ในสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ชีวิตคนเราทั้งโดดเดี่ยวและเป็นสาธารณะมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน เราเห็นปรากฏการณ์สถิติคนเป็นโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น คนใกล้ตัวเราเป็นโรคนี้กันมากขึ้น กระทั่งตัวเราเองก็สงสัยและหมั่นทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาตามอินเทอร์เน็ตบ่อยครั้งขึ้น
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วัชรสิทธา จัดเสวนาในหัวข้อ ‘Deconstruct Depression มองโรคซึมเศร้าในมุมใหม่’ ซึ่งท้าทายความคิดความเชื่อหลักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่พอสมควร โดยพูดถึงความเลื่อนไหลของการวินิจฉัย ‘โรค’ ซึมเศร้า การเมืองและผลประโยชน์เกี่ยวกับยาต้านเศร้าที่ขายดีเป็นอันดับ 2 รวมไปถึงหนทางจัดการ ‘ความต้องการ’ ที่ซ่อนอยู่และไม่สมหวังของมนุษย์
สมภพ แจ่มจันทร์ เป็นวิทยากรหลักของงาน เขาเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา Knowing Mind มาได้เกือบ 3 ปี พูดคุยกับผู้คนมากมายที่มีปัญหาด้านจิตใจ
แม้ทำงานอยู่ในแวดวงนี้แต่เขากลับตั้งคำถามกับโรคซึมเศร้า หรือจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือ ตั้งคำถามกับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
เส้นแบ่งทางการแพทย์ ‘ปกติ-ไม่ปกติ’ แปรเปลี่ยนเสมอ
สมภพเริ่มต้นด้วยแนวคิดว่าด้วย ‘เส้นแบ่ง’ ความปกติและความไม่ปกติที่ทางการแพทย์ยึดถือ โดยชี้ให้เห็นว่าเส้นแบ่งนี้ไม่ได้กำเนิดมาถูกต้องสถาพรแต่แรก หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามการค้นพบใหม่ๆ
“เส้นแบ่งในปัจจุบัน ทางการแพทย์อาจบอกว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในความเป็นจริงเป็นหรือเปล่า สำหรับผมคือ ไม่รู้ เพราะต้องย้อนไปดูมาตรฐานของการตัดสินก่อน”
เขายกตัวอย่างความไม่แน่นอนของมาตรฐานเส้นแบ่งว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาตรฐานทางการแพทย์ยังระบุอยู่เลยว่า homosexual เป็นความผิดปกติ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
ถ้าลากกันไปถึงอดีตอันไกลโพ้น ในยุคสมัยกรีก อาการคล้ายโรคซึมเศร้านั้นเรียกว่า เมลังโคเลีย (melancholia) ซึ่งฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาการแพทย์ในสมัยนั้นบอกว่าเกิดจากน้ำในร่างกายไม่สมดุล มีน้ำดีสีดำในร่างกายมากกว่าปกติ เมื่อมาถึงยุคสมัยของฟรอยด์ก็อธิบายเรื่องปมความขัดแย้งในจิตใจ โดยเห็นว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความรู้สึกสูญเสียทั้งในเชิงรูปธรรมกับนามธรรม
“การสูญเสียในทางรูปธรรม เช่น คนรักตายจากเราไป การเสียใจจากการสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นได้และฟรอยด์บอกว่าเป็นเรื่องปกติ เข้าใจได้ แต่มีความเสียใจอีกรูปแบบที่เป็นปัญหา ถ้าคนรักคุณเสียชีวิตแล้วคุณคิดว่าคุณจะไม่มีทางได้รับความรักอีกแล้วในชีวิตนี้ นี่คือต้นตอของโรคซึมเศร้า ฟรอยด์ตั้งข้อสังเกตมาเป็นร้อยปีและจากการทำงานของผมก็พบว่ามันมีความสูญเสียสองระดับนี้จริงๆ โรคซึมเศร้าเป็นโรคเกี่ยวกับการสูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิต ถ้าเราไม่สามารถทำความเข้าใจและจัดการกับความสูญเสียได้ เราจะไปต่อไม่ได้” สมภพกล่าว
ต่อมาในทศวรรษ 1950-1960 เริ่มมีการพิจารณาประเด็นทางสังคมร่วมด้วย สมภพเล่าว่า มีจิตแพทย์คนหนึ่งไปสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้าในลอนดอนเพื่อหาปัจจัยการเกิดโรค เขาพบปัจจัยอยู่หลายอย่างคือ 1.คนเหล่านี้เผชิญกับเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบกับความรู้สึกอย่างรุนแรง เช่น ตกงาน สามีทิ้ง ลูกเสียชีวิต 2.บางกรณีอาจเป็นความเครียดที่ค่อยๆ สะสม เช่น ภรรยาถูกสามีโขกสับตบตี 3.ขาดความเป็นชุมชน ขาดการสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่น่าเสียดายที่งานวิจัยชิ้นนี้ถูกมองข้ามไปในวงการแพทย์ยุคนั้น เพราะการคิดค้นยากำลังเฟื่องฟู วงการแพทย์มุ่งผลักดันไปในด้านชีววิทยา
ความบังเอิญของ ‘ยาต้านเศร้า’ ตัวแรก
ในยุคนั้นมีการค้นพบยาซึมเศร้าตัวแรกซึ่งสมภพบอกว่า จุดกำเนิดนั้นแสนตลก นักวิจัยคิดค้นยาที่ใช้รักษาวัณโรค พอทดลองใช้รักษาผู้ป่วยปรากฏว่ารักษาวัณโรคไม่ได้ แต่ช่วยได้เรื่องจิตใจ กินยาแล้วคนเป็นวัณโรคอารมณ์ดีร้องรำทำเพลงในโรงพยาบาล นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ายานี้มีสารช่วยเพิ่มเซโรโทนิน (Serotonin) จึงตั้งสมมติฐานว่าคนที่เศร้าอาจเป็นเพราะขาดเซโรโทนีน แต่มันกลายเป็นข้อสรุปของบริษัทยาเสียฉิบ บริษัทผลิตยาที่เพิ่มสารเซโรโทนินแล้วทดลองได้ผลกับคนเป็นซึมเศร้า จากนั้นมาถนนทุกสายก็มุ่งสู่คำอธิบายว่า คนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะขาดเซโรโทนินและสารอื่นๆ ตามแต่จะค้นพบเพิ่มเติม
จนเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว นักวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเริ่มอธิบายว่าโรคซึมเศร้าน่าจะมีสองแบบ คือ 1.โรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย endogenous depression คุณไม่ต้องเจอเรื่องอะไรเลย จู่ๆ ก็เป็นได้เพราะร่างกายเสียสมดุล 2. exogenous depression เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติในร่างกาย แต่เผชิญกับเรื่องราวบางอย่างที่จัดการไม่ได้
“ผมคิดว่ามันก้าวหน้ากว่าตอนนี้ที่พยายาม normalize ซึมเศร้าให้เป็นแบบเดียว เน้นกินยาโดยไม่ดูว่าเกิดอะไรขึ้น ผมยืนยันจากประสบการณ์ว่าไม่มีใครที่เป็นโรคซึมเศร้าโดยที่ไม่มีเรื่องราวในชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าตอนแรกอาจไม่เห็น ไม่เจอ แต่ลองค้นดูจะเจอ”
“เวลาเราเชื่อว่านี่เป็นเรื่องสมดุลของสารเคมีในสมอง มันก็เหมือนกับว่าเราไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้วนอกจากปรับสมดุล ตัวเราก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพราะมันเป็นเรื่องของสมอง แต่การอธิบายแบบนี้ก็มีข้อดี คนจะยอมรับและตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ง่าย”
เมื่อไม่มีเครื่องมือตรวจวัดบาดแผลในจิตใจ
“ถามว่าจิตแพทย์มีเครื่องมืออะไร เขาแค่คุยแล้วดูว่ามีอาการตรงกับเกณฑ์การวินิจฉัยไหม ผมไม่ได้จะโจมตีจิตแพทย์แต่จะบอกว่าน่าเห็นใจเพราะไม่มีเครื่องมือเหมือนหมอเฉพาะทางอื่นๆ การที่บอกว่าสารเคมีในสมองไม่สมดุล หมอไม่ได้วัด แต่หมอเพียงตั้งสมมติฐานเอาจากอาการที่คนไข้คุยกับหมอ”
เมื่อไม่มีตัวเลขว่าความเศร้าน้ำหนักเท่าไร บาดแผลในใจลึกกี่เซนติเมตร จึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการใช้วินิจฉัยโรค สมภพเล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากบรรดาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาได้เขียนคู่มือขึ้นมา เรียกว่า DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 5 แล้ว โดยคู่มือจะมีการจำแนกอาการต่างๆ ออกมาแล้วให้แพทย์ดูว่าคนไข้มีกี่อาการ รวมอาการต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วเรียกว่าเป็นโรคอะไร
“อาการมีอยู่จริง แต่ ‘โรค’ นั้นในทางจิตเวช เรายังไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ยังไม่พบการสูญเสียพื้นที่ในสมองส่วนไหนไป ยังไม่พบว่าสารเคมีตัวไหนทำงานผิดพลาดอย่างชัดเจนที่จะพูดได้ว่าอันนี้คือความผิดปกติ”
รู้จักเกณฑ์การวินิจฉัย ‘โรคซึมเศร้า’
“DSM เวอร์ชั่นที่ 5 ออกมาในปี 2556 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ถ้าคุณไปหาหมอในปี 2555 ตอนนั้นชีวิตคุณเศร้ามากเพิ่งสูญเสียพ่อแม่และคนรักไป อาการของคุณตรงกับโรคซึมเศร้า เป็นแบบนี้มา 1 เดือนหมอจะวินิจฉัยว่ายังไม่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะในเกณฑ์ปี 2555 ระบุไว้ว่า กรณีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักมีอาการเศร้ามากๆ ได้สองเดือน อย่าถามว่าสองเดือนมาจากไหนเพราะไม่ได้บอกไว้ พอปี 2556 ข้อยกเว้นนี้ไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครในชีวิตคุณจะตายหรือไม่ ถ้าคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า คุณเป็นโรคซึมเศร้าทันที นี่ดูเป็นเรื่องน่าตลกสำหรับผม เราเป็นสิ่งหนึ่งและไม่เป็นสิ่งนั้นได้ในชั่วข้ามคืน”
“ทั้งหมดนี้มันอยู่บนฐานของอาการ เราต้องไม่สรุปง่ายๆ ว่าเป็นโรค คุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นโรคซึมเศร้า มันเป็นคนละเรื่องกัน”
สมภพขยายความว่า การทำงานในวงการจิตเวชนั้น ทำงานบน symptom base สิ่งที่หมอจะสนใจเป็นหลักคือ อาการ อาการของโรคซึมเศร้ามี 9 อย่าง หน้าที่ของหมอคือดูว่าคนไข้มีอาการ 5 ใน 9 อย่างนั้นหรือไม่ ถ้าใช่เท่ากับเป็นโรคซึมเศร้า
“ทั้งหมดนี้มันอยู่บนฐานของอาการ เราต้องไม่สรุปง่ายๆ ว่าเป็นโรค คุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นโรคซึมเศร้า มันเป็นคนละเรื่องกัน”
“ถ้าใช้ DSM อย่างถูกวิธี ใช้เป็นไกด์ไลน์ประเมินความช่วยเหลือ อันนี้มีประโยชน์ ถ้าจะใช้เพื่อตัดสินว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย มันจะพาออกนอกเส้นทางที่ควรจะเป็น จิตแพทย์ส่วนใหญ่เข้าใจ ขณะที่บางคนไม่ได้สนใจบริบท”
สมภพยกตัวอย่างว่า ในต่างประเทศมีการแบ่งโรคซึมเศร้าเป็นระดับต่างๆ หากพบว่าเป็นระดับอ่อน ระดับปานกลางก็ไม่ต้องกินยา เพียงแค่ไปหาทางจัดการตัวเองก็พอ ไม่ว่าจะเป็นการไปเข้าคอร์สต่างๆ ไปเจอนักจิตบำบัด ไปออกกำลังกาย หาทางจัดการปัญหา ฯลฯ ถ้าเป็นซึมเศร้าระดับรุนแรงค่อยว่ากัน อาจต้องกินยาตั้งแต่แรกหรือไม่ก็ได้ แต่ของเมืองไทยนั้นกลับหัวกลับหาง
“จริงๆ ก็น่าเห็นใจ จิตแพทย์ในเมืองไทยทั้งประเทศมีไม่ถึง 1,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ลองนึกภาพการเป็นจิตแพทย์ในอีสาน คนไข้มาเจอเป็น 100 คน คุยไม่ไหวอยู่แล้ว ก็ต้องวินิจฉัยแล้วจ่ายยา แต่ในฐานะที่เราเป็นคนทั่วไป ถ้าเราสามารถประเมินตัวเองได้ ช่วยประเมินคนใกล้ชิดได้เพื่อเลือกหนทางในการจัดการกับปัญหา มันก็อาจลดภาระจิตแพทย์ลง และหาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้”
เกณฑ์ 9 อย่างประเมินโรคซึมเศร้า
เมื่อเผชิญความทุกข์หนักหน่วงที่สุดในชีวิตเวลานั้น อาการพื้นฐานคือ
(1) เศร้า ไม่ใช่แบบเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป แต่เศร้าและซึมตลอดวัน แทบไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกได้
(2) หมดความสนใจกับสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉยๆ
นอกจากนี้ยังมีอาการประกอบด้วย คือ
(3) ไม่อยากอาหารหรืออยากกินมาก และมีผลให้เปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวมากกว่า 5% ภายใน 1 เดือน
(4) นอนมากหรือนอนน้อยเกินไป
(5) สมาธิและความจำถดถอย การตัดสินใจไม่ดี เริ่มตัดสินใจไม่ได้แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
(6) รู้สึกกระสับกระส่ายเป็นพิเศษ อยู่ไม่สุข หรือเคลื่อนไหวช้าผิดปกติ
(7) อ่อนเพลีย แม้ไม่ได้ทำอะไร เหนื่อย ไม่มีเรี่ยวแรง
(8) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำ ผิดมากมายล้นเกิน แย่มากแบบไม่มีเหตุมีผล
(9) มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ไม่อยากอยู่ต่อ หรืออาจกำลังวางแผนว่าแบบไหนเหมาะกับตนเอง
“ตอนที่เผชิญกับความทุกข์ในชีวิต ผมลองไล่ดูพบว่ามีหกเจ็ดอย่างเลย หมายความว่าผมเป็นโรคซึมเศร้าไหม นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก เพราะโรคซึมเศร้ามันใกล้เคียงกับความทุกข์ในชีวิตมากๆ ประเด็นคือ เวลาเราเป็นทุกข์หนักมีอาการครบแต่มันอาจไม่นานนัก แต่แม้มีอาการครบเป็นเวลายาวนานเพียงพอก็ยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ยังมีเกณฑ์อีกข้อที่สำคัญมากๆ คือ เกิดผลกระทบต่อชีวิต เช่น การงานเสีย ความสัมพันธ์คุณพัง ไม่ดูแลตัวเองสุขภาพย่ำแย่ เมื่อเข้าสามอย่างนี้แล้วทั้งหมดจึงเรียกว่า โรคซึมเศร้าทางการแพทย์ ผมไม่ได้บอกว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่การแพทย์มองแบบนี้”
สมภพมองว่า แต่ละคนมีที่มาของอาการซึมเศร้าแตกต่างกัน แต่เมื่อมาหาหมอกลับถูกทรีตเหมือนกันคือ กินยา ในภาษาอังกฤษมี 2 คำ คือ symptom relieve หรือบรรเทาอาการ กับคำว่า cure หรือได้รับการรักษา เขามองว่ายานั้นไปบรรเทาอาการแต่ไม่ได้รักษา
“คนที่เป็นโรคซึมเศร้ากินยาแล้วดีขึ้นมีเยอะไหม ผมว่าเยอะ แต่อาการดีขึ้น ไม่หมายความว่าแก้ปัญหาหรือหาย ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจว่าจุดตั้งต้นที่ทำให้เขามีอาการแบบนี้คืออะไร ถ้ายังจัดการไม่ได้มันก็จะกลับมาอีก”
“คนที่เป็นโรคซึมเศร้ากินยาแล้วดีขึ้นมีเยอะไหม ผมว่าเยอะ แต่อาการดีขึ้น ไม่หมายความว่าแก้ปัญหาหรือหาย ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจว่าจุดตั้งต้นที่ทำให้เขามีอาการแบบนี้คืออะไร ถ้ายังจัดการไม่ได้มันก็จะกลับมาอีก”
สิ่งมหัศจรรย์ของชีวิตที่ (อาจ) จะจัดการกับความเศร้า
แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร สมภพพูดถึงสิ่งมหัศจรรย์ของชีวิตที่ทุกคนมี แต่อาจมองข้ามหรือผุพังแหลกสลาย ต้องการการซ่อมแซม นั่นคือ เวลา และ ความเชื่อ
“จริงๆ ชีวิตเรามีสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทุกคนมี มันช่วยบรรเทาอาการได้และอาจช่วยแก้ปัญหาได้บางกรณี นั่นคือ เวลา สำหรับบางคนปัญหาบางอย่าง พอเวลาผ่านไป สถานการณ์คลี่คลายก็อาจไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่สิ่งที่เป็น มันเป็นปฏิกริยาของชีวิตที่ตอบสนองกับปัญหาที่กำลังเจอ ดังนั้น ถ้าเราจะเข้าสู่การรักษา ผลลัพธ์ต้องมากกว่าการให้เวลาเยียวยาเอง”
“สิ่งมหัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมี คือ ความเชื่อ ความเชื่อว่าเราได้รับการเยียวยา สมมติท่านเป็นซึมเศร้าแล้วผมแอบเอายาใส่น้ำเปล่าให้ท่านกิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือท่านจะเหมือนเดิม แต่ถ้าผมเอาน้ำเปล่าใส่วิตามินแล้วบอกว่าอันนี้คือยาซึมเศร้าตัวล่าสุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาด เชื่อได้เลยว่าไม่กี่วันท่านจะรู้สึกว่ายานี้ดี มันมีการทดลองจริงๆ เรื่องยาหลอกและผลลัพธ์ออกมาบางทีแทบไม่แตกต่าง ดังนั้น เรื่องของจิตใจเป็นสิ่งใหญ่หลวง ถ้าเราเชื่อว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา กำลังได้รับอะไรบางอย่างมาจัดการกับปัญหา มันก็จะช่วยเหมือนกัน”
สมภพบอกว่า เรื่องทางใจหรือเรื่องความเชื่อนี้เชื่อมโยงได้กับศัพท์ทางการแพทย์คำหนึ่งคือ placebo หรือภาษาไทยคือ ยาหลอก
การวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากทำขึ้นก็เพื่อบอกว่า หากจะให้ยาเพื่อการรักษา ประสิทธิภาพจะต้องมากกว่า placebo ถ้าไม่มากกว่าแสดงว่านั่นเป็นเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องจิตเวชซึ่งเราบอกไม่ได้ว่ามันผิดปกติที่ตรงไหนก็ยิ่งยากไปกันใหญ่ ดังนั้น การทำให้ใจมีพลังขึ้นก็จะมีส่วนช่วยได้เหมือนกัน
สมภพขยายความเรื่องยาว่า ปัจจุบันในการทดลองยาของวงการแพทย์นั้น จะนำคนมา 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยาจริง อีกกลุ่มให้ยาหลอก แล้วเทียบเคียงกัน ผลส่วนใหญ่ปรากฏว่ายาจริงมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วพบว่ายาต้านเศร้ามีประสิทธิภาพมากกว่า จึงยิ่งย้ำว่ามันเป็นผลจากสารเคมีในสมอง ทำให้ยอดขายยาต้านเศร้าขายดีเป็นอันดับ 2 ของยาทุกประเภท รองจากยาโรคหัวใจ มูลค่าของมันมหาศาล และมีผลประโยชน์เยอะมาก สมภพตั้งข้อสังเกตเล็กๆ ไว้ว่า การทดลองนั้นผู้ให้ทุนส่วนใหญ่ก็คือบริษัท และเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ถกกันได้อีกหลายวัน
ฉันต้องการอะไรกันแน่
ในมุมมองของสมภพ โรคซึมเศร้าเกิดจากการที่คนเรามีความต้องการบางอย่างแต่ไม่เป็นไปแบบที่ต้องการ ส่วนโรควิตกกังวลคือการเชื่อว่ามันจะไม่เป็นแบบนั้น ทั้งสองโรคมีความคาบเกี่ยวกัน ซึมเศร้ามองปัจจุบันกับอดีต ส่วนวิตกกังวลมองไปในอนาคต
สมภพมองว่า พฤติกรรมของเราแต่ละวันขับเคลื่อนโดยความต้องการพื้นฐาน เราอยากดื่มน้ำเพราะร่างกายต้องการจริงๆ แต่เวลาพูดถึงจิตใจ มันมีความต้องการที่อ่านสัญญาณยากกว่าและต้องการการดูแลเหมือนกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ‘ใจ’ ของเราต้องการอะไร ตกลงฉันต้องการอะไรกันแน่ พอไม่รู้ถึงความต้องการภายในจิตใจก็จัดการกับมันไม่ถูก พอจัดการไม่ถูกก็มีผลกระทบตามมา
การไม่รู้ความต้องการของตัวเองโดยมากแล้วเกิดจากอะไร สมภพนำเสนอว่า คนเรามักตัดสินความต้องการด้วยความคิดว่า ฉัน ‘ควร’ และ ‘ไม่ควร’ ต้องการอะไร แทนที่จะแค่เพียงรับรู้ว่ามีความต้องการนั้นๆ ไหม โดยยังไม่ใส่คุณค่าเข้าไป ถ้าพบว่ามี ก็ดูว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ความต้องการที่ไม่ได้รับการตระหนักรู้ ไม่ได้รับการใส่ใจจะไม่ได้หายไปไหน ทฤษฎีจิตวิเคราะห์บอกว่า มันจะซุกซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา เราเพียงไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ว่ามีมันอยู่ก็ยิ่งจัดการได้ยากขึ้น และมันจะก่อกวนเราอยู่ลึกๆ
“ไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี บางคนคิดว่าความต้องการทางเพศเป็นเรื่องไม่ดี และพยายามจะกดข่มมันไว้ มันไม่ออกมาในรูปแบบที่คุณรู้ตัวก็จะออกมาในรูปอื่น ความโกรธเป็นเรื่องไม่ดี คุณก็กดข่มมันไว้ พยายามเป็นมิตร ใจเย็น แต่ความโกรธนั้นก็ยังมีและไปแสดงออกในรูปแบบอื่น รูปแบบอื่นที่ว่านี้ในทางจิตเวชคือ อาการ อาการบางอย่างดูไม่เมคเซนส์เลยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ในแง่หนึ่งมันคืออาการของสิ่งที่คุณกดข่มมันไว้แล้วมันไม่มีทางออก”
ปล่อยวางเพราะความคิด กับ ปล่อยวางเพราะความเข้าใจ
บางคนพยายามลืมความต้องการนั้นหรือโฟกัสเรื่องอื่น แต่สิ่งที่ทำในการบำบัดคือ กลับไปดีลกับเรื่องนั้นๆ ไม่แก้ปัญหาความติดขัดบางอย่างด้วยการลืมหรือปล่อยวาง คำว่า ปล่อยวาง เองก็มีสองระดับ คือ 1.ปล่อยวางในระดับความคิด คือ คิดว่าต้องปล่อย ควรจะปล่อย 2.ปล่อยได้จริงๆ ในระดับของความรู้สึกและความต้องการ แต่คนมักใช้กันในความหมายแรก
“การปล่อยมันเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่บางทีเราก็ตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าปล่อยได้เพราะอะไร บางทีเราก็พยายามจะหาสูตรสำเร็จมากเกินไป แต่ปัจจัยสำคัญคือ ความเข้าใจ คุณต้องเข้าใจความต้องการของคุณก่อนไม่ว่าจะปล่อยวางมันหรือไม่ก็ตาม”
เมื่อรู้ความต้องการแล้วมันก็จะสัมพันธ์กับการใช้พลังงานในชีวิตเพื่อทำบางอย่างให้ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งคนเราอาจใช้พลังงานไปในทางที่เหมาะสมหรือไม่ก็ได้ เช่น เราต้องการความรักแต่พยายามผลักไสทุกคนออกไปจากชีวิตหมด
การจัดการพลังงานเพื่อบรรลุ (หรือวาง) ความต้องการ
“สมมติคุณต้องการความเข้าใจจากครอบครัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ครอบครัวไม่เข้าใจ ถ้าคุณเป็นเด็กก็ไม่รู้จะทำยังไง ควบคุมพ่อแม่ไม่ได้ พลังงานก็อาจไปทางอื่น อาจไปแสวงหาการยอมรับจากเพื่อนด้วยวิถีทางที่อาจไม่เหมาะสม แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการอยู่ดี เพราะต้องการจากพ่อแม่ มันทดแทนกันไม่ได้ คนคนนั้นก็อาจติดค้างใจ รู้สึกขาดความรักตลอดเวลา ไม่สามารถไปต่อได้ วันหนึ่งพอความรู้สึกนี้ทับถมมากๆ เข้าก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะรู้สึกผิดหวังกับชีวิตที่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการนี้ได้ ที่ยกตัวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ‘เสมอไป’ เพียงทำให้เห็นว่ามันอาจตามรอยกลับมาได้ว่ามีอะไรสักอย่างในชีวิตที่เราต้องการอยู่จริงๆ สิ่งนั้นเราไม่สามารถปล่อยวางได้ และมันติดค้างใจเรา”
สมภพเล่าว่า ในกระบวนการบำบัดจะชวนมองความต้องการตรงนี้ ซึ่งมีทางไปอยู่ 2 ทาง หนึ่ง ถ้าความต้องการนั้นยังมีความเป็นไปได้ก็อาจปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ เปลี่ยนพลังงานให้เหมาะสมขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ‘ความเหมาะสม’ นั้นก็แล้วแต่คนแล้วแต่กรณี สอง ถ้าความต้องการนั้นเป็นไปไม่ได้ก็ต้องมองให้เห็นนามธรรมที่อยู่เบื้องหลังมัน
“เช่น ถ้าความต้องการคือความรักจากแฟนคนเดิม เราตัดคำว่า ‘แฟนคนเดิม’ ออกไปได้ไหม กลายเป็นเราต้องการความรักจากใครสักคน ความต้องการที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ก็อาจเป็นไปได้ กับอีกแบบคือปล่อยวางมัน แม้ชีวิตไม่ได้เรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญเช่นกัน มองเห็นชีวิตจริงๆ ว่ามันไม่จบแค่นี้”
“ไม่มีหนทางไหนดีที่สุด มีแต่หนทางที่เหมาะกับแต่ละบุคคลและแต่ละสถานการณ์ กรณีโรคซึมเศร้าต้องพยายามมองให้เห็นว่า ที่มาไหนกันแน่ที่ผลักดันให้เขามีอาการของโรค คำตอบไม่ได้อยู่ที่เรา อยู่ที่เขา และบางทีเจ้าตัวเองก็อาจไม่รู้ชัดก็ได้ กระบวนการบำบัดจึงเป็นการทำงานกับส่วนนี้ อะไรกันแน่ในชีวิตที่เขาต้องการ ขาดไป หรือรู้สึกเสียใจ สิ้นหวัง ผิดหวังกับมัน” สมภพกล่าว
ไม่มีหนทางไหนดีที่สุด มีแต่หนทางที่เหมาะกับแต่ละบุคคลและแต่ละสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ความต้องการมีหลายมิติ อย่างความต้องการเฉพาะหน้า เช่นความต้องการคนที่จะมารับฟัง สมภพบอกว่าสิ่งที่เราจะสามารถทำได้ก็คือ ฟัง
“ไม่ต้องไปช่วยเขาคิดว่าจะต้องทำยังไง เขาต้องการคนฟัง เราก็แค่ฟัง” สมภพกล่าว
Tags: จิตวิทยา, โรคซึมเศร้า, depression, โรค, สมภพ แจ่มจันทร์