“ผมจะให้สัมภาษณ์เป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะ จริงๆ ผมอยากอยู่เงียบๆ ไม่อยากออกสื่อ ที่ออกมาเพราะกลัวน้องๆ มันตาย”

คือคำแรกที่ วิชิต ลีธรรมชโย อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา บอกกับเรา

วันนี้วิชิตนัดเราที่ร้านกาแฟ ติดกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกับสวมเสื้อยืดสีดำลาย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่กี่วันให้หลังจากที่เราโทรติดต่อไปเพียงไม่กี่วัน 

ณ​ วันที่เรานัดสัมภาษณ์ ทั้งตะวันและแบมอดอาหารมานานเกือบ 1 เดือน และปฏิเสธการรักษา แม้ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งคู่แล้ว แต่ทั้ง 2 คนยืนยันว่าจะอดอาหารต่อจนกว่า ‘เพื่อน’ ของทั้งคู่จะได้ออกมาทั้งหมด

แน่นอนว่าสถานที่อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คือที่ที่ตะวันและแบมพักรักษาตัว หลังจากอดอาหารและน้ำจนร่างกายอ่อนเพลีย ส่งผลกระทบต่อระบบภายในหลายอย่าง และร่างกายของพวกเขาก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ประกันตัว ‘เพื่อน’ ที่โดนคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทั้งหมด

ปีนี้วิชิตอายุ 65 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มีมติ ‘ไม่ต่ออายุ’ ให้วิชิตนั่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสต่อ แม้ในความเป็นจริง ผู้พิพากษาอย่างเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงอายุ 70 ปีก็ตาม ด้วยเหตุผลสำคัญที่คาดว่ามาจากการร่วมการชุมนุม ‘กลุ่มราษฎร’ ของผู้พิพากษาวิชิต

หลังจากเป็น ‘อิสระ’ อย่างแท้จริง เขาถอดชุดครุยพร้อม ‘ลงถนน’ ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว ภาพที่เห็นเป็นประจำก็คือวิชิตมักจะยืนเคียงข้างกับคนหนุ่มสาว และอยู่ข้างเวทีแทบทุกครั้งที่มีการชุมนุม แม้อายุอานามเขาจะต่างกับเด็กรุ่นใหม่หลายทศวรรษก็ตาม

ในวันที่ไร้ชุดครุยของผู้พิพากษา เราชวนเขาคุยยาวๆ ถึงประสบการณ์ชีวิต ความเป็น ‘อิสระ’ ของผู้พิพากษา และพยายามหาคำตอบว่าเหตุผลอะไรถึงทำให้ผู้พิพากษาอย่างเขา เข้าร่วมชุมนุมกับคนรุ่นใหม่ที่มีหัวข้อหนึ่งไม่ว่าจะด้วยเรื่อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ และ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ 

“การกระทำของศาลเรื่องนี้ จริงๆ ไม่ถูก เพราะศาลมีคำสั่งไต่สวนเพิกถอนการประกันตัวของเก็ทและใบปอ ทั้งที่ระบบกฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหาคือต้องมีคนร้องขอก่อน แล้วศาลค่อยไปไต่สวนว่าจะมีเหตุทดสอบสัญญาประกันหรือไม่ แต่ทีนี้ ปรากฏว่าในวันที่มีการไต่สวนของใบปอกับเก็ท กลับเกิดข้อเท็จจริงว่ามันไม่มีอัยการหรือตำรวจมาขอเพิกถอนประกันตัวเลย กลายเป็นอยู่ดีๆ ศาลเรียกมาไต่สวนเอง” วิชิตเริ่มอธิบายข้อกฎหมาย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนถอนประกันสองนักกิจกรรมอย่าง เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ‘ใบปอ’ สองนักกิจกรรม ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีที่ทั้ง 2 คนเข้าร่วมการชุมนุมระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

จากนั้น ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโต้แย้งว่าศาลทำไม่ถูก ทว่าสุดท้าย ศาลก็ไม่ฟัง มีคำสั่งถอนประกันเก็ทกับใบปอ และคาดว่าจะใช้วิธีการเดียวกันกับตะวันและแบมต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น ตะวันและแบมจึงตัดสินใจขอถอนประกันตัวเอง ยอมให้ศาลนำตัวพวกเธอไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้งและประท้วงด้วยการอดข้าวอดน้ำ พร้อมกับข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ในฐานะคนที่คลุกคลีกับเรื่องนี้มา และอยู่กับระบบอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด วิชิตบอกว่าประเด็นหลักของการที่นักกิจกรรมยอมอดอาหารประท้วงรอบนี้ คือต้องการให้รู้ว่าระบบยุติธรรมของศาลไทยมีความไม่ปกติ

“สำหรับผม 3 ข้อเรียกร้อง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่เด็กๆ เขาอยากให้สังคมตื่นรู้และรับรู้ว่ายังมีเรื่องอื่นที่มันมีปัญหา เรื่องนี้ต้องแก้ไข เพื่อสังคมที่ดีกว่า 

“แต่ทีนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็ให้โฆษกศาลยุติธรรมมาแถลง อ้างกฎหมายว่าศาลมีอำนาจไต่สวนแบบนี้ได้ คุณก็ยกแม่น้ำทั้งห้ามา เอาจริงๆ ข้อกฎหมายนี้ คนทั่วไปเขาไม่รับรู้กับคุณหรอก ถ้าคุณบอกคุณทำได้ เขาก็มีคำถามสั้นๆ คำเดียวเลยว่าที่คุณบอกคุณมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คุณเคยทำแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า หรือการให้ใส่กำไลอีเอ็มระหว่างประกันตัว ห้ามออกนอกบ้าน 24 ชั่วโมง ในประวัติศาสตร์ ผู้พิพากษาเคยสั่งเงื่อนไขประกันตัวแบบนี้หรือเปล่า ฉะนั้นสิ่งที่คุณออกมาอ้างได้ทำให้สังคมไม่สบายใจกับคำแถลงของศาลยุติธรรม”

อีกส่วนคือ ‘ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา’ ที่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่ามีจริงหรือไม่ และศาล ณ ปัจจุบันถูกแทรกแซงจากอะไร 

“จริงๆ แล้วผู้พิพากษามีความพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่ที่เขาเรียกว่าความเป็นอิสระ อิสระคือคุณไม่สามารถถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจหรือถูกแทรกแซงจากใครในบ้านเมืองได้เลย แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า การไม่ให้สิทธิประกันตัวกับพวกเด็กๆ ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลนั้น สังคมไม่เชื่อว่าคุณเป็นอิสระจริง”

อดีตผู้พิพากษาวิชิตอธิบายว่าการกระทำดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการเป็นเครื่องมือของรัฏฐาธิปัตย์ในการป้องกันไม่ให้มีคนออกมาต่อต้าน

“วันนี้คุณทำเสมือนว่าคุณเป็นเครื่องมือของรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อมาป้องกัน ปราบปราม ข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้พวกเด็กๆ ทำกิจกรรม หรือแสดงความเห็นต่อต้านอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นสังคมเขาไม่มีทางเชื่อหรอกว่าคุณใช้อำนาจโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของบุคคลภายนอก”

ไม่มีใครทำให้ศาลเสื่อมได้ นอกจาก ‘ศาล’ เอง

“ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” คือถ้อยความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 188

โดยปกติหลักความเป็น ‘อิสระ’ ของผู้พิพากษา และการจัดทำคำพิพากษานั้น ผู้พิพากษาและศาลต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด เพราะหากปล่อยให้ ‘คนนอก’ แทรกแซง หรือปล่อยให้มีคน ‘วิ่งคดี’ ก็หมายถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นๆ กำลังจะล่มสลาย

แล้วผู้พิพากษาไทยเป็นอิสระจริงไหม? – เราถาม

“ต้องอธิบายก่อนว่าหน้าที่หลักของผู้พิพากษาคือคุณต้องเป็นอิสระ หมายความว่าคุณสามารถใช้ความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในสังคม แต่การกระทำของคุณ คุณมาอ้างว่าคุณใช้อำนาจโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของคนภายนอก สังคมเขาไม่เห็นด้วยกับคุณหรอก เพราะสังคมเขาเห็นว่าคุณไม่ได้ใช้ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หากแต่กำลังทำตัวเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐที่ออกมาเพื่อหยุดยั้งคนที่มาแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาล”

“เพราะฉะนั้น คนเป็นผู้พิพากษาคุณไม่ต้องมาอธิบายหรอกว่าไม่มีใบสั่งหรืออะไร เพราะสังคมเขาด้อยค่าพวกคุณไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวจากที่อยู่ในระบบมายาวนาน เขายังเชื่อว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็น ‘คนดี’ และสถาบันศาลยุติธรรมยังเชื่อถือได้

“เพียงแต่มีผู้พิพากษาบางคนและบางกลุ่ม ที่ไม่ได้ใช้ความเป็นอิสระของตุลาการอำนวยความยุติธรรมในสังคม แต่คุณทำไปเหมือนกับว่าต้องการสนองตอบอำนาจของคนใดคนหนึ่งในสังคม ตรงนี้ทำให้คุณเสื่อม ไม่มีใครทำให้ศาลยุติธรรมเสื่อมได้นอกจากตัวคุณเอง และที่สำคัญ คุณทำตัวเป็นเทวดา ไม่ยอมก้มหัวยอมรับ ไม่เคยยอมรับผิด มีแต่บอกว่าคุณทำถูก นั่นแปลว่าโดยสรุป พวกคุณเป็นเทวดา ไม่เคยทำอะไรผิดอย่างนั้นหรือ

“จำไว้อย่าง ผู้พิพากษาที่ดีต้องทำงานอย่างอิสระ เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เขาไม่มีทางสนใจว่าใครจะขอคดี หรือสั่งคดี ขอไม่ได้ด้วย ถ้าขอก็มีเรื่อง”

State of Fear ศูนย์กลางปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

หนึ่งในศูนย์กลางปัญหารอบนี้คือการบังคับใช้มาตรา 112 กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น คำถามสำคัญก็คือในฐานะอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาอย่างวิชิต เขามองเรื่องนี้อย่างไร

เขาเริ่มต้นจากการอธิบายก่อนว่าวัตถุประสงค์ของประมวลกฎหมายอาญาข้อนี้คือไม่ต้องการให้คน ‘ด้อยค่า’ พระมหากษัตริย์

“ปัญหาก็คือวันนี้ ถ้าคุณมองว่าการที่เด็กๆ ออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้อาจจะมีถ้อยคำก้าวร้าวเลยเถิดไปบ้าง แต่วัตถุประสงค์จริงๆ ก็คือพวกเขาต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เขาเพียงต้องการให้สถาบันฯ ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผมเห็นว่าเจตนาของการพูดเหล่านี้ไม่ได้เป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ เขาพูดด้วยความปรารถนาดี คือให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน แต่เวลาตัดสินในเรื่องเหล่านี้ ถามว่าทุกคนรู้ไหมว่าต้องตัดสินแบบไหน รู้ แต่ถึงเวลาแล้วความเป็นอิสระที่ควรมี กลับกลายเป็นตัดสินกันเหมือนกับอยู่ใน State of Fear อยู่ภายใต้รัฐที่มีแต่ความมืดมน”

แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่สังคมตั้งคำถามก็คือในหลายคดีควรหยุดที่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการใช่หรือไม่ ไม่ควรจะมาถึงชั้นศาลด้วยซ้ำ? – เราตั้งคำถามต่อ

หลายปีที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถามว่า ‘เข้าข่าย’ ผิดมาตรา 112 หรือไม่ ระยะหลังมาตรานี้ข้ามเส้นไปดำเนินคดีถึงการทำโพลสำรวจความคิดเห็น การให้การในชั้นศาลของบุคคลทั่วไป หรือการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต พูดถึงพระมหากษัตริย์ในสถานะ ‘สถาบัน’ มากกว่าตัวบุคคล ก็เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ด้วย

“คุณเข้าใจคำว่า State of Fear ไหม วันนี้ทุกคนมันกลัวไปหมด ตำรวจก็มีหลักต้องอำนวยความยุติธรรม อัยการก็มีหลักต้องอำนวยความยุติธรรม แต่วันนี้ทุกอย่างไม่ได้อยู่ในดุลพินิจตามปกติ จิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่คุณไม่ได้เป็นไปตามปกติแล้ว เป็นเพราะคุณอยู่ใต้อำนาจของ State of Fear คุณไม่กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคุณกลัวจะกระทบกับหน้าที่การงานของคุณ ก็ไม่ว่ากัน มันแล้วแต่สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ ของคน ฉะนั้นความกล้าหาญก็จะต่างกัน” วิชิตตอบคำถามเรา

ปัญหาก็คือ ณ วันนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ศาลไทยมีคดี 112 ค้างอยู่กว่า 250 คดี และมีผู้ต้องหาอย่างน้อย 231 คน หากนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เป็นจุดตั้งต้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ 

หลายคนวิเคราะห์ว่าด้วยอันตรายของมาตรานี้… ใครจะแจ้งความจับใครก็ได้ ไม่ใช่สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอง ทั้งบรรทัดฐานการวินิจฉัยก็คลุมเครือว่าถ้อยความแบบไหนถึงจะเรียกว่าหมิ่น รวมถึงเมื่อมีคดีลักษณะนี้ ศาลมักจะ ‘ไม่ให้ประกันตัว’ ด้วยข้อวินิจฉัยว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และกลัวว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำ

เราถามอดีตผู้พิพากษาว่าเขาคิดอย่างไรกับการบังคับใช้มาตรา 112 จนทำให้คดีค้างท่ออยู่กว่า 200 คดี เป็นยุคที่มาตรา 112 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์?

“ไม่ว่าช้าหรือเร็วปัญหานี้ก็ต้องแก้ไข เพราะผู้ต้องหามันต้อง 200 กว่าคดี คุณจะเอาคนตั้ง 200 กว่าคนนี้ไปติดคุก คือรัฏฐาธิปัตย์ คุณก็ต้องฉลาดพอ เพราะถ้า 200 คดี ติดคุกหมด มันมีทั้งเด็กเยาวชน มันมีทั้งของจริง แล้วก็ของที่มันไม่ปกติ แล้วคุณจะเอาเยาวชนของชาติ 200 คน ไปติดคุก ได้อะไรขึ้นมา ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจ ก็ต้องหาทางแก้ บ้านเมืองก็จะไปต่อได้ แต่ถ้าคุณไม่แก้ไขมันก็ลำบาก มันไม่เป็นผลดีกับใครเลย” วิชิตระบุ

ตะวัน-แบม บรรลุผลของการต่อสู้แล้ว

“ผมเป็นคนชอบถ่ายรูป ไปทุกม็อบ แต่ผมไม่เคยไปแสดงความเห็น ปกติผมจะเป็นคนไปห้ามด้วยซ้ำ ว่าเฮ้ย! อย่าไปพูดแบบนี้ เดี๋ยวก็โดนอีกหนึ่งหมาย (ยิ้ม)”

หลายปีที่ผ่านมา วิชิตเคลื่อนไหวเคียงข้างกับนักกิจกรรม ‘สามนิ้ว’ ไม่ว่าคนเหล่านี้จะโดนคดีร้ายแรงเพียงใด แต่เขาก็พร้อมยืนเคียงข้าง และสนับสนุนข้างเวทีอย่างเงียบๆ เสมอ

“แต่เด็กพวกนี้ต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพูดอะไรไปเขาก็ไม่เชื่อ วันนี้เราอายุ 65 แต่เด็กพวกนี้อายุนิดเดียว เขาอยู่คนละโลก คนละความคิดกับเรา พูดอะไรไป เขาก็ไม่ฟัง (หัวเราะ) แต่เขาให้ความเคารพ ด้วยความที่เราเจอกันบ่อยๆ ก็จะสนิทกัน แล้วบางครั้ง เวลาทำอะไร เขาก็จะคอยปรึกษาเรา เราก็จะเป็นตัวห้ามตลอดเวลา”

สำหรับวิชิต สิ่งที่เขาพูดกับคนหนุ่มสาว นักกิจกรรมบ่อยๆ ก็คือ “ไว้ว่างๆ ไปเที่ยวบ้านลุง” วันนี้ ชีวิตของวิชิตคือการอยู่กับสวนทุเรียนที่จังหวัดตราด ที่เขาใช้ทำธุรกิจเล็กๆ ในช่วงบั้นปลาย หลังหมดอาชีพราชการ

“เราจะพูดว่าอย่าไปเลย ไปเที่ยวบ้านลุงเถอะ จะพาไปเที่ยว ไปสนุกสนานกัน สำหรับผม คนพวกนี้เป็นเด็กก็จริง แต่ที่เห็นอย่างหนึ่งคือเขาไม่มีความกลัว และถ้าคิดแบบเขา สังคมมันจะดีกว่า

“สำหรับเด็กทั่วไป ถ้าผมบอกพวกเขาว่า พวกคุณตั้งใจเรียนนะ เด็กกลุ่มนี้จะถามกลับว่า ‘ถ้าตั้งใจเรียน จะมีงานทำไหมลุง’ ถ้าเราไปย้อนดูดีๆ จะเห็นว่าประวัติแต่ละคนเขาเก่งมากนะ บางคนวาดรูป บางคนเล่นดนตรี บางคนเป็นอัจฉริยะด้านนั้นด้านนี้ แต่ด้วยสภาพบ้านเมืองแบบนี้ เขาก็หมดอนาคต

“บางคนถามว่าทำไมไม่ห้าม เราจะห้ามได้อย่างไร ความคิดเรากับเขามันคนละโลกกัน ปกติผมไม่ใช่คนชอบออกสื่อ แต่ที่ต้องออกเพราะอะไร กลัวเขาตาย ถ้าเขาตายขึ้นมา รับรอง ศาลยุติธรรมรับแรงกระแทกอย่างหนักแน่ รวมถึงรัฐบาลด้วย แล้วมันจะเกิดเหตุที่เราคาดไม่ถึงเยอะแยะเลย ถามว่าเราไปสนับสนุนเขาไหม ผมเองก็คิดแบบคนอื่นๆ ว่า เฮ้ย! จะเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงทำไม แต่ความคิดแบบพวกเขาคือเขาไม่ได้มีอะไรจะไปสู้ ปืนก็ไม่มี มีแต่หัวสมองกับสองมือ”

จนถึงวันนี้ การอดอาหารยาวนานกว่า 1 เดือน เริ่มเห็นผล ศาลเริ่มให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีมากขึ้น หลายคนที่ถูกคุมขังอย่างยาวนานหลายเดือน ก็เพิ่งได้รับสิทธิประกันตัวไม่กี่วันที่ผ่านมา เช่น สมบัติ ทองย้อย อดีตหัวหน้าการ์ดเสื้อแดงซึ่งถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 นับแต่เดือนเมษายน 2565 หรือพรพจน์ แจ้งกระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถูกคุมขังด้วยคดีปาระเบิดปิงปองหน้ากองพลทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในห้วงเวลาเดียวกัน คงเหลือผู้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีเพียงไม่กี่คน

“ถ้าถามผม ผมก็ถือว่าบรรลุผลแล้ว แต่ต้องพูดแบบตรงไปตรงมา ความจริงถ้าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวก็ให้เสียเลย ไม่เสียฟอร์มหรอก วันนี้คือคุณกลัวเสียฟอร์ม ถ้าคุณจะให้ความยุติธรรมกับคน แล้วคุณยอมรับว่าคุณผิดพลาดไปแล้ว แล้วคุณแก้ไข มีแต่สังคมเขาจะชื่นชม

นั่นหมายความว่าการต่อสู้ของ ‘ตะวัน-แบม’ ที่หลายคนค่อนขอดว่าเป็นการ ‘ชก’ กับกำแพง เป็น Loser ที่หลายคนไม่เห็นคุณค่านั้น แท้จริงได้แสดงมรรคผลบางอย่างแล้ว

“เด็กพวกนี้เขาก็คิดว่าภายใต้สภาพบ้านเมืองแบบนี้ เขาต้องเปลี่ยนแปลง เพราะอนาคตนั้นอยู่ที่พวกเขาอยู่แล้ว แต่มนุษย์โบราณจะมองว่าเด็กพวกนี้มันฝันเฟื่อง คำถามก็คือหรือจริงๆ แล้ว คุณต้องการให้สังคมนี้อยู่ใต้การกำกับดูแล อยู่ใต้ออเดอร์ของพวกคุณ” 

ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ อดีตผู้พิพากษาบอกว่าในระยะยาว ยิ่งนานไป ก็ยิ่งผิดทาง และจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนแต่ละรุ่นนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

“ประเด็นคือหรือจริงๆ แล้ว คุณต้องการให้สังคมมันอยู่ใต้การกำกับดูแลของพวกคุณ คุณหวงอำนาจ คุณต้องการให้สังคมอยู่ในออเดอร์ของพวกคุณ แทนที่คุณจะเรียกเด็กพวกนี้มาคุยกันเลย เปิดอก แต่เปล่า มันกลายเป็นว่ามึงลงถนน กูก็เอาตำรวจคฝ. มายิงมึง แล้วก็จับ จับแล้วก็ไม่ให้ประกัน ซึ่งความรุนแรงหรือความไม่พอใจในสังคมก็จะรุนแรงขึ้น

“คุณคิดว่าคุณทำไปเพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐทำ วันนี้กลายเป็นเหมือนกับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไปมีเรื่องกับคนรุ่นใหม่ ถามว่าสมควรเกิดเรื่องนี้ไหม ทั้งที่เมื่อคุณทำผิดพลาด คุณยอมรับ คุณแก้ไข บ้านเมืองมันก็ไปได้ แต่คุณไม่ทำ”

ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นคน ‘หัวก้าวหน้า’ 

แม้หลายคนจะวิพากษ์ผู้พิพากษา วิจารณ์ศาลว่าอยู่บน ‘หอคอยงาช้าง’ และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกในสิ้นเชิง ในฐานะคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม วิชิตยังเห็นว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบทุกวันนี้เป็นคน ‘หัวก้าวหน้า’

“สำหรับผมตำแหน่งผู้พิพากษามันมีเสน่ห์ตรงที่มันมีความเป็นอิสระ แล้วผมบอกได้เลย ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นคนหัวก้าวหน้า และเป็นเสรีชน แต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ถ้าเขาจะออกมามาก ก็จะมีปัญหาแบบผม มันมีแค่บางคนแค่นั้นที่ทำตัวเป็นสุนัขรับใช้แค่นั้นเอง ถามว่าคุณจะปฏิรูประบบศาลยุติธรรม ไม่ต้องปฏิรูปเลย มันดีอยู่แล้ว แต่คุณต้องปรับทัศนคติของผู้พิพากษาบางคน คุณต้องทำงานด้วยจิตสำนึกรับใช้ประชาชน ต้องมี Service Mind คุณอย่าทำตัวเป็นเทวดาที่ใครแตะต้องไม่ได้

“เหมือนอย่างข้อหาละเมิดอำนาจศาล เด็กเขาไปก้าวร้าวคุณ คุณกลัวจะเสียความศักดิ์สิทธิ์ ต้องตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล ก็เท่ากับคุณใจคอคับแคบ แล้วคุณตั้งคดีละเมิดอำนาจศาล คุณซัดเขาเต็มที่เลย คำถามก็คือถ้าคุณทำดี แล้วมีคนมาล่วงเกินคุณ อันนี้มันไม่ปกติแล้ว แต่คุณทำไม่ดี คนเขาถึงมาโต้แย้งคุณ ก็ปล่อยให้เขาว่าไปสิครับ แต่มาตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล นี่แสดงว่าใจคอคุณคับแคบ เพราะทัศนคติคุณ คุณคิดว่าคุณเป็นผู้พิพากษาเสมือนเป็นเทวดา ใครแตะต้องไม่ได้ แต่ถ้าคุณมีทัศนคติในการเป็นผู้พิพากษาว่าคุณคือผู้รับใช้อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน คุณก็จะเปลี่ยนไป”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่วิชิตยกขึ้นมาก็คือการทำให้ศาลเสมือนเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ คนเข้าถึงไม่ได้ และทำให้ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างศาลกับประชาชนห่างออกไปเรื่อยๆ

“เวลาไปศาล คุณยังใช้ความคิดแบบสมัยโบราณ แต่งตัวต้องให้เกียรติ ใส่รองเท้าแตะไม่ได้ ใส่ขาสั้นไม่ได้ นี่คือความคิดสมัยโบราณมากนะ ผมบอกได้เลยว่าคนมันไม่มีสตางค์ บางคน รองเท้าแตะมันยังไม่มีเลย เขามีเสื้อผ้าใส่มาศาลก็บุญแล้ว แต่คุณไปบอกว่าศาลคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องเคารพ ต้องหมอบกราบ ไม่ใช่

“คุณต้องมองว่าศาลเป็นของประชาชน เป็นที่อำนวยความยุติธรรมให้ชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นเจ้าของศาลต่างหาก ฉะนั้นเวลาชาวบ้านมาศาล ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย ผู้ต้องหา คุณคือเจ้านาย ไอ้การปฏิบัติต่อชาวบ้านที่มาศาล หรือบุคลิกภาพของคุณ ต้องไม่เป็นแบบนี้ คุณต้องรู้สึกยินดีต้อนรับ เจอชาวบ้านมาก็ต้องต้อนรับด้วยความอบอุ่น ต้องเดินไปถามบ้าง ป้า ยาย มาทำอะไร คนอาจจะถามว่ามาทำอะไร ไปยุ่งกับชาวบ้าน ไปมีนอกมีในกันหรือเปล่า นั่นแสดงว่าวิธีคิดของคุณ คุณทำงาน เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน แต่ชาวบ้านเดือดร้อน คุณไม่ใส่ใจ”

วิชิตบอกว่าจากประสบการณ์ของเขา การยื่น ‘ขอประกันตัว’ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร จริงๆ คือไม่เกิน 5 นาทีก็เสร็จ แต่วันนี้ ยื่นตอนเช้า กว่าคำสั่งจะออกก็ต้องรอถึง 17.00 น. เพราะฉะนั้น ในศาลจึงมีคนคราคร่ำไปหมด เพราะต้องมารอคำสั่งประกันตัว

“คุณไปดูสิ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ คนเต็มศาลเลย ไม่ใช่อะไร ไม่ใช่ลูกค้าเยอะนะ แต่มารอคำสั่งประกัน คุณคิดแต่เพียงว่าสั่งๆ ไป กูจะเดือดร้อนหรือเปล่า คุณไม่เคยคิดเลยว่าตอนนี้ชาวบ้านที่เดือดร้อนมานั่งเฝ้าคุณตั้งแต่แปดโมงเช้า กว่าคำสั่งจะออกก็ห้าโมงเย็น หรือถ้าต้องรออีกวัน เขามาจากบ้านนอก ไม่มีเงินค่ารถกลับบ้าน ก็นอนค้างมันหน้าศาล

“เพราะฉะนั้น คุณไม่ต้องปฏิรูปศาล คุณปฏิรูปทัศนคติของผู้พิพากษานี่ละ คุณต้องคิดว่าชาวบ้านที่มาศาลทุกคนคือเจ้านายคุณ ศาลนี่มันเหมือนธนาคารแห่งความยุติธรรม โดยประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เป็นเจ้านายเรา เรายินดีรับใช้ชาวบ้านที่มาติดต่อ เราเป็นคนนอบน้อม ไม่ใช่ชาวบ้านเดินมาแล้วเราเป็นเทวดา ไม่ใช่”

แล้วหากเปรียบเทียบชีวิตเด็กรุ่นนี้กับตัวเขา ที่เคยผ่านการต่อสู้สมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว คุณเห็นอะไร? – เราถามต่อ

สำหรับพื้นหลังของวิชิต เขาอยู่ร่วมในเช้าแห่งการสังหารโหดด้วย ณ วันนั้น เขาอยู่ที่ตึกคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ตำรวจระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัย และกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้านสังหารคนไทยด้วยกันอย่างโหดเหี้ยม การต่อสู้ในวันนั้นและการถูกดำเนินคดีทำให้ชีวิตของวิชิตเสียศูนย์ไประยะหนึ่ง ก่อนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกรอบที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งจบการศึกษา เดินหน้าบนเส้นทางผู้พิพากษาจนถึงอายุ 65 ปี

“(นิ่งคิด) มันก็เป็นช่วง เอาอย่างนี้ดีกว่า ผู้นำสมัย 14 ตุลาคม 2516 คนที่ยังมีหลักการเหมือนเดิมก็เยอะ แต่ที่เปลี่ยนไปแบบฟ้ากับเหวก็เยอะ วัยหนึ่งก็คิดอย่าง แต่ไม่ว่าจะวัยไหน ผมเป็นคนหนึ่งที่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมไม่ถอยจริงๆ สำหรับผมวันนี้ ผมอยู่บ้านเลี้ยงหมาเฉยๆ มีโอกาสก็เข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมกับขบวนการต่อสู้ ถามว่ามันได้เห็นอะไร ผมเห็นการต่อสู้ระหว่างโครงสร้างอำนาจในสังคม บางช่วงคุณชนะ บางช่วงคุณก็เพลี่ยงพล้ำ

“แต่ทั้งหมด ตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เราจะแพ้

“อย่างไรก็ตาม ไอ้คำว่าแพ้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดสู้นะ ผมเองสู้มาตลอด แต่ผมเป็นคนไม่เครียด เด็กๆ ก็ถามว่า ‘เฮ้ยลุง! เมื่อไรเราจะชนะ’ ผมก็บอกว่า เวลาต่อสู้เนี่ย เราอย่าไปนึกเลยว่าจะชนะเมื่อไร เวลาต่อสู้ เราอย่าไปนึกเลยว่าจะชนะเมื่อไร แล้วมึงไม่ต้องเครียด สู้อย่างสนุกสนาน มีความสุข ไม่ต้องเครียด”

“จริงอยู่ ชนะเมื่อไรก็รู้ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราก็ยังไม่แพ้ ผมเชื่อเรื่องกาลเวลา สมัยก่อน มันอาจจะมีช่วงเวลาที่เราวัดจำนวนกันว่าใครมากกว่าใคร ฝั่งไหนมากกว่า แต่ผมเชื่อว่าปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่เขารู้ว่าเขาต้องเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร เป็นส่วนใหญ่และเป็นเอกฉันท์เลย ใครที่กอดอำนาจรัฐ อีกไม่กี่ปีมันก็จะตายแล้ว พวกเด็กๆ เขาเป็นเจ้าของเวลา ยังไงเขาก็จะชนะ” 

Fact Box

  • วิชิต ลีธรรมชโย จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 19 เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้เป็นประธานเเผนกคดีคำสั่งคำร้องเเละขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการเห็นว่า ‘ไม่เหมาะสม’ ที่จะให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสต่อไป โดยเชื่อว่าเป็นเหตุมาจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชน
  • ก่อนหน้านี้มีภาพของวิชิตปรากฏในการชุมนุมหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในกิจกรรม ‘คาร์ม็อบ’ หรือการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และวิชิตมักจะชู ‘สามนิ้ว’ เสมอ การกระทำดังกล่าวทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เมทินี ชโลธร อดีตประธานศาลฎีกาที่มีภาพสวมนกหวีดเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แต่ไม่ได้ถูกคณะกรรมการตุลาการ ‘ลงดาบ’ แต่อย่างไร
  • ‘ตะวัน’ เคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเหตุที่เลือกเรียนนิติศาสตร์ก็เพราะผู้พิพากษาแบบ ‘วิชิต’ และอยากเป็นผู้พิพากษาให้ได้แบบวิชิต นั่นคือผู้พิพากษาที่อยู่ข้างความยุติธรรม ต่อสู้ ยืนข้างประชาชน และแม้จะไม่ได้รับการต่ออายุเป็นผู้พิพากษาอาวุโส แต่ “ลุงน่ะ หล่อเท่กว่าพวกหมอบกราบพวกนั้นตั้งเยอะ” 
Tags: , , , , , ,