ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและค็อกเทลบาร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนนิยมออกมาพบปะนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะเหล่าหนุ่มสาววัยทำงาน ที่ให้ความสำคัญกับการสังสรรค์กับหมู่เพื่อนมากพอๆ กับความทุ่มเทในการทำงาน 

          ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอัตราส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของโลก อย่างในบ้านเรา หนุ่มสาวผู้รักการสังสรรค์เหล่านี้มักเสาะหาร้านอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะไปร้านที่มีเมนูแปลกใหม่ ร้านที่มีดีไซน์การตกแต่งสุดเก๋เหมาะแก่การถ่ายรูป หรือร้านที่เด่นในเรื่องเครื่องดื่มที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

          เมื่อพูดถึงค็อกเทลก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่นึกถึงแก้วสวยๆ อย่างชุดแก้วบาร์คอลเล็กชั่น ‘Connexion (คอนเนคชั่น)’ จาก Ocean Glass ที่ได้เปิดตัวไปในวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ที่ร้าน Brasserie 9 ก็ได้ดีไซน์รูปแบบของแก้วที่นำเสนอความเป็นวินเทจผสานเข้ากับความโมเดิร์นได้อย่างน่าสนใจ ตอบโจทย์เทรนด์ร้านอาหารและบาร์สไตล์คลาสสิกที่กำลังมาแรง และคาดว่าจะยังเป็นที่นิยมไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ความคลาสสิกที่หวนย้อนกลับมา

          สำหรับเทรนด์ของร้านอาหารและค็อกเทลบาร์ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าดีไซน์ย้อนยุคกำลังเป็นที่นิยม ระหว่างสไตล์การตกแต่งในยุค 70s และ 80s เริ่มกลับมาใช้สีสัน แสงไฟนีออน กับสไตล์วินเทจ ความคลาสสิกที่ดูเคร่งขรึม มีเสน่ห์เย้ายวนเหนือกาลเวลาแบบ Speakeasy วัสดุจำพวกไม้ หนัง และผ้ากลับมามีบทบาทอีกครั้ง รวมถึงสีเขียวภายในร้านที่ทำให้ร้านดูสดชื่นมากขึ้น เทรนด์เหล่านี้มักเป็นไปตามทัศนคติของผู้คนในสังคม เพราะการตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลเริ่มเอ้าท์ ความแข็งและอุตสาหกรรมของมันอาจจะไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้คนกำลังมองหา

          ในสภาวะที่บ้านเมืองอลหม่านไปทั่วทุกมุมโลก ผู้คนจึงมองหาความสงบสุขและสิ่งปลอบประโลมใจ อย่างที่แนวคิดในการใช้ชีวิตแบบฮุกกะ (hygge) ของชาวเดนมาร์กจึงโด่งดังในปีที่ผ่านมา เทรนด์ของดีไซน์ ไลฟ์สไตล์ การตกแต่งบ้านและร้านอาหารเองก็สะท้อนแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน เราโหยหาความสบายใจ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส และยังมองย้อนกลับไปหาอดีตที่เคยสงบสุขและรื่นรมย์กว่านี้ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความคลาสสิกกลับมาเป็นเทรนด์การตกแต่งในช่วงนี้

          แต่ความคลาสสิกนั้นก็ไม่ได้นำมาใช้แบบเก่ารุ่นเดอะเสียทีเดียว เพราะทุกคนก็ผสมผสานจุดเด่นของความวินเทจและความโมเดิร์นเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดี จึงกลายเป็นสไตล์โมเดิร์นวินเทจที่โดดเด่นด้วยวัสดุจากไม้ เก้าอี้เบาะที่หุ้มหนังหรือผ้า โครงสร้างเหล็กและกระจกในสัดส่วนที่น้อยกว่า และเลือกใช้สีและแสงไฟให้มีความสลัว ดูสุขุมนุ่มลึก ยิ่งทำให้การแฮงเอาท์หลังเลิกงานดูหรูหราเท่เก๋ขึ้นมาอย่างง่ายดาย

แก้วคือหัวใจสำคัญ

          ภาชนะที่ใช้ภายในร้านเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจเพื่อให้เข้ากันกับบรรยากาศและคอนเซ็ปต์ของร้าน สิ่งที่นอกเหนือจากความสวยงามก็คือภาชนะที่ออกแบบมาอย่างดีใช้งานง่าย ไม่ติดขัดระหว่างกินดื่ม และที่สำคัญต้องมีความทนทานโดยเฉพาะแก้วค็อกเทลที่เสี่ยงต่อการตกแตก หรือรอยร้าวจากแรงกระแทกเวลาชนแก้วสังสรรค์กัน ก็ควรมีการออกแบบให้ผนังแก้วและก้นมีความหนามากขึ้น

          ค็อกเทลเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญของร้านอาหารและบาร์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะร้านที่ผสานสไตล์คลาสสิกจะขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปไม่ได้เลย ค็อกเทลเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เครื่องดื่มแต่ละเมนูมีเรื่องราวเฉพาะตัวที่ถ่ายทอดด้วยส่วนผสมที่แตกต่างกัน รวมถึงวิธีการดื่มและเสิร์ฟก็มีความเฉพาะตัวเช่นกัน แก้วค็อกเทลที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ เหมาะสมกับค็อกเทลแต่ละชนิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทำให้ค็อกเทลเมนูนั้นสามารถดึงเรื่องราวผ่านรสชาติออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

          ดีไซน์ของแก้วบาร์มีความหลากหลายสูง ทั้งรูปทรง ความสูง ความจุ ที่จะคำนึงถึงความเหมาะสมกับชนิดค็อกเทลเป็นหลัก ซึ่งแก้วค็อกเทลแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร และเหมาะกับเครื่องดื่มลักษณะไหนบ้าง ถ้าหากว่ามีแก้วเหล่านี้ ไม่ว่าจะบาร์เทนเดอร์มืออาชีพ หรือคนที่ต้องการทำค็อกเทลดื่มเองในบ้านก็จะสามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มได้ครอบคลุมที่สุด

แก้วร็อกส์ หรือแก้ววิสกี้ แก้วทรงกระบอกขนาดพอดีมือ

          แก้วร็อกส์ หรือแก้วทรงคลาสสิก หรือแก้ววิสกี้ (Rocks Glass / Old Fashioned Glass / Whisky Glass): แก้วทรงกระบอกขนาดพอดีมือ ผนังแก้วและฐานแก้วมีความหนาเป็นพิเศษ สัดส่วนความสูงของแก้วจะมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของก้นแก้วไม่มาก มีความจุมาตรฐาน 6-10 ออนซ์ แต่ในปัจจุบันก็มีแก้วร็อคส์ที่จุเป็นสองเท่า คือจุได้ 12 ออนซ์ (สามารถเรียกว่า ดับเบิล โอลด์ แฟชั่น หรือ DOF ได้)

          จุดประสงค์ของแก้วร็อคส์นั้นเพื่อการดื่มที่สามารถดื่มด่ำกับเครื่องดื่มให้นานที่สุด ปากแก้วที่กว้างจะช่วยทำให้กลิ่นหอมของเครื่องดื่มขึ้นมาแตะจมูกได้ง่าย จึงเหมาะกับการชิมแอลกอฮอล์อย่างบรั่นดีหรือวิสกี้ที่มีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอม แก้วร็อคส์ยังเหมาะกับการเสิร์ฟแบบใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่ก้อนเดียวเรียกว่าออน เดอะ ร็อคส์ (On the Rocks) หรือแม้แต่ค็อกเทลที่มีความซับซ้อนแต่ยังคงคาแรกเตอร์ร้อนแรงแต่เน้นใช้เวลาละเลียดอยู่อย่างเนโกรนี (Negroni) ก็เหมาะที่จะใช้แก้วร็อคส์ เพราะแก้วนี้ทำให้เครื่องดื่มสดใหม่ได้นานเป็นชั่วโมง

แก้วไฮบอล  (Highball Glass) แก้วรูปทรงเดียวกันกับแก้วร็อกส์แต่สูงกว่ามาก

          แก้วไฮบอล หรือแก้วคอลลินส์ (Highball Glass / Collins Glass): แก้วรูปทรงเดียวกันกับแก้วร็อกส์ แต่สูงกว่ามาก บางดีไซน์ก็ทำให้เป็นทรงปล่องไฟ (ก้นแก้วเป็นสี่เหลี่ยม) มีความจุ 12 ออนซ์ เป็นอีกหนึ่งแก้วค็อกเทลพื้นฐานที่สามารถใช้ได้ครอบจักรวาล เหมาะสำหรับเครื่องดื่มที่ไม่ซับซ้อน มีแอลกอฮอล์หลักผสมกับมิกเซอร์เพียงหนึ่งหรือสองชนิด อย่างค็อกเทลแบบติกิ (Tiki) ความสูงแคบช่วยคงความสดชื่นและอุณหภูมิของเครื่องดื่มได้นาน จึงเหมาะกับเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง

          แก้วคอลลินส์หน้าตาแบบเดียวกันกับแก้วไฮบอล แต่เป็นทรงกระบอกที่มีความแคบและสูงกว่า มักมีความจุประมาณ 10-14 ออนซ์

  แก้วค็อกเทล (Cocktail Glass) เราเรียกแก้วค็อกเทลว่าแก้วมาร์ตินีกันจนคุ้นปาก

          แก้วค็อกเทล (Cocktail Glass): เราเรียกแก้วค็อกเทลว่าแก้วมาร์ตินีกันจนคุ้นปาก เพราะว่ามีภาพจำจากภาพยนต์สายลับ 007 ที่ เจมส์ บอนด์ จะสั่งเครื่องดื่มมาร์ตินีมาดื่มทุกครั้ง ซึ่งเมนูมาร์ตินีจะเสิร์ฟในแก้วค็อกเทลเสมอๆ

          แก้วค็อกเทลคือแก้วที่มีก้านแก้วยาว ตัวแก้วเป็นทรงกรวย มีความจุหลากหลายตั้งแต่ 3-10 ออนซ์ จุดประสงค์ที่แก้วนี้มีก้านจับก็เพราะว่าไม่ต้องการให้อุณหภูมิจากมือเราไปทำให้กลิ่นและรสชาติของเครื่องดื่มเปลี่ยน เหมาะสำหรับเครื่องดื่มที่เสิร์ฟแบบไม่ใส่น้ำแข็ง แต่บาร์เทนเดอร์จะทำให้เย็นด้วยการเขย่ารวมกับน้ำแข็งในเชคเกอร์ หรือผสมในมิกซิ่งกลาสก่อนที่จะเทลงไปในแก้ว ทรงกรวยของแก้วทำให้เห็นการเรียงตัวของเครื่องดื่มได้ชัดเจน และปากที่กว้างก็ช่วยทำให้ได้กลิ่นของส่วนผสมได้ดี

  แก้วคูป (Coupe Glass) เป็นแก้วที่ดัดแปลงจากแก้วค็อกเทลแต่ทำให้มีความมนโค้ง

          แก้วคูป (Coupe Glass): เป็นแก้วที่ดัดแปลงจากแก้วค็อกเทลแต่ทำให้มีความมนโค้ง หลักๆ ก็เพราะว่าทรงของแก้วค็อกเทลทำให้เผลอทำเครื่องดื่มหกง่าย ทรงมนโค้งจึงกำเนิดขึ้น แต่ในเวลาถัดมาแก้วคูปก็เป็นที่นิยม เพราะความสง่างาม อ่อนหวานของรูปทรงที่โค้งเว้าทำให้นำเสนอเครื่องดื่มที่ต้องการโชว์ความเป็นเลเยอร์ อย่างค็อกเทลที่มีโฟมไข่ขาวลอยอยู่ด้านบน แก้วนี้เหมาะสำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่มแบบเย็น แต่ไม่ใส่น้ำแข็งเช่นเดียวกันกับแก้วค็อกเทล

          แก้วช็อต (Shot Glass): เป็นอีกแก้วที่คุ้นเคยกันดี เน้นกินแอลกอฮอล์แบบเพียวแบบกระดกหนึ่งครั้งหมดแก้ว ซึ่งปริมาณของแอลกอฮอลล์ที่เทลงไปควรจะอยู่ประมาณ 1 ออนซ์ แต่เราควรใช้แก้วช็อตขนาด 1.5 ออนซ์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเทแอลกอฮอล์จนปริ่มและทำหกตอนชนแก้วกัน

  มิกซิ่งกลาส แก้วสำหรับคนผสมค็อกเทลที่มีส่วนผสมของเหล้าทั้งหมด หรือมีมากกว่า 95%

          มิกซิ่งกลาส (Mixing Glass): แก้วสำหรับคนผสมค็อกเทลที่มีส่วนผสมของเหล้าทั้งหมด หรือมีมากกว่า 95% เช่น มาร์ตินี เนโกรนี หรือแมนฮัตตัน การคนผสมในมิกซิ่งกลาสทำให้รสชาติของเหล้าที่ใช้ยังชัดเจนในขณะที่ได้รับความเย็นจากน้ำแข็ง มิกซิ่งกลาสถือว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญในการทำเครื่องดื่มนอกเหนือจากเชคเกอร์ มีความจุ 22 ออนซ์

          แก้วบาร์คือหัวใจสำคัญของค็อกเทลที่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เพื่อทำให้การผสมผสาน ตกแต่งเครื่องดื่มของบาร์เทนเดอร์นั้นสวยงามและดูเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น

          ในปัจจุบันก็มีดีไซน์แก้วที่หลากหลาย แต่ถ้าหากว่าต้องการเลือกดีไซน์แก้วที่เรียบหรู ดูสุขุมเหมาะกับความคลาสสิกแบบ Speakeasy ก็คงไม่พ้นแก้วลวดลายสไตล์คริสตัล ที่เมื่อต้องแสงไฟก็ทำให้เป็นประกาย ดูโดดเด่นและเรียบหรู ตอบโจทย์ค่ำคืนของหนุ่มสาวชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างกิ๊บเก๋แน่นอน

Fact Box

  • แบรนด์โอเชียนได้ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับคุณแอรอน อภิมุข เกร็นดอน ที่เป็นผู้ชนะเลิศรางวัลบาร์เทนเดอร์ยอดเยี่ยมจากเวที Chivas Masters Global Final 2018 ที่กรุงลอนดอน เพื่อสร้างสรรค์เครื่องดื่มที่มีเรื่องเล่าเป็นเอกลักษณ์และผสานสไตล์ให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของแก้วบาร์คอนเนคชั่นทั้งหมด 6 เมนู ซึ่งสามารถไปลองชิมลองชมกันได้ที่ Brass Bar & Cigar lounge ร้าน Brasserie 9 (https://www.facebook.com/Brasserie9BKK/) ได้ตลอดเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
Tags: , , ,