กระแสโค่นอนุสาวรีย์ในอเมริกาและยุโรปสะท้อนว่า คนจำนวนมากยอมรับไม่ได้อีกต่อไปกับการเหยียดเชื้อชาติ ทว่าเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมของคนทุกสีผิวอาจเผชิญแรงต้านจากกลุ่มพลังที่เชิดชูคนขาวเป็นใหญ่ 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงในหลายเมืองของสหรัฐ ฯกับอังกฤษ ซึ่งรวมตัวกันต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติภายหลังเหตุตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิสฆ่าชายผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ พากันโค่นอนุสาวรีย์ ทำลายอนุสรณ์สถานของบุคคลที่เคยมีบทบาทกดขี่ขูดรีดชาวแอฟริกันและคนพื้นเมืองอเมริกัน

กระแสเรียกร้องให้ปฏิเสธคุณูปการของบุคคลในยุคจักรวรรดินิยม ยังลามไปถึงบ้านเมืองอื่นๆด้วย เช่น ฝรั่งเศส แคนาดา 

อนุสาวรีย์เหล่านั้นยกย่องนักค้าทาส ผู้นำทหาร ผู้ปกครองอาณานิคม เป็นวีรบุรุษ ชาติตะวันตกสร้างสมความมั่งคั่ง เพิ่มพูนอำนาจ จากการเอาคนดำลงเป็นทาส เอารัดเอาเปรียบชนพื้นเมือง นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลบล้าง 

กระแสโค่นอนุสาวรีย์กำลังมาแรง ปฏิบัติการเหล่านี้ ทั้งที่กระทำโดยผู้ประท้วงโดยผิดกฎหมาย และกระทำโดยหน่วยงานรัฐโดยถูกกฎหมาย ไม่ได้มุ่งลบล้างอดีต แต่มุ่งสร้างอนาคตที่มีความเสมอภาคทางเชื้อชาติเป็นอุดมคติปลายทาง

อังกฤษทบทวนตำนาน ‘ปูชนียบุคคล’

คลื่นการประท้วงที่จุดติดเพราะมรณกรรมของฟลอยด์ ลุกลามข้ามฝั่งแอตแลนติกไปยังยุโรป ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องให้โค่นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวดังกระหึ่ม อนุสาวรีย์ของนักค้าทาส พ่อค้าวานิชที่ร่ำรวยจากการค้าพืชผลจากแรงงานทาส ไปจนถึงบิดาผู้ก่อตั้งลูกเสือ ต่างตกเป็นเป้า

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน ผู้ประท้วงพากันโค่นอนุสาวรีย์ของ เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ที่เมืองท่าบริสตอล บุคคลผู้นี้เติบโตในครอบครัวคหบดี เข้าทำงานในบริษัท Royal African Company (RAC) ที่ผูกขาดการค้าทาสในแถบแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 1680 

บริษัท RAC มีพระอนุชาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 เป็นประธาน ต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 2 บริษัทนี้นาบตราประทับชื่อย่อของบริษัทบนหน้าอกของทาสทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้หญิง ประเมินกันว่าทางบริษัทได้ขายทาสชาวแอฟริกันไปยังดินแดนแถบแคริบเบียนและทวีปอเมริการาว 100,000 คนในช่วงปี 1672-1689 

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ตั้งรูปปั้นของคนงานผิวดำ พอล สตีเฟนสัน แทนที่ บุรุษผู้นี้เป็นผู้นำการบอยคอตบริษัทรถประจำทาง Bristol Bus Company เมื่อปี 1963 เพื่อประท้วงที่ทางบริษัทมีนโยบายไม่จ้างคนกลุ่มน้อยเข้าทำงาน

อีกสองวันต่อมา (9 มิ.ย.) ผู้ประท้วงหลายพันรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปล่งเสียงตะโกนซ้ำๆ “โค่นโรดส์”  ที่หน้าอนุสาวรีย์ของ เซซิล โรดส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท British South Africa Company และเป็นนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมเคปในแอฟริกาใต้ในช่วงระหว่างปี 1890-1896 

วันเดียวกัน สภาเมืองของเขตอีสต์ลอนดอนบอกว่า ได้ย้ายอนุสาวรีย์ของ โรเบิร์ต มิลลิแกน เจ้าของไร่อ้อยแปลงใหญ่ในจาไมกา ออกไปแล้ว และกำลังทบทวนว่าจะเอาอย่างไรดีกับอนุสาวรีย์อื่นๆ

สัปดาห์เดียวกัน มีการรณรงค์ในแคว้นเวลส์ ขอให้รื้อถอนอนุสรณ์สถานของ ทอมัส พิกตัน วีรบุรุษในสงครามนโปเลียน ซึ่งว่ากันว่าปกครองอาณานิคมในตรินิแดดอย่างโหดร้ายในช่วงที่ไปเป็นข้าหลวงที่นั่นในช่วงคาบเกี่ยวศตวรรษที่ 18-19 

ในแคว้นสกอตแลนด์ นักกิจกรรมเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อถนน ซึ่งตั้งชื่อตามนามของพิกตัน ผู้ร่ำรวยจากการค้าน้ำตาลและยาสูบที่ผลิตโดยใช้แรงงานทาส 

เมื่อวันพฤหัสฯ (11 มิ.ย.) สภาท้องถิ่นของเมืองพูลทางภาคใต้ของอังกฤษ บอกว่า จะย้ายอนุสาวรีย์ของผู้ก่อตั้งลูกเสือ โรเบิร์ต บาเดน-พาวเวลล์ ออกไปจากท่าเรือเบิร์นเมาท์ เพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วง บาเดน-พาวเวล์ถูกวิจารณ์ว่า ฝักใฝ่ลัทธินาซี เห็นดีเห็นงามกับโครงการยุวชนนาซีของฮิตเลอร์  

ทางด้านมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล บอกว่า จะเปลี่ยนชื่อของอาคารที่ตั้งชื่อตามอดีตนายกรัฐมนตรี วิลเลียม แกลดสโตน เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาส ขณะที่ทางการเมืองเอดินบะระบอกว่า จะติดป้ายบรรยายประวัติของ เฮนรี ดันดัส นักการเมืองชาวสกอต ว่า มีบทบาทโยงใยกับการค้าทาสชาวแอฟริกัน 

เคฮินเดอ แอนดรูว์ นักวิชาการด้านคนดำศึกษา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ให้ความเห็นว่า อนุสรณ์สถานเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูบุคคลที่เหยียดเชื้อชาติ ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่ไม่เหยียดเชื้อชาติ เราต้องกำจัดอนุสาวรีย์ทั้งหลายออกไป อนุสาวรีย์ไม่ใช่ตัวประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้น

สหรัฐฯไตร่ตรองยุคทาส

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทางฟากสหรัฐฯ มือมืดได้บั่นส่วนศีรษะของอนุสาวรีย์ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะที่อนุสาวรีย์อีกแห่งของโคลัมบัสในเมืองริชมอนด์ มลรัฐเวอร์จิเนีย ถูกผู้ประท้วงช่วยกันใช้เชือกดึงจนโค่นลงมา จากนั้น นำไปทิ้งในทะเลสาบในละแวกใกล้เคียง

ตำราประวัติศาสตร์ยกย่องโคลัมบัส เป็นผู้ค้นพบดินแดนโลกใหม่ แต่ในสายตาของผู้ประท้วงที่ตื่นตัวกับลัทธิเหยียดผิวนั้น นักสำรวจชาวอิตาเลียนผู้นี้ คือ คนที่แผ้วทางสู่การใช้แรงงานทาสอย่างขนานใหญ่เพื่อ “บุกเบิก” แผ่นดินที่คนพื้นเมืองดั้งเดิมเคยทำอยู่ทำกิน

เสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ดังอยู่แต่บนท้องถนน เมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เรียกร้องให้ย้ายรูปปั้นของบุคคลสำคัญของรัฐฝ่ายใต้ในยุคสงครามกลางเมืองออกไปจากอาคารรัฐสภา  

วันเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกปัดเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อของค่ายทหารต่างๆ ซึ่งตั้งชื่อตามผู้นำของรัฐฝ่ายใต้ โดยบอกว่า อนุสาวรีย์และค่ายทหารเหล่านั้นเป็นมรดกอเมริกันอันยิ่งใหญ่ เราจะไม่แตะต้องประวัติศาสตร์ของชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

ค่ายทหารที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่พวกวีรบุรุษของรัฐฝ่ายใต้ ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องระบบทาส มีหลายแห่ง เช่น ฟอร์ทแบร็ก ในนอร์ทแคโรไลนา, ฟอร์ทฮูด ในเท็กซัส, และฟอร์ทเบนนิง ในจอร์เจีย 

‘เปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘อนุรักษ์’

ขณะที่อังกฤษไม่มีแรงงานทาสภายในประเทศ การค้าทาสและใช้แรงงานทาส เกิดขึ้นในอาณานิคมโพ้นทะเล สหรัฐอเมริกาก่อร่างสร้างตัวขึ้นด้วยเลือดเนื้อหยาดเหงื่อของคนดำและคนพื้นเมือง 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผิดแผกกันในจุดตั้งต้น ทว่า ณ จุดปัจจุบัน ประเทศทั้งสองต่างมีกลุ่มพลังที่เชื่อในอุดมการณ์คนขาวเป็นใหญ่ (white supremacy) มุ่งปกป้องสถานภาพเดิม ขบวนการเหล่านี้กำลังก่อหวอดต่อต้านฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมของคนกลุ่มน้อย

การเผชิญหน้า วัดกำลัง ของคนสองฝ่าย จะนำพาสังคมไปสู่ความร้าวฉานหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร นับเป็นสถานการณ์ที่น่าติดตามเรียนรู้.

อ้างอิง :

New York Times, 3 June 2020

New York Times, 8 June 2020

Reuters, 9 June 2020

BBC News, 11 June 2020

AFP via Yahoo! News, 11 June 2020

ภาพ: REUTERS/Matthew Childs

Tags: , ,