ถ้าจะจัดการเมืองไทยให้เข้ากับ genre ของซีรีส์การเมือง การเมืองไทยจะเข้าไปอยู่ในหมวดไหน จะเป็นหมวดเดียวกับ House of Cards ซีรีส์หักเหลี่ยมซ้อนคมชิงไหวพริบกันในทำเนียบขาว หรือจะเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์จริงของราชวงศ์อังกฤษว่าด้วยการสืบสายเลือดต่อบัลลังก์อย่าง The Crown หรือหากจะแฟนตาซีหน่อยก็น่าจะเป็นอย่างมหาศึกชิงบัลลังก์ Game of Thrones แต่สำหรับชาวไทย ความสัมพันธ์ที่มีต่อซีรีส์เหล่านี้ก็เป็นได้เพียงผู้ชม แต่คงไม่มีเรื่องใดที่น่าตื่นเต้นไปกว่าการเมืองไทยที่เราต่างก็เป็นหนึ่งในตัวละครของเรื่องนี้

สังคมไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ใหญ่ทางการเมือง คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มาไม่นาน ถือเป็นวาระสำคัญที่หลายฝ่ายปักธงรอ ด้วยความหวังที่จะเห็นการเมืองไทยเคลื่อนไปข้างหน้าหลังจากถูกแช่แข็งให้หยุดนิ่งมาจากการรัฐประหารมาตั้งแต่เมื่อปี 2557 แรงเหวี่ยงของกระแสเลือกตั้งจึงทำให้ต้นปีที่ผ่านมานี้ มีเรื่องชวนตื่นเต้นและเซอร์ไพรส์มากยิ่งขึ้นทุกวัน ส่วนอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แม้เลือกตั้งผ่านไปแล้วก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้

เราชวน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง นับตั้งแต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคก่อน 14 ตุลา 2516 และล่าสุด เขายังทำวิจัยการเมืองเปรียบเทียบของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน สำหรับประจักษ์—เขาบอกว่า การเลือกตั้งในปี 2562 นี้ทำให้เห็นว่าความตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยสูงขึ้นมาก และเรียกได้ว่าครั้งนี้เป็น The first social media election ของประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะหน้าตาเป็นอย่างไร วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้สัมภาษณ์เมื่อ 19 มีนาคม 2562 และเพิ่มเติมข้อมูลเพิ่มหลังเลือกตั้ง

อาจารย์เคยบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น The first social media election of Thailand ทำไมเป็นเช่นนั้น ในเมื่อคนไทยก็เล่นโซเชียลมีเดียมาพักใหญ่แล้ว

ผมเรียกการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ว่า The first social media election of Thailand คือเราไม่ได้พูดว่า แค่มีคนใช้ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กใช้พื้นที่โซเชียลในการเลือกตั้ง เพราะถ้าอย่างนั้นมันก็เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แล้ว แต่เวลาเราจะเรียกการเลือกตั้งครั้งหนึ่งว่าเป็น social media election หมายความว่า โซเชียลมีเดียต้องเข้ามามีอิทธิพลในแง่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้เลือกตั้ง มีบทบาทในการเปลี่ยนแคมเปญของตัวผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างๆ บรรยากาศโดยทั่วไปโดยรวมในสังคม รวมถึงการทำข่าวของสื่อด้วย

ก็หมายถึงว่า โซเชียลมีเดียมันไปอยู่ในทุกอณู ทั้งในแคมเปญ ทั้งในการถกเถียงในทางสังคม ในการกำหนดวาระ แล้วก็เข้าไปอยู่ใน voters ด้วย ผู้เลือกตั้งทั่วไปมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันผ่านโซเชียลมีเดีย มีความพยายามโน้มน้าวคนอื่น ส่งต่อข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ตรงนี้ถึงจะเรียกได้ว่าโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพล

ซึ่งถ้าเราไปดูปี ‘54 ตอนนั้นผมก็มีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพราะว่าทำวิทยานิพนธ์พอดี การเลือกตั้งครั้งนั้น โซเชียลมีเดียมีบทบาทน้อยมาก ข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไปก็ยังผ่านสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ เวลาหัวคะแนนระดมมวลชน ก็ใช้วิธีโทรศัพท์นัดหมายบอกชาวบ้าน นักการเมืองและพรรคการเมือง แทบไม่มีพรรคไหนใช้พื้นที่ตรงนี้เท่าไร ตอนนั้น นักการเมืองจำนวนมากยังไม่รู้จักทวิตเตอร์ด้วยซ้ำ ถ้าเราย้อนกลับไปดู 8 ปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ยังน้อยมาก วันนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มันเพิ่งมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังนี่แหละครับ

อย่างมาเลเซียเกิด first social media election ตอนปี 2013 แล้วครั้งนั้นทำให้ฝ่ายค้านเกือบจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่าระบบเลือกตั้งมันบิดเบือน และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เป็นกลาง จึงทำให้เขาก็เลยยังแพ้ไป นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า Malaysia witnesses the first social media election. แล้วทำให้เขาเพลี่ยงพล้ำเกือบจะพ่ายแพ้ หลังจากนั้นเขาต้องปรับตัว นาจิบบอกให้ทุกคนในพรรคต้องมีทวิตเตอร์ เล่นเฟซบุ๊กให้หนักขึ้น ส่งข้อมูลต่างๆ สื่อสารถึงประชาชน ปรากฏว่าเลือกตั้งปี 2018 ก็เอาไม่อยู่ social media election ยิ่งเข้ามาทำงานอย่างเต็มรูป ฝ่ายค้านมาเลเซียก็ใช้ช่องทางพวกนี้ การที่รัฐบาลคุมหนังสือพิมพ์ คุมทีวี วิทยุ ความหมายมันน้อยลงมากนะครับ ประชาชนเอง หลังจากถูกปิดกั้นมานาน อ่านข่าวในทีวี อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ ดูข่าวทีวี ก็รู้ว่าข้อมูลมันจะเป็นแบบไหน เขาก็เบื่อแล้ว มันเป็นข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ เขาก็อยากหาข้อมูลข่าวสารอื่นๆ มันมีการเกิดขึ้นของพวกเว็บไซต์ใหม่ๆ มาเลเซียกีนี เว็บไซต์ฝ่ายค้าน มีช่องทางอื่นอย่าง WhatsApp ฝ่ายค้านก็ใช้วิธีส่งข้อมูลว่ารัฐบาลมีปัญหาคอร์รัปชันอย่างไรบ้าง ส่งไป ประชาชนก็รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางเลือกผ่านช่องทางใหม่ๆ เหล่านี้ ในท้ายสุด พรรคอัมโนแพ้ไป ส่วนของไทย นี่เป็นครั้งแรกที่เราเพิ่งจะเห็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดียแบบจริงจังจริงๆ

คุณประยุทธ์เองก็มีเพจ และหันมาใช้โซเชียลมีเดียเหมือนกัน

คือโซเชียลมีเดียมันก็มีหลายแง่มุมนะ แพลตฟอร์มพวกนี้มันเป็นแพลตฟอร์มที่ต่างจากทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ คุณก็ต้องมีคอนเทนต์ที่มันต่างไปด้วย มีรูปแบบการใช้ แต่เท่าที่ดู เวลาที่รัฐบาลหรือพรรครัฐบาลใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ เหมือน copy and paste คือก๊อปปี้เอาคอนเทนต์เดิม คอนเทนต์ที่คนรับรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วในรายการคืนวันศุกร์ ในหนังสือพิมพ์ ในทีวี เป็นข้อมูลเดิม คอนเทนต์เดิม แล้วเอามาแปะลงในเฟซบุ๊ก ลงในทวิตเตอร์ ซึ่งมันไม่โดนใจคนหรอก คนเขารับรู้อยู่แล้วในทีวี เขาเห็นอยู่แล้วตลอดเวลา แล้วเขาเบื่อแล้ว มันไม่พลิกแพลง มันไม่มีการเล่นอะไรใหม่ๆ พูดง่ายๆ ทวิตเตอร์ของรัฐก็กลายเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ แค่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม คอนเทนต์แบบเดิม ข้อมูลแบบเดิม คนเขาก็ไปหาข้อมูลอย่างอื่นดีกว่า

โซเชียลมีเดียมันเป็นแพลตฟอร์มอีกโลกหนึ่ง ถ้าคุณยังใช้กรอบวิธีคิดเก่า ไม่ปรับวิธีคิด  มันก็ไม่มีประโยชน์ วัยรุ่นมาอ่านเขาก็เลยตลก บางทีวัยรุ่นก็ไปแกล้งอีก ไปโพสต์เป็นภาษาเกาหลี ทีมงานของรัฐบาลก็นึกว่าชมอีก ไปรีทวีตเขา คือถ้าเข้าไปในโลกทวิตเตอร์แล้วไม่เชี่ยวชาญนี่คุณตายลูกเดียวเลย ฉะนั้น ฝ่ายรัฐบาลจึงเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้น้อย เพราะใช้โซเชียลมีเดียไม่เป็น แต่เท่าที่ดู พรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. เค้าเน้นใช้สื่อกระแสหลักและการหาเสียงแบบเก่ามากกว่า คือ การเมืองแบบอุปถัมภ์และระบบหัวคะแนนในพื้นที่ ไม่เน้นโซเชียลมีเดีย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หนึ่งในกระแสที่ดังมากก็คือการตัดสินใจเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ที่เรียกได้ว่าอาจเป็นทำให้เกมนี้เปลี่ยนไป อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมได้ยินข่าวลือมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จริงๆ ผมทวีตไปหลังจากเกิดข่าวลือนี้ ปรากฏโดนคนด่าเต็มเลย คือผมทวีตไปว่าเกมนี้ของคุณทักษิณอาจจะทำให้พลิกมาชนะเลือกตั้งได้ แต่ว่าจะไม่ได้ประชาธิปไตย แล้วก็ทวีตภาษาอังกฤษว่า มันเป็น smart move but dangerous move ทวีตไว้ตั้งแต่ก่อนวันที่มีคำตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติออกมา เพราะเราเห็นในประวัติศาสตร์แล้ว ไม่ใช่ว่าผมเป็นศาสดาพยากรณ์รู้ผลล่วงหน้าหรือเป็นหมอดู แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ไทย มันมีคนพยายามใช้ยุทธศาสตร์แบบนี้มาก่อนแล้ว คุณทักษิณไม่ใช่คนแรก ไทยรักษาชาติไม่ใช่กลุ่มการเมืองแรก ยุทธศาสตร์ที่เอาชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งมาเป็นตัวนำแล้วขับเคี่ยวกับอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือเป็นการเมืองแบบชนชั้นนำ แบบ Elite Politics กลุ่มที่เราต่อสู้อยู่ด้วยแข็งแรงเหลือเกิน ทำอย่างไร ก็ต้องไปพึ่งชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่ง ไปสร้างพันธมิตรกับกลุ่มนี้ คิดว่าจะทำให้เราอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า เหมือนเล่นหมากรุก มันมีคนทำแล้ว แล้วสุดท้ายก็ล้มเหลวหมด พ่ายแพ้หมด แล้วการเมืองก็พ่ายแพ้ แล้วก็ไม่ได้ประชาธิปไตย

ผมก็เห็นว่าครั้งนี้มันก็มีแนวโน้มที่จะจบแบบนั้น เพราะเวลาคุณเลือกที่จะเดินหมากแบบการเมืองชนชั้นนำ เป็น Elite Politics คือไม่ได้หวังพึ่งพลังประชาชนแล้ว การเดินหมากของเกมชนชั้นนำโดยเฉพาะชนชั้นนำระดับสูง ต่อให้คุณเดินหมากได้ฉลาดที่สุดอย่างไร คุณคิดว่าคุณเดินหมากได้ฉลาดมากแล้ว แต่พอถึงตาสุดท้าย คุณไม่ได้เดิน หมากตาสุดท้ายคุณกำหนดไม่ได้

มันก็ชี้ให้เห็นว่า การเมืองชนชั้นนำยังเป็นเนื้อในของสังคมไทยที่สำคัญมากๆ เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เราสลัดไม่หลุดสักที

คือหลัง 14 ตุลา ตอนนั้นนึกว่าเราจะเข้าสู่ศักราชใหม่ เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมืองมวลชน’ ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการตื่นตัวของภาคประชาชน ชาวนา กรรมกร การรวมกลุ่ม นักศึกษา กระทั่งนักเรียนก็ยังรวมกลุ่ม แล้วมันก็คึกคักมาก เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง ก็นึกว่าในท้ายสุดมันจะค่อยๆ มาแทนที่การเมืองแบบชนชั้นนำ หลังจาก 14 ตุลา มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่สุดท้าย ผ่านไป 40-50 ปี เราก็คงต้องยอมรับว่า การเมืองชนชั้นนำมันยังมีอิทธิพลอยู่ในการเมืองไทย

แล้วการเลือกตั้งจะช่วยอะไรไหม

ผมยังมองในแง่ดีนะครับ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ไม่มีใครคุมได้ทั้งหมด จากบทเรียนของหลายประเทศหรือในประเทศเพื่อนบ้านเราเอง มันเป็นกระบวนการที่ถ้าคุณเริ่มแล้ว มันเหมือนเปิดกล่องแพนโดรา (Pandora’s Box) คือคุณคุมได้ระดับหนึ่ง แต่คุณคุมไม่ได้ทั้งหมด เพราะมันเป็นกระบวนการที่คุณเปิดให้คนกว่า 50 ล้านคน เข้ามามีส่วนร่วม ใครจะเก่งขนาดไปล็อค 50 ล้านคนว่าจะโหวตไปในทางไหน มันเป็นกระบวนการของมวลชนโดยตัวมันเอง คนรุ่นใหม่อีก 7-8 ล้านคนยิ่งยากแก่การคอนโทรล ตรงนี้เป็นแบบผีเยอะแยะไปหมดเลยที่มันผุดขึ้นมา แล้วมันยากแก่การควบคุม

ทำไมใช้คำว่า ‘ผี’

ผีในแง่ที่ว่า ผมนึกถึงนิยายปีศาจของ คุณเสนีย์ เสาวพงศ์ หมายถึงสิ่งที่เป็นพลังใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลอกหลอนชนชั้นนำ แล้วชนชั้นนำไม่รู้จะจัดการอย่างไร คือพอเปิดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้แล้วในกระบวนการนี้ เราจึงเห็นเลยว่าหลังจาก 5 ปีที่มันถูกทำให้เงียบ แล้วทุกคนแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้ ในช่วงการเลือกตั้งนี้ทุกคนใช้พื้นที่การเมืองที่มันเปิดขึ้นมาตรงนี้แสดงความคิดเห็นกันเต็มไปหมดเลย วิพากษ์วิจารณ์ มีบทสนทนา มีอะไรที่มันคึกคักเข้มข้นมาก กระบวนการเลือกตั้งในตัวมันเองตรงนี้แค่นี้ก็สำคัญแล้ว ไม่ว่ามันจะจบอย่างไร แต่ว่าพื้นที่ทางการเมืองได้เปิดขึ้นแล้ว คนได้ตื่นตัวแล้ว กระบวนการการเรียนรู้ทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว

ในมุมมองนักรัฐศาสตร์ อาจารย์มองว่าระบอบการปกครองปัจจุบันนี้เรียกว่าระบอบอะไร

ถ้าในทางวิชาการ มันก็คือระบอบเผด็จการทหาร ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็ยอมรับความจริงไป มันคือ military authoritarianism ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม โดยอำนาจผูกขาดรวมศูนย์อยู่ที่กองทัพ

เผด็จการอำนาจนิยมมีหลายสปีชีส์ มีหลายแบบ ถ้าเป็นแบบจีน อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พรรคการเมือง เราก็เรียกว่าเป็นเผด็จการของพรรคการเมือง บางประเทศ เผด็จการอำนาจอาจรวมศูนย์อยู่ที่ตระกูลการเมืองหรือครอบครัว แบบเกาหลีเหนือ เป็นราชวงศ์คิม แต่ของไทยมันไปอยู่ที่กองทัพ ก็เป็นเผด็จการอำนาจนิยมของกองทัพ เพียงแต่กองทัพก็รู้ว่าปกครองอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ชั่วกัลปาวสานไม่ได้ ต่างชาติไม่ยอมรับ ในประเทศก็มีแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ มันถึงต้องแปลงตัวเอง

ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าตอนนี้ พลเอกประยุทธ์มาปกครองเหมือนจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมันน่าสนใจ พลเอกประยุทธ์ออกมาพูดว่า ผมเป็นพ่อ แล้วบอกว่าประชาชนทั้งประเทศก็เหมือนลูก 68 ล้านคนที่ต้องดูแล พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่คนแรกที่เปรียบเปรยตัวเองแบบนี้ เพราะจอมพลสฤษดิ์เรียกการปกครองของตัวเองว่าพ่อปกครองลูก บิดาปกครองบุตร นักวิชาการเราเรียกระบอบสมัยจอมพลสฤษดิ์ว่าระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ก็คือพ่อบอกว่า จะดูแลลูกนะ แต่ลูกห้ามหือ ถ้าลูกหือต้องติดคุก

พอพลเอกประยุทธ์เปรียบตัวเองเป็นพ่อกับลูก ความสัมพันธ์ทางอำนาจมันไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว ถ้าลูกหือก็โดนเฆี่ยนได้ หรือลูกบางคนเกเรมาก โดนประหารชีวิตเลย พอคุณเปรียบตัวเองอย่างนี้ พ่อคือเจ้าของบ้าน ลูกไม่ได้มีสิทธิ์อะไร มันเป็นความเปรียบที่สะท้อนวิธีคิดที่มองคนไทยทั้งประเทศ 68 ล้านคนไม่โต ยังไม่สามารถตัดสินใจคิดอะไรด้วยตัวเองได้ แสดงว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มองคนในประเทศเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพ ในการปกครองสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน มันคือประชาชนนั่นแหละเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนรัฐบาลเป็นแค่ Manager ที่จ้างมาบริหารประเทศชั่วคราว ถ้าไม่ชอบบริหารไม่ดี เจ้าของบ้านเขาก็เปลี่ยน Manager เขาก็เลือกทีมใหม่มาบริหาร แต่ตอนนี้เราเป็นผู้อยู่อาศัย เป็นลูกที่พ่อบงการได้ ตีได้ เฆี่ยนได้ ไล่ออกจากบ้านก็ได้ ลูกเกเรพ่อก็ไล่ออกได้นะ ไม่ต้องอยู่ในบ้านนี้

เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่ายังมีความหวังกับการเมืองไทย แล้วอาจารย์คิดว่าตอนนี้สังคมไทยมีเกราะคุ้มกันการรัฐประหารเพิ่มขึ้นไหม

คือในประเทศที่มีการพยายามทำรัฐประหารมาแล้วถึง 20 ครั้ง และสำเร็จ 13 ครั้ง เราไม่สามารถบอกว่า ประเทศไทยจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก  ถ้าพูดแบบนั้นมันก็เหมือนการโกหกตัวเอง เอาแค่คนรุ่นนี้ คนที่อายุ 18 เพิ่งบรรลุนิติภาวะ ยังไม่ทันได้ไปเลือกตั้งเลย บางคนยังไม่มีแฟนเลยใช่ไหม แต่ชีวิตได้ผ่านพบกับการรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง ฉะนั้น เวลาถามคำถามนี้กับคนรุ่นใหม่ว่าคุณเชื่อไหมว่าการรัฐประหาร 2557 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในสังคมไทย ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีใครเชื่อเลยสักคนเดียว เวลาผมถามนักศึกษา มันก็น่าเศร้านะ คำตอบที่ทุกคนบอกว่าพวกเขาเชื่อว่าในชั่วชีวิตเขา เขาจะเห็นการรัฐประหารอีก มันก็สะท้อนอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับสังคมไทยนะครับ

แต่สำหรับด้านของกองทัพ การทำรัฐประหารก็น่าจะยากขึ้นในอนาคต?

ผมว่ายากขึ้นด้วยหลายปัจจัย คือภูมิทัศน์ทางการเมืองก็เปลี่ยนไปเยอะ การรัฐประหารปี ’49 ทำให้คนตื่นตัวขึ้นเยอะ คนตาสว่าง คือเราอาจจะมองว่าการรัฐประหารปี ’49 ทำให้คนชนบทตื่นตัวทางการเมือง มาครั้งนี้ระบอบ คสช. ไปทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งตื่นตัวทางการเมืองโดยไม่ตั้งใจ ก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลายเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวทางการเมืองจากการที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นก็เกิดตาสว่างในแบบของเขาเอง ฉะนั้น พลังตรงนี้มันก็ยากที่จะทำรัฐประหารแล้วให้มันสงบราบเรียบเหมือนปี ’57

ผมเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารได้อีก แต่การรัฐประหารครั้งถัดไป ไม่ว่าจะเป็นปี ’62 นี้เลย หรือ ’63, ’64 จะไม่มีทางเกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกับที่เกิดตอนปี ’57 ที่มีคนไปแสดงความยินดี มันจะไม่กลับไปสู่จุดนั้นแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ สภาใหม่หลังจากนี้จะประกอบด้วยพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ประกาศชัดเจนว่า อุดมการณ์และจุดยืนของพรรคคือการต่อต้านรัฐประหาร ต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ตรงนี้ ซึ่งคนก็จับตาดูว่า เขาจะทำตามสัญญาหรือเปล่า อย่างพรรคอนาคตใหม่และคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เขาประกาศแล้วว่า สำหรับเขา เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นปุ๊บ ณ จุดนั้น อำนาจรัฐยังอยู่ที่สภาในฐานะตัวแทนประชาชน ในทางรัฐธรรมนูญ การรัฐประหารผิดกฎหมาย เป็นกบฏเลยนะ ฉะนั้น สภาต้องยืนหยัดเรียกประชุมสภาแล้วไม่ยอมรับการรัฐประหาร ถ้าพรรคอนาคตใหม่ทำอย่างนี้จริง สมาชิกพรรคทั้งหมดไม่ยอมรับ แล้วก็พยายามเปิดประชุมสภา ผมคิดว่ามันจะทำให้การสถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารนี้ไม่ง่าย ถ้ามีผู้แทนจำนวนหนึ่งยืนยันว่า อำนาจอธิปไตยยังอยู่กับเขา ยังอยู่กับประชาชน มันก็จะเป็นการยื้อแย่งกันของอำนาจอธิปไตย ก่อนหน้านี้มันง่ายเพราะว่าตัวผู้แทนสภาเอง ผู้แทนประชาชนทุกคนก็ยอมหมดเลย มันก็เหมือนในทางพฤตินัย มันไปรองรับให้คนที่ทำรัฐประหารกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไป ก็ตัวเองไม่ปกปักรักษา ตัวเองไม่หวงแหน ไม่สู้เลย แต่ถ้าตอนนี้มีกลุ่มคนจะสู้ มันก็จะทำได้ยากขึ้น

บริบทมันเปลี่ยนไปด้วย รัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นในสภาวะที่มีการเมืองบนท้องถนนแล้วยังมีการเมืองสีเสื้อ ทุกอย่างถูกทำให้เดินไปสู่ทางตันคล้ายกันทั้งสองครั้ง การรัฐประหารมันจึงเหมือนมี justification ที่มาให้ความชอบธรรมกับตัวเองว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อความสงบ แต่ข้ออ้างของการรัฐประหารครั้งต่อไปคืออะไร? หรือว่าตั้งรัฐบาลแล้วบริหารไปสักพัก แต่คุมสภาไม่ได้เลยรัฐประหาร? อันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ตอนปี 2512 แกจัดเลือกตั้ง พรรคทหารก็ชนะแต่เสียงไม่มากพอ ก็ต้องไปรวม ส.ส. รวมพรรคเล็กพรรคน้อยมาตั้งรัฐบาล สุดท้ายคุมสภาไม่ได้ แกไม่คุ้นเคยกับการบริหารความขัดแย้งในสภา ผ่านไปได้แค่ 2 ปีจอมพลถนอมก็รัฐประหารตัวเอง ยึดอำนาจจากตนเอง มันก็ตลกนะ ในเมื่อตัวเองมีอำนาจอยู่แล้ว แล้วก็ยึดอำนาจจากตัวเอง เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษมันก็จะแปลกๆ ว่า Thanom government seized power from himself. คือรัฐประหารเพื่อให้จอมพลถนอมกลับไปปกครองแบบหัวหน้าคณะรัฐประหารเหมือนเดิม ไม่ต้องมีสภา ไม่ต้องมีพรรคการเมือง เพราะว่าคุมไม่อยู่

แต่ครั้งนี้ถ้าทำอีก ผมว่าสังคมรับไม่ได้ แล้วตอนนั้นมันก็เป็นชนวนที่นำไปสู่ 14 ตุลาฯ ในท้ายที่สุด และผมคิดว่าครั้งนี้มันไม่ง่ายที่จะทำรัฐประหารแล้วคาดหวังให้ทุกคนยอมรับและสงบราบคาบ

ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผบ.ทบ. ก็ออกมาแสดงความเห็นต่างๆ และยังปฏิญาณตนแสดงความจงรักภักดี  อาจารย์มองว่านี่คือการส่งสัญญาณอะไรหรือเปล่า

คือการเลือกตั้งครั้งนี้มันมีลักษณะย้อนยุคหลายอย่าง เป็นการเลือกตั้งที่มีแง่มุมแบบ Retro

หนึ่ง มันมีการเมืองแบบเก่ากลับมา รูปแบบการหาเสียงก่อนปี ’40 ซึ่งค่อยๆ หายไปแล้ว มันกลับมา ก็คือการใช้อิทธิพล ใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้เครือข่ายหัวคะแนนแบบเก่า กำนันผู้ใหญ่บ้าน การดูด ส.ส. การใช้ระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล หรือการใช้อำนาจรัฐเข้ามา โอ้โฮ มาเต็มสูตรในการช่วยพรรคใดพรรคหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบหลักที่ดำรงอยู่ก่อนปี ’40

หลังปฏิรูปการเมืองและมีรัฐธรรมนูญ ’40 แม้รูปแบบเหล่านี้จะดำรงอยู่ แต่ค่อยๆ มีอิทธิพลน้อยลงมาก แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ การเมืองเก่าแบบนี้กลับมา

อีกแบบหนึ่งที่กลับมาก็คือ เพลงหนักแผ่นดินที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ มันทำให้นึกถึงการเลือกตั้งช่วงก่อน 6 ตุลา 2519 ตอนนั้นมีการสร้างสโลแกนขึ้นมาว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ก็เพราะตอนนั้นมีความหวาดกลัวว่าพรรคแนวอุดมการณ์ใหม่ๆ ของนักศึกษา ปัญญาชน นักการเมืองหัวก้าวหน้า ที่ออกมาในแนวสังคมนิยม กำลังได้รับความนิยมและเข้าสู่สภา ก็เลยมีการสร้างแคมเปญ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ คือไม่ใช่การต่อสู้เชิงนโยบายแล้ว แต่ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง แล้วบอกว่าพวกนี้คือพวกที่อันตราย อย่าให้ปล่อยให้คนเหล่านี้เข้าสู่อำนาจได้เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

แล้วการปลุกขวาพิฆาตซ้ายนี่ล่ะ ก็นำมาสู่ความรุนแรง เพลงหนักแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของสงครามอุดมการณ์ เป็นเพลงที่แต่งขึ้นในปี 2518 เป็นเพลงปลุกใจของฝ่ายขวาเพื่อทำลายนักศึกษา ชาวนา กรรมกร บอกว่าพวกนักศึกษา ชาวนา กรรมกร และนักการเมืองฝ่ายซ้ายเป็นพวกหนักแผ่นดิน เป็นพวกทรยศชาติ ไม่สมควรแม้แต่จะอยู่ด้วยซ้ำ ต้องสมควรตาย ฉะนั้นการไปปลุกเพลงนี้กลับมา การหยิบเพลงนี้กลับมา มันส่งสัญญาณว่า สำหรับชนชั้นนำ…อย่างน้อยในระดับนำในกองทัพ มองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสงครามอุดมการณ์

ฟังแล้วก็น่ากลัว

ก็น่ากลัว เพราะถ้ามองแบบนี้ก็หมายความว่าเขามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เดิมพันสูง เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น ที่ฝ่ายกองทัพไม่ยอมให้เกิด smooth transition เพราะถ้ามองแล้วว่าฝ่ายนี้คือฝ่ายหนักแผ่นดิน ก็หมายความว่ากระทั่งไม่สมควรมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องพูดถึงว่าปล่อยให้มีอำนาจรัฐหรือเข้าสู่สภา ถ้ามองแบบนี้มันก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก และกระแสการปลุกความเกลียดชังเช่นนี้ดูเหมือนจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้นำกองทัพ แต่แพร่หลายผ่านสื่อและผู้นำทางความคิดอย่างดารา นักร้อง นักการเมือง และนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม นอกจากนั้น ดูเหมือนจะมีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาเพื่อกลั่นแกล้งและกำจัดฝ่ายตรงข้ามผู้กุมอำนาจรัฐอย่างเข้มข้น

หากสังเกตท่าทีของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ดูมีลักษณะของทหารที่มีความแข็งกร้าว แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ทหารไทยชูภาพลักษณ์ความเป็นมิตร ยิ้มแย้ม และเป็นที่พึ่ง

ถ้าเทียบกับผู้นำเหล่าทัพคนก่อนหน้านั้น ก็จะเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนในแง่สไตล์และท่าทีจริงๆ ก็หมายถึงว่ากองทัพได้พาตัวเองเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้โดยตรง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องจับตาดูก็คือ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กองทัพจะมีบทบาทในการคุม ส.ว. ด้วย วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จะมี 6 ที่นั่งที่มาจากตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ฉะนั้น ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะสวมหมวก 2 ใบในเวลาเดียวกัน คือเป็นข้าราชการประจำคุมกองทัพ ในเวลาเดียวกันก็มีตำแหน่งทางการเมืองด้วย เป็นวุฒิสมาชิกด้วย

ฉะนั้น โดยปริยาย ในทางปฏิบัติ ถ้าเกิดเดดล็อก เกิดความวุ่นวายขึ้นมาแล้วต้องใช้กลไก ส.ว. ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่นำโดย ผบ.ทบ. ก็เหมือนจะเป็นผู้ควบคุมเสียงในวุฒิสภาโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้มันจะน่าสนใจนะครับว่าในช่วงที่เกิดวิกฤต ส.ว. จะเทคะแนนไปทางไหน ซึ่งมีคนบอกว่า ส.ว. จะสามารถโหวตได้อย่างอิสระ ดูโครงสร้างแล้วมันยากที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ ถ้ากลับไปดูข้อถกเถียงตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นนี้มีคนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แล้วผู้ร่างรัฐธรรมนูญและ คสช. ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า แต่งตั้ง ผบ. เหล่าทัพไปอยู่ในวุฒิสภาน่ะดีแล้ว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร โดยตรรกะเขาก็คือ ในเมื่อผู้นำเหล่าทัพได้เข้าไปอยู่ในวุฒิสภา คุมอำนาจรัฐส่วนหนึ่งแล้ว ฉะนั้น ถ้าเกิดวิกฤตแล้ว ก็จะพยายามหาทางออกอย่างอื่นโดยไม่ต้องรัฐประหาร

ตรงนี้มันเลยยิ่งทำให้น่าสนใจว่า ถ้าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นคราวนี้ มันอาจจะไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ที่เป็นการเคลื่อนรถถังออกไปยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสภา ยึดสถานีโทรทัศน์วิทยุ มันอาจไม่ใช่แบบนั้น แต่มันอาจจะเป็นการรัฐประหารเงียบ รัฐประหารซ้อน รัฐประหารผ่านกลไกวุฒิสภา ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน

อาจารย์มองว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยในตอนนี้ มีความหวังมากน้อยแค่ไหน

ผมมีความหวังนะ เพราะว่าคนตื่นตัวทางการเมืองขึ้นเยอะมาก แล้วเดิมที่เราบอกว่าชนบทตื่นตัว ซึ่งก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่คนชนบทที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน คนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ก็ตื่นตัวขึ้น แล้วเป็นการตื่นตัวที่มันไม่ใช่แฟชันด้วย ถ้าเราเห็น มันมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มันมีการศึกษาข้อมูลข่าวสาร และมีความตื่นตัวในการที่จะออกไปใช้สิทธิ์ของตัวเอง รวมถึงพิทักษ์สิทธิของตัวเองด้วย เช่น ได้รับบัตรผิดใบ ผิดเขต โอ้โห โวยวายและพยายามต่อสู้นะครับ รวมถึงมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลคนอื่นด้วย ให้ข้อมูลพ่อแม่ แต่ก่อนเราบอกว่าเด็กตัดสินใจเองไม่เป็นหรอก เลือกตามพ่อแม่ ครั้งนี้มันไม่จริง ก็คือนอกจากเด็กตัดสินใจเองแล้ว ยังพยายามจะไปโน้มน้าวคนอื่นให้ตัดสินใจตามตัวเองด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ รวมถึงมีพรรคการเมืองใหม่ๆ นำเสนอนโยบายใหม่ๆ มันทำให้สนามประชาธิปไตยมันคึกคักมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกใหม่ๆ ประชาชนเองก็ตื่นตัวมากขึ้น พื้นที่โซเชียลมีเดียก็ถูกใช้อย่างมีพลังมากขึ้น

เพียงแต่ว่าด้วยข้อจำกัดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกติกา กลไกอำนาจรัฐตอนนี้ รวมถึงมาตรา 44 ของ คสช. ก็ยังอยู่ ฉะนั้น มันยังไม่ได้เป็นบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยเปิดอย่างเต็มที่ มันยังไม่ใช่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามมาตรฐานสากล แต่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ ประชาชนก็ยังสู้ รู้ด้วยว่ากติกามันไม่แฟร์ แต่ก็สู้

ฉะนั้น ประชาชนไม่มีอะไรจะเสีย ฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเข้าสู่สนามแข่งขันครั้งนี้ด้วยภาวะที่ตัวเองเสียเปรียบทุกอย่าง ถ้าสามารถชนะได้ในเกมนี้ ต้องถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ถ้าแพ้ก็เสมอตัว แล้วพลังตรงนี้จะไม่หายไป เพราะว่าเขาก็แค่รอการเลือกตั้งครั้งถัดไป คนอายุ 18-25 อีก 1-2 ปี ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็ยังอยู่ แล้วเขาก็ยิ่งตื่นตัวมากขึ้น รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แล้วมันจะมีคนรุ่นใหม่ที่มาทดแทนเขาอีกกี่ล้านคนที่จะตามมา ฉะนั้นกระแสความเปลี่ยนแปลง vote for change มันได้เกิดขึ้นแล้ว

ฉะนั้นการเลือกตั้ง 2562 อย่าไปมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดหรือเป็น judgement day ชนะก็คือชนะ ถ้าแพ้ก็คือจะหมดหวัง มันไม่ใช่จุดสิ้นสุด มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง

คือถ้ามองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเกมกีฬาของการแข่งขัน จริงๆ ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐอยู่และต้องการสืบทอดอำนาจรัฐต่อนี่เครียดกว่าเยอะ เดิมพันสูงกว่าเยอะ เพราะคุณออกแบบกติกาเอง ตั้งและคุมกรรมการเอง มีผู้เล่น option เสริมนอกสนามด้วย มี ส.ว.อีก 250 คนตุนในกระเป๋า ถ้าคุณยังไม่สามารถชนะในเกมนี้ได้ แสดงว่าผู้ชมส่วนใหญ่เขาไม่ชอบทีมคุณ เขาปฏิเสธ

คือถ้าครั้งนี้ชนะนิดๆ หน่อยๆ เสียงไม่ชัดเจน แล้วต้องฝืนตั้งรัฐบาลผสม แล้วใช้กลไกทุกอย่างเข้ามาช่วยพยุง แล้วอยู่ในอำนาจได้ไม่นานก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ถ้าพลเอกประยุทธ์ต้องเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะเป็นแค่รัฐบาลรักษาการณ์ ก็จะไม่มี คสช. ไม่มีมาตรา 44 ถ้าเรามองข้ามช็อตไปที่การเลือกตั้งครั้งหน้า มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่พิสดารแบบครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ปกติกว่านี้ และมีโอกาสที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรมกว่านี้ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของกกต. จะถูกจับตาและเฝ้าระวังจากประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์พิสดารต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง การนับคะแนน การคำนวณคะแนน และอภินิหารตัวเลขอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

แล้วเรื่องความขัดแย้งในสังคมที่ร้าวลึกมาเป็นเวลานาน  คนคิดเห็นต่างกันก็ยังเกลียดชังกัน ควรจะมีกลไกอะไรที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง หรือทำให้เกิดความสมานฉันท์ไหม

ไม่มีสังคมไหนที่แตกแยกร้าวลึก แล้วจะสามารถสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพได้ เพราะในสังคมที่มันแบ่งแยกแตกขั้วกันอย่างรุนแรง มันสะสมอารมณ์ความเกลียดชังและความไม่ไว้วางใจเข้ามาด้วย ฉะนั้นมันก็จะยิ่งห่างกันออกไปทุกที ยากที่จะสมาน นานวันเข้า คนก็จะมีจินตนาการถึงสังคมที่ดี ถึงอนาคตที่ดีไปคนละรูปแบบ พูดง่ายๆ ความฝันไปคนละทางเลย ในสังคมแบบนี้ยากที่จะมีประชาธิปไตยที่ราบเรียบ ที่ยั่งยืน เพราะพอจินตนาการแล้วความฝันไปคนละทาง เขาก็มีรัฐบาลในฝันคนละแบบ มีพรรคการเมืองที่ชอบคนละแบบ สมมติพรรคนี้ ฝ่ายหนึ่งบอกยี้มากเลย โอ้โฮ รับไม่ได้ เลือกไปได้อย่างไร แต่ก็มีคนเขาชอบจริงๆ นะ ปฏิเสธไม่ได้ ผมคิดว่าในท้ายที่สุด เราไม่สามารถปล่อยให้ภาวะอย่างนี้ดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วจะคาดหวังว่าประชาธิปไตยมันจะงอกขึ้นมาได้ มันไม่มีทาง ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร ก็ต้องลดความไม่ไว้วางใจ ความเกลียดชัง ไม่ได้หมายความว่าต้องมาคิดเห็นเหมือนกันเป๊ะ เพราะนั่นก็ไม่ใช่ภาวะที่เราพึงปรารถนา ก็ยังคิดเห็นแตกต่าง แต่อย่างน้อยมันต้องมีกติการ่วมกันที่ยอมเข้ามาแข่งขันภายใต้กติกานี้ เลิกเห็นอีกฝั่งเป็นศัตรู แต่เห็นเป็นเพื่อนร่วมสังคมที่เราก็ไม่เห็นด้วย แต่ยินดีที่จะทะเลาะกัน โดยไม่เอาอำนาจพิเศษอะไรมาทำลายคนที่คิดต่างจากเรา

ตรงนี้ถ้ามันเกิดขึ้นได้ มันก็มีโอกาสที่ประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานได้ ฉะนั้นผมว่า โจทย์สำคัญคือต้องขจัดอำนาจนิยมไป เพราะว่าภาวะอำนาจนิยมมันปิดกั้นโอกาสที่คนจะคุยกัน คือผมว่าอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมอยู่ด้วยกันได้ แต่อำนาจนิยมนี่เป็นปัญหา

แล้วเผด็จการอยู่กับอะไรได้บ้าง ถ้าเกิดว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าอยู่กับเผด็จการก็สบายใจดี ก็สงบสุขดี

ผมถึงมองว่าเผด็จการอำนาจนิยมเป็นปัญหา เพราะว่าคุณเอาเปรียบ การที่คุณเชียร์เผด็จการอํานาจนิยม ก็คือคุณอาศัยอำนาจของปากกระบอกปืนมาปิดปากเพื่อนร่วมชาติที่เห็นต่างจากคุณ แสดงว่าคุณไม่มั่นใจในตรรกะหรือความคิดเห็นของคุณที่จะแลกเปลี่ยนและถกเถียงโน้มน้าวให้อีกฝั่งหนึ่งเขามาเห็นคล้อยตามกับคุณ หรือเอาชนะกันด้วยเหตุผล

ในสังคมไหนก็ตาม การมีอนุรักษนิยม-เสรีนิยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ทะเลาะกันไป มันก็แล้วแต่ว่าใครโน้มน้าวให้สังคมเชื่อตาม argument ของตัวเองได้ดีกว่า สังคมก็ไปทางนั้น เช่น เถียงกันเรื่องทำแท้ง เถียงกันเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน เถียงกันเรื่องกัญชา กระทั่งเถียงกันเรื่องหลักสูตรการศึกษาว่าควรจะชาตินิยมไหม หรือควรจะปลูกฝังความคิดแบบอื่น มันก็เถียงกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครเสนอข้อเสนอที่ดีกว่าให้กับสังคม แต่ถ้าอยู่ดีๆ คุณมาบอกว่าฉันต้องชนะนะ และฉันไม่เถียงกับคุณแล้ว ต่อให้ฉันเถียงแพ้ ฉันมีอำนาจปากกระบอกปืน มีเผด็จการอยู่ข้างฉันและปิดปากคุณ สิ่งที่ฉันคิดก็เลยได้ผลักดันเป็นนโยบาย ถ้าอย่างนี้มันก็คือไม่แฟร์ คือถ้าคนแพ้เพราะจนด้วยข้อถกเถียงผมว่าคนยอมรับได้ แต่ถ้าคนแพ้เพียงเพราะว่าเขาถูกปิดปาก ทั้งที่เขาเชื่อว่าเขามีไอเดียมีข้อเสนอที่ดีกว่า มันก็ไม่ยอมรับ สังคมมันก็ไปต่อไม่ได้ มันก็มีแต่ความขัดแย้งอย่างนี้อยู่เรื่อยไป มันไม่ยั่งยืน

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ออกกติกาทุกอย่างและทำทุกวิถีทางจนคนมองกันแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นหวยล็อค แต่คนก็ยังอุตส่าห์มีลุ้นมีหวังกับการเลือกตั้ง ตรงนี้คิดว่าเป็นเพราะอะไร

คือจริงๆ ถ้าเปรียบพลังประชารัฐเป็นทีมฟุตบอล ถ้าสมมติพลังประชารัฐเก่งแบบบาร์เซโลนา ก็จบแล้ว เราไม่ต้องวิเคราะห์แล้ว คือถ้าเก่งขนาดนั้นแล้วออกแบบระบบเลือกตั้งขนาดนี้ แบบที่สมาชิกพรรคเองก็บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา ถ้าคุณเก่งแบบบาร์เซโลนาคุณจะชนะถล่มทลายเลย พรรคอื่นไม่ต้องแข่งด้วยแล้ว เพราะว่าต้องสู้ทั้งอำนาจรัฐ สู้กับกติกาที่ไม่แฟร์ สู้กับกรรมการ ทุกอย่าง

แต่พอทีมมันเป็นแบบไบรท์ตันไง มันเป็นทีมอย่างเวสต์แฮมนิวคาสเซิล คือ คุณมีทีมขนาดกลางอยู่ในมือ แต่คุณอยากจะเอาชนะทีมใหญ่ซึ่งมีแฟนคลับเยอะ จะทำอย่างไร ก็ต้องไปออกแบบระบบที่มันพิสดารมาก ใช้กลไกทุกอย่าง ใช้กรรมการ รวมถึงเตะตัดขาทีมใหญ่ๆ ปรับฟาวล์ อุ้มนักเตะเก่งๆ มาเข้าค่ายไป หรือไม่ก็ประกาศยุบเลิก แบนสโมสรไปเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้าทีมคุณยังเป็นแค่ไบรท์ตัน ลงมาเตะอย่างไรมันก็ยากตรงนี้ แต่ว่าผมก็หวังว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปมันจะกลับไปสู่ภาวะปกติ เพราะทีมไบรท์ตันมีลักษณะเป็นทีมเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ อาจจะไม่ได้ดำรงอยู่ในระยะยาว เหมือนถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ไทย พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พรรคสามัคคีธรรมของพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นพรรคที่ลงเลือกตั้งแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้รู้จักพรรคเหล่านี้อีกเลย

Fact Box

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ

อาจารย์ประจักษ์เรียนปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยานิพนธ์ของเขาเผยแพร่เมื่อปี 2545 เรื่อง  ‘ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516) ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของธรรมศาสตร์ และเป็นใบเบิกทางให้เขาได้รับทุน Harvard-Yenching เพื่อเรียนการเมืองเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัย วิสคอนซิน แมดิสัน จากนั้น เข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย โดยทำวิทยานิพนธ์ซึ่งตีพิมพ์ในชื่อภาษาไทยว่า ‘เจ้าพ่อ กระสุนปืน และหีบเลือกตั้ง’

ล่าสุด อาจารย์ประจักษ์กำลังเขียนงานวิจัยในชุด  ‘พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์’  สนับสนุนการวิจัยโดย สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Tags: , , , , , , ,