“It’s the economy, stupid” 

วลีหาเสียงอันโด่งดังของ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ที่ส่งให้เขาเอาชนะจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ไปได้ แม้ว่าคลินตันจะเป็นเพียงผู้ว่าการรัฐในภูมิภาคชนบทของสหรัฐอเมริกา แต่วลีดังกล่าวก็โดนใจเหล่าอเมริกันชน เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก

จวบจนปัจจุบัน สายธารงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองให้ผลลัพธ์ตรงกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้ง หากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหล่าผู้มีสิทธิออกเสียงก็มีแนวโน้มเปลี่ยนขั้วสลับข้าง ให้โอกาสอีกฝ่ายการเมืองขึ้นมาบริหารจัดการประเทศ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับโอกาสในการชนะการเลือกตั้งอย่างแนบแน่น

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มจางหาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและคะแนนนิยมประธานาธิบดีไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันอีกต่อไป เช่นเดียวกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและความนิยมของผู้นำในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เผชิญกับสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองจึงอาจไม่ได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป

การศึกษาในทศวรรษหลังพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนนอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจ คือมุมมองเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานที่เผชิญภัยคุกคามจากสินค้านำเข้าราคาประหยัดรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ เช่นเดียวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตไร้ความหวัง เหล่าผู้มีสิทธิออกเสียงจึงไม่ได้ใส่ใจเฉพาะเรื่อง ‘เศรษฐกิจดี’ แต่ยังต้องการเสถียรภาพและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน

ในวันที่การเมืองไทยผันผวนแปรปรวนเช่นนี้ อาจมีหลายพรรคที่พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นรัฐบาล แล้วใช้ความเชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจพลิกอนาคตประเทศให้ดูสดใสอีกครั้ง เทคนิคดังกล่าวอาจใช้การได้ดีเมื่อสองทศวรรษก่อน แต่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็สะท้อนได้ชัดเจนว่าการทำให้ ‘เศรษฐกิจดี’ เพียงลำพังนั้นไม่เพียงพอ

 

ทำไม ‘เศรษฐกิจดี’ ถึงยังไม่พอ?

เป้าหมายของรัฐบาลคือการสร้างสวัสดิการทางสังคมสูงสุด นักเศรษฐศาสตร์วัดสวัสดิการด้วย ‘ค่าอรรถประโยชน์’ (Utility) หรือหากแปลง่ายๆ ก็คือ ระดับความสุขของทุกคนในสังคมมาบวกรวมกัน อย่างไรก็ตาม การวัดความสุขโดยตรงทำได้ยุ่งยาก เหล่านักเศรษฐศาสตร์จึงใช้รายได้เป็นค่าแทน (proxy) โดยมีสมมติฐานว่ายิ่งรายได้เพิ่มขึ้น ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลายต่อหลายครั้งที่เหล่าผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยใช้สมมติฐานข้างต้น โดยหลงลืมข้อความจริงที่ว่า ‘รายได้’ เป็นเพียงค่าแทนเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือการตั้งธงนโยบายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกมิติเพื่อให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีเพิ่มขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตเท่าไร ก็ยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพีไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีเสมอไป เพราะส่วนหนึ่งของจีดีพีจะวัดจากการบริโภค นั่นหมายความว่าปัญหาน่ารำคาญใจอย่างการจราจรที่ติดขัดก็อาจทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นก็ได้ เนื่องจากสิ้นเปลืองน้ำมันจากรถยนต์ที่อยู่บนท้องถนน หรือการที่ประชาชนสุขภาพย่ำแย่จนต้องใช้บริการทางการแพทย์บ่อยครั้งก็สามารถเพิ่มจีดีพีได้เช่นกัน

นอกจากนี้ งานวิจัยในยุคหลังที่เน้นการวัดความสุขของประชาชนโดยตรงก็พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุขจะแข็งแกร่งจนกระทั่งถึงรายได้ระดับหนึ่ง หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรก็จะเริ่มเบาบาง ดังข้อค้นพบของริชาร์ด อิสเตอร์ลิน (Richard Easterlin) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่เริ่มทำงานวิจัยโดยวัดความสุขโดยตรง

งานวิจัยที่ทำให้เขาโด่งดังคือการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความสุขของประชาชนกับการเติบโตของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ชวนฉงนเพราะระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นตามที่เราเข้าใจ แวดวงเศรษฐศาสตร์เรียกการค้นพบดังกล่าวว่า ปฏิทรรศน์ของอิสเตอร์ลิน (Easterlin Paradox) กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย

 

นโยบายแบบไหนถึงตรงใจประชาชน

เหล่านักเศรษฐศาสตร์ใช้วิธีวิจัยแบบเดียวกับอิสเตอร์ลินในหลากหลายประเทศ ผลลัพธ์ในบางประเทศก็คล้ายกันกับของอิสเตอร์ลิน แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งกลุ่มตัวอย่างคือประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ที่ไม่พบสถานการณ์ข้างต้น โดยประชาชนในประเทศเหล่านี้จะมีความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโต

จุดนี้เองที่ทำให้นักวิจัยเอะใจแล้วลองใช้สัมประสิทธิ์จีนิ (Gini Coefficient) ตัวชี้วัดด้านความเท่าเทียมของการกระจายรายได้มาร่วมคำนวณ ผลปรากฏว่าในบางประเทศ ความสุขกลับแปรผกผันกับรายได้ นั่นหมายความว่าต่อให้เศรษฐกิจจะเติบโตดีแค่ไหน แต่ถ้าการกระจายรายได้ในสังคมยังเหลื่อมล้ำรุนแรง ประชาชนก็ยังไม่มีความสุขอยู่ดี

ดังนั้น หากต้องการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจให้ตรงใจประชาชน การกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะต่อให้เศรษฐกิจดีแค่ไหน แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนที่อยู่บนสุดของยอดพีระมิด ประชาชนก็คงไม่รู้สึกมีความสุข โดยบางส่วนอาจทุกข์ใจด้วยซ้ำเพราะรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ

อีกมิติหนึ่งที่งานวิจัยเห็นพ้องต้องกัน ว่าส่งผลโดยตรงต่อความสุขของประชาชนคือเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงตลาดที่เปิดกว้างให้คนแข่งขันอย่างเสรี เอื้อต่อการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่กีดกันการแข่งขันแล้วจำกัดผลประโยชน์ไว้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ประการสุดท้ายที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือระดับความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยิ่งประเทศมีระดับความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเท่าไร ประชาชนก็จะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น

สายธารงานวิจัยสมัยใหม่ที่วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชนสะท้อนอย่างชัดเจนว่า นโยบายที่พุ่งเป้าเพื่อสร้าง ‘เศรษฐกิจดี’ เพียงลำพังย่อมไม่เพียงพอ เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพทางเศรษฐกิจและการแสดงความคิดเห็น พรรคการเมืองที่หวังจะครองใจคนส่วนใหญ่จึงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย บริบททางเศรษฐกิจของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จีดีพีต่อหัวของเราเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว นับตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ธนาคารโลกก็จัดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูง รอวันที่จะเลื่อนระดับสู่ประเทศรายได้สูงในอนาคต

ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อาจทำให้นโยบายเศรษฐกิจในอดีตที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่สามารถใช้การได้ เช่นเดียวกับความเข้าใจเรื่องรสนิยมทางการเมืองจากที่ประชาชนเคยให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบันผู้มีสิทธิออกเสียงก็อาจให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

เอกสารประกอบการเขียน

Does the economy affect elections any more?

Happiness and economic freedom: Are they related?

Happiness as an Expression of Freedom and Self-Determination

The Influence of Democracy on National Happiness: Examination of Multinational Survey Data

Happiness, democracy and socio-economic conditions: Evidence from a difference GMM estimator

Tags: , , ,