มรสุมทางการเมืองโหมถล่มการเมืองไทยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เพราะ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ การปกครอง ขณะที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อายุงานยังไม่ถึง 1 ปีเต็มเสียด้วยซ้ำ ด้วยความผิดทางจริยธรรมฐานแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน อดีตผู้ต้องโทษคดีละเมิดอำนาจศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ดูเหมือนว่ากระบวนการ ‘ตุลาการภิวัตน์’ กำลังทำหน้าที่อย่างแข็งขันอีกหน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพูดอย่างภูมิใจ และพูดติดตลกว่า พรรคก้าวไกลควรกลับมาขอบคุณด้วยซ้ำ ที่พรรคประชาชนได้เงินบริจาคกว่า 20 ล้านเพียงในเวลาไม่กี่วัน
บรรยากาศสิ้นหวังหวนกลับมาอีกครา การเมืองดูจะเป็นเรื่องของ ‘ชนชั้นนำ’ และไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคก้าวไกลกี่ล้านเสียง เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ ‘ทุบ’ ก็อาจทุบได้โดยง่าย
ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองอันอึมครึม เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้รับเลือกให้กุมบังเหียนต่อ ภายใต้ภารกิจสร้างบ้านหลังใหม่ให้กลับมาเข้มแข็งในฐานะพรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘พรรคประชาชน’ รวมถึงปักธง ‘แลนด์สไลด์’ เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งรอบหน้า ปี 2570
กับอีกภารกิจคือการเดินหน้าต่อสู้กับนิติสงครามที่พรรคก้าวไกลเคยตกเป็นเหยื่อ และในวันนี้พรรคประชาชนก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ค่ายกล เมื่อ 44 ส.ส.โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสอบจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอาจมีโทษสูงสุดคือ ‘ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต’
ในวัย 37 ปี ทั้ง 2 เรื่องล้วนเป็นภารกิจ ‘หนักอึ้ง’ ที่อยู่บนบ่าของ ‘เท้ง’ ส.ส. 2 สมัย หัวหน้าพรรคที่มีเสียง ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ และเป็นความหวังของผู้ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ไม่กี่วันให้หลังคำวินิจฉัย ‘ยุบพรรค’ และ ‘ถอดถอน’ เศรษฐา The Momentum นัดณัฐพงษ์ที่อาคารรัฐสภา พูดถึงเป้าหมายของเขาในการเดินหน้าภายใต้ 2 โจทย์ใหญ่ดังกล่าว เพื่อทำให้การเมืองกลับมาอยู่ในร่องในรอยตามระบบที่ควรจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง
อนาคตใหม่ของก้าวไกลคือ ‘ประชาชน’
คำถามแรกที่หยิบยกเข้ามาเปิดบทสนทนา คงหนีไม่พ้นว่า รู้สึกอย่างไรกับการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ณัฐพงษ์ให้คำตอบสั้นๆ ว่า รู้สึกมีพลัง เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้สมัครสมาชิกพรรคที่พุ่งไปถึง 6 หมื่นราย และยอดบริจาคที่ทะลุ 26 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จุดยืนทางการเมืองของพรรคปัจจุบันคือ เดินหน้าทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้านต่อไป และเชื่อว่าตลอดอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ที่เหลืออยู่ 3 ปีเศษ พรรคประชาชนจะสามารถผลักดันในหลายวาระได้
“เราเชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาลเอาด้วยกับเรา ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ทุกพรรคจะได้ประโยชน์ร่วมกันในการจัดตําแหน่งแห่งที่อํานาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระว่า จะทําอย่างไรให้เรื่องการยุบพรรคเป็นไปตามหลักสากล ไม่ใช้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ทําอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดง่าย แต่ตายยาก รวมถึงการวินิจฉัยในเรื่องของจริยธรรมของนักการเมือง ทําอย่างไรให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ได้ให้ใครก็ได้ที่ไม่ได้มาจากประชาชน มาตัดสินจริยธรรมของนักการเมือง”
ณัฐพงษ์ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองนี้ว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะการแก้ไขอาศัยเพียงเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขเสียง ส.ว. 1 ใน 3 เข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เพราะฉะนั้นเพียงแค่ ส.ส.ทุกพรรคเห็นชอบเกิน 350 เสียง ก็สามารถแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ สิ่งนี้ผมคิดว่า จะเป็นการปูพื้นฐานที่สําคัญที่จะทําให้รัฐบาลในปี 2570 มีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง”
นอกจากนั้นแล้ว บทบาทในฐานะ ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวว่า ต้องมุ่งเน้นไปที่การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไม่ใช่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ตรวจสอบรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า กฎหมายการปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนระเบียบราชการกลาโหม รวมไปถึงกฎหมายทลายทุนผูกขาดที่จะมอบอำนาจแก่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในการควบรวมกิจการ
“นี่เป็นตัวอย่างชุดกฎหมายที่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ยังรวมถึงนโยบายทุกด้านที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ถึง 300 นโยบาย เราก็จะผลักดันพร้อมกันผ่านการแก้ไขกฎหมายในรัฐสภา” ณัฐพงษ์ระบุ
หากจำกันได้ วันเดียวกันหลังจากพรรคประชาชนได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารคนใหม่ ได้ประกาศเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2570
คำถามคือ เรื่องดังกล่าวเป็นไปได้มากเพียงใด?
ณัฐพงษ์ให้คำตอบว่า เป้าหมายดังกล่าวคือเป้าหมายที่เป็นไปได้ และมีความทะเยอทะยานที่เพียงพอ เพราะจากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ได้พิสูจน์แล้วว่า พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง
“ถามว่าจะทําได้อย่างไร ผมคิดว่าประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สําคัญ ส่วนแรกคือ การเตรียมการ 3 ปีต่อจากนี้ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปี 2570 ว่า ทําอย่างไรที่จะเปลี่ยนระบบกฎกติกาการเมืองให้มีความพร้อม ที่จะทําให้รัฐบาลในปี 2570 มีความมั่นคง ไม่ให้กติกาที่ไม่มีอํานาจจากประชาชน มาทุบทําลายเจตจํานงของประชาชนได้ ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง
“และการเตรียมชุดกฎหมายต่างๆ ที่จําเป็นต่อการผลักดันนโยบาย ของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชน ซึ่งสามารถอาศัยกลไกรัฐสภาในการผลักดันได้ตั้งแต่วันนี้
“ส่วนที่ 2 ก็คืองานนอกสภาฯ สําคัญคือการลงไปพบปะ พูดคุย เจอกับประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งเรายังมีเวทีในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นอีกหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นสนามที่ใกล้ที่สุด อย่างการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี หรือการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก แทน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี
“หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศจนถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2569 ผมคิดว่าทุกๆ ก้าวย่างต่อจากนี้ ล้วนเป็นก้าวย่างที่สําคัญที่พรรคประชาชนควรจะต้องชนะทุกสนาม ที่เรามองเห็นว่าเป็นสนามยุทธศาสตร์ เพื่อส่งต่อไปสู่การเลือกตั้งในปี 2570” ณัฐพงษ์กล่าว
ขณะที่หลักเกณฑ์ของการตั้งรัฐบาลร่วม กรณีพรรคประชาชนไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณัฐพงษ์กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าพรรคการเมืองใดมาจากเผด็จการ หรือเป็นอำนาจนิยมที่ไม่ได้อำนาจจากประชาชน แต่ได้อำนาจจากการรัฐประหาร จะเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองที่พรรคประชาชนไม่สามารถร่วมรัฐบาลได้
“เสียงของประชาชนจะเป็นคนตัดสินทุกอย่าง เรายินดีเปิดกว้าง ต้องดูการนําเสนอนโยบายและการแสดงจุดยืน ของทุกพรรคในการเลือกตั้งปี 2570 ว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร”
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เท้งยืนยันว่า พรรคประชาชนมีความพร้อมในการเลือกตั้งทันที หากยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งครั้งใหม
ถึงวันนี้ในทางการเมืองต่างมีผู้นำรัฐบาลและว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพียง 37 ปี คิดว่า ‘อายุ’ เป็นข้อดีหรือข้อเสียกับการทำงานหรือไม่ ผู้เขียนถามกลับ
“ผมคิดว่าการอาสาเข้ามาทํางานการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ หากแต่เป็นเรื่องความสามารถและความมุ่งมั่นตั้งใจว่า เราเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองเพราะอะไร เรามีความตั้งใจที่จะเข้ามาสู่เส้นทางทางการเมือง เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงให้การเมืองดีขึ้น การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แล้วก็ทําให้อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน”
ทั้งนี้ทักษะที่ณัฐพงษ์รู้สึกว่า ตนเองจะต้องพัฒนาเพื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่สมบูรณ์แบบ คือทักษะการสื่อสารให้มีมากขึ้น
“ในฐานะที่ตัวผมเองเคยเป็น Geek ทํางานหน้าคอมพิวเตอร์มาก่อน ก็ต้องพัฒนาทักษะในเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างเช่น การแถลงข่าว ผมเอาเรื่องนี้กลับมาทบทวนตัวเองทุกวัน บางทีไปออกรายการอาจจะดูเกร็งบ้าง ดูไม่ธรรมชาติบ้าง ก็เป็นทักษะที่จะต้องทําให้ตัวเองทําได้ดียิ่งขึ้น
จากธนาธร สู่พิธา ส่งไม้ต่อให้ ‘ณัฐพงษ์’
เป็นที่ทราบกันว่า ก่อนที่ณัฐพงษ์จะได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน ในสมัยพรรคอนาคตใหม่ เขาเคยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.เขตบางแค โดยชนะการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้จะเพียงร้อยคะแนนเศษ แต่ก็ทำให้ณัฐพงษ์เปลี่ยนชีวิตจากนักธุรกิจสายเทค มาสู่การเป็น ส.ส.
ในการเลือกตั้ง 2566 ณัฐพงษ์รับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล คุมการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ภาพของณัฐพงษ์โดดเด่นในนามประธานคณะกรรมาธิการศึกษา การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่เป็นที่มาของฉายา ‘ไอ้เท้งมันเอาตาย’ จากคลิปหลุด เมื่อ เจ๋ง ดอกจิก (ยศวริศ ชูกล่อม) คุยกับภรรยาอธิบดีกรมการข้าวและพาดพิงถึงตัวเขา
ส่วนสำคัญคือการเป็นคน ‘เทค’ (Tech) ผู้เป็นตั้งแต่ ‘หลังบ้าน’ ของพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล คอยดูแลจัดการระบบดาต้าและไอทีของพรรค รวมทั้งจัดกิจกรรม ‘Hackathon’ งบประมาณ เพื่อเพิ่มการตรวจสอบและมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นหัวหอกในองค์กร ‘ก้าว Geek’ ที่เป็นพื้นที่สื่อสารในกลุ่มนโยบายและสื่อสารภายในชุมชนออนไลน์
“ผมเริ่มชอบเทคโนโลยีมาตั้งแต่ตอนที่เล่นเกมเด็กๆ ถามว่า เกมแรกที่เล่นมันก็นานมากแล้ว ตั้งแต่เครื่องซูเปอร์แฟมิคอม (Super Famicom) ก็เริ่มมีความสงสัยว่า ตกลงคอมพิวเตอร์มันทําอย่างไร ทําไมถึงออกมาเป็นเกมได้ อันนั้นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทําให้เราเริ่มรู้สึกอยากรู้อยากเห็นแล้วก็ชอบคอมพิวเตอร์ขึ้นมา” ณัฐพงษ์เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นความสนใจในเทคโนโลยี
ในสายตาคนทำเรื่อง Cloud ผู้เขียนถามณัฐพงษ์ว่า จนถึงวันนี้เขามองนโยบาย ‘รัฐบาลดิจิทัล’ เป็นอย่างไรบ้าง
หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวแสดงความเป็นกังวลในเรื่องของนโยบายดังกล่าว อย่างกรณีนโยบาย Cloud-First Policy ที่ปัจจุบันยังไม่เห็นความคืบหน้าของนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ
“การประกาศตัวเลขว่า จะมีนักลงทุนต่างประเทศ บริษัทเทคชั้นนําในต่างประเทศมาลงทุนจํานวนเท่านั้นเท่านี้บาท กลับกลายเป็นว่า เรายังไม่ได้เห็นการกระทําอะไรที่เป็นรูปธรรมเท่าไรนัก
“รวมถึงเรื่องของแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เห็นตามหน้าข่าวว่า เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ซึ่งเป็นแอปสําคัญที่จะเอาเข้ามาใช้ในการดําเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลายภาคส่วนก็กังวลและน่าห่วงใยในเรื่องของระบบการรักษาความปลอดภัย
“ผมคิดว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ถ้ากระเป๋าเงินของประชาชนหลายสิบล้านคนต้องผูกอยู่กับแอปฯ ทางรัฐเกิดข้อมูลรั่วไหลขึ้นมา ก็น่าจะมีความไม่ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง”
นอกจากนั้นแล้ว ณัฐพงษ์ยังยกกรณีการตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ช่วงต้นปี 2567 ไมโครซอฟท์(Microsft) ภายใต้การนำของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานกรรมการบริหาร ประกาศว่า จะเข้ามาลงทุนในไทย ในมุมมองของณัฐพงษ์รู้สึกว่า ประเทศไทยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนเท่าที่ควร
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่มูลค่าสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท กลับให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ใช้อุปกรณ์การประมวลผลขั้นสูง ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้แทบจะไม่มีเพราะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ผลประโยชน์เดียวที่ประเทศไทยจะได้คือ ‘ค่าเช่าที่’
“ผมยกตัวอย่าง ถ้านอกจากประกาศเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศ สิ่งที่จะทําให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ คือมีการตั้งเงื่อนไขให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนําในต่างประเทศเหล่านั้นจดจัดตั้งนิติบุคคลในไทยด้วย โดยใช้การใช้จ่ายภาครัฐ
“ภาครัฐจะต้องใช้ Cloud ก่อนลําดับแรกมาเป็นตัวเหนี่ยวนํา เขาเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยไม่พอ ต้องจดนิติบุคคลในไทยด้วย แปลว่าในอนาคต หากเพื่อนบ้าน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา รอบบ้านเรา อยากจะใช้ Cloud อยากจะใช้ดาต้าเซนเตอร์ ก็ต้องมาใช้ดาต้าเซนเตอร์ในไทย เงินไหลเข้าประเทศ
“กลับกันจากปัจจุบัน ที่เวลาเราใช้ศูนย์ข้อมูล เราใช้ Cloud เงินไหลออกนอกประเทศหมดเลย เพราะว่าหัวบิลถูกจัดตั้งในต่างประเทศ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการดําเนินนโยบายที่ผมคิดว่า อยากเห็นความชัดเจนเหมือนกัน ในเรื่องของ Cloud First Policy”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะโครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่พร้อมหรือไม่
หัวหน้าพรรคประชาชนให้คำตอบว่า จริงๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยพร้อมสำหรับการลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์อยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องของ ‘ไฟฟ้าพลังงานสะอาด’ ที่ประเทศไทยยังไม่เปิดเสรีการซื้อขายได้อย่างสะดวก ถ้าหากไปดูในคำสัญญาของบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมีการระบุตามสัญญา RE100 (Renewable Energy 100%)
“เรื่องนี้ประเทศไทยยังมีกฎระเบียบอะไรหลายอย่างที่ไม่สามารถเปิดให้ดาต้าเซ็นเตอร์ เขาสามารถซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้เองคือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราพร้อม แต่ว่าในเรื่องของกติกาในการซื้อขายพลังงานสะอาดยังคงเป็นอุปสรรคอยู่
“ก็จะเห็นตัวอย่างอย่างเช่น Google ประกาศจับมือกับ GULF ในการที่จะตั้งศูนย์คล้ายๆ Private Cloud Provider ในประเทศ สิ่งนี้อาจจะเป็นทางออก ถ้ากติกาในประเทศเรา ในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสะอาดยังถูกผูกขาดอยู่ ก็อาจจะต้องใช้ท่าประมาณนี้ในการดําเนินนโยบายในการตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ
“ถ้าเราอยู่ในระดับนโยบายบนสุด แต่เราไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ การตัดสินใจอะไรในแต่ละอย่าง ไม่ว่าการจะใช้คนกดงบ ใช้บุคลากรภาครัฐอย่างไร แก้ไขกฎหมายอย่างไร ใช้งบประมาณอย่างไร ถ้าเราไม่มีความเข้าใจ เราไม่มีความมั่นใจ เราก็ไม่สามารถที่จะฟันธงได้ ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคสําคัญที่ทําให้การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในปัจจุบันไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร” ณัฐพงษ์กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่รัฐบาลหวังว่า จะให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ตามที่บอร์ดคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์เห็นควรว่า ต้องส่งนักศึกษาไปฝึกทักษะที่ไต้หวัน เพื่อเร่งองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ณัฐพงษ์มองว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องสมควร แต่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายด้วยเช่นกัน
“ถ้าดูตามภูมิรัฐศาสตร์ ไต้หวันเองก็อยากจะมาลงทุนในประเทศไทยเพื่อลดความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ ตามที่ผมได้หารือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็พบว่า ไต้หวันพร้อมที่จะให้ประเทศไทยส่งแรงงานไปเทรน แล้วถึงเวลาก็กลับมาทําที่โรงงานในประเทศเอง
“แต่ใจความสําคัญก็คือหลังจากกระทรวง อว.ประกาศว่า อยากจะผลิตบุคลากรเซมิคอนดักเตอร์ 8 หมื่นคนภายใน 5 ปี แต่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาสักบาทในปี 2568
“ปัญหาสําคัญที่ผมเห็นในงบประมาณ 2568 ซึ่งเห็นมาอยู่แล้วทุกปี ปัญหานี้คงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป ก็คือเป็นงบแข็งตัว เป็นงบของระบบราชการ”
ณัฐพงษ์เห็นว่า ถ้าหากประเทศไทยไม่ปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ รัฐบาลจะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ เพื่อตอบสนองตามนโยบายที่ได้เสนอต่อประชาชนได้
“ดังนั้นโจทย์ใหญ่อีกหนึ่งโจทย์ที่คิดว่า เป็นวาระร่วมและสามารถผลักดันร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลได้คือ การเสนอชุดกฎหมายในการแก้ไขปฏิรูประบบงบประมาณ ซึ่งผมตั้งใจว่าพรรคประชาชนจะสามารถมีร่างพร้อมนําเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นปีนี้” หัวหน้าพรรคประชาชนระบุ
The cycle is (un) breakable
ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่แค่การจัดสรรงบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่โจทย์ที่สำคัญอีกหนึ่งโจทย์ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรุดไปข้างหน้าได้ คงหนีไม่พ้น ‘ปัญหาทางการเมือง’ ที่อำนาจ 3 เสาอย่าง นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ นั้นไม่สมดุลกัน ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งยุบพรรคไทยรักไทยเรื่อยมาจนถึงพรรคก้าวไกล วันนี้ในมุมมองของณัฐพงษ์มองว่า ทั้งคดียุบพรรคก้าวไกล หรือคดีถอดถอนเศรษฐาเป็น ‘การรัฐประหารโดยตุลาการ’
“เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องกลับมา ‘แก้ไขอํานาจ หน้าที่ โครงสร้าง และองค์ประกอบ’ ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ“ยกตัวอย่างในเรื่องของคดียุบพรรคว่า จะทําอย่างไรให้เปลี่ยนกติกาในการยุบพรรคให้ทําได้ไม่ง่าย และต้องมีเหตุผลเพียงพอ ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญถือกําเนิดมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งประเทศของเขามีคดีการยุบพรรค เพื่อป้องกันพรรคแบบ ‘พรรคนาซี’
“เพราะฉะนั้นกฎกติกาในการจะลงโทษการยุบพรรคการเมืองสักพรรคได้ มันต้องร้ายแรงจริงๆ ไม่ใช่แบบของกรณีของประเทศไทย
“ตัวอย่างต่อไปคือ เรื่องของอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกัน โทษยุบพรรคอยู่กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่ถ้าจะพูดถึงอํานาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นควรจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจหน้าที่หลัก เพื่อเป็นการวินิจฉัยว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่ทําหน้าที่เป็นศาลการเมืองเต็มที่ มาวินิจฉัยว่า นักการเมืองคนนั้นถูกนักการเมืองคนนี้ผิด หรือว่าพรรคการเมืองนี้ถูกหรือผิด ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ” ณัฐพงษ์ให้ความเห็น
ขณะเดียวกันณัฐพงษ์ยังเสนอทางออกของปัญหานิติสงครามไว้อย่างน่าสนใจว่า วิธีการแก้ไขเรื่องนี้ต้องกลับไปแก้ที่กฎระเบียบ เพราะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเองที่ไปเขียนมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจในการตัดสิน
“ถ้าจะกลับมาแก้ไขที่ต้นตอ ก็หนีไม่พ้นฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกลับไปแก้ไขกฎกติกาให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตําแหน่งแห่งที่เหมาะสม มีอํานาจหน้าที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะทําไปสู่จุดนั้นได้ ก็ต้องแสวงหาจุดร่วมกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งผมมั่นใจว่า ทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ก็น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกพรรค
“อีกส่วนสําคัญที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คนที่จะเป็นคนตัดสินว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องมีหน้าตาอย่างไร ก็ควรจะต้องเป็น สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าทุกพรรคการเมือง ณ ตอนนี้ คุณเสนอได้ว่าคุณมีจุดร่วมกันและจุดที่เห็นแตกต่างกันอย่างไร แต่สิ่งสําคัญที่สุดก็คือการออกแบบ สสร.ที่จะมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นส่วนสําคัญ” หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าว
จนถึงปัจจุบัน พายุทางการเมืองที่มาในรูปแบบนิติสงครามดูยังไม่สงบลงไปสำหรับแกนนำพรรคประชาชน เพราะขณะนี้ยังมีคดีความ 44 ส.ส.ที่ร่วมกันเสนอชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรวมไปถึงตัวของหัวหน้าพรรคประชาชนเองด้วย
ณัฐพงษ์เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ทำได้วันนี้คือการมุ่งหน้าทำงานอย่างหนัก เพื่อเป็นบทพิสูจน์ให้กับพรรคประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2570
“วันหนึ่งถ้าผมเองถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือเพื่อน 44 ส.ส.ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ผมคิดว่าเราก็จะมีอีกประมาณ 30-40 แกนนํา ที่พร้อมจะกระจายตัวลงไปทํางานคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ แบบที่คุณพิธาแบบที่คุณชัยธวัช แบบที่คุณธนาธร แบบที่อาจารย์ปิยบุตร แบบที่คุณช่อ พรรณิการ์ทำ”
หัวหน้าพรรคประชาชนยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กฎกติกาหรือกลไกทางการเมืองขาดความยึดโยงกับประชาชนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นการรุดหน้าของประเทศ
“เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนยังไม่ได้สะท้อนอํานาจสูงสุดของประชาชน พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทมติได้รับเลือกจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนเข้าสู่สภาฯ แล้ว อย่างกรณีของพรรคก้าวไกลมาเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
“รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด ต้องยอมรับว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเสียงสนับสนุนการโหวตเลือกมาจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยเสียง ส.ว.ชุดที่แล้วก็ตาม แต่พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีอํานาจที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน มาทุบทําลายตัวแทนของประชาชน
“เหล่านี้เป็นอุปสรรคสําคัญที่ทําให้การเมืองของไทยยังไม่ได้พัฒนา เมื่อการเมืองยังไม่ถูกพัฒนา การดําเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ การตัดสินใจการใช้งบประมาณ ก็ย่อมไม่ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องพ่อแม่พี่น้องประชาชน”
ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคก้าวไกลสามารถกุมชัยชนะ ได้สร้างความน่าสะพรึงให้กับชนชั้นนำ จนทำให้ต้องเล่นเกม ‘กะเทาะ’ ฝ่ายประชาธิปไตยให้แตกเป็นเสี่ยงๆ และบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องจับมือกับศัตรูเก่า ทำให้ความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศก็ดูจะริบหรี่ลงไป แต่หลายคนรวมถึง ส.ส.ในพรรคประชาชนเองก็ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’
มุมมองของณัฐพงษ์ในฐานะหัวหน้าพรรครู้สึกอย่างไรกับประโยคดังกล่าว
“ผมคิดว่าประโยคนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว ตั้งแต่อนาคตใหม่จนถึงพรรคประชาชนในปัจจุบัน เราเติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าเรายังรักษาแนวโน้มแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วกลุ่มชนชั้นนํายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง ผมคิดว่าอย่างไรกาลเวลาอยู่ข้างเราแน่นอน ฉันทมติของประชาชนจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ทุกอย่าง
ไม่มองว่าเป็นการเดินตามเกมเขาเกินไปหรือไม่ เพราะพรรคประชาชนก็รอเพียงแค่การเลือกตั้ง ซึ่งในอนาคตปี 2570 ก็อาจมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
ณัฐพงษ์ให้คำตอบไว้ว่า ไม่คิดว่าเป็นการเดินตามเกมของพวกเขา เพราะการที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นเพราะต้องการ ‘รักษาจุดยืน’ ของพรรคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เพราะไม่เชื่อว่าด้วยวิธีดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
“การกระทําต่อจากนี้ในอีก 3 ปี ผมบอกไปแล้วว่า เราจะมีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นวาระร่วมของทุกพรรค ซึ่งหากสามารถผลักดันได้สําเร็จ ผมคิดว่า มันจะเป็นบทพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เดินตามเกมเขา
“อํานาจนอกระบบที่ทําให้อนาคต ในปี 2570 ประชาชนคนไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งอีกครั้งหรือเปล่า อันนี้ผมอาจตอบไม่ได้ แต่ผมคิดว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่เกิดแบบนั้นขึ้น ส.ส.ของพรรคประชาชนพร้อมอยู่เคียงข้างพ่อแม่พี่น้องประชาชนแน่นอน”
มาจนถึงวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคคนใหม่ จากธนาธรสู่พิธา จากพิธาสู่ชัยธวัช หรือจากชัยธวัชสู่ณัฐพงษ์ ย่อมได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงแรงกดดันว่าจะสามารถนำพาพรรคไปสู่ชัยชนะการเลือกตั้งได้หรือไม่ ฉะนั้นถ้าวันนี้มีโอกาสได้พูดกับโหวตเตอร์ของพรรค ณัฐพงษ์จะพูดอย่างไร
“ขอให้เชื่อมั่นในตัวผม มีกําลังจิตกําลังใจเดินทางไปต่อร่วมกัน และขอให้เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า สาเหตุที่ผมและเพื่อนร่วมพรรคทุกคนเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง เพราะพวกเราเข้ามาอาสาสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากจะทําการเมืองให้ดีขึ้น
“ผมเชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่ประเทศไทยมีระบบการเมืองที่ดีขึ้น องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ทุกภาคส่วน มีอํานาจหน้าที่อยู่ในที่ที่เหมาะสม เมื่อนั้นผมคิดว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่สง่างามอยู่บนเวทีโลก”
แล้วถ้าพูดกับ ‘กลุ่มอำนาจนำ’ (Deep State) จะบอกพวกเขาว่าอย่างไร
“อย่ากลัวพวกเราครับ พวกเรามีเจตนาเดียว คือการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเองไม่ได้มีความเห็นต่างกับเราในเรื่องนี้ พวกเราพร้อมยินดีทํางานกับทุกๆ คน รวมถึงตัวท่านด้วย” ณัฐพงษ์ให้คำตอบ
Fact Box
- ณัฐพงษ์จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นผู้บริหารบริษัท แอ๊บโซลูท เมเนจเม้นท์ โซลูชั่นส์ จำกัด มาก่อนเข้าทำงานการเมือง
- ณัฐพงษ์ไต่เต้าทางการเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจาก ส.ส.แบบแบ่งเขต มาสู่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ภายหลังคดียุบพรรคก้าวไกล เขากลายมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน โดยการเสนอชื่อของ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่มีกระแสข่าวว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เช่นเดียวกัน
- ณัฐพงษ์เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร ‘ก้าว Geek’ พื้นที่ชุมชนออนไลน์ใน Discord ถูกใช้เพื่อคุยประเด็นต่างๆ ทางการเมือง และอีกทั้งยังมีผลงานในสภาที่โดดเด่นจากการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เคยกล่าวว่า “พวกเราจะเอาชนะท่านด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ และด้วยข้อเสนอการบริหารประเทศที่ดีกว่า”