ระหว่างที่เรานั่งคุยกับนักเขียนบทละคร หนุ่มวัย 26 ปีคนนี้ เขากำลังมีผลงานละครเพลง หลายชีวิต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ซึ่งเขากำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการเขียนบทละครอยู่

‘เติง’ นฤทธิ์ ปาเฉย อาจจะยังหน้าใหม่ในแวดวงอาชีพคนเขียนบทละคร แต่เขาสั่งสมประสบการณ์และมีผลงานด้านละครเวทีมาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เรื่อยมาจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผลงานที่ว่ามีทั้งด้านการเขียนบทละคร ด้านการกำกับการแสดง ด้านการแสดง ด้านการกำกับเวที และด้านการอำนวยการผลิต

“ตอนแรกที่ลองทำ ผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวหรอกครับ ทำๆ ไป ปรากฏว่ามันสนุกดี ได้ผลตอบรับที่ดีจากครูบาอาจารย์ ก็เลยรู้สึกว่า เรามีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ มากกว่านั่งเรียนหนังสือในห้อง” นฤทธิ์เล่าย้อนถึงแรงผลักดันสมัยเป็นนักเรียนมัธยมฯ

ครั้นเรียนจบปริญญาตรีเขาก็มีโอกาสได้ ‘งานอิสระ’ ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี เป็นคนคอยคิดและวางคอนเทนต์ รวมทั้งลำดับฉากตัวสปอตที่ใช้โปรโมตละครของช่อง One ควบคู่กันนั้นเขายังเป็นโปรดิวเซอร์และผู้จัดการโปรเจ็กต์ให้กับทองหล่อ อาร์ตสเปซ “แต่ผมทำงานอยู่ประมาณปีครึ่ง ก็ตัดสินใจมาเรียนต่อ” —วิชาเขียนบทที่เขาชอบ

ต่อจากละครเพลง หลายชีวิต แล้ว เขายังมีผลงานละครเพลงอีกเรื่องคือ น้ำเงินแท้ ของค่ายดรีมบอกซ์ ซึ่งเปิดรอบการแสดงแล้วที่ M Theatre ตั้งแต่ 24 สิงหาคมไปจนถึง 8 กันยายน 

ทำไมคุณถึงเลือกสายอาชีพเขียนบทละคร ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันทำมาหากินลำบาก

(ยิ้ม) ผมรู้ตลอดเวลาละครับ แต่ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง เพราะที่บ้านยังเกื้อกูลอยู่ แต่พออายุถึงประมาณนี้แล้ว ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าคงจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่มันจะเป็นจริงได้อย่างไร อาชีพนี้จะหาเลี้ยงเราได้อย่างไร

แต่ผมมองในด้านดีของมันก็คือ มันไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เราบิดจรรยาบรรณหรือสัจจะของตัวงานที่เราทำ ในเมื่อเราไม่ต้องแคร์ใคร ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมาให้เงินเราเท่าไหร่ หรือมาบังคับว่าจะไม่จ้างถ้าเราเขียนแบบนี้ ซึ่งไม่จ้างก็ไม่เป็นไร ผมว่าตรงนี้ก็เป็นข้อดีส่วนหนึ่ง

ผมก็คงต้องหาทางอื่นที่จะประคับประคองตัวเองไปให้ได้ ถ้ารักตรงนี้จริง มันก็เป็นบททดสอบเหมือนกันนะครับ ว่ารักนักรักหนา ก็อยู่ไปอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วผมก็มีแพลนอยู่บ้าง ว่าจะทำสิ่งนี้ต่อไปอย่างไรโดยที่ตัวเองไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน (ยิ้ม) เราก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่หลายท่านในวงการนี้ วิชาชีพนี้ ที่ทำได้ ซึ่งผมเองก็จะต้องทำให้ได้ แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง (หัวเราะ)

ตลอดเวลาที่ผ่านมา จริงๆ แล้วคุณสามารถอยู่ได้ด้วยการเขียนบทละครหรือเปล่า

จริงๆ อยู่ได้นะครับ คนเขียนบทเป็นอาชีพที่ต้องแลกด้วยความอดทน และความรัก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็ไม่ได้น่าเกลียดเลย เพียงแต่ว่า นอกจากความอดทนและความรักแล้ว บางครั้งมันต้องแลกด้วยโจทย์บางอย่างที่มันขัดกับอัตตาของเรา ซึ่งต้องถามตัวเองอีกละว่า เรายอมกับตรงนี้ไหม

ไม่ว่างานพาณิชย์หรือเชิงศิลป์มากๆ ก็ตาม ทุกที่ทุกทางที่เราต้องไปมันมีกรอบอยู่เสมอ เรายอมรับกติกามันได้ไหม แม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็มีกรอบที่จะคอยมาตรวจสอบคอนเทนต์ของเรา ความคิดของเรา เพราะว่าถ้าจะพูดไปให้ถึงที่สุดก็คือ ในบ้านเมืองเรายังมีเรื่องที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ ไม่ว่าเรามีอิสระที่จะพูดมากแค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะรับกติกานั้นๆ ในวงการได้ไหม

เสน่ห์ของการเขียนบทละครอยู่ตรงไหน

เสน่ห์ของมันอยู่ตรงที่… เราได้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวนั้นๆ อย่างที่เราไม่เคยหมกมุ่นกับเรื่องราวไหนๆ แม้กระทั่งเรื่องของตัวเอง หมกมุ่นที่จะเล่ามันให้คนอื่นฟัง เพื่อสื่อความหมายอะไรบางอย่างให้กับเขา หรือเพื่อแสดงมุมมองของเราที่มีต่อเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่กว่าเรื่องที่เรากำลังเล่า จริงๆ แล้วมีหลายช่วงวัยที่เรารู้สึกว้าวกับการเล่าเรื่อง บางทีก็เป็นครั้งแรกที่เราเห็นงานของเราจากตัวหนังสือกลายเป็นภาพจริงๆ มันเป็นความว้าว เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

แต่พอผ่านไปสักพักมันก็เป็นสัจธรรมของมัน ก็คือ เดี๋ยวมันก็จะขึ้นไปอยู่บนเวที เดี๋ยวมันก็จะเป็นแบบนี้ละ แต่พอในวิชาชีพละครจริงๆ โดยเฉพาะละครเวที สิ่งที่เป็นเสน่ห์จริงๆ และยั่งยืนจริงๆ คือการทำงานร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ที่เรียนมาคนละสายคนละศาสตร์ มาทำบางอย่างร่วมกันด้วยจุดประสงค์เดียวกัน มาทะเลาะกัน มาตีกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด

ผมจะชอบมากเวลาได้อยู่ในโปรดักชันหลังม่านของทีมละครที่กำลังเล่น และเห็นคนทำงานด้านหลัง ที่คนดูไม่มีทางรู้เลยว่าภาพที่เกิดขึ้นตรงนั้น มันเกิดจากแรงของคนเล็กๆ สอง-สามคนที่อยู่ในหลืบตรงนั้นตรงนี้ มันเกิดจากการคำนวณเป็นวินาทีเลยนะว่า คุณจะต้องทำตรงนี้ในวินาทีนี้เท่านั้น เพื่อให้ละครและภาพมันเกิดขึ้นได้ มันเป็นความมหัศจรรย์ของละครเวทีและการแสดงสดอยู่แล้ว

มันจำลองสังคมในอุดมคติที่เราอยากเห็นเหมือนกัน จากคนที่แตกต่างกันมากๆ มีความคิดความเชื่อแบบไหนก็ไม่รู้ บางทีก็ออดิชันเข้ามา แต่ละคนมาจากคนละสถาบันกันเลย หรือบางคนแทบไม่เคยเรียนมาก่อน แต่มีประสบการณ์อย่างเดียว มาอยู่รวมกัน มาแชร์กัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทะเลาะกัน ผมชอบมากเลยเวลามีการทะเลาะกันในกระบวนการของงานละคร เพราะว่ามันไม่ได้ทะเลาะกันเพื่อใครเลย แต่ทะเลาะกันเพื่อสิ่งที่เราเห็นว่าดีที่สุดสำหรับละครเรื่องนั้น

ขอบข่ายหน้าที่ของคนเขียนบทมีอะไรแค่ไหน

จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ส่วนของการแสดงสด ตัวบทละครแทบจะไม่ได้เกิดขึ้นจากคนคนเดียวแล้ว บางทีเราก็มีกระบวนการการสร้างบทที่เกิดขึ้นจากคนในโปรดักชันจำนวนมาก มาระดมความคิด ระดมสมอง ระดมประสบการณ์ เพื่อที่จะสร้างงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง อาจจะเป็นบท หรือเป็นการแสดงเลยก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมด—ไม่ว่าจะเป็นตัวบทหรือการแสดงเป็นส่วนประกอบของทุกคนที่ทำงาน

เพราะฉะนั้นในความเห็นของผมเท่าที่เรียนการเขียนบทมา ผมค่อนข้างเปิดมากๆ มันไม่ใช่พิมพ์เขียวที่แข็งทื่ออยู่ตรงนั้น และศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่ใครขัดไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว พอมันไปอยู่ตรงนั้นกับพวกเขา นักแสดงที่ต้องทำงานกับตัวละคร สมมติซ้อมกันสามเดือน เขามีเวลาอยู่กับตัวละครของเขาถึงสามเดือน ฉะนั้นเขาต้องรู้ดีกว่าเราที่เป็นคนเขียนบท เผลอๆ เขารีเสิร์ชมากกว่าเราด้วยซ้ำ

ถ้าถึงวันที่มันไม่ใช่ในระหว่างที่ซ้อม มันต้องปรับแก้ได้ มันต้องยืดหยุ่นได้ ผมก็เลยไม่ค่อยยึดติดกับสิ่งที่ผมเขียนในดราฟต์สุดท้าย เพราะมันจะไม่มีดราฟต์สุดท้ายแน่นอน แม้แต่การแสดงครั้งแรกจะจบไปแล้วก็ตาม มันก็ยังเป็นแค่ดราฟต์หนึ่ง ในอนาคต เมื่อเราโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แคสต์หรือคนทำงานอื่นๆ เข้ามาเอาพิมพ์เขียวนี้ไปทำ มันก็อาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปในอีกรูปแบบหนึ่งในบริบทสังคมก็ได้ เพราะฉะนั้นขอบเขตหน้าที่ของผมก็แค่คนวางโครงร่างสำหรับพิมพ์เขียว เพื่อที่จะรอการปรับ

คุณเคยเขียนบทให้กับละครทีวีบ้างไหม

ผมเคยได้รับโอกาสเยอะเหมือนกันนะครับ แต่ผมก็นิสัยไม่ดี ใช้คำว่า ‘เท’ อย่างน่าเกลียดเลยครับ เทผู้ใหญ่ เทความเชื่อใจไว้ใจของผู้ใหญ่ไปเยอะ เพราะเราไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะบอกเขาไปตรงๆ ว่าเราไม่โอเคกับกติกาของเขา ไม่โอเคกับโจทย์ของเขา

คือผมเข้าใจว่าตัวเองทำได้ แต่พอไปถึงช่วงหนึ่ง เมื่อกติกามันเรียกร้องอะไรจากเรามากเกินกว่าที่เราจะให้ได้ การไม่บอกเขา บางทีผมก็มานั่งนึกเหมือนกันว่าทำไมผมไม่พูดกับเขาไปตรงๆ ทำไมนิ่ง เขาก็เอ็นดูเรา คิดว่าเราจะให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ เพราะมีคนไปขายเรากับเขาไว้เยอะ พอติดต่อมาก็มีการดีลกันแบบที่สบายใจ แต่พอมันเข้ากระบวนการทำจริงๆ แล้ว เรารู้เลยว่าความเห็นของเราและปลายทางมันคนละอย่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะไปรู้เอาตอนนั้น 

ผมไม่เคยโทษว่าเขาผิดเลยนะครับ แต่ผมไม่สามารถจริงๆ

คิดว่าสักวันหนึ่งคุณจะเปลี่ยนไปพูดภาษาเดียวกันกับละครทีวีบ้างไหม

ก็เป็นไปได้ครับ แต่ว่าต้องอยู่ที่เจ้านาย ผมมั่นใจนะว่าผมไม่สามารถเป็นใครที่ใหญ่กว่านี้ได้ หมายถึงมีอำนาจมากกว่าคนเขียนบทได้ ยกเว้นจะเป็นคนเขียนบทที่เป็นเจ้าของโปรดักชันเอง ก็เลยต้องขึ้นอยู่กับเจ้านายและการพูดคุย

ความจริง จากประสบการณ์แล้ว ผมรู้ว่าข้อเสียของตัวเองคืออะไร เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสอีกผมก็จะไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก จะคุยกันให้มากกว่านี้

แล้วมองภาพตัวเองเป็นอย่างไรในอนาคตข้างหน้า จะทำแต่ละครเวทีหรืออย่างไร

ครับ คิดว่าคงจะทำละครเวทีต่อไป และอยากจะเป็นอาจารย์สอนการเขียนบทละครด้วย เพราะว่าพอมาเรียนปริญญาโทแล้วได้เห็นน้องๆ ปริญญาตรีที่จะต้องเลือกเองว่าตอนตัวจบจะเขียนบท กำกับฯ แสดง หรือเป็นสเตจเมเนเจอร์ดี ก็เห็นว่ามีหลายคนขยาด กลัวการเขียนบทมากๆ โดยเฉพาะเด็กสมัยนี้ และหลายครั้งก็เป็นเพราะวิธีการสอน และความอดทนของตัวเด็กเอง ผมเลยอยากรู้ว่ามีวิธีไหนบ้างไหมที่จะทำให้เขาอยู่กับการเขียนบทละครเวทีได้แบบเรา ทั้งๆ ที่การเล่าเรื่องเป็นธรรมชาติพื้นฐานของคนเรา

การเขียนบทอาจจะใช้เวลายาวนานตรงที่เราต้องเลือก เลือกสิ่งที่จะปรากฏบนเวที เลือกสิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้ววางโครงสร้างอย่างละเอียด มันมีเวลาน้อย แต่มันจะต้องถูกเลือกแล้ว เพราะฉะนั้นในระหว่างทางอาจจะต่างกัน แต่จุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือ เขียนเถอะ เริ่มเขียนแล้วทำให้จบ มันจะดีหรือไม่ดีค่อยมาว่ากัน

เป็นคำแนะนำที่ฟังดูง่ายไปไหม

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะครับ เพราะมันมีเทคนิคเยอะแยะในโลกนี้ที่จะทำให้เราเขียนบทละครได้ มีสูตรการเขียนมากมาย พิกซาร์ก็มีสูตร ฮอลลีวูดก็มีสูตรที่สกัดออกมา มีถึงขั้นที่ว่า บทหนังหน้านี้ตัวละครต้องทำอะไรแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม คนเรียนสายหนังจะรู้ว่ามันมีสูตรถึงขั้นนั้น แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่…เขียนเนื้อเรื่องหรือยัง เราพูดความคิดของเราผ่านเรื่องเล่าหรือยัง แล้วที่เหลือเป็นการทำให้เรื่องๆ นี้เล่าความคิดของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แล้วสูตรต่างๆ เหล่านั้นจะตามมาทีหลัง

ถ้าผมได้เป็นครูหรือเป็นคนแนะนำใครที่อยากจะเริ่มเขียนบทละคร อย่างแรกที่จะบอกคือ อย่าให้ไฟในการอยากเขียนมันหมด อย่าให้ความรู้สึกว่ามันผิดหรือถูกมาบล็อกการเล่าเรื่องของเรา

อย่างนิยาย น้ำเงินแท้ ของคุณวินทร์ เลียววาริณที่คุณนำมาทำเป็นบทละครเพลง คุณเริ่มต้นจากอะไร

ผมขอเท้าความนิดนะครับ พอมาเรียนปริญญาโทมันก็จะมีการเรียนทั้งเขียนบทละครพูด และละครเพลง ซึ่งละครเพลงนี่ไม่ได้บังคับ แต่ผมขึ้นมาในระดับแอดวานซ์ ผมเป็นคนเลือกเองว่าเราอยากเขียนอะไร และอาจารย์จะเป็นคนผลักดันตลอดว่าควรจะเลือกอะไรที่เรายังไม่เคยทำและท้าทายเรา ผมก็เลยคิดว่าการเขียนละครเพลงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าจะยาก และน่าฝึกมาก อาจารย์ส่งผมไปเรียนกับพี่โจ้ (ดารกา วงศ์ศิริ) ที่ดรีมบอกซ์ ซึ่งเป็นมืออาชีพด้านละครเพลง

ตอนนั้นยังคิดอยู่ว่าจะเลือกเรื่องอะไรมาเขียนดี บังเอิญผมเพิ่งอ่าน น้ำเงินแท้ ของคุณวินทร์ ก็คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นโมเดลที่เอามาใช้ฝึกเขียนละครเพลงแบบ epic ได้ ผมจึงใช้เรื่องนี้เป็นโมเดลในการเขียน ไม่ได้เริ่มจากแพสชั่นอะไรเลย เพราะปกติแล้วผมอ่านหนังสือของคุณวินทร์มาตั้งแต่เรียน ม.สองแล้ว อ่านทุกเล่ม

จากนิยายเรื่องนี้ วิธีการทำงานเขียนบทละครเพลง คุณเริ่มอย่างไร

ถ้าพูดถึงตรงนั้น จุดเริ่มแรกผมต้องคิดก่อนว่า ในการเป็นละครเพลงมันก็มีกติกาของมันอยู่ คือ ทำไมเรื่องนี้ถึงต้องเป็นละครเพลง เริ่มตรงนั้นก่อน และถ้าเป็นละครเพลงแล้วมันเล่าอะไรที่เหมาะกับการเล่าด้วยละครเพลง เล่าประเด็นอะไร เล่าความคิดอะไร

จากนั้นมาเริ่มที่ตัวหนังสือก่อน ว่าจริงๆ แล้วทำไมเขาถึงต้องเล่ายาวขนาดนี้ ทำไมจะต้องผ่านให้เห็นชะตากรรม เป็นเหมือน documentary ที่ละเอียดแบบนี้ ก็พอให้เห็นว่าความขัดแย้งสำคัญของมันก็คือ การเปลี่ยนผันของการเมือง เวลา และชะตากรรมของคนที่อยู่ในคุกตลอดสิบเอ็ดปี เพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง นั่นเป็นจุดตั้งต้นที่จะใช้เขียนบท

พอตั้งโจทย์แบบนี้ปุ๊บ อย่างไรก็ยาว เพราะมันต้องทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลา ชะตากรรมของผู้คนในเรื่องมากมาย แต่ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า ละครเวทีนั้นมีเวลาจำกัด เราไม่สามารถทำเป็นซีรีส์ได้ ซึ่งบทเพลงนี่ละเป็นตัวช่วยที่ดี

จากนั้นก็มาดูว่ามีรูปแบบของละครเพลงแบบไหนที่จะช่วยทำให้เรื่องมันเคลื่อนไปข้างหน้า และฟังก์ชันของดนตรีหรือเพลงช่วยตอบคอนเซ็ปต์ของเราที่วางไว้ มันก็มีละครเพลงแบบ sung-through นี่ละ พอไปถึงตรงนั้นแล้วผมก็ไปนั่งปรึกษากับพี่โจ้ว่า ละคร sung-through เป็นแบบไหน บทเพลงควรจะต่างจากละครร้องสลับพูดอย่างไร แล้วค่อยๆ วางโครงสร้างกัน

ซึ่งความจริงมันก็เหมือนกับละครพูดทั่วไป คือต้องวางโครงสร้างก่อนว่าจะเลือกอะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้าง ที่เป็นแกนหลักของเรื่องจริงๆ เราจะตามตัวละครตัวไหน เราจะชูตัวละครตัวไหนเป็นหลัก ซึ่งในเรื่องนี้ แน่นอนว่าคือ ‘ต้นแสง’ กับ ‘ประจักษ์’ แต่อย่างอื่นในเรื่องเราก็ไม่ได้ทิ้งไปนะครับ เราแค่จัดลำดับความสำคัญของมัน และไปในทางนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว เงื่อนไขของละครเวที โดยเฉพาะละครเพลงคือ เราต้องเลือกอะไรที่คุ้มค่าและชัดเจนที่สุดในการเล่าเรื่อง  

ต้องรู้สึกอินกับนิยายก่อนที่จะเขียนบทด้วยหรือเปล่า

อินครับ ความจริงมีประเด็นที่ผมอินมากๆ อยู่แล้วในเรื่องนี้ และใช้มันเป็นแรงขับในการเล่าเรื่องใหม่ แต่ก็อย่างที่บอกละครับว่า มันแชร์กันระหว่างความอยากจะเขียนบทละครเพลง กับตัวเนื้อหา ผมอยากทดลอง แล้วยิ่งโครงสร้างของเรื่องมันท้าทายแบบนี้ด้วย มันยิ่งทำให้ผมอยากอยู่กับมัน

ส่วนประเด็นที่ชอบมากจริงๆ คือเรื่องการต่อสู้ของตัวละครต่างๆ ในคุก ผมไม่เคยรู้จักหรือเห็นคนในยุคสมัยนี้ที่ต่อสู้อย่างแข็งขันอย่างนี้ โดยเฉพาะคนที่มีวิชาชีพชัดเจนอย่างนักเขียน นักวิชาการ อย่างการเขียนดิกชันนารีในคุกงี้ ใครเขาทำกัน ผมไม่เคยคิดเคยฝันมาก่อนว่าจะมีคนกล้าทำแบบนี้ด้วย แต่พอได้รู้ก็ โห…เขาต้องมีแรงขับเคลื่อนมาจากไหนเหรอที่จะทำสิ่งนี้ ถ้ามันไม่ใช่การมองเห็นศักยภาพหรืออิทธิพลของวิชาชีพและตัวเอง

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องความไม่แน่นอนของเกมการเมือง เมื่อสิบปีที่แล้ว อย่างรุ่นผมนี่ไม่ทันยุครัฐประหาร พ.ศ. 2535 เพราะว่าเพิ่งเกิด แต่เพียงแค่สิบปีที่ผ่านมาที่ผมเพิ่งโต ผมก็เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนผันทางการเมืองบางทีมันก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ใหญ่สุดกลายเป็นต่ำสุด ต่ำสุดกลายเป็นใหญ่ได้ เพื่อนกลายเป็นศัตรูได้ และบางทีศัตรูก็มาเป็นเพื่อนเรา (ยิ้ม)มันก็แปลกดีครับ

แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ ในเรื่อง น้ำเงินแท้ ที่ผมชอบมากๆ เป็นประโยคที่อยู่ในหน้า 373 คุณวินทร์บอกว่า “กฎของการอยู่รอดทำให้เราบางคนเปลี่ยนไป เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง เส้นแบ่งระหว่างปัญญาชนกับคนเลวก็เลือนหายไป พวกเราเข้าคุกเพราะอุดมการณ์ที่หมายจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่ความยากลำบากในคุกทำให้อุดมการณ์นั้นค่อยๆ จางหายไป เราจำไม่ได้แล้วว่าแผนล้อมกวางคืออะไร หลายคนเลิกเชื่อความดีของมนุษยชาติแล้ว เมื่อถึงจุดนี้ ก็นับว่ากบฏบวรเดชพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง เรามิเพียงเปลี่ยนประเทศไม่ได้ เรายังเปลี่ยนไปเป็นคนที่เราเคยเกลียด” 

เออ…เราต้องสู้ขนาดไหนจนเราต้อง transform ไปเป็นคนที่เราสู้ด้วย หรือเราต้องสู้ด้วยวิธีการไหน จนเราลืมไปแล้วว่าเราสู้เพราะอะไร เพื่ออะไร มันเป็นสัจธรรมที่มีแต่เวลาเท่านั้น ที่จะแสดงสัจธรรมตรงนี้ออกมาได้ และเวลาขนาดนี้ต้องอยู่บนเวที เพื่อจะแสดงไอเดียหรือสัจธรรมนี้ออกมาให้ได้ น่าสนใจมาก

น้ำเงินแท้ เป็นผลงานเขียนบทละครเพลงเรื่องแรกของคุณใช่ไหม

ใช่ครับ เป็นเรื่องแรกที่ผมฝึกเขียน และด้วยความที่เป็นเรื่องแรกก็ต้องมีบรรณาธิการ ซึ่งก็คือพี่โจ้ คอยขัดเกลาให้ หลังจากที่จะเริ่มเข้าไปเป็นโปรดักชัน พี่โจ้ขัดเกลาให้ทั้งหมดจากที่เป็นโครงร่างของผม

ความจริงมันเป็นเรื่องประสบการณ์ชัดๆ เลยครับ พอมานั่งอ่านดราฟต์ที่พี่โจ้ขัดเกลาให้ ก็พบว่า เออ…บางทีเราเขียนไปตามที่เห็นในหัวเรา แต่พี่โจ้เกลาให้จากหัวที่เห็นเวที และหัวที่ทำงานนี้มาสาม-สี่สิบปี เขาเห็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริงได้ แต่ของเรามีแต่ความน่าจะเป็นหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องประสบการณ์

เห็นถึงความยากง่ายของละครเพลงกับละครพูดไหม

กติกามันคนละแบบครับ ละครพูดเป็นภาษาปกติของเรา เป็นเหตุการณ์ปกติของเราที่เรามองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ละครเพลงคือการระเบิดอารมณ์ความรู้สึก ความคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณของตัวละคร ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่มีอย่างนี้ อย่างโดนไล่ออกจากงานมาแล้วร้องเพลงอยู่ในบีทีเอส ในชีวิตจริงเราทำไม่ได้ และเราจะไม่ทำ (หัวเราะ) แต่ว่ามันเป็นกติกาของโลกละครเพลง เราให้ตัวละครพูดและร้องสิ่งที่อยู่ภายในของเขา แต่ว่ามันไม่ใช่แค่การร้องเฉยๆ เป็นการร้องที่ขับเคลื่อนเรื่องไปด้วย เป็นส่วนประกอบของเรื่อง เป็นกติกาที่ละเอียดกว่า กระชับกว่า และต้องชัดเจนกว่า อันนี้คือความต่าง

จากการทำงานละครเวทีมา มีเรื่องไหนที่คุณรู้สึกภูมิใจและปลาบปลื้มมากที่สุด

รื่องล่าสุดครับ Long Live Jit Poumisak ที่เป็นโชว์เคส เพราะเป็นการทำงานที่ยาวนานที่สุด มันพัฒนามาจากละครพูดก่อน (‘เนบิวล่า’ บทละครจากชีวประวัติช่วงหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์ กำกับฯ โดยสวนีย์ อุทุมมา ช่วงปี 2560) และมีจุดตั้งต้นจากบุคคลคนเดียว จากความสนใจในตัวบุคคลมันเริ่มจากแพสชั่น และมันสมดุลกันระหว่างแพสชั่นในเนื้อหากับแพสชั่นในรูปแบบที่เราต้องการจะฝึกฝนด้วย

ทราบมาว่าเรื่องนี้คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ไปดูแล้วชื่นชม

อ๋อ…เขาต้องชื่นชมอยู่แล้วครับ (หัวเราะ) เพราะก่อนหน้าที่เขาจะมาดู เขาเพิ่งโดนคดีเกี่ยวกับสถานภาพ สส. แล้วเขาก็โพสต์บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ลงในโซเซียลด้วย ผมว่าเขาชอบจิตร ภูมิศักดิ์อยู่แล้วโดยส่วนตัว

จริงๆ แล้วเรื่อง Long Live Jit Poumisak คุณต้องการจะบอกอะไรคนดู

มันเป็นการถามมากกว่า ผมก็ยังถามตัวเองอยู่เลยว่า การหาว่าอะไรมันจริงหรือไม่จริง เป็นการเชื่ออะไรมากๆ เป็นการทำให้อะไรมันศักดิ์สิทธิ์มากๆ และยึดเอาสิ่งนั้น มันใช่ไหม แล้วถ้ามันศักดิ์สิทธิ์มากขนาดที่คนเราสามารถฆ่ากันได้เพื่อสิ่งนั้น มันจะศักดิ์สิทธิ์ไปทำไม

มีหนังสือหลายเล่มเลยครับที่พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์เกินไป ซึ่งมันก็มาจากเรากันเองทั้งนั้น เราใช้ความจริงบางอย่างที่ไปทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ จนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย และเราใช้มันเป็นอาวุธเพื่อคงศักยภาพของเราไว้ ซึ่งสำหรับผมแล้วสิ่งที่น่ายึดถือจริงๆ คือความหลากหลาย ที่เราไม่มีทางทำให้มันเหมือนกัน คนก็ตาม ธรรมชาติหรือสิ่งต่างๆ ก็ตาม ไม่มีทางเหมือนกัน เราจะจับให้มันไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ คนนี่ยิ่งชัดเลย เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในความหลากหลายเหล่านี้ให้ได้ โดยที่เราไม่ทำร้ายกัน

ทำงานศิลปะบันเทิงแบบนี้ คุณมีความกลัวหรือเกรงการเลือกข้างบ้างไหม

(หัวเราะ) มันต้องมีข้างอยู่แล้ว ธรรมชาติยังมีข้างเลย ซึ่งตัวที่จะใช้เป็นสิ่งกำหนดว่าเราอยู่ข้างไหนเป็นหลักการ ผมเคยอ่านทวิตเตอร์ของอาจารย์สฤณี (อาชวานันทกุล) ท่านบอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าเรามีอคติไหม ให้ลองเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่เราไม่ชอบ ไปสวมกับคนที่เราชอบ ในความผิดเดียวกันนะ ว่าความรู้สึกที่เรามีมันต่างกันไหม

พอผมได้มาทำงานเรื่องแบบนี้ มันก็ทำให้เห็นอย่างละเอียดมากขึ้น ตั้งแต่เกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ยาวมาเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่สิบปีที่มีการเลือกข้าง มันมีทุกที่ทุกประเทศทั่วโลก แต่ในมุมของผม ผมว่ามันมีพัฒนาการในการรับรู้ของผู้คน พัฒนาการในการมองเห็นที่กว้างขวางมากขึ้น มีการตรวจสอบ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของการตรวจสอบหรือพลังในการตรวจสอบของเราจะมีผลดีมากน้อยแค่ไหน แต่มันมี มันมีสมรภูมิใหม่ๆ เกิดขึ้น ในโทรศัพท์มือถือ ในคอมพิวเตอร์ ในโลกโซเซียล มันทำให้เห็นว่ามีการรับรู้ รู้ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร

แต่มันก็มีข้อเสียของมัน พอรู้มากเข้า ก็ไม่รู้ว่าควรจะยึดอะไร อะไรจริงอะไรไม่จริง fake news ใน fake news เต็มไปหมด แต่มันเป็นพัฒนาการสำคัญ เพราะว่าเขากลัวกันเหลือเกิน พัฒนาการนี้ ทั้งสองฝ่ายกลัว ไม่มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้จริงๆ

คุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองหรือเปล่า

 การเมืองก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกผลักดันโดยอาจารย์และจากตัวผมเอง พอมาเรียนปริญญาโท อาจารย์ก็ผลักดันให้เราไปในทิศทางที่เราไม่เคยไป ปกติแล้วเราก็ทำละครที่มีบทอยู่แล้ว บทคลาสสิกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เกี่ยวกับการบ้านการเมืองของฝรั่ง แต่พอตั้งด้วยโจทย์แบบนี้แล้ว เราก็อยากไปในทางที่เราสนใจ แต่ไม่เคยได้ลงลึกเลย คือ ประวัติศาสตร์และการเมืองที่เราไม่เคยรู้เลย เท่าที่รู้อย่างมากก็ที่บ้าน ที่เปิดทีวีดูเมื่อสิบปีที่แล้ว

แต่มันก็เป็นพื้นที่ที่น่าลุ่มหลงมากๆ เพราะมันมีเรื่องเล่าที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เยอะมาก ที่น่าจะถูกนำมาเล่า และมีหลายเรื่องที่ห้ามเล่า (ยิ้ม) เป็นวัตถุดิบที่ดีมากครับ

อย่างเรื่อง น้ำเงินแท้  ในฐานะคนเขียนบท คุณรู้สึกอย่างไรกับการเมืองในยุคนั้น

อืม…มันมีหลายเรื่องเล่า หลายโครงเรื่องที่ถูกผลิตออกมา ในช่วงเวลานั้น เราจะได้ยินประโยคประเภท “ชิงสุกก่อนห่าม” “เจ้าทำนาบนหลังคน” “สละราชย์สมบัติโดยที่คืนให้กับประชาชน ไม่ใช่ให้กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” อะไรแบบนี้ เต็มไปหมดเลย มันเลือกเชื่อง่าย เลือกเข้าข้างง่ายมาก พูดง่ายๆ คือ ฝั่งเจ้า กับฝั่งคณะราษฎร ว่าจะเลือกเชื่อข้างไหน

แต่มุมที่น่าสนใจมากสำหรับผมก็คือ การต่อสู้บนความเชื่อของสองฝั่งนี้ การผลิตความเชื่อ และการเคลมว่านี่คือความจริงต่างหาก ของทั้งสองฝั่งที่แข่งขันกันมากๆ ในช่วงเวลานั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังแข่งขันกันอยู่ ตรงนี้น่าสนใจมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถหาเรื่องราวมาอ่านได้ทั่วไป ไม่ได้มีการปิดกั้น เราจะอ่านข้อมูลของฝั่งไหนก็ได้ แต่ที่น่าสนใจอย่างที่บอกคือ การต่อสู้ การแย่งพื้นที่ตรงนี้ว่าของใครถูกของใครผิด อย่างหมุดของคณะราษฎร มันหายไปไหนยังไม่มีใครรู้เลย มันหายไปอย่างไร และมันสำคัญอย่างไร ตรงนี้น่าตรวจสอบ น่าค้นหา

พูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้น คุณคิดอย่างไรที่ปัจจุบันมีนักการเมืองบางกลุ่มยังมีความคิดจะย้อนกลับไปยึดแนวทางเดียวกันกับคณะราษฎร

ประเด็นคือพวกเขาคิดอะไร ถ้าเป็นแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน มันก็มีเหมือนกัน และเป็นแนวนโยบายที่ให้พื้นที่กับเรื่องนี้มากขึ้น ถึงได้กล่าวหรือโฆษณาว่า ให้มากขึ้น ซึ่งเขาก็ต้องเคลมละครับ เพราะว่าก่อนหน้านั้นมันส่งผลอย่างไรต่อมา เกิดสงครามโลก และรัฐบาลก็ทำประเทศเจ๊ง

มันก็ตามหลักทฤษฎี เมื่อองค์รัฏฐาธิปัตย์ทำให้ประชาชนตกไปอยู่ในสภาวะธรรมชาติที่คนจะฆ่ากันตาย หรือสภาวะสงคราม ตัวเองก็ไม่มีความชอบธรรมในการปกครองอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงมีการดิสเครดิตอย่างที่เห็นในใบปลิวหรือใบประกาศที่แถลงการณ์ ถามว่ามันเป็นเรื่องจริงไหม มันก็เป็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง

ส่วนคำถามที่ถามผม ผมต้องถามกลับไปว่า แล้วเขาจะเอาอะไรมา เอามาแล้วอย่างไร จะเอามาหรือไม่เอามาแล้วมันจะเดือดร้อนตรงไหน คำถามที่น่าจะถามกลับไปก็คือ แล้วกลัวอะไร (ยิ้ม) ถูกไหมครับ
ทุกวันนี้คนในวงการบันเทิงมักจะกลัวกันเรื่องการแสดงความเห็นทางการเมือง คุณคิดอย่างไร

ผมว่าก็คงต้องกลัวกันนะครับ เพราะว่าสถานภาพ ผลประโยชน์ และส่วนต่างๆ ของเขาผูกพันอยู่กับสังคม เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะสงวนการแสดงออกตรงนี้ แต่คำถามที่จะย้อนถามกลับไปก็คือ แล้วเมื่อไหร่สังคมเราจะเปิดกว้างมากพอที่จะให้เขาได้พูดในสิ่งที่เขาคิด

เพื่อนๆ น้องๆ ผมซึ่งเป็นดารานักแสดงหลายคน มีการจัดกลุ่มกันว่า นี่คือดารานักแสดงฝ่ายประชาธิปไตย นี่คือดารานักแสดงฝ่ายนิยมเผด็จการ (หัวเราะ) ก็ว่ากันไป แล้วจะอย่างไร มันเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน ก็แสดงความคิดเห็นไป

ผมเคยอ่านเจอในหนังสือ Free Speech เล่มเล็กๆ เป็นความรู้ฉบับพกพา เขาบอกว่า เราต่อสู้กับคนคนนี้ สมมติว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราเกลียดเขา เราไม่ชอบเขาในฐานะที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการบริหารประเทศของเขา แต่เราไม่ได้เกลียดเขาในฐานะที่เขาเป็นพ่อคน เป็นสามี เป็นคนคนหนึ่ง

เพราะฉะนั้น บางทีเราอาจต้องแยกให้ออกไหมว่าเรากำลังโจมตีอะไร หรือเราไม่โอเคกับอะไรของเขา