“การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่า สำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตย” ทามาดะ โยชิฟูมิ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองไทย เริ่มเปิดประเด็นนี้ในการบรรยายหัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร?” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา

ศ.ทามาดะ เล่าว่า การทุจริตมักถูกเปรียบเป็นโรคมะเร็งที่ต้องกำจัด  ขณะที่กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่างอ้างความร้ายแรงของการทุจริต เรียกร้องการแก้ปัญหาและการปฏิรูปการเมือง โดยดูเหมือนจะปฏิเสธทั้งทักษิณ ชินวัตร และระบอบประชาธิปไตย

แต่เราคงไม่ได้แก้ไขการเป็นมะเร็งด้วยการฆ่าผู้ป่วยทิ้งแน่ๆ ศ.ทามาดะเตือนและว่า “หากเราเข้าใจเรื่องการทุจริตไม่ดีพอ ทั้งการทุจริตและพวกเราจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยง่ายขึ้น”

 

ทุจริต 101 นิยามที่ไม่ชัดเจน

ศ.ทามาดะ เล่าว่า นิยามของการทุจริตนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังตกลงกันไม่ได้ แต่พอจะแบ่งได้เป็น 4 อย่าง คือ หนึ่ง นิยามตามกฎหมายกำหนด สอง ทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ ใช้อำนาจผิดๆ เพื่อหากำไรส่วนตัว สาม ทุจริตนอกอำนาจทางการ เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ ที่ใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ และสี่ ร่างกฎหมายตามใจ   เมื่อขาดคำนิยามที่ชัดเจน จึงเกิดปัญหาได้ง่าย เช่น กรณีทางด่วนขั้นที่ 2 ของไทย เมื่อปี 2536 ที่รัฐบาลไทยมีปัญหากับบริษัทญี่ปุ่น โดยเดิมทำสัญญากันไว้ให้บริษัทญี่ปุ่นสร้างและเก็บค่าผ่านทางคันละ 30 บาท แต่เมื่อสร้างเสร็จ รัฐบาลไทยกลับขอลดเป็น 20 บาท สุดท้ายบริษัทญี่ปุ่นปฏิเสธและขายหุ้นทั้งหมด กรณีนี้มีนักวิชาการอธิบายว่าเป็นการทุจริต

 

‘ทุจริต’ ศัตรูร่วมใหม่หลังยุคสงครามเย็น

สำหรับความเป็นมาของการปราบปรามการทุจริตนั้น ศ.ทามาดะชี้ว่า เรื่องนี้มีมานานแล้ว แต่นักวิชาการเพิ่งหันมาสนใจศึกษามากขึ้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หันมาสนใจการทุจริตมากขึ้น โดยมองว่าเป็นศัตรูของธรรมาภิบาล ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวมากขึ้น นักธุรกิจไม่อยากเสียเปรียบนักธุรกิจประเทศอื่นที่มีการทุจริต การทุจริตจึงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ เริ่มร่างกฎหมายต่อต้านการทุจริต

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ตลอดจนองค์การสหประชาชาติ (UN) ก็มีสนธิสัญญาในประเด็นนี้

ศ.ทามาดะกล่าวว่า ทั่วโลกติดไข้ต่อต้านการทุจริตมากขึ้น เพราะเกิดธุรกิจชนิดใหม่ อย่างธุรกิจต่อต้านการทุจริต นักวิชาการและเอ็นจีโอที่บอกว่าต่อต้านการทุจริตจะได้เงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว

นักวิชาการบางคนอธิบายว่า เมื่อหมดยุคสงครามเย็น ทุกคนต้องการศัตรูร่วมตัวใหม่แทนคอมมิวนิสต์ การทุจริตถูกมองเป็นปัญหาศีลธรรม อาชญากรรมทางเพศ ไปจนถึง ‘มนตร์ดำ’!

การเมืองของการต่อต้านการทุจริต

สำหรับประเทศไทย ศ.ทามาดะชี้ว่า การต่อต้านทุจริตรุนแรงขึ้นหลังการเกิดขึ้นขององค์กรปราบปรามทุจริตอย่างเป็นทางการอย่าง ป.ป.ช. ซึ่งเน้นด้านการเมืองมากกว่าด้านเศรษฐกิจ

“กรณีของประเทศไทย การต่อต้านทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วย เช่น กระบวนการยุติธรรมมีลักษณะเลือกปฏิบัติ การทุจริตเป็นข้ออ้างปฏิเสธประชาธิปไตย หรือการปราบปรามทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ศ.ทามาดะกล่าวและชี้ว่า การปราบปรามการทุจริตของไทยนั้นไม่เท่าเทียมและไม่เสมอกัน

หนึ่งในตัวอย่างที่ ศ.ทามาดะยกเป็นตัวอย่างคือ กรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ที่รัฐบาลไทยซื้อมาจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทัพบกในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. โดยหวังจะนำมาตรวจจับกระสุน สารระเบิด ยาเสพติด แต่ปรากฏว่า มันเป็นเพียงแค่กล่องพลาสติก ในจังหวัดชายแดนใต้ มีทหารเสียชีวิต มีชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกจับเพราะเครื่องดังกล่าว และแม้ว่าอังกฤษจะสั่งห้ามผู้ผลิตส่งออกเจ้าเครื่องนี้ตั้งแต่ปี 2553 และมีการลงโทษผู้ผลิตในปี 2556 แต่ไทยก็ยังใช้อยู่ มีการร้องต่อ ป.ป.ช. หลายกรณี แต่ ป.ป.ช. ก็ยังดำเนินการช้ามาก ต่างกับกรณีจำนำข้าวที่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว

เขาเทียบท่าทีต่อกรณี GT200 กับคดีจำนำข้าวที่ต่างกันมหาศาล โดยชี้ว่า GT200 นั้น หน่วยงานต่างๆ ซื้อมาในราคาต่างกัน ตั้งแต่เครื่องละ 4.2 แสนถึง 1.3 ล้านบาท อันแสดงถึงการทุจริตแน่นอน ขณะที่กรณีจำนำข้าว การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ปลอมนั้น ถ้าเป็นของปลอมจริงๆ ก็ต้องลงโทษ แต่การที่รัฐบาลซื้อข้าวแพง แต่ขายชาวนาถูกนั้น เป็นนโยบายทางสังคม (social policy) เขาไม่คิดว่าผิดกฎหมายหรือเป็นการทุจริต หรือจะเรียกค่าเสียหายกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้

แต่สุดท้าย กรณีนี้ก็ต้องผิด เพื่อเป็นความชอบธรรมกับการรัฐประหาร

 

ทุจริตหรือแค่ไม่ชอบหน้า

ศ.ทามาดะ ชวนคิดว่า กรณี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ใช้นโยบายประชารัฐหาเสียง ถือเป็นการทุจริตหรือไม่ ส่วนตัวเขามองว่าไม่ใช่ แต่บางคนก็อาจจะคิดว่าใช่ ทีนี้ชวนมองกลับกันว่าถ้าเป็นขั้วการเมืองตรงข้ามทำยังจะมองเหมือนเดิมไหม

เขาชี้ว่า เมื่อคำนิยามไม่แน่นอน การตัดสินไม่เท่าเทียมกัน ประชาชนทั่วไปก็ตีความการทุจริตไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น การทุจริตจึงถูกใช้ ‘เล่นการเมือง’ มีการตราหน้าว่า ‘ทุจริต’ เพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา ถามว่ามีการทุจริตก่อน หรือไม่ชอบนักการเมืองก่อน เขามองว่าอาจจะเป็นอย่างหลัง พอไม่ชอบก็เลยบอกว่าทุจริต บวกกับปัจจัยเสริม คือกระบวนการยุติธรรมที่ลำเอียง ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.

ไว้ใจประชาชนคือคำตอบ

ศ.ทามาดะมองว่า ตอนเกิดรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2549 และ 2557 นั้น ประชาชนที่สนับสนุนก็เพราะหวังว่าทหารจะแก้ไขการทุจริต การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็น good governance coup (การรัฐประหารที่มีธรรมาภิบาล) เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดในปากีสถานและบังกลาเทศ ที่ต่างก็ต้องการนักการเมืองมือสะอาด เน้นการมีส่วนร่วม จึงเปิดทางให้ทหารเข้ามา คนที่ไม่เอาด้วยถูกหาว่าเป็นพรรคพวกของคนโกง แต่ถึงจะทำรัฐประหารแล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น กลายเป็นการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น

“เราควรแยกการทุจริตกับประชาธิปไตย” เขาขยายความว่า มันไม่ใช่ว่า เมื่อขจัดทุจริตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือเพราะเป็นประชาธิปไตยจึงมีการทุจริต มันไม่เกี่ยวกัน ปัจจุบัน ไม่มีเลือกตั้งก็ยังมีการทุจริต

“เราควรไว้ใจประชาชนมากขึ้น การเลือกตั้งเป็นวิธีตรวจสอบอำนาจที่ดีอันหนึ่ง ถึงประชาชนจะ  

ตรวจสอบไม่เก่งหรือตรวจผิด แต่ก็ยังตรวจได้”

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ตรวจสอบไม่ได้ หากทหารหรือข้าราชการทุจริตก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนตรวจสอบได้ ไม่ใช่การเอาผิด แต่คือการให้สอบตก ซึ่งเป็นการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับนักการเมือง

พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ (ซ้าย) และ ทามาดะ โยชิฟูมิ (ขวา)

แถม: 3 ข้อสังเกตจากพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการของเวทีชี้ว่า กระแสการต่อต้านคอร์รัปชันนั้นอาจมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชน จากฝ่ายนักธุรกิจที่เสียประโยชน์จากการเข้ามาทำธุรกิจ ขณะเดียวกัน บางกลุ่มได้ประโยชน์จากการใช้การต่อต้านคอร์รัปชันในการกำจัดคู่แข่ง

พิชญ์กล่าวว่า องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อย่าง ป.ป.ช. แทนที่จะมีการทำงานที่คล้ายกระบวนการยุติธรรม เช่นเป็นศาลคอร์รัปชันในตัวเอง แต่ ป.ป.ช. กลับถูกลากเข้ามา หรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะวางตัวเป็นองค์กรระงับยับยั้งความขัดแย้งทางการเมือง หรือชี้ถูกผิด  

“เวลาที่ ป.ป.ช.ตัดสินอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าเวลาที่ ป.ป.ช. ไม่ตัดสิน เพราะการลากยาวของ ป.ป.ช. ทำให้มันมีผลทางการเมืองมากกว่า” พิชญ์กล่าวและว่า หากตัดสิน ก็ไปสู้กัน มีสิ้นสุด แต่กลับกัน หลายๆ คดี เช่น ของ กปปส. ยังไม่จบ ซึ่งยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น

“คำไม่ตัดสินของ ป.ป.ช. ก็มีปัญหาเหมือนกัน นำไปสู่คำถามว่า แล้วใครสามารถกดดันหรือตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้ เราไม่ได้สงสัยในคำตัดสินด้วยซ้ำ แต่สงสัยในคำไม่ตัดสิน”

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัญหาคอร์รัปชัน เมื่อเข้าสู่กระบวนการตัดสิน คดีจำนวนมากถูกทำให้กลายเป็นปัญหาเชิงข้อกฎหมาย มากกว่าปัญหาในเชิงสาระของมันว่าโกงหรือไม่โกง ทั้งที่ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากการที่ระบบการเมืองขาดการตรวจสอบจากประชาชน ขาดการรายงานตัวเองกับประชาชน ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้  

สุดท้าย เขามองว่า มันไม่ใช่เงื่อนไขโดยอัตโนมัติว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตยทำให้มีการคอร์รัปชัน  ปัญหาคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐ ที่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบคอร์รัปชันเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เราก็จะเจอปัญหาเดิม ปัญหาก็คือ  โครงสร้างของรัฐต่างหากที่ทำให้คอร์รัปชันเฟื่องฟู

ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การชี้นิ้วไปที่นักการเมืองโดยตรง แต่ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างของรัฐด้วย

Tags: , ,