ใกล้เข้ามาทุกทีกับการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 6 มกราคมนี้ สภาคองเกรสจะต้องลงรับรองผลเลือกตั้งจากคณะผู้เลือกตั้ง ทว่า การเข้าพิธีสาบานตนเป็นผู้นำคนใหม่ของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ก็ดูจะไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายอย่าง ตั้งแต่การออกมาเรียกร้องของ ส.ส. และ สว. พรรครีพับลิกัน ให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ขณะที่สื่อใหญ่ระดับโลก ก็ออกมาแฉว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กำลังพยายามใช้อำนาจกดดันผู้น้อยให้เปลี่ยนผลเลือกตั้ง รวมถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเตือนไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง

 

เกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกากันแน่ ?

ไม่นานมานี้ เท็ด ครูซ (Ted Cruz) สว. เท็กซัส พรรครีพับลิกัน ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเขากับกลุ่มสว. รีพับลิกันอีก 11 คน จะไม่ลงมติรองรับผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ที่สภาคองเกรสจะต้องดำเนินการภายในวันที่ 6 มกราคม 2021 รองรับ โจ ไบเดน ที่มีคณะเลือกตั้ง 306 เสียง เกินที่กำหนดไว้ 250 เสียง เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ครูซ ให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยการโกง อาจถึงขั้นโกงมากสุดเท่าที่ประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ เคยมีมาด้วยซ้ำ และนอกจากจะไม่ลงมติรองรับแล้ว เขาจะเรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนผลโหวตคณะเลือกตั้งที่นายไบเดนได้ไป 306 เสียงให้ได้

หากเป็นแค่ความคิดเห็นของครูซและ สว. จากพรรครีพับลิกันอีกเพียงไม่กี่สิบคนก็คงไม่มีอะไรน่าห่วง ทว่าลูอี โกห์เมิร์ต (Louie Gohmert) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐเท็กซัส เคยยื่นเรื่องต่อศาลกลางของรัฐให้มอบอำนาจให้รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) พลิกผลโหวตคณะผู้เลือกตั้งและให้สภาคองเกรสเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีคนใหม่แทน โดยที่รองประธานาธิบดีคัดค้านข้อเรียกร้องนี้ด้วยตัวเอง แต่ศาลมลรัฐเท็กซัสกลับไม่รับฟ้อง จนตอนนี้เขาออกมาประกาศไปในแนวเดียวกันกับครูซว่ามี ส.ส. พรรคอีกกว่าร้อยชีวิตที่เห็นด้วยว่าควรจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ

ตอนนี้จุดยืนของพรรครีพับลิกันแตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ยอมรับผลเลือกตั้งและฝ่ายที่หวังเปลี่ยนผลเลือกตั้ง ถึงตอนนี้ สว. รีพับลิกันจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ สว. ที่จะล้มผลเลือกตั้งเปลี่ยนใจเพราะอาจเกิดความแตกแยกทางการเมือง ดิ้นรนไปอย่างไร ก็ไม่น่าเกิดผล เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสรีพับลิกันจำนวนมากก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดของครูซและโกห์เมิร์ต

ระหว่างที่ ส.ส. และ สว. ยังคงถกเถียงกันเรื่องผลเลือกตั้ง กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกว่า 10 คน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จากทั้ง 2 พรรค อาทิ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในยุคประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ดิก เชนีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในยุคประธานาธิบดี จอร์จ เอช บุช แม้กระทั่ง จิม แมททิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เขียนบทความร่วมกัน ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ตักเตือนว่าทหารจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ควรมีบทบาทใด ๆ ตามการเรียกร้องล้มผลเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจาก “เวลาของการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้เรามีผลสรุปแน่ชัดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ การพยายามดึงกองทัพมาพัวพันจะทำให้เกิดอันตราย ผิดกฎหมาย และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใกล้จะหมดวาระ ได้ทวิตข้อความเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา สนับสนุนการประท้วงใหญ่กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม ท่ามกลางรายงานของหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่สาธารณะ 3 แห่งใจกลางเมืองหลวง ยืนยันว่าได้รับเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อชุมนุมทางการเมืองในเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเฉพาะบริเวณ Freedon Plaza ที่สามารถรองรับมวลชนได้มากกว่าหมื่นคน

เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า หน่วยงานเตรียมกำลังเพื่อรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องสั่งปิดพื้นที่สาธารณะบางแห่ง ปิดถนนบางสาย โดยกระบวนการทุกขั้นตอนจะเป็นไปตามมาตรการอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนยันว่าจะชุมนุมอย่างสันติ ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเกิดการชุมนุมบ่อยครั้ง และการชุมนุมในวันที่ 12 ธันวาคม 2021 ที่เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมทีมทรัมป์กับทีมไบเดน จบลงด้วยการที่มีคนถูกแทง 4 ราย

โรเบิร์ต คอนที (Robert Contee) ออกแถลงการณ์เตือนผู้ที่จะเข้าร่วมว่า “มีคนบางกลุ่มต้องการนำอาวุธปืนเข้ามาในเมือง การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากไม่มีใบอนุญาตพกปืนท้องถิ่น คุณจะถูกจับกุมทันที” และเตรียมระดมกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกว่า 300 นาย เร่งประสานงานร่วมกับหน่วยดับเพลิง ทีมแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากกังวลว่าการชุมนุมอาจเกิดความรุนแรงได้

ในแวดวงสื่อก็เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เช่นกัน เมื่อ CNN เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจได้ถูกจังหวะ สำนักข่าวอ้างว่าพวกเขามีเทปบันทึกเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับ แบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ (Brad Raffensperger) เลขาธิการรัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ กดดันให้ราฟเฟนสเปอร์เกอร์หาคะแนนเสียงให้มากพอที่จะทำให้ตัวเขาชนะการเลือกตั้งในรัฐนี้

บทสนทนาบางส่วนที่ CNN เผยแพร่มีใจความสำคัญว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่พอใจอย่างมาก เขากล่าวว่า “ประชาชนในจอร์เจียก็รู้สึกโกรธไม่ต่างกัน ออกแถลงการณ์ว่ารัฐนับคะแนนใหม่แล้ว โดยคุณ (ราฟเฟนสเปอร์เกอร์) จะต้องหาคะแนน 11,780 เสียง มาให้ได้ เพราะว่าคุณเองก็เป็นรีพับลิกัน” ส่วนเสียงของ แบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ คือถ้อยคำปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวและบอกว่า “ชุดข้อมูลของท่าน (ประธานาธิบดี) ไม่ถูกต้อง เรามีการเลือกตั้งที่เที่ยงตรงแล้ว” ซึ่งทางทำเนียบขาวยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ CNN เผยแพร่

หลังสื่อพากันตีข่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งให้สมาชิกพรรคตัวเองโกงคะแนนเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ออกมาทวิตข้อความว่า เขาคุยโทรศัพท์กับราฟเฟนสเปอร์เกอร์จริง การพูดคุยล้วนเป็นเรื่องขอร้องให้รัฐจอร์เจียตรวจสอบผลเลือกตั้ง และในเวลาไม่นาน ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ก็ทวิตข้อความโต้ตอบว่า ‘ด้วยความเคารพ ท่านประธานาธิบดี สิ่งที่ท่านพูดไม่ใช่ความจริง และความจริงจะต้องถูกนำมาเปิดเผย’

ตอนนี้ความร้อนแรงยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีกขั้น เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ทวิตข้อความว่าเขาจะขึ้นเวทีในการชุมนุมวันที่ 6 มกราคมเช่นกัน

เขาออกมาทวิตพร้อมแนบภาพแผนผังเวทีว่า ‘I will be speaking at the SAVE AMERICA RALLY tomorrow on the Ellipse at 11AM Eastern. Arrive early —- doors open at 7AM Eastern. BIG CROWDS!’ บอกเวลาและสถานที่ชัดเจนว่าเขาจะขึ้นปราศรัยตอน 11 โมง ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับช่วง 5 ทุ่มของประเทศไทย) พร้อมแจ้งข่าวว่าควรมาให้เร็ว เร่งเร้าว่าการชุมนุมครั้งนี้จะรวมมวลชนได้มหาศาล

สภาคองเกรสที่จะลงมติรองรับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งของไบเดน จะมีรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) นั่งในตำแหน่งประธานของพิธี หลายวันที่ผ่านมา สำนักข่าวใหญ่ต่างพากันลงข่าวว่าเพนซ์ถูกประธานาธิบดีทรัมป์กดดันอย่างหนัก เพื่อให้เขาเปลี่ยนมติไม่รองรับคะแนนเสียงที่มากกว่าของไบเดน

เมื่อการคัดค้านผลเลือกตั้งตามกฎหมายด้วยการยื่นเรื่องฟ้อง ขอนับคะแนนใหม่ ไม่สามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ได้ คาดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยื้อเวลานั่งอยู่บนเก้าอี้ผู้นำ ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2021 คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการชุมนุมครั้งนี้จะเปลี่ยนโฉมการเมืองสหรัฐฯ ได้ หรือว่าจะเป็นเพียงความดิ้นรนที่ล้มเหลว เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน การชุมนุมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้งได้ โจ ไบเดน จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แม้ระหว่างการเปลี่ยนผ่านผู้นำประเทศอาจเต็มไปด้วยอุปสรรค สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องก้าวต่อไปอย่างถูกต้องอยู่ดี

 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2021/01/03/politics/trump-brad-raffensperger-phone-call-transcript/index.html

https://edition.cnn.com/2021/01/03/politics/donald-trump-brad-raffensperger-call-washington-post/index.html?fbclid=IwAR1ZhDjzllASB8jxOeFaIWpMr2CxFosQhWzIHlUql3baD0qAadr-NzuVFoI

https://www.washingtonpost.com/politics/trump-raffensperger-call-georgia-vote/2021/01/03/d45acb92-4dc4-11eb-bda4-615aaefd0555_story.html

https://www.reuters.com/article/us-usa-election-trump-defense-idUSKBN29901P

https://www.reuters.com/article/us-usa-election-trump-idUSKBN2980MG

https://www.politico.com/news/2021/01/03/ted-cruz-presidential-election-challenge-calm-down-453842

Tags: , , , , , , , , ,