ปีนี้คณะละคร Dreambox จะมีอายุครบ 33 ปี จึงมีวาระฉลองแบบจัดเต็มด้วยละครเพลงสามเรื่องด้วยกัน นั่นคือ นางฟ้า เดอะมิวสิคัล, แม่นาค เดอะมิวสิคัล และ น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล โดย ‘นางฟ้า’ นั้นเคยทำการแสดงมาแล้วเมื่อปี 2534 ในชื่อ ‘อลเวงเพลงนางฟ้า’ 

สูจิบัตรของ ‘นางฟ้า’ ระบุว่าทาง Dreambox เรื่องละครสามเรื่องนี้มาเพื่อเป็นตัวแทน ‘สามยุค’ ของทางคณะ โดย ‘นางฟ้า’ นั้นเป็นภาพสะท้อนของการทำละครในยุคบุกเบิก (ปี 2529-2541) ที่เน้นความสนุก เข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับผู้ชมทุกช่วงวัย ดังนั้นการกลับมารีสเตจครั้งนี้จึงรักษาโทนเรื่องแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ฉากเปิดของละครเล่าถึงนางฟ้าที่ตั้งใจลงมาโลกมนุษย์เพื่อให้พรกับผู้คน โดยเธอสามารถให้พรได้เพียงสามข้อเท่านั้น นางเอกของเรื่องเป็นนางฟ้าที่ยังขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ เธอยังใช้คาถาไม่คล่อง บางครั้งก็เผลอหัวร้อนจนหลุดจากภาพลักษณ์นางฟ้าใจดี และที่สำคัญเพื่อนๆ บนสวรรค์ได้เตือนเธอว่ามนุษย์สมัยนี้ไม่ได้ต้องการนางฟ้าแล้ว

จากนั้นนางเอกได้พบกับมนุษย์มากหน้าหลายตา ทั้งป้าเม้าร้านข้าวแกงและไหมฟ้าลูกสาวสุดเปรี้ยวของเธอ, วิน หนุ่มติดอ่างที่หลงรักไหมฟ้า และชาญชัย นายตำรวจที่ปลอมตัวมาสืบคดี ซึ่งก็เป็นตามขนบของมิวสิคัลที่มักมีความยาวราวสามชั่วโมง แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าองก์แรกของละครไม่ค่อยจะเดินหน้าไปไหนสักเท่าไร โดยหลักเป็นการแนะนำตัวละครและสถานการณ์ขบขันที่นางฟ้าต้องประสบ บางช่วงก็แสนยืดยาว เช่น ตอนเล่าภูมิหลังของตัวร้ายอย่างสินจัยที่ไม่นำพาไปสู่อะไร ไปๆ มาๆ ถึงขั้นต้องถามตัวเองว่า เอ๊ะ นางเอกมาโลกมนุษย์ทำไมนะ? แล้วเธอได้เรียนรู้อะไรบ้างเนี่ย?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องชื่นชมก็เป็นจุดแข็งที่ไว้ใจได้เสมอของ Deambox นั่นคือนักแสดงที่ร้องเพลงแบบมิวสิคัลได้จริงๆ (ไม่ใช่การเอานักแสดงที่มีชื่อเสียงมาร้องเพลง) เพลงโดยรวมถูกเรียบเรียงได้ดี ทำนองและภาษาลื่นไหล จะมีติดบ้างที่ตัวละครหนุ่มติดอ่าง แม้นักแสดงจะเล่นได้สมบทบาท แต่การนั่งดูตัวละครนี้ยาวนานเป็นชั่วโมงก็ทำให้ทั้งลุ้น เหนื่อย และอึดอัดไปพร้อมกัน

อีกองค์ประกอบที่ผู้เขียนชื่นชอบใน ‘นางฟ้า’ เป็นพิเศษคือการออกแบบงานสร้าง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ Dreambox ทำได้ดีเสมอ) การเปลี่ยนฉากทำได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ธีมโดยรวมเป็นเรื่องแฟนตาซี จึงเต็มไปด้วยการเล่นกับไลท์ติ้งกะพริบวิบวับ ความเป็นประกาย นำเสนอออกมาได้น่าหลงใหล รวมถึงฉากโหนสลิงบินขึ้นฟ้าทั้งหลายก็ออกมานุ่มนวล น่าเชื่อ ไม่ขบขัน 

ถึงกระนั้นสารหลักจากองก์แรกก็ไม่ค่อยจะชักจูงผู้เขียนเท่าไรนัก มันว่าด้วยโลกที่ผู้คนยึดติดกับชื่อเสียง เงินทอง วัตถุ และลืมความสุขเล็กๆ น้อยๆ ไป เช่นว่า ไหมฟ้าอยากประกวดเวทีสาวงามจนไม่ฟังคำทัดทานของวิน หรือชาญชัยที่มัวจริงจังกับการสืบคดีจนไม่เชื่อเรื่องราวของนางฟ้า แต่ธีมประเภทนี้ดูเป็นสิ่งที่เวิร์คเมื่อสักสิบปีที่แล้ว การบอกเล่าในยุคนี้กลายเป็นความเชยอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่แทบจะเชื่อกันว่านางฟ้า พระเจ้า หรือปาฏิหาริย์ไม่มีจริง อยากได้พรใดๆ ต้องดิ้นรนเสกกันขึ้นมาเอง 

องก์ที่สองของละครเริ่มมีความน่าสนใจขึ้นในเพลงที่นางฟ้าร้องทำนองว่าเธอเป็นส่วนเกินของทั้งโลกและสวรรค์ เธอติดอยู่ภาวะกึ่งกลาง ที่สวรรค์ก็ไม่มีอะไรให้เธอทำ ส่วนโลกมนุษย์ก็ไม่มีใครต้องการเธอ เป็นสารแรกจากละครที่ผู้เขียนรู้สึก ‘คลิก’ ด้วย แต่น่าเสียดายว่าตัวบทไม่ได้ขยายความเนื้อหาส่วนนี้สักเท่าไร แต่กลับดำเนินเรื่องต่อด้วยเหตุการณ์ชวนหัวของเหล่าตำรวจกับผู้ร้าย อันที่จริงมันก็ขบขันดีอยู่หรอก แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผลที่ไม่อาจมองข้าม (โดยเฉพาะพล็อตเรื่องยาเสพติดที่ผู้เขียนไม่รู้จะหัวเราะหรือกุมหัวดี)

หลังจากเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านพ้น นางฟ้ากำลังจะบินกลับสวรรค์ แต่แล้วด้วยเหตุแห่งความรักก็ทำให้เธอตัดสินใจอย่างที่ไม่เกินจะคาดเดานัก กลายเป็นว่าพลังแห่งความรักทำให้ปัญหาในใจทุกอย่างของนางฟ้าคลี่คลายได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อละครจบลงผู้เขียนหันไปถามเพื่อนว่า “แล้วตกลงนางฟ้ามาที่โลกทำไมนะ” อีกฝ่ายตอบว่า “มาหาผู้มั้ง” จากนั้นเราทั้งสองก็คุยกันว่าจะไปรับประทานอะไรต่อโดยไม่ได้พูดถึงละครเรื่องนี้อีกเลย  

ชัดเจนอยู่ว่า ‘นางฟ้า เดอะมิวสิคัล’ เป็นละครที่พยายามเป็นมิตรกับคนดูทุกกลุ่ม (รอบของผู้เขียนเต็มไปด้วยเสียงร้องกระจองอแงของเด็กน้อย) ผู้เขียนไม่น่าใช่ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ของละครเรื่องนี้แน่นอน แต่อดคิดไม่ได้ว่าบทละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้คลาสสิกอยู่เหนือกาลเวลาจนไม่ต้องปรับเปลี่ยนใดๆ จากสมัยสามสิบปีที่แล้ว ทำให้เห็นว่าความใส่ซื่อบริสุทธิ์ในยุคหนึ่งอาจกลายสภาพเป็นความไร้เดียงสาในกาลถัดมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเฝ้ารออย่างใจจดจ่อกับละครอีกสองเรื่องของ Dreambox ในปีนี้ ทั้งการรีสเตจของ ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล’ หนึ่งในละครเวทีที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดเรื่องหนึ่ง ด้วยการตีความน่าสนใจ ไม่ได้เน้นอิทธิฤทธิ์เฮี้ยนหลอนของแม่นาค แต่มุ่งไปยังความน่ากลัวของเหล่า ‘คนเป็น’ ส่วน ‘น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล’ ที่ดัดแปลงจากนิยายของ วินทร์ เลียววาริณ ก็น่าจับตาว่าจะสะท้อนทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมืองเฉดใด ในยุคที่สังคมบ้านเมืองดูสิ้นหวังและไร้ทางออกเฉกเช่นปัจจุบัน 

‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ แสดงที่ M Theatre ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/549983545515493/