เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา The Momentum ชวน ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ ซีอีโอบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชันด้านการศึกษา และ มีนย์ จันทราวุฒิกร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bitcoin Maximalist Thailand เพื่อหาถึงความเป็นไปได้ของการรวมตัวระหว่างเทคโนโลยีบล็อกเชน และคอนเซ็ปต์ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) พร้อมทั้งมองข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น เมื่อสังคมไทยกลายเป็นประชาธิปไตยแบบลื่นไหลดังที่คาดหวังกัน

นี่คือข้อสรุปของการพูดคุยในวันนั้น

หลักการ Liquid Democracy หรือประชาธิปไตยแบบลื่นไหลคืออะไร และดีอย่างไร

พริษฐ์ได้อธิบาย Liquid Democracy โดยเปรียบเทียบประชาธิปไตยเป็นเหมือนกับโปเกมอน และหลักการประชาธิปไตยแบบลื่นไหลนี้คือโปเกมอนที่รับการวิวัฒนาการมาอยู่ในขั้นที่ 3 แล้ว 

พริษฐ์ชวนทุกคนย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของหลักการประชาธิปไตยตั้งแต่แรกเริ่ม คือการที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เพื่อโหวตว่าประเทศของทุกคนนั้นจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ซึ่งในสมัยกรีกโบราณที่เป็นจุดกำเนิดของประชาธิปไตยร่างแรก นั่นคือ ‘ประชาธิปไตยโดยตรง’ (Direct Democracy) โดยเป็นการเอาคนทุกคนที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงมาอยู่ในห้องประชุมห้องหนึ่งเพื่อลงคะแนนเสียง โดยที่หลักการนี้เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยในแบบปัจจุบันนั่นเอง

แต่เนื่องจากว่าการจะเรียกคนทุกคนให้มาประชุมอยู่ในห้องประชุมเดียวกันทุกครั้งไม่สามารถเป็นไปได้ และปัจจัยด้านความรู้ของผู้ลงคะแนนเสียงที่ขาดความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงผู้นั้นไม่สามารถมั่นใจได้ในการลงคะแนนเสียงในทุกครั้ง กลายเป็นข้อเสียและข้อจำกัดที่สำคัญของหลักการประชาธิปไตยโดยตรง 

สำหรับหลักการประชาธิปไตยร่างที่ 2 คือประชาธิปไตยที่พัฒนามาจากข้อจำกัดของหลักการประชาธิปไตยโดยตรง นั้นก็คือ ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมีการเลือกตั้งในทุกๆ 4 ปี ในการเลือก ‘ผู้แทน’ หรือว่าสมาชิกผู้แทนราษฎร ซึ่งเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่เลือกไปทำหน้าที่ในสภา และลงคะแนนแทนประชาชน 

แต่สำหรับประขาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น พอถูกใช้งานไปนานๆ เข้าก็เกิดปัญหาให้เห็นพอสมควร แม้กระทั่งในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ก็ตาม ซึ่งพริษฐ์ได้ยกปัญหาหลักว่า การที่จะหาตัวแทน ส.ส. ที่สมบูรณ์แบบเป็นไปได้ยาก การที่จะมี ส.ส. ที่สามารถเลือกทางเดินที่ดีที่สุดให้กับประเทศควบคู่ไปกับทำให้ประชาชนพอใจแบบ 100% นั้นเป็นไปไม่ได้เลย และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญก็คือการที่ ส.ส. คนนั้น ย้ายขั้วอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่ตรงกับการต้องการของผู้ที่เลือกตั้งไปในตอนแรก ซึ่งประชาชนที่เลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้เลยจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีความแข็งแรงมากแค่ไหน ในที่สุดก็จะมีอิทธิพลบางอย่างที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนเข้าครอบงำ โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังไม่ได้วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างแข็งแรง ‘อิทธิพลปืน’ และ ‘อำนาจทุน’ ซึ่งก็คืออำนาจที่สามารถเข้ามาแทรกแซงจากทางทหารหรือกลุ่มทุนที่มีอำนาจเข้ามาทำให้การตัดสินใจต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามประโยชน์ของคนที่เลือก ส.ส. เข้ามา เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเกิดความคิดว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน คงไม่ใช่ระบอบประขาธิปไตยที่ใช้งานได้ดีเท่าไร

ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล หรือ Liquid Democracy คือแนวคิดประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในประเทศใดเลย แต่ว่ามีการทดสอบในบางบริษัทหรือพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ บ้าง โดยที่ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลนี้คือลูกผสมระหว่างประชาธิปไตยโดยตรงและประชาธิปไตยตัวแทน ซึ่งนำข้อดีของทั้งคู่มาผนวกกัน และทำให้เกิดขึ้นได้จริงผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) 

พื้นฐานของแนวคิดนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากประชาธิปไตยแบบเดิม ก็คือทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับการโหวตในทุกประเด็นได้เท่าเทียมกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ได้มากพอ ก็สามารถทำการถ่ายโอนสิทธิ์ของเราไปยังใครก็ได้ ที่คิดว่ามีความสามารถมากพอที่จะตัดสินใจแทนในประเด็นนั้นๆ ได้ รวมถึงสามารถเรียกสิทธิ์ของตัวเองกลับมา เมื่อถึงเวลาที่มั่นใจว่าจะสามารถลงคะแนนในประเด็นที่มีความมั่นใจด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความลื่นไหลในการเลือกตั้งของประชาชน และที่สำคัญ เปรียบได้กับว่าทุกคนจะสามารถมี ส.ส. ของตัวเองในประเด็นที่ตัวเองต้องการได้ โดยที่ทุกอย่างยังอยู่ในความควบคุมของประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนก็สามารถทำหน้าที่เก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างครบถ้วนและเที่ยงตรงที่สุดได้

สำหรับส่วนของเทคโนโลยีบล็อกเชน มีนย์ก็ได้อธิบายว่า บล็อกเชนคือโปเกม่อนร่างที่ 3 ของ ‘เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางข้อมูล’ เช่นเดียวกัน โดยที่เริ่มจากการสื่อสารผ่านโทรเลขในร่างที่ 1 การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตในร่างที่ 2 และมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า บล็อกเชนในร่างที่ 3 นี้ โดยสิ่งที่เรียกว่าบล็อกเชน คือการที่เป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูลของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกคนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (chain) ที่ทำให้บล็อก (block) ของข้อมูลลิงก์ต่อไปยังทุกคนที่อยู่ในระบบเป็นห่วงโซ่ และข้อมูลที่เป็นห่วงโซ่ที่ยาวที่สุดคือ ‘ความจริง’

มีนย์ได้ยกตัวอย่างว่า ในปี 2009 บล็อกเชนได้ทำการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นระบบที่มีความเที่ยงตรง และสามารถนำมาใช้ได้จริงในการส่งเงินข้ามประเทศหากันผ่านบล็อกเชนที่เรียกว่า ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ในไทยและต่างประเทศหลายแห่งต้องปรับตัวตาม เช่น การลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน หรือการทำธุรกรรมทางออนไลน์

สรุปอย่างง่ายก็คือ บล็อกเชนไม่ใช่สิ่งที่ไว้วางใจได้มากที่สุด แต่ว่าระบบของบล็อกเชนที่ควบคุมข้อมูลอันมหาศาลนั้นให้ความปลอดภัยและมีความเป็นจริงที่สุด ซึ่งก็คือการเชื่อในห่วงโซ่ (chain) ที่ยาวที่สุดนั่นเอง เช่น นาย A โอนเงินไปหานาย B หลักฐานการโอนเงินก็จะถูกบันทึกอยู่ในห่วงโซ่ (chain) ในเครือข่าย (Smart Contract) ซึ่งถ้าเกิดมีใครที่อยากจะปลอมแปลงข้อมูลหลักฐานการโอนเงินนั้นในคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งก็จะไม่มีผลกับฐานข้อมูลทั้งหมด เนื่องจากระบบจะเชื่อในข้อมูลในห่วงโซ่ที่ยาวที่สุด ซึ่งยังคงเป็นข้อมูลดั้งเดิมว่าเป็นความจริง

ปัญหาและสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นใน Liquid Democracy ภายใต้ Blockchain

พริษฐ์ได้แบ่งปัจจัยทั้งหมดเป็น 2 ส่วน แต่ได้ย้ำไว้ก่อนว่า ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลนั้นจะไม่ได้มาแทนสภาแต่อย่างใด แต่จะมาทำหน้าที่แทนสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา

ส่วนแรกก็คือ Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีของวิกฤติโควิด-19 ว่าคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์จะมีปัญหาในการใช้ชีวิตในทันที เช่น ไม่สามารถรับเงินเยียวยา ไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการศึกษาแบบออนไลน์ได้ รวมถึงไม่สามารถจองวัคซีนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพียงเพราะว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบางอย่างได้

เช่นเดียวกันกับการทำประชาธิปไตยแบบลื่นไหลผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เป็นหลักการที่ไม่สามารถทำได้จริงในโลกออฟไลน์เลย จึงจะทำให้เกิดการทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลังโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่สองก็คือ ใครเป็นเจ้าของระบบบล็อกเชนนี้ เนื่องจากความโปร่งใสนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดของคนบางกลุ่มให้เกิดความโปร่งใสและปลอดภัยก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถไว้ใจได้ เพราะถึงแม้ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ แต่ถ้าคนยังไม่เชื่อถือผู้ที่สร้างระบบใหม่นี้ขึ้นมา ระบบก็เป็นหมัน และไม่มีใครเชื่อมั่น เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐนำระบบนี้มาใช้จริง ก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือต่อประชาชนขึ้นมาให้ได้เช่นเดียวกันว่า บล็อกเชนถือเป็นระบบที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เมื่อใดก็ตามที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของประชาชนต่อประชาชนด้วยกันเองแบบสมัครใจ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของประชาชนกับรัฐ เทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ มีการถูกหยิบนำมาใช้อย่างมากมาย เช่น Crowdsourcing ระดมรายชื่อของ Change.org หรือการช่วยกันระดมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นนาฬิกาของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือการบริจาคเงินของนายฌอน บูรณะหิรัญ ก็ตาม

แต่พอมาเป็นเรื่องกระบวนการของประชาชนที่ต้องร่วมมือกับรัฐแบบ 100% เช่น การเลือกตั้งหรือการทำประชามติ ก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าไม่ถึงของบางกลุ่มคน รวมถึงการไม่ไว้วางใจต่อบางกลุ่มคนต่อระบบรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนในประชาธิปไตยแบบลื่นไหลก็จะเจอกับปัญหาเดียวกัน

ส่วนมีนย์ได้ยกตัวอย่างของประเทศเอสโตเนีย ที่ใช้ระบบบล็อกเชนมาช่วยรองรับระบบทางการแพทย์ ทำให้ทุกคนสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ และโรงพยาบาลนั้นก็จะสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพการรักษาของประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงมากอย่างประเทศฮอนดูรัส เมื่อนำ บล็อกเชนของมาจัดเก็บสำเนาที่ดินต่างๆ และตัดตัวกลางในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินออกไป ก็ทำให้มีการจัดการระบบได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับปัญหาที่จะสามารถเกิดขึ้น มีนย์ได้ยกตัวอย่างประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่ได้ทำให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินของประเทศที่สามารถใช้งานได้โดยทั่วไป และใช้บล็อกเชนมาจัดการธุรกรรมทางการเงินของประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ได้ยอมรับการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินบิตคอยน์ รวมถึงตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นของมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ที่ได้ลองใช้ระบบบล็อกเชนมาทำการเลือกตั้งภายในรัฐ แต่ว่าประชาชนในรัฐไม่ให้การยอมรับและโหวตให้นำระบบนี้ออกไปเสีย 

มีนย์ได้ยกประเด็นสำคัญขึ้นมาว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นเหมือนกับมหกรรมบางอย่าง ครอบครัวต้องตื่นแต่เช้าไปเลือกตั้งที่คูหาด้วยกัน ซึ่งยังถือเป็นกิจกรรมทางกายภาพ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียงในบ้านเมือง แต่ว่าการโหวตด้วย บล็อกเชนจะทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป

พริษฐได้ย้ำเตือนปิดท้ายประเด็นนี้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยแบบลื่นไหลนั้นสามารถใช้ได้จริงแน่นอน ถ้าเราพูดถึงโลกในอุดมคติ แต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประชาชนในปัจจุบันก็คาดหวังในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางเช่นกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น คนที่ได้มานั่งเป็นกรรมการ กกต. ก็ปราศจากความโปร่งใส เนื่องจากว่าถูกจัดตั้งแบบจิ้มเลือกผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และทหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่คนละเรื่องกับเทคโนโลยี 

พริษฐ์ได้ยกตัวอย่างถึงปัญหาจริยธรรมในเทคโนโลยีของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ว่า เมื่อถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับคนเดินเท้า ถ้าชนคนเดินเท้า ผู้โดยสารภายในรถจะรอด ถ้าไม่ชนคนเดินเท้า ผู้โดยสารก็จะมีอันตราย การที่รถยนต์จะเลือกตัดสินใจแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการเขียนโปรแกรมของผู้ออกแบบเทคโนโลยีนั้นล้วนๆ เพราะฉะนั้น บล็อกเชนก็เช่นเดียวกัน ต้องระวังให้ดีว่าการออกแบบเทคโนโลยีต้องครบทุกมิติ 

แต่สุดท้ายแล้ว แนวคิดประชาธิปไตยแบบลื่นไหลด้วยระบบบล็อกเชนก็ยังไม่ใช่ปัญหาแบบเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องการในตอนนี้ เพราะปัจจุบัน แค่พื้นฐานหลักการประชาธิปไตย ประเทศนี้ก็ยังทำไม่ได้ เพราะว่ายังมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ที่แต่ละคนนั้นมีอำนาจมากกว่าประชาชนถึง 19 ล้านเท่า

Blockchain แบบไหนเหมาะกับการมาทำ Liquid Democracy 

สำหรับมุมมองนี้ เป็นมุมมองที่มีนย์ได้ทำการเสริมขึ้นมา เนื่องจากว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีแบบเปิดที่มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกนำมาใช้ โดยไม่มี Blockchain ไหนที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่าบล็อกเชนตัวไหนสามารถตอบโจทย์ว่าเป็นทางเลือกที่ ‘ดี’ ตามหลักทำนองคลองธรรมของผู้ที่เลือกหยิบมันไปใช้ได้เหมาะสมที่สุด

ดังนั้น มีนย์จึงได้เสนอ 5 ปัจจัย ที่ตัวเขาเองคิดว่าเป็นบล็อกเชนที่ดีให้กับแนวคิดประชาธิปไตยแบบลื่นไหลได้ ก็คือ 

  1. Decentralized มีการกระจายอำนาจ ควรที่จะไร้ซึ่งศูนย์กลาง
  2. Open Source สามารถร่วมกันตรวจสอบได้ว่า โค้ดที่ถูกเขียนลงไปนั้นมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด
  3. Censorship Resistance ต่อต้านการตรวจจับได้ในระดับหนึ่ง
  4. Neutral ไร้การควบคุมโดยสิ้นเชิง
  5. Borderless ไม่ควรยึดติดกับถิ่นประเทศเขตแคว้น หรือว่ามีพรมแดนใดๆ อยู่

จากนั้น มีนย์ได้เชิญชวนผู้ฟังทุกคนว่าให้ลองไปศึกษาเหล่าบล็อกเชนที่อยู่ในคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ แล้วเทียบดูว่ามีคุณสมบัติตามที่เขาได้เสนอมาอยู่หรือไม่

Liquid Democracy คือคำตอบของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และก้าวแรกสุดของการไปสู้จุดหมายนั้นของประเทศไทยคืออะไร

พริษฐ์บอกว่า ก่อนอื่นนั้น ต้องปูรากฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศให้ได้เสียก่อน จึงค่อยคิดว่าเราควรจะใช้ประชาธิปไตยแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบทางตรง แบบตัวแทน หรือแบบลื่นไหล และสิ่งที่ควรทำอย่างแรกที่สุดก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าพูดถึงการเอาเทคโนโลยีมาทำการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องที่ควรเตรียมการไว้เช่นเดียวกัน โดยอย่างแรกก็คือ การคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งพริษฐ์ได้ยกตัวอย่างว่าระหว่างวิกฤติโควิด-19 มีเด็กนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษามากถึง 6.5 หมื่นคน เพียงเพราะว่าไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ พร้อมแสดงให้เห็นตัวอย่างของประเทศเม็กซิโก ที่ทำการบรรจุสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลงไปในรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับทุกครัวเรือนอย่างแท้จริง แต่ก็ทิ้งท้ายไว้ว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆ ในตอนนี้อินเทอร์เน็ตอาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ภายภาคหน้าก็อาจจะมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการขยายสิทธิขั้นพื้นฐานต่อเทคโนโลยีให้กับทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ 

ประเด็นที่ 2 ที่พริษฐ์มองว่าสำคัญยิ่งกว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง ก็คือการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพริษฐ์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาคาราคาซังของหน่วยงานราชการหลายส่วน ที่ประสบปัญหาว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่าที่ควร บริการจากภาครัฐยังขาดความทันสมัย การคัดกรองคนเพื่อรับเงินเยียวยาก็ยังมีปัญหาขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งการจับจองวัคซีนนั้นก็มีหลายช่องทางเสียจนมึนงง แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม และปัญหาในการจัดการกับระบบได้ดีเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีอยู่ในมือก็ตาม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับภาครัฐ

มีนย์ได้แสดงจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจนว่า สำหรับกลุ่มคนที่สนับสนุน ‘ข้อเรียกร้องที่ 1’ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากถนน กลุ่มคนที่สนับสนุน ‘ข้อเรียกร้องที่ 2’ ต้องการการเปลี่ยนแปลงในสภา แต่มีนย์ได้บอกว่าเขาคือกลุ่มคนที่สนับสนุน ‘ข้อเรียกร้องที่ 3’ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากฟากฟ้าและท้องนภา โดยได้บอกว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านใดนั้นยังเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ แต่เขามั่นใจว่าคนไทยเป็นคนที่มีความรู้เรื่องบล็อกเชนอันดับต้นๆ ของโลก

แต่สำหรับการผนวกเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ากับประชาธิปไตย ต้องทำการรื้อถอนระบบที่มีอยู่ออกไปทั้งระบบให้หมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาส่งเสียงความต้องการใดๆ ก็ตามของตัวเองออกมาให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

Tags: , , , ,