ช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้ การเมืองไทยเต็มไปด้วยความพลิกผันชนิดวันต่อวัน เรียกได้ว่า Game of Thrones ซีซั่น 8 ไม่ต้องไปดูมันหรอก รอจับตาดูการเมืองไทยนี่แหละ ลุ้นและมันกว่าหลายเท่าตัวนัก

และวินาทีนี้คงไม่มีกระแสไหนมาแรงมากไปกว่า #ฟ้ารักพ่อ อีกแล้ว ที่ถึงแม้จะคาบเกี่ยวระหว่างเรื่องไวรัลทางโซเชียลมีเดีย (เพราะไม่ได้หมายความว่าคนที่สนุกกับการเล่น #ฟ้ารักพ่อ จะลงคะแนนให้กับธนาธรหรือพรรคอนาคตใหม่ทุกคน) และประเด็นทางการเมือง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ นี่นับเป็นการกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนาคตใหม่ หลังจากที่ชื่อของเขาและพรรคอนาคตใหม่เงียบหายไปจากการพูดถึง (ในแง่ที่ดี) ไปสักพัก

 

บรรยากาศการเมืองใหม่ เมื่อไพร่หมื่นล้าน อดีตนศ.นักกิจกรรมลงเล่นการเมือง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดตัวในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พร้อมเป็นแคนดิเดตนายรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2561 กระแสการเปิดตัวมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งการออกตัวแรงในฐานะพรรคที่ยืนหยัดบนหลักการประชาธิปไตย-ต่อต้านรัฐประหารอย่างหนักแน่น ซึ่งมีปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ มาเป็นเลขาธิการพรรค

แน่นอนว่าในช่วงแรกสิ่งที่ธนาธรต้องฝ่าฟันก็คือบรรดาข้อครหาทางการเมืองต่างๆ ทั้งด้วยแบคกราวนด์ทางครอบครัวที่เป็น ‘นายทุน’ หรือที่สื่อมวลชนเรียกเขาว่า ‘ไพร่หมื่นล้าน’ ทั้งเรื่องความคิดเห็นต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการขุดประวัติต่างๆ นานาเพื่อมาโจมตีเพื่อชี้ให้เห็นว่าธนาธรเป็นพวก ‘เสื้อแดง’ ‘ไม่เอาเจ้า’ ความสัมพันธ์กับวารสาร ‘ฟ้าเดียวกัน’ สิ่งเหล่านี้คือปราการด่านแรกในการก่อร่างสร้างตัวในฐานะนักการเมืองของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ (เขาอายุเพียง 40 ปี ถือว่าน้อยในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง) วิสัยทัศน์ในช่วงแรกที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ ภาพลักษณ์ของคนที่มีแนวความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย คนที่ไม่เอารัฐประหาร คนที่ต้องการประชาธิปไตย หรือแม้แต่คนที่ไม่เอาประยุทธ์ พรรคประชาธิปัตย์หรือกระทั่งพรรคเพื่อไทย ทำให้กระแสความนิยมของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ค่อยๆ เติบโตขึ้นจนกลายเป็นพรรคใหม่ที่น่าจับตามอง ผู้คนเริ่มก้าวข้ามคำครหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ และหันมาสนับสนุน แม้จะเป็นการประเมินความนิยมที่จำกัดอยู่ในหมู่ผู้เล่นโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่การหากมองว่านี่คือพรรคการเมืองใหม่ และเป็นการลงสนามการเมืองครั้งแรกแล้วล่ะก็ เขาคือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มาแรงเลยทีเดียว

มีขึ้น มีลง มีลง มีขึ้น กับกระแสความนิยมในโซเชียล

แต่ไม่นาน…พรรคอนาคตใหม่ต้องเจอกับมรสุมความนิยม ทั้งจากปัญหาจุกจิกของพรรค และความเชื่อมั่นในนโยบาย ตัวอย่างเรื่องหนึ่งเช่นนโยบายเกี่ยวกับปัญหามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่พรรคแจ้งว่า “มาตรา 112 ยังไม่ใช่แนวนโยบายของพรรคในการดำเนินการต่อข้อกฎหมายดังกล่าว” ทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเกิดความเห็นแตกแยก เพราะคนของอนาคตใหม่วางท่าทีการเป็น ‘กองหน้าประชาธิปไตยตัวจริง’ มาโดยตลอด ตัวเลขานุการพรรคอย่างปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เคยเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจังในยามที่ยังสวมหมวกนักวิชาการ ดังนั้น การประกาศเกียร์ว่างกับมาตรา 112 จึงทำให้ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยหลายคนที่สนับสนุนพรรครู้สึก ‘อกหัก’

ก่อนจะมาถึงเรื่องเผือกร้อนอย่าง ‘เฌอปราง BNK48’ เมื่อปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มาโดยตลอดโพสต์ข้อความวิจารณ์ “เฌอปราง BNK48” ว่าการกระทำของเฌอปรางนั้นถือเป็นการสนับสนุนผู้ก่อการรัฐประหาร จนมีผู้โยงความคิดเห็นของปวินไปสู่พรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นดราม่าต่อเมื่อ คริส โปตระนันทน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความว่าปวินไม่ใช่หนึ่งในกรรมการบริหารพรรค เป็นเพียงแค่แฟนคลับของพรรคเท่านั้น ตามมาด้วยการที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ วานิช ต้องออกมาชี้แจงว่า “เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรค “ศิลปินควรมีเสรีภาพในการแสดงจุดยืนทางการเมือง หากเชื่อมั่นในระบอบอำนาจนิยมจริง ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหาร…” จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีพรรคอนาคตใหม่ถึงท่าทีนโยบายที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูในก่อนหน้านี้ แต่กลับให้เหตุผลว่า ‘คนเรามีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหาร’ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่แอดมินเพจของพรรคยังวิพากษ์วิจารณ์ปวินในเชิงการดูถูกเรื่องเพศสภาพ

ดราม่าเกี่ยวกับอนาคตใหม่ยังมีอีกหลายประเด็น ทั้งที่มีสาระและไม่มีสาระ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พรรคอนาคตใหม่ต้องรับเละกับเสียงวิจารณ์ เพราะจากที่แฟนคลับคาดหวังในฐานะพรรคที่เคยประกาศแนวความคิดอันชัดเจนและหนักแน่น แต่ก็เริ่มสงสัยแล้วว่า หรือนโยบายต่างๆ จะเป็นเพียงแค่การ ‘หาเสียง’ ในฐานะนักการเมืองเหมือนอย่างที่ ‘นักการเมือง’ ไทยทำมาตลอด และภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเสรีนิยม อาจจะเป็นเพียงแค่ ‘ภาพมายา’ เพราะนอกจากจะไม่มั่นคงในแนวความคิดทางสังคมและการเมืองอย่างที่เคยคิดแล้ว ยังขาดซึ่งความเป็นมืออาชีพในการจัดการปัญหาในฐานะนักการเมืองและพรรคการเมืองอีกด้วย

เหตุการณ์ที่บั่นทอนความนิยมในตัวพรรคและตัวหัวหน้าพรรคเอง (ในฐานะผู้จัดการพรรค) เดินทางมาถึงความระส่ำระสายในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่แล้ว เมื่อสมาชิกพรรคหลายคนทยอยลาออก ขณะเดียวกัน ชื่อของพรรคอนาคตใหม่และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมถดถอยลง แม้จะมีการพูดถึงในสื่อในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ก็เป็นลักษณะของข่าวด้านลบที่ส่งผลเสียต่อตัวพรรคเสียมากกว่าจะสร้างความนิยมให้กับพรรคเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดตัวพรรคในช่วงแรกๆ

จากพลิกล็อคการเมืองไทย ทำไมกระแส #ฟ้ารักพ่อ ถึงจุดติด

และยิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่แต่ละพรรคงัดกลยุทธ์ทางการเมืองออกมาห้ำหั่นกัน ตั้งแต่สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แคนดิเดตจากเพื่อไทยเริ่มออกหาเสียง การคืนสู่เวทีของชัชชาติ ในกระแสเหล่านี้ ชื่อของธนาธรและอนาคตใหม่อยู่ในกระแสข่าวเท่าไรนัก

จนมาถึงเหตุการณ์พลิกล็อคทางการเมืองชนิดฟ้าถล่มดินทลาย เมื่อพรรคไทยรักษาชาติประกาศชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนที่ในอีก 14 ชั่วโมงถัดมาจะมีพระราชโองการว่าสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงต้องอยู่เหนือการเมือง เมื่อพรรคอนาคตใหม่แถลงอย่างทันท่วงทีหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองพลิก ว่าพร้อมเป็นฝ่ายค้านหากมีรัฐบาลแห่งชาติ ตามมาด้วยสีสันทางการเมืองอย่างงานประเพณีฟุตบอลจุฬาธรรมศาสตร์ ที่ธนาธรในฐานะศิษย์เก่าทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชั้นปริญญาตรีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในชั้นปริญญาโทไปปรากฏตัวในงาน ตามมาด้วยกระแส #ฟ้ารักพ่อ ที่กลายเป็นเทรนด์ฮิตในโลกโซเชียลมีเดียยู่ในขณะนี้

ว่าแต่ทำไมธนาธรถึงได้กลับมาป๊อปปูลาร์ (อีกครั้ง) กลายมาเป็นพ่อของประชาชนชาวโซเชียลที่ต้องคอยตอบทวิตเตอร์ #ฟ้ารักพ่อ ที่ติดเทรนด์อันดับหนึ่งอยู่ในตอนนี้ ทำไมไม่เป็นอภิสิทธิ์ ลุงกำนัน ชัชชาติ หรือคนอื่นๆ

เอาล่ะ…เรื่อง #ฟ้ารักพ่อ คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วว่ามาจากการเล่นโจ๊กที่นำมาจากละครเรื่องดอกส้มสีทอง แต่การที่ทำไมถึงเป็นธนาธร จะว่าความหล่อระดับพระเอกหนังหรือความนิยมในฐานะตัวบุคคลก็ไม่เชิง เพราะเรื่องความหล่อก่อนหน้านี้ก็เล่นกันมานักต่อนักแล้ว ตั้งแต่รูปเสื้อแบะอก เสื้อเปียกเหงื่อ หรือจะเป็นความนิยมในเรื่องนโยบาย อย่างที่บอก พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทำไมธนาธรถึงจะมาป๊อปในตอนนี้ และหากจะบอกว่ามันเป็นความบังเอิญอันเกี่ยวเนื่องมาจากงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ แม้อาจจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ ธนาธรจะไม่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อเลย

ปรากฏการณ์ #ฟ้ารักพ่อ จึงมีนัยยะความสำคัญมากไปกว่า การเล่นสนุกทางโซเชียลมีเดีย แต่มันยังหมายถึงอารมณ์ของผู้คนต่อเหตุการณ์การเมืองที่กำลังเข้มข้นและตรึงเครียด

โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังมองดูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เหลืออยู่

ความป๊อปปูลาร์ของธนาธรจากปรากฏการณ์ #ฟ้ารักพ่อนี้ จะเรียกว่าได้มาเพราะ ‘วิกฤตตัวแทนทางการเมือง’ ก็ไม่ผิดนัก เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ เราเพิ่งจะมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ก่อนจะเกิดพลิคล็อคต่อในอีกไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งฝั่งที่เห็นว่า นี่อาจจะเป็นทางออกทางการเมืองของไทย หรือฝั่งที่เห็นว่าเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ความระอุของประเด็นนี้ในโลกโซเชียลมีเดียนั้นคงเป็นที่เห็นกันผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของใครมันมาแล้วว่าเดือดเพียงไหน

เลือกใครแล้วได้อะไร กับปัญหาวิกฤตตัวแทนทางการเมือง

เรามีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือที่เรียกว่าตัวแทนทางการเมือง (อย่างที่มีคนวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คนมองที่ ‘ตัวแทนของพรรค’ เพื่อใช้ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองเชื่อถือศรัทธามากกว่าการพิจารณาที่นโยบายหรือส.ส.เขต) อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์ (ที่หายไปกับกระแสโซเชียลมีเดียวอันเชี่ยวกราก) สุดารัตน์ เกยุราพันธ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ในนามพรรคเพื่อไทย ที่เลือกไม่ชูใครเลย ทำงานเป็นทีม แม้มันจะตอบโจทย์สมการการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มันไม่ตอบโจทย์อารมณ์ผู้คนที่กำลังหา ‘ตัวแทน’ ของเขา ประยุทธ์ จันทน์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในงานฟุตบอลประเพณีและในโลกโซเชียลมีเดีย และล่าสุด ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ อดีตแคนดิเดตจากพรรคไทยรักษาชาติที่เพิ่งจะทำให้คนจำชื่อพรรคได้ในเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

ตัวแทนเหล่านี้ล้วนกำลังเผชิญสภาวะ ‘วิกฤตตัวแทนทางการเมือง’ โดยเฉพาะในฝั่งของเยาวชนคนรุ่นใหม่

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์ คงไม่ต้องพูดถึง เพราะประชาธิปัตย์เองยังต้องใช้กลยุทธ์ New Dem ในความพยายามดึงคะแนนเสียงและความนิยมจากคนรุ่นใหม่ พรรคเพื่อไทยก็พลาด (ในเชิงพลังความนิยมที่วัดจากโลกโซชียลและคนรุ่นใหม่) ที่เลือกจะชูทั้งสามคน ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่าชัชชาติเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากโซเชียลมีเดียอย่างมหาศาล พลังประชารัฐ จงย้อนกลับไปดูภาพแปรอักษรของงานฟุตบอลประเพณีเองแล้วกัน ส่วนไทยรักษาชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะดีลพังลงแล้ว จะเหลือก็แค่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากอนาคตใหม่นี่แหละ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ในฐานะพรรคคนรุ่นใหม่

และเมื่อเกิด ‘วิกฤติตัวแทนทางการเมือง’ ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จะเลือกสนับสนุนใคร ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงกลับมาสู่สนามแห่งความป๊อปปูลาร์อีกครั้งในสายตาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประกอบกับทั้งฐานเสียงเดิมที่เขามีในหมู่คนรุ่นใหม่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องหน้าตา ความคิด และจังหวะของงานฟุตบอลประเพณีฯ จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ #ฟ้ารักพ่อ อย่างที่เห็นกัน

และไม่แปลกใจเลยหากจะมีใครถามว่า ‘ฟ้า’ เป็นใคร เพราะนี่เป็นวิถีของคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียลอย่างแท้จริง ทั้งวิธีการ (# แฮชแท็ก) และคอนเทนต์ในการสนับสนุน (การเลือกใช้เรื่องราวของเรยา จากดอกส้มสีทองมาเล่นในนามแห่งการสนับสนุนตัวบุคคล)

ซึ่งใช่ว่าทุกคนจะเก็ต!

นัยหนึ่ง มันเห็นถึงอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ผ่านเหตุการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ อีกนัยหนึ่ง มันก็อาจจะเรียกได้เพียงว่า นี่เป็น ‘สีสัน’ ทางการเมือง แม้มันจะบ่งบอกถึงการสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาลจนติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ก็ตาม แต่ ‘ฟ้า’ จะมีกี่คนกันล่ะในเมืองไทย จะมี ‘ฟ้า’ มากพอที่จะทำให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเมืองไทยหรือเปล่า (นี่ยังไม่ได้พูดถึงการจะได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะ) และผู้ที่มีอายุ 36-50 ปี และ 51-65 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีจำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด จะรัก ‘พ่อ’ คนนี้เหมือนกันหรือเปล่าในการเลือกตั้งครั้งนี้

Tags: , , ,