อีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ ตารางชีวิตของ ทิม—พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วุ่นเป็นพิเศษ ในหนึ่งวันเขาต้องวิ่งรอกถึง 3-4 คิว หลังจากให้สัมภาษณ์กับเรา เขาต้องเดินทางไปเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนจะเดินทางไปหาเสียงย่านบางแค และตระเวนภาคเหนือตลอดทั้งสัปดาห์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านไป

แน่นอนว่าคิวให้สัมภาษณ์สื่อและการดีเบตของพิธาก็ชุกไม่แพ้กัน คำให้สัมภาษณ์เดิมๆ ที่เขาต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ต่างจากผู้สมัคร หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ต้องมุ่งขายนโยบาย ขายจุดเด่นของพรรคอย่างเต็มที่ 

สำหรับ The Momentum เราจุดประเด็นจากที่ว่า หากใครอยู่ในวงสนทนาการเมืองอันเผ็ดร้อนช่วงนี้ คำถามสำคัญในทุกวงก็คือ “เลือกพรรคอะไรดี” และยิ่งถ้าเป็นฝ่ายที่ไม่ได้ต้องการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ก็จะเหลือสองโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ ‘ก้าวไกล’ หรือ ‘เพื่อไทย’

จึงเป็นเหมือนการต่อสู้ของขั้วเดียวกันระหว่าง ‘ฝั่งส้ม’ และ ‘ฝั่งแดง’

วิธี ‘เล่าเรื่อง’ ของพรรคเพื่อไทย และกองเชียร์เพื่อไทย ก็คือต้องเลือก ‘ฝั่งแดง’ ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เสียงแตก และไม่ให้ทหารหวนกลับมาได้ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง นโยบายอันจับต้องได้ พร้อมประสบการณ์การทำงานจริง ก็ต้องเลือกฝั่งแดง เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่สำคัญกว่าการสู้ในเรื่องที่ต้อง ‘ชน’ กับกำแพง และต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

หากวิธีการเล่าเรื่องของพรรคก้าวไกล ก็คือการเลือก ‘ฝั่งส้ม’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’ ไม่ให้การเมืองอยู่ในวังวนเดิม เป็นการจัดการกับปัญหาโครงสร้างที่ว่าด้วยการ ‘รื้อ’ และพวกเขาต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานมากพอ ไม่ได้ไร้เดียงสาอย่างที่ใครก็แล้วแต่เอ่ยคำปรามาส

บทสัมภาษณ์พิธาที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ คือการขยายความตัวตนของพรรค ตัวตนของเขา พร้อมกับตอบคำถามที่หลายคนสงสัย ไม่ว่าจะเรื่องประสบการณ์ วุฒิภาวะ เหตุผลที่ควรสนใจ Strategic Vote ให้น้อยกว่าความเป็นจริง 

เพื่อตอบคำถามในท้ายที่สุดว่า ทำไมถึงควรเลือก ‘ก้าวไกล’ มากกว่าพรรคอื่นๆ ในขั้วเดียวกัน

4 ปีที่แล้ว คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้เตรียมตัวเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว วันนี้ อีกไม่นานก็จะถึงการเลือกตั้งอีกรอบ ในฐานะที่คุณเป็นนักการเมืองเต็มตัว และในฐานะหัวหน้าพรรค คุณเห็นการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมไหม มีอะไรแตกต่างจากที่เคยคิด และแตกต่างจากการเป็นนักธุรกิจบ้าง

แทบจะเหมือนเดิม เหมือนกับที่ The Momentum สัมภาษณ์ผมเมื่อ 4 ปีก่อน ที่คุณเอาไปพาดหัวว่า “ผมไม่ได้เตรียมตัวเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว” ผมคลุกคลีกับการเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2547-2548 และถ้าถามถึงความเข้าใจการเมือง ผมก็ติดตามมาตั้งแต่สมัยที่อยู่นิวซีแลนด์ตั้งแต่ 12-13 ขวบ เพราะแม่บ้านที่นิวซีแลนด์ตอนนั้นบ้าการเมืองมาก ก็นั่งดูประชุมสภาฯ ที่นั่นทุกวัน

หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2547 ผมก็ย้ายจากภาคเอกชนไปเป็นข้าราชการทำเนียบรัฐบาลอยู่ 2 ปี แล้วก็ไปเรียนเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ จริงๆ ผมชอบเรื่องการบริหารภาครัฐ และสนใจการเมืองมาก่อนที่จะเป็นวาณิชธนกรด้วยซ้ำไป ผมชอบ Politics ก่อนที่จะชอบ Investment Banking ด้วยซ้ำไป แต่พอมีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และด้วยอายุคือ 20 กว่าปี ก็ยังเริ่มที่การเมืองไม่ได้ ผมเลยไปเริ่มที่ภาคเอกชน ก่อนจะสลับกลับไปกลับมาเรื่อยๆ ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ

คำถามก็คือว่า ผมเป็น ส.ส.ด้วยตัวเองแล้ว เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว เป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย มันต่างจากเดิมไหม… สำหรับผม มันแทบจะเหมือนเดิม เหมือนกับเราดูคนอื่นทำมาก่อนแล้ว คือเริ่มต้นจากการเป็นคนนั่งนอกวง คอยจดบันทึกการประชุม หรือเขียนสปีชให้คนอื่นพูด ผมก็ทำมาแล้วทั้งหมด หรือเรื่องการเป็นเลขานุการกรรมาธิการ ผมก็เคยทำ จนวันนี้ได้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการเอง

เพราะฉะนั้น ด้วยความรู้สึกว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้ เราทำได้ดีกว่านี้ได้ และประเทศเราทำได้ คือเราผ่านการเห็นในสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ และเรายังเห็นว่ามีสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

หลายเรื่องที่ตอนนั้นอยากจะทำ… แต่ความคิดของสังคม บริบทสังคมอาจจะยังไม่ใช่ แต่ตอนนี้เป็นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปี 2562 กับปี 2566 เมื่อเราพูดเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือเรื่อง ‘สุราก้าวหน้า’ การทลายทุนผูกขาด ไม่มีใครคิดว่าเราจะแพ้ไปแค่ 2 คะแนน ปี 2562 เมื่อเราพูดเรื่องใหญ่หลายเรื่องๆ คนจะพูดว่าเป็นเรื่องที่ก้าวไกลต้องไป ‘ชนกับช้าง’ เป็นไปไม่ได้หรอก แต่วันนี้เป็นไปได้เยอะพอสมควร

เพราะฉะนั้น ตอบสั้นๆ ในคำถามนี้ก็คือ ผมเตรียมตัวมานาน และหากเทียบตัวตนกับการเป็นนักธุรกิจ ผมไม่คิดว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็คือเปลี่ยนแปลงตามชีวิตมนุษย์ คืออายุ 20 เป็น 30 และวันนี้ 42 ก็เป็นชีวิตคนคนหนึ่ง ที่วิธีคิด สุขภาพร่างกาย อาจแตกต่างกันไป

แต่ชีวิตก่อนกับหลังการเมือง เราคาดหวังไว้หมดแล้ว เตรียมตัวไว้หมดแล้ว เลยรู้สึกเป็นเรื่องธรรมชาติ ก็อาจมีเซอร์ไพรส์อะไรนิดหน่อย

เซอร์ไพรส์ที่คุณเจอมีอะไรบ้าง

มีทั้งข้อดี และข้อที่ไม่น่าเชื่อ เอาข้อดีก่อน การทำงานของพรรคก้าวไกล ทำให้การทำงานในสภาฯ ต่างจากสมัยก่อนพอสมควร ไม่ได้เน้นเรื่องโวหาร โจมตีโดยไม่จำเป็น แต่หากทำผิดเราพร้อมจะซัดคุณ

ขณะเดียวกัน ในการทำงานด้วยข้อมูลและหลักฐาน มีการเปรียบเทียบกับอดีต มีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เวลาเราคุยเรื่องงบประมาณต่างๆ เรื่องกองทัพ เรื่องสวัสดิการประชาชน เรื่องการปฏิรูปที่ดินภาคการเกษตร ทั้งหมด ไม่ใช่การพูดลอยๆ แต่คือการอธิบายให้ฟังว่า ที่ดินในประเทศไทย 320 ล้านไร่ อยู่กับใครเท่าไร เป็นของเอกชนเท่าไร รัฐเท่าไร กลาโหมเท่าไร กระทรวงอื่นๆ เท่าไร หรือการบริหารจัดการที่ดินใน 8 กระทรวงนั้นบริหารอย่างไร

สำหรับผม หากรัฐสภาบริหารจัดการได้ดีก็ไปได้ไกล และหน้าที่ของรัฐสภาควรจะเป็นแก่นกลางของระบอบประชาธิปไตยที่คนมีความคิดหลากหลายใช้พูดคุยกัน และหาทางออกในยามที่ประเทศคับขัน เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย เป็นระบบที่เชื่อได้ หลังจากเราอยู่กับระบบรัฐประหารมานาน

นอกจากนี้ สภาฯ ยังทำให้เห็นว่าการตรวจสอบที่เกิดขึ้น การที่มีความคิดที่สามารถสู้กับอำนาจนิยมที่คนไม่กี่คนตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้ก็มีอยู่จริง

ส่วนข้อที่ประหลาดใจ แม้ว่าผมจะอยู่ใน orbit หรือวงโคจรการเมืองทั้งในไทยและในต่างประเทศมานาน ก็คือแรงเฉื่อยในสภาฯ และ ‘ปีศาจที่อยู่ในรายละเอียด’ ปีศาจในรายละเอียดเซอร์ไพรส์ผมพอสมควร เช่น พระราชบัญญัติหลายฉบับเขียนมาอย่างดี กฎหมายหลายฉบับเขียนไว้ชัดเจน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อรณรงค์ข้างนอกก็มีคนเห็นด้วยเต็มที่ แต่นายกรัฐมนตรีสามารถปัดตกได้เพียงเพราะกฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการเงิน ก็จบแค่นั้น ไม่ได้มีโอกาสอภิปรายแม้แต่คำเดียว วินาทีเดียว ทั้งที่เตรียมตัวมาแทบตาย

หลายเรื่องในสภาฯ ทำให้เห็นว่า เขาอยากให้เข้าสภาฯ ก็ได้เข้า ถ้าเกิดเขาไม่ให้เข้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบำนาญ แรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด เขาก็บอกว่ามันเกี่ยวข้องกับการเงิน ก็ปัดตก เมื่อปัดตกก็กลายเป็นแรงเฉื่อย มีการเล่นเกม สับวาระการประชุมกันไปมา ถ้าพวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญของเรา เป็นผลงานของเรา ก็จะเอาเรื่องอื่นมาสับวาระโดยใช้เสียงข้างมาก เป็นแรงเฉื่อยในระบบที่เกี่ยวกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องเนื้อหา

ทั้งหมด—เรื่องที่ต้องใส่ใจในรายละเอียด หากอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ทั้งหมด—เป็นบทเรียนว่าเราไม่สามารถคิดภาพกว้างๆ ใหญ่ๆ ลอยๆ ได้อย่างเดียว เพราะหากไม่สนใจในรายละเอียด สุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นได้จริง

แล้วการเมืองที่ใช้เงินเป็นตัวนำ การซื้อตัว ส.ส.ที่พรรคก้าวไกล หรือเมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่เผชิญ ‘งูเห่า’ อย่างหนัก เป็นเซอร์ไพรส์ของคุณด้วยไหม

สำหรับผม เป็นปัญหาของประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ทำให้เราเรียกประชาธิปไตยว่าเต็มใบไม่ได้ สิ่งที่เป็นตัวฟักให้เกิดเรื่องนี้ เป็นประชาธิปไตยแบบกล้วยๆ ก็คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นระบบนิเวศให้เกิดการฟักเลี้ยง ส.ส. ทำให้ ส.ส.ย้ายค่ายกันง่ายพอสมควร และในระดับมหภาค ทุกพรรคการเมืองเจอปัญหาเหมือนกันหมด คนนี้เริ่มต้นจากฝั่งนี้ ก็ย้ายไปฝั่งนั้น คนนั้นเริ่มต้นจากฝั่งนั้น ก็ย้ายมาฝั่งนี้ แค่ได้สวมเสื้อก็เป็นฝ่ายนี้แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลเมื่อไรก็ต้องทำประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนทันทีเพื่อแก้ปัญหา

ขณะเดียวกัน ระดับพรรค ระดับจุลภาค การบริหารภายในก็ต้องให้ความสำคัญกับการคัดคนมากขึ้น เราต้องมี pipeline ของคนที่มีอุดมการณ์ ของคนที่มีประสิทธิภาพที่พร้อมเข้าสู่การเมืองให้ชัดเจนขึ้น ให้คนที่พร้อมเข้าสู่การเมืองเข้ามาได้มากขึ้น และยิ่งมีตัวเลือก มีการแข่งขันมากเท่าไร ระบบจะบอกได้ว่าใครควรเข้ามา 

เมื่อมีจำนวนคนมากพอ พรรคก็มีประตู 3-4 บานในการคัดกรองคน คุณต้องส่งใบสมัครมาก่อน สัมภาษณ์ก่อนว่าทำไมคุณอยากเป็นนักการเมือง ทำไมต้องพรรคก้าวไกล ทำไมต้องเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองในรอบนี้ อีกทั้งมีการสัมภาษณ์โดย 4-5 คน ทั้งจากคนที่เป็น ส.ส. ทั้งจากสมาชิกพรรคที่เป็นคนธรรมดา เรามีหลักสูตรการเมืองของพรรคที่จะพัฒนาคนเหล่านี้ทั้งในเรื่องการสื่อสาร การอภิปราย การเตรียมพร้อมเป็น ส.ส. และการทดสอบอุดมการณ์

สุดท้ายแล้ว ก้าวไกลต่างจากตอนอนาคตใหม่เยอะ เพราะตอนอนาคตใหม่เรามีเวลาแค่สองเดือนในการเตรียมตัว แต่ก้าวไกลมีเวลาสองปีเต็มๆ เป็นอย่างน้อย บางคนอาจจะสามปีด้วยซ้ำ การที่เรามีกลุ่มคนใหม่ๆ จากการสมัครทั้งช่องทางออนไลน์ การเจอคนในพื้นที่ แล้วเขาสนใจเปลี่ยนจากอาชีพเก่าๆ ที่เขาเป็น ไม่ว่าจะเป็นครู ข้าราชการ นักธุรกิจ ทนาย เกษตรกร ก็ต้องเจอด่านพวกนี้ สุดท้ายจะเกิดความหลากหลายในพรรค และเกิดความเท่าเทียม แต่ทั้งหมดก็วาดภาพเป้าหมายเดียวกันได้ ถ้าบริหารองค์กรอย่างนี้ได้ การใช้เงินนำการเมือง การซื้อตัว ส.ส.ก็จะลดไปด้วย 

สรุปก็คือว่า มหภาคต้องจัดการ จุลภาคก็มีความหมาย แต่ถ้าอยากเร่งด่วน ถ้าประชาชนฟังอยู่ ดู The Momentum อยู่ แล้วไม่อยากรอ อยากตั้งกระทะผัดเผ็ดงูเห่าเลย 14 พฤษภาคมนี้เป็นโอกาสของท่าน ถ้าใครทำให้ท่านผิดหวัง อย่าไปเลือกเขา เพื่อทำให้งูเห่าสูญพันธุ์ไปด้วยฝีมือพี่น้องประชาชนเองโดยเร็วที่สุด

ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ก้าวไกลแตกต่างจากพรรคอื่น ก็คือความพยายามทำการเมืองแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการเมือง เพื่อเปลี่ยนสภาฯ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่แปลกแยก ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม และจากฝ่ายเดียวกัน

(ตอบทันที) เอเลี่ยน เอเลี่ยนในสภาฯ

คุณรู้สึกอย่างไรกับประเด็นนี้

ไม่กลัว ผมกำลังคิดว่าเรามั่นใจในวิถีและวิธีปฏิบัติแบบก้าวไกล มั่นใจใน Move Forward Way ทั้งหมด ถ้าเราหนักแน่นพอ มันทำให้คนอื่นเปลี่ยนไปตามเรา ไม่ใช่ให้เราเปลี่ยนไปตามเขา เราคิดว่าวิธีแบบนี้ถูก วิถีการทำงานแบบพรรคที่ไม่มีนายทุน ไม่มีข้างหลังไปรับทุนจีนมา ซึ่งทำให้เวลาไปอภิปรายอะไรก็ไม่เต็มที่ เวลาเสนอกฎหมายทลายทุนผูกขาด บางพรรคก็ไม่กล้า แต่ตรงนี้เป็นวิถีการทำงานของเรา

วิถีการทำงานแบบมีส่วนร่วม มีทีมจังหวัด ถ้ามีปัญหา ส.ส.ย้ายพรรค ก็มีทีมรองรับ มีจังหวัดคอยเช็คกัน คอยสนับสนุนกันแบบที่พรรคอื่นมี เรามีกระบอกเสียง ไม่มีหัวคะแนน เราทำการเมืองแบบค้าปลีก ไม่ใช่ค้าส่ง ไม่ได้เป็นบ้านใหญ่ แต่เราเข้าหาประชาชนโดยตรง โดยการเอาวาระเป็นตัวตั้ง

ถ้ามีปัญหาที่ดินในจังหวัดนี้ เราเอาที่ดินเป็นตัวตั้งว่าถ้าที่ดินเป็นแบบนี้จะแก้อย่างไร มีคำตอบให้คุณหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่เอาเหมือง ไม่เอาขยะ มีปัญหาฝุ่น เราเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วเราเสนอชุดคำตอบ แล้วคนก็เข้าร่วมกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นหัวคะแนนธรรมชาติ เป็นกระบอกเสียงว่าทำไมไปเลือกคราวนี้ เขาจะไม่เลือกพรรคก้าวไกลเพียงคนเดียวแบบเหงาๆ แต่เขาจะพาพรรคพวก พาพ่อแม่ไปด้วยให้เยอะๆ ให้ไปเลือกคราวนี้แล้วคึกคักมากที่สุด

ทุกเรื่องเป็นอะไรที่เราต้องทำงานด้านความคิดกับพรรคอื่นและกับประชาชน เหมือนที่เราทำงานในสภาฯ มาตลอด 4 ปี กระทั่งคนเริ่มเห็นคล้อยตามกับเราในวันหนึ่ง เราอาจจะดูเหมือนกับว่าเข้าไป disrupt คน แต่เราก็ต้องการให้การ disrupt เป็น New Normal เป็นปกติใหม่ของการเมืองไทยที่ ส.ส.ของเราจะทำแบบนี้ ไม่ใช่การที่คนหนึ่งคนเป็น ส.ส. จะเป็น ส.ส.ไปตลอด เหมือนกับกลายเป็นอาชีพที่ฝากชีวิตตลอดไป แต่ไม่เคยทำอะไรให้พี่น้องประชาชน

ฉะนั้น ผมไม่เคยรู้สึกกังวล เวลาที่คนบอกว่าก้าวไกลเป็นแกะดำ หรือเป็น Disruptor ในทางการเมือง เพราะพอดิสรัปต์ไปสักพักก็จะกลายเป็นนิวนอร์มอล

นิยามของคนที่จะดิสรัปต์ทางการเมือง โดยปกติแล้วคนก็จะต้องปรามาส ดูถูก ทำเป็นหรือเปล่า? จะไหวหรือ? งบฯ น้อย ทรัพยากรมีพอหรือ? ป้ายน้อยเกินไปไหม? มันเป็นจุดอ่อนของคนที่ทำสตาร์ทอัพทุกคน ทุกอย่างต้องค่อยๆ เปลี่ยน สร้างโมเมนตัม เพิ่มทรัพยากร พัฒนาจนเราเป็นเมนสตรีมให้ได้มากที่สุด

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคใหญ่ เป็นสถาบันการเมืองไทยไปอีกนาน ไม่ว่าจะมีธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) มีพิธาหรือไม่ ถ้าเราวางแผนเป็นระบบ มีคนใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ วางแผนการเป็นผู้นำให้กับคนใหม่ๆ ที่อายุ 20-30 ตอนนี้ สักวันหนึ่งมันจะไปต่อ

เพราะฉะนั้น ก้าวไกลไม่ใช่พิธา ธนาธร หรือปิยบุตร แต่รวมถึงใครก็แล้วแต่ แต่ก้าวไกลก็คือก้าวไกล และนี่คือสิ่งที่ก้าวไกลตั้งใจจะทำ

ในเชิงความท้าทาย การที่คุณเป็นหัวหน้าพรรคแล้วต้องบริหารพรรคนี้ แตกต่างกับการบริหารธุรกิจอย่างไร

ความแตกต่างของการบริหารพรรคกับการบริหารบริษัท คือบริษัทมี Hierarchy ชัดเจน แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้เอาการบริหารธุรกิจมาบริหารพรรค เพราะฉะนั้นคนเท่ากัน ไม่ว่าใคร ระดับไหน ล้วนเป็นแค่ตำแหน่งหัวโขนในการตัดสินใจในการคิดเรื่องยากๆ

แต่เมื่อถึงเวลาตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าใครที่เป็นอาสาสมัคร เป็นใครที่อยู่ในพรรค เราดูแลทุกคนให้เท่ากันหมด พยายามที่จะให้มีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ

อย่างเรื่องการเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. คำถามคือผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่าผู้สมัครคนไหนเป็นใคร ก็ต้องให้ทีมจังหวัดเป็นคนเสนอ แล้วต้องให้มีการพูดคุยกันไปมา มีการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ประเด็น ให้มีการตัดสินใจ แล้วก็น้อยมากที่จะตัดสินใจตรงข้ามกับทีมจังหวัด เว้นแต่ว่าเคยมีประวัติอาชญากรรมหรือไปทำอะไรไม่ดีมาก่อน ถึงจะต้องวีโต้กลับไป นอกนั้นแทบไม่มี เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดถึงจะพิสูจน์ได้

ถ้าเป็นองค์กรธุรกิจ คุณสามารถแต่งตั้งคนได้ เอาคนนู้นไว้ที่นั่นที่นี่ ถ้าทำงานแล้ว KPI ไม่ตรง คุณเอาออกได้ แต่พรรคการเมือง สิ่งที่คุณต้องการคือให้คนเข้ามาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เรียวแหลมอย่างเดียว เรียวแหลมก็ใช่ แต่ต้องป้านออกด้วย ฉะนั้น ไม่มีโอกาสที่จะเลือกว่าใครจะอยู่หรือไม่อยู่กับพรรค ไม่เหมือนแบบธุรกิจ ฉะนั้น KPI มันต่างกัน

นอกจากนี้ ถ้าเป็นเอกชนก็ต้องการทำกำไรให้มากที่สุด แต่เป้าหมายของ Public Service (การบริการสาธารณะ) คือเซอร์วิส เป้าหมายของบริษัทคือทำกำไร เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองเรามีไว้เพื่อรับใช้คน ไม่สามารถเน้นประสิทธิภาพหรือเน้นกำไร แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราบอกว่าเป็นเรื่องของจำนวนคนหมู่มากแต่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่ได้อีก ตรงนี้คุณต้องหาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับเซอร์วิสให้ได้ ตรงนี้เป็นศิลปะมากกว่าเยอะ 

นอกจากนี้ ภาวะผู้นำในภาคธุรกิจกับภาคการเมืองก็ต่างกันเยอะ หลายคนถ้าเอาวิธีคิดแบบธุรกิจมาทำกับการเมือง ผมว่าพังแน่นอน

เพราะคุณจะคิดว่าคุณเป็น CEO ของบริษัท สามารถสั่งได้ ทำอะไรก็ได้ มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อีกทั้งคุณยังต้องสร้างความเป็นภาวะผู้นำ คุณต้องสร้างผู้นำเพิ่ม ไม่ใช่มีคนมาตามเราเหมือนกับตอนที่เราเป็น CEO องค์กรธุรกิจ

ปัญหาอีกส่วน คือหลายคนมองว่าพรรคก้าวไกลมีคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ อาจไม่มีประสบการณ์มากพอ อาจไม่มีวุฒิภาวะในการบริหารงานภาครัฐได้ และอีกส่วนคือมองว่าคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะทะเลาะกันเอง

สองเรื่อง ไม่เป็นความจริงที่มีแต่คนรุ่นใหม่ พรรคเรามีทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการเกษียณมีอยู่ในพรรคก้าวไกลเยอะมาก อายุสูงสุดน่าจะ 70 กว่า โดยค่าเฉลี่ยถ้าเป็น ส.ส.เขต อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 41 ปี ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ที่ 43 ปี

ขยักที่สอง ในเรื่องประสบการณ์ ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยนเยอะมาก คุณทำสื่อมวลชน ลองคิดย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีกับตอนนี้ ทุกอย่างมันโดนดิสรัปต์ไปหมด ในอดีตใครทำสื่อเก่งๆ ต้องมีห้องใหญ่ๆ ทีมงานเยอะๆ แล้วมาทำสื่อ หากเอาประสบการณ์เก่าๆ มาใช้กับการทำสื่อทุกวันนี้คือพัง มันเปลี่ยนจาก Economy of Scale เป็น Economy of Speed บางคนมีมือถืออันเดียว ลงพื้นที่ได้มากกว่าสื่อมวลชนเก่าๆ ด้วยซ้ำ

ฉะนั้น สิ่งที่ผมต้องการจะพูดคือประสบการณ์สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง มันมีประสบการณ์ที่ถูกกับประสบการณ์ที่ผิด มันมีประสบการณ์ที่เคยถูกในอดีตแล้วผิดในตอนนี้ ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถแก้โรคระบาดในสมัยก่อนแล้วมาใช้กับโควิด ผมว่าพังเลยนะ หรือใครคิดว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเดิม สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแบบ EEC เดี๋ยวนักลงทุนก็มา ผลิตแล้วก็ส่งออก ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันนี่ผิดทันที การต่างประเทศเหมือนกัน ถ้าเอาแบบสมัยก่อนมาทำแบบตอนนี้ก็พัง

ผมและพรรคก้าวไกลคิดว่าประสบการณ์มีทั้งถูกและผิด ผมอาจไม่มีประสบการณ์กู้เงินมาเยอะๆ ผมอาจไม่มีประสบการณ์ในการทำรัฐประหารบ่อยๆ อาจไม่มีประสบการณ์ในการคุมทหารที่ปฏิรูปกองทัพไม่ได้สักที แต่ผมมีประสบการณ์จากการที่ไปอยู่ต่างประเทศและต่างจังหวัดมา มีประสบการณ์ในความเข้าใจทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพราะเคยเป็นคนรับนโยบาย และมีประสบการณ์ในการสร้างนโยบาย ฉะนั้น ผมรู้ว่าจุดอ่อนคืออะไร

การทำงานแบบนักการเมือง คุณต้องคิดออกว่านี่คือน่านน้ำที่ไม่มีใครเคยไป ทุกคนไม่เคยเจอโควิดมาก่อน ไม่เคยเจอเศรษฐกิจโลกที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปีมาก่อน ทุกคนไม่เคยเจอ Climate Change หนักขนาดนี้มาก่อน ทุกคนไม่เคยเจอสังคมสูงวัยมาก่อน ทุกคนไม่เคยเจอปัญหา Cyber Security แบบ 9Near ที่เอาข้อมูล 55 ล้านคนออกจากหมอพร้อมมาก่อน เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องใหม่หมด และถ้าเกิดคุณเอาเครื่องทรานซิสเตอร์มา มันจะแก้ปัญหา Spotify ได้ไหม

ฉะนั้น ต้องเอาคนที่อยู่ในบริบทที่เข้าใจ และนั่นก็คงเป็นสาเหตุที่ตอนนี้คุณมองเห็นผู้นำประเทศในระบอบประชาธิปไตยหลายประเทศ อายุเท่าผม นายกฯ อังกฤษ 42 อดีตนายกฯ นิวซีแลนด์ อดีตนายกฯ ฟินแลนด์ นายกฯ แคนาดา ต้องกลายเป็นคนรุ่นนี้ เพราะเขาเป็นคนร่วมสมัยกว่า เขาเข้าใจว่าในอดีตมีอะไรมาก่อน เขาเข้าใจว่าคนที่มาหลังเขา ความรู้สึกต่างกับเขาอย่างไร

ความต่างระหว่างวัยมันไม่ต่างมากเกินไป ผมอยู่ตรงกลาง เข้าใจคนที่ไปทางขวา เข้าใจคนที่ไปทางซ้าย เข้าใจคนที่มาก่อน เข้าใจคนที่อยู่ทีหลัง 

ขยักสุดท้าย เข้าใจว่าในตอนปี 2562 ก็คงไม่มีใครคิดว่าเราจะเป็นคนที่อภิปรายในสภาฯ ตรวจสอบรัฐบาล อภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่เป็นสองรองใครในสภาฯ และผมเชื่อว่าก้าวไกลจะมีประโยชน์กับท่านมากกว่า เมื่ออยู่ในทำเนียบรัฐบาล

แล้วสำหรับวุฒิภาวะของสมาชิกพรรคก้าวไกลในการจัดการความขัดแย้งภายในพรรคล่ะ จะมีปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นไหม

คือมันต้องถกในเรื่องที่ต้องถกให้ตกผลึกและกล้าที่จะต้องถกกัน ส่วนเรื่องที่บอกว่ามีความเห็นต่าง อาจจะขัดแย้งภายในพรรค นี่เป็นเรื่องปกติในองค์กรที่จะต้องขัดแย้งกัน ผมเชื่อว่าใน The Momentum รวมถึงบริษัทเอกชน พรรคการเมืองอื่นๆ ก็มีความขัดแย้งกัน

คำถามที่ประชาชนต้องถาม ไม่ใช่ว่าจะขัดแย้งกันไหม คำถามคือเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นมาแล้วคุณบริหารมันอย่างไร แล้วถ้าเกิดขัดแย้งกัน คุณสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ไหม หรือคุณทำให้วิกฤตเป็นหายนะ

สำหรับพรรคก้าวไกล เมื่อมีความขัดแย้งกันทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราบริหารจัดการได้โดยใช้เวลาอันสั้นนิดเดียว สุดท้ายมันกลายเป็นสปิริตอนาคตใหม่กลับมา แล้วตอนนี้เราก็ไต่ระดับเข้าฝักเป็นอย่างมากกับการทำงานเป็นทีม ทำให้หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสาม จนมี Synergy ออกมาได้ นี่เป็นคำถามที่สำคัญมากกว่า

ถ้าเกิดคุณมีเรื่องความขัดแย้ง คุณทะเลาะกันในพรรคอื่นแล้วบอกว่าแย่งอำนาจกัน ตอนแรกก็รักกันดี พอไม่ได้ตำแหน่งก็ลาออก ย้ายมาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง นั่นเป็นความขัดแย้งที่คุณควรจะกังวลมากกว่า ไม่ใช่ความขัดแย้งแบบทางฝั่งเรา

ย้อนกลับมาเรื่องก้าวไกลเป็นเหมือนแกะดำในระบบการเมือง เป็นพรรคที่ฝ่ายชนชั้นนำเห็นว่าเป็นอันตรายเหมือนตอนที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ บ้างก็ว่าเพราะด้วยประเด็น พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ (พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์) คุณคิดว่าเป็นอุปสรรคไหมที่อาจทำให้หลายคนไม่กล้าเลือกพรรคก้าวไกล เพราะ ‘แหลมคม’ เกินไป แต่คิดว่าเลือกพรรคที่เข้าไปบริหารได้ น่าจะดีกว่าเลือกพรรคที่กลุ่มอำนาจนิยมมองว่าเป็นศัตรู หรือภัยคุกคาม

คำถามที่ต้องถามกลับคือ คุณบริหารเพื่อให้บริหาร หรือคุณบริหารเพื่อให้เปลี่ยน

ถ้าเกิดคุณจะบริหารเพื่อให้บริหาร มันก็กลายเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่กำลังวนไปเรื่อยๆ ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเดิม เค้าโครงเศรษฐกิจก็จะเป็นเหมือนเดิม การบริหารราชการก็จะเป็นเหมือนเดิม แล้วประเทศไทยคงจะอยู่ในวงจรรัฐประหารเหมือนเดิม ทุกๆ 5 ปีตามค่าเฉลี่ย รัฐธรรมนูญสิบกว่าฉบับมาจากประชาชนแค่สองฉบับ ที่เหลือก็มาจากทหาร 

คราวนี้ ถ้าคุณจะบริหารให้เปลี่ยน มันก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เจตจำนงของประชาชน ต้องใช้ทั้งน้ำหนักทางการเมือง และใช้การตั้งคำถามมากกว่าคำตอบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าขนาดโลกทั้งโลกมันบีบคุณขนาดนี้ มันบีบคุณด้วยโรคระบาด บีบคุณด้วยภาวะโลกรวน มันบีบคุณด้วยสังคมสูงวัย คนไม่อยากมีลูก บีบคุณด้วยการสงครามที่ไม่ใช้ทหารมารบกันแล้ว แต่ทำอย่างไรให้ข้อมูลของโรงพยาบาลประเทศนั้นหาย ทำอย่างไรให้แท่นขุดเจาะน้ำมันทำงานไม่ได้ โดนบีบขนาดนั้นแล้วทำไมคุณยังไม่คิดจะปรับเปลี่ยน หรือให้คนใหม่เข้าไปแก้ปัญหาที่เขาพร้อมมากกว่า

ผมว่าสิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกัน แต่ถ้าแค่ขอไปที เปลี่ยนแค่มีทีมใหม่มาบริหารที่ไม่ใช่นายกฯ คนเดิมก็พอ ผมคิดว่ามันก็มีคุณูปการกับประเทศพอสมควร แต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราเจอกันในประเทศตอนนี้

เพราะฉะนั้น คุณต้องเลือกตัวเลือกที่ได้สัดส่วนกับความท้าทายปัจจุบัน เลือกตัวเลือกที่มีชุดคำตอบที่ได้สัดส่วนกับความท้าทายปัจจุบัน ไม่ใช่ความท้าทายแบบเดียวกับ 10-20 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป

เวลาที่คุณลงพื้นที่แล้วมีทหารติดตาม หรือมี กอ.รมน.มาเฝ้า คุณรู้สึกไหมว่าตัวเองเป็นภัยคุกคามกับชนชั้นนำ

แน่นอน เป็นศัตรู แต่ไม่ใช่ศัตรูที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เป็นศัตรูที่ต้องกล้าที่จะถกเถียงและกล้าที่จะชนกับเขา แต่ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ กอ.รมน. หรือนายทุน เราไม่สามารถเหมารวมเขาได้ ไม่สามารถจะไปป้ายเขาว่าเป็นศัตรูทั้งหมด แต่ชั้นผู้น้อย ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ เลือกพรรคก้าวไกลกันหมดละครับ 

ตำรวจชั้นผู้น้อยนี่ รังสิมันต์ โรม คือซูเปอร์สตาร์ของเขานะครับ ลูกหลานนายทุน 50 อันดับแรกเลือกก้าวไกล แม้คุณพ่อคุณแม่เขาอาจจะไม่ยอมปล่อย เจ้าสัวอาจยังไม่ยอมปล่อย แต่ลูกหลานทุกคนเชียร์ก้าวไกลหมดนะครับ

เพราะฉะนั้น แน่นอน พวกเขาอาจเห็นผมเป็นศัตรูและเขาอาจเกลียดชังผม เขาคงคิดว่าผมเป็นปีศาจแห่งยุคสมัย ก็ปล่อยให้เขาเกลียดไป แต่เราไม่ได้ต่อสู้กับเขาด้วยความเกลียดชัง และก็ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของระบบ ระบอบ เรื่องของอนาคตของคนทั้งประเทศ เราไม่ได้ต้องการหักล้างหรือไล่คนออกนอกประเทศ เพราะผิดรัฐธรรมนูญนะ (หัวเราะ) มันทำไม่ได้

เพราะฉะนั้นคำตอบคือการหาฉันทามติ และผมเชื่อว่าเวลาจะช่วย 

ในขณะเดียวกันกับที่นายทุน ขุนศึก ศักดินา ตอนนี้เขาอาจไม่รู้สึกว่าเขาอยากจะเปลี่ยน แล้วเขาก็เกลียดผมมหาศาล ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในระบบราชการ อายุเท่าผม จะขึ้นเป็นรองอธิบดี อธิบดี เขาคิดเหมือนผม ลูกหลานนายทุนเขาก็คิดว่า เขาจะร่ำรวยขนาดนี้ไปทำไม ถ้ายังมีคนเอารูปคนผูกคอตายไปวางไว้หน้าร้านเขา คือเขาจะทำ CSR ไปทำไม ถ้าคนยังรู้สึกแบบนี้

คนที่เป็นทหาร ตำรวจ เขาเข้าใจ เขาต้องการเป็นทหารมืออาชีพ ต้องการที่จะเป็นตำรวจมืออาชีพ เขาไม่อยากเป็นทหารไว้ไถ หรือเป็นตำรวจที่มีหน้าที่ไถส่งนาย ส่งส่วย วิ่งตั๋วช้าง ฉะนั้น ผมยังเชื่อว่าศัตรูที่มีไว้ให้ชนก็ต้องชน ใครไม่ชน เราต้องชน แต่ในขณะเดียวกัน เราสามารถแยกแยะออกได้ และก็ไม่ได้คิดแบบคนอื่นว่า โอ้ย พวกนี้เป็นพวกสามกีบทั้งหมด ไม่ได้เรื่องเลย เราเกลียดมัน ออกนอกประเทศไป อย่างนี้เป็นการนิยามคำว่าศัตรูผิด

ในฟากของศัตรู สำหรับผม เราต้องสู้จนกว่าเขาจะเปลี่ยนใจให้ได้ รวมถึงการดูแลคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของพวกเขาทั้งหมด จนกระทั่งพวกเขารู้สึกว่าเป็นการทำงานเชิงระบบ จนเป็นประชาธิปไตยที่คนหมู่มากคิดเหมือนผม แล้วเขาต้องยอมแพ้ไปในที่สุด และประเทศไทยจะต้องชนะในที่สุด

อีกคำถามหนึ่งซึ่งแวดล้อมการเมืองไทยในขณะนี้ คือระหว่าง ‘ปากท้อง’ กับ ‘โครงสร้าง’ ในความเห็นของคุณ อะไรเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าหรือต้องมาก่อน

คุณถามอย่างนี้เหมือนถามว่าเหรียญบาทมีหัวหรือมีก้อย ฉันใดก็ฉันนั้น ปากท้องกับโครงสร้างก็เป็นเรื่องเดียวกัน ต้องถามว่าแต่ละช่วง คุณต้องแก้ที่หัวหรือแก้ที่ก้อยก่อน

สิ่งที่ก้าวไกลเสนอก็คือ “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” มีความตั้งใจที่จะเอาการเมืองขึ้นก่อน เราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณไฟป่าที่ไม่พอของพี่น้องภาคเหนือตอนนี้ ไม่ว่าจะงบประมาณเอสเอ็มอีที่ไม่มี ไม่ว่าจะงบประมาณเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ไม่มี ไม่ว่าจะงบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่มี ไม่ว่าจะงบประมาณเกี่ยวกับ soft power ที่โฆษณานักหนา แต่มีอยู่แค่ 80 ล้านบาท ไม่ว่าจะงบประมาณในการเปลี่ยนรูปยาง ปาล์ม การท่องเที่ยว การเตรียมตัวสำหรับสังคมสูงวัย เด็กเล็ก คนชรา มันเป็นการเมืองทั้งนั้น

แล้วคุณบอกว่าอยากมาแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง เบี้ยคนชรา เบี้ยเด็กเล็ก คุณต้องการงบประมาณจำนวนมาก มันต้องใช้เจตจำนงทางการเมืองที่กล้าหาญ ต้องใช้ใจด้วย แล้วใช้สมองด้วยว่าต้องรีดงบประมาณขนาดไหน รีดงบฯ กองทัพขนาดไหน รีดงบฯ กลางมาเท่าไร รีดกำไรจากรัฐวิสาหกิจเท่าไร ต้องเก็บภาษีใคร ไม่เก็บภาษีใคร เพื่อให้งบประมาณที่ต้องใช้มากขนาดนี้ทำให้มีเงินจ่ายได้จริง ทั้งหมดนี้ต้องใช้นักการเมืองทั้งนั้น

ฉะนั้น ถ้าคุณไม่ปรับโครงสร้าง ไม่เน้นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่เน้นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจ ไม่เน้นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารอำนาจ ไม่เน้นเรื่องการตรวจสอบอำนาจ ไม่ว่าคุณจะคิดถึงปัญหาอะไรที่ทำให้นอนไม่หลับในคืนนี้ ทุกอย่างมันกลับมาที่การเมือง เพราะการเมืองคือการเก็บภาษีคุณ และคือการทำงบประมาณให้กับคุณ แล้วถ้าคุณคิดว่า มีคนมีวิสัยทัศน์มากมายในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่งบประมาณไม่มี และกฎหมายไม่ผ่าน สุดท้ายก็จะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามัวแต่ทะเลาะกัน คิดแต่เรื่องการเมืองอย่างนู้นอย่างนี้ เล่นการเมืองอย่างเดียว จะทำอย่างไรให้ฉันได้เปรียบคู่แข่ง และให้คู่แข่งได้น้อยกว่านั้น ไม่เน้นเรื่องการ ‘สร้าง’ การเมือง เน้นแต่เรื่อง ‘เล่น’ การเมือง ทำไอโอ สร้างเฟกนิวส์มาทำลายกันอย่างเดียว แล้วไม่สนปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนว่าลำบากกันขนาดไหน เป็นพี่น้องประชาชน ได้เบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือน เท่ากับ 20 บาทต่อวัน เท่ากับ 7 บาทต่อมื้อ เท่ากับไข่ต้มฟองเดียวในช่วงที่ผ่านมา คนพิการจำนวนมากที่บอกว่าเบี้ยพิการไม่พอและไม่ครบถ้วน เด็กที่ออกนอกระบบตั้งแต่โควิดที่ทำให้ผู้ปกครองตกงานเป็นจำนวนเท่าไร เรื่องพวกนี้มันเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องฟัน มิเช่นนั้นจะมีคนที่เสียชีวิตจากความล่าช้าของเรา แล้วถ้าคิดว่าแก้ปัญหาปากท้องได้ จะแก้ปัญหาได้ไว ก็ต้องมีงบประมาณอยู่แล้ว ถ้าไม่มีงบประมาณ ก็รอปีหน้านะ จบ

แต่การที่จะมีงบประมาณได้ ก็ต้องแก้กฎหมายไหม ถ้าแก้กฎหมายก็ต้องเสนอ พ.ร.บ. ถ้าเสนอ พ.ร.บ.ก็ต้องไปเจอแรงเฉื่อยในสภาฯ อีก ฉะนั้น คนที่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องได้ ก็คือคนที่เข้าใจในระบบรัฐสภาว่าอันไหนต้องใช้งบประมาณ อันไหนไม่ต้องใช้งบประมาณ อันไหนที่ต้องทำได้ใน 100 วันแรก เพราะฉะนั้น เรื่องปากท้องของพรรคก้าวไกล การออกนโยบายต่างๆ มีการคิดว่าอันไหนทำได้ 100 วันแรกต้องทำเลย เป็นมะม่วงใต้ต้น หยิบง่าย ไม่ต้องปีน อะไรทำได้ในปีแรกก็ต้องคิด อะไรทำได้ในสี่ปีแรกก็ต้องคิด อะไรทำได้ในแปดปีแรกคือสองสมัยก็ต้องคิด

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้คิดลอยๆ มันเป็นการเรียงลำดับความสำคัญ แล้วก็เข้าใจว่าอะไรก่อน อะไรหลัง ข้อจำกัดคืออะไร ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนถึงจะได้รับการแก้ไขแล้วก็ทุเลา

อีกกระแสที่คนคำนึงถึง คือเรื่อง Strategic Vote (การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์) โดยขอให้โหวตพรรคขั้วนี้ที่มีโอกาสชนะมากที่สุด เพื่อเอาพลเอกประยุทธ์ออกไปก่อน

ผมคิดว่า Strategic Vote ไม่มีจริง ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่เห็น ก็คือคนที่คิดว่า Strategic Vote กลัวคะแนนตกน้ำ บางคนอาจจะยกตัวอย่างขึ้นมาหนึ่งเขต ดูสิ ครั้งที่แล้วอนาคตใหม่มาเป็นที่สอง อีกพรรคหนึ่งมาเป็นที่สาม เลยแพ้ให้พลังประชารัฐไปเลย แต่คุณอย่าลืมนะว่ายังมีอีก 350 เขต แล้วมีอีกหลายเขตที่ในตอนนั้นฝั่งนู้นก็ตัดกับตัด จนทำให้พวกเราชนะด้วยเหมือนกัน

สิ่งนี้เป็นที่มาของคำว่ารัฐบาลผสม มันเป็น Rules of the Game ของ Coalition (พันธมิตร) เป็นกฎกติกาของรัฐสภา ระบบรัฐสภาของเราต้องเลือกแต่ละคน แต่ละฝ่าย แต่ละพรรค เข้าไปผสมกัน ฉะนั้นถ้ามองแบบ Strategic Vote คุณมองฝั่งเรา หารตั้งสองพรรค แต่อีกฝั่งหนึ่ง เขตที่เป็นอนุรักษนิยมตอนนี้ หารหกพรรคนะครับ ไม่ใช่แค่สองพรรค ฉะนั้นลบกับลบตัดกัน ก็กลายเป็นบวก

แล้วคุณอย่าไปอนุมานผลลัพธ์ อย่าไปดูถูกระบบมากเกินไป ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน 

มันเหมือนกับการปั้นหม้อที่แต่ละคนมีมือที่หลากหลาย แต่ละคนปั้นๆๆๆ จนกระทั่งมันขึ้นออกมาเป็นหม้อ แต่ถ้าคุณไปอนุมานผลลัพธ์มาก่อน แล้วทำให้การเมืองเป็นเรื่องจำนวนอย่างเดียว เป็นเรื่องของการสร้าง Market Share เพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นเรื่องของเจตจำนงเลย (เน้นเสียง) มันก็จะทำให้เราคาดผลลัพธ์ แล้วไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับใจ

เพราะฉะนั้นรอบนี้การเลือกตั้งด้วยหัวก็เรื่องหนึ่ง แต่การเลือกตั้งด้วยใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นการเลือกตั้งด้วยความหวังว่าพรรคของเราจะชนะมากกว่ากลัวแพ้ ให้ระบบเป็นตัวบอกดีกว่าว่าจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าคุณกลัว…อย่างที่บอก ฝั่งของอนุรักษนิยมแตกเป็น 6-7 พรรค ผมก็มีสิทธิ์ที่จะชนะ เราควรชนะด้วยนโยบาย เราชนะด้วยแคนดิเดต ไม่ได้เป็นเรื่องของเกม เพราะการเมืองมันไม่ใช่เกมที่บอกว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่หรอก Strategic Vote ไม่มีจริงหรอกครับ 

อีกสูตรหนึ่งที่คนพูดกันมากก็คือ ‘สูตรไขว้’ หากเป็น ส.ส.เขตจะเลือกเพื่อไทย เพราะมีโอกาสชนะมากกว่า แต่ถ้าบัญชีรายชื่อถึงค่อยเลือกก้าวไกล คุณมองอย่างไร

มองว่ามันก็กลับกันได้ว่าอาจจะเลือกเขตของก้าวไกล และปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอื่น เพราะฉะนั้น ความน่าจะเป็นและความเป็นไปได้มีมากพอสมควร

หลายเขตมากในภาคอีสาน คุณป้ามาบอกว่า พิธา ป้าเปลี่ยนนามสกุลไม่ได้นะ ป้านามสกุลนี้มานานแล้ว แต่ ส.ส.เขตอายุเกินแล้ว อยู่มาหลายปี ไม่เคยทำอะไรสักที เวลาจะเข้าพบก็เข้าถึงยาก เวลาหาเสียงก็ให้หัวคะแนนเดิน ทุกวันนี้ป้ายังไม่เห็นหน้าเขาเลย แต่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตของคุณ รุ่นใหม่ ไฟแรง ทำงานเป็น เอาปัญหาของป้าไปพูดในกรรมาธิการตั้งหลายครั้ง ตั้งแต่ยังไม่เป็น ส.ส.เลย น่าจะเป็นตัวแทน พูดแทนได้ สามารถแก้ปัญหาที่ดินให้ป้าได้ ได้โฉนดในชาตินี้แน่นอน เพราะฉะนั้นนามสกุลไม่เปลี่ยน แต่ ส.ส.เขตขอเลือกก้าวไกลก็มี ตรงนี้เป็นเป้าหมายที่เราต้องการให้มี ส.ส.เขตมากกว่าปาร์ตี้ลิสต์ เพราะ ส.ส.เขตใกล้ชิดกับประชาชน

แต่ถ้าจะตอบคำถามของคุณ ก็ต้องบอกว่ามีหลายเขตที่ ส.ส.เขตเขาเปลี่ยนไม่ได้ เพราะงานบุญ งานศพ ทุกอย่าง เขามาตลอด สนับสนุน แล้ว ส.ส.เขตอาจจะแวะช็อปที่แผงปลาทูเป็นประจำ แต่เขาย้ายพรรค เพราะฉะนั้น ปาร์ตี้ลิสต์จะกาให้ก้าวไกล 

โดยสรุป ใครคิดว่าระบบเปลี่ยนแล้วก้าวไกลเสียเปรียบนั้น ไม่เป็นความจริง ก้าวไกลจะได้เปรียบจากการที่เปลี่ยนกฎ

โอเค ส.ส.เขตจาก 350 เป็น 400 จาก 150 เหลือ 100 ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่คนที่จะเป็นพรรคการเมือง มันต้องยืนระยะได้ทุกกฎกติกา ฉะนั้น เมื่อบริบทเปลี่ยน เราสามารถจะปรับยุทธศาสตร์และลงพื้นที่ต่อเนื่อง จนกระทั่งเรารู้ว่าความคิดคนเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรให้เราได้เปรียบกับกฎกติกาที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อมีการพูดคุยเรื่องกฎกติกา ก็ต้องสู้กันให้เต็มที่ เราเชื่อว่า MMP (mixed-member proportional representation ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม) เป็นระบบที่ดีที่สุด และตอบโจทย์มากที่สุด แต่ตอบโจทย์นั้นไม่ใช่ตอบโจทย์เรา ตอบโจทย์ประเทศ ทำอย่างไรให้สภาฯ กับสังคมนั้นใกล้เคียงกันมากที่สุด ไม่ใช่ให้มีพรรคจำนวนใหญ่ถัดมา แล้วที่เหลือตกน้ำหมด อันนี้ไม่ถูกต้อง

แต่ในเมื่อมันผ่านมาหมดแล้ว เราก็ไม่หันกลับไปมองข้างหลัง เดินหน้าอย่างเดียว พอเดินหน้าอย่างเดียวก็เห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับตามบริบทใหม่ที่ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้เปรียบคืออะไร และผมคิดว่าตอนนี้เราเข้าฝักพอ จนการเลือกตั้งครั้งนี้เรารู้สึกได้เปรียบ

แต่ข้อกังวลใจมีไหม มี นั่นก็คือการทำงานที่อาจไม่ยุติธรรมกับทุกพรรค อาจทำให้คนอื่นได้เปรียบ เช่น พอเป็นบัตรสองใบ สองเบอร์ คนสับสน อันหนึ่งเป็นเขต ไม่มีชื่อ ต้องจำเบอร์อย่างเดียว ชอบพิธาแต่จำเบอร์พิธาไม่ได้ ก็เลือกไม่ถูก อีกใบหนึ่งเป็นเบอร์พรรค ก็ต้องจำให้ได้ว่าเป็นพรรคอะไรอีก ทีนี้ตัวเลขเยอะ พ่อแก่แม่เฒ่าก็เริ่มสับสนแล้ว คนเริ่มกังวล ไม่อยากไปเลือกตั้งแล้ว กลัวกาผิด พอกาผิด เดี๋ยวฉันจะส่งให้เผด็จการกลับเข้าไปในสภาฯ ก็เป็นสิ่งที่กังวลกัน

บัตรโหลก็เป็นอีกปัญหา ส.ส.เขตไม่มีชื่อ มันเป็นไปได้นะ ถ้าใช้จริงๆ ใช้แค่ร้อยใบทั่วประเทศ แต่ถ้าคุณพิมพ์เผื่อไป 120-130 แล้วถ้ามีการมากาใหม่ 20-30 แล้วไปสับเปลี่ยนระหว่างทางในการนับคะแนน เพราะคุณไม่ได้รายงานด้วย ก็จะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป

คะแนนของคนที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่ตกน้ำแบบนิวซีแลนด์ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว จนทำให้รองเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน ก็เป็นเรื่องน่ากังวล หรือการที่ไม่รายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ก็น่ากังวล ทั้งหมดเราประมาทไม่ได้

เราต้องเรียกร้องประชาชนที่อ่านอยู่ให้ไปใช้สิทธิใช้เสียงให้ได้มากที่สุด ยิ่งเราใช้คนหมู่มากจำนวนมหาศาล คนมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ 55 ล้านคน มากันสัก 50 ล้านคน โอกาสที่เขาจะเปลี่ยนบัตรเลือกตั้ง โอกาสที่พวกเขาจะทำไฟดับระหว่างทางแล้วเปลี่ยนหีบเลือกตั้ง มันทำให้ราคาที่เขาต้องจ่ายมันสูงมากขึ้น

ขอถามต่อว่ากับ ‘เรื่องเล่า’ อีกแบบก็คือ ถ้าเลือกพรรคก้าวไกลหมายถึงการเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ขอเลือกพรรคที่เข้าไปเปลี่ยนเศรษฐกิจปากท้องให้ดีก่อน ซึ่งจะใช้เวลาสั้นกว่า ในฐานะหัวหน้าพรรค คุณมีความเห็นอย่างไร และถ้าเลือกก้าวไกล พรรคของคุณจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทันทีได้ไหม

ผมว่าคนรุ่นใหม่ทั้ง First Jobber ทั้ง First Time Voter สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้เขาต้องไม่อยากย้ายประเทศ พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาต้องไม่รู้สึกอยากย้ายไปทำงานที่มาเลเซีย คนต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี หรือต้องย้ายไปต่างประเทศ เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจต้องดีขึ้น

ส่วนที่สอง คือการทำให้การเมืองมีนิติรัฐ นิติธรรมด้วย วันนี้ First Jobber หลายคนอาจรู้สึกสนใจเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะหางานทำไม่ได้ จบ ปวส.มาแล้วไม่รู้จะไปหางานทำที่ไหน อันนี้จะทำให้เขารู้สึกดีได้ คือการทำ matching ระหว่างคนกับงาน ในขณะเดียวกัน มีโรงงานต้องการ ปวส.มากขึ้น โรงแรมต้องการ Therapist (นักบำบัด) มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็หาคนไม่ได้ เพราะ Therapist จำนวนมากย้ายไปอยู่ดูไบ อยู่โอมาน

แต่ก็มีคนจำนวนมากที่จบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงหรือมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแล้วหางานทำไม่ได้ เพราะนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้เก่งในเรื่อง Hi-Touch และเรื่อง Therapist มาก ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนแต่เป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยว ตรงนี้ก็อยู่ที่กระทรวงแรงงานว่าจะจับทั้งสองส่วนมาแมตช์กันได้ไหม

วันนี้ คนจบใหม่ 60% หางานไม่ได้ บริษัทที่จะหาคนจบใหม่มาทำงาน ก็ยังหาคนทำงานไม่ได้ แต่ถ้าเรามีกระบวนการจับคู่ที่ดี ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของคนที่จบมาแล้วหางานทำไม่ได้นั้น จบไปได้เลย

แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีความต้องการเกี่ยวกับการเมืองที่อยากให้ประเทศมีนิติรัฐ นิติธรรม และทำให้เขารู้สึกมีความหวัง ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดี คนอายุ 18-22 นี่ผ่านการรัฐประหารมา 2 ครั้ง ผ่านปัญหาเรื่องการจัดการโควิดที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เขาตกงาน คนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่มีงบฯ กระสุน มากกว่างบฯ วัคซีน เพราะฉะนั้น เขาต้องการแก้ไขการเมืองด้วย

เราต้องอย่าไปด้อยค่าคนรุ่นใหม่ว่าแค่ต้องการเศรษฐกิจดี ปากท้องดี เขาต้องการการเมืองดีด้วย เขาเข้าใจมากกว่าคนรุ่นก่อนเขาที่อาบน้ำร้อนมาก่อนว่าจริงๆ เขาอาจจะอยากอาบน้ำอุ่น หรืออาบน้ำเย็นด้วย แล้วเขาก็รู้สึกว่าถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ เขาถึงจะมีอนาคต เรื่องเกี่ยวกับปากท้องถึงจะเกิดขึ้น หรือมีการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น เกี่ยวกับ Content Economy เรื่องเกี่ยวกับซีรีส์วาย เรื่องเกี่ยวกับอีสปอร์ต ซึ่งรู้สึกว่าตรงกับจริตของเขา และเขาก็คิดว่าสามารถเป็นรายได้มหาศาล โดยที่เขาไม่ต้องกลับไปสู่ปัญหาปากท้อง หรือปัญหาเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ของรุ่นพ่อเขา รุ่นแม่เขา รุ่นพี่เขา ผู้ปกครองเขา

สิ่งเหล่านี้ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการเมืองที่พร้อมจะชนกับกระทรวงวัฒนธรรมที่บอกว่าวัฒนธรรมแบบนี้ดีงาม วัฒนธรรมแบบนี้ไม่ดีงาม ไม่ส่งเสริม เขาอาจอยากเป็นพี่น้องสื่อมวลชน เขาอาจอยากทำหนังอินดี้ที่เขาเรียนมา แล้วเขาก็เห็นแบรนด์สุพรรณหงส์ที่เคยบอกเขาว่า หากเขาจะเป็นพี่เจ้ย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนต่อไปได้นี่ เขาต้องฉายหนังทุกโรงทั่วประเทศ แล้วต้องมีคนดูอย่างต่ำ 5 หมื่นคน หรือถ้าเขาไม่อยากเป็นนักบัญชี ไม่อยากเป็นทนายอยู่ในบริษัท เขาอยากจะเป็นนักเขียน แต่ถ้าเจอปัญหานักเขียนอยากผูกขาด ถ้าจะชนะรางวัลซีไรต์ได้ ต้องเขียนตามศีลธรรมอันดี คนที่จะเป็นนักข่าว ต้องโดน พ.ร.บ.สื่อ บอกว่า ต้องรายงานข่าวตามศีลธรรมอันดีเท่านั้น ตัดสินกันโดยกรรมการเพียงคนไม่กี่คน ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคุณ

ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะจบมาแล้วคุณอยากหางานใหม่ หรือคุณจบแล้วคุณตั้งใจทำงานแบบนี้แต่คุณหางานทำไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือการบริหารจัดการในเรื่องทางการเมืองทั้งนั้น และถ้าเขารู้สึกว่าการเมืองมันดีแล้ว ปากท้องประเทศนี้มันดีแล้ว ลดค่าใช้จ่ายให้แล้ว ค่าไฟ เสรีโซลาร์เซลล์ไปแล้ว มีการกระจายอำนาจ ทำให้เขาไม่ต้องทิ้งพ่อทิ้งแม่ ทิ้งบ้านเกิดที่เขารักเข้าไปอยู่ในเมืองหลวง แล้วสามารถทำให้ธุรกิจดีๆ เกิดขึ้น หรือสร้างอุตสาหกรรมดีๆ ขึ้นในจังหวัดที่เขาเกิดแล้ว ผมก็คิดว่าพวกเขาไม่ได้อยากจะย้ายประเทศ

มันทำได้ทันทีหลายเรื่อง แล้วก็มีเรื่องที่ต้องทำต่อไปอีกหลายเรื่อง แล้วก็ต้องใช้คนรุ่นใหม่จำนวนมากช่วยคิดในหลายเรื่อง เรื่องอย่างซีรีส์วายของเราที่ดังไปถึงเม็กซิโก ดังไปถึงญี่ปุ่น ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เขาต้องการความหนักแน่นทางนั้นเหมือนกัน ตามความฝันของชีวิตของเขาด้วย นอกจากเศรษฐกิจจะดีขึ้นในทันที แต่ในใจเขา ในตัวตนของเขาจะกลับมาฟูเต็มที่ คือทำงานอย่างมีความหวัง

แต่ในเวลาเดียวกันก็ใช่ เราต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดค่าคมนาคม ค่าไฟ ทั้งหมดต้องสู้กันไป แล้วก็ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ให้เขาหางานทำได้ในทันที

อยากรู้ว่านิยาม ‘นายกฯ ที่ดี’ ของคุณเป็นอย่างไร

กล้าหาญ ตอบโจทย์ และมีความเป็นสากล

กล้าหาญ ณ บริบทตอนนี้ ไม่ว่าจะเรื่องภายในประเทศก็ดี เรื่องต่างประเทศก็ดี ต้องการคนกล้าหาญมากกว่าคนเก่ง ประเทศไทยคนเก่งเยอะ แต่ไม่กล้าพอ ต้องมีคนที่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่มันผิดมาตลอด การบริหารรัฐไทยแบบกระทรวง ทบวง กรม ที่เกิดขึ้นเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ไม่เหมาะกับการบริหารประเทศ ณ ปัจจุบัน แล้วเขาก็ต้องมีความกล้าพอที่จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าสุดโต่ง ไปไกลเกิน ต้องกล้าพอที่จะตั้งคำถามกลับว่า สิ่งที่เราต้องเจอในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอเมื่อ 130 ปีก่อน แล้วคุณจะยังบริหารแบบ 130 ปีก่อนได้หรือ ดูอย่างโควิดที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ต้องล็อกดาวน์ เศรษฐกิจหายไป 40% แล้วคุณยังไม่คิดจะกระจายออกจาก กทม. ตกลงใครสุดโต่งกันแน่

ตอบโจทย์ โจทย์ของประเทศ ณ ปัจจุบัน ถ้าย้อนไป 40 กว่าปี อาจเป็นเรื่องความมั่นคง สมัย 20 ปีที่แล้วผมเรียนจบมาใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ไปไกลกว่าตอนนั้นเยอะ ตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Digital Disruption เป็นเรื่อง Climate Change เรื่อง Aging Society เรื่องโรคอุบัติใหม่ สังคมสูงวัย ภาวะโลกร้อน ฉะนั้น นายกฯ คนต่อไปต้องเข้าใจและกล้าหาญพอ ตอบโจทย์พอที่จะรีดงบฯ กองทัพ ต้องกล้าปฏิรูปกองทัพให้ทหารเกณฑ์น้อยลง เพื่อที่จะเอางบฯ มาตอบโจทย์ความท้าทายในลักษณะนี้

สากล ต้องมีความเป็นสากลพอ เพราะทุกปัญหาในประเทศไทยที่เจอตอนนี้ ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา คือโลกาภิวัตน์กำลังกินประเทศไทย แต่ประเทศไทยไม่ได้กินโลกาภิวัตน์ ก่อนโควิด เรายังมีโอกาสได้กินโลกาภิวัตน์บ้าง ผ่านการลงทุน ผ่านการท่องเที่ยว หลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยที่แพงขึ้น 2-3 เท่า เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ 7,000 กิโลเมตรจากรัสเซีย-ยูเครน ไฟป่า PM2.5 จะต้องใช้เครื่องกรองอากาศเก้าเครื่องในบ้านตัวเองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการไฟป่าของทุกประเทศในอาเซียน ฉะนั้น การต่างประเทศ เราต้องมองกลับมาข้างใน ไม่ใช่อิงประเทศใดประเทศหนึ่ง

กระทั่งการที่มี ‘จีนเทา’ เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือมีการเข้ามาทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อย่างเรื่องยาเสพติด คอลเซนเตอร์ การค้ามนุษย์ มันมีส่วนประกอบที่มากกว่าการหลอกลวงคนไทย การพนันออนไลน์ที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่เรื่องการทำสิ่งที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย การขายสินค้าทั่วไปที่มาจากต่างประเทศ เสียภาษีบ้าง ไม่เสียภาษีบ้าง มีการสร้างห้างเป็นนิคมจากต่างประเทศ ที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยไม่มีที่ยืนเหลืออยู่เลย อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดเกี่ยวกับความเป็นสากล และทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมาใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป

มันไม่ใช่แค่เขามาลงทุนในประเทศไทย แล้วเราส่งออกไปให้เขา แล้วเขาจ่ายค่าเหงื่อให้เราไม่กี่บาท แต่คือการที่รู้ได้ว่าจุดแข็งของไทยคืออะไร ความต้องการของโลกคืออะไร แล้วเอาจุดแข็งนั้นเข้าไป ขณะเดียวกัน เรารู้ว่าจุดอ่อนของประเทศเราคืออะไร แล้วเอาโลกาภิวัตน์มาเสริม

แต่ทุกวันนี้ พอเรื่องของการเมืองเริ่มต้นโดยมีการรัฐประหาร โลกยอมรับเราไม่กี่ประเทศ เราเลยกลับไปสู่ orbit หรือวงจรของไม่กี่ประเทศ ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกข้างนะ แต่หมายความว่าต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าจุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร โลกต้องการอะไรจากไทย

ยกตัวอย่างเวียดนาม มีปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้ แต่ไม่เคยเข้าข้างอเมริกา ไม่เคยเข้าข้างจีน ยึดหลักสหประชาชาติเป็นตัวตั้งมาตลอด ประเทศไทยไม่รู้ทำอะไรแล้วก็เงียบตลอด เรื่องประเทศใหญ่รุกรานประเทศเล็ก เราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องของเผด็จการรุกรานประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เราไม่อยากจะแบ่งข้างแบบนั้น แต่ถือเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ถ้าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ารุกรานประเทศที่เล็กกว่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ สักวันประเทศใหญ่เขาจะมารุกรานประเทศเรา ถ้าเราไม่พูดแทนเขา แล้วเราบอกว่าไม่โหวต ก็คืองดออกเสียง นั่นก็คือการบอกว่าคุณค่าของเราไปในลักษณะแบบไหน

ถ้าเรารู้ตัวเองและสามารถรวมตัวกับประเทศขนาดกลางให้มั่น แล้วเราบอกได้ว่า สหรัฐฯ ทำแบบนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งไม่มีความจำเป็น ซึ่งวันนี้เรามีทั้งเรื่องโควิด ของแพง ค่าแรงถูก หากเรากล้าที่จะพูด เมื่อจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจอีกฝั่งทำอะไรไม่ถูก เราก็ต้องกล้าที่จะพูด อย่างที่สิงคโปร์ทำ อินโดนีเซียทำ

อย่างที่อินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโกวีบินไปหาทั้งวลาดีมีร์ ปูติน ทั้งโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นนกสองหัว แต่เขาต้องการให้จบตรงนี้ได้ เพราะราคาพืชผลการเกษตรได้รับผลกระทบ แล้วกระทบไปถึงถั่วเหลืองของประเทศเขา ถ้าเขาคิดถึงเกษตรกรของอินโดนีเซียเป็นหลัก เขาต้องทำการทูตเชิงรุกมาทำให้ระเบียบโลกเป็นไปตามนั้น ถ้าระเบียบโลกมันไร้ระเบียบแบบนี้ ต่อไป คนที่เสียประโยชน์มากสุดคือประเทศขนาดเล็กๆ และประเทศขนาดกลางๆ อย่างประเทศไทย

ท้ายสุด หากเทียบเคียงการเมืองไทยกับสงครามอวกาศอย่าง Star Wars คุณคิดว่าคุณเป็นตัวละครใดในเรื่องนี้

Star Wars ก็ไม่ได้ดูนานแล้ว ตั้งแต่เด็กๆ (ยิ้ม) แต่ปกติผมก็ชอบดูหนังนะ ดูซีรีส์เยอะพอสมควร ด้วยความที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่เด็กๆ ก็จะดูได้หลายเรื่องทั้งหนังเก่าหนังใหม่ House of Cards, Designated Survivor, Chief of Staff, Ides of March, All the King’s Men, Spin Doctor หลายเรื่องก็จะชอบ

แต่ที่ดูแล้วรู้สึกใกล้ชิดกับตัวเองมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่อง Designated Survivor อยู่ในเน็ตฟลิกซ์ มีทั้งเวอร์ชันของอเมริกา และเกาหลีซื้อลิขสิทธิ์มาทำ

ต้องเล่าให้ฟังนิดหน่อยคือ เวลาประชุมคองเกรสที่อเมริกา ก็คือต้องกันตัวรัฐมนตรีไว้คนหนึ่ง เผื่อมีระเบิด เข้าใจว่าสมัยก่อนมีสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เลยต้องมีการกันตัวรัฐมนตรีคนหนึ่งไว้เผื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น ต้องมีคนหนึ่งเป็นผู้นำต่อไป คนนั้นก็เลยกลายเป็นผู้นำตกกะไดพลอยโจน

ในซีรีส์นี้ ก็จะมีตัวละครตัวหนึ่งที่เตรียมตัวมาเป็นนักการเมือง มีใจรักประชาชน แต่ไม่ถึงกับเตรียมตัวมาเป็นผู้นำของประเทศนั้น เขาต้องสู้กับคำปรามาส อุบัติเหตุทางการเมืองต่างๆ รวมถึงความเป็นปุถุชนคนธรรมดาของนักการเมือง ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองวีไอพี เขาต้องดูแลครอบครัว ต้องดูแลปัญหา เรื่องลูก ซึ่งก็ต้องสู้ทั้งในมุมของนักการเมือง และสู้ในมุมความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

ผมคิดว่าคล้ายกับสิ่งที่ผมทำมา ผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารอนาคตใหม่ การที่ทุกคนโดนบอมบ์โดยนิติสงคราม แล้วก็มีไม่กี่คนเหลืออยู่ ไม่มีใครที่เขาพร้อมจะรับเท่าผม มองซ้ายมองขวา ก็โอเค ก็ต้องเป็นเราที่จะต้องยอมรับให้ได้ ซึ่งผมคาดหวังไว้แล้วว่าจะต้องมีการเปรียบเทียบ จะต้องมีการปรามาส และต้องมีคนรู้สึกว่าดีไม่พอ พอคิดล่วงหน้าไว้แล้ว ผมคิดว่าคำพูดของแต่ละคนทำอะไรผมไม่ได้ คือผมเข้าใจความรู้สึกคน แต่มันไม่ได้ทำให้ผมดรอป มันทำให้ผมผลักดันตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ตอนผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมรู้ว่างานต้องหนัก แต่รู้ว่าในใจผมก็ผ่านเรื่องหนักๆ ในชีวิตมามากพอสมควร วันนี้ อาจยังทำไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่า แล้วค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ มีเวลาไต่ระดับ 3 ปีให้รู้สึกว่าเราสามารถคุมสถานการณ์อยู่ และสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คนหวังได้ เชื่อได้จริงๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องส่วนตัว ผมก็เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ตอนนั้นลูกสองขวบ ตอนจะอภิปรายเรื่องกระดุม 5 เม็ด ผมก็เขียนไปด้วย อุ้มลูกไปด้วย เสมหะลงในท้อง ลูกอ้วก (หัวเราะ) ก็เช็ดอ้วกลูกแล้วก็นั่งเขียนต่อ ผมจึงรู้สึกว่า นักการเมืองมันก็คนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมีวิธีบริหารจุดอ่อนของเรา ขณะที่มีเวลาน้อย เราก็อยากที่จะเสียสละทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ แต่ความเป็นพ่อคนก็ยังอยู่ 

Designated Survivor จึงคล้ายๆ กับผม

Fact Box

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ‘เป็นลูกชายคนโตของ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหลานของ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการส่วนตัวของ ทักษิณ ชินวัตร เขาเข้าสู่แวดวงการเมืองตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ 2 โดยเป็นข้าราชการในทีมงานของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.พาณิชย์)
  • พิธาใช้ชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งแต่เด็ก ก่อนจะกลับมาเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจการเงินการธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ และต่อปริญญาโทอีก 2 ใบ ในสาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสาขาบริหารธุรกิจที่ Massachusetts Institute of Technology (M.I.T)
  • ในการให้สัมภาษณ์กับ The Momentum เมื่อ 4 ปีก่อน ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ พิธาระบุว่า เขามีความใฝ่ฝันส่วนตัวในการเปลี่ยนแวดวงการเกษตรไทย และตั้งมั่นในการทำงานเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม เขาต้องกลายมาทำเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เมื่อต้องรับบทหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และทำให้กรรมการบริหารพรรคแถวหน้าอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทันที 10 ปีจากกรณีพรรคอนาคตใหม่ ‘กู้เงิน’ ธนาธร
  • Iron Maiden และ Metallica คือสองวงดนตรีสุดโปรดของพิธา ที่เขามักเปิดคลอระหว่างทำงานเสมอ แต่ขณะที่เขาให้ช่างภาพ The Momentum บันทึกภาพนิ่งในครั้งนี้ เขาเลือกเพลงแจ๊ซจากทรัมเป็ตของ Chet Baker เป็นดนตรีประกอบ
Tags: , , , ,