เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน/ นักแปล เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์งานครบรอบ 8 ปี Drive the Momentum ที่ SCBX NEXT STAGE ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอนในหัวข้อ A Taste of History – ชวนแกะเรื่องราวเบื้องหลังของ ‘อาหาร’ ว่า แต่ละจานมีประวัติศาสตร์ที่บ่งบอก ‘ราก’ ของชีวิตอย่างไร
“ตอนที่เริ่มต้นศึกษาอาหารอีสาน จะต้องกลับไปย้อนอ่านประวัติศาสตร์เพื่อหาว่า คนสมัยก่อน เช่น คนอีสานใต้กินแบบไหน คนอีสานเหนือกินแบบไหนก็พบว่า ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งเลยคือ มันไม่มีการบันทึก” อนุสรณ์กล่าว
อนุสรณ์อธิบายต่อว่า หากเปรียบเทียบกับคนภาคกลางหรือคนรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีความยุ่งยากในเรื่องการสืบสาวประวัติศาสตร์ หากอยากรู้ว่าเมื่อ 200 ปี คนรัตนโกสินทร์กินอะไร
“สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ประวัติศาสตร์ของอาหารอีสาน มันเป็นก้อนดำมืด เหมือนหลุมดำหลุมหนึ่ง
หากเราต้องการจะเท้าความเป็นรากเหง้า หลังจากพระเจ้าตากสิน (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ตีเวียงจันทน์และสามารถผนวกประเทศลาวเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยได้ หลังจากนั้นศูนย์กลางของอาหารอีสานที่เวียงจันทน์ก็เสื่อมสลายลง
“ผมคิดว่าตําราอาหารหรืออะไรจํานวนมาก จากราชอาณาจักรเวียงจันทน์ก็สูญหายไปพร้อมกับสงครามเป็นเวลาหลาย 10 ปี ไม่นับว่าเกิดวิกฤตการณ์สงครามในเรื่องของสมเด็จเจ้าอนุวงศ์ขึ้นมาอีก ก็เลยทําให้ผมคิดว่า หลายสิ่งหายไปเหมือนกับที่เราจะบอกว่า เราอาจจะหาตําราอาหารสมัยอยุธยาได้ยาก เพราะอยุธยาเคยโดยพม่าตีหรือโดนยึดครอง”
อนุสรณ์ทิ้งท้ายว่า หลังจากการศึกษาหาประวัติศาสตร์และรากเหง้าของอาหารอีสาน สิ่งที่เขาพบเจอและเก่าแก่ที่สุดอาจจะเป็นหนังสือที่ชื่อว่า พญาคำกอง (สอนไพร่) ซึ่งแต่เดิมหนังสือเล่มนี้เป็นใบลาน อยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม หากใครอยากศึกษาประวัติศาสตร์อาหารสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้
Tags: อาหารอีสาน, อนุสรณ์ ติปยานนท์, Drive The Momentum, ประวัติศาสตร์อาหาร, อาหาร, ประวัติศาสตร์, อีสาน