การเติบโตมาภายใต้ระบบการศึกษาไทย หรืออย่างน้อยที่สุดคือภายใต้อิทธิพลจากสื่อกระแสหลักของไทย มีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องพบเจอ ‘สถานที่แห่งหนึ่งในชนบท’ เป็นฉากหลังของเรื่องเล่าฉากแรกๆ ในชีวิต ฉากหลังซึ่งเราในฐานะพลเมืองของรัฐไทย น่าจะรู้สึกคุ้นเคยอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุดฉากหนึ่ง
ในฉากนั้น ตัวละครดำเนินเรื่องอาจแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและปัจจัยอื่นๆ อาจเป็น มานี และ มานะ สำหรับบางคน แก้ว และ กล้า สำหรับอีกคนหนึ่ง บ้างก็นึกถึง กะทิ หรือแม้กระทั่งตัวละครอื่นใดที่ปรากฏท่ามกลางกระแสธารแห่งวัฒนธรรมป็อป
ไม่ว่าตัวละครในใจเราจะเป็นใคร เมื่อมองไปรอบตัว เราแทบนึกไม่ออกว่า มีใครบ้างที่ผ่านวัยเด็กมาได้ โดยไม่เคยวาดเขียนภาพทิวทัศน์ชนบทในอุดมคติ อันประกอบไปด้วยบ้านหลังพอประมาณ ปลูกอยู่ข้างท้องนา ณ บริเวณด้านหน้าของภูเขาที่มีพระอาทิตย์ตกดิน
ภายใต้เปลือกนอกที่ถูกทาทับด้วยความไร้เดียงสา คืออุดมการณ์ทางสังคม วาทกรรมความเป็นชาติ และความพยายามในการเข้าไปจัดแจง ลากเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง ‘ศูนย์กลาง’ และ ‘พื้นที่ห่างไกล’ โดยการแทนที่ชิ้นส่วนของภาพเดิมที่ไร้ระเบียบและกระจัดกระจาย ด้วยภาพฝันของวิถีชีวิตและสังคมแสนผาสุก
จันทร์เจ้า-วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ศิลปินเจ้าของผลงานชุด ‘The Boundary of Solitude’ ได้พาตนเองเข้าไปปะทะกับพื้นที่สีแดงแถบเทือกเขาภูพาน แล้วกอบโกยเอาชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ของพื้นที่และเรื่องราวของตัวเขา ร้อยเรียงออกมาเป็นจิตรกรรมทิวทัศน์ชุดหนึ่ง เพื่อชวนให้พินิจถึงเหตุการณ์ที่ไม่ถูกบันทึกหรือบอกเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลัก
‘The Boundary of Solitude’ อาจแปลเป็นภาษาไทยได้มากมายหลายเวอร์ชัน
พรมแดนแห่งความสันโดษ
ขอบเขตของความโดดเดี่ยว
อาณาบริเวณแห่งความอ้างว้าง
ขึ้นอยู่กับว่าอยากจะตีความให้อยู่บนระนาบใด ซึ่งนั่นก็เป็นความตั้งใจของวัชรนนท์ ที่ต้องการให้ชื่อของภาพชุดนี้ ผูกเอาลักษณะของภูมิประเทศในทางกายภาพ ซึ่งดำรงอยู่อย่างสันโดษด้วยตัวของมันเองในแบบหนึ่ง และวิธีการที่ภูมิทัศน์เหล่านั้นทำงานกับโสตประสาทและการรับรู้ของเขา ซึ่งให้ภาพของความโดดเดี่ยวอีกแบบหนึ่ง โดยทั้งสองภาพที่ว่านี้อาจเป็นเอกเทศจากกันโดยสิ้นเชิงหรือไม่ก็ได้
พื้นที่จัดแสดงถูกแบ่งออกเป็น 2 ห้อง โดยใช้เกณฑ์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือมู้ดและโทนของภาพวาดในชุดที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากระยะเวลาที่วัชรนนท์ใช้อยู่กับพื้นที่และชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเทือกเขาภูพาน
เขาพูดถึงภาพชุดในห้องแรก ที่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วมีสไตล์ค่อนมาทางสัจนิยม (Realism) มากกว่าอีกห้อง ว่าเกิดจากปฏิกิริยาช่วงแรกเริ่มที่เขามีต่อพื้นที่ ที่ยังมีความ ‘เกร็ง’ และ ‘ห่างเหิน’ อยู่เล็กน้อย
“เกิดจากระยะห่างที่เรามีกับสิ่งที่เราสนใจ ที่ส่งผลให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อย่างระมัดระวัง ซึ่งก็เป็นความรู้สึกที่สะสมต่อเนื่อง มาตั้งแต่ผลงานก่อนหน้า นั่นคือ ‘Countryside Before Memories’
“งานชุดก่อนเกิดจากความกังขาต่อภาพพื้นที่ชนบทห่างไกลที่สายตาเราคุ้นชิน ภาพชนบทในหัวของเราในฐานะ ‘คนนอก’ แม้จะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่เราก็โตมาในตัวเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคนเมืองที่ไม่เคยวิ่งเล่น ไม่เคยมีประสบการณ์ในทุ่งนา แต่ภาพชนบทในหัวที่ว่านั้น กลับทำงานกับเราได้อย่างทรงพลัง”
เมื่อไม่ได้มีประสบการณ์กับพื้นที่โดยตรง ทั้งชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่างๆ จึงดำรงอยู่ภายในตัวเขาในฐานะเรื่องเล่า เมื่อก้าวเข้าไปถึงในพื้นที่แล้ว ตอนนั้นเองที่ภูมิทัศน์ต่างๆ ที่มีความเฉพาะตัว จึงจะเริ่มทำงานกับการรับรู้ของเขา ร่วมกับเรื่องราวต่างๆ ที่เขาหอบติดตัวลงพื้นที่มาด้วยได้
ส่วนผลงานที่ถูกจัดแสดงไว้ในห้องที่สอง เป็นผลงานที่หลุดจากขนบภาพทิวทัศน์แบบดั้งเดิมพอสมควร เพราะนอกจากตั้งคำถามต่อการจัดการของอำนาจรัฐขณะที่วาดภาพ วัชรนนท์ยังตั้งคำถามต่อตนเอง ในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเหล่านี้ขึ้นมา ว่าตัวเขาเองนั้นจะจัดการกับพื้นที่เหล่านี้อย่างไร
“แล้วคำถามนั้นก็ทำให้เราได้พบว่า ชุดทักษะบางอย่างที่ตัวเองถูกกล่อมเกลาและฝึกหัดในฐานะ ‘ศิลปิน’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นค่าเริ่มต้นของการวาดภาพทิวทัศน์อย่างจุดรวมสายตา (Vanishing Point) ภาพทัศนียภาพ (Perspective) หรือแม้แต่เฉด เงา แสง กลับกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่เราสามารถละทิ้งไปได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ในภาพชุดหลังนี้”
ผลงานที่เห็นในห้องถัดมา จึงเกิดขึ้นหลังจากความรู้สึก ‘แปลกหน้าต่างถิ่น’ ลดหลั่นลงมาแล้ว เมื่อเขาได้ใช้เวลาอยู่กับพื้นที่และชุดข้อมูลมากขึ้น จนรู้สึกถึงความกล้าที่จะสำรวจและทดลอง โดยหยิบเอาความรู้สึกนึกคิดและการรับรู้ของตนเองในชั่วขณะหนึ่งๆ มาถ่ายทอด โดยที่ไม่ต้องยึดติดกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่จริงมากเกินไปนัก
เมื่อลองถามหาผลงาน ‘ชิ้นโปรด’ ที่ภูมิใจที่สุด วัชรนนท์เดินนำไปหยุดอยู่กลางห้องจัดแสดงฝั่งที่ 2 ตรงหน้าชุดภาพเงาของเส้นเถาวัลย์สีดำบนพื้นหลังสีเขียวใบสน
“ในระหว่างการตัดสินใจเรื่องตำแหน่งจัดแสดงของแต่ละภาพ เราคิดเอาไว้แล้วว่าอยากให้ตำแหน่งของภาพนี้ วางอยู่ตรงข้ามกับภาพแม่น้ำโขง เนื่องจากมันเป็นภาพเส้นทั้งคู่ แต่เป็นเส้นที่ทำงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“เส้นในภาพน้ำโขง เมื่อถูกลากแล้วมันจะเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ แบ่งฝั่งหนึ่งออกจากอีกฝั่ง ในขณะที่ภาพเถาวัลย์นั้นปรากฏให้เห็นเส้นที่ไม่ได้เข้าไปจัดแจงพื้นที่ใดๆ แต่เป็นเส้นที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของภาพให้มันต่อถึงกัน สะท้อนภาพของพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบโดยอำนาจรัฐ”
Fact Box
-
- วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ เกิดเมื่อปี 2540 และเติบโตขึ้นในเมืองสุพรรณบุรี จบการศึกษาจากภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2563
- ผลงานก่อนหน้าที่น่าจดจำ ได้แก่ ผลงานชุด ‘ชนบทก่อนความทรงจำ’ (Countryside Before Memory) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงในนิทรรศการ ‘The Place of Memories’ ที่เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) และส่วนที่สองในนิทรรศการ ‘Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past’ ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
- ผลงานชุด ‘The Boundary of Solitude’ ยังคงจัดแสดงอยู่ ชั้น 2 จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2566 สามารถเดินทางเข้าชมได้ ณ อาคารหอศิลป์ เอส เอ ซี แกลเลอรี โดยรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีพร้อมพงษ์ ทางออกที่ 5 (ซอยสุขุมวิท 35) รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสุขุมวิท ทางออกที่ 2 (อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21) และรถโดยสารประจำทาง สาย 2, 25, 501, 508, 511, 513, 38, 40 และ 48