*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง

March Comes in Like a Lion หรือ 3-gatsu no Lion (ชื่อภาษาไทย ตราบวันฟ้าใส) เป็นมังหงะโดยอาจารย์ชิกะ อุมิโนะ เจ้าของผลงานที่ตราตรึงใจใครหลายคนอย่าง Honey and Clover (ชื่อภาษาไทย หวานใจกับใบโคลเวอร์) โดยมังหงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ตอนแรกตั้งแต่กรกฏาคมปี 2007 และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ความนิยมของมันทำให้มีการดัดแปลงเป็นทั้งอนิเมชั่นซีรีส์โดยสตูดิโอ Shaft และเป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่นในปี 2017 ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก NHK สมาคมแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย

ผู้เขียนเองเมื่อได้อ่านมังหงะและดูอนิเมะเรื่องนี้แล้วก็อดที่จะตกหลุมเสน่ห์ของอาจารย์อุมิโนะไม่ได้ ไม่ว่าจะเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ลายเส้นที่ดูนุ่มนวล ละมุน อ่อนโยน คาแรคเตอร์ที่น่ารักและน่าเอาใจช่วย รวมถึงบรรยากาศหน่วงๆ ที่ปะปนไปด้วยความสุข ซึ่งถ้าจะให้นิยามบรรยากาศของมังหงะเรื่องนี้ คำที่ตรงมากที่สุดก็น่าจะเป็น Happy Sad หรือสุขเคล้าเศร้า พร้อมรสชาติของการเติบโต มิตรภาพ และการดิ้นรนเกี่ยวกับชีวิตและความฝัน ที่ใส่เข้ามาอย่างกลมกล่อม โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจสัญลักษณ์ทั้งหมดในเรื่อง เราก็สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของแต่ละตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง

ชื่อภาษาอังกฤษของเรื่อง ล้อกับสำนวนที่ว่า ‘March comes in like a lion, and goes out like a lamb’ เปรียบดังสภาพอากาศของประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรในเดือนมีนาคม ซึ่งจะอยู่ช่วงฤดูหนาวถึงฤดูใบไม้ผลิ ในช่วงนี้อากาศจะเริ่มจากความหนาวเหน็บ และไม่น่ารื่นรมย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอากาศจะเริ่มเป็นมิตรกับเรามากขึ้น อบอุ่น และชวนให้รื่นรมย์ เหมือนกับเรื่องราวในมังหงะเรื่องนี้นี่เอง

มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคิริยามะ เรย์ (Kiriyama Rei) นักเล่นโชงิ (หมากรุกญี่ปุ่น) มืออาชีพที่มีฝีมือน่าจับตามอง เพราะเขาสามารถเข้ามาเล่นในวงการอาชีพได้ตั้งแต่วัยมัธยมต้นซึ่งถือว่าเด็กมาก เรียกได้ว่าเรย์จังเป็นอัจฉริยะในวงการโชงิ ทว่าเรย์เองก็เคยบอกเอาไว้ว่านอกจากโชงิแล้ว เรย์ก็ไม่เชี่ยวชาญอย่างอื่นเลย และเพราะการก้าวเข้ามาในวงการอาชีพตั้งแต่ยังเด็ก เรย์จึงเป็นต้องรีบเร่งเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่าเรย์แลกช่วงชีวิตวัยเด็กของตัวเองไปกับการเป็นนักเล่นโชงิมืออาชีพ

เรย์ เป็นเด็กกำพร้า พ่อของเขาที่เป็นนักเล่นโชงิฝีมือดีเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็กด้วยอุบัติเหตุ รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวของเรย์ด้วย เพื่อนของพ่อเรย์ โคดะ มาซาชิกะ ( Kouda Masashika) จึงรับเลี้ยงเขา ทำให้เขาต้องไปอยู่กับพี่สาวบุญธรรมและน้องชายบุญธรรมอีกคนหนึ่ง โคดะเองเป็นทั้งเพื่อนสนิทพ่อของเรย์และเป็นคู่แข่งโชงิ เขาเป็นนักเล่นโชงิมืออาชีพ ในระดับ 8 ดั้ง (ในระดับอาชีพจะเริ่มตั้งแต่ดั้ง 1 จนถึงดั้ง 9 ที่เป็นระดับสูงสุด แต่ก่อนจะขึ้นมาถึงดั้งอาชีพนั้นก็มีระดับอื่นๆ ก่อนหน้านั้นด้วยเช่นกัน) รวมถึงเป็นอาจารย์สอนโชงิของเรย์ เนื่องจากเรย์มีฝีมือการเล่นโชงิที่โดดเด่น เขาถึงได้รักและภูมิใจกับเรย์มาก แต่ความรักและภูมิใจในตัวเรย์ของโคดะนั้นเองกลับกลายมาเป็นมีดที่กรีดลึกลงไปในหัวใจของเรย์ และเปรียบเสมือนแผลที่ไม่มีวันหาย 

โคดะ เคียวโกะ (Kouda Kyouko) และ โคดะ อายูมุ (Kouda Ayumu) พี่สาวบุญธรรมและน้องชายบุญธรรมของเรย์มักรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเรย์เล่นโชงิเก่งที่สุด พ่อของพวกเขาจึงชื่นชมเรย์ออกหน้าออกตาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเคียวโกะ ที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมากกว่าใคร และเริ่มทำตัวต่อต้านเพื่อกลบปมด้อยของตัวเอง เธอรู้สึกไร้ค่าสำหรับพ่ออยู่เสมอ 

ความบาดหมางใจในครอบครัวที่ทวีคูณมากขึ้นทุกวันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรย์คิดจะเป็นนักเล่นโชงิมืออาชีพ เพราะเด็กที่ไม่เชี่ยวชาญอะไรเลยนอกจากโชงิอย่างเขา ก็มีแค่ทางออกเดียวเท่านั้นคือหาทางมีชีวิตรอดด้วยโชงิ หลังจากเป็นนักเล่นโชงิมืออาชีพและมีรายได้เป็นของตัวเอง เรย์จึงตัดสินใจย้ายออกมาอยู่คนเดียว เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวโคดะต้องแตกสลายไปมากกว่านี้

ตัวละครคิริยามะ เรย์เป็นตัวละครที่มีลักษณะของคนที่มีภาวะซึมเศร้า เขาเก็บกดบาดแผลไว้ในใจ และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าอยู่เสมอ เหมือนกับความหมายชื่อของเขา เพราะ เรย์ ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ศูนย์ นั่นยิ่งตอกย้ำความคิดของเขาว่าตัวเขาเองไม่มีค่าอะไรเลย ในระยะแรกของเรื่องแม้ว่าเขาจะมีฝีมือในการเล่นโชงิแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้เลื่อนยศก้าวหน้ามากเท่าใดนัก และยังไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเลื่อนยศอีกด้วย (ตอนเปิดเรื่องเรย์อยู่ที่ระดับ 5 ดั้ง) วิธีการเล่นโชงิของเขาบ่งบอกได้ว่าเรย์ไม่ได้รักตัวเองเลยแม้แต่น้อย และนั่นถูกแสดงออกมาผ่านคำพูดของผู้เฝ้ามองการเล่นโชงิของเรย์ นิไคโด ฮารุโนบุ (Nikaidou Harunobu) ผู้เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งของเรย์ นอกจากนั้นยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเรย์อาจเป็นแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) หรือความบกพร่องทางพัฒนาการที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน 

อาการหลักๆ ของแอสเพอร์เกอร์คือ ความบกพร่องในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น บกพร่องในกิริยาท่าทางต่างๆ อย่างการสบตา การแสดงสีหน้า เป็นต้น รวมถึงไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีอายุระดับที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ทั้งนี้ยังมีข้อวินิจฉัยอีกหลายอย่าง ทว่าเรย์จังจะเป็นแอสเพอร์เกอร์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน เพราะมังหงะก็ไม่ได้บอกเล่าชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา แต่ว่าข้อเท็จจริงในเรื่องคือ เรย์บกพร่องในการเข้าสังคมเพราะสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวเขามา เรย์ต้องเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย รวมถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินของสังคม เป็นตัวปัญหามาตลอด อีกทั้งเรย์จังเองยังถูกกลั่นแกล้งทางกายและวาจาโดยเคียวโกะ นอกจากนั้นด้วยความเป็นเด็กเงียบๆ ที่เอาแต่เล่นโชงิเขาจึงมักถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้งอยู่เสมอ

ในอนิเมะเรื่องนี้มักจะวาดภาพเรย์จมอยู่ใต้น้ำ ตั้งแต่เปิดเรื่องมาไปจนถึงสถานการณ์สำคัญอย่างระหว่างการแข่งขันโชงิ เพราะตัวเรย์เองก็เหมือนจมอยู่ใต้น้ำลึกตลอดเวลา แม้จะมีความรู้สึกมากมายท่วมท้นอยู่ในอก แต่ก็ไม่อาจเปล่งเสียงให้ใครรับรู้ถึงความในใจได้

โคดะ เคียวโกะ พี่สาวบุญธรรมที่ทั้งรักและเกลียด

โคดะ เคียวโกะ นอกจากจะเป็นพี่สาวบุญธรรมของเรย์แล้ว เธอยังเป็นรักแรกของเขา แม้มังหงะจะไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่จากการปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเคียวโกะกับเรย์ และความอาทรห่วงใยของเรย์ที่มีต่อเคียวโกะ ทำให้เราสัมผัสได้ว่าเคียวโกะเป็นมากกว่า ‘พี่สาว’ เห็นได้ชัดเจนจากภาพแฟลชแบ็กที่เคียวโกะแอบเข้ามาในห้องนอนของเรย์เพื่อนอนด้วย และการสัมผัสเนื้อตัวเรย์ รวมถึงตอนที่เรย์โกรธแค้นโกะโต ผู้ชายที่เคียวโกะหลงรัก เมื่อเขาพูดจาดูถูกเคียวโกะว่าเป็นเพียงสตอล์กเกอร์ที่น่ารำคาญ

ในขณะเดียวกันเรย์ก็ถูกรังแกทางกายและวาจาจากเคียวโกะมาตลอด เรียกได้ว่าเคียวโกะคืออีกปัจจัยที่ทำให้เรย์กลายมาเป็นเด็กที่เก็บทุกอย่างไว้กับตัวเองแบบนี้ ทว่าความสัมพันธ์ที่เหมือนจะไม่ใช่พี่-น้องของทั้งสองคนนี้กลับตัดไม่ขาด เพราะต่อให้เกลียดกันแค่ไหนเคียวโกะก็ยังมาหาเรย์อยู่บ่อยๆ ยามที่ตัวเองต้องการที่อยู่ รวมทั้งต่อให้เรย์จะเกลียดคำพูด ท่าทางของเคียวโกะมากเท่าใด แต่สุดท้ายเรย์ก็ยังมีความปรารถนาดีต่อเคียวโกะอยู่เสมอ 

คำว่า Antagonist นั้นไม่อาจเป็นนิยามของเคียวโกะได้ เคียวโกะที่เกลียดเรย์มักจะมาหาเรย์เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคู่แข่งของโชงิให้เรย์ฟัง เช่น หากคู่แข่งของเรย์แพ้ในคราวนี้ เขาจะเลิกเล่นโชงิ หรือคู่แข่งคนนี้ของเรย์ชอบทำร้ายลูกและภรรยาเวลาที่เขาเล่นแพ้ เพื่อทำให้เรย์รู้สึกกดดัน และยอมจำนนพ่ายแพ้เพราะความรู้สึกผิด การกระทำของเคียวโกะอาจเรียกได้ว่าเป็นการขัดขวางเรย์ แต่สุดท้ายแล้วด้วยความรู้สึกที่ยึดโยงระหว่างเรย์กับเคียวโกะ ก็ทำให้เราไม่อาจเรียกเคียวโกะว่า Antagonist อย่างเต็มปากเต็มคำ

ระหว่างเคียวโกะและเรย์คือความสัมพันธ์แบบ hate-love relationship อย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด และยังเป็น toxic relationship อีกด้วย เพราะมีแต่จะบั่นทอนความรักตัวเองของเรย์ลงไปเรื่อยๆ

สามพี่น้องตระกูลคาวาโมโตะผู้เปรียบเหมือนวันฟ้าใสของเรย์

สามพี่น้องตระกูลคาวาโมโตะ (Kawamoto) พี่สาวคนโตคืออาคาริ (Akari) น้องคนรองคือฮินาตะ (Hinata) น้องคนเล็กคือโมโมะ (Momo) เป็นสามพี่น้องที่อยู่ละแวกเพื่อนบ้านของเรย์โดยลำพังกับปู่อีกคนหนึ่ง แม่ของพวกเธอเสียชีวิตไปแล้ว และพ่อก็ได้ทอดทิ้งพวกเธอไป แม้จะอยู่กันแค่สามคนพี่น้องแต่บ้านคาวาโมโตะก็มักจะมีบรรยากาศอบอุ่นและร่าเริงอยู่เสมอ 

บ้านคาวาโมโตะมักจะชวนเรย์มากินข้าวด้วยกัน เพราะเรย์ไม่ค่อยได้กินมื้ออาหารที่สมบูรณ์เหมือนคนอื่นๆ สักเท่าไหร่ ในตอนแรกบ้านของพี่น้องคาวาโมโตะเปรียบเสมือนคอมฟอร์ทโซนของเรย์ ไม่ใช่เพราะเรย์จะทำตัวอย่างไรก็ได้ แต่เพราะว่าบ้านคาวาโมโตะมีบรรยากาศอบอุ่น สดใส และต้อนรับเรย์ด้วยความเต็มใจเสมอ ทำให้เรย์สัมผัสได้ถึงคำว่า บ้าน และ ครอบครัวแบบที่เรย์ไม่เคยมีมาก่อนจากบ้านที่รับเลี้ยงเขาไว้

หากเคียวโกะคือคืนที่พายุหิมะถล่มเรย์จนรู้สึกหนาวเหน็บ บ้านคาวาโมโตะก็เปรียบดั่งวันฟ้าใสของเรย์

หลังจากที่ฮินาตะโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน เรย์นึกถึงตัวเองสมัยก่อนที่โดนแกล้ง เขามีแรงฮึดขึ้นมา เพราะความปรารถนาที่จะช่วยเหลือฮินาตะ เขาตั้งใจว่าจะต้องชนะการแข่งโชงิ และเลื่อนขั้นให้ได้เผื่อวันไหนที่ฮินาตะทนการกลั่นแกล้งไม่ไหว จะได้มีเงินสำรองไว้ย้ายโรงเรียน หรือเรียนติวพิเศษ สายสัมพันธ์พิเศษระหว่างบ้านคาวาโมโตะกับเรย์ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าบางครั้งครอบครัวก็ไม่ใช่สิ่งที่เชื่อมกันทางสายเลือดเสมอไป และสิ่งที่เรียกว่าความปราถนาที่จะช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นแรกผลักชั้นดีได้ทีเดียว จากทั้งเรื่องนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นว่าเรย์มุ่งมั่น ตั้งใจกับการเล่นโชงิจริงๆ จากที่แต่เดิมเขาก็แค่เล่นให้ผ่านๆ ไปเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพตัวเอง

การที่ตัวละครเติบโตเป็นขั้นบันได เดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากจุดเดิม ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ แม้กระทั่งอุปสรรคที่เรียกว่าตัวเอง การที่เราได้เอาใจช่วยตัวละครให้เติบโตไปเรื่อยๆ เป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของเนื้อเรื่องแบบ Coming of age และ March comes in like a Lion ก็ทำออกมาได้อย่างงดงาม

นอกจากนี้แล้ว มังหงะเรื่องนี้ยังสอนวิธีการเล่นหมากรุกญี่ปุ่นแบบเข้าใจง่ายด้วย คุณจะได้รู้ว่านักกีฬาโชงิญี่ปุ่นมีวิถีชีวิตอย่างไร เพราะอาจารย์คนวาดได้ปรึกษากับนักเล่นโชงิจริงๆ ในการเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา หรือแม้คุณจะไม่อินกับกีฬาชนิดนี้ แต่คุณก็สามารถเสพมังหงะที่เป็นดั่งบันทึกของคิริยามะ เรย์ได้อย่างอิ่มใจเช่นกัน 

ในฐานะ The Mo Ju ที่เป็นกลุ่มช่วงวัยที่กำลังเติบโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิต จึงอยากจะแนะนำมังหงะดีๆ แบบนี้ให้กับทุกคนได้ลองอ่านดู เผื่อวันฟ้าใสของใครยังไม่มาถึง March Comes in like a Lion อาจช่วยปลอบประโลมก่อนจะถึงวันนั้นได้

 

อ้างอิง:

http://www.geocities.ws/chesssiam/Story9.html

http://www.rajanukul.go.th/new/index.php?mode=academic&group=323&id=3501&date_start=&date_end=

https://sangatsu-no-lion.fandom.com/wiki/Rei_Kiriyama

Tags: