จอห์น ลี เลขาธิการด้านความมั่นคงของฮ่องกง เปิดเผยว่า ตำรวจฮ่องกงยึดมือถือกว่า 3,700 เครื่อง จากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในช่วง 5 เดือนแรกของการชุมนุม และมีการแฮ็กเข้าไปดูเนื้อหาในนั้น ระหว่างที่ตอบคำถามสภานิติบัญญัติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เกี่ยวกับอำนาจการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของผู้ประท้วงโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยไม่มีความรับรู้

“จากเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน 2019 ตำรวจได้ดำเนินคดี 1,429 คดี โดยมีโทรศัพท์มือถือเป็นหลักฐาน” จอห์น ลี กล่าว “ในคดีเหล่านั้น มีโทรศัพท์มือถือ 3,721 เครื่อง ที่เป็นของผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องสงสัย โดยการยึดและเข้าถึงทั้งหมดนี้มีหมายศาลถูกต้อง”

จอห์น ลี ยังกล่าวด้วยว่า การยึดโทรศัพท์มือถือเป็นการปฏิบัติที่ปกติ และไม่ใช่เพียงแค่ในการจับกุมผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น โดยการปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจอาจต้องค้นหาและตรวจสอบวัตถุที่ต้องสงสัย ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์คล้ายๆ กัน

ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงของผู้ประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย โจชัว หว่อง ซึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจากการประท้วงเมื่อเดือนมิถุนายน เกิดคำถามว่า ตำรวจได้ใช้อำนาจแฮ็กรหัสป้องกันโทรศัพท์มือถือของเขาหรือไม่ จากคดีความที่มีบันทึกการส่งข้อความเป็นหลักฐาน โดยที่โจชัว หว่อง เปิดเผยว่า เขาไม่ได้ให้รหัสผ่านกับตำรวจ  ซึ่งต่อมาตำรวจออกมาแถลงว่า เป็นการใช้อำนาจตามหมายศาล

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสภานิติบัญญัติเมื่อวันพุธ จอห์น ลี ไม่ได้กล่าวถึงการที่ตำรวจใช้สปายแวร์ไปปลดล็อกโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัย เขายังกล่าวด้วยว่า การตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีมีความน่าเชื่อถือในการเผยข้อมูลที่อาจเป็นรายละเอียดของการทำอาชญากรรม ดังนั้น การอนุญาตให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถทำอย่างนี้ได้จะช่วยป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงและรักษาความปลอดภัยสาธารณะ

ขณะที่ สตีเฟน หว่อง กรรมาธิการความเป็นส่วนตัว กล่าวว่า สำนักงานของตนรับเรื่อง doxxing หรือการทำข้อมูลส่วนตัวเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 4,700 เคส โดยทางกรรมาธิการฯ พยายามที่ลดจำนวนคนที่ถูก doxxing ลง และขอให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ ช่วยลบข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้น ซึ่งสามารถทำไปได้แล้ว 70%

ในการประชุมเดียวกันนี้ แพทริค นิป รัฐมนตรีกิจการรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ข้อมูลส่วนตัวถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ ดังนั้น ต้องศึกษาการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะรับมือกับกรณีต่างๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้น โดยรัฐบาลจะหารือกับสมาชิกนิติบัญญัติเรื่องการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนตัว ที่จะมีการประชุมในวันที่ 23 มกราคมนี้

แพทริคกล่าวด้วยว่า กรรมาธิการความเป็นส่วนตัวได้แนะนำให้มีการเพิ่มอำนาจภาคส่วนต่างๆ รวมถึงให้โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์สามารถลบโพสต์บางโพสต์ ควบคุมการสืบสวนอาชญากรรม และแม้แต่การฟ้องร้องในการใช้ข้อมูลส่วนตัวในทางที่ผิด

เขายกตัวอย่างสิงคโปร์ที่มีกฎหมายจัดการกับการ doxxing หรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ที่ผู้มีอำนาจควรศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ และควรจัดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการพูด และการไหลของข้อมูลข่าวสาร

แพทริคอ้างถึงข้อมูลที่อัพเดทเมื่อสิ้นปี 2019 ว่า ประมาณ 30% ของผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลและตำรวจนำมาเปิดเผย ขณะที่มีจำนวนเพียง 10% ที่ถูกฟ้องคดีโดยประชาชนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลสูงได้มีคำสั่งฟ้องโดยตำรวจและเลขาธิการกระทรวงยุติธรรมให้จำคุกผู้ใดก็ตามที่แชร์ข้มูลส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวโดยไม่ได้รับอนุญาต

ที่มา

https://sg.news.yahoo.com/hong-kong-police-seized-more-144148783

https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3045239/hong-kong-protests-nearly-5000-doxxing-complaints-unrest

https://www.businessinsider.com/hong-kong-police-seize-cell-phones-protesters-sparking-privacy-concerns-2020-1

ภาพ : Athit Perawongmetha/REUTERS

Tags: ,