ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้จะมีอยู่เพียง 11 ประเทศ แต่ก็มีระบอบการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ เผด็จการ จนถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความน่าทึ่งของบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ คือการที่ประเทศต่างๆ สามารถรวมตัวกันได้แม้จะมีความแตกต่างในระบอบการเมืองการปกครอง

ในงานเสวนา “ชนชั้นนำและแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: องค์ประกอบ โครงสร้าง และพลวัตในยุคเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 มีการนำเสนอเรื่องราวของชนชั้นนำของประเทศมาเลเซีย พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งทำให้เห็นลักษณะร่วมบางอย่างของชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเลเซีย: ผลการเลือกตั้งลดการผูกขาดของพรรคอัมโน เปิดเวทีต่อรองในหมู่ชนชั้นนำ

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียเมื่อ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นชัยชนะของแนวร่วมฝ่ายค้าน ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ (Pakatan Harapan – PH) หรือ แนวร่วมแห่งความหวัง ที่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี

ผลการเลือกตั้งทำให้เกิดชนชั้นนำใหม่ ซึ่งจะร่วมกำหนดอนาคตทางการเมืองและเศรษฐกิจของมาเลเซีย หลังจาก 61 ปีนับแต่ได้รับเอกราช การเมืองมาเลเซียตกอยู่ภายใต้การนำของพรรคอัมโนตลอดเวลา

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง สื่อมวลชนซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเมืองมาเลเซียกล่าวว่า ถ้าอยากจะเข้าใจประเทศมาเลเซียระยะเวลา 61 ปีที่ผ่านมา ต้องเข้าใจสองเรื่องใหญ่ที่กำหนดบริบทเศรษฐกิจการเมือง คือ การเมืองแบบเชื้อชาตินิยม (racial politics) และ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพวกพ้อง (crony capitalism) ที่วางอยู่บนพื้นฐานเชื้อชาตินิยม

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาวมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามคือคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีมากกว่า 60% และเป็นกลุ่มสำคัญที่จะกำหนดว่าใครจะมีอำนาจทางการเมือง ดังนั้นผู้ปกครองทั้งหลาย นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมของอังกฤษ จึงให้สิทธิพิเศษในฐานะผู้ที่มาอยู่ก่อนหรือเป็น ‘ภูมิบุตร’ หรือบุตรแห่งแผ่นดิน ส่วนชาวมาเลย์เชื้อสายจีน และชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ถูกมองเป็นเพียงแรงงานที่อังกฤษนำเข้ามาทำเหมืองและกรีดยาง ไม่ใช่บุตรแห่งแผ่นดิน

การชุมนุมด้านเชื้อชาติในปี 1969 ที่คนจีนถูกฆ่าในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าเป็นเวลา 2 ปี ช่วงเวลาดังกล่าว มีการออกนโยบายเศรษฐกิจใหม่เพื่อให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มภูมิบุตร เช่น ลดราคาซื้อบ้าน 7% หรือมีโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยรัฐสำหรับภูมิบุตร พรรคอัมโนอ้างว่านโยบายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อลดช่องว่างทางสังคม แต่อีกด้านหนึ่ง นโยบายทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็มุ่งผลประโยชน์ให้พวกพ้องหรือเครือข่ายธุรกิจที่เป็นของกลุ่มภูมิบุตร อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายที่แน่นหนามากขึ้นให้กับพรรคอัมโน ทำให้นักการเมืองระดับนำของพรรคอัมโนต่างก็มีเครือข่ายทางธุรกิจของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า เป็นนโยบายที่ให้ผลทางอ้อมในฐานะที่เป็นเครื่องมือรักษาฐานเสียงของพรรคด้วย

ระบบทุนนิยมพวกพ้องเดินหน้าไปพร้อมกับการเมืองในมาเลเซีย พรรคอัมโนใช้ระบบนี้จัดวางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เข้ากับพวกพ้องตัวเอง กลางทศวรรษที่ 1980 พรรคอัมโนในยุคของมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการแปรรูปไปอยู่ในมือนักธุรกิจชาวมลายู ซึ่งเป็นการสร้างมหาเศรษฐีใหม่ชาวมลายู ในยุคนี้ มาเลเซียมีบริษัทใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และสร้างกลุ่มนักธุรกิจซึ่งเป็นชนชั้นนำมลายูกลุ่มใหม่ๆ ความร่ำรวยของนักธุรกิจหน้าใหม่ก็เอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่นักการเมืองพรรคอัมโน ปรางค์ทิพย์ กล่าวว่า “การแปรรูปนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจของพรรคอัมโนจนทำให้ไม่ใครสามารถท้าทายได้”

นอกจากนี้ ในมาเลเซีย รัฐบาลสามารถเป็นเจ้าของบริษัทและสามารถถือหุ้นในบริษัทเอกชนได้ กรณีของบริษัท 1MDB ซึ่งมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ก็บริหารโดยกระทรวงการคลัง มีข้อมูลว่า กระทรวงการคลังของมาเลเซียควบคุมบริษัทต่างๆ ในตลาดหุ้นประมาณ 68,000 บริษัท ขณะที่สื่อมวลชนทั้งหมด รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นเจ้าของ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนหน้านี้สื่อไม่วิจารณ์รัฐบาลพรรคอัมโน

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมพวกพ้องเป็นลักษณะเด่นของการเมืองมาเลเซีย แต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพวกพ้องก็เป็นลักษณะทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

“แต่ของมาเลเซียมีความพิเศษกว่าคือการเอาเรื่องเชื้อชาติมาผสมปนเปด้วย” ปรางค์ทิพย์ กล่าว

การเลือกตั้งของมาเลเซียรอบล่าสุด แม้รัฐบาลพรรคอัมโนของนาจิบ ราซัค จะยังชูอุดมการณ์ Kekuatan melaya (Malay Dominance –  มลายูเหนืออื่นใด) เพื่อรวบรวมฐานเสียงชาวมลายูให้สนับสนุนตัวเอง แต่ในใจลึกๆ ชาวมลายูก็เกิดความไม่มั่นใจว่า ถ้าไม่มีการสนับสนุนเหล่านี้ ในอนาคตพวกเขาจะอยู่อย่างไร

ผลการเลือกตั้งทำให้บรรยากาศการเมืองเปิดเวทีให้ประชาชนธรรมดามีเวทีต่อรอง และกำหนดวาระทางการเมืองอย่างชัดเจน นั่นคือการเปลี่ยนอำนาจของรัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดเวทีต่อรองระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน หลังจากการเมืองมาเลเซียตกจากภายใต้เผด็จการรัฐสภามาอย่างยาวนาน

 

พม่า: การเลือกตั้งเปิดโอกาสมีชนชั้นนำใหม่ ขณะที่ทหารยังคงมีบทบาทสูง

ปี 2010 เป็นปีที่พม่ามีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทำให้การเมืองพม่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่กองทัพควบรวมอำนาจทุกอย่างมาเป็นเวลายาวนาน ปัจจุบัน การเลือกตั้งเปิดโอกาสให้เกิดชนชั้นนำหรือตัวแปรใหม่ๆ เข้าสู่อำนาจทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของพม่าก็ยังคงรักษาอำนาจกองทัพในการเมืองไว้ เช่นการกำหนดที่นั่งให้ทหารจำนวน 25% ในสภา การกำหนดให้รัฐมนตรีของกระทรวงด้านความมั่นคงต้องมาจากกองทัพ หรือการกำหนดให้ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะกลายเป็นผู้อำนาจเหนือประธานาธิบดี ฯลฯ

ชัยชนะในการเลือกตั้งชองพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี เมื่อปี 2015 ทำให้พรรคเอ็นแอลดีของ ออง ซาน ซูจี เข้าไปอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่อำนาจส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กับกองทัพ

ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า “มีสิ่งเดียวที่ค้ำจุนพรรคเอ็นแอลดีให้อยู่ในอำนาจ ก็คือคะแนนนิยมจากประชาชน” อีกด้านหนึ่ง โครงสร้างของพรรคก็ยังคงมีปัญหา ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีส่วนใหญ่คือผู้นำการเมืองรุ่นแรกที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในพรรค แต่ในพรรคก็ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เพราะมีความขัดแย้งภายในและตอบโต้กันอยู่เป็นประจำ

ณัฐพลกล่าวว่า ก่อนปี 2010 “อาจจะเรียกว่ากองทัพเป็นทุกอย่าง เป็นรัฐบาล เป็นระบบราชการด้วย ทุกวันนี้จะเห็นว่า ข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไปก็จะเป็นทหาร ทหารเกษียณก็จะเข้ามาเป็นข้าราชการในสัดส่วนที่มาก รวมทั้งมีการควบคุมศาลด้วย เรียกได้ว่าทหารผูกขาดอำนาจไว้ทุกอย่าง

“ในช่วงนั้นนอกจากกองทัพแล้ว ผู้ที่มีบทบาทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มธุรกิจ นักธุรกิจเหล่านี้ก็เติบโตมาจากการที่กองทัพไม่มีงบประมาณเป็นของตัวเองแต่ก็ต้องหารายได้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้องของตัวเอง เพราะฉะนั้น นายพลแต่ละคน ก็ต้องทำสัมปทานเหมืองสัมปทานป่าไม้” ปัจจุบันกองทัพพม่ายังคุมรัฐวิสาหกิจอยู่สองแห่งที่รู้จักกันดีก็คือ “เมียนมาร์เบียร์”

กล่าวได้ว่า กลุ่มทุนธุรกิจกับกองทัพของพม่าถือว่ามีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งนี้ หากกล่าวว่าทุนธุรกิจมาเลเซียโตมากับพรรคการเมือง ทุนธุรกิจพม่าก็โตมากับกองทัพ กองทัพพม่าใช้ธุรกิจหล่อเลี้ยงกองทัพ นักธุรกิจหลายคนมีความสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพ แน่นอนว่าปัจจุบัน ชนชั้นนำพม่าทั้งทหารและธุรกิจยังคงเป็นชนชั้นนำเดิม แต่ต้องเข้ามาเล่นอยู่ในระบบใหม่ และมีพื้นที่ใหม่เปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาร่วมช่วงชิง

กัมพูชา: ระบอบฮุนเซน อุปถัมภ์ชนชั้นนำ รุนแรงต่อฝ่านค้าน  

เราอาจเรียกการเมืองกัมพูชาปัจจุบันว่ามีลักษณะอำนาจนิยม ซึ่งไม่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำนาจนิยมของกัมพูชาหรือของฮุน เซน คือการใช้ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงของการเมืองกัมพูชามีมาตั้งแต่ในอดีตปรากฏชัดในสมัยเขมรแดง เมื่อปี 1975 – 1978

ธีระ นุชเปี่ยม จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ อธิบายว่า “ความรุนแรงมันคือการเมืองกับความอยู่รอด มีนักการเมืองกัมพูชาเคยพูดว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองของกัมพูชาเป็นสภาพธรรมชาติ มีความขัดแย้ง ความไม่ไว้วางใจกันอยู่มาก ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเป็นแบบเอาเป็นเอาตาย คือถ้าเราไม่ได้เล่นงานเขา เขาก็เล่นงานเรา”

ธีระ กล่าวว่า ปัจจุบัน การเมืองของกัมพูชาอาจเรียกว่าเป็นระบบที่ชนชั้นนำมาทำความตกลงกัน ความตกลงนี้เป็นคือความไม่เท่าเทียม เพราะชนชั้นนำในกัมพูชาต่างอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของฮุน เซน ซึ่งอยู่บนยอดพีระมิด มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมการเมือง

นอกจากนี้ ความตกลงที่ว่า ยังเป็นการจัดระเบียบหรือการแบ่งสรรผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นนำและเครือข่ายของฮุน เซน ซึ่งในกัมพูชาเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ฮุนเซนโนมิกค์” กิจการที่สร้างประโยชน์ให้อย่างมากมาจากการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ การให้สัมปทานที่ดิน มีการขับไล่คนออกจากที่ดิน การผูกขาดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง

ฮุน เซน สร้างเครือข่ายโดยอาศัยเครือญาติเข้ามามีบทบาทในด้านความมั่นคง การเมือง ธุรกิจ โดยเฉพาะลูกของฮุนเซน เช่น ลูกชายคนโตเป็นนายพลในกองทัพ มีตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานด้านความมั่นคง ลูกผู้ชายคนต่อมาทำงานด้านข่าวกรองแห่งชาติและทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งทางการเมือง ลูกชายอีกคนเป็น ส.ส. ทำงานด้านเยาวชน ส่วนลูกสาวทำงานเกี่ยวกับธุรกิจ เป็นเจ้าของสื่อคอยทำหน้าที่สนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชา (CCP) กับฮุน เซน

นอกจากนี้ ฮุน เซน ยังสานสัมพันธ์กับนักธุรกิจเพื่อให้เครือข่ายเข้มแข็งขึ้น เช่น การเสนอให้มีการพระราชทานยศออกญาให้กับนักธุรกิจ โดยในปี 1994 มีการออกกฎหมายให้ผู้ที่ทำประโยชน์โดยการบริจาคเงินหรือทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยวงเงินห้าแสนดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับพระราชทานยศ

ปัจจุบันมีนักธุรกิจได้รับยศออกญาถึง 700 คน และรัฐบาลออกกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กองทัพกับภาคประชาชน โดยกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับหน่วยงานในกองทัพแลกกับตำแหน่งออกญาเช่นกัน เพื่อเป็นการดึงนักธุรกิจให้เป็นพรรคพวกกับพรรคประชาชนกัมพูชาและกองทัพทำให้เครือข่ายเข้มแข็งและอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของฮุน เซน

ระบอบฮุนเซนใช้ความรุนแรงทางการเมืองกับฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน ใช้ระบบอุปถัมถ์ในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่ความพยายามที่จะรวบอำนาจ ทั้งการใช้ความรุนแรงและระบบอุปถัมภ์ก็ถูกท้าทายอำนาจทั้งจากนักกิจกรรมและนักการเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮุนเซนได้ใช้มาตรการทางกฎหมายในการจับกุม คุมขัง ปิดหนังสือพิมพ์ ปิดสถานีวิทยุ หรือแม้การกำจัดคู่แข่ง ซึ่งนั่นคือวิธีการอยู่รอดหากฮุน เซน ต้องการมีหลักประกันว่าเขาต้องการชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

ลาว: การเมืองระบบอุปถัมภ์แบบเครือญาติ และธุรกิจผูกขาด

การเมืองของลาวมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ชนชั้นนำ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรทางการเมืองหลักในการกำหนดทิศทางของประเทศ มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นหากพูดถึงชนชั้นนำลาว พรรคฯ จึงสำคัญที่สุด

ยอดปิรามิดของการเมืองลาว คือ กรมการเมือง รองมาคือคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางพรรค ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของชนชั้นนำ มีลักษณะเป็นเครือข่ายครอบครัวและเครือญาติ ทำให้การเมืองลาวถูกผูกขาดอำนาจจากคนไม่กี่ตระกูล ตระกูลการเมืองที่สำคัญของลาว ก็เช่น ตระกูลพมวิหาน ตระกูลพูมสะหวัน ตระกูลสีพันดอน และตระกลูสุภานุวงศ์ ฯลฯ

ความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ในพรรคส่งผลให้การแต่งตั้งหรือเลื่อนลำดับชั้นของบุคคลในพรรคหรือในรัฐบาลจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนที่เป็นบุตรหลานของผู้นำในอดีตและปัจจุบัน จะเห็นว่า บุตรหลานของผู้นำพรรคจะได้รับความไว้วางใจให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ส่วนคนที่มีความสามารถแต่ไม่มีเส้นสายทางการเมืองหรือไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ก็ไม่อาจจะเลื่อนลำดับขึ้นไปในระดับสูงได้ ซึ่งกลไกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาฐานอำนาจผู้นำพรรค

ปัจจุบันลูกหลานผู้นำพรรค คือ รุ่นที่สอง อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ปี แต่ละคนจะเข้าไปอยู่ในกระทรวงสำคัญๆ หรืออยู่ในองค์กรจัดตั้งมหาชน เช่น เป็นประธานสหพันธ์แม่หญิงลาว เป็นประธานองค์กรซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว หรือ เป็นประธานแนวลาวส้างซาด องค์กรเหล่านี้ถือเป็นแขนขาหรือฟันเฟืองทางการเมืองที่สำคัญของพรรค

อดิศร เสมแย้ม จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของผู้นำรุ่นที่สองว่า บางคนมาจากการเป็นเลขานุการ ทหารคนสนิท บางคนเป็นบุตรบุญธรรมของอดีตผู้นำ แต่เมื่อคนพวกนี้ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งแล้วก็จะเห็นว่า ได้แต่งตั้งบุตรหลานอดีตผู้นำให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในพรรคและในรัฐบาลเป็นการตอบแทน นี่คือความกตัญญูซึ่งเป็นค่านิยมในระบบอุปถัมภ์

อดิศร กล่าวว่า ความสัมพันธ์เครือญาติมีสิ่งหนึ่งคือการแต่งงาน ซึ่งเป็นการช่วยค้ำจุนความมั่นคง รักษาฐานอำนาจทางการเมืองและการคานอำนาจระหว่างกัน เช่น การแต่งงานกันระหว่างลูกสาวกับลูกชายของประธานประเทศคนปัจจุบันกับอดีตประธานประเทศ ซึ่งคู่บ่าวสาวยังมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย จะเห็นว่าการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของบุตรหลานของผู้นําทางการเมืองมันเป็นการสร้างฐานทางการเมือง และพรรคได้กลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายในการประนีประนอมการสร้างความสมดุลในด้านผลประโยชน์ระหว่างเครือข่ายครอบครัวและเครือญาติของชนชั้นนำทางการเมือง

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจของลาวเป็นแบบทุนนิยม ก่อนหน้านี้ธุรกิจของลาวเป็นธุรกิจเล็กๆ เป็นธุรกิจครอบครัว แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่เริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและเหมืองแร่ ลาวจึงมีธุรกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้น

หากมองธุรกิจลาว ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองกับกลุ่มทุน ธุรกิจเหล่านี้รัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นด้วยเกือบทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวมักจะเริ่มจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แล้วจึงขยายไปธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมและธนาคาร

การประสบความสำเร็จของธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือผูกขาดสัมปทานหรือได้รับใบอนุญาตจากรัฐ เพราะฉะนั้น กลุ่มทุนเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในพรรคและรัฐบาล ซึ่งผลประโยชน์ก็จะนำมาสู่ความมั่งคั่งทางการเงินกับครอบครัวและเครือญาติทางการเมืองของลาว จะเห็นว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ก็จะเข้าไปสนับสนุนค้ำจุนพรรคหรือเวลาภาครัฐจัดงานกลุ่มพวกนี้ก็จะเข้าไปสนับสนุน

 

เวียดนาม: พรรคคอมมิวนิสต์ครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ซึ่งศึกษาการเมืองในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง นิยามรูปแบบความเป็นอยู่ของชนชั้นนำเวียดนามว่า Leninism Polity ซึ่งคือลักษณะทางการเมืองแบบอำนาจนิยม รวมศูนย์อำนาจ และมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์สามารถกำหนดตำแหน่งต่างๆ ในรัฐ มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย สามารถจะติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานอื่นๆ ทุกระดับ

ในด้านเศรษฐกิจเมื่อเวียดนามเปิดปฏิรูปประเทศ สุภลักษณ์ เรียกระบบเศรษฐกิจในเวียดนามว่าระบบตลาดหรือเรียกอีกอย่างว่า Market Leninism คือ ระบบการเมืองเป็นแบบ Leninism แต่ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปโด่ยเหมยเมื่อปี 1986 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ยอมรับระบบกึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ให้ประชาชนสามารถเข้าทำมาหากินในที่ดินได้แต่ต้องเช่าจากรัฐ ออกกระจายหุ้นการถือครองธุรกิจวิสาหกิจ และก่อให้เกิดการผูกขาดในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งของเวียดนามในยุคปัจจุบัน

ผลคือ รัฐครอบงำระบบเศรษฐกิจโดยผ่านรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเวียดนามเป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับโครงสร้างให้รัฐควบคุมจัดการระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดระบบเศรษฐกิจแบบพวกพ้อง โดยอาศัยโครงสร้างแบบอำนาจนิยมสร้างกลุ่มและฝ่ายต่างๆ ในพรรคเป็นจำนวนมากซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐวิสาหกิจ กล่าวได้ว่า กลไกการบริหารเศรษฐกิจปัจจุบันของเวียดนามไม่ได้สร้างอะไรใหม่ เพราะมันคือกลไกของรัฐและกลายเป็นแหล่งสะสมทุนให้กับชนชั้นนำ ทั้งเก่าและใหม่

ขณะที่กองทัพก็มีลักษณะเป็นชนชั้นนำ มีการควบคุมอำนาจและกลไกทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันกองทัพเวียดนามทำหน้าที่สองรูปแบบ คือด้านหนึ่งทำหน้าที่รักษาความมั่นคง อีกด้านหนึ่งทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจ กองทัพมีรัฐวิสาหกิจอยู่เก้าแห่ง ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตถึงธุรกิจบันเทิง สุลักษณ์ กล่าวว่า กองทัพเวียดนามมีลักษณะรัฐซ้อนรัฐ เพราะกองทัพก็มีอิสระที่จะดำเนินการบ้างอย่างได้ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังควบคุม นโยบาย กลไกได้อยู่

สุภลักษณ์กล่าวว่า ปัจจุบัน สิ่งที่ค้ำจุ้นระบบชนชั้นนำของเวียดนาม คือระบบอุปถัมภ์และเส้นสาย การแต่งงาน และเครือญาติ ระบบอุปถัมภ์ทำงานภายใต้เครือญาติทำงานในทุกระดับ ดังนั้นหากสามารถส่งลูกหลานเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ก็สามารถอำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

สุภลักษณ์ เสนอวิธีการมองผู้นำเวียดนาม โดยดูจากพื้นเพและถิ่นกำเนิดซึ่งจะกำหนดวิธีคิดและบุคลิกของผู้นำสายต่างๆ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคลิกของคนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ของเวียดนาม ว่าสามารถแยกแยะได้จากเรื่องเล่าที่ว่า ชายคนหนึ่งเดินไปซื้อน้ำปลาในตลาด แล้วเดินซุ่มซ่ามทำขวดน้ำปลาตกแตก เมื่อขวดน้ำปลาตกแตก คนสามคนมีปฏิกิริยาต่างกัน คนแรกจะด่าเด็กคนนั้นว่าซุ่มซ่ามไม่มีมารยาทคนนี้มาจากภาคเหนือ คนที่สองบอกให้เอาเงินไปซื้อขวดใหม่ จะร้องไห้เสียใจทำไมคนนี้มาจากภาคใต้ คนที่สามพยายามเก็บน้ำปลาที่เหลือตามเศษที่แตกๆ ไปใช้คนนี้มาจากภาคกลาง

เรื่องเล่านี้สะท้อนบุคลิกและวิธีคิดของคนภาคต่างๆ ในเวียดนามว่า คนภาคเหนือ คือที่อยู่ในศูนย์กลางการปกครอง จะเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจการตลาด ประชากรค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ผู้นำก็มีบุคลิกเช่นนี้เหมือนกัน คนภาคกลางความเป็นอยู่ยากจนแล้งแค้นพวกเขาเป็นนักสู้ทรหดอดทน ในประวัติศาสตร์นักสู้ในเวียดนามที่มีชื่อเสียงประมาณว่าสู้ตาย เผาตัวตาย หรือเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงจะมาจากภาคกลาง ส่วนคนภาคใต้มีประสบการณ์ในระบบตลาดเสรี มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนาม คนภาคใต้จึงเปิดกว้าง เสรีนิยม รู้จักทำมาหากิน ผู้นำของเวียดนามคนไหนที่มาจากภาคใต้คนนั้นก็จะเข้าใจเรื่องของการปฏิรูป

ในระดับผู้นำของเวียดนาม กล่าวกันว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นสายอนุรักษ์นิยมจะควบคุมพรรคจะได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนคนที่ชื่อว่าเป็นสายปฏิรูปสายเสรีนิยมจะได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

Tags: , , , ,