“สนใจไปมาชูปิกชูมั้ย เดินอินคาเทรลกัน สี่วัน”

          ข้อความจากเพื่อนที่ไถ่ถามกันมาอย่างไม่ทันให้ตั้งตัว “ไปเมื่อไร”

          “เดือนสิงหา”

          “อีกหกเดือนเลยนะ”

          “อืม”

          “โอเค ไป!!!”

          บทสนทนาสั้นๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ หกเดือนล่วงหน้าก่อนวันเดินทาง เส้นทางอินคาเทรล (Inca Trail) ที่ว่าคือเส้นทางโบราณสายประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ไต่ไปตามสันเขาผ่านร่องรอยอารยธรรมชาวมายา โดยมีปลายทางอยู่ที่มาชูปิกชู (Machu Picchu) อันโด่งดัง ด้วยความที่เส้นทางสายนี้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว การจองที่เปิดล่วงหน้าหกเดือนมักจะเต็มอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการจองที่สะดวกที่สุดคือติดต่อผ่านบริษัททัวร์ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นคนจองให้เรา รวมถึงการจัดหาคนนำทาง ลูกหาบ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ด้วย

          ทริปนี้เริ่มต้นจากเพื่อนของเพื่อนอยากจะไปและชักชวนกันต่อๆ จนได้กลุ่มที่ใหญ่พอประมาณ (สมาชิกในกลุ่มยิ่งเยอะราคายิ่งถูก) แต่แทบไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย ด้วยความฉุกละหุกของการชักชวน เพื่อนผมอีกคนหนึ่งที่ใช้เวลาตัดสินใจช้าไปเพียงหนึ่งวันก็ต้องพบกับข่าวร้ายว่าไม่มีที่เหลือแล้วสำหรับวันนั้น

          บทเรียนแรกของอินคาเทรล คือเปิดจองล่วงหน้าหกเดือนและเต็มภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจจะน้อยกว่านั้นถ้าเป็นช่วงไฮซีซั่น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายนที่อากาศเย็นสบายและฝนตกน้อยกว่าช่วงอื่น

          การเดินทางเริ่มต้นที่เมืองคุชโก (Cuzco) เมืองหลวงเก่าของชาวมายา ก่อนที่จะโดนชาวสเปนเพียงหยิบมือเข้ามายึดครอง คนที่จะเดินอินคาเทรลมักจะใช้คุชโกในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความสูงของภูมิประเทศสักวันสองวัน เนื่องจากเส้นทางอินคาเทรลส่วนใหญ่จะอยู่บนความสูงมากกว่า 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล คุชโกที่สูง 3,400 เมตรจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ปรับตัว

          เราออกจากคุชโกตั้งแต่เช้าตรู่ หลังจากออกจากคุชโกได้ไม่นานเราก็ได้แวะรับคณะลูกหาบขบวนใหญ่ที่จะคอยอำนวยความสะดวกพวกเราไปตลอด 4 วัน  ก่อนจะแวะพักทานอาหารเช้ากันที่อูลานเทย์ทัมบู (Ollantaytambo) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 70 กิโลเมตร นั่งรถต่อไปอีกไม่ไกลก็จะถึงจุดเริ่มเดิน ณ กิโลเมตรที่ 82 ที่ความสูง 2720 เมตร ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเริ่มเดินอินคาเทรลจากจุดนี้ ทั้งนี้บางบริษัทก็มีทางเลือกในการเดินอินคาเทรลที่มากกว่าหรือน้อยกว่า 4 วันไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เลือก โดยจุดเริ่มต้นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ทุกจุดจะมีการตรวจผู้คนเข้าออกอย่างเคร่งครัด เรียกว่าถ้าไม่ได้จองล่วงหน้าคิดจะแอบเข้าไปแทบจะเป็นไปไม่ได้

          พวกเราเริ่มเดินลัดเลาะแม่น้ำอูรูบัมบา (Urubamba) ที่แปลว่าแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะเส้นทางสายนี้ในอดีตเชื่อว่าเคยเป็นเส้นทางแสวงบุญเส้นสำคัญของชาวอินคาที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่มาชูปิกชู โบราณสถานลึกลับเพราะเพิ่งถูกค้นพบโดยนักสำรวจชาวอเมริกันนามว่าศาสตราจารย์ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham III) แห่งมหาวิทยาลัยเยลในปี 1911 โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ศตวรรษที่สเปนได้ยึดครองดินแดนแถบนี้ มาชูปิกชูกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่ไม่มีชาวยุโรปคนไหนเคยได้เห็น จนกระทั่งเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คงไม่มีอยู่จริง

          เมื่ออิทธิพลของสเปนหมดลงไปจากทวีปอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 การขุดค้นทางโบราณคดีในทวีปอเมริกาใต้ก็เริ่มต้นขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา บิงแฮมเป็นหนึ่งในนักโบราณคดีที่ถูกส่งไปที่ชิลีในปี 1909 ก่อนที่ขากลับเขาจะแวะที่เปรูแล้วเกิดความสนใจร่องรอยอารยธรรมอินคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนลึกลับที่ชื่อมาชูปิกชู อีก 2 ปีถัดมาเขาจึงได้กลับมาเริ่มทำการขุดค้นอีกครั้งโดยเลือกที่จะสำรวจไปตามลำน้ำศักดิ์สิทธิ์อูรูบัมบา และด้วยความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นทำให้เขาได้รู้ว่าบนยอดเขาฮวนนาปิกชู (Huayna Picchu) นั้นมีโบราณสถานขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ได้ขึ้นไปใช้พื้นที่บนนั้นในการเพาะปลูก

          บิงแฮมพร้อมคณะก็ได้เดินทางขึ้นไปจนพบมาชูปิกชูที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ในวันที่ 24 กรกฎาคม 1911 และข่าวการค้นพบก็แพร่กระจายออกไปทั่วโลกในเวลาต่อมา บิงแฮมกลายเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษนักสำรวจโลกลึกลับจนกลายเป็นต้นแบบให้กับภาพยนต์ดังอย่างอินเดียน่า โจนส์

          ในอีกมุมหนึ่งเขาก็มีภาพความเป็นผู้ร้ายโดยเฉพาะในสายตาของคนเปรู เพราะเขาได้ขนโบราณวัตถุมีค่าที่เจอระหว่างการขุดค้นในเปรูกลับไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย โดยส่วนใหญ่ถูกเก็บอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยลต้นสังกัดของเขา และก็มีบางส่วนที่กลายเป็นสินค้าในตลาดมืดให้เหล่านักสะสมทุนหนาได้เอาไปประดับบารมี

          ช่วงแรกของอินคาเทรลยังเป็นการเดินผ่านหมู่บ้านจึงพบเห็นชาวบ้านใช้เส้นทางเดียวกันนี้เดินเข้าออกตลอดระยะ สองฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ โดยฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำคือทางรถไฟที่มีปลายที่อยู่ที่เมืองอัลกัสคาลิเอนเตส (Aguas Calientes) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ณ จุดขึ้นลงมาชูปิกชู โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะเดินทางไปมาชูปิกชูก็จะต้องไปที่เมืองนี้เพื่อต่อรถบัสขึ้นไป แต่สำหรับพวกเราที่ต้องเดินไปนั้น รถไฟจะเป็นที่พึ่งพาเฉพาะตอนเดินทางกลับเมืองคุชโกเท่านั้น  

          อินคาเทรลให้เวลาเราปรับตัวสักระยะ ก่อนทางจะเริ่มตัดขึ้นเนินชันที่ต้องแหงนหน้ามองปลายทางที่อยู่ไกลลิบ ผมกับเพื่อนอาจจะโชคดีหน่อยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในโบลิเวียมาร่วมสัปดาห์ แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่เพิ่งมาถึงคุชโกได้เพียงสองคืน ความชันของเส้นทางผสานกับความเบาบางของอากาศก็เริ่มออกฤทธิ์ตั้งแต่ห้วงยามนี้

โบราณสถานพาทาลัคตา

          เมื่อผ่านพ้นเนินแรก ภาพที่ได้เห็นที่โค้งน้ำเบื้องล่าง คือโบราณสถานพาทาลัคตา (Patallacta) ที่เคยเป็นจุดแวะพักสำคัญสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังมาชูปิกชูในอดีต โดยเป็นโบราณสถานอีกแห่งที่ถูกค้นพบระหว่างการขุดค้นของบิงแฮม นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้ถูกทำลายลงหลังจากที่ชาวอินคาจำนวนหนึ่งถอยหนีการยึดครองของสเปนจากคุชโก โดยมีปลายทางการลี้ภัยอยู่ที่มาชูปิกชู  ระหว่างทางจึงต้องทำลายร่องรอยหลบหนีจึงทำให้เส้นทางอินคาเทรลหลายส่วนที่ทำลายลงในช่วงเวลานั้น รวมถึงสถานที่สำคัญๆ ที่เคยเป็นจุดแวะพักระหว่างทางเพื่อมุ่งสู่อินคาเทรลก็เผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน

          ประมาณสี่โมงเย็น เราก็เดินมาถึงอะยาพัตตา (Ayapata) ซึ่งเป็นจุดพักแรมในคืนแรก โดยเหล่าคาราวานลูกหาบได้เดินทางมาจัดเตรียมสถานที่ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว สิ่งที่เหนือความคาดหมายที่สุดสำหรับผมในทริปนี้คงหนีไม่พ้นการให้บริการของบริษัททัวร์ที่นอกจากจะจัดเตรียมสถานที่พักแรมให้เราอย่างดิบดีแล้ว อาหารในแต่ละมื้อแทบจะไม่แตกต่างจากยามอาศัยอยู่ในเมืองเลย ทุกเย็นเมื่อถึงที่พัก ก็จะเป็นช่วงดื่มชากาแฟ พร้อมขนมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะถึงช่วงอาหารค่ำที่มีไม่ต่ำกว่า 3-4 เมนูในทุกๆ วัน

          ในค่ำคืนหนึ่งที่ตรงกับวันเกิดของเพื่อนร่วมคณะของผม พ่อครัวถึงขั้นอบเค้กวันเกิดมาให้เป่ากันในแคมป์ ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคนว่าจัดเตรียมของแบบนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ในกลุ่มของลูกหาบจะมีอยู่สองคนที่เป็นพ่อครัว และผู้ช่วยพ่อครัวซึ่งจะผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ  

          วันที่สองจะเป็นวันที่หนักที่สุดของทริป โดยเราเริ่มเดินจากอะยาพัตตาที่ความสูง 3,300 เมตร ตัดตรงขึ้นข้ามช่องเขา Dead Woman  ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเส้นทางสายนี้ที่ 4,200 เมตร ที่ได้ชื่อนี้มา ไม่ใช่ว่าลูกเมียใครมาเสียชีวิตบนช่องเขานั้นนะครับ แต่เป็นภาพที่มองมาจากที่ไกลๆ จะเห็นเหมือนผู้หญิงนอนทอดร่างอยู่บนยอดเขาบริเวณนั่นจึงได้ชื่อนั้นมา

          หลังจากนั้นเราก็เดินตัดลงสู่พาเคย์มายู (Pacaymayu) ที่ความสูง 3,580 เมตร นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเลือกที่จะพักแรม ณ จุดนี้ แต่คณะเราตัดสินใจเดินต่อไปพักที่แคมป์ข้างหน้า เพื่อลดระยะทางที่จะเดินในวันสุดท้าย โดยไกด์ของเรา ผู้มีนามว่าเอลวิสตามนักร้องดังผู้ล่วงลับ ให้เหตุผลว่าช่วงวันสุดท้ายจะมีโบราณสถานระหว่างทางให้แวะเยอะ เราจะได้มีเวลาหยุดได้เต็มที่ไม่ต้องเร่งรีบ

เส้นทางเดินขึ้น ช่องเขา Dead Woman ที่ความสูง 4,200 เมตร

ทางลงสู่พาเคย์มายู

          หลังจากทานอาหารกลางวันและพักผ่อนได้สักพัก เราก็เริ่มเดินจากพาเคย์มายูขึ้นสู่อีกช่องเขาหนึ่งที่ความสูง 4,000 เมตรและจากจุดนี้เองที่เมื่อเรามองย้อนไปก็จะเห็นรูปผู้หญิงกำลังนอนพาดอยู่ ณ ช่องเขา Dead Woman ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เส้นทางที่เหลือหลังจากจุดนี้ค่อนข้างสบาย ไม่มีทางชันช่วงยาวๆ เท่าไรแล้ว แต่กว่าที่เราจะถึงชาคูโคชา (Chaqulcocha)  อันเป็นแคมป์ที่พักในคืนที่สอง แสงสุดท้ายก็เกือบจะลาลับขอบฟ้า

มองย้อนกลับไปยังช่องเขา Dead Woman

          ทุกอย่างเป็นไปตามที่เอลวิสบอก วันสุดท้ายเราต้องเดินผ่านโบราณสถานขนาดใหญ่สองสามแห่ง แต่สิ่งที่เขาไม่ได้บอกคือ ‘ฝน’  ที่กระหน่ำลงมาตั้งแต่เช้ามือ ตลอดทางของวันนั้นจึงเห็นเพียงวิวเลือนรางผ่านสายหมอก ช่วงเช้าที่ทางเดินเลาะไต่ไปตามริมผา ความระมัดระวังของเราจึงต้องเพิ่มขึ้นเป็นทบทวีคูณ เส้นทางในช่วงสุดท้ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หินขนาดใหญ่หลายก้อนถูกจัดวางไว้โดยแรงงานชาวอินคาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน

          เดินตามเส้นทางโบราณมาไม่นาน เราก็เข้าสู่ใจกลางของปูยูพาทามาคา (Phuyupatamarca) สิ่งก่อสร้างอินคาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ ณ ความสูง 3,680 เมตร เราต้องไต่ลงไปตามขั้นบันไดสูงชันที่ชโลมไปด้วยสายฝน  สายหมอกที่ยังคลอเคลียไปกับซากอิฐ แต่ก็กลายเป็นความงามในอีกรูปแบบที่ทำให้เราต้องหยุดชื่นชมเป็นระยะ อัลปากา (Alpaca) สัตว์ท้องถิ่นก็ปรากฏให้เห็นหลายครั้ง และดูเหมือนพวกมันจะไม่ทุกร้อนใดๆ กับสายฝน ยังคงเดินเลาะเล็มยอดหญ้าอย่างไม่กลัวเปียกปอน

          หลังจากเดินลงทางชันมาตลอดครึ่งวันเช้า เราก็มาถึงแคมป์พักวิไนวัยนา (Winay Huayna) ตั้งแต่ช่วงเที่ยง เมื่อสายฝนในช่วงบ่ายเริ่มเบาบางลง เราก็เดินออกไปดูอินทิปาทา (Intipata) ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 15 โดยถือเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กับมาชูปิกชูที่สุด มีการสันนิษฐานว่าสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากมีรูปแบบการก่อสร้างที่ใกล้เคียงกันมาก สิ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งในโบราณสถานอินคาคือระบบชลประทานที่สามารถลำเลียงน้ำจากต้นธารที่อยู่ห่างไกลออกไป ก่อนเลาะไหลผ่านขั้นบันไดระดับต่างๆ ที่ใช้ทำการเพาะปลูกเพื่อให้น้ำกระจายไปอย่างเพียงพอและทั่วถึง ในวันที่ฝนตกเช่นนี้ เราจึงได้เห็นความสามารถของรางหินเล็กๆ อายุหลายร้อยปีนี้ทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

          ฝนที่โปรยปรายมาตลอดทั้งวันหยุดลงในช่วงหัวค่ำ แต่พรุ่งนี้ยังคงต้องลุ้นกันอีกทีผมจะต้องเดินฝ่าสายฝนไปมาชูปิกชูหรือไม่  

          เช้าวันสุดท้าย เราตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อรับประทานอาหารเช้าอย่างง่ายๆ ก่อนออกเดินทางไปสู่ประตูสุริยะ (Sun Gate) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือมาชูปิกชู เอลวิสโฆษณาไว้ตั้งแต่วันแรกว่านี่จะเป็นหนึ่งในการดูพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดในชีวิตของพวกเรา

          เราเดินมาถึงเป็นคณะแรกๆ ทำให้เราสามารถจับจองที่นั่งบริเวณประตูสุริยะได้ตามใจชอบ เพียงแต่ธรรมชาติไม่ได้เห็นใจคนตื่นเช้าอย่างพวกเราหนัก หมอกยังคงปกคลุมหุบเขาหนาแน่นจนพวกเราไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย นอกจากสีขาวของสายหมอกที่อ้อยอิ่งเชื่องช้าเหมือนแกล้งนักเดินทางจากแดนไกลอย่างพวกเรา  เวลาผ่านไปสักพักนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เริ่มมาจับจองพื้นที่จนเกือบเต็มบริเวณ มีไม่น้อยที่เดินขึ้นมาจากมาชูปิกชูที่อยู่เบื้องล่าง แต่ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ทำให้อาการผิดหวังแสดงออกทางสีหน้าของใครหลายคน

          แม้พระอาทิตย์เริ่มเลื่อนระดับขึ้นแต่ก็ไม่ช่วยทำให้หมอกเบาบางลงเพียงพอที่จะทำให้พวกเรามองเห็นมาชูปิกชู นักท่องเที่ยวที่เดินอินคาเทรลมาด้วยกันส่วนใหญ่ตัดสินใจเดินลงไปด้านล่างแล้ว เรานั่งรอกันราวหนึ่งชั่วโมงก่อนจะตัดสินใจว่าฟ้าคงปิดแบบนี้ไปอีกพักใหญ่ๆ เราน่าจะเดินลงไปด้านล่างเพราะอย่างน้อยก็จะได้มีเวลาเพียงพอสำหรับเดินเที่ยวด้านในมาชูปิกชู

          เมื่อเราถอดใจเริ่มเดินลงไปได้สักพัก สายลมก็โหมพัดพาม่านหมอกให้เปิดออกแม้เป็นเพียงห้วงเวลาสั้นๆ แต่ภาพที่ปรากฎเบื้องหน้าก็สะกดพวกเราให้หยุดนิ่งจนแทบจะลืมหายใจ ก่อนเสียงใครบางคนเอ่ยขึ้นเบาๆ

          “มาชูปิกชู”   

 

Fact Box

  • เส้นทางอินคาเทรล ทั้งหมดที่ผมใช้เวลาร่วม 4 วัน เป็นระยะประมาณ 45 กิโลเมตร ทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายนและสิงหาคม จะมีการจัดการแข่งขัน Inca trail Marathon ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่งเทรลบนเส้นทางเดียวกันนี้แต่เป็นการแข่งแบบวิ่งเทรลคือใช้เวลาเพียงวันเดียว แม้จะไม่ใช่รายการแข่งแบบเป็นทางการที่มีนักกีฬาชั้นนำของโลกมาร่วมการแข่งขัน แต่ก็ได้รับความสนใจจากเหล่าผู้ชอบท้าทายสมรรถภาพร่างกายอยู่ไม่น้อย โดยสถิติเร็วที่สุดในปัจจุบันอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 33 นาที!!!  

 

Tags: , , ,