ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต กลายเป็นมิติใหม่ เมื่อกฎหมายของ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลสามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปได้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 138 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง เตรียมจะพิจารณาในวาระต่อไปต้นเดือนพฤศจิกายน

แต่เมื่อถึงเวลา สภาฯ กำลังจะเปิดอีกรอบ และวาระดังกล่าวจะกลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง กลับมีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียม ‘คว่ำ’ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องประชาชนอาจ ‘ต้มเหล้า’ กินกันเอง เกิดความวุ่นวาย และอาจสร้างปัญหาให้กับประเทศเหมือนกับ ‘กัญชาเสรี’

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการ ‘ปลดล็อก’ ในการนำสุราขึ้นมาผลิตบนดิน สามารถวางขายกันเอง ทั้งในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนหรือเอสเอ็มอี ไม่ให้ผูกขาดเพียงแค่ทุนใหญ่ ที่มีเบียร์ให้เลือกเพียง 2 ยี่ห้อหลัก และมีเหล้าให้เลือกไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น

คำถามก็คือการคว่ำร่างฯ ดังกล่าวเป็นความ ‘หวังดี’ กับประชาชน หรือเป็นการ ‘อุ้ม’ นายทุน เพื่อให้จำหน่ายเหล้าเบียร์ได้อย่างผูกขาดต่อไป แล้วกฎหมายสุราก้าวหน้าสร้างอันตรายต่อประชาชนจริงหรือไม่

The Momentum พูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวกับ ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ประชาชนเบียร์ และหนึ่งในผู้ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ธนากรระบุว่า โดยปกติ รัฐควรควบคุมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เพราะหากกลั่นผิดวิธีหรือใช้สารเคมีที่ไม่ควรนำมาใส่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ อีกทั้งการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อจำหน่ายควรมีขั้นตอนการขออนุญาต และควบคุมคุณภาพอย่างชัดเจน

สำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน โอกาสที่ประชาชนจะผลิตเครื่องดื่มแบบไม่มีคุณภาพตามข่าวลือนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

“แค่ของไม่อร่อย เราก็ไม่กินแล้ว ผมว่ารัฐมองในมุมที่เกินกว่าเหตุไป เพราะประชาชนที่ผลิตสุราเพื่อดื่มเอง ล้วนต้องการเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ และรสชาติดีให้ตัวเองทั้งนั้น”

เมื่อถามว่าหากปล่อยให้ประชาชนผลิตสุราเพื่อดื่มเองอย่างเสรี อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพและเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข เหมือนกรณี ‘กัญชาเสรี’ หรือไม่นั้น ธนากรระบุว่า การดื่มสุรามากเกินไปก็เกิดผลเสียต่อสุขภาพอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นสุราที่ทำเองก็ได้

เพราะปัจจุบัน ประชาชนสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อดื่มได้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อโต้แย้งที่จะคว่ำร่าง พ.ร.บ. นี้เพราะกลัวประชาชนดื่มสุรามากเกิน และควบคุมไม่ได้จึงไม่สมเหตุสมผล

ในความเห็นของเขา หากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ผ่านจะเกิดประโยชน์อย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

1. พัฒนาเครื่องดื่มชุมชน – ประชาชนจะสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ ‘ของดี’ ในพื้นที่ได้ เช่น ข้าวหรือผลไม้ต่างๆ

“กฎหมายนี้จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อจำหน่ายมากขึ้น และหากมีผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ในแต่ละชุมชน ในแต่ละจังหวัดจำนวนมาก รายได้ก็จะเข้าสู่คนตัวเล็กตัวน้อยเยอะขึ้น จากเดิมที่เงินเข้าสู่กระเป๋านายทุนเพียงไม่กี่ราย

“ผมว่ารัฐควรมองประโยชน์ตรงนี้มากกว่าการมองว่า ชาวบ้านจะหมักเหล้าเบียร์เพื่อดื่มอย่างเดียว เพราะจริงๆ ถ้าไม่มีกฎหมายตัวนี้ พวกเขาก็ซื้อเหล้าเบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อเมาได้อยู่ดี”

2. พัฒนาวัฒนธรรมการดื่ม เพื่อลดการดื่มแบบไม่รับผิดชอบ – หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นักดื่มทั่วไปจะสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดี มีคุณภาพ และหลากหลายมากขึ้น จากนั้นนักดื่มจำนวนหนึ่งจะเข้าใจว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมีรสชาติ มีสไตล์ที่แตกต่างกันอย่างไร ทั้งหมดจะทำให้การดื่มเพื่อเมาหรือดื่มอย่างไม่รับผิดชอบลดลง

“การแก้ปัญหาคนดื่มแอลกอฮอล์แบบไม่รับผิดชอบในระยะยาว คือการสร้างวัฒนธรรมการดื่ม ทำให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้หลากหลายจากผู้ผลิตที่มากขึ้น เพื่อค้นหารสชาติที่เขาชอบ แล้วท้ายที่สุดปัญหาดังกล่าวจะลดน้อยลง

“หลายประเทศพัฒนาวัฒนธรรมการดื่มในลักษณะนี้ จนนำไปสู่การลดจำนวนของคนที่ดื่มเพื่อเมาอย่างเดียวได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประเทศเหล่านั้นยังมีปัญหาจากการดื่มสุรา จนหลายคนมีภาวะติดสุราเรื้อรังอยู่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่การห้ามดื่ม แต่เป็นการให้การบำบัดอย่างถูกวิธี เพราะเขารู้ดีว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินส่งค้าออกเป็นชื่อเสียงของประเทศ ตัดภาพมาที่ประเทศไทย รัฐกลับป้ายสีนักดื่มว่าเป็นคนไม่ดี

“ผมอยากให้รัฐไทยคิดให้กว้างขึ้น การบอกว่าเปิดสุราเสรีจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น เป็นปัญหาต่อระบบต่อสาธารณสุข ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพกับคนที่ดื่มเยอะ ในกรณีนี้ก็อาจจำเป็นต้องใช้สถานบำบัดอย่างที่กล่าวไป แต่รัฐก็ควรสนับสนุนเครื่องดื่มเหล่านี้ในฐานะสิ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไปด้วยเช่นกัน”

ธนากรทิ้งท้ายว่า สำหรับการลงคะแนนในวาระที่ 2 และ 3 ของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่จะถึงในวันที่ 2 พฤศจิกายน เขาไม่กล้าฟันธง และหากร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังต้อง ‘ไปต่อ’ ที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชนในการลงมติร่างฯ นี้อยู่ดี

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้ ประกอบด้วย 3 ความเปลี่ยนแปลงหลัก ได้แก่

1. กำหนดให้ผู้ที่ผลิตสุราเพื่อการบริโภคไม่ต้องขอใบอนุญาตและไม่มีความผิด

2. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์-คุณสมบัติของการขอใบอนุญาต เช่น ทุนขั้นต่ำในการจดทะเบียน

3. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์ กำลังการผลิต กำลังแรงม้า หรือปริมาณ

ทั้ง 3 ข้อล้วนมีจุดประสงค์เพื่อทำลายกลุ่มทุนผูกขาด และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาแข่งขันในตลาดสุราของไทยมากขึ้น

ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับสุราในปัจจุบันปิดกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาแข่งขันในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการผลิตต่อวันหรือต่อปี การกำหนดกำลังแรงม้า การเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ การห้ามโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ การงดขายสุราในวันพระ หรือการเปิดให้ซื้อ-ขายได้ในบางช่วงเวลาเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาทำให้มีผู้ประกอบการในตลาดเบียร์เพียง 3 รายหลัก ได้แก่

1. บุญรอดบริวเวอรี (62%) เจ้าของเบียร์ลีโอ สิงห์ สิงห์ไลท์ ยูเบียร์ และ Bear Beer

2. ไทยเบฟเวอเรจ (34%) เจ้าของเบียร์ช้าง อาชา และเฟเดอร์บรอย

3. ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี (3%) เจ้าของเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์ส

4. คราฟต์เบียร์และเจ้าอื่นๆ (1%) เช่น Udomsuk, Golden Coins, Triple Pearl, Chiang Mai Beer, Stone Head และ Sandport Beer

สำหรับเบียร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือลีโอจากบุญรอดฯ กินส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 49.5% รองลงมา คือเบียร์ช้างจากไทยเบฟเวอเรจ ส่วนแบ่ง 33% หากรวมมูลค่าของเบียร์ทั้ง 2 ชนิด คิดเป็นกว่า 80% ของมูลค่าตลาดเบียร์ไทยทั้งหมด หรือ 1.45 แสนล้านบาท จากมูลค่ารวมของตลาดเบียร์ 1.8 แสนล้านบาท

มากไปกว่านั้น ตลาดสุราในไทยก็มีรายใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียว คือบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ได้แก่

1. บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด เป็นเจ้าของแม่โขง หงส์ทอง สุราขาวตรารวงข้าว สุราขาวตราบางยี่ขัน สุราขาวตรานิยมไทย และเซี่ยงชุน

2. บริษัท แสงโสม จำกัด เป็นเจ้าของแสงโสม มังกรทอง และพระยา

3. บริษัท กระทิงแดง (1988) จำกัด เป็นเจ้าของเบลนด์ 285 คราวน์ 99 และบางส่วนของสุราขาวตรารวงข้าว

4. บริษัท ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ แอนด์ดิสทิลเลอรี่ จำกัด เป็นเจ้าของ เมอริเดียน สุราขาวตราไผ่ทอง และคูลอฟ แมกซ์ เซเว่น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในสัปดาห์หน้า

Tags: , ,