เมื่อครั้งที่รู้ว่าปีนี้ Dreambox เลือกนำนิยาย น้ำเงินแท้ ของ วินทร์ เลียววาริณ มาสร้างเป็นมิวสิคัล ผู้เขียนก็ค่อนข้างสนใจมากทีเดียว แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่ได้อ่านงานของวินทร์แล้วหรือกระทั่งเพจเฟซบุ๊กก็เลิกติดตามไป ด้วยความคิดและทัศนคติที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้ แต่เรื่องราวของกบฏบวรเดชดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกนำเสนอในสื่อศิลปะใดๆ ในบ้านเรานัก ผู้เขียนจึงตั้งมั่นว่าจะไม่พลาดละครเรื่องนี้ 

น้ำเงินแท้ มีฉากหลังเป็นยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ประเทศอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของความเก่าและความใหม่ ตัวเอกของเรื่องคือ ‘ต้นแสง’ นักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่ง ส่วนตัวเอกอีกฝั่งหนึ่งคือ ‘ประจักษ์’ เพื่อนในวัยเด็กของต้นแสงที่เติบโตมาเป็นผู้มีบทบาทในคณะราษฎร ด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกันทำให้ความสัมพันธ์ของชายทั้งสองถ่างออกเป็นเส้นขนาน 

ในช่วงที่กบฏบวรเดชก่อการรัฐประหาร ต้นแสงเลือกจะไม่เข้าร่วม แต่ด้วยความจับพลัดจับผลูบางประการ เขาถูกจับขังคุกพ่วงไปกับกลุ่มกบฏบวรเดช ซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่าเป็นพวกน้ำเงินแท้ อันมีที่มาจากสีเครื่องแบบนักโทษและแนวคิดทางการเมืองของกลุ่ม

ครึ่งแรกของ น้ำเงินแท้ เน้นที่ความคิดความเชื่อที่ต่างกันของต้นแสงและประจักษ์ ทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามอยู่พอสมควร องค์ประกอบอื่นๆ ยังทำให้ดีตามมาตรฐานของ Dreambox ไม่ว่าจะงานด้านฉากที่คราวนี้มาในแบบเคร่งขรึมอัดอึดตามโทนเรื่อง (ต่างจากเรื่องที่แล้วอย่าง นางฟ้า ที่เน้นความประกายแสง) เหล่านักแสดงนำมีทักษะการร้องเพลงอยู่ในขั้นสูง แต่จะติดตรงที่นักแสดงบางรายที่ออกเสียงภาษาไทยไม่ชัด จนตัวละครของเขาดูน่ารำคาญ หรือฉากมิวสิคัลของนักแสดงเด็กที่ร้องกันเสียงสูงจนฉากที่ควรจะซาบซึ้งกลายเป็นตลกแทน 

อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งหลังของละครกลับน่าสนใจน้อยลงอย่างน่าตกใจ บางช่วงตัวละครต้นแสงมีบทบาทเจือจางมากเพราะตัวเรื่องไปโฟกัสที่ชีวิตในคุกของหลากหลายตัวละคร ทว่าแทนที่ชีวิตในคุกจะหดหู่จิตตก ผู้สร้างก็เหมือนกลัวคนดูจะเครียดเกินไป จนต้องคอยใส่มุกตลกเบี้ยบ้ายรายทาง โดยเฉพาะตัวละคร ‘ไอ้แมลงวัน’ ที่โดดจากตัวเรื่องจากชัดเจน และแทบไม่นำพาไปสู่อะไรเลยนอกจากเสียงหัวเราะที่หลงลืมในชั่วครู่

แม้ว่าละครจะแสดงความเห็นอกเห็นใจกับฝ่ายน้ำเงินแท้อย่างชัดเจน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ติดขัดแต่อย่างใด (หรือพูดอีกแบบว่าเป็นสิ่งที่ ‘เตรียมใจ’ ก่อนมาดูอยู่แล้ว) แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นส่วน ‘เรื่องแต่ง’ (Fiction) ของละคร (และนิยายต้นฉบับ) แน่นอนว่าหากเล่าประวัติศาสตร์แบบตรงๆ ทื่อๆ มันอาจกลายเป็นความน่าเบื่อ ทั้งนิยายและละครเลยต้องสร้างตัวละครสมมติ สร้างภูมิหลัง และสร้างความดรามาติกต่างๆ นานาขึ้นมาให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วยหรือลุ้นไปด้วย

อย่างไรก็ดี บรรดาภูมิหลังหรือเรื่องส่วนตัวของตัวละครหลักก็ช่าง ‘ละค้อนนน ละคอน’ เสียเหลือเกิน โดยเฉพาะตัวประจักษ์ที่เปิดเผยว่าจริงๆ แล้วเป็นลูกเจ้า แต่แม่ถูกใส่ร้ายจนโดนไล่ออกจากวัง พอคิดว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ประจักษ์ไปเข้าฝ่ายคณะราษฎรก็อดหัวเราะออกมาไม่ได้ ตามมาด้วยพฤติกรรมของประจักษ์ที่ไปแย่งคนรักของต้นแสงมาแบบดื้อๆ หากนี่เป็นความตั้งใจที่ทำให้ประจักษ์ (และคณะราษฎร) ดูเป็น antagonist ก็คงต้องบอกว่ามันทำให้เขาดูเป็นตัวตลกมากกว่า

ถัดจากนั้นละครก็มีฉากที่ทำเอาผู้เขียนเกาหัวแกรกๆ หรือกุมขมับอีกพอสมควร ทั้งจดหมายของแก้วตา ลูกสาวของผู้คุมที่ต้นแสงเคยสอนภาษาอังกฤษให้ตอนอยู่ในคุก แก้วตาส่งจดหมายมาจากอเมริกา เนื้อความในจดหมายกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ต้นแสงตาสว่างอย่างน่าอัศจรรย์ ขณะที่ผู้ชมก็ชื่นชมแม่หนูแก้วตาที่เก่งกาจราวกับยอดนักสืบโคนันที่อุตส่าห์รู้ว่าต้นแสงย้ายไปคุกไหนและส่งจดหมายสำเร็จ

อีกฉากสำคัญของละครน่าจะเป็นฉากที่เปิดเผยว่าคนที่ทำให้เหล่าน้ำเงินแท้เป็นอิสระคือสตรีสองคน—แม่และคนรักของต้นแสง ทว่าการนำเสนอฉากนี้ก็ชวนเหวอเอามากๆ นางทั้งสองเข้าไปร้องเพลงกับทหารทำนองว่า โอ้ คนเราอาจจะแนวคิดต่างกัน แต่ทุกคนล้วนมีความฝัน บลาบลาบลา จากนั้นฝ่ายทหารก็เกิดความสว่างทางปัญญาและตัดสินใจปล่อยเหล่ากบฏไป (!?) ผู้เขียนถึงขั้นหันไปพูดกับเพื่อนข้างๆ ว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ”

ยังดีที่ว่าช่วงสรุปของละครดูจะมีเนื้อหาและสารที่กลับมามีมิติ (และสติ) มากขึ้นด้วยการพยายามนำเสนอถึงชะตากรรมของตัวละครที่แสนจะพลิกผัน คนที่เคยติดคุกได้เป็นอิสระ คนที่เคยเอาคนอื่นเข้าคุกกลับต้องมาติดคุกเสียเอง สุดท้ายแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของลมเปลี่ยนทิศที่แสนจะแปรปรวน และสรุปด้วยการตั้งคำถามทิ้งทายถึงโลกในอุดมคติที่ไม่มีใครต้องเป็นทุกข์แม้มีความคิดความเชื่อที่ต่างกัน แม้ว่าสารเหล่านี้จะมีความคมคายพอสมควร แต่มันก็อาจจะมาช้าเกินไป ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าได้ และทำให้ น้ำเงินแท้ ห่างไกลจากการเป็นละครในอุดมคติพอสมควร 

Fact Box

น้ำเงินแท้ เดอะ มิวสิคัล แสดงถึง 8 กันยายน 2562 ที่ M Theatre (ถ.เพชรบุรีตัดใหม่) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/321927865098318/

Tags: ,