เมื่อ 40 ปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหามีบุตรธิดาเกินความสามารถที่จะเลี้ยงดูไหว นำไปสู่การรณรงค์ให้คุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวอย่างเข้มข้น อัตราประชากรเกิดใหม่จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ ท่ามกลางความปีติยินดีของเหล่านักวิชาการ ถึงขั้นยกแคมเปญการคุมกำเนิดในประเทศไทยให้กลายเป็นกรณีศึกษาของทั่วโลก

กลับมามองในปัจจุบัน หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย สหภาพยุโรป แม้แต่สหรัฐอเมริกา กลับเผชิญปัญหา ‘ขาดแคลนคนรุ่นใหม่’ ทั้งจากเทรนด์การแต่งงานที่ช้าลง และค่านิยมที่ไม่ค่อยอยากมีลูกกันสักเท่าไหร่เพราะ ‘ไม่มีเวลา’ ท่ามกลางความท้าทายเรื่องการงานและค่าครองชีพ ผู้เขียนมักได้ยินเพื่อนในวัยปลาย 20 ที่น้อยคนจะวางแผนแต่งงาน และน้อยยิ่งกว่านั้นคือวางแผนที่จะมีลูก

เทรนด์ดังกล่าวทำให้ประเด็น ‘จุดสูงสุดของจำนวนเด็กเกิดใหม่ (Peak Child)’ กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมากในช่วง 10 ปีให้หลัง เพราะกราฟปริมาณประชากรที่เคยเพิ่มสูงเกือบ 90 องศาตอนนี้เริ่มราบๆ เรียบๆ ส่วนภูมิภาคที่จำนวนประชากรเติบโตอย่างต่อเนื่องก็เหลือเพียงแอฟริกาเท่านั้น

ความน่าเศร้านิดๆ ของแบบจำลองพยากรณ์จำนวนประชากรคือ ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าจำนวนประชากรจะเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของผู้หญิง หากผู้หญิงมีการศึกษาที่ดีขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจะมีแนวโน้มลดต่ำลง

จำนวนประชากรทั่วโลกแยกตามภูมิภาค โดยมีการพยากรณ์ถึงปี ค.ศ. 2100 โดยองค์การสหประชาชาติ ภาพจาก Our World in Data

โชคดีที่อัตราการเกิดของประชากรในปัจจุบันยังไม่ต่ำจนถึงขั้นวิกฤตที่มีพวกคลั่งอำนาจจับปืนปฏิวัติและสร้างระบบ “การผลิตลูกรวมศูนย์ภายใต้การจัดการของรัฐ” และพยายามกดทับไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงโลกของการศึกษา เช่นในโลกดิสโทเปียของนวนิยาย เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (The Handmaid’s Tale)

ว่าแต่ หากประชากรน้อยลงแล้วเราจะต้องกังวลอะไร?

หากคุณทำงานในภาครัฐบาล ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่น้อยลงย่อมทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง อาจนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานรัฐในแผนกต่างๆ รวมถึงปัญหาระยะยาวในแง่สวัสดิการของผู้สูงอายุ เพราะสัดส่วนคนในวัยทำงานจะน้อยลงหากเปรียบเทียบกับปริมาณคนในวัยเกษียณที่เพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณขาดดุลและรัฐต้องระดมเงินทุนจากสาธารณะหรือต่างประเทศเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะในระยะยาว

หากคุณทำงานในภาคเอกชน ยิ่งน่ากังวลใหญ่ เพราะคนในวัยทำงานที่น้อยลง ย่อมหมายถึงการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจซึมๆ เซาๆ เพราะอุปสงค์ขาดแคลน ในขณะที่อุปทานอาจจะมีเท่าเดิม เมื่อขายของไม่ได้ สุดท้ายเจ้าของกิจการอาจต้องพิจารณาลดพนักงาน ซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะเหล่าคนที่ไร้งานทำ ย่อมต้องจำกัดจำเขี่ยการใช้จ่าย กลายเป็นว่าอุปสงค์ก็จะยิ่งลดลง วนเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด

จำนวนประชากรจึงเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพราะคนในวัยทำงานหนึ่งคน นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้จากสินค้าหรือบริการที่ตัวเองผลิตแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนด้วยจากจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจ หากรัฐบาลในหลายประเทศจะยกให้ ‘การทำลูก’ เป็นพันธกิจระดับชาติ บางประเทศถึงขนาดยกว่าเป็นการแสดงความรักชาติด้วยซ้ำ

ส่วนแต่ละประเทศจะมีเทคนิควิธีอย่างไร ติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

Do it for Denmark – ทำเพื่อเดนมาร์ก

(อัตราการเกิด 10.5 คนต่อประชากร 1,000 คนต่อปี)

 

แคมเปญรณรงค์ให้คนมีลูก Do it for Denmark เป็นไอเดียโฆษณาของบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว Spies Rejser ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์กแต่อย่างใด แต่กลับได้รับความสนใจและกล่าวถึงไปทั่วโลก เพราะความบ้าและความขำของวิดีโอ 3 ชิ้น ความยาวชิ้นละ 2 นาทีเศษๆ

โฆษณาทั้ง 3 ชิ้นเริ่มจากฉากเปิดที่คล้ายคลึงกัน คือฉายภาพอนาคตอันน่าหดหู่และสถานการณ์ปัจจุบันของจำนวนประชากรเกิดใหม่ในเดนมาร์กที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วจึงเข้าสู่ช่วงโฆษณาที่ชวนคู่รักมา ‘ทำเพื่อเดนมาร์ก’ พร้อมกับแพคเกจทัวร์ที่มีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่คู่รักวัยหนุ่มสาว และสถิติที่ว่าการไปเที่ยวในเมืองโรแมนติกจะช่วยเพิ่มปริมาณการมีเซ็กซ์ และแน่นอนว่าเพิ่มโอกาสมีลูก

อีกกลุ่มเป้าหมายคือปู่ย่าตายายที่ต้องการมีหลาน โดยเสนอขายเป็นแพคเกจส่งลูกๆ ไปทำลูกหรือหาคนรักที่ต่างบ้านต่างเมือง และสุดท้ายคือคู่รักที่มีลูกแล้วซึ่งมักมีเซ็กซ์น้อยลง บริษัทก็เสนอแพคเกจเที่ยวสองต่อสอง พร้อมกับขายฮอลิเดย์สำหรับเจ้าตัวน้อยเพื่อส่งไปให้ไกลหูไกลตา เปิดโอกาสให้พ่อแม่มีเวลาผลิตสมาชิกในครอบครัวเพิ่ม

แคมเปญโฆษณาโดยบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว Spies Rejser สามารถเข้าชมโฆษณาทั้ง 3 ชิ้นได้ที่นี่

แพคเกจทัวร์สร้างสรรค์เรียกว่าหากินจากทั้งตระกูล พร้อมกับข้อเสนอสุดพิเศษ เช่น หากพิสูจน์ได้ว่าตั้งครรภ์ในช่วงที่ไปเที่ยวกับบริษัททัวร์ รับทันทีผลิตภัณฑ์สำหรับทารก 3 ปี และแพคเกจทัวร์สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับเจ้าตัวเล็ก รวมถึงโปรแกรมสมาชิกที่ยิ่งมีลูกจากการไปทัวร์ของบริษัทมากเท่าไร ก็ได้ส่วนลดเพิ่มในอนาคตมากเท่านั้น

แคมเปญขำๆ นี้มีผลอยู่พอสมควร เพราะเทรนด์อัตราการเกิดของประชากรในช่วง 3 ปีหลังของเดนมาร์กก็กระดิกขึ้นมานิดหน่อยพอให้ใจชื้น

ประชากรไม่พอ? ก็ใช้เงินฟาดสิ – เทคนิคลดภาษีในรัฐเมน (Maine) สหรัฐอเมริกา

(อัตราการเกิด 12.5 คนต่อประชากร 1,000 คนต่อปี)

 

ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าอัตราการเกิดของประชากรอาจจะไม่ได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินหากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ปัญหาที่อเมริกันชนพบเจอ คือรัฐบางรัฐมีแต่คนสูงอายุอยู่อาศัย ทำให้มีประชากรแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ และหนึ่งในนั้นคือรัฐเมน รัฐชายทะเลที่นักท่องเที่ยวหลงรัก แต่กลับไม่มีใครลงหลักปักฐานสักเท่าไหร่

รัฐเมนขึ้นชื่อว่าเป็น ‘รัฐที่แก่ที่สุด’ ในสหรัฐอเมริกา เพราะมีค่ามัธยฐานอายุของประชากรเท่ากับ 44 ปี รัฐเมนจึงต้องออกกฎหมายเพื่อเอื้อให้คนรุ่นใหม่มาลงหลักปักฐาน คือการให้เครดิตภาษีหนี้สินค่าเล่าเรียนให้กับคนวัยทำงาน ในโครงการเครดิตภาษีเพื่อโอกาสทางการศึกษา (Educational Opportunity Tax Credit) เรียกได้ว่าตอบโจทย์นักศึกษาจบใหม่ที่มักมีหนี้ค่าเล่าเรียนติดตัวมาพร้อมปริญญาบัตรเฉลี่ยคนละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือร่วมหนึ่งล้านบาท

โครงการดังกล่าวค่อนข้างตรงไปตรงมา คือหากคนรุ่นใหม่ที่ร่วมโครงการต้องจ่ายภาษีในรัฐเมน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายคืนหนี้การศึกษา 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ รัฐก็จะให้หัก 1,800 ดอลลาร์นั้นออกไป เหลือที่ต้องจ่ายภาษีแค่ 200 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณจบในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ หากต้องจ่ายภาษีไม่ถึงยอดหนี้ที่ต้องชำระ เช่น ต้องจ่ายภาษี 2,000 ดอลลาร์ แต่ต้องจ่ายหนี้ค่าเล่าเรียน 2,500 ดอลลาร์ รัฐเมนจะออกส่วนต่าง 500 ดอลลาร์ให้ด้วย ขอแค่ยังทำงานอยู่ในรัฐเมนก็เพียงพอ

คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดึงประชากรคนรุ่นใหม่อย่างน้อย 40,000 คนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกจากจะเพิ่มคนรุ่นใหม่วัยแรงงานในรัฐเมนแล้ว ยังอาจมีโอกาสที่จะเพิ่มเจ้าตัวน้อยมาทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรลดลงมาสักหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐเมนจะยังคงเดินต่อไปได้ไม่ขาดช่วง

ชวนทำลูกในคืนวันชาติด้วยเสียงเพลง – National Night สิงคโปร์

(อัตราการเกิด 8.6 ต่อประชากร 1,000 คนต่อปี)

 

ผู้เขียนแปลกใจเล็กน้อยที่พบว่าอีกหนึ่งประเทศที่พยายามแก้ปัญหาระดับชาติด้วยเสียงเพลงนั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทย สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือปัญหาดังกล่าวถูกบอกเล่าทำนองเพลงแร็ปเร้าใจ และเนื้อร้องที่โจ่งแจ้งว่าชวนคนหนุ่มสาวมาทำลูกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตประชากร

“ผมเป็นสามีที่รักชาติ และคุณก็เป็นภรรยาที่รักชาติ ให้ผมบุกไปในแคมป์ของคุณเถอะ เพื่อให้กำเนิดชีวิตใหม่ (I’m a patriotic husband, you my patriotic wife, lemme book into ya camp and manufacture a life.)”

เพลงที่ผมพูดถึงคือเพลง ‘National Night’ หรือ ‘วันชาติ’ ที่ต้องการให้ชาวสิงคโปร์ตระหนักถึงอัตราการเกิดที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และเชิญชวนให้คนหนุ่มสาวที่มีสถานะการเงินมั่นคงมา ‘ปล่อยความรักชาติให้ระเบิด’ เพลงดังกล่าวเป็นแคมเปญโฆษณาของ Mentos ซึ่งหยิบปัญหามาผสานกับความเป็นสิงคโปร์ในทำนองสนุกๆ และหยิบเรื่องเล่าที่ชาวสิงคโปร์คุ้นชินกันดีมาโยงกับเรื่องเซ็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นบัตร EZ Pass ดอกไม้ไฟวันชาติ หรือไนท์ซาฟารี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับ เพราะหลังจากมีการปล่อยเพลงดังกล่าวสู่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2555 อัตราการเกิดของชาวสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลเองได้ปรับโครงการโบนัสเจ้าตัวน้อย (Baby Bonus) เมื่อ พ.ศ. 2558 จากที่การมีลูกคนแรกและคนที่สองจะได้เงินสดไปฟรีๆ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ก็เพิ่มเป็น 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 180,000 บาท และอีกสารพัดประโยชน์จากการมีลูกที่รัฐบาลสิงคโปร์อุ้มชูแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตารางแสดงเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ในโครงการโบนัสเจ้าตัวน้อย (Baby Bonus) ข้อมูลจาก Baby Bonus Scheme

สำหรับวันวาเลนไทน์ปีนี้ ถ้าคู่สามีภรรยาไหนพร้อม ก็อย่าลืม ‘ทำเพื่อชาติ’ ของท่านตามถนัดนะครับ ส่วนคู่ไหนที่ยังไม่พร้อม ก็อย่าลืมป้องกันไม่ว่าจะชายหรือหญิง เพราะการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม นอกจากจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น มีงานทำที่ดีขึ้น ยังช่วยเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับ

แหม ลืมอีกประเทศหนึ่งไปสนิทเลยนะครับ

แจกวิตามิน – ไทย

(อัตราการเกิด 11 ต่อประชากร 1,000 คนต่อปี)

นอกจากแจกวิตามินแล้ว รัฐบาลไทยยังมีมาตรการอุดหนุนค่าเลี้ยงดูเดือนละ 600 บาทเป็นเวลา 3 ปี และพ่อหรือแม่สามารถยกเว้นภาษีได้เพิ่มเป็น 60,000 บาทจาก 30,000 บาทสำหรับลูกคนที่สองขึ้นไป อีกทั้งสามารถนำค่าฝากครรภ์และทำคลอดมาเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกด้วยนะครับ

หมายเหตุ: อัตราการเกิดต่อประชากร 1,000 คน เป็นสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2560 จาก CIA World Factbook

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: