อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (1879-1955) เป็นคนรุ่นราวเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพอจะให้เห็นภาพว่า เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว การค้นพบอันยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์เปลี่ยนโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของผู้คนชาวโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง ไอเดียอย่างง่ายๆ ก็คือ ‘สสาร’ เปลี่ยนสถานะเป็น ‘พลังงาน’ ได้ และ ‘เวลา’ ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ ในสถานที่ที่สองตำแหน่งที่มีแรงดึงดูด (gravity) ต่างกัน เวลาในอีกตำแหน่งหนึ่งก็จะไม่เท่ากัน กฎของธรรมชาติที่ไอน์สไตน์ค้นพบนี้ ต่อมากลายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่น่าสะพรึงกลัว กลายมาเป็นโฟโต้เซลล์ที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน กลายมาเป็นการค้นหาหลุมดำ และอาจจะเป็นที่มาของการเดินทางข้ามเวลาไปยังอนาคต
ฟิลิป กลาส (Philip Glass เกิด 1937) ผู้ประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยในแนวมินิมอลลิสม์ (minimalism) ร่วมกันกับ โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson เกิด 1941) ผู้กำกับละครแนวทดลอง (experimental theatre) ได้ร่วมกันสร้างสรรค์การแสดงประกอบลีลาและขับร้องประสานเสียงเป็นการแสดงประเภทอุปรากร หรือที่กันว่าโอเปราชื่อ ‘Einstein on the Beach on Wall Street’
แต่ทำไมไอน์สไตน์ถึงต้องไปอยู่บนชายหาดและตลาดหลักทรัพย์ จึงมีความหมายที่ชวนให้สงสัยอยู่ในที
คำว่า On the Beach นั้น สำหรับเราในเมืองไทยอาจจะไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่แฝงไว้เท่ากันกับผู้คนชาวอเมริกันและออสเตรเลีย เพราะ On the Beach เป็นชื่อของนวนิยายผลงานการประพันธ์ของ เนวิล ชูต (Nevil Shute 1899-1960) ตีพิมพ์ในปี 1957 เป็นเรื่องราวมหาวิบัติวันสิ้นโลก (Apocalyptic) ของสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างกันจนพินาศสิ้น ชาวออสเตรเลียที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากหัวรบ แต่ก็กำลังจะได้ผลกระทบทางอ้อมจากสภาพอากาศเป็นพิษที่กำลังค่อยๆ พัดมาถึง นี่คือความหมายที่ชัดเจนของการใช้อำนาจวิเศษที่มาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมิได้ตระหนักคิดถึงผลกระทบที่จะตามมา
ต่อมา ในการจัดแสดงจริงเมื่อปี 1976 คำว่า On Wall Street ถูกตัดออกเหลือเพียง Einstein on the Beach ส่วนนวนิยาย On the Beach ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้ง (สามารถกดดูตัวอย่าง ทั้ง ฉบับปี 1959 และ ฉบับปี 2000)
On the Beach จึงเป็นภาพจำลองถึงวาระสุดท้ายของมวลมนุษยชาติอันน่าสะพรึงกลัวเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นที่ประเทศมหาอำนาจต่างแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์
ทั้ง ฟิลิป กลาส และ โรเบิร์ต วิลสัน ถือเป็นศิลปินแนวก้าวหน้าในแนวทดลอง (Experimental) สืบต่อจากรุ่นของ จอห์น เคจ (John Cage 1912-1992) นักปรัชญาและผู้ประพันธ์ดนตรีแนวทดลองคนสำคัญ และเมิร์ซ คันนิงแฮม (Merce Cunningham 1919-2009) บรมครูแห่งโมเดิร์นดานซ์ ผลงานร่วมกันของเคจและคันนิงแฮมคงไว้ด้วยท่าเต้นสวยงาม อันมีพื้นฐานจากบัลเล่ต์ที่ปรับลีลาท่าทางให้หลากหลายและเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่วทันสมัยมากขึ้น ขณะที่เสียงและดนตรีประกอบของเคจก็มาจากแหล่งกำเนิดเสียงอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงแปลกๆ ประหลาดๆ ทั้งมวล
ดนตรีแบบใหม่ ที่ไม่ได้เน้นท่วงทำนองและการประสานเสียง หรือแม้กระทั่งไม่สนใจว่ามันจะไพเราะหรือไม่ แต่จะหันกลับไปเน้นที่การขับเคลื่อนของจังหวะ
ทั้งเคจและคันนิ่งแฮมต่างก็พัฒนาลำดับการแสดงในแบบ ‘สุ่ม’ หรือ ‘เสี่ยงทาย’ (อันอาจจะเกิดจากการโยนลูกเต๋าสลับที่ตำแหน่ง ฉาก ท่าเต้น หรือแม้กระทั่งเสียงประกอบ ตามผลการเสี่ยงโยนลูกเต๋าที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้) อันทำให้โมเดิร์นดานซ์ในลักษณะนี้มีความเป็นนาฏยศิลป์ มากกว่าจะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ หรือเป็นการแสดงที่มีพลอตเรื่องดังเช่นละคร บัลเล่ต์ หรือ อุปรากร (ลองคลิกชมตัวอย่างผลงานของ เคจและคันนิงแฮม)
ในช่วงปลายยุค ’60s เช่นกันที่ ฟิลิป กลาส และเพื่อนๆ ในกลุ่ม อาทิเช่น สตีฟ ไรชห์ (Steve Rich เกิดปี 1936) ลา มอนเต ยัง (La Monte Young เกิดปี 1935) และ เทอร์รี ไรลีย์ (Terry Riley เกิดปี 1935) พัฒนาลักษณะเฉพาะของดนตรีแบบใหม่ ที่ไม่ได้เน้นท่วงทำนองและการประสานเสียง หรือแม้กระทั่งไม่สนใจว่ามันจะไพเราะหรือไม่ แต่จะหันกลับไปเน้นที่การขับเคลื่อนของจังหวะ การบรรเลงแต่กลุ่มเสียงที่ให้จังหวะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการใช้ลำดับของโน้ตดนตรีที่เป็นชุดๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ดนตรีชนิดใหม่นี้ถูกเรียกว่า ‘มินิมอลลิสม์’ (minimalism) และคนสี่คนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิก ดังที่เรียกกันว่า 4 American Minimalists
แรกเริ่มเดิมที นักดนตรีในกลุ่มนี้ต่างก็ใช้เครื่องดนตรีที่พัฒนาขึ้นมาร่วมๆ สมัยกัน คือพวกออร์แกนและคีย์บอร์ด ตลอดจนเครื่องเคาะต่างๆ จนพัฒนาต่อมาเป็นการใช้วงออร์เครสตราในขั้วหนึ่ง และกลับไปสนใจกับคลื่นเสียงที่ก้องกังวาลอยู่ในพื้นที่ (drone) หรือเสียงของสภาวะแวดล้อม (ambient) ในอีกขั้วหนึ่ง การที่กลุ่มผู้ประพันธ์แนวมินิมอลลิสม์เลือกใช้เครื่องดนตรีทั้งในแบบออร์เคสตราจนไปถึงเครื่องดนตรีชนิดใหม่อย่างคีย์บอร์ด-ซินธิไซเซอร์ (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟังดูใกล้เคียงกับดนตรีป็อปร็อกในยุคสมัยนั้น) ทำให้ดนตรีมินิมอลลิสม์นี้มีสถานะเหมือนดนตรีคลาสสิก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้ากันได้กับคนหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นบุปผาชนได้เป็นอย่างดี
ในช่วงแรกๆ ของการประพันธ์ดนตรี ฟิลิป กลาส ตั้งวงดนตรีขนาดเล็กในนามของตัวเองว่า ‘The Philip Glass Ensemble’ อันประกอบด้วยผู้บรรเลงเครื่องดนตรี แบ่งเป็น ฟลูตหนึ่งคน โซปราโนแซกโซโฟนหนึ่งคน อัลโตแซกโซโฟนหนึ่งคน คีย์บอร์ดสามคน และนักร้องหญิงหนึ่งคน การประสมวงในลักษณะนี้ให้เสียงที่แปลกและแตกต่างอยู่พอควร แต่ก็ชวนให้นึกถึงจังหวะที่คึกคักชวนให้เคลื่อนไหว
กลาสใช้วงดนตรีในลักษณะนี้เพื่อให้มีลีลาและสุ้มเสียงอันหลากหลาย ทั้งการเน้นจังหวะอันก่อให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว ทั้งการสร้างบรรยากาศของภวังค์ เป็นเหมือนการเติมเต็มมวลอากาศ (ด้วยเสียง) ให้กับบรรยากาศและแสงสี อันจะชวนมุ่งไปสู่สภาวะสมาธิ ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้แหละที่เป็นที่ต้องการของบรรดานักการละคร เพื่อที่จะนำมาใช้ประกอบการแสดงแบบใหม่ๆ (ลองกดฟังตัวอย่างการบรรเลงของ The Philip Glass Ensemble) ดนตรีแนวมินิมอลลิสม์จึงมักจะถูกใช้ในฐานะของดนตรีประกอบการแสดงต่างๆ เรื่อยมา จนถึงใช้ประกอบในภาพยนตร์อย่างในปัจจุบัน (ฟิลิป กลาส เองก็มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน)
โรเบิร์ต วิลสัน ถือเป็นหนึ่งในนักการละคร โดยเฉพาะแนวทดลองและแนวล้ำยุค (avant-garde) คนสำคัญของโลก ผลงานของวิลสันมีความงดงาม ใหญ่โตโอฬาร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นไปด้วยสัญลักษณ์เฉพาะตัวอันยากแก่การตีความและความเข้าใจ (ชมตัวอย่างคลิปที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และผลงานการออกแบบของวิลสันได้ที่นี่)
กลาสและวิลสันได้ร่วมงานกันหลังจากที่กลาสชมผลงานของวิลสันในการแสดงเรื่อง ‘The Life and Times of Joseph Stalin’ (1973) โมเดิร์นโอเปราความยาว 12 ชั่วโมงที่จัดแสดงในนิวยอร์ก ในที่สุด ทั้งคู่เลือกเอา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ขึ้นมาเป็นหัวข้อของผลงานชิ้นใหม่ที่สร้างขึ้นร่วมกัน
วิลสันอธิบายว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ไอน์สไตน์คิดค้นหรือค้นพบนั้น ทำให้ไอน์สไตน์มีสถานะไม่ต่างจากราชาผู้ยิ่งใหญ่หรือแมักระทั่งเป็นดั่งเทพเจ้า เพราะที่ผ่านมา การแสดงโอเปราก็มักจะเป็นเรื่องราวที่มาจากเทพปกรณัมด้วยกันทั้งสิ้น และที่สุดแล้ว โอเปราเรื่อง ‘Einstein on the Beach’ ไม่ได้เป็นเรื่องราวของชีวประวัติของตัว อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เองเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นเรื่องราวของมนุษยชาติที่ตกอยู่ใต้ชะตากรรมอันมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้กลายมาเป็นความเชื่อความศรัทธารูปแบบใหม่ และกลายเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตให้กับมวลมนุษยชาติแทนตัวของมนุษย์เอง
บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจในผลงานของ โรเบิร์ต วิลสัน คือ คริสโตเฟอร์ โนวลส์ (Christopher Knowles เกิดปี 1957) กวีและจิตรกรชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งมีอาการออทิสติก
วิลสันรู้จักกับโนวลส์ตั้งแต่เขาอายุ 13 ปี โนวลส์เขียนคำต่างๆ เป็นลำดับที่ซ้ำๆ ลงบนแผ่นกระดาษ ซึ่งทำให้เกิดภาพที่สื่อความหมายอันแปลกประหลาด และยังบันทึกเสียงการอ่านของตนเองเป็นคำๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งความหมายของภาพและเสียงที่วิลสันได้ยินจากเครื่องเล่นเทปนี้ ก่อให้เกิดมิติของภาพและเสียงแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
วิลสัน เล่าให้ฟังในสารคดีโทรทัศน์เมื่อปี 1984 ว่า I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said, I don’t know. I said, Chris…who is Einstein? He said…., Let me think…. หลังจากนั้นไม่กี่วัน โนวลส์ ส่งสิ่งที่เขาเขียนความยาว 12 บทให้วิลสัน และนี่คือที่มาของบทพูดในโอเปราเรื่องนี้ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันทั้งในความหมายและลำดับความใดๆ กันเลย
ความไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันเลยนี้ น่าจะต่อยอดมาจากแนวทางของบรมครู ‘เคจและคันนิงแฮม’ ของดนตรีและการเต้นแบบเสี่ยงทาย ซึ่งตัววิลสันเองชื่นชอบและใช้เป็นหลักในการสร้างงานให้กับตนเองมาตลอด ในอีกมุมมองหนึ่ง รูปแบบของศิลปะแนวใหม่เช่นนี้ กลับเป็นภาระอันหนักอึ้งของผู้ชมที่จะต้องตีความหมายของข้อมูลภาพและเสียงเบื้องหน้าว่ามันคืออะไร เป็นสัญลักษณ์ของอะไร มีความหมายหรือไม่ (หรือที่แท้อาจจะไม่มีความหมายใดๆ เลยก็ได้) เหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะแนวทดลองที่มุ่งแสวงหาแนวทางใหม่ๆ รสชาดของสุนทรียะแบบใหม่ๆ ส่วนหนึ่งคือความท้าทายที่ผู้ชมผู้ฟังจะต้องกล้าที่จะเผชิญ แต่ด้วยความคุ้นชินของเรา จึงอาจจะเข้าใจ experimental theatre แนวนี้ยากสักหน่อย และด้วยความยาวของโอเปราเรื่องนี้ที่มีมากกว่าสี่ชั่วโมง เหล่าผู้ชมจึงอาจจะตกอยู่ในภาวะ ‘ภวังค์’ หรือ ‘ประสาทหลอน’ หรือ ล่องลอยเข้าไปสู่ ‘มิติพิเศษ’ อันอาจะเกี่ยวพันกับ space-time หรือ อวกาศสี่มิติ อย่างในทฤษฎีสัมพัทธภาพ (ก็เป็นไปได้)
ดนตรีมินิมอลลิสม์นี้มีสถานะเหมือนดนตรีคลาสสิก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้ากันได้กับคนหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นบุปผาชนได้เป็นอย่างดี
โดยโครงสร้างของเรื่องแล้ว ตัวโอเปราแบ่งออกเป็นสี่องก์ องก์แรกคือ “รถไฟ” องก์ที่ 2 คือ “การไต่สวน” (และการจำคุก) องก์ที่ 3 คือ “พื้นที่ของการเต้นลำดับที่ 1 และ 2” และ องก์ที่ 4 คือ “เตียง- ตึก และยานอวกาศ” ทั้งสี่องก์ มีฉากสั้นที่เรียกว่า ‘ฉากข้อต่อ’ (knee play) ปรากฏขั้นระหว่างองค์ต่างๆ อยู่ โดยมีตัวอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นนักไวโอลินบรรเลง (นั่งเดี่ยว) อยู่ด้านข้าง ร่วมกันกับวง ‘The Philip Glass Ensemble’ ซึ่งอยู่ด้านหน้าเวที และมีนักร้องและนักเต้นชาย-หญิง อีกอย่างละ 12 คน นักแสดงเด็กหนึ่งคน นักแสดงหลักชายหนึ่งคน และนักแสดงหญิงในฉาก knee play สองคน
การแสดงไม่มีบทพูดและบทร้องที่สื่อใจความที่แน่ชัด หลายช่วงเป็นลีลาการเคลื่อนไหวบนเวทีประกอบแสง-สี-เสียงและองค์ประกอบจัดวางต่างๆ ในฉาก พร็อปและองค์ประกอบต่างๆ ดูเหมือนจะสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความเหมือนจริง ตัวละครไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ไม่มีพระเอก-นางเอก-ผู้ร้าย เครื่องแต่งกายดูมีความเป็นยุค ’60s ซึ่งผู้แสดงเกือบทั้งหมดจะแต่งชุดในแบบเดียวกัน เมื่อรวมๆ กันแล้วยิ่งทำให้ผู้ชมชวนงงสงสัยว่ามันคืออะไรกัน…
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือเราในฐานะผู้ชม จะเชื่อมโยงเรื่องราวในแต่ละฉากแต่ละองค์นี้เข้ากันกับไอน์สไตน์ได้อย่างไร มันอาจจะผิดก็ได้ แต่ในใจนั้นอยากจะเอา ‘รถไฟ’ พาหนะจักรกลชิ้นแรกของมวลมนุษย์มาเทียบกันกับ ‘ยานอวกาศ’ พาหนะจักรกลชิ้นสุดท้ายที่จะรวดเร็วและพาเราไปไกลสุดอวกาศ หรือฉากในการไต่สวนที่ศาลสถิตยุติธรรมอันพึงเป็นสถาบันที่จะควบคุมความสงบสุขของสังคม ในบางครั้งก็กลับกลายเป็นเครื่องมือในการทำร้ายคนอื่นที่อ่อนแอกว่า หรือแม้แต่กาลิเลโอก็ยังเคยถูกศาสนจักรลงโทษกักขังเพราะความรู้ของระบบสุริยะจักรวาลที่ค้นพบใหม่ขัดแย้งกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม ฉากยานอวกาศที่สว่างไสวด้วยแสงไฟแต่มวลมนุษย์กลับดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของจักรกล มาถึงจุดนี้ที่ภาพและเสียงต่างเร่งจังหวะและความเร็วมากขึ้นๆ จนในที่สุด (ตามที่โอเปราเรื่องนี้สื่อให้เห็น) จักรกลและเทคโนโลยีจะกลายเป็นตัวทำลายล้างมนุษย์เองรึไม่
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือเราในฐานะผู้ชม จะเชื่อมโยงเรื่องราวในแต่ละฉากแต่ละองค์นี้เข้ากันกับไอน์สไตน์ได้อย่างไร มันอาจจะผิดก็ได้
สำหรับดนตรีของ ‘Einstein on the Beach’ นั้นบางทีเราอาจจะพอได้ยินกันมาบ้าง เพราะถูกนำมาใช้ประกอบโฆษณาอยู่บ่อยครั้ง คำร้องที่ใช้ก็คือชื่อเรียกตัวโน้ตแต่ละตัว และการนับตัวเลข (ลองฟังบทเพลง Knee Play 4 ที่ร้องตามชื่อเรียกตัวโน้ตที่นี่) (ลองฟังเพลงที่ร้องด้วยการนับตัวเลขที่นี่) โดยเฉพาะเพลง Knee Play 5 นี้เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมากเพลงหนึ่งซึ่งจะอยู่ในฉากจบของเรื่อง แม้คำร้องจากกลุ่มคอรัสจะเป็นตัวเลข แต่บทพูดในลักษณะโมโนโทนนี้พอสรุปเป็นใจความสั้นๆ ได้ว่า ชายหนุ่มและหญิงสาว นับดาวบนท้องฟ้า ตวงมหาสมุทรด้วยช้อนชา นับเม็ดทรายบนชายหาด จะให้บอกอย่างไรว่าความรักที่มอบให้เธอนั้นมีมากแค่ไหน โอเปรา ‘Einstein on the Beach’ เริ่มต้นที่บทเพลงและลีลาอันเป็น space-time และจบลงที่เรื่องเล่าเก่าๆ ที่มีควบคู่กับมวลมนุษย์ซึ่งคือ ‘ความรัก’
ใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ Interstellar ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน และมีโอกาสได้ชมโอเปรา ‘Einstein on the Beach’ นี้ ก็จะพบว่ามีประเด็นที่คล้ายกันมาก เพราะในที่สุดแล้ว เรื่องราวของความรักจะเป็นพลังอันสำคัญที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่รอดต่อไปในอนาคตบนจักรวาลอันไกลโพ้น ร้อยปีพันปี นับจากนี้ ลองชมตัวอย่างของโปรดักชันล่าสุดที่เป็นเวิลด์ทัวร์ในช่วงปี 2012-2013 ได้ที่นี่ และ ที่นี่
Tags: วิทยาศาสตร์, ดนตรี, Minimalism, Einstien on the Beach, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, มินิมอลลิสม์