วันที่ 29 เมษายน นาย ก. เดินทางจากบ้านไปที่ไหน ด้วยยานพาหนะอะไร ใครนั่งใกล้บ้าง นานเท่าไร (นั่งใกล้ในระยะ 1 เมตร นานเกิน 15 นาทีหรือไม่ ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่) ทำอะไร เจอใครบ้าง เจอกันอย่างไร นานเท่าไร (คุยกันในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาทีหรือไม่ ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่) จากนั้นเดินทางไปที่ไหน ด้วยยานพาหนะอะไร ใครนั่งใกล้บ้าง ทำอะไร เจอใคร เจอกันอย่างไร นานเท่าไร

  วันที่ 30 เมษายน นาย ก. เดินทางจากบ้านไปที่ไหน ด้วยยานพาหนะอะไร ใครนั่งใกล้บ้าง นานเท่าไร… คำถามเดิมถูกถามซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อประกอบเป็นลำดับเหตุการณ์การพบปะผู้คนของนาย ก. ซึ่งป่วยเป็นโควิด-19 อย่างครบถ้วน เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องไปคัดกรองอาการผู้ที่สัมผัสกับนาย ก. ต่อ ซึ่งถ้าคนนั้นเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เขาจะต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน และจะได้รับการตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หลังพบกับนาย ก. 

  วิธีการนี้เรียกว่าการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนโรค ในสถานการณ์ปกติคงไม่มีใครยินยอมบอกรายละเอียดเหล่านี้ให้กับผู้อื่น เพราะเป็นความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่ได้รับการคุ้มครองด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ‘ผู้ป่วย’ จำ (เป็น) ต้องยอมเปิดเผยความเป็นส่วนตัวนี้ให้กับ ‘เจ้าหน้าที่’ ทั้งยังยินยอมให้เจ้าหน้าที่นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย 

  ไม่เพียงเท่านั้น ‘สาธารณะ’ เองก็ยังกดดันเจ้าหน้าที่ให้เปิดเผยรายละเอียดของผู้ป่วยด้วย ถ้ายังจำบรรยากาศของสังคมออนไลน์ในช่วงแรกได้ หลายคนเรียกร้องให้กรมควบคุมโรคแถลงชื่อสถานที่ทำงานของผู้ป่วย เช่น กรณีผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศไทย จนกระทั่งห้างสรรพสินค้าต้องออกมาแถลงข่าวเอง หรือแสดงตำแหน่งบ้านของผู้ป่วยบนแผนที่ หรือส่งข้อความเตือนถ้าเข้าไปในสถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไป

  เท่ากับว่าทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ‘ความเป็นส่วนตัว’ หรือความลับของผู้ป่วย (patient confidentiality) จะไม่ถูกคุ้มครองในสถานการณ์พิเศษนี้ (?)

ปัญหาของการติดตามผู้สัมผัส

  ในแบบสอบสวนโรคจะมีส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องสัมภาษณ์ผู้ป่วยถึง “ประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อก่อนเริ่มป่วย” และ “กิจกรรมและการเดินทางตั้งแต่เริ่มป่วย” เพื่อค้นหาแหล่งโรค (source) ที่ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อต่อมา และผู้สัมผัส (contact) ที่อาจได้รับการแพร่เชื้อต่อไป โดยแหล่งโรคจะนับย้อนกลับไป 1 เท่าของ ‘ระยะฟักตัว’ เท่ากับ 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสจะนับจาก ‘ระยะแพร่เชื้อ’ ซึ่งในปัจจุบันคือ 48 ชั่วโมงก่อนมีอาการ จนถึงวันที่ได้รับการแยกโรคในโรงพยาบาล

  ยกตัวอย่าง นาย ก. เริ่มมีอาการไข้ ไอในวันที่ 1 พฤษภาคม มาตรวจที่โรงพยาบาล ในวันที่ 5 พฤษภาคม แล้วได้รับการแอดมิทในวันเดียวกัน แหล่งโรคคือผู้ที่นาย ก. พบเจอด้วยตั้งแต่วันที่ 17-30 เมษายน ส่วนผู้สัมผัสคือผู้ที่นาย ก. พบปะด้วยตั้งแต่ 29 เมษายน – 5 พฤษภาคม รวมเวลาทั้งหมด 19 วัน ซึ่งคนเป็นสามี-ภรรยากันยังไม่บอกกันเช่นนี้เลย อย่างไรก็ตามการติดตามผู้สัมผัสก็ประสบกับอคติ 2 อย่างไม่ต่างจากการทำวิจัยที่มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง กล่าวคือ

  1. อคติจากการนึกย้อนกลับไป (recall bias) หน่วยความจำของเรามีข้อจำกัด ทำให้เรามักจำได้เฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญ และลืมบางเหตุการณ์ไป เช่น ถ้าถามว่าเมื่อ 3 วันก่อน ผมเจอใครบ้าง ผมก็อาจต้องนั่งนึกสักพัก… ก่อนที่จะนึกได้แค่ว่ามีเพื่อนร่วมงานในสำนักงาน แต่ผมอาจลืมไปว่าตอนบ่ายวันนั้นผมเข้าร่วมประชุมกับคนนอกสำนักงาน หรือลืมไปว่าเย็นวันนั้นผมไปวิ่ง แล้วก็วิ่งสวนกับคนรู้จักด้วยเหมือนกัน

  2. อคติจากความต้องการของสังคม (social-desirable bias) นอกจากเราจะจำได้เฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญแล้ว แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นผิดไปจากค่านิยมของสังคมหรือผิดกฎหมาย เราก็อาจไม่ตอบเจ้าหน้าที่ไปตามตรง เช่น ถ้าผู้ป่วยมีภรรยาน้อยก็อาจไม่ยอมบอกเจ้าหน้าที่ (แต่กรณีที่เกิดขึ้นจริงคือภรรยาน้อยรู้ แล้วมาขอตรวจกับเจ้าหน้าที่) หรือถ้าผู้ป่วยไปบ่อนการพนันมา ก็อาจเลี่ยงตอบว่าไปสังสรรค์กับเพื่อนมา เป็นต้น

  สำหรับวิธีการแก้ปัญหา ทีมสอบสวนโรคก็อาจขอให้ผู้ป่วยทบทวนเอกสารที่เกี่ยวกับการจองหรือการชำระเงิน ขอเจ้าของสถานที่เปิดภาพที่กล้องวงจรปิดบันทึกไว้ เช่น กล้องวงจรปิดที่โรงพยาบาลว่าแท็กซี่ที่มาส่งผู้ป่วยหน้าห้องฉุกเฉินหมายเลขทะเบียนรถอะไร หรือต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่ผมเคยดูแลก็ต้องใช้เวลากว่าผู้ป่วยจะยอมบอกว่าเขามากับใคร พักอยู่ที่ไหน เพราะเขาเกรงว่าถ้าบอกไปแล้ว ครอบครัวของเขาที่มาด้วยกันจะไม่ปลอดภัย

ทำไมถึงต้องติดตามผู้สัมผัส

  สาเหตุที่ต้องติดตามผู้สัมผัสกันขนาดนี้ก็เพราะอย่างที่ทุกคนทราบว่าโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วย 1 ราย สามารถแพร่ให้กับคนใกล้ชิดได้อีก 2-3 ราย และในบางสภาพแวดล้อมก็อาจทำให้เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) เช่น โบสถ์ สนามมวย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลักสิบ-ร้อยราย และยังมีความรุนแรงมากกว่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไป ยิ่งถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าโรงพยาบาลพร้อมกันก็ยิ่งทำให้มีอัตราป่วยตายสูงขึ้น 

  องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (public health emergency of international concern: PHEIC) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 63 และเป็นโรคระบาดทั่ว (pandemic) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 63 ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 63

  ส่วนการติดตามผู้สัมผัส เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสอบสวนโรคโดยเริ่มต้นจาก ‘ผู้ป่วย’ แล้วขยายวงออกไปหาผู้ป่วยคนก่อนหน้าหรือผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อ ตรงกันข้ามกับการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชน (active case/asymptomatic infection finding) ที่เปรียบเสมือน ‘การงมเข็มในมหาสมุทร’ แต่การติดตามผู้สัมผัสจะช่วยกำหนดขอบเขตในการงมให้แคบลงว่าเข็มตกลงไปที่ไหน ก็งมลงตรงจุดนั้น ทำให้มีโอกาสพบเข็มมากขึ้น 

  ยิ่งการติดตามมีความครอบคลุมและรวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งสามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงได้เท่านั้น เพราะผู้สัมผัสที่มีอาการ หากตรวจพบเชื้อจะถูกแยกโรคในโรงพยาบาลก็จะไม่แพร่เชื้อต่อ ส่วนผู้สัมผัสที่ยังไม่มีอาการ แต่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง (high-risk contact) จะต้องกักตัวสังเกตอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เพราะโรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนที่จะมีอาการ แต่เมื่อกักตัวแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นอีก

  ในเมื่อโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และการติดตามผู้สัมผัสก็มีความจำเป็น ผู้ป่วยจึงต้องเสีย (สละ) ความเป็นส่วนตัวอย่างเสียไม่ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำความเป็นส่วนตัวนี้ไปป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างหรือเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะนั่นเอง ซึ่งแม้แต่โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่เมื่อติดแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ยังไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษนี้ เช่น แพทย์ต้องขออนุญาตผู้ป่วยก่อน ถ้าจะแจ้งผลให้กับญาติ

จุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัย

ทั้งนี้การเปิดเผยความเป็นส่วนตัวนี้จะต้องมีขอบเขต โดยฝั่งเจ้าหน้าที่จะมีแบบสอบสวนโรคชื่อ Novelcorona 2 เป็นกรอบในการสัมภาษณ์ซึ่งกำหนดโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จึงเป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะซักถามเฉพาะข้อมูลที่ต้องกรอกในแบบสอบสวนโรคเท่านั้น ทว่าก็จะมีคำถามปลายเปิดในส่วนของ “ประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อก่อนเริ่มป่วย” และ “กิจกรรมและการเดินทางตั้งแต่เริ่มป่วย” 

  ในส่วนนี้ผู้ป่วยจะต้องเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘การควบคุมโรค’ คือ ประวัติการพบปะกับผู้อื่น สถานที่ และเวลาที่พบปะในระยะเวลาที่กำหนด เพราะโควิด-19 เป็นโรคติดต่อ สำหรับข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นไม่จำเป็นต้องบอก (แต่ถ้าเดินทางไปทำธุระส่วนตัวด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ยังต้องบอก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก) ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถถามเกินกว่าวัตถุประสงค์ของการสอบสวนโรคได้

  เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพราะในแบบสอบสวนโรคจะมีการระบุชื่อ-สกุลของผู้ป่วยไว้ การส่งต่อข้อมูลในปัจจุบันใช้อีเมลเป็นหลัก แต่ถ้าใช้ไลน์ควรใช้ไลน์ส่วนตัว เพราะถึงแม้จะเป็นกรุ๊ปของทีมสอบสวนโรค แต่ในกรุ๊ปนั้นก็มีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายนั้นจำนวนมากจึงอาจทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้ และเมื่อมีการเผยแพร่ลำดับเหตุการณ์ของผู้ป่วยต่อสาธารณะจะต้องระมัดระวังข้อมูลที่อาจทำให้ผู้อื่นระบุตัวตนได้

การติดตามผู้สัมผัสด้วยระบบดิจิทัล

  จากอคติในการติดตามผู้สัมผัส 2 ข้อ (สรุปเป็นคำสั้นๆ คือ ‘ลืม’ กับ ‘ปกปิด’) นำมาซึ่งความพยายามในการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหา เพราะหน่วยความจำในปัจจุบันสามารถจำรายละเอียดในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมาได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง และถ้ามีการบันทึกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เทคโนโลยีก็ไม่สามารปกปิดประวัติได้ เหมือนกับการเข้าไปดู “ประวัติการเข้าชม” เว็บไซต์ย้อนหลังว่าเราเปิดเข้าเว็บฯ อะไรบ้างในวันนั้นๆ

  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกคำแนะนำเรื่องอุปกรณ์ติดตามผู้สัมผัสด้วยระบบดิจิทัลว่าสามารถนำมาใช้เพื่อเป้าหมาย 2 อย่าง คือ 1. การจัดการผู้ป่วย (case management) เช่น การแจ้งเตือน การรายงานอาการประจำวันหากต้องกักตัว และ 2. การติดตามการสัมผัสใกล้ชิด (proximity tracking) เป็นการใช้ระบบบลูทูธ (Bluetooth) หรือจีพีเอส (GPS) ในการตรวจสอบว่าใครสัมผัสกับใครบ้าง 

  ซึ่งถ้าทำออกมาเป็นแอปพลิเคชันได้จริงจะทำให้การติดตามผู้สัมผัสมีความครอบคลุม เพราะสามารถทบทวนจากข้อมูลการสัมผัสใกล้ชิดที่บันทึกไว้ โดยรวมถึงผู้สัมผัสความเสี่ยงต่ำ (low-risk contact) ที่อาจเดินผ่านหรือพูดคุยไม่ถึง 5 นาที และมีความรวดเร็ว เพราะไม่ต้องใช้เวลานึกย้อนกลับไปและสามารถติดต่อผู้สัมผัสคนนั้นผ่านแอพลิเคชันได้ทันที นอกจากนี้ยังลดภาระในการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ เพราะอาจมีระบบให้ผู้ป่วยและผู้สัมผัสกรอกข้อมูลได้เอง 

  แต่สิ่งที่ผู้ใช้งานกังวลก็คือข้อมูลส่วนตัวอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะแอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลกิจกรรมและการเดินทางทั้งหมดไว้ หรือระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมีความรัดกุมมากน้อยเพียงใด และถ้าข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้นอกเหนือจากการติดตามผู้สัมผัส เช่น การจำกัดการเข้าใช้บริการสถานที่ หรือแสดงผลความเสี่ยงรายบุคคลให้ผู้อื่นทราบ เทคโนโลยีที่ใช้จะมีความถูกต้องหรือแม่นยำมากน้อยเพียงใด

  โดยสรุปสำหรับผมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในทีมสอบสวนโรคยังเห็นว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสยังคุ้มครองอยู่ แต่ระดับของการคุ้มครองอาจไม่เท่ากับก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 คือผู้ป่วยจะต้องแจ้งประวัติกิจกรรมและการเดินทางที่อาจแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่น และทีมสอบสวนโรคจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยเฉพาะที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคเท่านั้น โดยจะไม่มีการระบุชื่อหรือข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนได้

  ส่วนการติดตามผู้สัมผัสแบบเดิมยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทุกคน (อย่างน้อยก็พยายามติดตามผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงให้ได้มากที่สุดแทน) ระบบดิจิทัลที่สามารถแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วย่อมทำให้การสอบสวนโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น การควบคุมโรคก็ย่อมดีขึ้นตามไปด้วย แต่ในฐานะประชาชนก็ต้องการความมั่นใจเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลว่าจะไม่ถูกละเมิดจนไม่เหลือความคุ้มครองอยู่เลย 

Tags: , , , , , ,