ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บางแห่งอาจเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการ บางแห่งจำต้องปรับลดเงินเดือนพนักงาน หรือเลิกจ้างพนักงานบางส่วน

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ขยับตัวเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น เปลี่ยนจากธุรกิจผลิตเสื้อผ้ามาผลิตหน้ากากอนามัย บริษัทรถยนต์รายใหญ่เปลี่ยนโรงงานเป็นสายพานผลิตเครื่องช่วยหายใจ บริษัทเทคโนโลยีพัฒนาแอพลิเคชันเพื่อติดตามการระบาดของโรค การตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้ การทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย และอีกสารพัดนวัตกรรมจากภาคเอกชนที่ทำเพื่อช่วยเหลือสังคม หลายคนอาจสงสัยว่าบริษัทเหล่านั้นทำไปเพื่ออะไร? เพราะปัญหาสาธารณะคือหน้าที่รัฐบาลต้องแก้ไขไม่ใช่หรือ?

ก่อนที่จะหาคำตอบว่าบริษัททำเพื่อสังคมแล้วได้อะไร ผู้เขียนชวนตั้งคำถามก่อนว่าบริษัทควรทำเพื่อสังคมหรือไม่?

การทำเพื่อสังคมที่ว่านี้คือการดำเนินกิจกรรมซึ่งเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ขั้นต่ำ กล่าวคือดำเนินการตามกฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานคุณภาพอากาศกำหนดไว้ว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่บริษัทเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาจกำหนดความเข้มข้นของฝุ่นปากปล่องที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือการเพิ่มช่องทางให้พนักงานทำงานจากที่บ้านในช่วงการระบาดของโรค รวมถึงการจัดสรรงบประมาณบางส่วนริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาของสาธารณะ

ตัวอย่างที่ระบือลือลั่นคือการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายโต๊ะกลมธุรกิจ (Business Roundtable) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจากการรวมตัวของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจากหลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่พลังงานไปจนถึงธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีร่วม 200 แห่ง ที่คุ้นเคยกันดีอย่างเช่น Apple และ Amazon แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายบริษัทจะส่งมอบมูลค่าให้กับลูกค้า ลงทุนพัฒนาพนักงาน ทำธุรกรรมกับคู่ค้าอย่างเป็นธรรมและมีจริยธรรม สนับสนุนชุมชนที่บริษัททำงานด้วย และสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น จะเห็นว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไปไกลกว่าทำตามกฎหมาย

บริษัทมีหน้าที่เพื่อหากำไรเท่านั้น!

แต่บริษัทเหล่านั้นมีพันธะผูกพันที่จะต้องทำเกินกว่ากฎหมายและแบกรับต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งภาครัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบ) ไว้กับบริษัทหรือไม่? มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลเผยแพร่บทความเมื่อ .. 1970 ปฏิเสธความรับผิดรับชอบของบริษัทต่อสังคมอย่างเด็ดขาด เขามองว่าบริษัทเป็นเพียงบุคคลสมมติขณะที่ปัจเจกชนต่างหากที่ควรมีความรับผิดชอบ โดยเขาเขียนอย่างเสียดสีว่าในเมื่อบริษัทเป็นบุคคลสมมติ ดังนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทควรจะมีก็คงเป็นความรับผิดชอบสมมติ’ (artificial responsibilities) ด้วยกระมัง

ฟรีดแมนเสริมอีกว่า ผู้บริหารในภาคธุรกิจต่างหากที่ควรรับผิดชอบต่อสังคม (โดยใช้เงินของตัวเอง ไม่ใช่ใช้เงินของผู้ถือหุ้น) การที่ผู้บริหารซึ่งได้รับเลือกโดยผู้ถือหุ้นเพื่อบริหารธุรกิจแต่กลับนำเงินมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางสังคม ก็ไม่ต่างจากการบังคับเก็บภาษีมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในมิตินี้ ผู้บริหารเหล่านั้นก็คงไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ

วาทะที่โด่งดังและเฉียบขาดของฟรีดแมนในประเด็นนี้คือธุระอย่างเดียวของธุรกิจคือดำเนินธุรกิจ” (The business of business is business)

ผ่านมา 50 ปี แนวคิดว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมของฟรีดแมนกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็ใช้จ่ายในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ปรากฎการณ์ดังกล่าวสร้างความฉงนสงสัยให้กับนักเศรษฐศาสตร์ เพราะคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการให้ในระดับบุคคล (อ่านเพิ่มเติมใน เศรษฐศาสตร์ของการให้ ไขปัญหาแรงจูงใจในการบริจาค) ก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของนิติบุคคลที่ออกแบบมาเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดได้

บริษัทในฐานะสมาชิกของสังคม

ปัญหาสาธารณะที่รุมเร้ามากขึ้นทั้งมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่อาจพัฒนาไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้ประชาชนเรียกร้องความรับผิดชอบต่อบริษัทในฐานะหนึ่งในสมาชิกของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเรียกว่าแนวคิดการเป็นพลเมืองของธุรกิจ (Corporate Citizenship) โดยหากพิจารณาว่าบริษัทเป็นพลเมือง สิ่งที่ตามมาก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือที่เราคุ้นหูกันว่าซีเอสอาร์ (CSR : Corporate Social Responsibility) นั่นเอง

ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงโครงการซีเอสอาร์ที่ปลูกป่าหรือทาสีโรงเรียนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่จะเน้นที่ความรับผิดรับชอบของธุรกิจต่อผลกระทบภายนอก (Externalities) ของกระบวนการธุรกิจหรือคู่ค้าของตนเอง

ตัวอย่างเช่น บริษัท ซี (นามสมมติ) เป็นบริษัทด้านธุรกิจเนื้อสัตว์ครบวงจร โดยพบว่าคู่ค้าของบริษัทซึ่งทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อปัญหามลภาวะหลังฤดูเก็บเกี่ยวโดยการเผาไร่ข้าวโพด หรือพื้นที่ไร่ข้าวโพดบางแห่งรุกพื้นที่ป่าสงวน บริษัทที่มีความรับผิดชอบและหน้าที่ในฐานะพลเมืองคือการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเหล่านั้นลดการเผาไร่ หรือปฏิเสธที่จะรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจมาจากพื้นที่ซึ่งบุกรุกป่า และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแม้ว่าปัญหาดังกล่าวควรจะจัดว่าเป็นปัญหาสาธารณะที่ภาครัฐควรเข้ามาดูแลก็ตาม

หรือบริษัท เอส (นามสมมติ) เป็นบริษัทด้านปูนซีเมนต์ซึ่งการดำเนินธุรกิจคือระเบิดภูเขาหินแล้วนำมาแปรรูปในโรงปูน โดยอาจสร้างผลกระทบทั้งเสียงและฝุ่นจากการระเบิดหิน รวมถึงปัญหาถนนพังเนื่องจากรถบรรทุกหิน แม้ว่าบริษัทจะทำตามกฎหมายทุกอย่าง (เช่นการควบคุมระดับมลภาวะทางอากาศและเสียง) แต่หากมีการร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบ บริษัทในฐานะพลเมืองคนหนึ่งก็ควรเข้าตรวจสอบ รับฟัง และบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ดี การประชาสัมพันธ์กิจกรรมซีเอสอาร์ของหลายบริษัทกลับกลายเป็นสร้างภาพลบให้กับประชาชน โดยมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการฟอกเขียว’ (Greenwashing) โดยเจียดเงินจำนวนไม่มากนักหากเทียบกับรายได้และผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัท เพื่อนำไปจัดกิจกรรมกับชุมชนแล้วนำมาป่าวประกาศแบบเกินจริง 

ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัย โดยในหลายประเทศได้เปลี่ยนผ่านจากความรับผิดชอบทางธุรกิจสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) โดยพิจารณาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลกำไรจากธุรกิจด้วย บางบริษัทอาจถึงขั้นตีค่าผลกระทบดังกล่าวเป็นตัวเงินแล้วนำมาคำนวณเป็นไตรกำไรสุทธิ (Triple Bottom Line) ซึ่งจะสะท้อนว่าธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่ม (หรือลด) สุทธิแบบหักกลบลบผลกระทบที่ทิ้งไว้แล้วเหลือเท่าไร (อ่านเรื่องความยั่งยืนต่อได้ที่ เบื่อหรือยังกับคำว่ายั่งยืน?)

บริษัททำเพื่อสังคมแล้วได้อะไร?

ด้วยความที่บริษัทเป็นนิติบุคคล คงจะเป็นการยากที่หากจะกล่าวว่าบริษัททำเพื่อสังคมแล้วได้ความสุขทางใจ เพราะตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดของภาคเอกชนคือกำไรสุทธิต่อให้บริษัทจะเป็นคนดีมีน้ำใจสักเท่าไร หากทำธุรกิจติดขัดขาดทุนผู้ถือหุ้นคงจะไม่พอใจ นักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามค้นคว้าหาคำตอบว่าบริษัททำเพื่อสังคมแล้วได้อะไร ซึ่งมักคาดการณ์ว่าการทำดีนั้นจะส่งผลต่อกำไรในระยะยาว

การศึกษาชิ้นล่าสุดน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะเป็นการทดลองเสมือนจริงโดย 3 นักเศรษฐศาสตร์ แดเนียล เฮดบลอม (Daniel Hedblom) เบรนท์ ฮิคแมน (Brent Hickman) และ จอห์น ลิสต์ (John List) ที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อว่า HHL Solutions ทำงานวิเคราะห์ภาพถ่ายจาก Google Street View โดยจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับอูเบอร์และมหาวิทยาลัยชิคาโก บริษัทดังกล่าวประกาศรับสมัครงานออนไลน์ โดยจะมีการสุ่มรายได้ระหว่าง 11 – 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง และที่สำคัญคือการโฆษณาตัวเองสองแบบ หนึ่งคือบริษัทธรรมดาทั่วไป และสองคือบริษัทที่มุ่งมั่นทำดีเพื่อสังคมโดยระบุว่าลูกค้าของบริษัทตั้งเป้าเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส

ผลการศึกษานั่นน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยพบว่าหากบริษัทประกาศตนเองว่าทำเพื่อสังคมจะมีจำนวนผู้สมัครมากกว่าถึงร้อยละ 25 โดยหากเทียบในมิติด้านรายได้ ผู้สมัครยินดีจะได้รับรายได้น้อยลงราว 1 ใน 3 สำหรับบริษัทที่ทำเพื่อสังคม นอกจากนี้ พนักงานที่เข้าใจว่าตนเองทำงานให้บริษัทซึ่งทำเพื่อสังคมยังทำงานได้มีผลิตภาพสูงกว่า โดยพบข้อผิดพลาดน้อยกว่า และส่งงานจำนวนมากกว่าหากเทียบกับพนักงานที่คิดว่าตนเองทำงานให้บริษัททั่วๆ ไป

ทั้งสามจึงสรุปผลว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างกำไรสูงสุดของบริษัท

ผลการศึกษาดังกล่าวยังสอดคล้องกับการศึกษาอีกหลายชิ้นที่ชี้ว่าความรับผิดชอบต่อสังคมส่งผลดีต่อความสามารถทางการเงินของบริษัท (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ) นอกจากนี้ บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมยังจูงใจให้พนักงานทำงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย บางกรณี บริษัทก็เลือกใช้เงินบริจาคเพื่อเป้าหมายทางการเมืองหรือที่เรียกว่าการล็อบบี้แบบไม่ต้องเสียภาษี’ (tax-exempt lobbying)

นักวิชาการหลายคนให้เหตุผลว่าบริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากสังคมและสิ่งแวดล้อมดี ธุรกิจก็ย่อมดีเป็นเงาตามตัว หากสังคมและสิ่งแวดล้อมเผชิญวิกฤติ ธุรกิจก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้ แต่ในการศึกษาเชิงประจักษ์ พบว่าการทำเพื่อสังคมของบริษัทยังช่วยสร้างผลลัพธ์เป็นกำไรงามๆ ตอนปิดงบฯ การเงินได้อีกด้วย

สำหรับใครที่หลงปลาบปลื้มกับภาพแสนสวยที่บริษัทนำเสนอว่าช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ผู้เขียนชวนมานั่งวิเคราะห์ว่าโครงการเหล่านั้นแก้ปัญหารอยเท้าจากการดำเนินงานที่บริษัททิ้งไว้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเพียงฉาบทาภาพลักษณ์ให้พอดูได้ พร้อมกับตระหนักว่าบริษัทย่อมมีเป้าหมายเพื่อผลกำไรสูงสุด 

การลงทุนใดที่ไม่ส่งผลดีต่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผลดีที่เป็นตัวเงินหรือผลดีต่อภาพลักษณ์บริษัท ไม่มีทางหรอกที่เหล่าผู้บริหาร(เขี้ยวลากดิน)จะยอมลงปากกาอนุมัติงบประมาณ

เอกสารประกอบการเขียน

Corporate Citizenship

What Is the Business of Business?

Corporate Social Responsibility Through an Economic Lens

ทุนนิยมมีชีวิต ธุรกิจมีหัวใจ