“ความรักนั้นมีรสหวานในเบื้องต้น ขมขื่นในเบื้องกลาง และมีรสจืดสนิทในบั้นปลาย”
ถ้อยคำข้างต้นเป็นประโยคหลังปกหนังสือป่าน้ำผึ้ง ของ ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์ หนึ่งในนวนิยายรักที่เขาหยิบจับรสชาติต่างๆ มาเขียนเป็นหนังสือไม่ว่าจะเป็น รสหวานในป่าน้ำผึ้ง รสเค็มในเกลือศรัทธา และรสอูมามิในอุทยานรส
อนุสรณ์เป็นนักเขียน นักแปล ผู้ฝากหนังสือไว้บนชั้นหนังสือหลากหลายเล่ม ที่ช่วงหลังเราสังเกตว่า เขามีความหลงใหลในอาหารและออกเดินทางตามหาวัตถุดิบ รสชาติ ต่างๆ ทั้งในประเทศ นอกประเทศ และนำสิ่งที่ค้นพบมาบอกเล่าผ่านนวนิยาย
“อาหารทุกมื้อของเราแฝงความทรงจำที่เรามีต่ออาหารมื้อก่อนและก่อนเราฝังฝากความทรงจำเหล่านั้นไว้ในรูป รส กลิ่นของอาหารที่ผ่านมา ช่างเป็นสิ่งที่น่าพิศวงที่อาหารถูกปากของเรา อาจเป็นเพียงอาหารแสนสามัญ ที่เราเลือกจะจดจำมัน” หนังสืออุทยานรส
ในวาระที่ The Momentum กำลังจะฉลองงานวันเกิดครั้งแรก และอนุสรณ์ เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์งาน Drive the Momentum ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เราชวนเขาพูดคุยถึงรสชาติที่ไม่ใช่ ‘อาหาร’ แต่เป็นรสชาติ ‘ชีวิต’ ของอนุสรณ์ว่า นักเขียนนักแปลผู้นี้จะมีรสชาติชีวิต ขม ฝาด เค็ม หวาน หรือเผ็ดร้อนซ่อนเปรี้ยวกันแน่
“ช่วงนี้วุ่นอยู่กับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 2 เล่ม หนึ่งเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของตาลในสุโขทัย ทำร่วมกับ แน็ก-ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและอาหารที่จังหวัดสุโขทัย และน้ำพริกที่ทำร่วมกับไทยพีบีเอส”
อนุสรณ์เล่าชีวิตต่อว่า สิ่งที่ทำให้เขาง่วนช่วงนี้คือ ความเป็นมาของพริกในอยุธยาว่าเป็นมาอย่างไร รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าก่อนจะมีพริกคนไทยกินอะไรเพื่อให้ได้ ‘รสเผ็ด’ อาจเป็นพริกไทยหรือดีปลี และลงลึกไปถึงว่ารสพริกมีกี่แบบ ประเทศไทยใช้พริกอะไรบ้างและในน้ำพริกแต่ละประเภทต้องใช้พริกแบบไหน
“ผมพยายามออกไปค้นเรื่องน้ำพริกเพิ่ม เพราะมีหลายอย่างที่ต้องไปค้น เช่น ผมไปพบว่าพริกมาจากอยุธยา แต่มันจริงไหมที่พริกจากอยุธยาไปทุกที่ เป็นไปได้ไหมว่า พริกกะเหรี่ยงที่แถบหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพริกดั้งเดิมที่มีก่อน หากถามว่ามีมาก่อนจากไหน อาจมาจากการที่นกขี้หรืออะไรอย่างนี้ หรือหากไปดูพริกที่เขมร ก็อาจจะมาจากพวกสเปนที่เข้าไปตั้งกองทัพในสมัย 300-400 ปีก่อน แล้วพวกเขาก็เอาพริกเข้าไปพร้อมกับกองทหารฟิลิปปินส์ และราชสำนักเขมรก็ขยายขึ้น ส่งพริกออกมาตามแนวชายแดนไทย เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งเหล่านี้ก็ใช้ภาษาเขมรร่วมกัน”
ในวันที่เรานัดเจอกัน อนุสรณ์เพิ่งกลับจากกัมพูชา ในทริปที่พาย้อนกลับไปหาเส้นทางของพริกมาได้เพียงไม่กี่วัน เส้นทางของน้ำพริกยังพาเขาไปพบว่า น้ำพริกของคนไทยสมัยก่อนจะใช้การตำอย่างเดียว น้ำพริกยุคแรกๆ คือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะขามสด และน้ำพริกปูนา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตอนที่ไทยไปปฏิสัมพันธ์กับจีนนำกระทะเข้ามา ตอนหลังจึงเกิดเป็นน้ำพริกผัดต่างๆ เช่น น้ำพริกตาแดง และน้ำพริกลงเรือ
จากพารากราฟข้างต้น น่าจะทำให้เห็นแล้วว่า อนุสรณ์มีความหลงใหลในวัตถุดิบ อาหาร และรสชาติขนาดไหน ทั้งการเดินทางออกไปสืบเสาะวัตถุดิบ และนำมาเขียนนวนิยายซีรีส์เกี่ยวกับรสชาติต่างๆ
“ความหลงใหลในเรื่องอาหารของคุณเริ่มตั้งแต่ตอนไหน” เราถาม
“เริ่มตอนที่อายุมากแล้ว พอคุณอายุมาก คุณต้องหลงใหลอะไรสักอย่าง เพราะคุณจะรู้ว่าชีวิตแม่งไม่มีเวลาเหลือพอที่จะหลงใหลอะไรเยอะแยะ”
อนุสรณ์อธิบายต่อว่า เมื่อยังอายุยังไม่มากจะมีเวลาให้หลงใหลอะไรได้หลายอย่าง เช่น ดูซีรีส์ ไปคอนเสิร์ต ติดตามศิลปิน และอีกมากมาย แต่หากมีลูกมีครอบครัวเวลาหลายอย่างก็จะหายไป
“มันมีเรื่องเดียวที่เรารู้สึกว่า มันน่าจะไปกันได้ อะไรที่เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน มันคือเรื่องกิน อย่างไรคนเราก็ต้องกิน ผมเลยเอาเวลาทั้งหมดมาทุ่มเรื่องนี้ดีกว่าจะได้รู้ด้วยว่าควรจะกินอะไรที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เรื่องหนึ่งที่ตามมาเมื่อคุณสนใจอาหารคือ การกินอาหารที่ดี ผมกินอาหาร กินข้าวกินน้ำพริกกับผักจิ้ม สบายละชีวิตขับถ่ายโล่ง นอนหลับสบาย และมันทำให้เราเห็นว่าชีวิตมันดำเนินไปแบบมีคุณค่า
“พออายุเยอะ มันจะเกิดความรู้สึกว่า โลกมันไม่น่าสนใจ ไอ้นี่ก็เคยเห็นมาหมดแล้ว อย่างที่เขาบอกว่าตอนเด็กๆ หรือตอนหนุ่มสาว เราต้องแอบหนีจากบ้านไปดื่มเหล้ากับเพื่อน พอคุณอายุเยอะเนี่ย คุณต้องแอบหนีจากวงเพื่อนกลับบ้าน นึกออกไหม แบบมึงกินๆ ไปก่อนนะ กูเข้าห้องน้ำ และเอาเงินวางไว้แล้วแอบกลับบ้านเลย”
ความรู้สึกเหนื่อยหน่ายหรือรู้สึกไม่อยากเอาตัวเองไปผูกพันกับอะไรบางอย่าง จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเยอะ นี่คือสิ่งที่อนุสรณ์บอก เขากล่าวต่อว่าหากสังเกตคนแก่จำนวนมากจะใช้ชีวิตแบบไปวัด หรือนั่งดูทีวีทั้งวัน แล้วก็อยู่กับสิ่งนี้ไม่เดินทางไปไหน “ความชราอันหนึ่งคือการไม่เคลื่อนที่” เขาว่า
“เมื่อคุณเริ่มแก่แล้วต้องพยายามสู้กับมัน มันต้องมีอะไรที่ทำให้เราอยากไป เช่น ไปเที่ยวเสียมเรียบ 4 วันกัน ผมก็จะตอบว่าโอ๊ยนอนอยู่บ้านดีกว่า แต่หากเปลี่ยนเป็นไปเที่ยวเสียมเรียบ ไปดูเขาทำปลาแดกแถวทะเลสาบผมไป หรือไปอินโดนีเซียไปดูเขาเก็บกานพลูนึกออกไหม พอมีสิ่งนี้มันจะรู้สึกว่า เออกูไม่แก่แล้วยังมีแรงที่จะทำนั่นนี่”
อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ อนุสรณ์เปรียบอาหารเป็นหนึ่ง ‘ศาสนา’ และเป็นศาสนาเก่าแก่ที่ต้องปฏิบัติพิธีกรรมวันละ 2 หรือ 3 รอบต่อวันแล้วแต่คน และยังเป็นศาสนาที่ทำให้มือเคลื่อนไหวตลอดผ่านการ ตำ หั่น ซอย และเฉือน
“ตอนนี้ผมมองว่าเป็นศาสนาที่ซีเรียสขึ้นด้วยซ้ำ คือสมัยก่อนตอนที่ผมพูดว่าอาหารเป็นศาสนาเนี่ย มันให้ความรู้สึกคล้ายๆ ว่าไปวัดฟังเทศน์ แต่เดี๋ยวนี้ผมต้องทำวัตรเช้าเย็น เผลอๆ นั่งสมาธิเสริมอีก นั่งสมาธิคืออะไร คือบางทีเราเจอเมนูที่เขาสอนมา มันก็รู้สึกว่าอยากทำ อย่างแกงเหลืองปลาช่อน ผมได้สูตรแม่บ้านมา หรือก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ยุคแรกอะไรอย่างนี้ ผมก็จะแบบเฮ้ย กูต้องลองทำแล้ว นี่คือการนั่งสมาธิเลยนะ ผมไปตลาด ซื้อมะเขือพวง ซื้ออะไรมาแล้วก็นั่งแกะ อาทิตย์หนึ่งต้องมี 2-3 วันที่ผมทำกับข้าวเอง จากสูตรที่เพิ่งได้มา”
อนุสรณ์อธิบายต่อว่า เมื่อเขามองว่าอาหารเป็นศาสนาหนึ่ง เวลาไปกินข้าวตามร้านอาหารก็เหมือนกับการเดินเข้าวัด หากวัดไหนหลวงพ่อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เช่นน้ำพริกน้ำปลาหากร้านไหนซอยไม่ดี นั่นอาจหมายความว่าหลวงพ่ออาบัติ แต่หากวัดไหนทำอาหารเนี้ยบมาก ก็จะเกิดการเคารพเลื่อมใส
รู้ไหมว่าต้มกับแกงต่างกันอย่างไร คือคำถามที่อนุสรณ์ถาม แม้จะดูเป็นคำถามที่เรียบง่ายแต่เรากลับไม่รู้คำตอบเสียอย่างนั้น
“วันนั้นผมไปเจอนักปราชญ์คนหนึ่งเหมือนหลวงปู่ ก็คุยกันเรื่องตำราอาหาร ท่านก็ถามว่า คุณรู้ไหม คุณถามเรื่องอาหารเนี่ย ต้มกับแกงต่างกันอย่างไร เฮ้ยพอเราเข้าใจแล้วมันก็จะเข้าใจขึ้นเยอะเลย ท่านก็กล่าวว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณไม่ใช้ครกกับสาก เมื่อนั้นคุณต้มเพราะต้มไม่ต้องตำ คุณแค่ซอยตะไคร้หอมลงไป แต่เมื่อไรที่คุณโขลกอะไรนั่นคือแกง คุณกำลังทำเครื่องแกง โหสุดยอดเลย พอมาเจออะไรแบบนี้ผมรู้สึกว่าเจอพระอรหันต์เลย”
หากคุณพอจะรู้ประวัติอนุสรณ์มาบ้าง เขาเรียนจบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม เคยประกอบอาชีพเชฟในร้านอาหารระหว่างเรียน ชีวิตช่วงหนึ่งเคยเป็นอาจารย์ และตอนนี้ก็กลายเป็นอาจารย์ต้น เป็นอนุสรณ์ ติปยานนท์ อย่างที่หลายคนรู้จัก
“ผมไม่เคยคิดว่า ผมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอนที่ผมเริ่มต้นทำอาหาร ผมก็ไปอยู่อีสาน ด้วยความรู้สึกแค่อยากไปใช้ชีวิตมันเป็นภาพแบบหนังไทบ้านที่เขามาทำตอนหลัง วันๆ ผมก็บิดมอเตอร์ไซค์ ไปนั่งดูเขาทำปลาร้า แล้วก็นั่งอ่านหนังสือ คือเราก็มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งที่พอที่จะใช้ชีวิต ตอนนั้นก็เป็นนักเขียนคอลัมน์ให้มติชน อาทิตย์ละตอน มันอยู่ในชนบท เงินแค่นั้นก็พอแล้วใช่ไหมครับ อาทิตย์หนึ่ง 3,000 บาท คุณกินข้าวมื้อหนึ่งยังไม่ถึงเลย 200 บาท ค่าเบียร์ค่าเหล้าอะไรก็เหลือเฟือ
“ผมรู้สึกว่าไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรก็ตาม เมื่อคุณพบทางของตัวเอง คุณพบว่า เฮ้ย แม่งทำแล้วกูใช้ได้ว่ะ คืออยู่ดีๆ ผมนั่งฟังเขาอธิบายเรื่องการทำปลาแดกแล้วผมคิดเป็นเรื่องนู้นเรื่องนี้ ผมก็เกิดความรู้สึกสนใจ เช่น เขาบอกว่าอันนี้ใส่เกลือนะ ใส่ข้าวนะแล้วขยำให้เข้ากันนำใส่ไห สมองผมแยกออกเป็น 4 ส่วนพร้อมกันเลยนะ
“หนึ่งไหแม่งมาจากไหน สองปลามาจากไหน สามเกลือมาจากไหน สี่ข้าวมาจากไหน จริงๆ Flavour มันมาจาก 4 อย่าง เราต้องรู้สิว่า มันมาจากไหน ปีถัดมาผมก็ไปอยู่ยโสธร ไปดูเขาปลูกนาข้าวที่แถบทรายมูลนาข้าวก็ใหญ่โตมโหฬารมาก แล้วก็เห็นคนทำนามันเหนื่อยมากนะ จนเช้าถึงเย็นแต่รายได้กลับไม่ดี แต่ข้าวดีมาก ต่อมาผมก็ไปตามเรื่องเกลือ
“เมื่อเรามองอย่างนี้ปุ๊บ มันก็จะไปของมันเรื่อยๆ คือเหมือนคุณถูกจิ๊กซอว์บางอย่างดึงไปเรื่อยๆ สมมุติว่าคุณเขียนหนังสืออยู่แล้วคุณก็พบว่า คุณชอบเขียนนิยายรักระหว่างที่คุณเขียนนิยายรัก คุณไปเจอมูราคามิ ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มึงรักแบบนี้ก็ได้เหรอวะ คุณก็เขียนนิยายรักแบบพิสดาร เสร็จแล้วคุณก็ไปเจอนวนิยายรักแบบที่น่ากลัว เออแม่งเขียนนิยายรักแบบสยองขวัญก็ได้ว่ะ เราก็ไปเรื่อยๆ นึกออกไหม”
สิ่งสำคัญที่ตามมาจากความหลงใหลชื่นชอบในอาหาร ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คือหัวใจอย่าง Food Activism ที่เขาต้องการรณรงค์ให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในวัฏจักรอาหารมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่เหมาะสม ไม่ใช่จนอย่างไรก็จนอย่างนั้น
“เมื่อเรารู้ประวัติศาสตร์ เราก็จะรักอาหารที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็จะรักคนทำอาหาร แล้วก็รักคนปลูกวัตถุดิบ และก็จะรู้สึกว่า คุณอยากให้คนทำซัพพลาย (Supply) เรื่องอาหารมีรายได้ที่ดีขึ้น นี่คือหัวใจของการทำงานหรือที่เรียกว่า เป็นคนรณรงค์เรื่องอาหารหรือ Food Activism ทำอย่างไรจะให้คนปลูกตาลมีรายได้ที่ดีขึ้น ทำอย่างไรให้คนทำนาเกลือมีรายได้ที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เกลือกระสอบละ 2-3 บาท คนทำงานก็จนทั้งปีทั้งชาติ เก็บตาลลงมาขึ้นตาลลงตาลทุกวันก็จน หรือคนปลูกข้าวก็จน คนเลี้ยงหมูจน คนเลี้ยงไก่จน รวยอยู่คนเดียว พวกเจ้าสัวเหรอ มันก็ไม่ถูก
“อันนี้ยังพูดถึงที่เขาทำวิบัติ เรื่องปลาหมออะไรพวกนี้ แต่หมายถึงว่า โดย Sense จริงๆ การที่เขากินส่วนเกินนี้ก็แย่อยู่พอสมควร ต้องทำอย่างไร เราถึงจะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ชาวประมงที่ทำเคยทำกะปิ ทำน้ำปลาให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่มันสะท้อนอยู่ในใจเราเลยนะ
“เมื่อไรก็ตามที่ผมมีโอกาสพูดเรื่องอาหาร ผมก็จะพูดว่าคุณต้องคำนึงถึงส่วนอื่นด้วย เชฟก็สำคัญเพราะเป็นคนปรุง เชฟก็เหมือนเจ้าอาวาส แต่คนที่คอยส่งส่วยให้เจ้าอาวาสให้วัดทั้งหลายคือพวกโยมอุปถัมภ์และตักบาตร ถ้าไม่มีคนตักบาตร เจ้าอาวาสจะอยู่อย่างไร และคนพวกนี้คือคนทำวัตถุดิบ”
ทั้งรสหวาน เค็ม และอูมามิ ดังนั้นหนังสือเล่มถัดไปของอนุสรณ์จะว่าด้วยรสขม และอีกเล่มคือเปลี่ยนป่าก์ ที่ว่าด้วยเชื้อประวัติของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในช่วงเวลาที่กำลังคิดจะเขียนหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์
ทั้งรสชาติอาหารที่หลากหลาย และนวนิยายที่หยิบจับอาหารมาเป็นเรื่องเล่า
“แล้วรสชาติชีวิตของอนุสรณ์ ติปยานนท์ เป็นรสชาติแบบไหนกัน” เราถาม
“รสชาติมันมี 5 รส แต่จริงๆ มันยังมี Flavour อื่น คือแต่ละรสชาติยังมีรสชาติในตัวเอง แต่ตอนนี้ชีวิตผมต้องบอกว่า เผ็ดมากเลย”
“เพราะทำเรื่องน้ำพริก หรือมันเผ็ดร้อน?”
“มันเต็มไปด้วยเรื่องที่มีสีสัน เหมือนพริก มีสีสันมีเรื่องที่แบบผมเลือกตื่นเต้นกับมันตลอด แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบรสขม แต่ชีวิตผมไม่ค่อยได้ขมขื่น แล้วผมก็ไม่ใช่คนเปรี้ยว ผมไม่ใช่คนแต่งตัว ไม่ได้จี๊ดจ๊าด และไม่ใช่คนหวาน
“เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วผมออกไปทางรสชาติซึ่งเป็นของย่อย เช่น รสเผ็ด รสฝาดอย่างนี้ และรสชาติชีวิตตอนนี้เป็นรสเผ็ด เผ็ดมากเลย คือมีอะไรที่ต้องทำเยอะมาก” อนุสรณ์ทิ้งท้าย
Tags: Drive The Momentum, ป่าน้ำผึ้ง, เกลือศรัทธา, อุทยานรส, เปลี่ยนป่าก์, อนุสรณ์ ติปยานนท์