ประเทศไทยอยู่ใต้อำนาจทหารต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว นานจนหลายคนอาจรู้สึกราวกับว่า อำนาจเผด็จการกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราแล้ว

ศ. ดร.ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) พาเราหมุนโฟกัสดูการปรับตัวของเผด็จการ ผ่านยุคสมัยและไหวพริบอันเฉียบแหลมในการขโมยอุปกรณ์ต่างๆ ของขั้วตรงข้ามอย่างฝ่ายประชาธิปไตย มาปรับจูนเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของตน

“ในความคิดของผม การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ การจัดสรรอำนาจ การใช้อำนาจ ที่มาของอำนาจ กระบวนการทำงานของอำนาจ” แมคคาร์โกตอบคำถามในวงสัมมนาที่ถามว่า “อะไรคือการเมือง?”

ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ (Leeds University) เขาคุ้นเคยกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี ครั้งนี้เขาได้รับเชิญมาพูดเรื่อง “แนวโน้มการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ประชานิยมผ่านสื่อ การเลือกตั้งนิยม และอำนาจนิยม?” (Trends in Southeast Asian Politics : Mediated Populism, Electoralism, Authoritarianism?) โดยมีอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

แมคคาร์โกเริ่มเล่าถึงบริบททางการเมืองที่คล้ายคลึงกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มักจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย เช่นในประเทศไทย การรัฐประหารปี 2557 ที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งให้พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ขึ้นมาทำหน้าที่กุมบังเหียนของประเทศแทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของพรรคที่ได้เสียงส่วนมากในสภา ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ลดความแตกแยกในสังคม ส่วนในฟิลิปปินส์ ลักษณะนิสัยที่มุ่งมั่นเกือบจะก้าวร้าวของประธานิธิบดีดูแตร์เต ก็ทำให้มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ไม่เห็นด้วยในประเทศ ด้านสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ผู้ซึ่งครองอำนาจมากว่า 3 ทศวรรษ ก็ทำให้เกิดทั้งฝ่ายที่ยังสนับสนุนเขาและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

อาจารย์กล่าวถึงความคล้ายคลึงและทิศทางความเป็นไปของการเมืองในภูมิภาคนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย กัมพูชา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างกำลังเรียกร้องหาฮีโร่ที่จะสามารถกอบกู้ประเทศให้รอดพ้นจากความแปรปรวนของพายุเศรษฐกิจ สร้างความกินดีอยู่ดี และใครคนนั้นมักจะต้องเป็นคนที่มี ‘บุคลิกลักษณะยิ่งใหญ่ (Big Personality)’ เข้มแข็ง อดทน เข้าถึงคนทุกชนชั้น (โดยเฉพาะชนชั้นล่าง)

หรือพูดอีกแง่ก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเกิดกระแสตีกลับของประชาธิปไตย และประชาชนไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตยเท่ากับเรียกร้องฮีโร่ขี่ม้าขาว ผู้ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่พันแข้งพันขาตนและสังคมมาอย่างยาวนาน

ประชานิยมผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อนักการเมืองพุ่งตรงใส่ประชาชนโดยปราศจากสื่อตัวกลาง

โซเชียลมีเดียถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในสนามปะทะทางอุดมการณ์การเมือง เมื่อเราเลื่อนฟีดเฟซบุ๊ก เรามักจะได้เห็นการแสดงออกทางการเมืองจากหลากมุมและสารพัดบุคคล ทั้งจากนักเรียนนักศึกษา พนักงานธนาคาร นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนตัวผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเอง หากเราลองกดเข้าไปในช่องคอมเมนต์ เราจะยิ่งแปลกใจกับสนามประลองพลังที่รุนแรงยิ่งขึ้น มีทั้งคอมเมนต์ที่อ่านแล้วเจ็บจุกราวโดนเตะเข้าชายโครง ปวดตะหงิดเหมือนฮุคซ้ายกระแทกเข้าที่ใบหน้า แม้กระทั่งหมัดที่คิดว่าเด็ดแน่ แต่ปล่อยแล้วกลับว่าวเพราะอีกฝ่ายเขาทำการบ้านมาดีกว่า ก็สามารถเห็นได้บ่อยครั้งไป พื้นที่โซเชียลมีเดียนับวันยิ่งอุดมไปด้วยมุมมองและทัศนคติที่หลากหลายจากทั้งฝั่งขวาใหม่ กลางเบ้ขวา ซ้ายหลบใน ฯลฯ ซึ่งในบางโพสต์แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบจำลองของการโต้วาทีระดับชาติเลยทีเดียว

แมคคาร์โกไม่ได้ตัดสินว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งเวทีในการแสดงออกของจุดยืนทางการเมืองว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ หากแต่อาจารย์มองว่า มันสามารถสร้างแรงโหมกระพือในเชิงการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในแนวทางที่ตัวละครทางการเมือง (Political Actor) สามารถนำมาใช้เพื่อสื่อสารและขยายฐานเสียงผู้สนับสนุนตัวเองได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แมคคาร์โกยืนยันว่า โซเชียลมีเดียในขณะนี้ยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในแง่การเมือง เช่น กระตุ้นให้เกิดการชุมนุมประท้วง หรือถอนรากถอนโคนระบบการปกครอง

โซเชียลมีเดียทำให้เส้นแบ่งที่เคยขีดระหว่างการทำหน้าที่ของสื่อและตัวแทนทางการเมืองเลือนลางลง สื่อออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่ตัวแสดงทางการเมืองใช้นำเสนอตัวเอง ชื่อเสียงและแสงสปอร์ตไลต์จากโซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพะวง เมื่อการสร้างฐานะให้ตนกลายเป็น ‘ผู้มีชื่อเสียง’ หรือ Celebrity มีพลังและสำคัญมากเพียงพอที่จะเป็นใบเบิกทางสู่อำนาจทางการเมือง การอัปโหลดรูปลงพื้นที่พบปะประชาชน การรีโพสต์ข่าวหรือบทความพร้อมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการโพสต์ทวิตเตอร์ ถูกพิสูจน์แล้วว่าส่งผลต่อความสำเร็จทางการเมืองทั้งในฟิลิปปินส์หรือสหรัฐอเมริกา

เมื่อเส้นที่เคยถูกขีดเอาไว้ระหว่างสื่อและตัวแสดงทางการเมืองเลือนลางลง ตัวแสดงทางการเมืองจึงสามารถนำเสนอสิ่งที่ต้องการสื่อให้กับฐานเสียงของตนได้บ่อยครั้ง อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารทางตรง จึงเป็นโอกาสของเหล่าตัวแสดงทางการเมืองที่จะนำเสนอสิ่งที่แมคคาร์โกเรียกว่า ‘ประชานิยมผ่านสื่อ (Mediated Populism)’ ส่งผลให้ประชานิยมถูกใช้ควบคู่กับโซเชียลมีเดียและพุ่งตรงหลอกหลอนการรับรู้ของประชาชน โดยไร้ซึ่งคนกลางอย่างสื่อ

เมื่อประชาชนต้องการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันมากกว่าที่จะสนใจโครงสร้าง ระบบ และการจัดการทางการเมือง โรมรันร่วมไปกับกระแสคลั่งฮีโร่ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลท่ามกลางคลื่นของประชาธิปไตย เครื่องมือทางการเมืองที่เคยสำคัญในระบบประชาธิปไตย เช่น พรรคการเมือง นโยบายพรรค ก็กลายเป็นสิ่งที่โดนลดทอนคุณค่าลง

ประชาชนไม่ได้ถูกผูกติดอยู่กับพรรคการเมืองหรือลงคะแนนเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งด้วยเหตุผลว่านโยบายของพรรคมีความน่าสนใจหรือทำได้จริง เท่ากับที่มองว่า ใครคนไหนจะสามารถมาช่วยพาพวกเขาออกจากฝันร้ายของชีวิตประจำวันได้ต่างหาก ซึ่งบ่อยครั้งที่ตัวละครทางการเมืองเหล่านั้นจะกอด ‘นโยบายประชานิยม’ ไว้ในอ้อมแขน เพื่อมาเสนอแก่ประชาชนและหว่านล้อมให้เลือกเขาเป็นตัวแทนเสียงของตน

เหล่าผู้ต้องการขึ้นสู่อำนาจต่างเป่ามนต์วิเศษกรอกหูประชาชนผ่านโลกโซเชียล ถ้อยคำที่ฟังแล้วไม่ว่าใครก็อยากคว้ามากอดไว้ อาทิ ประชาธิปไตย (Democracy) การมีส่วนร่วม (Participation) หรือสิทธิความเป็นพลเมือง (Civil Right) หากแต่ในความเป็นจริง คำพูดเหล่านั้นแทบจะไม่ได้ถูกนำมามอบให้กับประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเพียง ‘วาทะอันว่างเปล่า (Empty Rhetoric)’ สิ่งที่พวกเขาตอบแทนประชาชนมักจะเป็น นโยบายที่แพ็คเกจดีเยี่ยม ผูกโบว์อย่างเรียบร้อยสวยงาม แต่ข้างในกลับมักจะเป็นของชำรุดที่เพียงถูกนำมาขัดสีปัดฝุ่นเสียใหม่ หาได้เป็นนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาฐานรากให้กับประชาชนจริงๆ

เมื่ออำนาจนิยมขโมยรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

อีกสิ่งที่น่าสังเกต คือ ประชาชนยังต้องการให้มีการเลือกตั้ง และผู้นำอำนาจนิยมก็ต้องการชัยชนะจากการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตัวเอง ปรากฏการณ์นี้คือปรากฏการณ์ที่ประจักษ์เคยนิยามไว้ว่า ‘อำนาจนิยมกลายพันธุ์ (Hybrid Authoritarianism)’ คือ อำนาจนิยมขโมยเครื่องมือของฝ่ายประชาธิปไตย อย่าง รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ที่นำมาใช้เพื่อสร้างฐานความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง เพื่อการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ พวกเขาบรรจุตัวเองภายใต้หีบห่อของประชาธิปไตย แต่โปรดักต์ข้างในกลับยังคงเป็นอำนาจนิยมที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พวกเขายังต้องการคุมอำนาจทั้งหมดไว้ในมือที่ส่วนกลาง และหวังจะลดทอนอำนาจ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้กดต่ำลงที่สุดเท่าที่จะทำได้

แมคคาร์โกไม่ลืมที่จะเตือนเราถึงแทคติกของอำนาจนิยมว่า บางครั้งพวกอำนาจนิยมก็เจ้าเล่ห์เพทุบายมากกว่านั้น พวกเขาพร้อมจะส่งนอมินีลงในสนามเลือกตั้งแทนตัวเองและคอยสนับสนุน ชักใย อำนาจอยู่เบื้องหลัง สำหรับพวกเขาแล้ว การเลือกตั้งไม่ได้กำหนดว่าอำนาจจะอยู่ในมือใคร ตราบใดที่ทีมงานของเขาได้รับเลือก ก็เท่ากับตัวเขาได้รับเลือกเช่นกัน คล้ายกับกระบวนการทำงานของประชาธิปไตย

กลเกมในการคว้าอำนาจมาอยู่ในมือขึ้นอยู่กับว่า ใครสามารถควบคุม ‘เรื่องเล่าของชาติ (National Narratives)’ ได้มากกว่า และเรื่องเล่าเหล่านั้นมักจะถูกผูกไว้กับสถาบันดั้งเดิมต่างๆ ไว้แล้ว จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของกลุ่มอำนาจใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ที่ต้องการแทรกตัวขึ้นมามีส่วนแบ่งของชิ้นเค้กทางอำนาจ

แมคคาร์โกกล่าวถึงโครงสร้างการเมืองไทยว่ามี ‘วัฒนธรรมผู้ปกครอง’ (Culture of Ruler) ที่มีความสัมพันธ์กับ ‘ตัวแสดงที่ไม่อาจเอ่ยถึง’ (Unmentionable Actor) อย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลานาน ตัวแสดงลึกลับผูกตัวเองไว้กับสถาบันสำคัญของประเทศ อาทิ วุฒิสภา ศาล กองทัพ เพื่อกึ่งเสนอแนะกึ่งบังคับให้ใช้อำนาจ กำหนดความเป็นไปของการเมืองตามที่ตนมุ่งหวัง

ตัวแสดงลึกลับดังกล่าว สร้างเครือข่ายลึกลับเปรียบประดุจเส้นใยแมงมุม แพร่ขยายออกไปพัวพันทั่วทุกสารทิศ หากสืบสาวหาจุดเริ่มต้น จะเชื่อมไปหาสิ่งที่แมคคาร์โกนิยามว่า ‘เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์’ (Network Monarchy) เครือข่ายนี้มีระบบการทำงานซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังฉากประชาธิปไตย เป็นระบบของอำนาจที่ทำงานเองโดยอาจไม่ต้องมีใครสั่ง ประชาชนไม่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ (อีกทั้งน้อยนักที่กล้าคิดจะตรวจสอบ) มีพลังอำนาจในการหมุนหางเสือของประเทศเพื่อให้ล่องคล้องจองไปกับทิศทางลมที่ตนต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวหรือใช้อำนาจในที่แจ้ง ซึ่งต่างจากแนวคิดเรื่องรัฐพันลึก (Deep State) ที่เชื่อว่าทีการทำงานของเครือข่ายที่เป็นระบบมากกว่า

แมคคาร์โกมองว่า สถานการณ์การเมืองไทยใกล้เคียงกับทฤษฎี ‘เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์’ หรือ network monarchy มากกว่า และมันมีพลวัตรในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจทางตรง หากแต่ใช้อำนาจผ่านสถาบันสำคัญต่างๆ ด้วยระเบียบวิธีปกติ เช่น การเรียกเข้าพบ การยับยั้งพระปรมาธิปไตย การใช้อำนาจควบคู่ไปกับบารมีเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ไทย หากแต่บารมีเป็นสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับบุคลมากกว่าตำแหน่งหรือฐานะ จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดตามในบริบทบัลลังก์เย็นเช่นในปัจจุบัน

แผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา?

อำนาจนิยมในปัจจุบัน ได้ผ่าตัดจำแลงตน วางเครื่องมือที่ชำรุดของตน และฉกฉวยอุปกรณ์ของประชาธิปไตยที่เข้ากับบริบทและสังคมโลกมากกว่ามาแทน แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจนิยมยังคงมีอาวุธหนักที่ใช้อย่างคุ้นมือ ไม่ว่าจะเป็น การโหยหาถึงอดีต (Nostalgia) ที่แสนสวยงามและคำมั่นสัญญาประเภท ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา’ ล่อลวงประชาชนให้ลืมเลือนกลิ่นอิสรภาพ และชินชากับความเป็นอยู่ภายใต้กำปั้นเหล็ก ถึงเช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าอำนาจนิยมจะพาเราถอยหลับไปสู่ความป่าเถื่อนหรืออนารยะ เพียงแต่พวกเขาต้องการแช่แข็งสังคมและการเมืองไว้ในอาณาบริเวณที่พวกเขาสามารถควบคุมและเป็นประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจของฝั่งตน

เครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างที่กลุ่มอำนาจนิยมมักใช้เป็นประจำ คือ นโยบายประชานิยม พวกเขาใช้นโยบายประชานิยมโปรยหว่านความสุขชั่วคราว หลอกลวงให้ประชาชนคิดว่ามีชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้อำนาจของพวกเขา เพื่อเสริมความมั่นคงทางอำนาจทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ในความเป็นจริง นโยบายประชานิยมที่กลวงเปล่าและไร้การออกแบบไม่ได้นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในระยะยาวอย่างใด แต่มันก็มีอำนาจมากเพียงพอที่จะมอมเมาประชาชนให้กลายเป็นฐานเสียงของพวกเขาในขณะหนึ่ง อีกทั้งโซเชียลมีเดียที่ได้กลายเป็นช่องทางและพื้นที่ทางการเมืองให้ตัวละครทางการเมืองสามารถนำเสนอและขายนโยบายประชานิยมของตน โดยไม่ผ่านสื่อคั่นกลางอีกต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจนิยมเติบโตและก้าวไปข้างหน้าตามกระแสของยุคสมัย ภาระอันหนักจึงอาจจะตกเป็นของนักคิด นักรัฐศาสตร์และปัญญาชน ผู้ยังคงศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ที่จะคอยตักเตือนและบอกกล่าวให้สังคมรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

สุดท้าย ถ้าหากสังคมเรายังคงใฝ่ฝันที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตย สิ่งสำคัญอาจจะอยู่ที่สิ่งพื้นฐานอย่างการปักหลัก ศรัทธา และไม่ยอมแพ้ ต่อความผิดพลั้งและสูญเสียที่เกิดขึ้น และเหนืออื่นใดคือ ความเข้าใจร่วมกันว่าสังคมไทยเป็นของ ‘ทุก-คน’

Tags: ,