เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บนถนนสายที่ไม่เคยได้หวนกลับไปใช้อีกเลยตลอด 30 ปี มันพาผมกลับไปเจอหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ได้อ่าน
ไม่น่าเชื่อว่าระหว่างการทำร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียมา 12 ปีแล้ว และเราก็เน้นหนังสือเก่าและหนังสือมือสองด้วย แต่ไม่เคยมีหนังสือนิยายเรื่อง ‘บักเซียงน้อย’ เล่มนี้ผ่านเข้ามาในร้านเลย
ถ้าจะนับวันเวลาที่ผมมีความสามารถที่จะซื้อหนังสือเองได้ตอนอายุ 16 ปี คือเรียนจบนักธรรมชั้นเอกแล้วก็ไปสมัครเป็นครูสอนนักธรรมชั้นโท วันละชั่วโมงครึ่ง สอน 6 วัน/สัปดาห์ ได้เงินเดือน 300 บาท ผมก็ซื้อหนังสืออ่านและสะสมหนังสือมาโดยตลอด นับถึงปีนี้ก็ 27 ปีแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยได้พบหนังสือเล่มนี้อีกเลย
‘บักเซียงน้อย’ เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ควรรณกรรมเล่มแรกในชีวิตที่ผมได้อ่าน และเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผมได้จับหนังสือเล่มที่ไม่ใช่หนังสือเรียน มันเป็นหนังสือของห้องสมุดประชาชนที่พระอาจารย์ที่พาผมมาบวชเรียน ยืมมาอ่านตามบังคับของหลักสูตร ม.ปลายของการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ต้องอ่านหนังสือนอกเวลา (กี่เล่มผมจำไม่ได้) พอท่านอ่านจบก็ยื่นให้ผมเพราะเห็นผมสนใจ นี่คือเหตุการณ์ปี 2533 ผมบวชเณรปีแรกหลังจบ ป.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ
พูดง่ายๆ ก็คือตลอดเวลา 30 ปีที่ผมได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจบแล้วก็ส่งคืนพระอาจารย์ ผมไม่เคยได้เห็นมันอีกเลย แต่เรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นยังชัดอยู่ในความทรงจำ
เรื่องราวทั้งหมดฉายผ่านสายตาของ ‘บักเซียง’ (เซียง เป็นคำเรียกเด็กชายที่บวชเณรแล้วสึก จะบวชนานไม่นานก็แล้วแต่ ถ้ายังไม่บวชพระแล้วสึกออกมาจะถูกเรียกคำนำหน้าชื่อว่า เซียง) เป็นการผจญชีวิตของเด็กชายชาวอีสานในช่วงปลายยุคสงครามเย็น ภาพชีวิตคนและชนบทอีสานแจ่มชัด ถือเป็นงานสมจริงที่ดีมากเรื่องหนึ่ง และประสบการณ์ชีวิตของบักเซียงน้อยที่เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็จะทำให้เราได้เห็นชะตาชีวิตคนชั้นแรงงานที่มาจากอีสาน
แต่แน่นอนว่าภาพบรรยากาศและชีวิตแบบนั้นมันได้เลือนหายไปแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหาย คือคนอีสานยังคงยากจนเพราะโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม และมักจะถูกมองด้วยทัศนคติที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่นิยายก็พยายามที่จะทำให้คนอ่าน (ภาคอื่นๆ) เห็นใจและเข้าใจ
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกได้ต่อนิยายเล็กๆ เล่มนี้ที่เหมือนจะถูกหลงลืมคือพลังงานบางอย่างของชีวิต นั่นคือการไม่ยอมจำนนของคนอีสานที่ยากไร้ และในระหว่างการดิ้นรนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่ามันก็มีพลังงานที่ต้องดัดแปลงตัวเองให้สามารถดำรงคงอยู่ได้ในสภาพอันจำกัดนั้น
ถ้ามองในเชิงอภิปรัชญาโดยให้ตัวละครคือบักเซียงน้อยมีเจตจำนงเสรีสามารถเขียนชีวิตของตัวเองได้ ผมก็มั่นใจว่าถึงทุกวันนี้ ถ้าเขาไม่เป็นคนเสื้อแดงตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ตอนนี้ก็คงเป็นเยาวชนที่ออกมาร่วมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ให้คนเท่ากัน ให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์
และถ้ามองจากจุดเดียวกันนี้ ในความมีเจตจำนงเสรีของตัวละคร เราจะพบว่าตัวละครต่างๆ ในนิยายหรือเรื่องสั้นต่างๆ ของนักเขียนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับขบวนการประชาธิปไตยคือเผด็จการศักดินา ตัวละครเหล่านั้นคงกำลังเหลียวมองผู้ที่สร้างเขาหรือเธอขึ้นมาด้วยแววตาหดหู่หยามหยัน
และแน่นอนที่สุด ตัวละครเหล่านี้เองที่กำลังฆ่านักเขียนเหล่านั้นอยู่
…..
คำถามของผมก็คือประเทศนี้เป็นประเทศแบบไหนกัน ถึงต้องรอให้เด็กคนหนึ่งได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเล่มแรกหลังจากจบ ป. 6 หนำซ้ำยังต้องรออ่านจากคนอื่น ซึ่งคนที่อ่านก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือ
ยังจำได้ถึงความรู้สึกแรกที่อ่านหนังสือเล่มนี้ คือความคิดถึงเพื่อนเด็กชายเด็กหญิงชาวอีสานในหมู่บ้านเดียวกัน ผมเกิดรักและคิดถึงพวกเขาขึ้นมาอย่างจับใจ และอยากให้พวกเขาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่—ในวันนั้น เพื่อนๆ ของผมหลายสิบ หลายร้อย หรืออาจหลายพันหลายหมื่นถ้าขยายพื้นที่ออกไป ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน
อะไรทำให้คนคนหนึ่งต้องรอถึงอายุ 16 ปีถึงจะสามารถซื้อหนังสืออ่านเองได้สักเล่ม? ซ้ำยังต้องรอให้เรียนจบนักธรรมชั้นเอกและสมัครเป็นครูสอนนักธรรมได้ เพื่อจะได้เงินเดือน 300 บาทไว้เอาไปซื้อหนังสือที่อยากอ่าน แล้วถ้าเขาสอบไม่ผ่านล่ะ? หรือถ้าสมัครเป็นครูสอนไม่ได้ล่ะ? เวลาที่จะได้ครอบครองหนังสือก็คงต้องยืดยาวออกไปอีก
แม้จนทุกวันนี้ เรื่องของการครอบครองหนังสือก็ยังมีสภาพแบบที่กล่าวมา
คนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหนังสือให้ลูกอาจจะไม่รู้หรือนึกภาพไม่ออก แต่เด็กส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังเป็นเด็กยากจน ดูจากจำนวนโรงเรียนก็ได้ โรงเรียนดีๆ ในแต่ละจังหวัดมีอยู่กี่แห่ง และค่าใช้จ่ายในการเรียนโรงเรียนดีๆ เหล่านั้นมากขนาดไหน และเมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนที่เหลือ จำนวนเด็กนักเรียนที่เหลือ เราจะพบว่าจำนวนเด็กที่พ่อแม่ไม่มีกำลังซื้อหนังสือให้ลูกได้อ่านนั้นมีสูงกว่ามากยิ่งนัก
ในขณะที่บางโรงเรียนมีโครงการหรือบางโปรแกรมที่มีงบฯ ให้เด็กซื้อหนังสือ เช่น โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) โรงเรียนลือคำหาญ จังหวัดอุบลราชธานี (กำกับดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) มีงบฯ ให้นักเรียนซื้อหนังสือ 1,000 บาทต่อคน ซื้อแล้วก็ต้องอ่าน อ่านแล้วก็ต้องรีวิว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าโครงการ วมว. จังหวัดอื่นมีงบฯ แบบนี้ให้เด็กนักเรียนหรือไม่
คำถามคือทำไมประเทศนี้ถึงไม่สามารถให้เงินเด็กนักเรียนไปซื้อหนังสือที่อยากอ่านได้เหมือนนักเรียน วมว. โรงเรียนลือคำหาญ จังหวัดอุบลราชธานี
…..
สำหรับเด็กที่พ่อแม่มีกำลังซื้อหนังสือให้ลูกได้และยอมจ่ายก็นับเป็นโชคดีของเด็ก แต่ความจริงอีกอย่างก็คือ แม้จะมีกำลังซื้อก็ยังต้องผ่านด่านทัศนคติว่านอกจากหนังสือเรียนและการเรียนพิเศษ หนังสือต่างๆ มีความจำเป็นอยู่หรือไม่ การที่เด็กรู้อะไรเยอะๆ นอกเหนือจากที่โครงสร้างและหลักสูตรการศึกษาอยากให้รู้อาจนำพาความยุ่งยากมาสู่ชีวิต หนักกว่านั้นถึงขั้นที่ว่าหนังสือต่างๆ นอกเหนือจากที่เรียนนั้นดีจริงหรือเปล่า เชื่อถือได้แค่ไหน และความคิดและการประเมินนี้ก็อยู่บนพื้นฐานของพ่อแม่ที่ไม่อ่านหนังสือนอกเหนือจากสายงานตัวเองเลย
พูดง่ายๆ ก็คือแม้จะมีกำลังซื้อ แต่บ่อยครั้งที่โลกของการอ่านก็อาจถูกจำกัดด้วยทัศนคติอันคับแคบของพ่อและแม่บางประเภท
ประเทศนี้เป็นประเทศแบบไหนกัน ที่สั่งเก็บหนังสือดีๆ สั่งห้ามมีห้ามจำหน่ายหนังสือหลายๆ เล่ม เช่นหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และมันเป็นบ้าอะไรกันประเทศนี้ถึงมีกลุ่มคนที่เที่ยวชี้ให้เก็บให้ทำลายหนังสือบางเล่มบางประเภท บุกเข้าไปตามร้านหนังสือต่างๆ เพื่อค้นหาหนังสือเหล่านั้น แล้วเรียกร้องให้นำออกจากชั้น อย่างที่เคยมีกลุ่ม ‘เก็บขยะแผ่นดิน’ ทำมาแล้ว
……
ดังนั้นเมื่อโลกทุกวันนี้ ‘เปิด’ มากขึ้น ต่อให้เราห้ามหรือจำกัดการอ่านของเด็กขนาดไหน แต่ด้วยธรรมชาติของความอยากรู้อยากเห็น พวกเขาก็สามารถไปแสวงหาข้อมูลความรู้ทางอื่นได้อีกอย่างกว้างไกล
สิ่งที่ผมพบตอนนี้ก็คือ มีความร้าวฉานเกิดขึ้นในครอบครัวคนชั้นกลางและชั้นสูงที่ผมรู้จักมากมาย โดยเฉพาะครอบครัวข้าราชการที่เป็นอนุรักษนิยม รักสถาบันแบบไม่ลืมหูลืมตา ที่ต้อง ‘ยืนคนละข้าง’ กับลูกที่กำลังเรียนชั้นมัธยมฯ มหาวิทยาลัย หรือที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย — ที่เลือกยืนข้างฝ่ายประชาธิปไตย และไม่ยอมจำนนต่อความไม่มีเหตุมีผลของผู้ใหญ่อีกต่อไป
มันเลยคล้ายกับว่า ลูกๆ ของคนชั้นกลางไทยตอนนี้เป็นเสมือนภาพสะท้อนเจตจำนงเสรีของตัวละครของนักเขียนฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการประชาธิปไตย ที่กำลังมองคนที่สร้างเขาหรือเธอขึ้นมาด้วยสายตาหดหู่ขึ้งเคียด เพราะการมีอยู่ของตัวละครเหล่านั้นคือการทำลายความชอบธรรมและความเชื่อของพวกเขาลงโดยสิ้นเชิง
เราไม่ควรลืม…มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ
Tags: คนขายหนังสือ, วิทยากร โสวัตร, บักเซียงน้อย, การอ่านหนังสือ