ดูเหมือนว่าการบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ของผู้ชุมนุมกลุ่มสนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลตรงข้ามตามที่หวังอย่างสิ้นเชิง เมื่อสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันบางคน จากที่เคยดึงดันต่อต้านผลคะแนนของไบเดน ดันกลับลำยอมรับผลเลือกตั้งหลังเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตกลงแล้วความรุนแรงในวันที่ 6 มกราคม 2021 มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง? 

 

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายครั้งใหญ่

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งอันยืดเยื้อของการเมืองสหรัฐฯ เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประจำปี 2020 แม้ โจ ไบเดน จะมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งทั่วประเทศเกิน 250 เสียง ก่อนประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างทรัมป์ แต่ทรัมป์กลับไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ออกมาประกาศว่าตัวเองเป็นผู้ชนะตั้งแต่การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น พร้อมกับกล่าวหาว่าคะแนนที่ส่งมาทางไปรษณีย์ (Mail-in Voting) เต็มไปด้วยการฉ้อฉล ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทรัมป์ไม่ยอมรับผลคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่เทให้กับไบเดน

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2020 หลังผลคะแนนเลือกตั้งค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โจ ไบเดน จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 มีประชาชนบางส่วนที่ไม่ยอมรับผลคะแนนออกมาประท้วงบนท้องถนนในหลายเมือง โดยเฉพาะรัฐสมรภูมิ (Swing State) อาทิ วอชิงตัน ดี.ซี. เพนซิลเวเนีย โอเรกอน เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ข้อความแทบทุกสื่อโซเชียลฯ ว่าเขาถูกโกง การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นครั้งที่สกปรกสุดเท่าที่ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเคยมีมา

ประชาชนที่ยอมรับผลการเลือกตั้ง หลายคนออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของไบเดน ณ บริเวณ Black Lives Matter Plaza ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยการรวมกลุ่มกันเต้นรำ ร้องเพลง รอฟังคำปราศรัยของไบเดน ส่วนประชาชนจำนวนมากต่างพากันไปซื้อปืน เนื่องจากกังวลว่าหลังจากนี้จะเกิดความรุนแรงไปทั่วประเทศ

กลางเดือนพฤศจิกายน 2020 เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทีมทรัมป์กับทีมไบเดนในหลายมลรัฐ ท่ามกลางการยื่นคำร้องในหลายพื้นที่ของพรรครีพับลิกัน เพื่อขอให้นับคะแนนการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงทวีตข้อความทำนองเดิมว่าตัวเองถูกโกง กลุ่มผู้ชุมนุมทีมทรัมป์ที่เรียกตัวเองว่า ‘Proud Boy’ กับกลุ่มคนอุดมการณ์เดียวกันกว่าหมื่นคนรวมตัวประท้วงบนถนน ช่วงเวลาเดียวกันกับกลุ่มทีมไบเดนที่ออกมาประกาศชัยชนะ ทั้งสองกลุ่มเริ่มต้นจากการด่าทอกันไปมา ก่อนจะเริ่มใช้ความรุนแรง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. เร่งสลายการชุมนุม และเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ถูกแทงได้รับบาดเจ็บ 1 คน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2020 คริส เครบส์ (Chris Krebs) ผู้อำนวยการความมั่นคงทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency: CISA) ทวีตข้อความว่าเขาถูกประธานาธิบดีทรัมป์สั่งปลดกลางอากาศ โดยสำนักข่าวส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่า เครบส์ถูกปลดเนื่องจากออกมากล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ‘การเลือกตั้งไม่มีการโกง การเลือกตั้งครั้งนี้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา’

 

ข่าวลือเรื่องการเรียกร้องให้กองทัพทำ ‘รัฐประหาร’

ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2020 กลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า We the People Convention ซื้อโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ Washington Times เรียกร้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้ ‘กฎอัยการศึกแบบจำกัด’ เพื่อให้ทหารเข้ามาดูแลความเรียบร้อยก่อนจะจัดการเลือกตั้งอีกครั้งอย่างยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกโกงโดยพรรคเดโมแครต ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยออกมาประณามกลุ่มการเมืองดังกล่าวว่า การเรียกร้องให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองและจัดการเลือกตั้งใหม่ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวอเมริกันคนอื่นๆ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว

เดฟ ยอสต์ (Dave Yost) อัยการสูงสุดประจำรัฐโอไฮโอ โต้ตอบการเรียกร้องครั้งนี้ เขาอ้างอิงถึงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมแห่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่ระบุชัดเจนว่า บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ได้อย่างเสรี ทั้งการประท้วงและเขียนข้อความบนป้าย แต่การปลุกระดมมวลชนหรือกองทัพให้ต่อต้านรัฐบาลถือเป็นการก่อกบฏที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่แทบไม่มีเคยมีมาก่อนในสหรัฐอเมริกา

การประท้วงผลคะแนนเลือกตั้งยังคงยืดเยื้อ วันที่ 14 ธันวาคม 2020 มีรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่งปะทะกันอีกครั้งในรัฐวอชิงตัน ดี.ซี. มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 8 คน 4 คนถูกแทงอาการโคม่า 2 คนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 2 คนที่เหลือมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย

กลุ่มอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนับสิบคน อาทิ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) จากยุคของประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) รวมถึง จิม แมตทิส (Jim Mattis) อดีต รมว. กลาโหม สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาร่วมเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Washington Post เตือนทหารอาวุโสของกองทัพไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมือง ที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ การเข้ามามีบทบาทจะทำให้สังคมเกิดอันตราย ผิดกฎหมาย และละเมิดรัฐธรรมนูญ สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้อ่านได้ไม่น้อย จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มอดีต รมว. กลาโหม อาจได้ข่าวอะไรมา จึงได้รวมกันเขียนบทความชิ้นนี้

 

คลิปเสียงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

วันที่ 2 มกราคม 2021 สำนักข่าว CNN เผยเทปบันทึกเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับ แบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ (Brad Raffensperger) เลขาธิการรัฐจอร์เจีย บทสนทนาบางส่วนมีใจความสำคัญแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์พยายามเปลี่ยนผลคะแนนเลือกตั้ง “ประชาชนในจอร์เจียก็รู้สึกโกรธไม่ต่างกัน คุณ (ราฟเฟนสเปอร์เกอร์) ต้องออกแถลงการณ์ว่ารัฐนับคะแนนใหม่แล้ว คุณจะต้องหาคะแนน 11,780 เสียงมาให้ได้ เพราะว่าคุณก็เป็นรีพับลิกัน” ท่ามกลางเสียงปฏิเสธของเลขาธิการรัฐจอร์เจียว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการเลือกตั้งที่เที่ยงตรง และประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีชุดความคิดที่ผิดเพี้ยนจากความจริง

หลังสื่อพากันตีข่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งให้สมาชิกพรรคตัวเองโกงคะแนนเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ออกมาทวีตข้อความว่า เขาคุยโทรศัพท์กับราฟเฟนสเปอร์เกอร์จริง การพูดคุยล้วนเป็นเรื่องขอร้องให้รัฐจอร์เจียตรวจสอบผลเลือกตั้ง และในเวลาไม่นาน ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ก็ทวีตข้อความโต้ตอบว่า ‘ด้วยความเคารพ ท่านประธานาธิบดี สิ่งที่ท่านพูดไม่ใช่ความจริง และความจริงจะต้องถูกนำมาเปิดเผย’

CNN ยังตีข่าวความตึงเครียดระหว่างประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) ที่พูดกับทรัมป์ว่า “ท่านประธานาธิบดี คุณไม่มีอำนาจขัดขวางการลงมติรับรองชัยชนะของ โจ ไบเดน ได้” เช่นเดียวกับสำนักข่าว New York Times ที่ระบุว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โกรธเคืองเพนซ์เพราะเขาไม่ยอมทำตามคำสั่ง รวมถึงไม่พอใจ มิตช์ แมคคอนเนลล์ (Mitch McConnell) ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน ที่ออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของไบเดน และให้สมาชิกพรรคคนอื่นๆ เคารพผลเลือกตั้ง

 

ผลการปลุกระดมมวลชนของ โดนัลด์ ทรัมป์

เท็ด ครูซ (Ted Cruz) ส.ว. เทกซัส พรรครีพับลิกัน ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเขากับกลุ่ม ส.ว. รีพับลิกันอีก 11 คน จะไม่ลงมติรับรองผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ให้ โจ ไบเดน ที่มีคณะเลือกตั้ง 306 เสียง เกินกว่าที่กำหนดไว้ 250 เสียง เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ โดยครูซให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยการฉ้อโกง เขาจะเรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนผลโหวตคณะเลือกตั้งของไบเดน

ตั้งแต่การนับคะแนน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอยู่บ่อยครั้ง เขายังคงยืนยันคำเดิมว่าตัวเองถูกโกง ไปจนถึงเชิญชวนมวลชนให้ออกมาชุมนุมใหญ่ในวันที่ 6 มกราคม 2021 วันเดียวกับการลงมติรับรองผลคะแนนคณะผู้เลือกตั้งในสภาคองเกรส ก่อนจะทวีตอีกครั้งว่าเขาเองจะขึ้นเวทีปราศรัยด้วย ก่อนประชาชนจำนวนมากจะมารวมตัวกันบริเวณ Freedom Plaza และเคลื่อนขบวนไปหน้าอาคารรัฐสภา และบุกเข้าไปภายในอาคารเพื่อให้การประชุมของสมาชิกสภาคองเกรสต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว

เป็นเวลานานที่สมาชิกสภาคองเกรสในห้องประชุมใหญ่ไม่สามารถออกจากอาคารรัฐสภาได้ พร้อมกับคำสั่งฉุกเฉินล็อกดาวน์อาคาร เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตา เกิดการปะทะกันในอาคารหลายครั้ง สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน เป็นผู้ชุมนุมหญิง เธอถูกยิงในอาคารรัฐสภาเนื่องจากบุกเข้าไปในห้องประชุม ก่อนจะนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตภายหลัง โดยตอนนี้ (7 มกราคม บ่ายสองโมงตามเวลาประเทศไทย) ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 คน

หน่วยรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องนำตัวรองประธานาธิบดีหลบหนีออกจากรัฐสภาทางอุโมงค์ใต้ดิน และทยอยนำตัวสมาชิกสภาทั้งหมดออกจากห้องประชุม เมื่อความรุนแรงลุกลาม ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความขอให้ผู้ชุมนุมสลายตัวและกลับบ้าน ก่อนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กจะระงับบัญชีของเขาชั่วคราว เพื่อยับยั้งข้อมูลที่ไม่มีมูลความจริง

หลายปีที่ผ่านมา การลงมติรับรองผลคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไม่ค่อยถูกสื่อจับจ้องมาเท่าครั้งนี้ เนื่องจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดึงดันไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พยายามสั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนให้เปลี่ยนผลคะแนน นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าทรัมป์กดดันไปยังเพนซ์ที่นั่งเป็นประธานการลงมติ ให้เขาพลิกผลไม่ยอมรับว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพนซ์ก็ออกมายอมรับในภายหลังแล้วว่า รองประธานาธิบดีไม่มีอำนาจขัดขวางการลงมติดังกล่าว

 

เดินหน้าถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หลังผู้ชุมนุมกลุ่มเชียร์ทรัมป์บุกรัฐสภา ทำให้รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน การประชุมของสมาชิกสภาคองเกรสที่หยุดไปพักหนึ่งกลับเดินหน้าต่อไป แม้จะเข้าสู่ช่วงกลางดึก วุฒิสมาชิกหลายคนที่เคยยืนยันว่าจะคัดค้านการรับรองไบเดน เริ่มเปลี่ยนความคิดหลังเห็นเหตุชุลมุนใหญ่ เคลลี ลอฟเฟอร์ (Kelly Loeffler) จากพรรครีพับลิกันกล่าวต่อสภาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้เธอเลิกสนับสนุนการขัดขวางการรับรองผลคะแนนเลือกตั้งของไบเดน ความรุนแรง การปิดล้อมรัฐสภาวันนี้คือการกระทำอันน่ารังเกียจ ยืนยันว่าเธอจะร่วมปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของประชาธิปไตย

วอลคาน บอสคีร์ (Volkan Bozkir) ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ร่วมกับ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขารู้สึกสลดใจกับความรุนแรง และขอให้ชาวอเมริกันเคารพประชาธิปไตยในประเทศของตัวเอง

แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่โฆษกในการลงมติรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ทุกคนล้วนรู้สึกเจ็บปวด แต่สหรัฐอเมริกาต้องเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่เรายึดมั่น ส่วน โจ ไบเดน มองว่าความรุนแรงในวันนี้ไม่ใช่การประท้วง แต่เป็นการก่อจลาจล

ในตอนนี้ หลายฝ่ายเริ่มหารือถึงโอกาสที่จะปลดประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 25 (25th Amendment) ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) เมื่อปี 1963 ระบุถึงกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ประธานาธิบดีเสียชีวิต ถูกถอดถอน หรือไม่สามารถปฏิหน้าที่ได้ จะต้องเกิดการประชุมเพื่อหาผู้นำรักษาการคนใหม่

คาดว่าสมาชิกสภาคองเกรสจะเรียกร้องให้รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีทำหนังสือแจ้งต่อสภาคองเกรส ขอถอดถอนประธานาธิบดีคนปัจจุบันออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมอีกต่อไป รวมถึงมีแนวโน้มก่อกบฏ ยุยงให้เกิดความแตกแยก บ่อนทำลายประชาธิปไตยแห่งสหรัฐอเมริกา และเขาจะต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2021

หลังความวุ่นวายกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จบลง ประธานาธิบดีทรัมป์ปล่อยคลิปวิดีโอยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าต้องให้เกิดการสูญเสียก่อนถึงจะยอมแพ้ โดยเขายืนยันว่าจะลงจากตำแหน่งอย่างสงบเรียบร้อยในวันที่ 20 มกราคม

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ ก่อนจะต้องเปลี่ยนผ่านอำนาจไปยัง โจ ไบเดน ทว่า เขาอาจจะไม่ได้อยู่จนครบวาระก็เป็นได้ เวลานี้ เหตุการณ์ทุกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะออกจากตำแหน่งอย่างสงบจริงหรือไม่ แล้ววันที่ 20 มกราคม 2021 โจ ไบเดน กับ กมลา แฮร์ริส ต้องเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นอีกครั้ง

 

อ้างอิง

– www.ajc.com/politics/politics-blog/us-sen-kelly-loeffler-says-she-will-no-longer-object-to-bidens-win-in-georgia/ITBOOXVKHJGA3GAIHQZDUPMHVY/

– https://thehill.com/homenews/administration/533042-pence-denounces-capitol-rioters-violence-never-wins

– https://edition.cnn.com/politics/live-news/congress-electoral-college-vote-count-2021/h_dcd1ee4f55ee18a408bade14296bb297

– https://themomentum.co/us-politics-2021-trump-mob/

– https://edition.cnn.com/2021/01/06/opinions/pence-25-amendment-ghitis/index.html 

– www.politico.com/news/2021/01/06/congress-confirms-bidens-win-trump-455253

Tags: , , , , , , , , ,