจำนวนหนึ่งหน่วยก็อาจนับกันไม่ไหวและดูลำบาก ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วจึงมักใช้รอยบากหนึ่งรอยแทนจำนวน 20 (แกะร้อยตัวก็จะบากไม้แค่ 5 รอยเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ คำว่า score จึงมีความหมายว่า 20 ในภาษาอังกฤษด้วย (เช่น three score years and ten หมายถึง 70 ปี ปกติแล้วถ้าใช้ในความหมายนี้ score จะไม่เติม s)

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Fact Box

ในสมัยกรีกโบราณ นอกจากประชาชนจะลงคะแนนเสียงเลือกคนเข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้ว ยังลงเสียงขับไล่ผู้ปกครองที่เริ่มเหิมเกริมได้อีกด้วย (ไม่ต้องรอผู้นำมาท้าให้ลองไล่ดูสิ) ประชาชนจะสลักชื่อคนที่ตนอยากขับออกจากเมืองลงบนเศษกระเบื้องดินเผา (เรียกว่า ostrakon) หากนับรวมได้ 6,000 เสียงก็จะสามารถขับคนคนนั้นออกจากเมืองได้ เป็นที่มาของคำว่า ostracize ในภาษาอังกฤษในปัจจุบันที่แปลว่า อัปเปหิออกจากกลุ่ม

Tags: , , ,