ช่วงคริสต์มาสและปีใหม่แบบนี้ฝั่งโลกตะวันตกถือว่าเป็นเทศกาลแห่งการให้ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นโฆษณาทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อกระตุ้นให้บริจาคให้กับองค์กรสาธารณประโยชน์ส่งท้ายปี เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นเข้าไปทำงานในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งภาครัฐอาจยังจัดการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือมีงบประมาณไม่เพียงพอ

แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมคนหนึ่งคนจะต้องควักสตางค์ที่หามาได้อย่างยากลำบากเพื่อบริจาคให้กับองค์กรเหล่านั้น แทนที่จะนำไปใช้กินบุฟเฟต์ให้พุงกางหรือซื้อบรรดา ‘ของมันต้องมี’ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

อดัม สมิธ (Adam Smith) บิดาแห่งทุนนิยมได้เขียนไว้ในหนังสือความมั่งคั่งแห่งชาติ (Wealth of Nations) ว่า “ไม่ใช่เพราะความเกื้อการุณย์ของพ่อค้าเนื้อ คนหมักเบียร์ และคนอบขนมปัง ที่ทำให้เรามีอาหารเย็นรับประทาน แต่มันเกิดจากการที่พวกเขาเหล่านั้นเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง” ประโยคดังกล่าวชวนให้มองเหล่าผู้ใจบุญไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตคนละสปีชีส์กับเศรษฐมนุษย์

ตามแบบจำลองอย่างง่ายของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสำนักนีโอคลาสสิก เศรษฐมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลจะแสวงหาอรรถประโยชน์หรือความสุขใส่ตัวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ซึ่งวัดจากมูลค่าความมั่งคั่งที่มีอยู่ แบบจำลองดังกล่าวทำให้การบริจาคเป็น ‘ปริศนา’ ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องรวมหัวกันไขหาคำตอบว่ามนุษย์ปุถุชนนอกแบบจำลองจะยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมกันทำไม

ในบทความนี้จะพาไปสำรวจว่านักเศรษฐศาสตร์ค้นพบว่าอะไรเป็นแรงจูงใจในการบริจาค และสารพัดเทคนิคเพื่อ ‘สะกิด’ ให้คนบริจาคตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เราบริจาคเงินทำไม?

ในเบื้องต้น เราอาจมองได้ว่าการบริจาคก็ไม่ต่างจากการซื้อบริการ เช่น หากผมบริจาคให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็เสมือนหนึ่งว่าผม ‘ว่าจ้าง’ ให้มูลนิธิสืบฯ ไปทำงานรักษาป่าตะวันตก ส่วนจะใครบริจาคให้กับองค์กรใดก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ให้ว่าสนใจประเด็นไหนเป็นสำคัญ โดยอาจแบ่งแรงจูงใจออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ บริจาคเพื่อผู้อื่น และบริจาคเพื่อตนเอง

ทฤษฎีแรกมองว่าการบริจาคเหล่านั้นคือความเอื้อเฟื้อบริสุทธิ์ (pure altruism) กล่าวคือทุกบาททุกสตางค์ที่ให้ไปนั้นหวังผลให้เกิดประโยชน์งอกเงยทางสังคม ให้เด็กที่หิวโหยได้รับอาหาร ให้หมาแมวไร้บ้านมีที่อยู่ ให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ฯลฯ หากทฤษฎีที่ว่านี้เป็นจริง ผู้บริจาคจะไม่สนใจว่าเงินดังกล่าวออกมาจากกระเป๋าใครตราบใดที่แก้ไขปัญหาสังคมที่ตนสนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องแก้ปัญหาแมวจรจัดในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องใช้เงินทั้งสิ้น 500,000 บาท ผู้เขียนตั้งใจว่าจะสมทบทุน 5,000 บาทแต่ต่อมาทราบข่าวว่าเจ้าสัวคนรักแมวบริจาคจัดเต็ม 500,000 บาท สิ่งที่ผมจะทำก็คือเก็บเงินนั้นไว้กับตัวอย่างสงบเสงี่ยมเพราะบริจาคเพิ่มไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผลกระทบดังกล่าวเรียกว่า ‘ผลหักลด (crowd out)’

เจมส์ แอนดรีโอนี (James Andreoni) นักเศรษฐศาสตร์การให้ทำนายว่าหากทฤษฎีเป็นจริง เงินจากเจ้าสัวก็จะเบียดขับเงินบริจาคจากรายย่อยให้เหลือน้อยจนเท่ากับศูนย์ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ดี เขาได้ทำการทดลองและพบว่าสมมติฐานนั้นผิดโดยผลหักลดที่เกิดขึ้นนั้นไม่สมบูรณ์ดังที่เขาตั้งสมมติฐานไว้ กล่าวคือต่อให้มีมหาเศรษฐีรายใหญ่ใจป้ำมาบริจาค เหล่าผู้ให้รายย่อยต่างๆ ก็ยังบริจาคอยู่ดี

แอนดรีโอนีได้ขบคิดว่าแรงจูงใจของมนุษย์ปุถุชนน่าจะมีมากกว่าการแก้ปัญหาสังคม โดยเขาได้นำเสนอแนวคิด ‘แสงเรืองรองที่อบอุ่น (warm glow)’ หมายถึงความสุขทางใจของการเป็นผู้ให้ซึ่งเงินบริจาคของคนอื่นไม่สามารถมาทดแทนได้ และเขาหรือเธอก็ยังเลือกที่จะบริจาคแม้เงินดังกล่าวอาจไม่ได้มีมูลค่าสูงมากมายหรือต้องบริจาคแบบไม่ออกนาม เพราะความสุขของพวกเขาคือความอบอุ่นที่เกิดภายในจิตใจ

แหม่ ฟังแล้วชวนขนลุกขัดกับภาพลักษณ์มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลของนักเศรษฐศาสตร์มากๆ

นอกจากทฤษฎีแสงเรืองรองที่อบอุ่นแล้วยังมีข้อเสนอว่าด้วยสาเหตุของการบริจาคที่เย็นชากว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อแสดงสถานะทางสังคมของตนเอง เพื่อประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าข้าพเจ้าทั้งร่ำรวยและใจบุญ กระทั่งการบริจาคเนื่องด้วยความรู้สึกผิด หรือเพราะแรงกดดันทางสังคม

ส่วนข้อสรุปที่ว่าทฤษฎีไหนถูกต้อง ผู้เขียนขอบอกตามตรงว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป โดยการตัดสินใจบริจาคนั้นขึ้นอยู่กับทั้งสองแรงจูงใจ ส่วนปัจจัยไหนจะเป็นสัดส่วนเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการบริจาค

สะกิดอย่างไรให้คนบริจาค?

เหรียญอีกด้านของแรงจูงใจในการบริจาคคือคำถามว่าทำอย่างไรคนจึงจะบริจาคมากขึ้น ซึ่งศาสตร์กำเนิดใหม่อย่างเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ได้แนะนำแนวทางโดยแบ่งการบริจาคออกเป็น 2 แบบคือการบริจาคอย่างหุนหันพลันแล่น และการบริจาคอย่างรอบคอบ

การบริจาคแบบหุนหันพลันแล่นหมายถึงการบริจาคซึ่งเกิดจากแรงกระตุ้นทางอารมณ์โดยอาจไม่หวังผลในระยะยาวมากนัก ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ที่เราพร้อมจะหยิบโทรศัพท์มือถือมาโอนเงินไปให้โดยไม่คิดอะไรมาก จะว่าไปก็คล้ายกับการซื้อของออนไลน์ที่เผลอไม่ทันไรก็หมดไปเป็นพันแบบไม่รู้ตัว แรงกระตุ้นยอดบริจาคก็หนีไม่พ้นการเชิญชวนโดยผู้มีชื่อเสียง หรือการถ่ายทอดเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ในระดับบุคคลซึ่งผู้รับชมเข้าถึงได้ง่าย    เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแนะนำว่าหากต้องการกระตุ้นการบริจาคแบบดังกล่าว ก็ต้องทลายสารพัดความไม่สะดวกสบายที่จะทำให้มนุษย์ปุถุชนขี้เกียจจะโอนเงิน พร้อมทั้งสร้างสารพัดเทคนิคที่ทำให้ผู้บริจาครู้สึกดีทันที เช่น ภาพวิดีโอแสดงคำขอบคุณจากผู้รับเงิน หรือการใช้ประโยชน์จากการมองเห็นในสังคม ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็เช่น ไอซ์บักเกตชาเลนจ์ที่กลายเป็นไวรัลในสังคมออนไลน์ หรือการแจกสายรัดข้อมือเพื่อแสดงตนว่าเราคือผู้บริจาคนะจ๊ะ

การบริจาคแบบหุนหันพลันแล่นหมายถึงการบริจาคซึ่งเกิดจากแรงกระตุ้นทางอารมณ์โดยอาจไม่หวังผลในระยะยาวมากนัก

    ส่วนการบริจาคอย่างรอบคอบหมายถึงการพิจารณาทางเลือกในการบริจาคเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงสุด ซึ่งคล้ายกับการกระทำที่ต้องวางแผนล่วงหน้า เช่น ไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส การกินอาหารเพื่อสุขภาพ หรือเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณ อย่างไรก็ดี ต่อให้มนุษย์จะวางแผนอย่างมีเหตุมีผลแค่ไหน แต่ก็มักเผชิญกับอคติแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง และสารพัดเรื่องที่รุมเร้าจนทำให้ไม่ได้เป็นไปตามแผน เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแนะนำให้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้ตั้งใจบริจาคได้ทำตามแผน เช่น บริการตัดบัญชีแบบอัตโนมัติหลังจากให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน หรือการเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าโดยเหล่าผู้รับทุนว่าดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และมีการใช้เงินที่ได้รับไปอย่างไร

ส่วนการบริจาคอย่างรอบคอบหมายถึงการพิจารณาทางเลือกในการบริจาคเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงสุด

ในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองแบบนี้ ใครตั้งใจจะแบ่งปันทุนทรัพย์ไม่ว่าจะเพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือเพื่อความสบายใจของตัวเอง ผู้เขียนก็ขออนุโมทนาบุญ แล้วอย่าลืมเช็คว่าเงินที่บริจาคไปนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เสียสิทธิเวลายื่นเสียภาษีเงินได้นะครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

What Has the Economics of Giving Given to Economics? The Contemporary Situation

The Economics of Charitable Giving: What Gives?

Why Do People Give?

Behavioral Economics and Donor Nudges: Impulse or Deliberation?

 

Tags: , , ,