การเหยียดเชื้อชาติถือเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันเป็นเวลาร้อยปี มนุษยชาติพยายามเรียนรู้กันและกันเพื่อศึกษาสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่าง บางส่วนพยายามขอโทษกับสิ่งเลวร้ายที่บรรพบุรุษเคยทำกับคนบางกลุ่มไว้ในอดีต แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่มองว่าเชื้อชาติตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่น และในปี 2021 สัญลักษณ์แห่งความเหยียดจากยุคเก่าก็เผยให้เห็นในเหตุจลาจลที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

 

จุดเริ่มต้นของ ‘ธงสมาพันธรัฐ’ ก่อนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความไม่เท่าเทียม

ระบบทุนนิยมพื้นฐานของอเมริกาเมื่อหลายร้อยปีก่อนมีส่วนเติบโตมาจากการค้าทาส หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าทหารฝ่ายใต้ผู้มั่งคั่งจากการทำธุรกิจค้าทาส เป็นเจ้าของไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ มีทรัพยากรครบครันทั้งที่ดิน เงินทุน และแรงงาน แถมยังขายแรงงานเอาเงินมาหมุนเวียนได้ไม่รู้จบ ชาวสวนจำนวนมากจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่งคั่ง และมองว่าทาสผิวดำคือสมบัติของตัวเอง

เรือขนส่งทาสผิวดำเริ่มเข้ามาในแผ่นดินอเมริกาตั้งแต่ปี 1619 เป็นแรงงานสัญญาผูกมัด 5-7 ปี หลังหมดสัญญา พวกเขาจะได้รับอิสระ ทว่า แรงงานคือสิ่งจำเป็นที่ขาดแคลน นายจ้างจึงต้องการให้ทาสผิวดำที่มีสัญญากลายเป็นทาสถาวร โดยเฉพาะชาวไร่ทางภาคใต้ในรัฐเทกซัส ลุยเซียนา แอละแบมา มิสซิสซิปปี ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับผู้ประกอบธุรกิจทางภาคเหนือที่เน้นให้ทาสทำงานบ้านและเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และเริ่มมองว่าการค้าทาสผิดศีลธรรม

หลังแนวคิดและธุรกิจที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทำให้แต่ละพื้นที่มองระบบทาสต่างกัน ประกอบกับการหาเสียงอันโดดเด่นของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน จึงชูประเด็น “Free Soil. Free Labor. Free Men” (ที่ดินราคาถูก แรงงานเสรี และเสรีชน) เพื่อต่อต้านระบบทาส และยืนยันว่าประเทศจะต้องไม่ถูกแบ่งเป็นเหนือ-ใต้ อเมริกาต้องมีการปกครองเพียงระบบเดียว

เซาท์แคโรไลนาคือรัฐแรกที่ประกาศแยกตัวจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตามมาด้วยฟลอริดา แอละแบมา จอร์เจีย ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี เทกซัส ร่วมกันก่อตั้งสมาพันธรัฐแห่งอเมริกา (Confederate States of America) ในปี 1861 ก่อนรัฐทางใต้อื่นๆ อย่างเวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา เทนเนสซี และอาร์คันซอ จะเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐภายหลัง การแยกตัวปกครองตนเองส่งผลให้เกิดความขัดแย้งบานปลายเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1861-1865

Gone with the Wind (1939)

ธงสมาพันธรัฐ (Confederate flag) คือธงพื้นหลังแดงที่ถูกกากบาทด้วยสีน้ำเงินขอบขาว ด้านในของกากบาทประดับดาว 13 ดวง แทนรัฐฝั่งใต้ทั้งสิบเอ็ด (รวมมิสซูรีและเคนทักกีที่มีระบบทาสแพร่หลายแต่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง) กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นบ่อยครั้งช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ เพื่อให้ทหารสามารถแยกออกว่ากองทัพไหนมิตร กองทัพไหนคือศัตรู

สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือ ประธานาธิบดีลินคอล์นตัดสินใจออกพระราชบัญญัติเลิกทาสปี 1862 (The Emancipation Proclamation Act of 1862) ที่มีผลทางการในวันที่ 1 มกราคม 1863 บังคับใช้กับสมาพันธรัฐแห่งอเมริกา ก่อนสภาคองเกรสมีมติผลักดันบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ระบุให้เลิกทาสถาวรทั่วประเทศในปี 1865

หลังสงครามจบลง ธงสมาพันธรัฐไม่ได้หายไปไหน แต่ยังถูกใช้คู่กับการแขวนคอคนผิวดำในยุคกฎหมายจิม โครว์ (Jim Crow Law) โดยเฉพาะรัฐภาคใต้ Times เคยรายงานตัวเลขคร่าวๆ ไว้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2015 หลังฝ่ายใต้แพ้สงคราม เกิดการแขวนคอชาวแอฟริกันมากกว่า 3,959 คน ด้วยเหตุผลไร้สาระอย่างทำให้คนขาวไม่พอใจ ทะเลาะวิวาทกับคนขาว (มักไม่สืบสวนว่าใครผิด) ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม แต่สุดท้ายความจริงเผยว่าคนผิวดำที่ถูกแขวนคอจำนวนมากเป็นเพียงแค่แพะรับบาปจากการกระทำของคนขาวเท่านั้น

ธงสมาพันธรัฐถูกเปลี่ยนความหมาย เมื่อผู้ใช้บางกลุ่มแสดงความต้องการอยากให้คนผิวดำเป็นพลเมืองชั้นรองและเป็นทาสต่อไป

 

‘แนวคิดเชิดชูชนผิวขาว’ วัฒนธรรมย่อยที่แตกแขนงแยกได้หลากหลาย

หลายพื้นที่บนโลก ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาที่มีความคิดเรื่องการเหยียดสีผิว หรือมองว่าคนที่มีเชื้อชาติหรือสีผิวต่างจากตัวเองจะด้อยค่ามากกว่า วัฒนธรรมการเชิดชูชนผิวขาว (White Supremacy) ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ถูกติดอยู่กับศาสนาบางนิกาย การใช้ชีวิต ประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคมที่ถูกส่งต่อมาในชุมชนและครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น สามารถแตกแขนงแยกย่อยได้มากมาย กลุ่มที่มีแนวคิดเชิดชูชนผิวขาวจำนวนไม่น้อยมักมีแนวคิดคล้ายกัน บางกลุ่มเก็บเจตจำนงไว้เงียบๆ และหลายกลุ่มก็มีแนวคิดหัวรุนแรง โดยแสดงออกผ่านการก่อเหตุร้ายในสถานที่ต่างๆ

หากลองลิสต์ชื่อกลุ่มแก๊งที่มีแนวคิดเชิดชูชนผิวขาว คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกลุ่ม Ku Klux Klan (KKK) เป็นอันดับต้นๆ บ้างก็นึกถึงกลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazism) กับเครื่องหมายสวัสดิกะที่ไม่มีวันตาย รวมถึงกลุ่มสกินเฮด (Skinhead) ที่ส่วนใหญ่มักถูกมองว่านิยมความรุนแรง เกลียดชังคนผิวดำ ชาวยิว ชาวเอเชีย และกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ซึ่งกลุ่มสกินเฮดกับ KKK จะใช้ธงสมาพันธรัฐในการเดินขบวน และแสดงแนวคิดทางวัฒนธรรมการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

 

ผู้ก่อการร้ายที่ไม่ได้มาจากภายนอก แต่เติบโตอยู่ในสังคมอเมริกา

วันที่ 25 มิถุนายน 2015 อาจเป็นวันธรรมดาที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่สำหรับคนในเมืองชาร์ลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา จนกระทั่งเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดในโบสถ์ชุมชนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน ทั้งหมดเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ไม่นานเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ เขามีชื่อว่า ดีแลน รูฟ (Dylann Roof) หน่วยสืบสวนพบรูปถ่ายเซลฟีจำนวนมากคู่กับธงสมาพันธรัฐ บ้างก็เป็นรูปถือปืนพกกับธงสมาพันธรัฐ ที่ทำให้สามารถคาดเดาถึงเหตุผลที่เขากราดยิงในโบสถ์ได้ว่าเป็นเพราะความเกลียดชังคนผิวดำ  

หลังข่าวเหตุกราดยิงคนดำในโบสถ์ชุมชนเด่นหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ชาวอเมริกันจำนวนมากในเซาท์แคโรไลนา เดินทางมารวมตัวกันหน้าตึกราชการ เรียกร้องให้รัฐปลดธงสมาพันธรัฐออกจากสำนักงานทั่วเมือง ความโกรธแค้นกระจายไปทั่ว บางคนอัดคลิปตัวเองราดน้ำมันลงบนผืนธง ก่อนจะจุดไฟเผาให้เหลือแต่เถ้าถ่าน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ moveon.org ให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของธงสมาพันธรัฐลงชื่อคัดค้านให้ธงดังกล่าวหายไป และมีผู้ลงชื่อเห็นด้วยมากกว่า 6 แสนราย

จากผลสำรวจที่รวบรวมโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายส่วนกลางกว่า 382 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรม พบว่านับตั้งแต่เหตุวินาศกรรมใหญ่วันที่ 11 กันยายน 2001 กลุ่มแนวคิดเชิดชูชนผิวขาวที่มีความคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ก่อเหตุโจมตีสถานที่ต่างๆ จนบางกรณีสามารถเรียกได้ว่าเป็นเหตุก่อการร้ายมากถึง 74% พวกเขาสร้างความวุ่นวายให้สังคมอเมริกันมากกว่าผู้ก่อการร้ายต่างชาติ หรือชาวอเมริกันผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มักถูกกล่าวหาก่อนใครเสียอีก และน่าเศร้าที่กลุ่มเหยียดสีผิวมักพกธงสมาพันธรัฐไปยังที่เกิดเหตุด้วยเสมอ

 

กระบวนการล้มล้างสัญลักษณ์แห่งความเป็นทาส

นักวิชาการและประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่า ธงสมาพันธรัฐกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเหยียดเชื้อชาติ แม้ธงผืนนี้จะเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสนสำคัญ แต่ถึงเวลาแล้วที่ชาวอเมริกันต้องก้าวต่อไป และทิ้งเครื่องหมายที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม ผู้คนบางส่วนกลับมองว่าธงสมาพันธรัฐไม่ได้มีความหมายเหยียดเชื้อชาติ เป็นแค่การแสดงให้เห็นถึงตัวตนของคนทางตอนใต้ หรือมีไว้เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่เสียชีวิตในสงครามเท่านั้น

ไม่นานหลังเหตุการณ์กราดยิงคนดำในโบสถ์ปี 2015 จนเกิดการประท้วงหลายรัฐ บริษัทเอกชนรายใหญ่ อาทิ กูเกิ้ลช็อปปิ้ง (Google Shopping) วอลมาร์ท (Wal-Mart) อีเบย์ (eBay) เซียร์ส (Sears) ที่เคยวางจำหน่ายธงสมาพันธรัฐก็เริ่มทยอยยกเลิกการขายมรดกแห่งการเหยียดเช่นกัน

ความตึงเครียดเรื่องประเด็นเชื้อชาติของสหรัฐฯ ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2020 หลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำวัย 46 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เข่ากดบริเวณลำคอจนขาดอากาศหายใจ ในรัฐมินนิโซตา ทำให้เกิดแฮชแท็ก #BlackLivesMatter ที่แปลง่ายๆ ว่า ‘ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย’ เกิดการพูดคุยนับล้านครั้งในแท็ก ผู้คนต่างร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่าคนผิวดำไม่เคยได้รับความเท่าเทียมเลยสักครั้ง แม้ว่าการเลิกทาสจะจบลงมานานมากแล้วก็ตาม 

รูปปั้นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์กับธงสมาพันธรัฐกลายเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติไม่ต้องการจะเห็นอีกต่อไป วันที่ 5 มิถุนายน 2020 นาวิกโยธินสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้หน่วยงานปลดธงสมาพันธรัฐออกจากสำนักงาน เพราะธงดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มเหยียดเชื้อชาตินำไปใช้แสดงตัวตน ขัดต่อคุณธรรมกองทัพ

หลังจากคำสั่งของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถูกบังคับใช้ได้ไม่นาน สมาคมแข่งรถนาสคาร์ (NASCAR) ได้ปลดธงสมาพันธรัฐในสนามแข่งออกจนหมด สภาคองเกรสเตรียมลงมติเปลี่ยนชื่อฐานทัพที่ตั้งตามนายพลฝ่ายใต้ หลายรัฐเริ่มปลดธงสมาพันธรัฐออกเรื่อยๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการประท้วงของกลุ่ม Black Lives Matter สร้างความไม่พอใจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ​ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นอย่างมาก จนเขาออกมาทวีตข้อความติติงสมาคมแข่งรถนาสคาร์ และออกมาคัดค้านการเปลี่ยนชื่อฐานทัพ เพราะมองว่าชื่อของนายพลฝ่ายใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องถูกลบทิ้ง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2020 มาร์ก เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ขณะนั้น ลงนามให้ทุกเหล่าทัพรวมถึงหน่วยงานพลเรือนใต้สังกัดกลาโหม ‘ต้องปลดหรือไม่ประดับสัญลักษณ์ใดๆ ก็ตามที่สื่อถึงการแบ่งแยก’ แม้ข้อความดังกล่าวจะยังคลุมเครือ ไม่ระบุชัดเจนว่าห้ามใช้ ซ้ำยังไม่แจกแจงว่า ‘สัญลักษณ์ที่สื่อถึงการแบ่งแยก’ มีอะไรบ้าง คาดว่าคงจะให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ธงสมาพันธรัฐจึงถูกตีความหมายเป็นสองฝั่งคือ ‘ไม่เหยียด ไม่แตกแยก’ กับ ‘เหยียดและทำให้เกิดความแตกแยกแบบเต็มๆ’

แม้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Black Live Matter จะเริ่มซาลงหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หนักหน่วงในสหรัฐฯ แต่ธงสมาพันธรัฐกลับถูกพูดถึงอีกครั้งในปี 2021 จากกรณีชายคนหนึ่งในกลุ่มเชียร์ทรัมป์ถือธงสมาพันธรัฐบุกอาคารรัฐสภา เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความรู้สึกหดหู่แก่นักวิชาการอาวุโสจำนวนมาก วิลเลียม แบลร์ (William Blair) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์อเมริกา และอดีตผู้อำนวยการ George and Ann Richards Civil War Era Center มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตท แสดงความคิดเห็นเมื่อเห็นธงสมาพันธรัฐไว้ให้ชวนขบคิดต่อได้ไม่น้อย  

“เป็นภาพที่ทำให้ท้อแท้ใจอย่างมาก ความหมายของธงสมาพันธรัฐไม่เหมือนเดิมมานานแล้ว ธงสมาพันธรัฐในรัฐสภาจะส่งผลกระทบทางสังคมมากกว่าที่เคยทำไว้ในช่วงสงครามกลางเมือง ชายคนนั้นอาจมีความสับสนในตัวเอง เขาถือธงที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกดินแดน แต่กลับเรียกตัวเองว่าเป็นผู้รักชาติได้อย่างไร”

คำประกาศอิสรภาพปี 1776 กล่าวชัดเจนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน และบริบททางสังคมจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเต็มไปด้วยข่าวการเหยียดเชื้อชาติอยู่เสมอ และเชื่อว่าโลกจะยังได้เห็นธงสมาพันธรัฐกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในเหตุการณ์ต่างๆ อีกหลายต่อหลายครั้ง

 

อ้างอิง

สุธีรา อภิญญาเวศพร. 2559. ประวัติศาสตร์อเมริกา ก่อนสมัยฟื้นฟูบูรณะภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 1 นครปฐม. มหาวิทยาลัยศิลปากร

https://www.nytimes.com/2021/01/09/us/politics/confederate-flag-capitol.html

https://www.ted.com/talks/paul_rucker_the_symbols_of_systemic_racism_and_how_to_take_away_their_power/transcript?language=th

https://theconversation.com/why-is-the-confederate-flag-so-offensive-143256

https://www.historynet.com/embattled-banner-the-true-history-of-the-confederate-flag.htm

 

Tags: , , , , , , , , , , ,