ดกลูกดก ลูกดกจะทำยังไง? ลูกดกจะทำยังไง? น้องดิวเขาจะบอกให้ น้องดิวเขาจะบอกให้ . . .

ใส่ถุงยางไงลูกจะได้ไม่ดก!

ใครที่เพิ่งผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมาไม่นาน อาจจะยังคุ้นหูกับเพลงรับน้องสมัยปีหนึ่งที่ค่อนข้างสร้างสรรค์เหมาะสมกับเวลา เพราะนักศึกษาวัยรุ่นหลายชีวิตกำลังก้าวออกจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตตามลำพังและอาจไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องคุมกำเนิด เพลงสันทนาการนี้นอกจากจะเป็นบทเรียนแบบมีส่วนร่วมที่เหล่านักศึกษาหน้าใหม่มาช่วยกันออกความเห็นว่าจะคุมกำเนิดอย่างไร ยังให้ความรู้สึกว่าการคุมกำเนิดและเซ็กซ์เป็นเรื่องใกล้ตัวและแสนจะธรรมดา

แต่การคุมกำเนิดที่ว่า ไม่ได้เป็นแค่ประเด็นส่วนบุคคลเท่านั้น ในระดับมหภาค การคุมกำเนิดหรือการวางแผนครอบครัวอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ใช้ความรู้ความสามารถในช่วงวัยรุ่นให้เต็มที่ ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในระยะแรก เพื่อสั่งสมความมั่นคงให้พร้อมก่อนจะเป็นแม่

ปี 1960 คือจุดเปลี่ยนของนวัตกรรมการคุมกำเนิด หลังจากที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาประทับตรายางให้ห้างร้านสามารถจำหน่ายยาคุมกำเนิดได้ คู่รักชาวอเมริกันก็สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดที่สะดวกและน่าเชื่อถือ รวมทั้งวางแผนครอบครัวเพื่อหาเวลาที่ ‘พร้อม’ สำหรับมีสมาชิกตัวน้อย

ยาเม็ดคุมกำเนิดนี้เองที่เปลี่ยนชีวิตของหญิงสาวอเมริกันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบก่อนและหลังที่ยาคุมกำเนิดจะได้รับอนุญาต พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในแง่การศึกษา การทำงาน รวมถึงความมั่นคงของครอบครัว

การคุมกำเนิด ทำให้ผู้หญิงเรียนจบสูงขึ้น

คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) และ ลอเรนซ์ แคตซ์ (Lawrence Katz) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติมองว่า ยาคุมกำเนิดคือปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงเรียนจบสูงขึ้น งานวิจัยของทั้งสองคนระบุการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของนักศึกษาหญิงในคณะแพทยศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว ในขณะที่สัดส่วนนักศึกษาหญิงในคณะนิติศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 13 ถึง 14 เท่าตัว ส่วนคณะทันตแพทยศาสตร์จากเดิมมีนักศึกษาหญิงหนึ่งคนต่อนักศึกษาชาย 100 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็นนักศึกษาหญิง 25 คน ต่อนักศึกษาชาย 100 คน

ยาเม็ดคุมกำเนิดเปลี่ยนชีวิตของหญิงสาวอเมริกันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทั้งในแง่การศึกษา การทำงาน รวมถึงความมั่นคงของครอบครัว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาจะรับรองยาคุมกำเนิด แต่กฎหมายในบางรัฐก็ยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายยาคุมกำเนิดแก่เด็กอายุต่ำกว่า 21 ปี ในขณะที่บางรัฐกำหนดอายุขั้นต่ำไว้เพียง 18 ปี มีการศึกษาที่ดูความแตกต่างของกฎหมายมาเปรียบเทียบการเรียนจบมหาวิทยาลัยของผู้หญิงจากสองรัฐ พบว่าผู้หญิงที่สามารถซื้อยาคุมกำเนิดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี มีโอกาสเรียนจบมหาวิทยาลัยสูงกว่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่จะเรียนต่อหลังจบปริญญาตรีมากกว่า เป็นการย้ำว่า อายุระหว่าง 18-21 ปีเป็นช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ที่ผู้หญิงหลายคนต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ และอาจเพลี่ยงพล้ำตั้งครรภ์หากไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสม ซึ่งในปี 1971 ก็มีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงในแทบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี

การคุมกำเนิด ช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างชายหญิง

เมื่อผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น ก็นำไปสู่หน้าที่การงานที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยพบว่า ตั้งแต่ยาคุมกำเนิดได้รับการรับรอง สัดส่วนแรงงานหญิงในระบบเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องอาศัยความชำนาญการ เช่น แพทย์ หรือทันตแพทย์ ซึ่งนักวิชาการประมาณการว่าผู้หญิงราว  39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำงานในช่วงเวลาที่ยาคุมกำเนิดยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่หลังจากนั้นหนึ่งทศวรรษ ตัวเลขดังกล่าวก็กระโดดขึ้นเป็น 55 เปอร์เซ็นต์

จากการสำรวจค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1980-1991 พบว่าผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปีจะได้ค่าแรงรายชั่วโมงเฉลี่ยราว 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานชาย ซึ่งนับว่าพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดหากเทียบกับหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับ ‘ช่องว่างจากการมีครอบครัว (family gap) กล่าวคือรายได้ของผู้หญิงที่มีลูกจะลดลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่มีพื้นฐานการศึกษาใกล้เคียงกัน และอายุเท่ากันแต่ไม่มีลูก ในขณะที่การมีลูก ไม่กระทบต่อความสามารถในการหารายได้ของคนเป็นพ่อแต่อย่างใด

ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบข้างต้นคือการคุมกำเนิดและตั้งครรภ์เมื่อผู้หญิงอายุปลาย 20 หรือต้น 30 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หน้าที่การงานและรายได้ค่อนข้างมั่นคง แต่ในทางกลับกัน การศึกษาพบว่าคุณแม่วัยใสจะมีรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถเรียนจบการศึกษาระดับสูง ขาดทักษะการทำงานในช่วงแรกเริ่ม รวมถึงไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องจนมีรายได้มั่นคง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้คุณแม่วัยใสมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 20 ปีถึง 23 เปอร์เซ็นต์

การคุมกำเนิด ทำให้ชีวิตคู่มั่นคงขึ้น

แน่นอนว่าการคุมกำเนิดไม่ได้ส่งผลแค่การเรียนหรือการงาน แต่ยังเกี่ยวโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา ผลการศึกษาพบว่าคู่รักที่เผชิญกับการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะซึมเศร้า กังวล และรู้สึกชีวิตไม่มีความสุข มากกว่าคู่สามีภรรยาที่วางแผนว่าจะมีลูก นอกจากนี้ การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่พึงพอใจในชีวิตคู่ของทั้งสองคน และมีแนวโน้มว่าคู่รักอาจตัดสินใจจบความสัมพันธ์ดังกล่าวลง งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่ายิ่งแม่อายุน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าคู่รักจะแยกทางกันมากขึ้นเท่านั้น

การคุมกำเนิดทำให้เกิดเทรนด์การแต่งงานที่ช้าลง เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครองที่เหมาะสมในแง่ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กที่จะเกิดในครอบครัวดังกล่าว เนื่องจากการไม่เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะส่งผลให้พ่อแม่ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ อีกทั้งขนาดครอบครัวที่ใหญ่เกินไปโดยที่คู่สามีภรรยาไม่คุมกำเนิดเพื่อจำกัดจำนวนลูกๆ ก็จะทำให้การลงทุนด้านการศึกษาและเวลาที่มีให้ลูกแต่ละคนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขนาดครอบครัวที่ใหญ่เกินไปโดยที่คู่สามีภรรยาไม่คุมกำเนิด จะทำให้การลงทุนด้านการศึกษาและเวลาที่มีให้ลูกแต่ละคนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

พูดถึงเมืองฝรั่งเสียเยอะ ขอย้อนกลับมาที่ประเทศไทยเราสักหน่อย เพราะเรื่องวางแผนครอบครัวของไทยก็ไม่ได้น้อยหน้า มีการประกาศนโยบายประชากรครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เพื่อสนับสนุนการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ หลังจากสหรัฐฯ อนุมัติให้ยาคุมกำเนิดเป็นเวชภัณฑ์ถูกกฎหมายเพียง 10 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มล่าสุดของไทยดูจะไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากจำนวนการคลอดของคุณแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นจาก 240 คนต่อวันใน พ.ศ. 2543 เป็น 286 คนต่อวันใน พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ การคลอดบุตรซ้ำของคุณแม่วัยรุ่นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนกระทั่ง พ.ศ. 2558

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่ากังวล คือเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ประชากรวัยรุ่นและเยาวชนจำนวน 81 คนต่อ 100,000 คนใน พ.ศ. 2553 เป็น 127 คนต่อประชากรวัยรุ่นและเยาวชน 100,000 คนใน พ.ศ. 2558 นำไปสู่การตั้งคำถามว่า การสื่อสารด้านการคุมกำเนิดและป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ในไทยนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือยัง

ใกล้วันวาเลนไทน์แบบนี้ อาจถึงเวลาที่เราต้องเลิกสวมหน้ากากศีลธรรมไปห้ามไม่ให้วัยรุ่นมีเซ็กซ์ (เพราะคงห้ามยาก) แต่เปลี่ยนเป็นการอำนวยความสะดวกให้วัยรุ่นเข้าถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะช่วยพวกเขาและเธอให้ไม่ต้องเสี่ยงกับการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ยังสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระดับประเทศด้วยนะครับ

 

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Social and Economic Benefits of Women’s Ability to Determine Whether and When to Have Children

The Power of the Pill: Oral Contraceptives and Women’s Career and Marriage Decisions

Social and Economic Benefits of Reliable Contraception

Public Costs from Unintended Pregnancies and the Role of Public Insurance Programs in Paying for Pregnancy-Related Care: National and State Estimates for 2010

การจัดบริการการคุมกำเนิดของโรงพยาบาลในประเทศไทย พ.ศ. 2558

สถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นประเทศไทยปี พ.ศ. 2558

Fact Box

เมื่อ 2010 สหรัฐอเมริกาต้องสูญเงินถึง 21 พันล้านเหรียญจากการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 336 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 10,000 บาทต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคัดง้างกับแนวคิดของรัฐบาลอเมริกันที่มีนโยบายจะยกเลิกการให้เงินสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร Planned Parenthood ที่เน้นให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัว สุขภาพวัยเจริญพันธุ์ และการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย โดยนักวิชาการมองว่า การสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

Tags: , , ,