หลังจากที่ ‘ก้าวไกล’ ม้าตัวใหม่ของการเมืองไทยที่แรงดีไม่มีตก วิ่งเข้าเส้นชัย เอาชนะการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาไม่ถึงสัปดาห์ คว้าอย่างน้อย 152 เก้าอี้ ส.ส.ในสภาไปได้ (ยังรอผลที่แน่นอนจาก กกต.) ทำให้สิทธิการจัดตั้งรัฐบาลอันดับแรกเป็นของพรรคผู้ชนะ ที่เพิ่งได้ประกาศจุดยืนและนัดจับมือตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคการเมืองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งประกอบด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่ทำหน้าที่ร่วมกันมากว่า 8 ปีเต็ม ทั้งเพื่อไทย เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย ประชาชาติ ผสมโรงกับพรรคการเมืองน้องใหม่อีก 3 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคใหม่ (รวมถึงพรรคชาติพัฒนากล้า ที่กำลังรอท่าที)
เมื่อรวมเสียงทั้งหมดนับได้ไม่น้อยกว่า 314 เสียง เกินครึ่งของสภา เรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง จนดูเหมือนว่าหนทาง 4 ปีของรัฐบาลใหม่ที่มีนายกฯ ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน
คงเหลือเพียงด่านสุดท้ายที่ก้าวไกลต้องฝ่าไปให้ได้ คือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ด่านอรหันต์ที่ล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะอำนาจเก่า ซึ่งมีอำนาจอยู่ในวาระถึง 5 ปี และมีสิทธิในการเลือกนายกฯ อีก 1 สมัย
การมีอยู่ของ ส.ว.ส่งผลให้การโหวตเลือกนายกฯ ร่วมของทั้ง 2 สภา กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลยังคิดไม่ตกว่าจะเลือกทางใด ระหว่าง ‘แลกไมตรีกับ ส.ว.’ ให้มาช่วยโหวต ซึ่งก็จะได้คะแนนอันดับหนึ่งในสภา เป็นฉันทามติตามระบอบประชาธิปไตย หรือ ‘จับมือ’ บรรดาพรรคการเมืองรัฐบาลเก่า ที่อาจเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง เนื่องจากพรรคแกนนำอย่างก้าวไกลออกตัวชัดเจนว่า ‘มีลุงไม่มีเรา’ ไม่เอาพรรคร่วมรัฐบาลเดิม
เรื่องนี้คนที่จะตอบได้คงมีเพียงแค่พิธาและพรรคก้าวไกล ว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อ ส่วนบรรดาคอการเมืองและประชาชนชาวไทย คงมีสิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียว คือการตั้งคำถามว่า เหตุใด ส.ว.จึงกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้ฉันทามติของประชาชนต้องมาสั่นคลอนเช่นนี้ด้วย
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดนี้เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดที่มาของ ส.ว.ไว้ 3 ช่องทาง คือ
1.ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 194 คน
2. มาจากการเป็น ส.ว.โดยอัตโนมัติตามตำแหน่ง 6 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยแบ่งตามกลุ่มอาชีพ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน
จากทั้งหมดสรุปได้ว่าทั้ง 250 คน ล้วนต้องผ่าน คสช. และเมื่อตรวจสอบในรายชื่อพบว่า จาก ส.ว.ทั้ง 250 คน มีข้าราชการทหาร-ตำรวจนั่งไปแล้วกว่า 104 คน
การทำงานของ ส.ว.คือมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้อำนาจในการเห็นชอบแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร คัดเลือกคนเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในหลายหน่วยงาน รวมถึงอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนโดย คสช.
โดยจำนวนตำแหน่งและงานทั้งหมดนี้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งที่มาจากภาษีของประชาชนโดยตลอด
สำหรับ ‘ประธานวุฒิสภา’ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท และได้รับเงินค่าสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 45,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท
ส่วน ‘รองประธานวุฒิสภา’ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินค่าสวัสดิการอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
ขณะที่ ‘สมาชิกวุฒิสภา’ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินค่าสวัสดิการอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ยังไม่นับค่าเดินทางไป-กลับประชุมที่รัฐสภาในแต่ละครั้ง ซึ่งจ่ายตามจริง
นอกจากนี้ ส.ว.แต่ละคนยังมีผู้ช่วยทำงานได้อีก 8 คน โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เงินเดือน 24,000 บาท, ผู้ชำนาญการประจำตัว เงินเดือน 15,000 บาท และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว เงินเดือน 15,000 บาท
ในกรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้รับการดูแลค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน มีค่าเหนื่อยและค่าที่พักรวมค่าเดินทางเหมาจ่ายวันละ 1.4 หมื่นบาทต่อคน หรือหากไม่ได้เบิกเหมาจ่าย มีเบี้ยเลี้ยงวันละ 3100 บาทต่อคน, ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรมวันละ 4,500 บาทต่อคน, ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้าวันละ 500 บาทต่อคน และค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ดวันละ 500 บาทต่อคน
รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมด รัฐต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ ส.ว.ทั้ง 250 คน รวม 340 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญ ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของ ส.ว.ได้ แต่ไม่สามารถถอดถอน ส.ว.ชุดนี้ได้ตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการยื่นเรื่องไปก็ตาม
อีกหนึ่งสิ่งที่โลกโซเชียลฯ และประชาชนพูดถึงมากในขณะนี้ คือจำนวน ‘วันทำงาน’ ของ ส.ว. และที่เห็นชัดที่สุดคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง ส.ว. ซึ่งพลเอกปรีชาเข้าทำงานที่สภา ในฐานะ ส.ว.เพียง 6 วัน จากทั้งหมด 365 วัน
อีกทั้งยังมีการเปิดเผยข้อมูลการทำงานของ ส.ว.ในการลงมติต่างๆ พบว่า บรรดา ส.ว.จากเหล่าทัพ ล้วนมาลงมติกันสูงสุดเพียง 2 ครั้ง จากการทำงานทั้ง 4 ปี โดย 2 เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับกองทัพทั้งสิ้น ประกอบด้วยการโอนกำลังพล และงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ
แต่ที่บรรดาคอการเมืองและประชาชนเป็นกังวลที่สุด คือทิศทางการลงคะแนนแบบ ‘เสียงไม่แตกแถว’ ของ ส.ว. เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว.ทั้ง 250 คน เลือก พลเอกประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกฯ โดยไม่มีเสียงแตกแม้แต่คนเดียว และทุกสิ่งที่กล่าวไปนำมาสู่ความกังวลและการตั้งคำถามว่า ‘สว.มีไว้ทำไม’ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัย ร่วมกับสื่อมวลชน 10 สำนัก รวมถึง The Momentum เปิดโหวต ‘เสียงประชาชน’ มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ผลปรากฏว่าประชาชน 85% เห็นชอบว่า ส.ว.ควรโหวตนายกฯ ตามที่ประชาชนเลือก และไม่ฝืนเจตนารมย์ของประชาชน
และแม้มี ส.ว.หลายคนออกมากล่าวยืนยันว่า ตนจะเลือกตามพรรคที่ได้เสียงข้างมาก และพร้อมปิดสวิตช์ตัวเองก็ตาม
แต่เมื่อรวมตัวเลขก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากทั้งสองสภา
ดังนั้นแล้ว ‘ประชาธิปไตย’ ของไทยจะไปต่อหรือติดหล่มและวนอยู่ที่เดิม ทั้งหมดอยู่ในมือของท่านสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน
Tags: สมาชิกวุฒิสภา, ส.ว., พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พรรคก้าวไกล, Democracy Strikes Back