“ผมอยากชวนคุยแบบนี้ดีกว่า ไหนลองช่วยตอบสัก 3 ข้อ อะไรที่พรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 3 ข้อที่คุณคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดี แล้วต้องอธิบายด้วยนะว่าไม่ดีแบบไหน เพราะมันง่ายมากที่เราจะบอกว่า พรรคนั้น พรรคนี้ คนนั้น คนนี้ กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ไม่ดี แต่เราไม่เคยได้รับคำอธิบายเลยว่า เขาไปทำอะไรให้คุณรู้สึกแบบนั้น แล้วอีกอย่าง ผมมองว่าเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมของการเมืองยุคเก่าว่าอันนี้ดี อันนู้นไม่ดี แต่ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มาพิสูจน์กันที่ผลงานกันดีกว่า”

หนึ่งคำตอบของ เมธี อรุณ สะท้อนถึงตัวตนและความศรัทธาของเขาต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างชัดเจน จากนักร้องนำวงขวัญใจมหาชนอย่าง ‘ลาบานูน’ ที่วันนี้ขอเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะรองโฆษกและผู้มัคร ส.ส.นราธิวาส ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เขาเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า พรรคการเมืองเก่าแก่ของไทยจะทำให้เขาพัฒนาและแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ 

“สำหรับผม อย่างแรกเลยที่อยากจะเห็น คือระบบการศึกษา เพราะไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ พื้นฐานทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากการศึกษา ดังนั้น มันต้องปรับปรุงและพัฒนาเรื่องนี้ ผมเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าในสังคมไหนก็แล้วแต่ จะก้าวไปได้ไกล การศึกษาเขาต้องดี

“มันคือใบเบิกทางชีวิตจริงๆ นะ ผมยังคิดไม่ออกเลย ถ้าย้อนกลับไปผมไม่ได้เรียนหนังสือ ทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร จะมีวงชื่อลาบานูนหรือเปล่า จะมีโอกาสได้เจอผู้คน เจอประสบการณ์แบบนี้ไหม ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ไม่รู้อนาคตตัวเอง ถ้ามีโอกาสผมก็อยากมาแก้ไขปัญหาตรงนี้”

The Momentum พูดคุยกับ เมธี อรุณ ถึงการตัดสินใจครั้งใหม่ในชีวิตสู่เส้นทางการเมือง เจาะลึกถึงเป้าหมาย ความตั้งใจ และมุมมองต่อความขัดแย้งต่างๆ ของสังคม ว่าศิลปินแบบเขาจะเสนอทางออกให้กับประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

เมธี อรุณจากบทบาทศิลปินสู่นักการเมือง เส้นทางนี้ของคุณเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

มันเริ่มต้นขึ้นเพราะผมมีความเชื่อว่าการเมืองดี สังคมจะดี ผมเชื่ออย่างนั้น แล้วก็เชื่อว่าถ้าบ้านเมืองได้คนที่มีสัจจะ มีความซื่อสัตย์ มาเป็นตัวแทนอยู่ในบริบทการเมือง ประเทศนี้จะไปไกลได้

อีกอย่างคือพอเราเริ่มมีความคิดอยากจะพัฒนาจังหวัดนราธิวาส บ้านเกิดตัวเอง ก็เลยคิดเรื่องนี้จริงจังมากขึ้น ตอนนี้อายุก็ 40 กว่าปีแล้ว ได้ทำสิ่งที่อยากทำมาก็เยอะแล้ว เลยคิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่ดีมากเลย ถ้าเราได้ทำในสิ่งเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อบ้านเกิดตัวเอง แล้วก็เพื่อลูกๆ ของพวกเราในวันข้างหน้าด้วย 

สมมติวันนี้เด็กๆ อายุ 15-16 ปี อีก 20 ปีข้างหน้าเขาก็จะอายุ 30 กว่า คำถามคือเราอยากเห็นเขาอยู่ในสังคมแบบไหน อยากเห็นเขาอยู่ในบริบทแบบไหน ดังนั้น เราต้องเริ่มผลักดันและพัฒนาประเทศกันได้แล้ว ผมก็เลยตัดสินใจมาลงเล่นการเมือง

เรียกว่าเริ่มมองเห็นปัญหาของสังคมมาตั้งแต่เป็นศิลปิน

 อันนี้มองแบบแฟร์ๆ นะ ผมว่าทุกประเทศมีปัญหาหมด การเมืองมันไม่เคยทำให้ประเทศสงบสุขได้ทุกเรื่อง มันมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เรามองว่าการเมืองที่ดีสามารถช่วยแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้

ประเทศเรามีปัญหา ประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีปัญหา  แต่คำถามคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขอย่างมีระบบให้มันพัฒนาไปข้างหน้าแบบบางประเทศ เคยสงสัยไหมครับ ทำไมประเทศนั้น ประเทศนี้ เขาพัฒนาจังเลย ทั้งๆ ที่ 20 ปีก่อนเขาแทบไม่ได้แตกต่างอะไรจากเรา แต่ปัจจุบันมันแตกต่างเหลือเกิน ซึ่งผมก็อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้นบ้าง มันเลยต้องมาคุยกันต่อว่าจะเริ่มอย่างไร เริ่มจากจุดไหน

สำหรับผม อย่างแรกเลยที่อยากจะเห็น คือระบบการศึกษา เพราะไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ พื้นฐานทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากการศึกษา ดังนั้น มันต้องปรับปรุงและพัฒนาเรื่องนี้ ผมเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าในสังคมไหนก็แล้วแต่ จะก้าวไปได้ไกล การศึกษาเขาต้องดี 

ประเทศไทยเราทุกวันนี้ ค่าเฉลี่ย 100 คนมีคนจบปริญญาตรีถึงสัก 20 คนไหม เทียบกับประเทศมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็ตาม เขามีสัดส่วนตรงนี้ที่สูงกว่าเรา ดังนั้น มันต้องเริ่มลงมือทำกันได้แล้ว เรื่องการศึกษา

สรุปว่าเป้าหมายทางการเมืองของนักการเมืองที่ชื่อเมธี คือ ‘เรื่องการศึกษา’ 

ใช่ มันคือใบเบิกทางชีวิตจริงๆ นะ ผมยังคิดไม่ออกเลย ถ้าย้อนกลับไปผมไม่ได้เรียนหนังสือ ทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร จะมีวงชื่อลาบานูนหรือเปล่า จะมีโอกาสได้เจอผู้คน เจอประสบการณ์แบบนี้ไหม ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ไม่รู้อนาคตตัวเอง ถ้ามีโอกาสผมก็อยากมาแก้ไขปัญหาตรงนี้

ปัญหาของการศึกษาประเทศไทยในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

ตอนนี้บางคนพอเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เขาไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพรองรับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาของประเทศไทยยังไม่ทันต่อโลกจริงๆ ว่าโลกมันไปไกลถึงไหนแล้ว

เราปลูกฝังให้ลูกเป็นตำรวจ ให้ลูกเป็นทหาร ให้ลูกเป็นหมอ มันไม่ได้ผิดนะ แต่เราต้องเข้าใจบริบทของโลกว่ากำลังไปทางไหน วิธีทำมาหาเงินมันมีหลายมิติมากขึ้นแล้วทุกวันนี้ 

เดี๋ยวนี้แค่เป็นยูทูเบอร์ก็สามารถร่ำรวยได้ มีค่าโฆษณา ค่ายอดวิวมหาศาล ซึ่งประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างงาน สร้างอาชีพอื่นๆ เช่นนี้เลย ดังนั้น มันต้องปรับ ต้องมีระบบที่รองรับกับเด็กที่เขาสนใจและอยากศึกษาเรื่องพวกนี้

ถ้าหันไปดูประเทศอื่นๆ เขาเตรียมตัวกันตั้งแต่เด็กยังอยู่ในโรงเรียน เขาสร้างเส้นทางอาชีพให้เด็กตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้เคว้งหลังเรียนจบ อธิบายคือหากเด็กอยากเป็นวิศวกร บริษัทที่ต้องการคนทำงานตรงนี้ เขาก็จะไปจองตัวเด็กกันตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยเลย ให้เด็กเห็นว่าเรียนจบแล้วพวกเขารออยู่นะ มีที่มีทางให้ทำมาหากินต่อ ประเทศไทยต้องทำให้เป็นแบบนั้นให้ได้ในทุกสาขาอาชีพ

ดังนั้น เราเริ่มคิดแล้วว่า วินาทีนี้เด็กเจเนอเรชันต่อไปเราอยากให้เขาไปทางไหน จะเอาอะไรเป็นตัวตั้ง เราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมไหม เราจะเป็นประเทศเกษตรกรรมไหม หรือว่าเราจะเป็นประเทศแบบส่งเสริมการท่องเที่ยวไหม 

ถ้าเราตัดสินใจกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่นจะส่งเสริมการท่องเที่ยวกัน นั่นหมายถึงว่ามันต้องเริ่มปรับโครงสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร ภาคบริการ การจัดการโรงแรม มันต้องปลูกฝังในหลักสูตรนะ มีมหาวิทยาลัย มีสถาบันที่ดีรองรับ ให้เด็กรู้สึกว่าน่าเรียน ต้องมีบริษัทที่จองตัวเด็ก พร้อมรับเด็กเข้าไปทำงานต่อหลังเรียนจบ คือถ้าวางเป้าหมายกันเสร็จแล้ว เรื่องพวกนี้มันต้องเกิดขึ้นตามมา

ทำไมการลงสนามการเมืองครั้งนี้ คุณถึงเลือกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

อันดับแรกคือ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคนี้ไม่มีเจ้าของแน่นอน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพนำเสนอความคิดเห็นได้หมด ต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน  

อีกอย่างคือผมรู้สึกว่า ประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในช่วงถ่ายเลือดใหม่ กำลังปรับรื้อระบบ ถ้าใครเรียนภาคบริหารจะรู้ว่าเรื่องแบบนี้ทำได้ยากนะ โห ต้องปรับตัวให้ทันโลก ให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประชาธิปัตย์กำลังทำอยู่ แม้ว่า  77 ปีที่ผ่านมาเขาได้สร้างวัฒนธรรมบางอย่างที่ฝังลึกเอาไว้เป็นอย่างมากก็ตาม แต่เพื่อเจตนารมณ์ที่เปลี่ยนไปของประชาชน เขาก็ต้องปรับตัว เราก็เลยตัดสินใจมาร่วมกับพรรคนี้ เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สานต่อการเมืองกับประชาชนไปพร้อมกับพรรคประชาธิปัตย์

มุมมองของคุณต่อ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นอย่างไร

เท่าที่ผมได้สัมผัส หัวหน้าจุรินทร์เป็นคนเก่งนะ พูดน้อยทำเยอะ เสมือนว่าเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่งมาก แต่อาจจะไม่ใช่เป็นคนที่พูดเยอะ เน้นทำอย่างเดียว

ผมเชื่อมั่นว่าหัวหน้าจุรินทร์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และจะทำหน้าที่นี้ได้ดี คือมองในเรื่องของประสบการณ์ด้านการเมือง ท่านทำงานมาแล้วถึง 37 ปี ไม่ธรรมดานะครับ ไหนจะเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ผมว่าท่านสอบเรื่องนี้ผ่านฉลุย

มีเหตุการณ์หนึ่งผมประทับใจตัวท่านมาก จำได้ว่าวันนั้นหัวหน้าจุรินท์จะไปสุไหงโก-ลก จะมาปราศรัยเกี่ยวกับประกันรายได้ ท่านก็โทรมาปรึกษาผม ผมก็บอกไปว่า เรื่องประกันรายได้คนสุไหงโก-ลก เกษตรกรจะไม่ได้มีมากมายเท่าไร เพราะเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจอย่างชายแดนระหว่างประเทศมีกำแพงปิดอยู่ ไม่มีการซื้อขายระหว่างคนไทยกับมาเลเซียในพื้นที่นั้น 

จำได้ว่าพอท่านไปลงพื้นที่ ท่านสั่งทุบกำแพงตรงนั้นทิ้งเลยครับ ให้คนมาเลเซียเข้ามาในประเทศได้สะดวกขึ้น มันเป็นตัวอย่างว่าท่านเป็นคนทำจริง และเห็นผลจริง ซึ่งผมเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า หัวหน้าจุรินท์จะนำพาประเทศนี้ให้ก้าวหน้าได้

ครั้งหนึ่งคุณเคยบอกว่าประชาธิปัตย์ตอบโจทย์ในทุกปัญหา ถึงขนาดนั้นเลยหรือ ทำไมจึงคิดเช่นนั้น 

เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าพูดว่าหาทางออกทุกปัญหาในประเทศไทยนี่ก็จะนามธรรมเกิน แต่ที่บอกตอบโจทย์ หมายถึงทุกเรื่องที่ประชาธิปัตย์บอกว่าจะทำ จะแก้ไข เขาสามารถทำได้จริง

คุณอาจจะไม่ได้สังเกต แต่ถ้าเราดูดีๆ หลายสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นรากฐานของประเทศไทย มันมีจุดเริ่มต้นมาจากประชาธิปัตย์หมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย นี่คือของประชาธิปัตย์นะครับ ในสมัยของนายกฯ ชวน หลีกภัย เอาง่ายๆ ถ้าไม่มีนโยบายนี้ ผมจะมีโอกาสได้เติบโตกลายเป็น เมธี ลาบานูน หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ที่สำคัญคือเรื่อง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่นกัน หลายคนรอบตัวผม มีทุกวันนี้ก็เพราะนโยบายนี้ของนายหัวชวน หรือกระทั่งเบี้ยชรา สวัสดิการคนชรา ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์หมด คุณจะเอาอะไรอีกล่ะครับ 

ในสมัยที่หัวหน้าจุรินทร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือแม้แต่นมสำหรับเด็กในโรงเรียนที่ทุกวันนี้ยังกินกันอยู่ ก็มาจากนโยบายของประชาธิปัตย์

ส่วนหนึ่งเราก็เชื่อมั่นว่าพรรคนี้เป็นรากฐานของการแก้ปัญหาประเทศเลยตัดสินใจเข้าร่วม แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้หวังว่าจะกินของเก่าไปตลอด ด้วยยุคสมัยที่มันเปลี่ยนแปลง ประชาธิปัตย์ก็ต้องปรับให้ไวเหมือนกัน จะเอาแบบเดิมไม่ได้ ดังนั้น หากจะเริ่มวางรากฐานอะไรใหม่ๆ อีกครั้ง ผมขอเลือกมาทำกับพรรคประชาธิปัตย์ดีกว่า

พรรคล้าหลัง ปรับตัวไม่ทัน เอนเอียงไปฝั่งอนุรักษนิยม ฯลฯ เหล่านี้คือข้อครหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่เรียกว่าเหมือน ‘ขาลง’ มันไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมพรรคของคุณเลยใช่ไหม

มันก็มีความเห็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าหลายคนตั้งคำถามต่อพรรคที่อยู่มาอย่างยาวนานอย่างประชาธิปัตย์ ว่าจะปรับตัวทันไหม มี Agenda ทางการเมืองไปทางใด

แต่ผมอยากชวนคุยแบบนี้ดีกว่า ไหนลองช่วยตอบสัก 3 ข้อ อะไรที่พรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 3 ข้อที่คุณคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดี แล้วต้องอธิบายด้วยนะว่าไม่ดีแบบไหน เพราะมันง่ายมากที่เราจะบอกว่า พรรคนั้น พรรคนี้ คนนั้น คนนี้ กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ไม่ดี แต่เราไม่เคยได้รับคำอธิบายเลยว่าเขาไปทำอะไรให้คุณรู้สึกแบบนั้น แล้วอีกอย่างผมมองว่าเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมของการเมืองยุคเก่าว่าอันนี้ดี อันนู้นไม่ดี แต่ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มาพิสูจน์กันที่ผลงานกันดีกว่า

ดังนั้น หากคุณจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดีไปเสียหมด ผมว่าไม่ใช่ หากลองมองกว้างๆ และศึกษาจริงๆ  ก็จะเห็นว่าเราเป็นคนริเริ่มทำอะไรหลายสิ่ง การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างตั้งเยอะแยะ อย่างที่ตอบไปก่อนหน้านี้ เพียงแต่สื่อหรือภาพจำตรงนี้อาจไม่ปรากฏในที่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบเท่าที่ควร 

ส่วนแฟนคลับลาบานูนที่เป็นคนรุ่นใหม่ แล้วเขาอาจรู้สึกผิดหวังที่เรามาลงสมัครกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเขาเป็นแฟนคลับที่เชื่อใจจริงๆ เขาจะรู้การตัดสินใจของผมว่า 24 ปีที่เป็นนักร้องวงลาบานูน เราแทบจะไม่ทำอะไรเสียหายเลย พยายามประพฤติตัวให้เหมาะสมมาโดยตลอด เพราะผมรู้ว่าชื่อเสียงมีได้ มันก็ดับได้ ดังนั้น การเป็นคนมีคุณภาพทำตัวอยู่ในร่องในรอย รักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นสิ่งที่เรายึดมั่นอยู่เสมอ การตัดสินใจครั้งนี้ก็ขอให้แฟนคลับเชื่อและไว้วางใจเถอะว่า ผมคิดมาดีแล้วจริงๆ 

คือถ้าใครมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดีอย่างไร ก็อยากให้มาลองคุยกันดู มาอธิบายให้ฟังว่าไม่ดีอย่างไร เราจะได้เข้าใจความคิดของเขา ตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้น มีแต่คนมาบอกว่าไม่ดีๆ มันเหมือนกับว่าเราอยู่ครอบครัวนี้แล้วจู่ๆ มีคนมาบอกว่า พ่อมึงแม่งไม่ดี เราก็อยากรู้ว่าพ่อเราไม่ดียังไงวะ

เรื่องแบบนี้มาคุยกันได้  การเมืองเป็นเรื่องการถก การเมืองเป็นเรื่องการเสนอไอเดียกัน นี่คือเสน่ห์ของการเมืองที่เป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ การเมืองเป็นเรื่องของสิทธิในการนำเสนอ ที่แต่ละความคิดเห็นมีความเสมอภาคกัน คุณจะชอบจะไม่ชอบเรื่องอะไร เราก็คุยกันได้ 

บทบาทของคุณในฐานะรองโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัคร ส.ส.เป็นอย่างไรบ้าง

ผมมองบทบาทตรงนี้เป็นช่องทางการแก้ปัญหาด้านการศึกษา ผมอยากลุยเรื่องนี้จริงๆ อันนี้เป็นสิ่งที่มองว่าจะเป็นภารกิจสำคัญในฐานะ ส.ส.

อีกเรื่องที่อยากทำคือ การท่องเที่ยว อยากนำเสนออัตลักษณ์ อยากนำเสนออาหารพื้นบ้าน วัฒนธรรมต่างๆ คือนราธิวาส ยะลา ปัตตานี เป็นจังหวัดที่ไม่เหมือนใครนะ เขามีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง เขามีภาษา มีอาหาร มีการแต่งกาย  ซึ่งใหญ่มาก ใหญ่กว่าประเทศไทยอีก เพราะอะไร เพราะภาษามลายู ประเทศอินโดนีเซียเขาก็พูดได้ มาเลเซียก็พูดได้ สิงคโปร์เขาก็พูด บรูไนเขาก็พูด เอาแค่อินโดนีเซียก็ประชากร 240 ล้านคนแล้ว ดังนั้นตรงนี้ยังเป็นอีกขุมทรัพย์หนึ่งทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเลยว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการพัฒนา 3 จังหวัด และพื้นที่ในภาคใต้ได้

ส่วนบทบาทรองโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ต้องดูแลภาพรวมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 77 จังหวัด ว่าจะทำอย่างไร ให้คนเขารู้จักประชาธิปัตย์มากกว่านี้ ให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักกับวิธีคิด ทัศนคติ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดได้

ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันทุกวันนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่อีกเรื่องของสังคม ในฐานะที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่มาตลอด คุณมองปัญหานี้อย่างไร

ต้องบอกว่าสิ่งแรกที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำการเมือง คือเราอยากเห็นการเมืองที่สร้างสรรค์

ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่รวมไปถึงคนรุ่นเก่าเองก็ตามมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เรื่องของความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม แล้วก็แบ่งฝ่ายทะเลาะกันเอง ทั้งที่สุดท้ายผมยังเชื่อและอยากให้ทุกคนเชื่อด้วยเช่นกันว่า อำนาจแท้จริงอยู่ที่ประชาชน

การที่ทะเลาะกันอยู่ก็เพื่ออะไรไม่รู้ ขัดแย้งกันไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร ประเทศชาติพัฒนาตรงไหน คือทุกคนมีสิทธิที่จะไม่เห็นตรงกันได้ แต่สุดท้ายปลายทางมันก็คือผลประโยชน์ของเรา มาหาวิธีคุยกันดีกว่าไหม 

ผมจำได้เลยตอนที่ตัวเองเปิดตัวแรกๆ มีแต่คนด่า เหมือนเราไปทำอะไรผิดมา ลูกผมมานั่งอ่านคอมเมนต์มาถามผม ‘พ่อ ทำไมเขาด่าพ่อ’ ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรเหมือนกัน อย่าให้การเมืองและความขัดแย้งมันอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ขนาดนั้นเลยครับ

ในฐานะศิลปิน คุณมีแนวทางด้านการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์หรือศิลปะในประเทศอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ คือภาครัฐต้องช่วยเหลือ ให้หาที่รองรับความต้องการของคนที่อยากมุ่งไปทางศิลปะจริงๆ ให้ได้

ถ้าเด็กสนใจศิลปะด้านไหน ประเทศไทยต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่พร้อมพัฒนาความสามารถด้านนั้นของเขา เด็กอยากเต้น เด็กอยากร้องเพลง เด็กอยากวาดรูป เขาต้องรู้ว่าจะเดินไปหาใคร เดินไปที่ไหน ถึงจะได้ทำสิ่งนั้น 

อย่างประเทศไทยทุกวันนี้ เรามีศูนย์กีฬาอยู่ทุกจังหวัด ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากนะ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีอะไรอย่างอื่นทำมากกว่าแค่เล่นฟุตบอลแบบที่เป็นอยู่ มีจุดวาดงานศิลปะ มีลานแอโรบิก อะไรแบบนี้ทำได้ไหม

ที่สำคัญคือต้องเพิ่มบุคลากรเข้าไป จ้างคนมีความรู้ ความสามารถ กระจายลงไปในชุมชน ให้เด็กเขารู้ว่าต้องไปหาใครหากสนใจเรื่องนั้น เรื่องนี้ ทำเป็นระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มันจะได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น 

มันไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรมากมายเลยนะ สมมติเรามี 77 จังหวัด แล้วเรามีงบประมาณให้จังหวัดละ 2 ล้านบาท เราก็ใช้งบฯ แค่ 150 กว่าล้านเอง ซึ่งในอนาคตซอฟต์พาวเวอร์พวกนี้มันอาจคืนกำไรให้ในระดับร้อยล้าน พันล้านเลยก็ได้ ถ้าบ้านเมืองรุ่มรวยวัฒนธรรมมากพอ

จากบทบาทศิลปินสู่นักการเมืองในวันนี้ ปรับตัวยากไหม

ยากครับ ยากมาก คือเราต้องเข้าใจประชาชนแบบสุดหัวใจ ต้องเข้าใจเหมือนเราอยู่เคียงข้างเขาจริงๆ เมื่อก่อนเราเป็นศิลปินเราอยู่กับประชาชนผ่านบทเพลง เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพลงเราทำหน้าที่ได้แค่ปลอบใจ อยู่เป็นเพื่อนเท่านั้น แต่ในวันนี้ที่ทำงานการเมืองมันไม่ใช่แล้ว เราต้องแก้ปัญหาให้เขา นำเสนอทางออกที่ดีกว่าให้ ตรงนี้แหละคือบทบาทที่ท้าทาย

มันยากจริงนะๆ งานการเมือง แต่ขณะเดียวกันผมก็โคตรมีความสุขจริงๆ 

ผมรู้สึกว่าตั้งแต่ได้มาสัมผัสการเมือง ผมรู้สึกมีความสุข มีคุณค่า ทุกวันนี้เดินไปกินน้ำชา ไปฟังปัญหา ได้เห็นคนที่เรารู้จักเขาฝากความหวังไว้กับตัวเรา มันก็หนักหนาพอควร แต่ถ้าทำได้ ผมว่ามันคือความสำเร็จของตัวเราที่อะไรก็มาเทียบไม่ได้เลย ซึ่งการเป็นลาบานูนคงไม่ได้มีโอกาสแบบนี้แน่ อย่างมากก็ได้แค่ให้แรงบันดาลใจ แต่นี่เราให้ทางออก เราให้ชีวิตใหม่กับเขาเลย

หลังจากนี้ เส้นทางในฐานะนักร้องวงลาบานูนของคุณจะแตกต่างไปจากเดิมไหม

เดี๋ยวค่อยว่ากัน ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่ก็มีเรื่องเล่าเยอะไปหมดเลย คิดว่าถ้าวันหนึ่งได้ทำอัลบั้มก็จะเป็นเรื่องราวที่ได้พบเจอในช่วงนี้ 

แต่ถ้าใครคิดถึงลาบานูน ตอนนี้ผมได้ทำเพลงร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ชื่อว่า ‘เช้าวันใหม่’ เป็นแคมเปญหาเสียงที่จะตอบคำถามว่า ทำไมมาอยู่ประชาธิปัตย์ โดยเช้าวันใหม่ที่พูดถึงในเพลง คือเช้าวันใหม่ของประเทศไทย ที่จะเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา และเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน เป็นบทสรุปของประชาธิปัตย์ในเจเนอเรชันข้างหน้า ลองฟังกันดูครับ

Fact Box

  • เมธี อรุณ เติบโตในจังหวัดนราธิวาส จบการศึกษาจากโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม ก่อนจะได้รับทุนศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายที่อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ระดับปริญญาโทในหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อมาร่วมวงทำดนตรีกับ อนันต์ สะมัน และณัฐนนท์ ศรีศรานนท์ โดยใช้ชื่อว่า ‘ลาบานูน’ ซึ่งมีผลงานชื่อดังมากมายทั้ง คนตัวดำ, ยาม, เชือกวิเศษ และแพ้ทาง
  • เมธีเคยเป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล อีกทั้งยังเคยเป็นอาจารย์สอนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นเวลา 4 ปี 

 

Tags: , , , ,