คนไทยเราทุกวันนี้เถียงเรื่องการเมืองกันจนชาชิน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทุกประเทศก็มีเรื่องการเมืองให้เถียงกันทั้งนั้น แต่หากเทียบกับประเทศตะวันตกแล้ว สิ่งที่อาจจะจัดว่าแปลกของเมืองไทยก็คือเราไม่ได้เถียงกันในประเด็นว่าใครดีใครเลว หรือนโยบายของใครดีกว่ากันเท่านั้น แต่หลายครั้งเรื่องที่เราเถียงกันมักลามไปถึงประเด็นพื้นฐานอย่างเรื่องรูปแบบการปกครอง โดยเฉพาะคำถามที่ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

คำถามแบบนี้เป็นที่ได้ยินกันทั่วไปในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเมื่อ 20-25 ปีก่อน เชื่อว่าเราไม่ค่อยเห็นสังคมไทยตั้งคำถามเช่นนี้เท่าไรนัก เพราะในตอนนั้นความคิดกระแสหลักของเมืองไทยก็คือการเห็นว่าประชาธิปไตยนี่แหละคือ การปกครองที่ดีและเหมาะสมกับประเทศนี้ มีเหตุการณ์สำคัญอย่างการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เพื่อขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ในปี 2535 ที่บ่งบอกว่าคนไทยปฏิเสธการปกครองของทหาร ต่อจากนั้นก็มีกระแสความต้องการประชาธิปไตยและการเมืองที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม จนมีผลผลิตออกมาคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เขียนขึ้นมาโดยมุ่งเน้นให้การเมืองแบบรัฐสภาเข้มแข็ง เอื้อให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่จะอยู่ในอำนาจได้นานโดยไม่ถูกล้มไปได้ง่ายๆ แต่ก็ถูกกำกับโดยระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นจากวุฒิสภาและองค์กรอิสระ

ก็อาจจะน่าแปลกใจว่าหลายคนที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยในยุคนั้น พอทุกวันนี้กลับหันมาตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยดีจริงหรือเหมาะสมกับไทยจริงหรือไม่ จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและการรัฐประหารในปี 2549 ที่ทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณหลายคนต้องหาเหตุผลมาแสดงความยอมรับรัฐประหาร ขณะที่ฝ่ายของทักษิณเองก็ยิ่งพยายามชูภาพความเป็นประชาธิปไตยเพื่อกลบเกลื่อนข้อเสียต่างๆ ของตน เกิดเป็นการตั้งข้อสงสัยว่าเมืองไทยต้องการประชาธิปไตยเท่านั้นจริงหรือ หรือว่าเราจะยอมให้ ‘คนดี’ ได้เข้ามามีอำนาจโดยไม่ต้องพึ่งประชาธิปไตยก็ได้ นักวิชาการอย่างธีรยุทธ บุญมี ออกมาเสนอว่าอย่าไปยึดติดกับการเลือกตั้งมากเกินไปเพราะมันเป็นเพียงเปลือกนอกของการปกครอง ขณะที่อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ลั่นวาจาผ่านสื่อในเครือของตนว่าไทยไม่ใช่ตะวันตก อย่าไปเอาแนวคิดตะวันตกอย่างประชาธิปไตยมาใช้กับที่นี่ ซึ่งเราแทบจะไม่ได้ยินใครพูดแบบนี้ในช่วงหลังเหตุการณ์ปี 2535 ใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจความคิดของฝ่ายที่ตั้งคำถามกับประชาธิปไตยในเมืองไทยอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างคนที่เชื่อว่าไทยไม่เหมาะกับประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง กับความคิดอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตย แต่มองว่าคนไทย ‘ยังไม่พร้อม’ จะมีประชาธิปไตย ซึ่งคำพูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยไม่ดี คือคนพูดอาจจะคิดว่าประชาธิปไตยนั้นดีก็ได้ แต่ปัญหาของไทยคือคนไทยเรายังไม่พร้อมเท่านั้น

คนพูดอาจจะคิดว่าประชาธิปไตยนั้นดีก็ได้
แต่ปัญหาของไทยคือคนไทยเรายังไม่พร้อมเท่านั้น

การพูดถึง ‘ความพร้อม’ ในการที่ประเทศหนึ่งๆ จะมีประชาธิปไตยนั้นก็เป็นเรื่องที่มีที่มาที่ไปทางวิชาการ ตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น ฝั่งโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาต้องการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตยกันมากขึ้น เพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่กระแสการส่งเสริมประชาธิปไตยนี้ก็ถูกคัดค้านโดยนักวิชาการบางกลุ่มที่เชื่อว่าประเทศที่จะเป็นประชาธิปไตยได้นั้นควรเป็นประเทศที่พร้อมก่อน ความพร้อมที่ว่านี้จำแนกได้เป็นหลายแบบ เช่น มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ช่วยให้ประชาชนร่ำรวยในระดับหนึ่ง มีระบบกฎหมายที่ชัดเจน รวมถึงมีการสร้างกลไกเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐให้เข้มแข็งมั่นคง แนวคิดเช่นนี้มองว่าการมีประชาธิปไตยในประเทศที่ไม่พร้อมนั้นอาจสร้างปัญหาได้มาก เช่นทำให้ประเทศเกิดความสับสนวุ่นวายจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนา หรือเกิดภาวะที่ผู้นำจากการเลือกตั้งกลับใช้อำนาจตามอำเภอใจจนค่อนไปทางเผด็จการ เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวเท่าไหร่นัก ในบางกรณีนั้นสหรัฐฯ ก็เลือกที่จะผูกมิตรกับรัฐบาลเผด็จการที่ต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์มากกว่า รัฐบาลทหารของไทยในยุคสงครามเย็นโดยเฉพาะยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็เข้าข่ายมิตรรักของสหรัฐฯ ในช่วงนั้นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าแนวคิดทำนองนี้เป็นการเตือนให้เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นหากมีประชาธิปไตยเร็วเกินไป หรือก็คือการตอกย้ำว่าอย่าเพิ่งสร้างประชาธิปไตยในประเทศที่ยังไม่พร้อม แต่คำถามที่ตามมาคือ ถึงแม้เราจะรู้ว่าความพร้อมที่ว่านี้มีหน้าตาอย่างไรก็จริง แต่ใครล่ะที่เราจะไว้ใจให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยให้พร้อมสำหรับประชาธิปไตย ซึ่งคำตอบก็หนีไม่พ้นว่าเราต้องยอมให้เผด็จการมีอำนาจต่อไปก่อน และตั้งความหวังว่ารัฐบาลเผด็จการเองจะคิดนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ คำตอบแบบนี้ชวนให้ฉงนสงสัยว่ารัฐบาลเผด็จการจะยอมทำให้ตัวเองหมดอำนาจไปทำไม การหวังให้เผด็จการเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาให้นั้นเป็นเพียงแค่การหวังอย่างลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Thomas Carothers นักวิชาการผู้ศึกษาการสร้างประชาธิปไตยในหลายประเทศ ได้เสนอทางออกไว้ว่า การหวังว่ารัฐบาลที่เป็นเผด็จการจะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยนั้นอาจฟังดูสวยหรู แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ค่อยมีตัวอย่างให้เห็นนัก เพราะรัฐบาลเผด็จการมักจะกลัวสูญเสียอำนาจมากกว่าที่จะยอมปล่อยให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้น ดังนั้นในสายตาของคาโรเธอร์สแล้ว เราควรให้อำนาจแก่ประชาชนตั้งแต่แรกในการสร้างให้ประเทศมีความพร้อมสำหรับประชาธิปไตยในแง่มุมต่างๆ และควรไว้วางใจให้ประชาชนได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาธิปไตยได้เข้ารูปเข้ารอย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือควรจัดการเลือกตั้งขึ้นตั้งแต่ต้น ดีกว่าที่จะหวังให้ประชาธิปไตยลอยลงมาจากผู้นำเผด็จการ ซึ่งคาโรเธอร์สได้ยกตัวอย่างบางประเทศที่ไม่ได้มีความพร้อมมากแต่ก็เลือกที่จะแก้ปัญหาของตนตามวิถีประชาธิปไตย เช่นประเทศอินเดีย ปานามา บอตสวานา ซูรีนาเม และเซเนกัล ล้วนเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านความยากจนของประชากร แต่ก็ยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จ

 

ถึงแม้เราจะรู้ว่าความพร้อมที่ว่านี้มีหน้าตาอย่างไรก็จริง แต่ใครล่ะที่เราจะไว้ใจ
ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยให้พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

หากนำเอาประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานี้มาใช้ย้อนมองประเทศไทย เราจะเห็นร่องรอยของความคิดที่ว่าการจะทำให้เมืองไทยมีความพร้อมสำหรับประชาธิปไตยนั้นต้องเริ่มด้วยการเอาอำนาจออกจากมือของประชาชน ตั้งแต่ข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการสร้าง ‘การเมืองใหม่’ โดยให้มีสมาชิกในสภาจากการแต่งตั้งร้อยละ 70 และจากการเลือกตั้งเพียงร้อยละ 30 ไปจนถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ที่ต้องการให้หยุดระบอบประชาธิปไตยไว้ชั่วคราวเพื่อ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ซึ่งไม่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีเจตนาดีเพียงใดก็ตาม ข้อเสนอที่ว่านี้ก็ล้วนสะท้อนถึงความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แม้จะผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 มากว่า 85 ปีแล้ว แต่ความคิดที่ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตยนั้นก็ยังมีค่อนข้างแพร่หลาย แต่ถึงกระนั้น ข้อเสนอของคนบางกลุ่มที่อยากเห็นประเทศไทยมีความพร้อมนั้นก็มักหนีไม่พ้นการตั้งความหวังให้คนกลุ่มเล็กๆ เข้ามามีอำนาจ โดยเชื่อว่าเขาเหล่านั้นจะช่วยนำประชาธิปไตยมาให้ ตอนนี้คงถึงเวลาที่เราจะต้องช่วยกันสำรวจตรวจสอบว่าการตั้งความหวังแบบนี้จะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ แบบที่ผ่านมาอีกหรือไม่

หรือว่าสุดท้ายแล้ว คนที่บอกว่าประเทศไทยไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตยนั้น พวกเขาเองต่างหากที่ไม่พร้อมจะอยู่กับประชาธิปไตย

Tags: , , , , , ,