ท่ามกลางสภาวะพิเศษ และโรคระบาด มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อการจัดทำข้อมูล หรือแม้กระทั่งการสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ หรือความปลอดภัยในการหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ อย่างประเทศจีนเองก็มีการพัฒนาแอปฯ Health Code ขึ้นมาใช้ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือประเภท Contact Tracing ตามมา อย่างในออสเตรเลียก็มีแอปฯ Covidsafe ในอังกฤษก็มี NSH Covid-19 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการใช้ระบบ Contact Tracing นี้ ทั้งในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี แคนาดา ฯลฯ อีกด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็มีเปิดตัวแอปพลิเคชัน หมอชนะ สำหรับติดตามประวัติของผู้ใช้โดยจะมีการประเมินออกความเสี่ยงของผู้ใช้ออกมาเป็นสี เพื่อช่วยเก็บข้อมูลของผู้ป่วย และช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษา ควบคุม และป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

แต่หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือประเทศไทยเอง ประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ หรือความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ที่อาจจะถูกละเมิดจากแอปฯ เหล่านี้ก็กลายมาเป็นคำถามสำคัญอีกครั้ง เหมือนดังเช่นคำถามบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีที่ผ่านมา กับประเด็น Privacy หรือ Security

สำหรับประเด็นของแอปฯ หมอชนะในประเทศไทย เริ่มมีการพูดถึงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ ดร.นพ. นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ประกาศถอนตัวจากโครงการหมอชนะ โดยให้เหตุผลว่า มีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเตรียมบังคับตรวจสอบลงแอปฯ หมอชนะ โดยจะตรวจ  QR ตามจุดคัดกรองต่างๆ หากไม่สามารถแสดง QR ก็จะไม่เข้าพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและกังวลต่อการใช้แอปฯ หมอชนะ

หนึ่งในนั้นก็คือเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ซึ่งได้จัดเสวนาเรื่อง “contact (t)racing : เส้นบางๆ ระหว่างการป้องกันโรคระบาดกับการดูดข้อมูลแบบหว่านแหเพื่อชวนคุยเรื่องแอปฯ สืบย้อนการสัมผัสหรือ contact tracing ที่ทั้งในไทยและทั่วโลกกำลังถกเถียงกันอยู่ ว่าอะไรคือข้อสนับสนุน อะไรคือข้อกังวล โดยยกตัวอย่างกรณี หมอชนะ, ไทยแคร์, และแอปพลิเคชันอื่นๆ พร้อมหาข้อเสนอว่า ควรทำ contact tracing อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพควบคุมโรคและคุ้มครองคนจากการถูกเลือกปฏิบัติ

ซึ่งนำสนทนาโดยกิตติชัย จิรสุขานนท์ หนึ่งในอาสาสมัครโปรแกรมหมอชนะ’ , จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งไทยแคร์ (Thai.Care) ,  สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัย ผู้ก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด และกฎหมายการคุ้มครองส่วนบุคคล , อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาปริญญาเอกด้านข้อมูลส่วนบุคคล วิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยดับลิน และ ดำเนินรายการโดย อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

การติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) คืออะไร? ทำไมต้องมีแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้น

Contact tracing หรือการติดตามผู้สัมผัส เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนโรค โดยการตรวจย้อนหลังว่าผู้ป่วยเจอใครมาบ้าง ผู้ป่วยและคนรอบข้างมีความเสี่ยงมากแค่ไหน ทว่าปัญหาของการติดตามผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ ไม่เพียงมีเรื่องความเป็นส่วนตัวและความลับของผู้ป่วย (patient confidentiality) เข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอคติบางอย่างที่ผู้ป่วยอาจจะไม่ยินยอมบอก ซึ่งชนาธิป ไชยเหล็กเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความ  Contact Tracing: จุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความปลอดภัยของสาธารณะอยู่ตรงไหน?  มีวิธีเรียกง่ายๆว่า

1. ลืม หรืออคติจากการนึกย้อนกลับไป (recall bias) : โดยปกติมนุษย์มีความทรงจำที่จำกัด จดจำได้เฉพาะเรื่องสำคัญ แน่นอนว่ามีมนุษย์ขี้ลืมอยู่เป็นจำนวนมาก หากให้เรียบเรียงเหตุการณ์ย้อนหลังอย่างละเอียดก็อาจจะมีตกหล่นไปบ้าง 

2. ปกปิด หรือ อคติจากความต้องการของสังคม (social-desirable bias) : เรียกภาษาปากง่ายๆว่าต้องการปกปิด ไม่อยากบอก อับอายที่จะบอก เช่น หากผู้ป่วยไปเจอภรรยาน้อย นัดกิ๊ก หรือทำเรื่องไม่ถูกมา ก็คงจะไม่กล้าบอกด้วยเหตุผลส่วนตัว

จะเห็นได้ว่าการสอบสวนโรคจะพบเจอปัญหา คือลืมกับปกปิด การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามผู้ป่วยก็เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่แอปพลิเคชั่นไม่ใช่ยาวิเศษ ดังนั้นจึงมีทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง 

ทำไมต้องหมอชนะ

แอปพลิเคชั่นหมอชนะเป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในบริเวณนั้นมีผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ฯลฯ และองค์กรธุรกิจหลายแห่ง กิตติชัย จิรสุขานนท์ หนึ่งในอาสาสมัครโปรแกรมหมอชนะกล่าวถึงแอปพลิเคชั่นว่าหมอชนะ โดยคอนเซ็ปต์แล้ว เวลาเจอคนติดเชื้อหนึ่งคน เราจะต้องขยายผลว่าคุณไปไหนมาบ้าง แล้วความทรงจำคนไม่แม่นยำ (ลืม) ต้องมานึกว่าเราได้ไปสถานที่นั้นมาหรือเปล่า คอนเซ็ปต์ของ contact tracing เลยใช้พื้นฐานของสิ่งนี้

ทั้งนี้ยังอธิบายการทำงานและการใช้วิธีตามติดคนโดยใช้วิธีระบุ ‘ตำแหน่งทางเทคโนโลยี ไว้สามอย่าง 

  1. GPS มือถือ ข้อดีคือไม่ต้องจำ เปิดใช้ได้ตลอดเวลา ในทุกแพลตฟอร์ม ในทางทฤษฎีคือระบุตำแหน่งได้ในระยะ 50 เมตร แต่ข้อเสียและในทางปฏิบัติจะไปไกลมาก สถานที่เคลื่อน เช่น ไปสยามพารากอน แต่โลเคชั่นอาจขึ้นสยามสแควร์ พูดง่ายๆ คือ ความแม่นยำต่ำ 

  2. Bluetooth ข้อดีคือระยะแม่นยำกว่า GPS และในเรื่องความเป็นส่วนตัวคือไม่รู้สถานที่ ไม่ระบุสถานที่ของผู้ใช้ ไม่รู้ว่าบ้านอยู่ไหน ข้อเสียจะเห็นว่าระยะทางมีโอกาสไม่แม่นได้เช่นกัน หรืออยู่บ้านติดกันแต่จริงๆ ไม่ได้สัมผัสกัน มีการคลาดเคลื่อนบ้าง ถ้าห้องติดกันก็อาจทะลุกำแพงก็อาจถูกเหมารวมไปด้วย  

  3. QR Code มีให้สแกน ข้อดีคือแม่นยำสูงเพราะต้องสแกนเอง แต่ข้อเสียคือต้องทำเอง ไม่ใช่อัตโนมัติ หากสแกนก็คือมีเจตนาเช็คอิน มีการระบุโลเคชั่นชัดเจน แต่คนสแกนต้องมีวินัยมาก คนอาจจะไม่ได้มีวินัยขนาดนั้น

ทั้งยังกล่าวว่าเพื่อความสะดวก หมอชนะจึงให้ใช้ทั้งสามวิธี และหากกังวลในเรื่องความปลอดภัย  กิตติชัย จิรสุขานนท์ เสริมในเรื่องดังกล่าวไว้ว่าหมอชนะไม่มีอะไรเลย ไม่มีรูปถ่าย ชื่อ ข้อมูลส่วนบุคคล วัตถุประสงค์ของเราคือแค่แปะสถานที่ อีกอันคือทำเป็นบัตรประจำตัวสำหรับคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถนำไปปริ้นต์บัตรไปช่วยกันเช็คอิน ในนั้นไม่มีข้อมูลอ่อนไหว ให้มองว่าแอปฯ หมอชนะเป็นการรณรงค์ ไม่ได้บังคับให้คนใช้

ใครไม่แคร์ ไทยแคร์

นอกจากแอปฯ หมอชนะแล้ว ยังมีไทยแคร์ (Thai.Care) ที่ก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ผู้ให้บริการ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ Thai.care เพื่อประกาศตัวเป็นสถานประกอบการปลอดภัยตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้ใช้บริการ เพื่อการเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งไทยแคร์ ก็ได้เล่าถึงแอปไทยแคร์ของตนบ้างว่า 

ไทยแคร์ออกมาตรการชวนให้ผู้ประกอบการรักษามาตรฐานให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ การใช้งานของไทยแคร์และกลุ่มเป้าหมายเริ่มจาก ตอนแรกที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคนไปให้คำปรึกษา องค์กรเอกชนต่างๆ เช่น สมาคมการค้า กลุ่มเหล่านี้ก็ไปคุยกันว่าจะทำอย่างไรหากต้องเปิดเมือง ผลออกมาว่าต้องมีมาตราการที่ปลอดภัย เริ่มแรกเลยมีการแบ่งจังหวัดเป็นสีๆ ตั้งแต่เสี่ยงน้อยจนถึงสูง กลุ่มสถานประกอบการก็แบ่งเป็นสีเหมือนกัน สัมผัสมากหรือน้อย ระยะเวลาในการอยู่นานมากหรือน้อย ก็นำเสนอภาครัฐ และมีมาตรการทยอยเปิด นายกฯ เลยต่อพรก.ฉุกเฉินไปอีกหนึ่งเดือน และมีมาตรการผ่อนปรนออกมาเป็นระยะตามที่ปรึกษากันไว้ เช่น ร้านอาหารต่างๆ ก็จะมีการทยอยเปิดเป็นระดับไป

ในด้านความปลอดภัย ปรเมศวร์ มินศิริ เล่าต่อว่าเรายังมีการควบคุมกันอยู่ตามพรก.ฉุกเฉิน ตามระบาดวิทยาคือการแทรกแซง แต่ถ้าเราปลดมาตรการแทรกแซงออก เราจะเห็นว่าโรคระบาดมันสามารถกลับมาระบาดได้อีก เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการแทรกแซงให้น้อยที่สุด เลยได้แนวคิดนี้มาว่าถ้าร้านค้าอยากเปิดก็ต้องยอมรับมาตรฐาน ตลาดควรปฏิบัติอย่างไร  ร้านตัดผมควรทำอย่างไร และพวกองค์การส่วนท้องถิ่น กรมอนามัยควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย เป็นการสร้างมาตรฐาน และประชาชนก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วยกล่าวได้ว่าทำอย่างไรการเปิดเมืองจึงจะปลอดภัย ถือเป็นแนวคิดหลักของไทยแคร์ และยังเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบร้านค้าเหล่านี้เองได้

การทำงานเริ่มจากร้านค้ามาลงทะเบียน ใช้เวลา 30 วินาที ร้านค้าจะได้ QR Code ไปติดหน้าร้าน หลังจากนั้นหากองค์การท้องถิ่น กรมอนามัยอยากไปตรวจสอบก็แค่สแกน แล้วกรอกข้อมูล ก็จะมีการเก็บข้อมูลข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้เอาไปใช้อะไร หากร้านค้ามีความเสี่ยงก็จะมีข้อมูลแจ้งเตือน และข้อดีคือไม่ใช่แอปพลิเคชั่นลงในมือถือโดยตรง แค่มีอะไรมาสแกน QR Code ก็จะลิงค์เข้าเว็บไซต์เลย มองว่าเป็นการสมัครใจในการช่วยกันดูแล ไม่ได้รบกวนความปลอดภัย

ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของแอปพลิเคชั่นน่าเป็นห่วง

ในเรื่องประสิทธิภาพของแอปพลิเคชั่น ไม่ใช่แค่เพียงแอปฯ หมอชนะเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงแอปพลิเคชั่นอื่นๆ จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงมุมมองของเขาในเรื่องประสิทธิภาพว่าอย่างหมอชนะ ประสิทธิภาพอาจจะต้องดูว่าระบบจะเสถียรแค่ไหน หากเราไปใกล้ชิดคนที่มีความเสี่ยง หรือถ้าเราไม่ได้ใกล้ชิดล่ะ อีกมุมคือระบบอาจจะแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงเยอะ แต่เราไม่ได้อยู่ในจุดเสี่ยง หรือมีความคลาดเคลื่อนของการเตือนทั้งนี้เขายังเคยกล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวในเรื่องนี้ว่า เครื่องมือเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่แบ่งประชาชนเป็นกลุ่ม ทั้งตามความเสี่ยง และตามปัจจัยอื่น ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ รวมไปถึงเกิดข้อผิดพลาด ทั้งการสุ่ม ความซวย และปัจจัยอื่นที่อาจคาดไม่ถึง

กิตติชัย จิรสุขานนท์ตอบคำถามดังกล่าวในเรื่องประสิทธิภาพว่าด้วยความที่แอปฯ หมอชนะเป็นแอปฯ ใหม่ ขอตอบเลยว่าเป็นงานที่เผามาก เวอร์ชั่นแรกเราทำแค่ 40 ชั่วโมงจึงอาจมีข้อผิดพลาดจริงครั้งแรกเราให้หมอชนะระบุสีผู้ใช้จากมากสุดไปน้อยคือแดงส้มเหลืองเขียวแต่ต่อมาเราพัฒนาใหม่หากเราไปตอบคำถามจะไม่มีส้มและแดงระบุให้แค่สีเขียวกับเหลืองซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงน้อยเท่านั้นเหตุผลคือสีส้มและแดงที่เป็นระดับเสี่ยงสูงเป็นสิทธิของกรมควบคุมโรคเท่านั้นที่จะระบุสีส้มและแดง

หมอชนะจะไม่มีสิทธิยืนยันว่าใครส้ม และแดง อีกทั้งข้อจำกัดในการบอกว่าใครเจอใครมันเป็นเรื่องยาก จะไปเหมาว่าคนเป็นโรคมันไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่หมอชนะทำคือประเมินให้กว้างระดับหนึ่งแต่ไม่กว้างเกินไป เพราะเราก็รู้ว่าวิธีระบุตำแหน่งทางเทคโนโลยีอย่าง GPS , Bluetooth มีข้อจำกัด เราเลยเตือนมากสุดแค่ระดับเหลือง ถ้าตอบคำถามเสร็จ ข้อมูลจะส่งไปยังกรมควบคุมโรค และถ้ามีเกณฑ์อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว กรมควบคุมโรคก็จะส่งมาถามว่าคุณสามารถเข้ามาตรวจได้ไหม คุณเสี่ยงนะ” 

นอกจากนี้กิตติชัยยังกล่าวว่าแอปฯ หมอชนะเวอร์ชั่นแรกอาจจะมีมีปัญหาเรื่องการระบุสีให้ผู้ใช้ แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้วเพราะได้พัฒนาและปรับปรุงแอปพลิเคชั่นแล้ว นอกจากนี้ยังกล่าวในประเด็นที่หลายคนกังวลเรื่องการเหมารวมไว้ว่าแอปหมอชนะแค่โชว์สีนะ แต่ไม่มีสิทธิห้ามคนไปไหน และในเรื่องหารห้ามเข้าสถานที่ อันนั้นเป็นสิทธิของเจ้าของสถานที่ เรื่องการระบุสี เจ้าของมีสิทธิ์ไม่โชว์ได้ และแอปฯ ไม่ได้ส่งข้อมูลไปบอกว่าคนนี้สีส้ม ให้วิ่งหนี ส่วนเป็นสีส้ม กับแดงที่เป็นกังวล กรมควบคุมโรคจะเป็นคนกรองให้

Privacy or Security? ความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาปริญญาเอกด้านข้อมูลส่วนบุคคล วิทยาลัยทรินิตีมหาวิทยาลัยดับลิน กล่าวในมุมมองของเขาในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนแอปพลิเคชั่นรวมไปถึงเรื่องการติดตามผู้ป่วยว่า

เวลาเราพูดถึงการเก็บข้อมูล มันจะมีหลายระดับมาก คือไม่จำเป็นต้องดิจิทัลเท่านั้น เพราะมีได้ทั้งดิจิทัล และอนาล็อกไปพร้อมๆกัน ไม่ได้ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไปเสียทีเดียว เมื่อเทคโนโลยีทำหน้าที่ทางดิจิทัล ทางเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องระบาดวิทยาก็มีการทำงานอยู่เช่นกัน คือเข้าไปสอบถาม เก็บข้อมูล แต่ปัญหาคือผู้ติดเชื้อก็มีเรื่องลืม ปกปิด อับอาย ไม่กล้าบอกบ้าง มันเลยมีไอเดียเรื่องตรงนี้ขึ้นมาเพื่อมาอุดจุดอ่อน แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งนะว่าการทำมือต้องทิ้งไป คือเรามองว่ามันเป็นเครื่องมือที่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาสามารถดึงมาใช้ได้ และแอปฯ ก็ไม่ได้ฟันธงด้วยตัวเอง เพราะมันมีข้อเสียอยู่ด้วย เช่นเรื่องสัญญาณ การติดบัก(bug) ข้อมูลดิจิทัลจึงควรเป็นแค่ข้อมูลส่วนหนึ่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณะนำไปใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์

ส่วนในเรื่องความปลอดภัย และความน่าเป็นห่วงของไทย คือมีแอปฯ ให้เราเลือกใช้หลากหลายมาก และหากจะทำแอปฯ ขึ้นมาให้ดาวน์โหลดบนแอปฯ สโตร์ เวลายื่นเรื่องไปก็จะใช้เวลาอนุมัตินานมาก ทั้งนี้ด้วยความที่ต้องการให้ใช้ได้เลย ทางภาครัฐ หรือทางกสทช.ก็รณรงค์ให้ใช้แอปฯ อื่น อย่าง AOT Airport , SydeKick ที่มันพัฒนามาเพื่อใช้ในจุดประสงค์อื่น อย่าง AOT Airport ทำไว้เพื่อใช้ในสนามบิน เพื่อให้ผู้โดยสารได้กรอกใบ T8 (T8 form) ไว้ใช้เวลาคัดกรองโรคในสนามบิน แต่ก่อนจะกรอกได้ต้องตกลงเงื่อนไขการใช้ของแอปฯ ก่อน ซึ่งความเป็นส่วนตัวของเราจะหายไปทันทีที่ตกลง ข้อดีคือใช้ได้ทันทีเพราะเป็นแอปฯ ที่มีอยู่แล้ว ข้อเสียคือมันเป็นแอปฯ ที่มีจุดประสงค์อย่างอื่น เวลาเรากดตกลงเท่ากับเรายินยอมเปิดเผยข้อมูล ที่เกินไปกว่าดูโรค หรือความเสี่ยง

ทั้งนี้ AOT Airport เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งชื่อ นามสกุล ข้อมูลบัตรประชาชน ภาพบนบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต เบอร์โทรศัพท์มือถือ ข้อมูลธนาคาร การเข้าถึงอื่นๆ ในโทรศัพท์มือถือทันทีที่กดตกลง ทั้งนี้อาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้แอปฯ จะไม่ได้บังคับให้กรอก แต่เจ้าหน้าที่อาจจะมายืนดูว่าเรากรอกหรือเปล่า มันก็เหมือนยินยอมกลายๆ  และหากเรากดยินยอมในแอปฯ แปลว่าเรายินยอมให้เอาข้อมูลเราไปใช้ได้เลย ในการเก็บข้อมูลมีรายระเอียดที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะไม่ได้บังคับว่าต้องเก็บ แต่ว่าระหว่างทำงานก็มีกลไกบางอย่างที่บังคับให้เราทำ

และกล่าวเสริมอีกว่าระบบการทำงานล้วนเกี่ยวข้องกัน ต้องไม่ลืมว่าระบบไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ มันเกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่าง มีระบบอื่นที่ทำงานพร้อมกัน บางทีคนออกแบบระบบอาจจะไม่ตั้งใจจะละเมิดข้อมูล จึงออกแบบมาแค่ลงทะเบียนด้วยเบอร์มือถือ ไม่ได้บังคับบอกชื่อ นามสกุล แต่ประเทศไทยบังคับให้ลงทะเบียนซิม เพราะฉะนั้นกสทช.จะรู้ว่าเบอร์นั้นเป็นของใคร เมื่อเราเอาข้อมูลมาประกอบกันก็สามารถระบุบตัวตนได้ 

บังคับ หรือสมัครใจในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล และมุมมองผู้ใช้

ในมุมมองคนพัฒนาอย่างปรเมศวร์ มินศิริ กล่าวถึงเรื่องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลว่าไม่ใช่มองว่าเราไม่อยากทำงานกับภาครัฐ ให้มองว่าเอกชนเป็นส่วนเสริม ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้าเอกชนติดตั้ง CCTV แล้ววันหนึ่งมีโจรวิ่งมาในพื้นที่เอกชน จะขอดูภาพเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง เอกชนก็น่าจะร่วมมือ แต่ถ้าจะให้ต่อ CCTV เข้าส่วนกลางทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด อันนี้มันเกินความจำเป็น ที่เราเจอคือมันมีความพยายามที่จะแทรกแซง ตอนแรกๆ คือพยายามช่วย แต่ถ้าเกิดเราช่วยตรงนี้ข้อมูลจะต้องส่งมาภาครัฐ เราเลยบอกว่าไม่เอาแล้วถ้าอย่างนั้นเราทำตรงนี้เอง เราปฏิเสธไปแล้ว จุดยืนของผมและคณะทำงานตั้งใจว่าจะร่วมมือในส่วนที่จำเป็น แต่เอกชนต้องการความสมัครใจ

ปรเมศวร์ย้ำว่าหากเป็นระบบสมัครใจ คนจะยินยอมมากกว่า เราไม่อยากบังคับให้ใครมาบอกข้อมูล ตอนนี้ก็ยังเป็นแผนเดิมคือการให้ข้อมูลต้องเป็นระบบสมัครใจ

ขณะที่กิตติชัยทีมงานผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะตอบในส่วนดังกล่าวว่าเจตนารมณ์ของทีมคือไม่บังคับด้วยเช่นกัน โดยหากถามในมุมมองของคนนอก และผู้ใช้แอปพลิเคชั่นบ้าง สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัย ผู้ก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด และกฎหมายการคุ้มครองส่วนบุคคลให้มุมองไว้ว่า 

ก่อนอื่นอยากให้กำลังใจทีมพัฒนาว่าทำเพื่อเจตนาดี ที่อยากช่วยให้คนรับมือกับโรคระบาดได้ แอปพลิเคชั่นคือตัวช่วยอย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่ยาสารพัดที่แก้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าเราไปแตะพื้นผิวที่มีความเสี่ยง แอปฯ ก็ไม่ได้บอกเราได้อยู่ดี แอปฯ ไม่ได้ป้องกันได้ทุกกรณีก็คือมันมีข้อผิดพลาด ส่วนเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น อาจจะมีคนบางกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้ใช้มือถือตลอดเวลา เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ เด็กก็ไม่ได้ใช้มือถือตลอด แอปฯ ก็มีข้อจำกัดตรงนี้ ในขณะที่โรคระบาดมันก็พัฒนาตัวเองได้ด้วย

ความเห็นส่วนตัวคือมันมีข้อจำกัดและปัจจัยอื่น เราจึงต้องใช้ตัวช่วยอื่นร่วมด้วย เช่น การถามปากเปล่า การสอบถาม แต่จะทำอย่างไรให้คนยอมรับวิธีเหล่านี้ ยกตัวอย่างให้เห็นคือสิงค์โปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ มีสองแอปฯ ใหญ่ๆ คือติดตาม และแอปฯ ที่ช่วยคุมในการกักตัว อย่างที่ฮ่องกงมีระบบที่ไม่ได้มีแอปฯ แต่ติดสายบังคับด้วย รัฐก็ระบุเลยว่ากลุ่มคนนี้มีความเสี่ยง เป็นการตรวจด้วยว่าคนเหล่านี้กักตัวอยู่ไหม และถ้าแอปรฯ ะบุว่ามีการออกนอกสถานที่ เจ้าหน้าที่ก็จะมาจับ หรือปรับ เพราะคุณละเมิดมาตรการในการกักตัว 

ที่สิงค์โปร์ เองก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ทำแอปฯ เพื่อจุดประสงค์เหล่านี้โดยเน้นว่าเป็นระบบสมัครใจ ถ้าเจอว่าเสี่ยงก็จะต้องขอผู้ใช้ก่อนว่าขออนุญาตส่งข้อมูลให้ส่วนกลางได้ไหม และทั้งนี้เจ้าของข้อมูลก็สามารถขอให้รัฐลบข้อมูลของตนได้ ส่วนประเทศไอร์แลนด์ก็ใช้ระบบสมัครใจ ข้อมูลรัฐจะเข้าถึงก็ต่อเมื่อผลตรวจโรคเป็นบวก ถึงจะมีการดำเนินการ คือถ้าไม่ผลตรวจไม่พบว่าเป็นบวก รัฐก็ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ 

ทั้งนี้รัฐเองก็พยายามให้ความมั่นใจว่าข้อมูลก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร เจ้าหน้าที่จะใช้ข้อมูลได้คนจะต้องยินยอม ถือเป็นโมเดลที่ดี และไม่ดูละเมิดด้วย พยายามคุ้มครองเรื่องส่วนบุคคลให้คนมั่นใจว่าจะไม่โดนละเมิดข้อมูล เป็นมาตรการที่พยายามทำกัน

โดย สฤณี อาชวานันทกุลกล่าวสรุปทั้งหมดว่าเครื่องมือเป็นตัวช่วยเจ้าหน้าที่ จุดที่เรายินยอมให้ข้อมูลคือก็ต่อเมื่อเรามีผลตรวจเป็นบวก และถ้าในกรณีที่เราทำแบบสอบถามแล้วสีที่ระบุออกมาไม่ใช่สีเขียว แต่เป็นสีที่มีความเสี่ยงสูง มันอาจจะนำมาสู่การกีดกัน การแบ่งแยก หรือรังเกียจ และมันยังมีประเด็นอคติอีก ความเห็นส่วนตัวคือเราจะเอาเกณฑ์สีมาบังคับไม่ให้คนเข้าร้าน อันนี้ก็ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และผู้ใช้ก็ให้ระวังตัว จะเอาข้อมูลดึงไปส่วนกลางตั้งแต่ผลตรวจโรคยังไม่เป็นบวกไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรและน่าห่วง

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา กล่าวสรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า หากเจตนาคือให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลโดยสมัครใจ แต่ระหว่างนั้นหากมีการเอาข้อมูลไปใช้ก่อน ก็อาจเป็นการละเมิด เช่น ห้างร้านเอาข้อมูลตรงนี้ไปเป็นฐานในการห้ามคนไม่ให้เข้าร้าน ซึ่งก็ต้องระวังในส่วนดังกล่าว

ประชาชนจำเป็นต้องเสีย (สละ) ความเป็นส่วนตัว

นอกจากนี้ อาทิตย์ให้ความเห็นเรื่องการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลด้วยว่าขณะเดียวกันหากประชาชนจำเป็นต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวไปกับแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ ควรมีกฎหมายคุ้มครองด้วย แต่พ...คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ควรจะประกาศใช้กลับยังไม่มีวี่แววบังคับใช้ และเลื่อนออกไปอีก ดังนั้นผู้ให้ข้อมูลจึงไม่มีหลักประกันในการคุ้มครอง สาเหตุประการแรก หากเป็นแอปขององค์กรรัฐก็มีการคุ้มครองโดยกรมคุมโรค และหากเราเป็นผู้ป่วยก็จะมีพ...สุขภาพแห่งชาติคุ้มครอง ประการที่สอง หากเป็นแค่การเข้าถึงตำแหน่ง ก็ถือว่าไม่เข้าข่ายพ...ข้อมูลข่าวสารของราชการอีก จึงเกิดสภาพว่ามีแอปฯ จำนวนมากกำลังเก็บข้อมูลของเรา โดยไม่มีกฎหมายกำกับคุ้มครอง

และหากการแพร่ระบาดสิ้นสุด ทางแอปฯ หมอชนะกล่าวว่าข้อมูลหมอชนะเก็บโดย DGA ค่าเซิร์ฟเวอร์ทางกระทรวงดิจิตัลก็เป็นคนจ่าย เราเลยตกลงว่าข้อมูลให้ภาครัฐเก็บ แต่มีเอกชน นักกฎหมาย และนักวิชาการควบคุมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตัดสินว่าใครมีสิทธิเบิกข้อมูลมาใช้บ้าง คือกรมควบคุมโรค และข้อมูลเรามีระบบลบเองอัตโนมัติทุกๆ 30 วัน ไม่ต้องไปลบเอง ข้อมูลก็ไม่มีใครเอาออกได้ มีการแยกเรื่องข้อมูลไว้ว่าใครเบิกข้อมูลส่วนไหนบ้าง

นอกจากนี้ สฤณีมองว่าสำหรับแอปพลิเคชั่นนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนในการออกแบบ กล่าวคือข้อมูลถ้าจะต้องเก็บก็ต้องเก็บเท่าที่จำเป็น และการระบุสีก็ไม่ควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติหรือตัดสินได้ทันที เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำว่าคนที่มีความเสี่ยงมากจากการทำงาน ถูกกีดกัน ถูกตีตราจากสังคม

อาทิตย์เสริมว่าระบบไม่ควรเป็นการกีดกันคน แต่คือการรวมคนเข้ามาด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้อย่างปลอดภัย เพื่อโอบอุ้มคนมากกว่า และหาทางป้องกันไม่ให้คนเอาแอปฯ เหล่านี้ไปใช้ในทางลบเพื่อแบ่งแยกคนในสังคม และในตอนนี้เรายอมให้รัฐเข้าถึงข้อมูลบางอย่างเพราะอยู่ในภาวะพิเศษ แต่ภาวะพิเศษนี้ไม่ควรอยู่อย่างยาวนาน และเราก็ชาชินกับการละเมิดนี้ เช่น พรก.ฉุกเฉินในภาคใต้ถูกประกาศใช้มาเป็นสิบปีแล้ว บางคนเกิดมาก็เจอกับภาวะนี้ เราอยู่แค่ไม่กี่เดือนยังรู้สึกอึดอัด เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ให้ภาวะเหล่านี้อยู่เกินความจำเป็นของมัน

Tags: , , , ,