คุณอยากสร้างอาคารอะไร หากไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณ หลักฟิสิกส์ หรืออื่นๆ

  5 วินาที หรือ 10 วินาทีเป็นอย่างน้อยที่คุณนั่งคิดหาคำตอบจากคำถามนี้ คำถามที่ทำให้ผู้อ่านฉงนงันในขั้นแรก และตกตะกอนในความคิดเป็นขั้นต่อมา ความเป็นไปได้มากมายผุดขึ้นในหัวของคุณ อาคารหลายร้อยรูปทรงเด่นหราในจินตนาการ
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายคำถามที่ปรากฏผ่าน ‘จินตนาคาร’ หนังสือรวมเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องของ คลาร่า ชาว (Clara Chow) นักเขียนชาวสิงคโปร์ที่หยิบยกบทสัมภาษณ์สถาปนิก 9 คนมาปะติดปะต่อกับจินตนาการของเธอ จนกลายเป็นเรื่องราวสะท้อนแนวคิดการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว สมกับชื่อเรื่องที่มาจากการสนธิกันระหว่างคำว่า ‘จินตน’ ที่แปลว่า คิด และคำว่า ‘อาคาร’ อันหมายถึงสิ่งก่อสร้าง รวมกันเป็น ‘จินตนาคาร’ ในความหมายของ ‘อาคารในความนึกคิด’ 
เนื้อหาภายในเล่มสอดประสานกับชื่อเรื่องเป็นอย่างดี เพราะแต่ละบทเริ่มขึ้นด้วยคำถามที่ คลาร่า ชาว ใช้สัมภาษณ์สถาปนิกถึงอาคารที่เขาคิดอยากสร้าง รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นของอาคารดังกล่าวกับชาวสิงคโปร์ ในส่วนของบทสัมภาษณ์นี้ ผู้อ่านจะได้ผจญภัยไปในอาคารแปลกประหลาดที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น อาคารจอดรถที่เชื่อมผสานกับสวนสาธารณะได้อย่างสวยงามไม่ขัดตา บ้านต้นไม้สำหรับชุมชนเด็กและคนชรา อาคารบ้านเรือนที่สร้างจากตัวตนและอุปนิสัยของผู้ใช้  หรือห้างสรรพสินค้าที่มีวันหมดอายุ
ทั้งหมดนี้คือจินตนาคารหรือจินตนาการเกี่ยวกับอาคารที่เหล่าสถาปนิกถ่ายทอดให้เราฟัง ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ฟังแนวคิดของพวกเขาที่มีต่อพื้นที่ต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลายประเทศที่พื้นที่ส่วนมากถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นเมือง อัดแน่นด้วยตึกรามและคอนกรีต ยังมีผู้คนอีกมากมายโหยหาความเป็นธรรมชาติและต้องการให้ธรรมชาติอยู่คู่กับเมืองอย่างราบรื่น โดยไม่เพียงแค่การนำต้นไม้หรือจัดให้มีพื้นที่ของน้ำอยู่ที่หน้าอาคารอย่างตื้นเขินเท่านั้น

  ดร.เนอร์มาล คิชนานี ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สถาบันการออกแบบและสิ่งแวดล้อม ก็เช่นกัน เขากล่าวกับคลาร่า ชาว ว่า

  ผมเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับธรรมชาตินั้นเป็นไปได้ ทำไมเราจะมีทั้งคู่ไปพร้อมกันไม่ได้ล่ะ ต้นไม้และน้ำไม่ใช่เพียงสิ่งที่คุณแค่นำไปวางไว้หน้าอาคารหรือริมถนนเท่านั้น แต่มันควรจะพัดพาเอาลมหายใจของชีวิตแทรกซอนเข้าไปในสถาปัตยกรรมและความเป็นเมืองด้วย” (หน้า 64)

หลังจากสัมภาษณ์สถาปนิกแต่ละคน คลาร่า ชาวได้เก็บเกี่ยวบางส่วนต่อยอดเป็น 9 เรื่องสั้น โดยใช้อาคารจากคำบอกเล่าของเหล่าสถาปนิกมาเป็น ‘ฉากหลัง’ ของเรื่อง เช่นความต้องการของ ดร.เนอร์มาล คิชนานี ที่อยากให้ความเป็นเมืองและความเป็นธรรมชาติสอดประสานกัน กลายมาเป็นเรื่องสั้นชื่อว่า ‘มนุษย์ถ้ำ’ (Cave Man) เรื่องราวของผู้คนที่อาศัยในถ้ำ ณ เมืองใต้ดินและดูเหมือนจะใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างสุดขั้ว แต่เขากลับต้องการย้ายมาอยู่บนพื้นดินที่มีหาดทรายและทะเลรออยู่

หรือแม้แต่ มาร์ก วี สถาปนิกอีกคนหนึ่งที่อยากออกแบบอาคารให้ตรงตามความต้องการหรืออุปนิสัยของผู้คน ก็กลายเป็นฉากหลังสำคัญของเรื่อง ‘บ้านในฝัน’ ที่เฉียบคมและแยบคายจนต้องชะงักงันหลังอ่านจบ เพราะเรื่องสั้นนี้ได้นำแนวคิดการสร้างอาคารดังกล่าวมาใช้จริง ผ่านตัวละครที่ต้องกรอกแบบสอบถามความสนใจของตัวเองและคู่ครองเพื่อให้สถาปนิกออกแบบห้องในฝันตามตัวตนของทั้งสองฝ่าย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นอย่างที่คิด 

คลาร่า ชาว ถักทอบทสัมภาษณ์ของสถาปนิกแต่ละคนที่เล่าถึงอาคารในจินตนาการของพวกเขา ร้อยเรียงกับจินตนาการของเธออีกขั้นหนึ่งจนกลายเป็นเรื่องสั้นหรือ ‘จินตนาคาร’ ในความหมายที่ว่าเธอนำ ‘จินตนาการ’ ของเธอผูกเข้ากับอาคารของพวกเขา

ความน่าตื่นใจของหนังสือเล่มนี้คือการที่นักเขียนเป็นเสมือนสถาปนิกผู้สรรค์สร้างอาคารแห่งเรื่องสั้นจนทำให้เราหลงลืมข้อจำกัดในชีวิต ชี้ชวนให้หวนคิดว่าหากทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณ หรือกฏทางวิทยาศาสตร์ได้ สิ่งก่อสร้างใดที่คุณอยากให้เกิดขึ้น

แม้เธอไม่ใช่สถาปนิกผู้จัดวางโครงสร้างหรือร่างแปลนบ้านอย่างแท้จริง แต่เธอเป็น ‘สถาปนึก’ ที่รังสรรค์ความนึกคิดได้กว้างไกลผ่านการกระโดดขึ้นไปอย่างอาจหาญสู่หอคอยอาคารของสถาปนิกตัวจริง และเชื่อมร้อยอาคารสถานที่เข้ากับความเป็นมนุษย์อย่างเหมาะเจาะ ทั้งที่ใครหลายคนอาจแบ่งแยก ‘สถานที่’ และ ‘ผู้คน’ ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ทว่า คลาร่า ชาวกลับเสกให้อาคารเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง

ขณะที่ดำดิ่งอยู่กับเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง เราไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดดเด่นออกมา หากแต่พบว่าสถานที่หรืออาคารที่ผู้เขียนใช้เป็นฉากหลังได้ผสานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตัวละครอย่างกลมกลืน

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังทำให้เห็นว่า ‘นักเขียน’ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ ‘สถาปนิก’ เพราะทั้งนักเขียนและสถาปนิกต่างมี ‘ถ้อยคำหรือภาษา’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน เหมือนกัน เหมือนที่ เยน เยน วู สถาปนิกชำนาญการได้กล่าวไว้ว่า

หากไม่มีถ้อยคำ สถาปนิกคงไม่สามารถอธิบายคำว่าโบสถ์ที่งดงามเหนือจริงหรืออธิบายว่าเบาะนั่งนั้นมีผิวสาก’ ”  (หน้า 18)

ใครจะทันคิดว่าสถาปนิกที่เราต่างมีภาพจำว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับพื้นที่ งบประมาณ และหลักฟิสิกส์เหนือสิ่งอื่นใด จะยอมศิโรราบให้กับถ้อยคำหรือภาษา เพื่อสื่อสารแสดงออกถึงความต้องการด้านพื้นที่ อาคารและสิ่งก่อสร้าง ไม่ต่างกับที่นักเขียนใช้ถ้อยคำหรือภาษาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดให้เห็นภาพในจินตนาการ

คราวนี้ก็อาจถึงคราวที่สถาปนิกจะตั้งคำถามกลับไปที่ คลาร่า ชาว หรือนักอ่านอย่างเราๆ ว่า

คุณอยากจะสร้างเรื่องราวอะไร ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของถ้อยคำและภาษา

Fact Box

  • หนังสือ : จินตนาคาร ผู้เขียน : คลาร่า ชาว (Clara Chow) ผู้แปล : ณัฐกานต์ อมาตยกุล สำนักพิมพ์ : ไจไจบุ๊คส์ ( ChaiChai Books )
Tags: